Connect with us

Hi, what are you looking for?

culture

อยาก/ไม่อยากมีเซ็กส์ต้องพูดกันได้

เพราะ sexual consent อาศัยแค่ภาษากายอาจไม่พอ

ภาพโดย Luisella Planeta Leoni จาก Pixabay

sexual consent หรือ ‘ความยินยอมพร้อมใจในการมีเพศสัมพันธ์’ เป็นประเด็นที่มีดราม่าอยู่แทบจะตลอดเวลา และในการถกเถียงแต่ละครั้งก็สะท้อนชัดเจนว่าคนในสังคมยังมีเส้นแบ่งที่แตกต่างกันไม่น้อยระหว่างการยินยอมพร้อมใจกับไม่ยินยอมพร้อมใจที่จะมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงยังมีอีกหลายคำถามที่แม้แต่ระหว่างคนที่กำลังจะมีเซ็กส์กันก็ยังเห็นไม่ตรงกัน

-แบบไหนกันแน่ที่แปลว่าอีกฝ่ายยินยอมพร้อมใจ? 

-การขอมีเซ็กส์ด้วยแบบตรงๆ นั้นเวิร์กแค่ไหน ชวนไปดูเน็กฟลิกซ์ยังใช้ได้รึเปล่า?

-อะไรที่ทำให้คนไม่สามารถปฏิเสธการมีเซ็กส์แม้จะไม่ได้ต้องการ?

-คบกันแล้ว เรื่อง consent ยังจำเป็นแค่ไหน?

ฯลฯ

ขณะที่การถกเถียงเกิดขึ้นแล้วดับไป เซ็กส์ที่ปราศจากความยินยอมพร้อมใจก็ยังเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะด้วยความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน มายาคติส่วนบุคคล หรือเหตุปัจจัยอื่นๆ 

Rocket Media Lab ซึ่งทำงานข้อมูลเพื่อการสื่อสารมวลชน จึงทำแบบสอบถามขึ้นเพื่อสำรวจว่าบุคคลทั่วไปมีความคิดเห็นหรือความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างไรบ้าง เพื่อนำไปสู่การเปิดพื้นที่พูดคุยเกี่ยวกับ sexual consent และประเด็นแวดล้อมให้กว้างขวางขึ้น

จากการเผยแพร่แบบสอบถามทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 6 กุมภาพันธ์-16 มีนาคม 2021 มีผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 1,052 คน (บางคนเลือกตอบเป็นบางคำถาม) จากการระบุเพศโดยผู้ตอบแบบสอบถามเอง มีสัดส่วนผู้ตอบแบบสอบถามดังนี้

  • หญิง / female — 504 คน 
  • ชาย / male — 378 คน
  • ไม่ระบุเพศ — 66 คน
  • เกย์ / gay male — 26 คน
  • ไบเซ็กชวล — 25 คน
  • LGBTQ / pansexual / questioning — 14 คน
  • อื่นๆ (เพศกลาง, ลื่นไหลทางเพศ, ไม่มีเพศ, demigirl ฯลฯ) — 12 คน
  • เลสเบี้ยน / gay woman / — 7 คน
  • transgender — 7 คน
  • เควียร์ — 7 คน
  • non-binary — 6 คน

ผลสำรวจที่พบได้แก่

27.1% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เคยมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ

จากคำถามที่ว่า “คุณเคยมีเพศสัมพันธ์โดยที่ตัวคุณไม่ได้ยินยอมพร้อมใจหรือไม่” มีผู้ตอบคำถามนี้ทั้งหมด 1,045 คน

ผู้ตอบแบบสอบถาม 27.1% หรือ 283 คน ระบุว่าเคยมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ ในจำนวนนี้มีผู้ระบุตนเป็นเพศหญิง 169 คน เพศชาย 59 คน และเพศอื่นๆ (LGBTQ, น็อน-ไบนารี่, ไม่ระบุเพศ ฯลฯ) 55 คน

ขณะที่ 63.2% ระบุว่าไม่เคย ส่วนอีก 9.8% ระบุว่าไม่แน่ใจ 

ทั้งนี้ ในความไม่ยินยอมพร้อมใจนั้นยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่หลากหลาย โดยอาจมีทั้งกรณีที่ชัดเจนว่าเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ หรือกรณีที่เจ้าตัวไม่สามารถปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ครั้งนั้นด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ซึ่งอาจขยายความได้ดังต่อไปนี้

“อยากตอบสนองความต้องการให้อีกฝ่าย” สาเหตุใหญ่ที่ทำให้จำต้องมีเพศสัมพันธ์แม้ไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ

จากคำถามที่ว่า “สาเหตุที่ทำให้คุณไม่สามารถปฏิเสธการมีเซ็กส์ในขณะที่ไม่ต้องการคืออะไร” ซึ่งมีผู้เลือกตอบคำถามนี้ทั้งหมด 473 คน โดยผู้ตอบแบบสอบถามสามารถระบุสาเหตุได้มากกว่า 1 ข้อ 

ข้อที่มีคนเลือกตอบมากที่สุดคือ “ต้องการตอบสนองความต้องการของอีกฝ่าย” มีผู้ตอบทั้งหมด 48.8% หรือ 231 คน เป็นผู้ที่ระบุตนเป็นเพศหญิง 114 คน เพศชาย 72 คน และเพศอื่นๆ (LGBTQ, ไบเซ็กชวล, เกย์ ฯลฯ) 45 คน

รองลงมาคือ “ความรัก” และ “กลัวจะเกิดปัญหาในความสัมพันธ์” ซึ่งอนุมานได้ว่ากว่า 1 ใน 3 ของการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ เกิดขึ้นกับคนที่อยู่ในคู่ความสัมพันธ์กันอยู่แล้ว 

10 สาเหตุที่มีผู้เลือกตอบมากที่สุดได้แก่

  1. อยากตอบสนองความต้องการให้อีกฝ่าย — 48.8% 
  2. ความรัก — 37%
  3. กลัวจะเกิดปัญหาในความสัมพันธ์ — 36.6%
  4. ความเกรงใจ — 28.8%
  5. มึนเมา หรือไม่อยู่ในสติสัมปชัญญะครบถ้วน — 24.9%
  6. ฝืนร่างกายตนเองไม่ได้ — 19.9%
  7. ยังเด็กจนไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร — 19.2%
  8. อีกฝ่ายใช้กำลัง — 14.4%
  9. อีกฝ่ายมีสถานะที่สามารถให้คุณหรือให้โทษกับตนได้ — 9.9%
  10. ถูกข่มขู่หรือแบล็กเมล —5.5%

นอกจากนี้ยังมีคำตอบอื่นๆ ที่น่าสนใจซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามระบุเพิ่มเติมเข้ามา เช่น “ไม่ได้ยินยอมแต่ไม่สามารถแสดงออกได้มากเท่าที่ต้องการ” “ห้ามไม่ฟัง ตื๊อหนัก จนต้องยอมให้จบๆ ไป” “เผื่ออยากมีเซ็กส์กับเขาในอนาคตขณะที่เขาเองไม่ได้มีอารมณ์เหมือนกับเรา” “อยู่ในภาวะเสียใจจากเรื่องอื่นๆ ในขณะนั้น สติไม่อยู่กับเนื้อกับตัว” รวมถึง “ไม่แน่ใจว่าควรปฏิเสธหรือไม่” ฯลฯ 

“ณ ตอนนั้นไม่มีอารมณ์ทางเพศ” ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์

สำหรับคำถามที่ว่า “ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้คุณไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์” ผู้ตอบแบบคำถามนี้ทั้งหมด 1,029 คน (ในจำนวนนี้อาจมีทั้งกรณีที่ปฏิเสธได้สำเร็จและไม่สำเร็จ) พบว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้คนไม่อยากมีเพศสัมพันธ์ได้แก่ “ณ ตอนนั้นไม่มีอารมณ์ทางเพศ” โดยมีผู้ตอบข้อนี้กว่า 67.1% หรือทั้งหมด 690 คน (หญิง 326 คน ชาย 232 คน และเพศอื่นๆ (LGBTQ, ไบเซ็กชวล, เลสเบี้ยน ฯลฯ) 132 คน ขณะที่อันดับถัดมาเป็นเรื่องเซ็กส์ปลอดภัย 

10 ปัจจัยที่มีผู้ตอบมากที่สุดได้แก่

  1. ณ ตอนนั้นไม่มีอารมณ์ทางเพศ — 67.1% 
  2. ไม่มีเครื่องป้องกัน เช่น ถุงยางอนามัย — 57%
  3. ร่างกายไม่พร้อม — 54.3%
  4. ไม่มีเหตุผล แค่ไม่ต้องการ — 53%
  5. ไม่ได้รู้สึกพิเศษกับอีกฝ่าย — 51.4%
  6. สถานที่ไม่อำนวย — 41.9%
  7. ยังไม่ถึงเวลาที่ใช่ — 29.8%
  8. อีกฝ่ายไม่ตรงปก — 24.9%
  9. ไม่พึงพอใจอวัยวะเพศของอีกฝ่าย — 9.4%
  10. กลัวถูกมองว่าใจง่าย — 9.6%

นอกจากนี้ยังมีอีกสามอันดับถัดมา ที่เรามองว่าน่าสนใจและควรหยิบมาพิจารณาคือ ที่บ้านสอนให้รักนวลสงวนตัว 6% อยากรักษาความบริสุทธิ์จนกว่าจะแต่งงาน 5.1% และเป็น asexual (ผู้ที่ไม่มีความต้องการทางเพศ) 4.8% 

รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ผู้ตอบแบบสอบถามระบุเพิ่มเติมเองเช่น “เคารพข้อกฎหมาย” “ไม่สามารถมีความสัมพันธ์กับใครนอกจากแฟนหรือคู่ครอง” “ไม่ใช่เพศที่ต้องการ” “เป็นพระ” จนถึง “ขี้เกียจ” ฯลฯ

ขณะที่ 10.5% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เคยมีเพศสัมพันธ์โดยที่คู่นอนไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ

จากคำถามที่ว่า “คุณเคยมีเพศสัมพันธ์ที่ปราศจากการยินยอมจากคู่นอนหรือไม่” มีผู้ตอบคำถามทั้งหมด 1,039 คน และมี 10.5% หรือ 109 คนที่ระบุว่า ‘เคย’ โดยในจำนวนนี้มีผู้ระบุตนเองเป็นเพศหญิง 51 คน เพศชาย 33 คน และเพศอื่นๆ (เกย์, LGBTQ, ทรานส์เจนเดอร์) 25 คน 

ขณะที่อีก 11.4% ระบุว่าไม่แน่ใจ และ 78.2% ระบุว่าไม่เคยมีเพศสัมพันธ์โดยที่คู่นอนไม่ยินยอมพร้อมใจ 

สัญญาณสำคัญที่จะบอกได้ว่าอีกฝ่ายยินยอมพร้อมใจคือ “ออกปากพูด”

เมื่อถามถึงสัญญาณที่ผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าคือการแสดงความยินยอมพร้อมใจที่จะมีเซ็กส์ จำนวนผู้ตอบคำถามนี้มีทั้งหมด 1,045 คน กว่า 81.4% ตอบว่าคือการออกปากพูดว่ายินยอมพร้อมใจ ซึ่งนับว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงเมื่อเทียบกับข้ออื่นๆ โดย 10 อันดับของสัญญาณฯ ที่มีผู้ตอบมากที่สุดได้แก่

  1. ออกปากพูดว่ายินยอมพร้อมใจ — 81.4%
  2. ยอมให้จูบ/จูบตอบ — 44.2%
  3. ถอดเสื้อผ้า — 37.2%
  4. ยอมให้มีการสอดใส่ ไม่ส่งเสียงห้ามหรือขัดขืน — 37.2%
  5. ทำออรัลเซ็กส์ให้ — 35.2%
  6. เป็นฝ่ายเข้ามาจูบก่อน — 33.5%
  7. สัญญาณจากเครื่องเพศ มีน้ำหล่อลื่น/มีการแข็งตัว — 23.8%
  8. ชวนไปที่ห้อง/ตอบรับคำชวนไปที่ห้อง — 22.1%
  9. ส่งสัญญาณผ่านสายตา — 20.8%
  10. การเปิดโอกาสให้อยู่กันแบบสองต่อสอง — 17.2%

ขณะที่ลำดับถัดๆ มาได้แก่ นอนนิ่งๆ ไม่ขัดขืน 13.9% ยอมให้หอมแก้ม 10.7% และการมาตามนัดจากแอปพลิเคชั่น 8.3% 

เช่นกัน—การปฏิเสธที่ชัดเจนที่สุดคือ “ออกปากพูด”

เมื่อถามถึงสัญญาณที่ผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าเป็นการไม่ยินยอมพร้อมใจที่จะมีเซ็กส์ มีผู้ตอบคำถามนี้ 1,042 คน และอันดับแรกที่มีผู้ตอบมากที่สุดก็คือการพูดยืนยันชัดเจน 89.9% ขณะที่อันดับถัดๆ ไปอยู่ไล่เลี่ยกัน โดยเรียงลำดับมาก-น้อย ได้ดังต่อไปนี้

  1. พูดปฏิเสธตรงๆ ยืนยัน ชัดเจน — 89.9% 
  2. ผลักออก — 84.9%
  3. แสดงออกถึงความกลัว — 79.7%
  4. พูดบ่ายเบี่ยง — 76.3%
  5. แสดงอาการโกรธ — 73.4
  6. ร้องไห้ — 73%
  7. ไม่จูบตอบ — 64.6%
  8. นอนนิ่ง หลับตา — 46.7

นอกจากนี้ยังมีข้อที่ผู้ตอบแบบสอบถามระบุเพิ่มเติมเข้ามา เช่น “บอกปัดว่าไม่มีถุงยาง” “ไม่สบตาเวลามีเพศสัมพันธ์” “พิมพ์แชท เล่นมือถือตลอดเวลา” “มีท่าทางลังเลไม่แน่ใจ” จนถึง “ง่วง” 

จากสองคำถามเกี่ยวกับสัญญาณของการยินยอม-ไม่ยินยอม ผลสำรวจค่อนข้างชี้ชัดว่าการสื่อสารด้วยการพูดคุย หรือ verbal consent มีความจำเป็นอย่างยิ่ง แม้จะเป็นคนที่คบกันอยู่ก็ตาม และแม้จะมีสถานการณ์หลากหลายรูปแบบที่จะนำไปสู่การมีเซ็กส์ในขณะที่หลายคนอาจยังเคยชินกับการปล่อยไปตามอารมณ์ หรืออาศัยภาษากาย แต่ที่สุดแล้วคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการหลีกเลี่ยงที่จะสื่อสารเพื่อตกลงกันตรงๆ นั้นอาจนำไปสู่ปัญหา โดยผลสำรวจในข้อหัวถัดมายังบ่งชี้ว่าสิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือการ ‘เคารพ’ การปฏิเสธนั้นๆ ด้วย

จากคำถามที่ว่า “คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อถูกถามตรงๆ ว่า ‘ขอมีอะไรด้วยได้มั้ย’” มีผู้ตอบคำถามนี้ทั้งหมด 911 คน โดยในแบบสอบถามไม่ได้ระบุถึงบริบทหรือความสัมพันธ์ในชีวิตของผู้ตอบแต่ให้ตอบได้อย่างกว้างขวางและสามารถระบุรายละเอียดเพิ่มเติมได้โดยอิสระ 

อย่างไรก็ตามเราได้แบ่งกลุ่มคำตอบออกอย่างหยาบๆ เพื่อหาข้อสรุปดังนี้

76.4% หรือทั้งหมด 697 คน มองว่าสามารถเอ่ยปากถามกันตรงๆ ได้ (หากอยู่ในบริบทที่ใช่)

ความคิดเห็นที่น่าสนใจในกลุ่มนี้ได้แก่

  • รู้สึกว่าถ้าเขากล้าขอ เขาคงมีวุฒิภาวะพอที่จะรับคำตอบของเรา ไม่ว่าเราจะยอมหรือไม่ยอม — ญ, 29
  • ก็แฟร์ดี เป็นเรื่องปกติ ควร normalize sex with consent — ชาย, 24
  • อาจเป็นการดีที่ถามตรงๆ ถ้าเรามีสิทธิ์ปฏิเสธ แต่ถ้าเราไม่มีอำนาจจะปฏิเสธได้ก็ถือว่าการถามนี้เพื่อคุกคามหรือการสร้างความชอบธรรมให้เกิดกับตัวผู้ถามเท่านั้น — ชาย, 50
  • ถ้ามาแบบไม่มีบริบท จะรู้สึกว่าเป็นการคุกคาม หรือการลงรูปเซ็กซี่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถถามคำถามแบบนี้ด้วยได้ แต่ถ้าในความสัมพันธ์ การถามแบบนี้ก่อนเป็นสิ่งที่จำเป็น — bi queer asexual, 30
  • ก็รู้สึกอายค่ะ แต่ก็รู้สึกดีที่เขาบอกมาตรงๆ ไม่ใช่มาแบบอ้อมๆ เช่นมาดูเน็ตฟลิกซ์ที่ห้องเราไหม บ้าบอค่ะ — หญิง, 19
  • ไม่มีปัญหา เป็นความเข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่าย ไม่ได้ทำให้มีอารมณ์ทางเพศน้อยลง (ถึงน้อยลงตอนเล้าโลมก็คงขึ้นใหม่อยู่ดี) เพราะงั้นถามก่อนแบบตรงๆ ไม่มีปัญหาใดๆ (กรณีที่อยู่ในสถานการณ์ที่เอื้อต่อการมี sex) — non-binary, 17
  • เราคิดว่าในทางอุดมคติก็ควรจะถามคำถามนี้กันทุกครั้ง แต่มันก็รู้สึกอีหลักอีเหลื่อที่จะถามทุกครั้งหรือเปล่า คำถามแรก [เคยมีเพศสัมพันธ์โดยอีกฝ่ายไม่ยินยอมหรือไม่] เราจึงตอบไปว่าไม่แน่ใจ เพราะไม่ได้มี verbal consent — Male, 30
  • อึ้งนิดหน่อย แต่ดีค่ะ ก็จะได้ตอบตรงๆ เคลียร์ๆ บางคนก็ไม่ฉลาดพอจะคิดหรือสังเกตเห็นการปฏิเสธโดยการแสดงออกได้อย่างเดียว — หญิง, 26 
  • รู้สึกว่าควรถาม เพราะการอนุมานเอาเองว่าฝ่ายตรงข้ามอยากจะมีเซ็กส์กับเรามันก็ไม่ต่างจากการข่มขืน เพราะบางคนพออีกฝ่ายเริ่มแล้วก็ไม่กล้าปฏิเสธ อาจจะด้วยนิสัยเกรงใจหรือสถานการณ์ตอนนั้นทำให้เขาปฏิเสธไม่ได้ เพราะงั้นควรถามก่อน — หญิง, 23
  • ถ้าเป็นแฟนกัน ก็รู้สึกดีที่เขาถาม เพราะคิดว่าส่วนมากถ้าเป็นแฟนกัน บางทีก็เริ่มจากการเล้าโลมแล้วปล่อยเลยตามเลยมากกว่าที่จะถามออกมาตรงๆ เพราะว่าการที่จะตอบตกลงหรือปฏิเสธนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยมากๆ และการยินยอมให้เล้าโลม ไม่เท่ากับ ยินยอมให้มีเซ็กส์ — หญิง, 28
  • เขิน… และรู้สึกว่าคนที่ถามเป็นคนที่น่ารักประมาณนึง ให้เกียรติและเคารพผู้อื่น ก็รู้สึกดีกับเขานะ — หญิง, 24
  • ถ้าเป็นคนไม่รู้จัก ก็คงรู้สึก insecure แต่ถ้ากับคู่รัก หรือคนที่เป็น friend with benefit หรือ คนที่มาเป็น one night stand คิดว่า ควรถามกันตรงๆ —  เกย์, 29

6.2% หรือ 57 คน มีความรู้สึกในทางลบ/ไม่เห็นด้วย กับการถามตรงๆ ในลักษณะนี้

ความคิดเห็นที่น่าสนใจในกลุ่มนี้ได้แก่

  • อึ้งกิมกี่ รู้สึกอย่าพูดอะไรแบบนี้หรือทำนองนี้ได้มั้ย ขนลุก และอาจเสียความรู้สึก จนจบความสัมพันธ์ไปเลย มองหน้าไม่ติด หรือรู้สึกแปลกๆ ต่อคนแบบนี้ไปตลอดชีวิต — หญิง, 28
  • ถ้าเป็นคนแปลกหน้าหรือคนที่ไม่ได้รู้สึกอะไรด้วย จะรู้สึกไม่โอเคมากๆ แต่ถ้าเป็นคนที่เรารู้สึกดีด้วยก็จะโอเคที่จะมีอะไรด้วย แต่โดยส่วนตัวไม่ชอบให้พูดออกมาตรงๆ อยากให้ทำเลยแล้วถ้าไม่โอเคจะปฏิเสธเองว่าไม่อยากทำ — หญิง, 27
  • แปลก ควรจะเป็นเรื่องธรรมชาติ — หญิง, 31
  • แปลกๆ เป็นแฟนก็ยังแปลกๆ อยู่ดี เป็นคำถามที่ดีแต่ทำลายอรรถรสของเซ็กส์ และยังทำลาย sex fantasy ได้ด้วย มันไม่จำเป็นต้องมีใบคำขอการมีเพศสัมพันธ์อย่างเป็นทางการทุกครั้ง เพราะมีหลายวิธีที่จะแสดงออกว่ายินยอมหรือไม่ยินยอม — หญิง, 28
  • ต้องดูบริบท บางกรณีอาจดูหยาบคาย / บางกรณีอาจดูเสร่อ/ บางกรณีอาจดูคุกคาม / บางกรณีอาจดู ..มึงไม่พิมพ์สัญญาแนบมาด้วยเลยล่ะ หืมมม / บางกรณีอาจโอเค ฯลฯ ทั้งหมดย่อมส่งผลให้เกิดอารมณ์ต่างกันไป การรับมือก็จะต่างกันไป อันที่จริงมนุษย์สามารถสื่อสารกันได้หลายทาง ไม่จำเป็นต้องเป็นคำพูดทั้งหมด เพียงแต่ทุกการกระทำควรตั้งอยู่บนฐานของการให้เกียรติมนุษย์อีกคน — หญิง, 39  
  • เครียดเลย เพราะนอกจากไม่รู้สึกสบายใจที่จะทำ ยังกังวลว่าถ้าเราปฏิเสธ จะทำให้คนรักไม่พอใจ — เลสเบี้ยน, 24
  • ดูตรงเกินไป — ชาย, 44
  • เฟล ถ้าเขารักเราจริงเขาจะรู้เองว่าเราพร้อมไหม — LGBT, 23
  • ตรงเกินไปถ้าถามแบบนี้ เพราะโลกจริงจะสื่อกันอ้อมๆ อยู่ดีและนี่คือปัญหา sexual invitation ที่ดี ที่อีกฝ่ายต้องการกลับเป็นการไม่เอ่ยถึง sex — ชาย, 30

5.9% รู้สึกเฉยๆ กับการถามในลักษณะนี้ โดยไม่ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

11.5% มีความคิดเห็นในทิศทางอื่นๆ 

ความคิดเห็นที่น่าพิจารณาในกลุ่มนี้ได้แก่

  • คงแปลกใจเพราะผู้หญิงไทยส่วนใหญ่คงไม่สื่อสารเรื่องนี้กันทางคำพูดแบบตรงๆ ถึงแม้ตนเองจะมีความต้องการก็ตาม — ชาย, 38
  • บอกไม่ถูก แต่จะบอกว่าไม่พร้อม (แต่ที่ผ่านมาก็เหมือนจะไม่ฟัง และเราก็ยอมเพราะเป็นแฟน) — ญ, 26
  • คิดว่ามีไม่กี่คนกล้าถาม เลยไม่ได้คิดว่าถ้าถูกถามอย่างนี้จะรู้สึกยังไง — ชาย, 29
  • ตกใจและกังวล โดยส่วนตัวแล้วไม่ค่อยมีความมั่นใจในร่างกายตัวเองอยู่แล้ว และชอบคิดไปถึง worst case หลังจากมีอะไรกันตลอด — หญิง, 20

ในคำถามที่ว่า “คุณเห็นด้วยกับข้อใดบ้าง” ตัวเลือกที่ให้ไว้มีทั้งทัศนคติด้านบวก-ด้านลบ จนถึงมายาคติเกี่ยวกับเซ็กส์และความยินยอมพร้อมใจ ซึ่งเรามักจะเห็นในการถกเถียงบนโลกออนไลน์ในตลอดหลายปีที่ผ่านมา 

โดยจากผู้ตอบทั้งหมด 1,043 คน ในแต่ละหัวข้อมีจำนวนผู้เห็นด้วยดังนี้

  1. ไม่ว่าเพศไหนก็สามารถเป็นผู้ถูกกระทำได้ — 92.1%
  2. การแต่งตัวโป๊ ไม่เท่ากับการเปิดเผยความต้องการทางเพศ — 79.4%
  3. การจะมีเซ็กส์กับคนรัก ต้องขอความยินยอมทุกครั้ง — 76.3% 
  4. การสอดใส่โดยไม่ถามถึงความยินยอมพร้อมใจ = ข่มขืน — 71.6%
  5. ความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศไม่ว่ากรณีใดๆ ไม่ควรจะให้ยอมความได้ — 64.1%
  6. การถูกล่วงละเมิดทางเพศควรถูกบอกเล่าออกมา ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน — 60.3%
  7. ผู้ล่วงละเมิดทางเพศผู้อื่นจำเป็นต้องออกมาขอโทษต่อสาธารณะ — 38.8%
  8. การตั้งคำถามกับผู้เปิดเผย/กล่าวอ้างว่าถูกกระทำนับเป็นการโทษเหยื่อ — 32.4%
  9. ก่อนแต่งงานกับหลังแต่งงานมีความยืดหยุ่นในการขอความยินยอมต่างกัน — 22.4%
  10. ข่มขืน=ประหาร — 22.5%
  11. การตอบสนองอารมณ์ทางเพศให้คู่รักคือเรื่องจำเป็น ถ้าไม่ทำถือว่าบกพร่อง — 19.8%
  12. เมื่อถูกปฏิเสธสามารถเล้าโลมต่อและถามอีกครั้งได้ — 11.9%
  13. หากอีกฝ่ายไม่ได้ปฏิเสธอย่างจริงจัง ก็ไม่อาจนับเป็นการล่วงละเมิด — 10%
  14. การเปิดเผยเรื่องที่ถูกล่วงละเมิด นับเป็นเรื่องน่าอับอาย — 7.2%
  15. หากอีกฝ่ายถึงจุดสุดยอด ไม่นับเป็นการล่วงละเมิด — 3.4%

อย่างไรก็ตาม ด้วยการแจกจ่ายแบบสอบถามไปในแวดวงจำกัด เราจึงไม่สามารถสรุปได้ว่าความคิดเห็นที่สำรวจได้นั้นตรงกับความเห็นของคนหมู่มากหรือไม่อย่างไรบ้าง เราจึงยังต้องการพื้นที่ในการสนทนาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในสังคม 

หมายเหตุ:

ดูรายละเอียดคำตอบได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-consent/ 

คุณอาจสนใจ