Connect with us

Hi, what are you looking for?

politics

เลือกตั้ง ’66 : สำรวจผลการเลือกตั้งของ 6 พรรคใหญ่ แต่ละพรรคได้ว่าที่ ส.ส. แบบไหนกัน

แก้ไขข้อมูลล่าสุด เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2566

  • ก้าวไกล มีว่าที่ ส.ส. แบบแบ่งเขต ที่มาจากผู้สมัครหน้าใหม่ 86 คน คิดเป็น 28.38% ของผู้สมัครหน้าใหม่ของก้าวไกล เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนว่าที่ ส.ส.หน้าใหม่ของ 6 พรรคใหญ่ ทำให้ก้าวไกลเป็นพรรคที่มีว่าที่ ส.ส. หน้าใหม่เป็นสัดส่วนมากที่สุดใน 6 พรรค
  • ส่วนเพื่อไทย มีว่าที่ ส.ส. ที่มาจากการย้ายพรรค 29 คน คิดเป็น 27.36% ของผู้สมัคร ส.ส. ย้ายพรรคทั้งหมด 106 คน เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างพรรคการเมืองขนาดใหญ่ 6 พรรค จะเห็นได้ว่า พรรคเพื่อไทยมีว่าที่ ส.ส.ที่มาจากการย้ายพรรคมากที่สุด
  • ว่าที่ ส.ส. ของพรรคภูมิใจไทยนั้นมาจากผู้สมัครจากพรรคเดิมมากที่สุด เป็นจำนวน 37 คน คิดเป็น 48.68% ของผู้สมัครพรรคเดิมที่ลงสมัคร เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนว่าที่ ส.ส.พรรคเดิมของ 6 พรรคใหญ่ ภูมิใจไทยถือเป็นพรรคที่ได้ว่าที่ ส.ส. จากผู้สมัครพรรคเดิมเป็นสัดส่วนมากที่สุดในบรรดา 6 พรรค 

หลังการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งรายงานผลการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2566 อย่างเป็นทางการ ทาง ECT Report เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2566 Rocket Media Lab ชวนสำรวจว่าที่ ส.ส. แบบแบ่งเขตจากพรรคใหญ่ทั้ง 6 พรรคที่ได้รับการเลือกตั้ง ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคประชาธิปัตย์ ว่าเป็นใครมาจากไหน ผ่านฐานข้อมูลโครงการ DEMO Thailand ของ Rocket Media Lab

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 Rocket Media Lab จัดทำฐานข้อมูลทางการเมืองของผู้สมัคร ส.ส. โดยแยกกลุ่มผู้สมัครเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. ผู้สมัครจากพรรคเดิม หมายถึง อดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2562 หรือปีที่เก่ากว่านั้น ที่ลงสมัครในนามพรรคเดิมในปี 2566

2. ผู้สมัครที่ย้ายพรรค หมายถึง อดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2562 หรือปีที่เก่ากว่านั้น โดยนับปีล่าสุดที่ผู้สมัครคนนั้นลงสมัคร ส.ส. ที่ย้ายไปลงสมัครพรรคใหม่ในปี 2566

3. ผู้สมัครหน้าใหม่ หมายถึง ผู้ที่ไม่เคยลงสมัคร ส.ส. มาก่อน ทั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ

และเมื่อนำเอาว่าที่ ส.ส. แบบแบ่งเขตจากพรรคใหญ่ทั้ง 6 พรรค ที่ได้รับการเลือกตั้ง มาพิจารณาจากฐานข้อมูลและการจัดประเภทดังกล่าว จะพบว่า

พรรคก้าวไกล

จากผลการเลือกตั้ง 2566 พรรคก้าวไกลได้ว่าที่ ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้งหมด 112 คน จากการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 396 คน โดยแบ่งเป็น

1. ว่าที่ ส.ส. ที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ 86 คน

2. ว่าที่ ส.ส. ที่เป็นผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรค 2 คน

3. ว่าที่ ส.ส. ที่เป็นผู้สมัครจากพรรคเดิม 24 คน

จากผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต ของพรรคก้าวไกล 396 คน แบ่งเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ จำนวน 303 คน ผู้สมัครจากพรรคเดิม จำนวน 66 คน และผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 27 คน พบว่า มีผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่ได้รับเลือกตั้ง 86 คน คิดเป็น 28.38% ของผู้สมัครหน้าใหม่ที่ลงสมัคร เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนว่าที่ ส.ส.หน้าใหม่ของ 6 พรรคใหญ่ ทำให้ก้าวไกลเป็นพรรคที่มีว่าที่ ส.ส. หน้าใหม่เป็นสัดส่วนมากที่สุดใน 6 พรรค 

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในบรรดาผู้สมัครหน้าใหม่ 303 คนที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพส่วนตัวมากที่สุด 38.6% นักธุรกิจ 28.71% และผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่นๆ 23.10% ขณะที่ว่าที่ ส.ส. ที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่ได้รับการเลือกตั้งของพรรคก้าวไกลนั้น มาจากกลุ่มผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่นๆ มากที่สุด

เมื่อพิจารณาผู้สมัครพรรคเดิมจำนวน 66 คน พบว่า มีผู้ได้รับเลือกตั้งจำนวน 24 คน คิดเป็น 36.36% แบ่งเป็น อดีต ส.ส. แบบแบ่งเขต ปี 2562 จำนวน 8 คน อดีตผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต ปี 2562 จำนวน 13 คน และอดีต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ปี 2562 จำนวน 1 คน และอดีตผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ปี 2562 จำนวน 2 คน

เนื่องจากในการเลือกตั้ง 2566 มีอดีต ส.ส. ลงสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตทั้งหมด 8 คน จึงสรุปได้ว่า พรรคก้าวไกลมีอดีต ส.ส. ที่ลงสมัครในนามพรรคเดิมและได้รับการเลือกตั้งครบ 100%

สำหรับผู้สมัคร ส.ส. ที่ย้ายมาจากพรรคอื่นในปี 2562 ที่ได้รับการเลือกตั้งมีจำนวน 2 คน โดยเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคไทยรักษาชาติและพรรคเพื่อไทยในปี 2562 ทั้งนี้ในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคก้าวไกลไม่มีอดีต ส.ส. จากพรรคอื่นย้ายมาลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคก้าวไกลเลย

พรรคเพื่อไทย 

ในการเลือกตั้ง 2566 พรรคเพื่อไทยได้ว่าที่ ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้งหมด 112 คน จากการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 400 คน โดยแบ่งเป็น

1. ว่าที่ ส.ส. ที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ 34 คน

2. ว่าที่ ส.ส. ที่เป็นผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรค 29 คน

3. ว่าที่ ส.ส. ที่เป็นผู้สมัครจากพรรคเดิม 49 คน

จากผู้สมัคร ส.ส. เขต 400 คน แบ่งเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ 155 คน ผู้สมัครที่มาจากพรรคเดิม 139 คน และผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรค 106 คน พบว่า ว่าที่ ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยเป็นผู้สมัครจากพรรคเดิมมากที่สุด จำนวน 49 คน คิดเป็น 35.25% ของผู้สมัครพรรคเดิม ในจำนวนนี้มีอดีต ส.ส.ปี 2562 จำนวน 40 คน อดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 จำนวน 6 คน และอดีต ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 1 คน และอดีตผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่ลงสมัครในแบบแบ่งเขตในปี 2566 จำนวน 2 คน 

ส่วนว่าที่ ส.ส. ที่มาจากผู้สมัครหน้าใหม่ พบว่า จากผู้สมัครหน้าใหม่ทั้งหมด 155 คน มีผู้ได้รับเลือกตั้ง 34 คนคิดเป็น 21.93% เมื่อพิจารณาภูมิหลังแล้วพบว่า มาจากกลุ่มคนที่เป็นเครือญาตินักการเมืองระดับชาติและนักการเมืองระดับท้องถิ่นมากที่สุด เท่ากันที่ 18 คน รองลงมาคือ นักธุรกิจ

ว่าที่ ส.ส. ที่มาจากการย้ายพรรค พบว่า จากผู้สมัคร ส.ส. ย้ายพรรคทั้งหมด 106 คน มีผู้ได้รับเลือกตั้งจำนวน 29 คน คิดเป็น 27.36% โดยเป็นอดีต ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐ 3 คน พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อชาติ และพรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคละ 1 คน และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคไทยรักษาชาติ 7 คน พรรคภูมิใจไทย 5 คน พรรคพลังประชารัฐ 3 คน พรรคเพื่อชาติ 2 คน พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคชาติไทย และพรรคสามัคคีธรรม พรรคละ 1 คน

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างพรรคการเมืองขนาดใหญ่ 6 พรรค จะเห็นได้ว่า พรรคเพื่อไทยมีว่าที่ ส.ส. ที่มาจากการย้ายพรรคมากที่สุด

พรรคภูมิใจไทย 

ในการเลือกตั้ง 2566 พรรคภูมิใจไทยได้ว่าที่ ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้งหมด 68 คน จากการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 387 คน โดยแบ่งเป็น

  1. ว่าที่ ส.ส. ที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ 18 คน
  2. ว่าที่ ส.ส. ที่เป็นผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรค 13 คน
  3. ว่าที่ ส.ส. ที่เป็นผู้สมัครจากพรรคเดิม 37 คน

จากผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตของพรรคภูมิใจไทย 387 คน ซึ่งมีผู้สมัครจากพรรคเดิม จำนวน 76 คน ผู้สมัครหน้าใหม่ จำนวน 183 คน และผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 128 คน พบว่า ว่าที่ ส.ส. ของพรรคภูมิใจไทยนั้นมาจากผู้สมัครจากพรรคเดิมมากที่สุด เป็นจำนวน 37 คน คิดเป็น 48.68% ของผู้สมัครพรรคเดิมที่ลงสมัคร เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนว่าที่ ส.ส. พรรคเดิมของ 6 พรรคใหญ่ ภูมิใจไทยถือเป็นพรรคที่ได้ว่าที่ ส.ส. จากผู้สมัครพรรคเดิมเป็นสัดส่วนมากที่สุดในบรรดา 6 พรรค

สำหรับว่าที่ ส.ส. ของพรรคภูมิใจไทยที่มาจากผู้สมัครจากพรรคเดิม 37 คน แบ่งเป็นอดีต ส.ส. จากปี 2562 จำนวน 24 คน อดีตผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคจากปี 2562 อีก 9 คน และอดีต ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่มาลงในแบบแบ่งเขตอีก 2 คน และอดีตผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่ออีก 2 คน

จากนั้นเมื่อพิจารณาในส่วนของว่าที่ ส.ส. ของพรรคภูมิใจไทยที่มาจากผู้สมัครหน้าใหม่ จำนวน 18 คน จากผู้สมัครหน้าใหม่ทั้งหมด 183 คน คิดเป็น 9.84% พบว่ามาจากกลุ่มนักการเมืองระดับท้องถิ่นมากที่สุด 12 คน ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคภูมิใจไทยนั้นมาจากกลุ่มนักการเมืองระดับท้องถิ่นมากที่สุดเช่นเดียวกัน รองลงมาก็คือเครือญาตินักการเมืองระดับชาติเท่ากันกับเครือญาตินักการเมืองระดับท้องถิ่น 4 คน

และในส่วนสุดท้ายก็คือว่าที่ ส.ส. ที่มาจากการย้ายพรรค จำนวน 13 คน จากผู้สมัคร ส.ส. ที่มาจากการย้ายพรรคจำนวน 128 คน คิดเป็น 10.16% พบว่าเป็นอดีต ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐ 3 คน พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐ 6 คน พรรคไทยรักษาชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคละ 1 คน

สิ่งที่น่าสนใจก็คือการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคภูมิใจไทยมี อดีต ส.ส. ปี 2562 จากพรรคอื่นย้ายเข้ามาลงสมัครในนามพรรคภูมิใจไทยมากที่สุดถึง 49 คน แต่ได้รับเลือกตั้งเพียง 4 คนเท่านั้น

พรรคพลังประชารัฐ 

ในการเลือกตั้ง 2566 พรรคพลังประชารัฐ ได้ว่าที่ ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้งหมด 39 คน จากการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 400 คน โดยแบ่งเป็น

1. ว่าที่ ส.ส. ที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ 14 คน

2. ว่าที่ ส.ส. ที่เป็นผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรค 5 คน

3. ว่าที่ ส.ส. ที่เป็นผู้สมัครจากพรรคเดิม 20 คน

จากผู้สมัคร ส.ส. 400 คนของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีผู้สมัครหน้าใหม่ 202 คน ผู้สมัครที่ย้ายพรรค 98 คน และผู้สมัครจากพรรคเดิม 100 คน พบว่า ว่าที่ ส.ส. เป็นผู้สมัครจากพรรคเดิมมากที่สุด เป็นจำนวน 20 คน คิดเป็น 20% ของผู้สมัคร ส.ส. พรรคเดิม โดยแยกเป็น อดีต ส.ส. แบบแบ่งเขต ปี 2562 จำนวน 15 คน อดีตผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต ปี 2562 จำนวน 3 คน อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ ปี 2562 และอดีตผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อปี 2562 อย่างละ 1 คน 

ส่วนว่าที่ ส.ส. ที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่พบว่า จากผู้สมัคร ส.ส. ที่เป็นหน้าใหม่ทั้งหมด จำนวน 202 คน มีผู้ได้รับเลือกตั้งจำนวน 14 คน คิดเป็น 6.93% โดยเป็นกลุ่มที่เป็นนักการเมืองระดับท้องถิ่นมากที่สุด รองลงมาคือเครือญาตินักการเมืองระดับชาติ และเครือญาตินักการเมืองระดับท้องถิ่น

สำหรับ ส.ส. ที่มาจากการย้ายพรรคพบว่า จากผู้สมัคร ส.ส. ที่มาจากการย้ายพรรคทั้งหมด 98 คน มีผู้ได้รับเลือกตั้ง 5 คน คิดเป็น 5.10% โดยเป็นอดีต ส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย พรรคละ 1 คน และอดีตผู้สมัครจากพรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรคละ 1 คน

พรรครวมไทยสร้างชาติ 

ในการเลือกตั้ง 2566 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ว่าที่ ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้งหมด 23 คน จากการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 400 คน โดยแบ่งเป็น

1. ว่าที่ ส.ส. ที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ 9 คน

2. ว่าที่ ส.ส. ที่เป็นผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรค 14 คน

จากผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตของพรรครวมไทยสร้างชาติ 400 คน ซึ่งแบ่งเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ 193 คน และผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น 207 คน โดยไม่มีผู้สมัครจากพรรคเดิมเนื่องจากเป็นพรรคการเมืองใหม่ที่เพิ่งจะลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้ง ปี 2566 เป็นครั้งแรก พบว่า ว่าที่ ส.ส. ของพรรครวมไทยสร้างชาติมาจากการย้ายพรรค จำนวน 14 คน คิดเป็น 6.76% ของผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรค โดยแบ่งเป็นอดีต ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐ 5 คน พรรคประชาธิปัตย์ 4 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 คน อดีตผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และพรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคละ 1 คน

ส่วนว่าที่ ส.ส. ที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ พบว่า จากผู้สมัครหน้าใหม่ทั้งหมด 193 คน มีผู้ได้รับเลือกตั้ง จำนวน 9 คน คิดเป็น 4.66% โดยเป็นกลุ่มคนที่เป็นนักการเมืองระดับท้องถิ่นมากที่สุด รองลงมาก็คือข้าราชการประจำ/หน่วยงานของรัฐ เครือญาตินักการเมืองระดับชาติ และเครือญาตินักการเมืองระดับท้องถิ่น ที่มีจำนวนเท่ากัน 

พรรคประชาธิปัตย์ 

ในการเลือกตั้ง 2566 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ว่าที่ ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้งหมด 22 คน จากการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 400 คน โดยแบ่งเป็น

1. ว่าที่ ส.ส. ที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ 10 คน

2. ว่าที่ ส.ส. ที่เป็นผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรค 1 คน

3. ว่าที่ ส.ส. ที่เป็นผู้สมัครจากพรรคเดิม 11 คน

จากผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตของพรรคประชาธิปัตย์ 400 คน ซึ่งแบ่งเป็นผู้สมัครจากพรรคเดิม 131 คน ผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น 60 คน และผู้สมัครหน้าใหม่ 209 คน พบว่า ว่าที่ ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์นั้นมาจากผู้สมัครจากพรรคเดิมมากที่สุด เป็นจำนวน 11 คน คิดเป็น 8.40% ของผู้สมัครพรรคเดิม แบ่งเป็น อดีต ส.ส. จากปี 2562 จำนวน 7 คน (คิดเป็น 30.43% ของอดีต ส.ส. จากปี 2562 ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเดิม 23 คน) อดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 จำนวน 3 คน และอดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อที่ลงสมัครในแบบแบ่งเขตอีก 1 คน 

จากนั้นเมื่อพิจารณา ว่าที่ ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่พบว่า จากผู้สมัครหน้าใหม่ทั้งหมด 209 คน มีผู้ได้รับเลือกตั้งจำนวน 10 คน คิดเป็น 4.78% โดยมีกลุ่มคนที่เป็นนักการเมืองระดับท้องถิ่น และผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่นๆ มากที่สุดในจำนวนเท่ากัน รองลงมาคือเครือญาตินักการเมืองระดับชาติ และข้าราชการประจำ/หน่วยงานของรัฐ 

และว่าที่ ส.ส. ที่มาจากการย้ายพรรค 1 คน คิดเป็น 1.66% ของผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรคทั้งหมด จำนวน 60 คน โดยเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาชาติ 

ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-election-66-3/ 

หมายเหตุ

  • ข้อมูลว่าที่ ส.ส. อ้างอิงจากรายงานผลการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2566 อย่างเป็นทางการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง วันที่ 25 พ.ค. 2566
  • ข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. เป็นข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ 
  • ข้อมูลผู้สมัครและประวัติ สืบค้นจากการประกาศของพรรค การนำเสนอของสื่อและโซเชียลมีเดียของผู้สมัครแต่ละเขต
  • การนับ ส.ส. ปี 2562 นับจากการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 มีนาคม 2562
  • ปีที่ลงสมัคร ส.ส. ไม่นับปี 2557 ที่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
  • ดูฐานข้อมูลว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ปี 2566 แบบแบ่งเขต รายจังหวัด (อย่างไม่เป็นทางการ) พร้อมประวัติทางการเมืองว่า เป็นผู้สมัครจากพรรคเดิม ย้ายมาจากพรรคไหน หรือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่ไม่เคยลง ส.ส. มาก่อน ภายใต้ชื่อโครงการ DEMO Thailand ได้ที่ https://demothailand.rocketmedialab.co 

คุณอาจสนใจ