- ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คน พรรคเสรีรวมไทย เป็นผู้สมัครจากพรรคเดิม 78 คน คิดเป็น 19.5% ย้ายมาจากพรรคอื่น 81 คน คิดเป็น 20.25% และมีผู้สมัครหน้าใหม่ 241 คน คิดเป็น 60.25%
- ในปี 2562 พรรคเสรีรวมไทย มี ส.ส. แบบแบ่งเขต 1 คน จากการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดลำปาง ซึ่งก็คือ เดชทวี ศรีวิชัย โดยในการเลือกตั้ง ปี 2566 ครั้งนี้ เดชทวี ย้ายไปลงสมัครในนามพรรคภูมิใจไทย
- ผู้สมัคร ส.ส. จากปี 2562 ของพรรคเสรีรวมไทย จำนวน 350 คน กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในนามพรรคเดิม 74 คน และเมื่อเปรียบเทียบรายภูมิภาค ก็จะพบว่ามีสัดส่วนมากที่สุดที่ภาคเหนือ คิดเป็น 30.30% และน้อยสุดที่ภาคใต้ เพียง 14%
- อดีตผู้สมัคร ส.ส. เดิมจากปี 2562 ของพรรคเสรีรวมไทย ที่ไม่กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคมีจำนวน 276 คน พบว่าไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งมากที่สุด 232 คน ย้ายไปพรรคอื่น 36 คน เป็นพรรคไทยสร้างไทยมากที่สุด 9 คน และย้ายไปลงปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคเสรีรวมไทยอีก 8 คน
- ผู้สมัคร ส.ส. พรรคเสรีรวมไทยที่ย้ายมาจากพรรคอื่นนั้น ไม่มีอดีต ส.ส. จากพรรคอื่นย้ายมา มีเพียงแค่อดีตผู้สมัคร ส.ส. ในปี 2562 และก่อนปี 2562 เท่านั้น โดยมาจากพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล มากที่สุด จำนวน 7 คน คิดเป็น 8.64%
- ผู้สมัคร ส.ส. พรรคเสรีรวมไทย ที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่มาจากกลุ่มประกอบอาชีพส่วนตัวมากที่สุด 102 คน คิดเป็น 42.32% โดยส่วนมากพบว่าเป็นธุรกิจส่วนตัวและค้าขาย รองลงมาก็คือข้าราชการ/หน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 67 คน คิดเป็น 27.8% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการตำรวจมากที่สุด
จากการรับสมัครผู้สมัคร ส.ส. ทั่วประเทศเมื่อวันที่ 3-7 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา Rocket Media Lab ชวนสำรวจผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ทั้ง 400 คน และบัญชีรายชื่อ 57 คน ของพรรคเสรีรวมไทย ว่าเป็นใคร มาจากไหนบ้าง เป็นผู้สมัครพรรคเดิม หน้าใหม่ หรือย้ายพรรค?
เลือกตั้ง 66 พรรคเสรีรวมไทย มีผู้สมัครหน้าใหม่กว่า 60%
ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 Rocket Media Lab จัดทำฐานข้อมูลทางการเมืองของผู้สมัคร ส.ส. โดยแยกกลุ่มผู้สมัครเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. ผู้สมัครจากพรรคเดิม หมายถึง อดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2562 หรือปีที่เก่ากว่านั้น
2. ผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น หมายถึง อดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2562 หรือปีที่เก่ากว่านั้น โดยนับปีล่าสุดที่ผู้สมัครคนนั้นลงสมัคร ส.ส.
3. ผู้สมัครหน้าใหม่ หมายถึง ผู้ที่ไม่เคยลงสมัคร ส.ส. มาก่อน ทั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ
เมื่อแยกผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คน จากพรรคเสรีรวมไทย ในปี 2566 ตามการจัดประเภทดังกล่าว พบว่า มีผู้สมัครจากพรรคเดิม จำนวน 78 คน คิดเป็น 19.5% มีผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 81 คน คิดเป็น 20.25% และมีผู้สมัครหน้าใหม่ จำนวน 241 คน คิดเป็น 60.25%
และเมื่อแยกตามภูมิภาค จะเห็นได้ว่าผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเดิม มีสัดส่วนมากที่สุดที่ภาคเหนือ คิดเป็น 27.02 และน้อยที่สุดที่ภาคใต้ คิดเป็น 13.33% ส่วนว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. 2566 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น มีสัดส่วนมากที่สุดที่ภาคเหนือ คิดเป็น 24.32% และน้อยที่สุดที่ภาคตะวันตกคิดเป็น 10.53% และในส่วนของผู้สมัครหน้าใหม่ จะพบว่า มีสัดส่วนมากที่สุดที่ภาคตะวันออก คิดเป็น 68.97% และน้อยที่สุดที่ภาคตะวันตกคิดเป็น 47.37%
อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา (ไม่นับเลือกตั้งซ่อม) พรรคเสรีรวมไทยไม่ได้ ส.ส. แบ่งเขต เลยแม้แต่ที่นั่งเดียว
ผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเดิม
เมื่อพิจารณาผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คนจากพรรคเสรีรวมไทย เทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่าผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่มาจากพรรคเดิม จำนวน 78 คน ของพรรคเสรีรวมไทย สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
1. อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคเสรีรวมไทย เดิมจากปี 2562 จำนวน 74 คน คิดเป็น 94.87%
2. อดีตผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 7 คน คิดเป็น 5.13%
จากข้อมูลจะเห็นว่า พรรคเสรีรวมไทยไม่ได้ ส.ส. แบ่งเขต เลยแม้แต่ที่นั่งเดียวในการเลือกตั้งปี 2562 ในผลการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 แต่มาได้ ส.ส. แบบแบ่งเขต 1 คน จากการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดลำปาง ซึ่งก็คือ เดชทวี ศรีวิชัย โดยในการเลือกตั้ง ปี 2566 ครั้งนี้ เดชทวีย้ายไปลงสมัครในนามพรรคภูมิใจไทย
หากนับเฉพาะผลการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 ก็เท่ากับว่าผู้สมัครพรรคเดิมของพรรคเสรีไทยในปี 2566 นี้ จึงมีแต่อดีตผู้สมัคร ส.ส. จากการเลือกตั้ง 2562 ซึ่งพบว่ามี 74 คน คิดเป็น 94.87% และเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่ออีก 7 คน คิดเป็น 5.13%
และเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับจำนวนผู้สมัคร ส.ส. เดิมจากปี 2562 ของพรรคเสรีรวมไทย จำนวน 350 คน จะพบว่า มีอดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 ของพรรคเสรีรวมไทย ที่กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในนามพรรคเดิม 74 คน และเมื่อเปรียบเทียบรายภูมิภาค ก็จะพบว่ามีสัดส่วนมากที่สุดที่ภาคเหนือ คิดเป็น 30.30% และน้อยสุดที่ภาคใต้ เพียง 14%
ในขณะเดียวกันอดีตผู้สมัคร ส.ส. เดิมจากปี 2562 ของพรรคเสรีรวมไทย ที่ไม่กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคมีจำนวน 276 คน พบว่าไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งมากที่สุด 232 คน ย้ายไปพรรคอื่น 36 คน แยกเป็น พรรคไทยสร้างไทย 9 คน พรรคก้าวไกล 6 คน พรรคไทยภักดี 4 คน พรรคแนวทางใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคละ 3 คน พลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคละ 2 คน พรรคเพื่อชาติ พรรคเพื่อชาติไทย พรรคใหม่ และพรรคเพื่อไทยรวมพลัง พรรคละ 1 คน และย้ายไปลงปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคเสรีรวมไทยอีก 8 คน
นอกจากนี้ยังมีอดีตผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่ออีก 4 คน ที่ถือเป็นผู้สมัครพรรคเดิมของพรรคเสรีรวมไทยที่กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2566 นี้
ผู้สมัคร ส.ส. ที่มาจากการย้ายพรรค
เมื่อพิจารณาผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คนจากพรรคเสรีรวมไทย เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่ามีผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่ย้ายมาจากพรรคอื่น 81 คน ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้
1. อดีตผู้สมัคร ส.ส. เดิมจากปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 73 คน คิดเป็น 90.12%
2. อดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 8 คน คิดเป็น 9.88%
จากข้อมูลจะพบว่าผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 81 คนของพรรคเสรีรวมไทยที่ย้ายมาจากพรรคอื่น ย้ายมาจาก
1. พรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล จำนวน 7 คน คิดเป็น 8.64%
2. พรรคพลังท้องถิ่นไท จำนวน 6 คน คิดเป็น 7.41%
3. พรรคพลังปวงชนไทย พรรคเพื่อชาติ และพรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคละ 5 คน คิดเป็น 6.17%
4. พรรคทางเลือกใหม่ พรรคพลังชาติไทย พรรคละ 4 คน คิดเป็น 4.94%
5. พรรคชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา ประชาธรรมไทย ภราดรภาพ พรรคละ 3 คน คิดเป็น 3.70%
6. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ไทยรักษาชาติ ประชาธิปไตยใหม่ ประชานิยม ภูมิใจไทย และมัชฌิมาธิปไตย พรรคละ 2 คน คิดเป็น 2.47%
7. พรรคกลาง เกษตรมหาชน ความหวังใหม่ เครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย ฐานรากไทย ไทยรุ่งเรือง ไทยศรีวิไลย์ ประชาชนปฏิรูป ประชาชาติ ประชาภิวัฒน์ ประชามติ พลเมืองไทย พลังประชาธิปไตย พลังแผ่นดินทอง พัฒนาประเทศไทย เพื่อไทย เพื่อนไทย เพื่อแผ่นดิน รักษ์ผืนป่าประเทศไทย รักษ์สันติ และสยามพัฒนา พรรคละ 1 คน คิดเป็น 1.23%
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าผู้สมัคร ส.ส. พรรคเสรีรวมไทยที่มาจากการย้ายมาจากพรรคอื่นนั้น ไม่มีอดีต ส.ส. จากพรรคอื่นย้ายมา มีเพียงแค่อดีตผู้สมัคร ส.ส. ในปี 2562 และก่อนปี 2562 เท่านั้น โดยมาจากพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล มากที่สุด จำนวน 7 คน คิดเป็น 8.64% รองลงมาก็คือ พรรคพลังท้องถิ่นไท จำนวน 6 คน คิดเป็น 7.41% ตามมาด้วยพรรคพลังปวงชนไทย พรรคเพื่อชาติ และพรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคละ 5 คน คิดเป็น 6.17%
ส่วนผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคเสรีรวมไทยที่เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 8 คน นั้น พบว่ามาจากพรรคมัชฌิมาธิปไตย จำนวน 2 คน พรรคเกษตรมหาชน พรรคความหวังใหม่ พรรคประชามติ พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย และพรรครักษ์สันติ จำนวนพรรคละ 1 คน
ผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่
เมื่อพิจารณาผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คนจากพรรคเสรีรวมไทยเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่าผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่ถือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ของพรรคเสรีรวมไทย 241 คน สามารถแบ่งออกได้ดังนี้*
1. ประกอบอาชีพส่วนตัว 102 คน คิดเป็น 42.32%
2. ข้าราชการ/หน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 67 คน คิดเป็น 27.8%
3. นักการเมืองระดับท้องถิ่น 43 คน คิดเป็น 17.84%
4. นักธุรกิจ 17 คน คิดเป็น 7.05%
5. ผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่นๆ 6 คน คิดเป็น 2.49%
6. เครือญาตินักการเมืองระดับชาติ 4 คน คิดเป็น 1.66%
7. นักเคลื่อนไหวทางการเมือง/สังคม 4 คน คิดเป็น 1.66%
8. บุคคลผู้มีชื่อเสียงในสังคม 4 คน คิดเป็น 1.66%
9. นักวิชาการ/นักวิจัย 3 คน คิดเป็น 1.24%
10. เครือญาตินักการเมืองระดับท้องถิ่น 2 คน คิดเป็น 0.83%
*ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. 1 คน อาจมีได้มากกว่า 1 สถานะ
**พรรคเสรีรวมไทยไม่มีผู้สมัครหน้าใหม่ที่เป็นนักการเมืองระดับชาติ
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าผู้สมัคร ส.ส. พรรคเสรีรวมไทย ที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ 241 คนมาจากกลุ่มประกอบอาชีพส่วนตัวมากที่สุด 102 คน คิดเป็น 42.32% โดยส่วนมากพบว่าเป็นธุรกิจส่วนตัวและค้าขาย และมีมากที่สุดในภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออก และภาคใต้
รองลงมาก็คือข้าราชการ/หน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 67 คน คิดเป็น 27.8% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการตำรวจมากที่สุด และมีมากที่สุดในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามมาด้วยนักการเมืองระดับท้องถิ่นมากที่สุด 43 คน คิดเป็น 17.84% โดยเป็นอดีตคนที่ทำงานใน อบจ. อบต. ในตำแหน่งต่างๆ รวมไปถึงอดีตผู้สมัคร นายก อบจ. อบต. และ ส.อบจ. ส.อบต. อีกด้วย และผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่นๆ 6 คน คิดเป็น 2.49% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้ช่วย ส.ส.
ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 98 คน
เมื่อพิจารณาผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 57 คนจากพรรคเสรีรวมไทย เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า เป็นหน้าใหม่มากที่สุด 29 คน รองลงมาคือพรรคเดิม 25 คน และย้ายมาจากพรรคอื่น 3 คน
โดยเป็นผู้สมัครหน้าใหม่มาจากกลุ่มผู้ประกอบอาชีพส่วนตัวมากที่สุด รองลงมาคือข้าราชการ ซึ่งส่วนมากเป็นอดีตข้าราชการตำรวจ และผู้ที่เคยทำงานการเมืองมาก่อน
ในส่วนของผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่ถือเป็นผู้สมัครจากพรรคเดิมนั้น พบว่าเป็นอดีต ส.ส. จากปี 2562 จำนวน 5 คน โดยในปี 2562 พรรคเสรีรวมไทยได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด 10 คน ซึ่งเท่ากับว่ามีอดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคเสรีรวมไทย 5 คน ที่ไม่กลับมาลงสมัครแบบบัญชีรายชื่อในนามพรรคเสรีรวมไทย ซึ่งก็คือวัชรา ณ วังขนาย, เรวัต วิศรุตเวช, ประสงค์ บูรณ์พงศ์, ธนพร โสมทองแดง และอำไพ กองมณี โดยปรากฏว่า มีเพียงเรวัต วิศรุตเวช ที่ย้ายไปลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 2 ของพรรคเพื่อชาติ และอีก 4 คน ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งนี้ นอกจากนี้ ในผู้สมัครจากพรรคเดิม ยังมีอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากปี 2562 อีก 20 คน และอดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 อีก 2 คน
และส่วนที่มาจากการย้ายพรรค 3 คน มาจากพรรคประชาธิปัตย์ พลังประชาชน และเศรษฐกิจใหม่ พรรคละ 1 คน
ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-election-66-3
หมายเหตุ
ข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. เป็นข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ
ข้อมูลผู้สมัครและประวัติ สืบค้นจากการประกาศของพรรค การนำเสนอของสื่อและโซเชียลมีเดียของผู้สมัครแต่ละเขต
การนับ ส.ส. ปี 2562 นับจากการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 มีนาคม 2562
ปีที่ลงสมัคร ส.ส. ไม่นับปี 2557 ที่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
ดูฐานข้อมูลว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ปี 2566 แบบแบ่งเขต รายจังหวัด (อย่างไม่เป็นทางการ) พร้อมประวัติทางการเมืองว่า เป็นผู้สมัครจากพรรคเดิม ย้ายมาจากพรรคไหน หรือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่ไม่เคยลง ส.ส. มาก่อน ภายใต้ชื่อโครงการ DEMO Thailand ได้ที่ https://demothailand.rocketmedialab.co