หมายเหตุ: ปรับปรุงเนื้อหาล่าสุด 27 มี.ค. 2024
หลังจากวันที่ 17 พ.ย. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 ที่กำหนดเรื่องการรับรองสมรสเฉพาะชาย-หญิงนั้น ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเสมอภาค ทำให้ประเด็นเรื่องกฎหมายการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันกลับมาเป็นที่พูดถึงของสังคมอีกครั้ง
Rocket Media Lab ชวนสำรวจไทม์ไลน์และช่องทางการผลักดันกฎหมายการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันทั่วโลก
ปัจจุบันมีประเทศและดินแดนที่รับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน 38 ประเทศ/ดินแดน โดยประเทศแรกที่ผ่านกฎหมายรับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน ก็คือเนเธอร์แลนด์ มีผลในวันที่ 1 เมษายน 2001 และประเทศล่าสุดก็คือกรีซ ที่ผ่านร่างกฎหมายอนุญาตการแต่งงานระหว่างคนรักเพศเดียวกัน เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2024 รวมทั้งให้อนุญาตอุปการะบุตรได้ ในขณะที่ประเทศเนปาลและไทยนั้นอยู่ในขั้นตอนการออกกฎหมาย
นอกจากนั้นยังพบว่าใน 38 ประเทศนี้ มี 22 ประเทศที่ผ่านกฎหมายนี้ด้วยระบบรัฐสภา 12 ประเทศมาจากคำตัดสินของศาลซึ่งถูกนำมาบังคับใช้ออกเป็นกฎหมายต่อไป 3 ประเทศมาจากการลงประชามติ ซึ่งก็คือไอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และคิวบา และ 1 ประเทศ ที่มีทั้งระบบรัฐสภา คำตัดสินของศาล และประชามติ นั่นก็คือสหรัฐอเมริกา
การผ่านกฎหมายโดยรัฐสภา
ประเทศที่ผ่านกฎหมายการสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย เบลเยียม เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอซ์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก มอลตา เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักร ชิลี อุรุกวัย อันดอร์รา เอสโตเนีย กรีซ และไทย
ในอาร์เจนตินา ก่อนหน้าที่จะมีการผ่านกฎหมายนี้โดยรัฐสภาก็มีการผลักดันผ่านกระบวนการศาล แต่ศาลตัดสินว่าการแต่งงานของเพศเดียวกันนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือในประเทศฝรั่งเศส หลังจากมีการผ่านกฎหมายโดยรัฐสภาแล้ว ต่อมาพรรคการเมืองอนุรักษนิยม Union for A Popular Movement ก็ได้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่ากฎหมายการแต่งงานเพศของเดียวกันนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลตัดสินว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
หรือในประเทศสเปน ที่ผ่านกฎหมายตั้งแต่ปี 2005 แต่ถูกขัดขวางโดยพรรคอนุรักษนิยม People’s Party ที่นำเรื่องขึ้นศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อพรรค People’s Party ได้เป็นรัฐบาล ก็มีแนวความคิดจะยกเลิกกฎหมายนี้ซึ่งจะทำได้ต้องมีคำวินิจฉัยของศาลรองรับ อย่างไรก็ตาม ต่อมาศาลตัดสินว่าไม่
สามารถยกเลิกกฎหมายได้ จึงทำให้กฎหมายการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันในสเปนมีผลมาตั้งแต่ปี 2005
หรือประเทศชิลี ที่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมกัน โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 มีนาคม 2022 โดยเป็นการผ่านกฎหมายในระบบรัฐสภา ชิลีเคยมีความพยายามจะผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมมาตั้งแต่ปี 2011 แต่ถูกปัดตกด้วยคำวินิจฉัยของศาลด้วยคะแนนเสียง 9:1 ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และล่าสุดประเทศอันดอร์รา ที่เพิ่งจะมีผลทางกฎหมายไปเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2023 ที่ผ่านมา อันเกิดจากการผลักดันของสหภาพแรงงานพลเรือน ตั้งแต่ 23 มีนาคม 2005 ที่ให้สิทธิและผลประโยชน์บางประการแก่คู่รักเพศเดียวกัน และต่อมาได้ออกกฎหมาย และได้ผลักดันต่อเนื่องจนออกเป็นกฎหมายสมรสเท่าเทียมในที่สุด
และในปี 2024 นี้ เอสโตเนียเพิ่งผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2024 ซึ่งถือว่าเป็นอดีตประเทศในสหภาพโซเวียตประเทศแรกที่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม และขณะที่ประเทศกรีซ ที่แม้จะมีการคัดค้านจากศาสนาจักร แต่ก็ถือว่ากรีซเป็นออร์โธดอกซ์ประเทศแรกที่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2024 รวมถึงไทยที่เพิ่งผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระ 3 ด้วยเสียงเห็นชอบที่ 400 เสียง เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2024
การผ่านกฎหมายโดยคำวินิจฉัยของศาล
ในบรรดา 12 ประเทศ ที่มีกฎหมายรับรองการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันที่มาจากคำตัดสินของศาลนั้น ได้แก่ ออสเตรีย บราซิล แคนาดา โคลอมเบีย คอสตาริกา เอกวาดอร์ เม็กซิโก โปรตุเกส แอฟริกาใต้ ไต้หวัน สโลวีเนีย และเนปาล โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญและการตีความรัฐธรรมนูญในประเด็นเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคนั้น ประเทศออสเตรีย ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า “บทบัญญัติที่ไม่เลือกปฏิบัติและความเท่าเทียมกันของรัฐธรรมนูญแห่งออสเตรียรับประกันสิทธิในการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน” ซึ่งนำมาสู่การรับรองกฎหมายการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันในออสเตรีย
หรือในกรณีของโคลอมเบีย ศาลรัฐธรรมนูญโคลอมเบียมีคะแนนเสียง 6:3 เสียงว่าห้ามการแต่งงานของคนเพศเดียวกันขัดต่อรัฐธรรมนูญภายใต้รัฐธรรมนูญโคลอมเบียปี 1991 ซึ่งคล้ายคลึงกันกับเอกวาดอร์ เม็กซิโก หรือแอฟริกาไต้ ในขณะที่คอสตาริกานั้น ในปี 2006 ศาลสูงของคอสตาริกาเคยตัดสินว่า รัฐธรรมนูญของคอสตาริกาไม่รับรองการแต่งงานของเพศเดียวกัน แต่ก็มีการต่อสู้และนำเรื่องขึ้นศาลสิทธิมนุษยชนนานาชาติ-อเมริกัน (Inter-American Commission and Court on Human Rights – ACHR) อีกครั้ง ซึ่งศาลได้วินิจฉัยว่าประเทศต่างๆ ที่ลงนามในอนุสัญญาอเมริกันว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (the American Convention on Human Rights) จะต้องอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ ซึ่งรวมถึงประเทศคอสตาริกาด้วย ซึ่งทำให้ต่อมาคอสตาริกาให้การรับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน
นอกจากนี้ ประเทศแคนาดา การผ่านกฎหมายการสมรสของคนเพศเดียวกันมาจากคำวินิจฉัยของศาลในแต่ละรัฐ โดยเริ่มที่รัฐออนแทรีโอ ในปี 2003 จากนั้น ศาลรัฐต่างๆ ได้ทยอยมีคำวินิจฉัยในทำนองเดียวกันจนมีผลบังคับทั่วประเทศในปี 2005
และในสหรัฐอเมริกานั้น การสมรสของคนเพศเดียวกัน เกิดขึ้นทั้งจากกระบวนการตุลาการ กระบวนการนิติบัญญัติ และการทำประชามติ แตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ โดยเริ่มต้นในปี 2004 และมีผลบังคับใช้ครบทุกรัฐ ทั้ง 50 รัฐ ในปี 2015
ในขณะที่ประเทศที่มีการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ใกล้เคียงกันกับประเทศไทยก็คือ ไต้หวัน โดยในวันที่ 24 พฤษภาคม 2017 ศาลตัดสินว่ากฎหมายการสมรสที่ให้สมรสได้เฉพาะหญิงชายนั้นขัดต่อหลักความเสมอภาคและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จึงให้เวลาฝ่ายนิติบัญญัติ 2 ปีในการร่างกฎหมาย ซึ่งทำให้กฎหมายรับรองการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันในไต้หวันมีผลในวันที่ 24 พฤษภาคม 2019
และประเทศสโลวีเนีย ในวันที่ 4 ตุลาคม 2022 โดยศาลมีคำวินิจฉัยตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2022 ว่าการห้ามการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญของสโลวีเนีย และให้เวลารัฐสภาสโลวีเนีย 6 เดือนในการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับคำตัดสิน
ส่วนเนปาล หลังจากคู่รักเพศเดียวกันคู่หนึ่งยื่นคำร้องต่อศาลสูงสุดขอให้จดทะเบียนสมรสได้ ศาลสูงสุดออกคำสั่งชั่วคราว เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2023 ให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสกันได้ จนกว่ารัฐสภาจะมีการแก้กฎหมาย แต่จนขณะนี้ (มีนาคม 2024) ฝ่ายนิติบัญญัติเนปาลยังไม่ได้มีการพิจารณาแก้กฎหมาย
การลงประชามติ
สองประเทศที่มีออกกฎหมายรับรองการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันอันเป็นผลมาจากการทำประชามติเพียงอย่างเดียว คือไอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และคิวบา ในส่วนของประเทศไอร์แลนด์นั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2000 ที่เริ่มมีการปฏิรูปกฎหมายในแต่ละหมวดของรัฐธรรมนูญเรื่อยมา โดยประเด็นเรื่องกฎหมายการสมรสของคนรักเพศเดียวกันเริ่มมีการพิจารณาในเดือนมีนาคม 2011 และมีการลงประชามติในวันที่ 22 พฤษภาคม 2015 ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบให้ออกกฎหมายรับรองการสมรสของคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2015
ส่วนประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้น ก็เกิดจากประชามติเช่นเดียวกัน โดยในการทำประชามติครั้งแรกในปี 2016 ผลประชามติออกมาว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยในการที่จะออกกฎหมายรับรองการสมรสของคนรักเพศ จากนั้นก็มีการทำประชามติอีกครั้งในวันที่ 26 กันยายน 2021 ซึ่งในครั้งนี้ผลออกมาว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะออกกฎหมายรับรองการสมรสของคนรักเพศเดียวกัน จึงทำให้มีการออกเป็นกฎหมายและมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2022
และล่าสุดคือคิวบา ซึ่งเกิดจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ลงประชามติเห็นชอบให้การแต่งงานเพศเดียวกันถูกกฎหมายในการลงประชามติเมื่อ 25 กันยายน 2022 และต่อมามีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 กันยายน ปีเดียวกัน
กฎหมายคู่ชีวิต vs กฎหมายสมรสเท่าเทียม
ใน 38 ประเทศที่อนุญาตให้เพศเดียวกันแต่งงานได้ มี 32 ประเทศที่มีหรือเคยมีกฎหมายคู่ชีวิตใช้มาก่อน โดยมีชื่อเรียกและรายละเอียดที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น domestic partnership, registered partnership, civil union, de facto union, same sex union ฯลฯ
เดนมาร์กเป็นประเทศแรกของโลกที่มีกฎหมายคู่ชีวิต บังคับใช้มาตั้งแต่ 1 ตุลาคม 1989 ส่วนสองประเทศที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยไม่เคยมีกฎหมายคู่ชีวิต คือฝรั่งเศสและเอกวาดอร์
สำหรับประเทศที่ไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่มีกฎหมายคู่ชีวิต ได้แก่ โครเอเชีย เช็ก ซานมาริโน ไซปรัส มอนเตเนโกร โมนาโก ลิกเตนสไตน์ สโลวีเนีย หมู่เกาะเคย์แมน อิตาลี และฮังการี รวมถึงเมืองเวราครูซในเม็กซิโก กับเมืองอารูบาในเนเธอร์แลนด์
แม้จะมี 32 ประเทศที่มีหรือเคยมีกฎหมายคู่ชีวิตใช้มาก่อน ซึ่งอาจทำให้เข้าใจไปว่า เส้นทางการต่อสู้นั้น ต้องได้กฎหมายคู่ชีวิตมาใช้ก่อน แล้วค่อยพัฒนาไปสู่กฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่เมื่อดูบริบทการเกิดขึ้นของกฎหมายคู่ชีวิตจะพบว่า ในประเทศที่มีกฎหมายคู่ชีวิตใช้มาก่อน มีเหตุผลเกี่ยวเนื่องกับ ‘หลักศาสนาและการสมรส’ มากกว่าจะเป็นเรื่องของคู่รักเพศเดียวกัน
กฎหมายคู่ชีวิตในบางประเทศก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับคู่รักเพศเดียวกันแต่แรก เช่น ประเทศโคลอมเบีย ซึ่งมีกฎหมายคู่ชีวิตสำหรับคู่รักต่างเพศตั้งแต่ปี 2007 จากนั้นอีก 2 ปี ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้กฎหมายคู่ชีวิตดังกล่าว ครอบคลุมถึงคู่รักเพศเดียวกันด้วย จนในปี 2013 โคลอมเบียจึงผ่านกฎหมายการสมรสเท่าเทียมของคู่รักเพศเดียวกัน
ความแตกต่างของกฎหมาย ‘คู่ชีวิต’ และกฎหมาย ‘การสมรส’
การแต่งงานภายใต้กฎหมายการสมรสในหลายประเทศนั้นเกี่ยวพันกับเรื่องศาสนาอย่างแนบแน่น ‘คู่สมรส’ จะต้องได้รับการยอมรับจากศาสนา โดยเฉพาะในประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ด้วยเหตุนี้ ‘การสมรส’ นั้น จะมีผลในทางกฎหมายก็ต่อเมื่อได้รับการยอมรับจากทั้งรัฐ (State) และศาสนจักร (Church)
ในเงื่อนไขนี้ การมีกฎหมายคู่ชีวิตจึงเป็นทางเลือกสำหรับคู่รักทั้งต่างเพศและเพศเดียวกัน ที่ต้องการจะมีสิทธิทางกฎหมายโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรับรองจากศาสนา ทั้งนี้รายละเอียดสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับในฐานะคู่ชีวิต จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยอาจได้รับสิทธิน้อยกว่าหรือเทียบเท่าสิทธิตามกฎหมายสมรส
เช่น ในสหรัฐอเมริกา การสมรสได้รับการรับรองทางกฎหมายในทุกรัฐ แต่คู่ชีวิตอาจไม่ได้รับการรับรองในบางรัฐ และขณะที่คู่สมรสจะได้รับมรดกโดยอัตโนมัติและไม่ต้องเสียภาษีมรดก คู่ชีวิตจะได้รับมรดกต่อเมื่อมีการแสดงเจตจำนงผ่านพินัยกรรมและต้องเสียภาษีมรดก ส่วนที่สหราชอาณาจักรนั้น คู่ชีวิตได้รับการยกเว้นภาษีมรดกเช่นเดียวกับคู่สมรส
นอกจากนี้ยังพบว่า มีบางประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ โปรตุเกส ที่ใช้กฎหมายคู่ชีวิตกับทั้งคู่รักเพศเดียวกันและคู่รักต่างเพศ ส่วนบางประเทศ เช่น สวีเดน ใช้กับคู่รักเพศเดียวกันเท่านั้น
และในบางประเทศ เมื่อมีกฎหมายรับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันแล้ว ก็ได้ยกเลิกกฎหมายคู่ชีวิต ขณะที่อีกหลายประเทศ ใช้กฎหมายคู่ชีวิต กฎหมายสมรส (ต่างเพศ) และกฎหมายสมรสเท่าเทียม (เพศเดียวกัน) ควบคู่กัน เปิดเป็นทางเลือกสำหรับคู่รักทั้งต่างเพศและเพศเดียวกัน
แต่งงานได้ แต่อุปการะบุตรไม่ได้
ใน 38 ประเทศที่อนุญาตให้เพศเดียวกันแต่งงานได้ มี 35 ประเทศที่สามารถอุปการะบุตรบุญธรรมได้ โดยมีเพียง 33 ประเทศที่อนุญาตให้รับอุปการะบุตรบุญธรรมได้โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย ออสเตรีย เบลเยียม บราซิล แคนาดา โคลอมเบีย คอสตาริกา เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก มอลตา เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส แอฟริกาใต้ สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา อุรุกวัย สวิตเซอร์แลนด์ ชิลี คิวบา สโลวีเนีย อันดอร์รา เอสโตเนีย และกรีซ
และบางประเทศมีเงื่อนไขว่าสามารถอุปการะบุตรบุญธรรมได้ แต่ต้องไม่มีความเกี่ยวพันกันโดยสายเลือด คือไต้หวัน หรือในเม็กซิโกที่บางเขตการปกครองอนุญาตให้อุปการะบุตรบุญธรรมได้ (ได้ใน 21 เขต จาก 31 เขต)
ส่วนประเทศที่แม้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมแต่ไม่อนุญาตให้รับบุตรบุญธรรมได้คือ เอกวาดอร์ ขณะที่เนปาลยังอยู่ระหว่างรอฝ่ายนิติบัญญัติแก้กฎหมาย ส่วนประเทศไทยแม้จะผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว แต่ยังอยู่ในชั้นการพิจารณาโดยวุฒิสภา โดยหากไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ ในชั้นวุฒิสภาแล้ว สิทธิประโยชน์ต่างๆ ของคู่สมรส LGBTQ+ ก็ได้เทียบเท่าสิทธิของคู่สมรสชาย-หญิงทุกประการ รวมไปถึงการอุปการะบุตรบุญธรรมด้วย
ประเทศไทยกับการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน
ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2022 ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรของไทยก็รับหลักการร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศ 4 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิมเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) (ฉบับที่….) พ.ศ…. หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เสนอโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับคณะ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ…. ซึ่ง คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. (ฉบับที่…) พ.ศ.. ซึ่ง ครม. เสนอ และร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ… ที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีมีมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. ซึ่งเสนอโดย ส.ส. พรรคก้าวไกลไปแล้วครั้งหนึ่ง รวมไปถึงเมื่อปลายปี 2021 ศาลรัฐธรรมนูญก็เคยมีคำวินิจฉัยออกมาว่า ป.พ.พ. มาตรา 1448 ที่กำหนดเรื่องการรับรองสมรสเฉพาะชาย-หญิง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
หลังการเลือกตั้งทั่วไป 2023 มีการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ขึ้นเพื่อสร้างพื้นฐานในการจัดตั้งรัฐบาลและทำงานร่วมกัน ระหว่างพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2023 โดยในข้อ 2 ของภารกิจที่ทุกพรรคจะร่วมผลักดัน มีการระบุว่า “ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ โดยจะไม่บังคับประชาชนที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการของศาสนาที่ตนเองนับถือ” ต่อมา พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
จากนั้นเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2023 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “รับหลักการ” ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาร่างกฎหมายที่ผ่านวาระแรกทั้ง 4 ฉบับ ทั้งร่างของ สส.พรรคก้าวไกล ร่างของ สส.พรรคประชาธิปัตย์ ร่างของภาคประชาชน และร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยนำเอาร่างของ ครม. เป็นหลักในการพิจารณา
ต่อมาในวันที่ 27 มีนาคม 2024 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมอีกครั้ง โดยเป็นการพิจารณารายมาตราในวาระ 2 และการลงมติเห็นชอบในวาระ 3 สาระสำคัญคือการแก้ไขกฎหมายสมรส ให้รองรับการสมรสสำหรับบุคคลสองคนโดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องเพศ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระ 3 ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 400 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง กระบวนการถัดไป คือการพิจารณาในชั้นวุฒิสภา 3 วาระ
อ้างอิง
- Same-sex marriage, Equaldex.com
- Legal status of same-sex marriage, Wikipedia
ดูรายละเอียดข้อมูลได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-same-sex-marriage/
หมายเหตุ: เนื่องจากบทความนี้เกี่ยวข้องกับลำดับเวลาในหลายประเทศ จึงเลือกใช้ปีคริสตศักราชสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกประเทศไทย เพื่อให้สามารถสืบค้นย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของกฎหมายและลำดับเวลาในประเทศต่างๆ ได้สะดวก
หากมีข้อเสนอแนะ Rocket Media Lab พร้อมปรับแก้ข้อมูลเพื่อความสมบูรณ์ถูกต้องในการนำไปใช้หรืออ้างอิงในโอกาสต่อไป โดยสามารถแจ้งได้ที่ contact [@] rocketmedialab.co