Connect with us

Hi, what are you looking for?

politics

ไทม์ไลน์การต่อสู้ทางกฎหมายของชาว LGBTQ+ โลกและไทย

การต่อสู้เพื่อให้ได้รับความเสมอภาคกับเพศอื่นๆ ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งที่มีความเท่าเทียมกัน

ภาพโดย Filmbetrachter จาก Pixabay

ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาว LGBTQ+ นอกจากการต่อสู้ในเชิงสังคม ทั้งในแง่ทัศนคติ การตีตรา การยอมรับในฐานะเพื่อนมนุษย์แล้ว ยังมาพร้อมกับการต่อสู้ในแง่กฎหมายเพื่อให้ได้รับความเสมอภาคกับเพศอื่นๆ ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งที่มีความเท่าเทียมกัน ซึ่งมีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว แต่ถึงอย่างนั้นการต่อสู้ของชาว LGBTQ+ ก็ยังคงดำเนินต่อไป เพื่อให้ได้มาซึ่งความเสมอภาคและเท่าเทียมอย่างแท้จริง

กฎหมายลงโทษการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกัน (Sodomy Law)

ในบางประเทศ มีบทบัญญัติทางกฎหมายลงโทษการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกัน ซึ่งประวัติศาสตร์การกำหนดโทษและความผิดของการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันนั้นมีมาอย่างยาวนาน และในปี 1791 นี่เอง ที่เริ่มมี 3 ประเทศแรกยกเลิกบทบัญญัติทางกฎหมายนั้น ทั้งอันดอร์รา ราชอาณาจักรฝรั่งเศส (ในสมัยนั้น) และเซนต์โดมินิก (เฮติ) 

ในขณะที่ประเทศไทย (หรือสยามในสมัยนั้น) มีการบัญญัติกฎหมาย Sodomy Law ตั้งแต่ พ.ศ. 2442 (1899) กำหนดเพศวิถีรักเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรมมีโทษจำคุกและปรับ และได้มีการยกเลิกไปในปีพ.ศ. 2499 (1956) ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม

และล่าสุดในปี 2020 ก็มีอีก 3 ประเทศที่ได้ยกเลิกกฎหมายนี้เช่นกัน ทั้งแองโกลา ภูฏาน และบอตสวานา ซึ่งในบอตสวานา กฎหมายนี้บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 1965 ในขณะที่เป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร และมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 7 ปี 

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกประเทศในโลกจะมีกฎหมายบัญญัติทางกฎหมายลงโทษการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกัน โดยมี 31 ประเทศในโลกที่ไม่เคยมีการออกกฎหมายให้โทษการมีเพศสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันมาก่อน เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน คองโก มาลี ฯลฯ 

ขณะที่ปัจจุบันจากข้อมูลของ Equaldex ยังพบว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันยังเป็นความผิดทางกฎหมายใน 71 ประเทศ และไม่เป็นความผิดทางกฎหมายใน 150 ประเทศ

กฎหมายการแต่งงานของเพศเดียวกัน (Same Sex Marriage)

กฎหมายการแต่งงานของเพศเดียวกันเป็นกฎหมายที่มีการผลักดันอย่างมากในปัจจุบันในหลายประเทศทั่วโลก เช่นเดียวกันกับประเทศไทย หากจะนับการได้เป็นคู่สมรสทางกฎหมายของคนรักเพศเดียวกัน ก็ต้องถือว่าประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรกที่มีกฎหมายการแต่งงานของเพศเดียวกันในฐานะคู่สมรสในปี 2001 

แต่หากมองในแง่การได้สิทธิทางกฎหมาย พบว่าประเทศเดนมาร์กเป็นประเทศแรกที่มีการออกกฎหมายรับรองการแต่งงานของเพศเดียวกัน ในปี 1989 แต่ในฐานะพาร์ตเนอร์ชิป 

ทั้งนี้ การรับรองสถานะทางกฎหมายของการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันในแต่ละประเทศก็จะแตกต่างกันไป ทั้งได้สิทธิในแบบคู่สมรสเช่นเดียวกันกับคนรักต่างเพศ หรือได้สิทธิในรูปแบบพาร์ตเนอร์ชิป หรือซีวิล ยูเนี่ยน (Civil Union) โดยความแตกต่างของการรับรองสถานะก็จะตามมาซึ่งสิทธิทางกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมรดก ทรัพย์สิน หรือสิทธิร่วมกันอื่นๆ ในทางกฎหมาย

ในขณะที่ประเทศไทยนั้นยังไม่มีกฎหมายออกมาบังคับใช้ แต่มีการผลักดันกฎหมายนี้ภายใต้ชื่อร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ซึ่งฉบับที่ 1 ปรากฎขึ้นในช่วงปีพ.ศ. 2556 (2013) และปัจจุบันคือร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ฉบับที่ 3 ที่ยังคงมีการถกเถียงกันอยู่ว่าจะได้รับความเสมอภาคและเท่าเทียมเทียบเท่ากับการสมรสตามกฎหมายสมรสของไทยหรือไม่ อย่างไร

สำหรับประเทศล่าสุดที่มีกฎหมายรับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันก็คือ คอสตาริกา ในปี 2020 และจากข้อมูลของ Equaldex พบว่าปัจจุบันมีประเทศที่คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ตามกฎหมายในฐานะคู่สมรส 45 ประเทศ 

และแต่งงานกันได้ตามกฎหมายในฐานะอื่นๆ เช่น Civil Union หรือ Partnership 111 ประเทศ  และยังไม่สามารถแต่งงานกันได้ตามกฎหมาย 70 ประเทศ

สิทธิในการเปลี่ยนเพศทางกฎหมาย (Right To Change Legal Gender)

สิทธิในการเปลี่ยนเพศทางกฎหมายเป็นการต่อสู้ของทรานสเจนเดอร์มาอย่างยาวนานเพื่อให้กฎหมายรับรองเพศทางกฎหมายให้ตรงกับเพศสภาพในปัจจุบัน ในปี 2003 ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศแรกที่อนุญาตให้ทรานสเจนเดอร์เปลี่ยนเพศทางกฎหมายได้ แต่ถึงอย่างนั้น การอนุญาตในครั้งนั้นเป็นเพียงการอนุญาตในกรณีพิเศษ ซึ่งต้องร้องขอเป็นรายบุคคล ไม่ได้เป็นกฎหมายที่ออกมามีผลบังคับใช้ครอบคลุมทันที 

ในปี 2004 สหราชอาณาจักรก็ได้ออกกฎหมายที่เรียกว่า Gender Recognition Act 2004 ให้บุคคลที่อายุอย่างน้อย 18 ปี ผู้ที่รู้สึกว่ามีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด หรือมีการเปลี่ยนเพศภายใต้กฎหมายของประเทศอื่นนอกสหราชอาณาจักรไปแล้ว สามารถยื่นขอเปลี่ยนเพศทางกฎหมายได้ 

สำหรับในประเทศไทยนั้น มีการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันกฎหมายนี้ ผ่านร่างพ.ร.บ. รับรองสิทธิหลังการแปลงเพศ ปรากฏในปี พ.ศ. 2563 (2020) ซึ่งเรียกร้องให้เปลี่ยนเพศตามกฎหมายได้ รวมไปถึงการเปลี่ยนคำนำหน้า

ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนเพศตามกฎหมายนั้น เป็นที่ถกเถียงในวงกว้างว่าจะให้เปลี่ยนเพศได้โดยต้องผ่าตัดแปลงเพศก่อนหรือไม่ หรือต้องมีใบรับรองจากแพทย์ด้วยหรือไม่ โดยประเทศล่าสุดที่ออกกฎหมายให้สามารถเปลี่ยนเพศทางกฎหมายได้โดยไม่ต้องผ่าตัดแปลงเพศก็คือเซอร์เบีย ในปี 2019 

และจากข้อมูลของ Equaldex พบว่าปัจจุบันมีประเทศที่เปลี่ยนเพศทางกฎหมายได้โดยไม่ต้องแปลงเพศ 90 ประเทศ เปลี่ยนได้แต่ต้องแปลงเพศ 44 ประเทศ

และยังไม่มีกฎหมายอนุญาตให้เปลี่ยนได้ 18 ประเทศ 

กฎหมายการรับเลี้ยงบุตร (LGBT Adoption)

สิทธิในการขอรับเลี้ยงดูบุตร เป็นอีกหนึ่งประเด็นของครอบครัวชาว LGBTQ+ ที่มีการผลักดันทางกฎหมายเพื่อให้สามารถรับเลี้ยงดูบุตรได้ ไม่ว่าจะเป็นคู่สมรสเพศเดียวกันหรือคนโสดชาว LGBTQ+

หากดูที่การออกกฎหมายรับรองจะพบว่า ประเทศเนเธอร์แลนด์มีการออกกฎหมายรับรองให้ทั้งคู่สมรสเพศเดียวกันหรือคนโสดชาว LGBTQ+ สามารถรับเลี้ยงบุตรได้ในปี 2001 แต่หากดูที่การต่อสู้ทางกฎหมายในชั้นศาลจะเห็นว่าในสหรัฐอเมริกามีการต่อสู้ประเด็นนี้ในชั้นศาลมาตั้งแต่ปี 1993 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในปี 2021 แต่ละรัฐก็สามารถออกกฎหมายของตนเอง (ที่แตกต่างกันไป) ในเรื่องนี้ได้

สำหรับประเทศไทยนั้นประเด็นนี้เป็นรายละเอียดที่อยู่ในการพิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต 

ประเทศล่าสุดที่เพิ่งออกกฎหมายอนุญาตให้ LGBTQ+ สามารถรับเลี้ยงบุตรได้ไม่ว่าจะเป็นคู่สมรสหรือคนโสดก็คือคอสตาริกา ในปี 2020 และจากข้อมูลของ Equaldex พบว่าปัจจุบันมีประเทศที่มีกฎหมายอนุญาตในทุกกรณี 44 ประเทศ

อนุญาตเป็นกรณีๆ ไป เช่น ต้องเป็นคู่สมรสเท่านั้น ต้องเป็นคนโสดเท่านั้น หรือเป็นบุตรบุญธรรมได้เท่านั้น 152 ประเทศ และที่ยังไม่มีกฎหมายรับรอง 26 ประเทศ

สิทธิในการเข้าทำงานในหน่วยงานทางทหารได้อย่างเปิดเผย (Serving Openly In Military) 

การที่ LGBTQ+ จะเข้าทำงานในหน่วยงานทางทหารเป็นปัญหามาอย่างยาวนาน ทั้งในแง่กฎข้อบังคับของหน่วยงานทางทหารเองที่ไม่เปิดรับบุคคลที่เป็น LGBTQ+ โดยเฉพาะทรานสเจนเดอร์ หรือในแง่วัฒนธรรมองค์กรที่มีความเป็นปิตาธิปไตยอยู่สูง จนเกิดม็อตโต้ที่เรียกว่า Don’t Ask, Don’t Tell หรือเพศสภาพกลายเป็นเรื่องที่ไม่ควรถามกันหรือไม่ควรบอกกันในองค์กรหรือหน่วยงานทางทหาร

ในปี 1974 ประเทศเนเธอร์แลนด์ ถือเป็นประเทศแรกที่ยกเลิกกฎหมายห้ามเกย์ (Homosexual) เข้าทำงานในหน่วยงานทางทหารของชาติ ซึ่งหลังจากนั้นก็มีอีกหลายประเทศยกเลิกกฎดังกล่าวตามมา

ในประเทศไทยเอง มีการปรับปรุงกฎนี้ในปี 2005 เปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเข้ารับราชการทหารได้ แต่ถึงอย่างนั้นในส่วนของการเกณฑ์ทหารพบว่าบุคคลที่เป็นทรานสเจนเดอร์ ไม่ว่าจะแปลงเพศหรือยังไม่แปลงเพศก็ตาม ยังคงต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร เพียงแต่ว่าจะถูกจัดอยู่ในประเภทกลุ่มบุคคลจำพวกที่ 2 สำหรับกลุ่มคนที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด ทั้งแบบที่มีใบรับรองแพทย์ หรือไม่มีใบรับรองแพทย์ ก็จะถือว่ามีคุณสมบัติที่ขัดต่อการรับราชการทหาร

นอกเหนือจากการอนุญาตให้เกย์หรือเลสเบี้ยนเข้ารับราชการทหารได้ การเข้ารับราชการของทรานสเจนเดอร์ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในหลายประเทศ ซึ่งมีทั้งประเทศที่อนุญาตและไม่อนุญาต

โดยล่าสุดสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพิ่งจะปลดการแบนทรานสเจนเดอร์ทั้งในส่วนของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ และกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา

กฎหมายห้ามการแบ่งแยกกีดกันทางเพศ (LGBT Discrimination Law)

ที่จริงกฎหมายห้ามการแบ่งแยกกีดกัน หรือเลือกปฏิบัติทางเพศ มีหลากหลายชนิดของกฎหมาย ทั้งในเรื่องของเฮทสปีช เฮทไครม์ ในบ้าน ในพื้นที่ที่ทำงาน การรับเข้าทำงาน การได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ทั้งที่มุ่งคุ้มครอง LGBTQ+ โดยตรง หรือเป็นกฎหมายคุ้มครองโดยทั่วไป ซึ่ง LGBTQ+ ได้รับประโยชน์ในการคุ้มครองร่วมด้วย ซึ่งในแต่ละประเทศก็จะมีความแตกต่างกันไป

ในสหรัฐอเมริกา รัฐวิสคอนซิน ถือเป็นรัฐแรกที่มีการผ่านกฎหมาย การป้องกันการเลือกปฏิบัติตามรสนิยมทางเพศ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 1982 ซึ่งถือเป็นกฎหมายการห้ามการแบ่งแยกกีดกันหรือเลือกปฏิบัติทางเพศต่อชาว LGBTQ+  ฉบับแรกๆ ที่เกิดขึ้น แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเอง กว่าจะที่รัฐอื่นๆ จะมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาก็เป็นเวลากว่า 10 ปีหลังจากนั้น หรือแม้กระทั่งในปัจจุบันก็มีเพียงไม่กี่ประเทศที่รับรองสิทธินี้ในรัฐธรรมนูญ มีเพียงสหราชอาณาจักร โบลิเวีย เอกวาดอร์ ฟิจิ และมัลตา เท่านั้น 

ในส่วนของประเทศไทยก็มีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 (2015) แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงมีข้อสังสัยอยู่ว่ากฎหมายฉบับนี้ส่งเสริมกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศให้ได้รับความเท่าเทียมจริงหรือไม่ เพราะโดยตัวกฎหมายฉบับนี้ไม่มีการกล่าวถึง “เพศภาวะและอัตลักษณ์ทางเพศ” และไม่มีแนวนโยบายการนำไปปฏิบัติที่ชัดเจน 

ล่าสุดในปี 2019 ประเทศบราซิล ศาลสูงได้มีคำวินิจฉัยว่าโฮโมโฟเบีย (การเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน) ถือเป็นสิ่งที่มีโทษทางอาญา ซึ่งจากคำวินิจฉัยนี้ ทำให้เกิดการคุ้มครองกลุ่มคน LGBTQ+ ไม่ให้ถูกกีดกันหรือเลือกปฏิบัติทางเพศ จากข้อมูลของ Equaldex ประเทศที่มีกฎหมายที่อยู่ในขอบข่ายการป้องกันการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติทางเพศต่อ LGBTQ+  มี 77 ประเทศ ในส่วนของประเทศที่มีกฎหมายปกป้องบางส่วนหรือบางกรณีมี 55 ประเทศ และประเทศที่ยังไม่มีกฎหมายรับรองป้องกันในส่วนนี้มี 101 ประเทศ

การบริจาคเลือดของชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM Blood Donation)

การแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายรักชายในช่วงยุค 1980s ทำให้องค์กรรับบริจาคโลหิตในหลายประเทศมีการปรับเปลี่ยนนโยบายในการรับบริจาคเลือดจากกลุ่มชายรักชาย หรือชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ทั้งไม่รับบริจาคเลย หรือมีเงื่อนไขเวลา (deferral) เช่น ไม่มีเพศสัมพันธ์กับชายด้วยกันมาเป็นระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ตามแต่จะกำหนด ซึ่งนโยบายนี้ยังคงมีผลในทางปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน

โดยประเทศที่มีการยกเลิกข้อกำหนดเงื่อนไขเวลาเป็นประเทศแรกๆ ก็คืออิตาลี ในปี 2001 และล่าสุดในปี 2020 ก็คือประเทศบราซิล อันมาจากคำวินิจฉัยของศาลสูงที่กล่าวว่าการจำกัดการบริจาคเลือดของชายรักชายนั้นถือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ 

สำหรับในประเทศไทย ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย มีนโยบายไม่รับบริจาคเลือดจากผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างถาวร ด้วยเหตุผลเรื่องความเสี่ยงของการติดเชื้อเอชไอวีของคนกลุ่มนี้ 

ปัจจุบันประเทศที่ชาว LGBTQ+ สามารถบริจาคเลือดได้ทั้งแบบไม่เงื่อนไขเวลาและแบบที่มีเงื่อนไขเวลา มีอยู่ 160 ประเทศ และประเทศที่ชาว LGBTQ+ ไม่สามารถบริจาคเลือดได้เลยมี 57 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย

ข้อมูลอ้างอิงจาก

Equaldex

Ilga.org

Wikipedia 

Human Rights Watch 

คุณอาจสนใจ