Connect with us

Hi, what are you looking for?

culture

Hate Speech มักโจมตีผู้สื่อสารประเด็นสาธารณะที่เป็นหญิง ด้วยเรื่องรูปร่าง หน้าตา แม้แต่มารีญาก็ไม่รอด 

Photo by Andre Hunter on Unsplash

  • hate speech ที่พบมากที่สุดคือ การโจมตีบุคลิกลักษณะ 197 ชิ้น ซึ่งเป็นการโจมตีลักษณะทางกายภาพไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง หน้าตา เช่น หนังหน้าก็เหียก, ดำตับเป็ด, ใอ้..อีหน้าเหี้ย ฯลฯ รวมไปถึงลักษณะท่าทาง หรือพฤติกรรมของบุคคลนั้นๆ เช่น ทรงกุ๊ยจริงๆ, ถ่อยสไตล์, เด็กระยำ ฯลฯ 
  • บุคคลที่ถูกคอมเมนต์โจมตีด้วย hate speech ประเภทบุคลิกลักษณะมากที่สุดโดยสัดส่วน คือโพสต์ที่คาบเกี่ยวระหว่าง หยก-ธนลภย์ ผลัญชัย, บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม และ ทิชา ณ นคร 2 จาก 2 โพสต์ และ บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม และ ทิชา ณ นคร 1 จาก 1 โพสต์ ลำดับถัดไป คือ บุ้ง-เนติพร จำนวน 14 จาก 19 โพสต์ ตามด้วย หยก-ธนลภย์ ผลัญชัย 90 จาก 134 โพสต์ 
  • การโจมตีด้วย hate speech เรื่องเพศนั้นมีข้อสังเกตว่า ผู้ที่สื่อสารประเด็นสาธารณะ ที่เป็นหญิง หรือ LGBTQ+ มักจะถูกโจมตีด้วยเรื่องนี้มากกว่าผู้ชาย โดยยิ่งชีพ อัฌชานนท์ มีเพียง 1 ครั้ง และ อานนท์ นำภา เพียง 4 ครั้งเท่านั้น 
  • มีเพียง 10 ชิ้นเท่านั้นที่มีการสร้างโพสต์จากข้อมูลบิดเบือน แต่อาจจะไม่ได้เป็นอิทธิพลหลักที่ส่งผลให้เกิดการใช้ hate speech ในคอมเมนต์ เนื่องจากโพสต์ที่ใช้ข้อมูลบิดเบือนนั้นพบในจำนวนน้อยมาก และเมื่อเปรียบเทียบกับ hate speech ที่เกิดขึ้นจากโพสต์ที่ใช้ข้อมูลบิดเบือนและโพสต์ที่ไม่ได้เป็นข้อมูลบิดเบือน จะเห็นว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ 
  • นอกจากจะพบข้อความที่เป็น hate speech โดยตรงที่ฝ่าฝืนมาตรฐานการใช้งานของแพลตฟอร์มที่ไม่ถูกตรวจสอบแล้ว ยังพบการพยายามหลบเลี่ยงการถูกตรวจสอบของแพลตฟอร์ม ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อไม่ให้แพลตฟอร์มสามารถตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนการสะกด การตั้งใจสะกดผิด การเขียนไม่ครบคำ การสะกดด้วยภาษาอังกฤษ การผสมตัวอักษรอังกฤษ การใช้คำย่อ การใช้คำผวน การใช้อิโมจิ ฯลฯ 

จากเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยที่คุกรุ่นมาตั้งแต่ปี 2563 ก่อให้เกิดการรายงานข่าวความเคลื่อนไหว บทสนทนาในโซเชียลมีเดีย ในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ความยุติธรรม ฯลฯ พร้อมทั้งมีตัวละครที่มีอิทธิพลและเป็นที่รู้จักในสังคมออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นเหล่านั้นมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดการสร้างข้อมูลบิดเบือน การคอมเมนต์ด้วย hate speech ที่ดูเหมือนว่าจะมีมากขึ้นเช่นเดียวกัน จากผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่มีทัศนคติต่อเรื่องนั้นๆ ที่แตกต่างออกไป การศึกษา hate speech ต่อผู้ที่สื่อสารประเด็นสาธารณะ ทั้งนักกิจกรรม องค์กรภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และนักแสดง มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นเป้าหมายของการใช้ hate speech ซึ่งคำที่รุนแรงที่ปรากฏในพื้นที่สาธารณะออนไลน์ แม้จะไม่ส่งผลกระทบทางกายภาพต่อผู้ตกเป็นเป้าหมายทันที แต่การสื่อสารที่สะท้อนวิธีคิดที่สร้างความชอบธรรมให้การใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่สื่อสารหรือเคลื่อนไหวทางการเมือง สังคม ที่เป็นเป้าหมายได้ นอกจากจะลดทอนอำนาจต่อรองของผู้แสดงทางการเมืองที่เห็นต่างจากอุดมการณ์กระแสหลักของสังคมแล้ว ยังไม่เอื้อต่อการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ไม่ใช้ความรุนแรง

Rocket Media Lab จึงได้เก็บข้อมูลจากความเห็นท้ายโพสต์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่สื่อสารประเด็นสาธารณะ ทั้งนักกิจกรรม องค์กรภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และนักแสดง 10 คน จำนวน 334 ชิ้น แบ่งเป็น Facebook 263 ชิ้น TikTok 71 ชิ้น โดยในจำนวนนี้เป็นบัญชีของสื่อมวลชน 10 บัญชี บัญชีผู้ใช้ที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ 20 บัญชี โดยเก็บข้อมูลจากเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงปี 2566 และก่อนหน้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์รูปแบบของ hate speech ที่เกิดขึ้นต่อผู้ที่สื่อสารประเด็นสาธารณะในโซเชียลมีเดีย 

ตัวละครที่สำคัญและการจัดประเภท hate speech 

การศึกษานี้เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการคัดเลือกบัญชีผู้ใช้ Facebook และ TikTok ซึ่งประกอบด้วยอินฟลูเอนเซอร์และสื่อมวลชน ที่มีการโพสต์เนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมือง รวม 30 บัญชี* โดยรวบรวมเนื้อหาเฉพาะโพสต์ที่มีเนื้อหากล่าวถึงผู้ที่สื่อสารประเด็นสาธารณะ ทั้งนักกิจกรรม องค์กรภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และนักแสดง จำนวน 10 คน จากนั้น รวบรวมความคิดเห็นต่อท้ายโพสต์เหล่านั้นเพื่อวิเคราะห์ว่าเข้าข่าย hate speech อย่างไร นอกจากนี้ยังพิจารณาด้วยว่า เนื้อหาที่ผู้ใช้นำมาโพสต์นั้นเป็นข้อมูลเท็จ หรือข้อมูลบิดเบือนหรือไม่ ทั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อแสดงให้เห็นว่า พวกเขาถูกโจมตีด้วย hate speech รูปแบบใดบ้าง

ในการเก็บข้อมูลครั้งนี้ เลือกเก็บข้อมูลจากการโพสต์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่สื่อสารประเด็นสาธารณะ ทั้งนักกิจกรรม องค์กรภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และนักแสดง 10 คนด้วยกันคือ 


เฌอเอม-ชญาธนุส ศรทัตต์ มิสแกรนด์ลำพูน 2023 ซึ่งมักออกมาคอลเอาท์ประเด็นสังคม/การเมือง 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวภาคสนามผู้เชี่ยวชาญในการรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน 

บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ทะลุวัง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง 

หยก-ธนลภย์ ผลัญชัย นักเคลื่อนไหวทางการเมือง 

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก 

ป้อง-ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ นักแสดงชายที่มักออกมาแสดงความเห็นทางการเมือง 

แพรรี่-ไพรวัลย์ วรรณบุตร อดีตพระมหาไพรวัลย์ ซึ่งมักออกมาวิจารณ์ประเด็นทางสังคม 

มารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017 ซึ่งมักออกมาคอลเอาท์ประเด็นสิ่งแวดล้อม/การเมือง 

ยิ่งชีพ อัฌชานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) 

อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ผู้ออกมาเคลื่อนไหวปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

โดยหลักเกณฑ์ในการเลือกมาจากความแตกต่างของประเด็นที่แต่ละคนออกมาเคลื่อนไหว และความแตกต่างหลากหลายทั้งในเรื่องของเพศ อายุ สถานะ ฯลฯ ที่อาจส่งผลต่อ hate speech ที่เกิดขึ้นต่อบุคคลนั้นๆ

สำหรับการจัดประเภท hate speech วิเคราะห์ตามแนวทางที่เสนอโดย Babak Bahador (2023) ซึ่งจัดแบ่งประเภทของ hate speech ตามระดับความเข้มข้นโดยพิจารณาจากภาษาที่ใช้ในการแสดงความคิดเห็นว่า มีการใช้คำหรือข้อความที่ใช้โจมตี ลดคุณค่า ทำให้เป็นอื่น มุ่งร้าย มุ่งให้เกิดอันตราย ฯลฯ โดยอาจเป็นคำหยาบคาย สบถ สาปแช่ง หรือเป็นข้อความทั่วไปในชีวิตประจำวันและไม่หยาบคาย แต่สื่อความหมายข้างต้นก็ได้ 

โดยจากข้อมูลที่รวบรวมได้ สามารถแบ่งออกเป็น 11 ประเภท ได้แก่

ประเภทคำอธิบายตัวอย่าง
โจมตีโดยใช้ถ้อยคำที่มีนัยส่อทางเพศ การโจมตีโดยใช้ถ้อยคำที่มีนัยส่อทางเพศ การเชื่อมโยงพฤติกรรมที่ไม่ดีอันเนื่องมาจากเพศกะหรี่, Golden flower, ร่านไปทั่ว
โจมตีเรื่องอายุ การโจมตีด้วยเหตุแห่งอายุ ถ้าป้าโดนถอนหงอกสักรอบ ป้าจะเปลี่ยนใจ
โจมตีเรื่องเชื้อชาติ การโจมตีโดยนำไปเชื่อมโยงกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่เห็นว่าด้อยกว่า-ไร้คุณค่า เพื่อให้เห็นว่าเป็นอื่น ไม่เป็นคนไทยไอ้เสี่ยวแดกลาบดิบสมองทึบ
โจมตีเรื่องการศึกษา การโจมตีบุคคลโดยใช้ถ้อยคำที่อ้างอิงกับความรู้ การศึกษา ความรู้จริง..มีบ้างไหม
โจมตีบุคลิกลักษณะการโจมตีลักษณะทางกายภาพไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง หน้าตารวมไปถึงลักษณะท่าทาง หรือพฤติกรรมของบุคคลนั้น หนังหน้าก็เหียก, ดำตับเป็ด, ใอ้..อีหน้าเหี้ย
โจมตีเรื่องสถานะทางเศรษฐกิจการโจมตีบุคคลด้วยเหตุแห่งฐานะทางเศรษฐกิจ รสนิยมสูง​ แต่ฐานะไม่ถึง​ รร.นานาชาติ
โจมตีอุดมคติทางการเมืองการกล่าวหาว่ามีแนวคิดที่เบี่ยงเบนจากอุดมการณ์หลักของชาติ ไปเรียนที่นรกขุมใหนก็ไปเรียนนะอิเด็กขยะสวะสามกีบ
ข่มขู่/ยุยงให้กระทำความรุนแรง การใช้ถ้อยคำข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรง หรือสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงฟาดปากสักทีเนอะจะกราบงามๆๆ, เสียดายจนท.น่าจะหวดเข้ากลางกบาลจะได้นอนเป็นผักตรงนั้นเลย
สาปแช่ง การใช้ถ้อยคำสาปแช่งให้พบกับจุดจบที่ไม่ดีต้องตายชนิดเฉียบพลัน 
ลดทอนความเป็นมนุษย์ การเปรียบเทียบเป็นสัตว์ที่ถูกมองว่าน่ารังเกียจ เป็นสิ่งสกปรก หรือสิ่งไม่พึงประสงค์ โดยเปรียบเทียบกับลักษณะทางกายภาพ พฤติกรรม เปรียบเทียบเป็นขยะ หรือไม่ควรเกิดมา ไปไล่ถีบเค้า พอเค้าตีกลับร้องเป็นช้างช้าง, อิตกมันตัวเสี้ยมเลย😏😏😏, ขยะเปียก
กล่าวหาว่ารับเงิน การกล่าวหาว่ามีการรับเงินจากองค์กรหรือบุคคลอื่นมาเคลื่อนไหว คนบางพวกมันชั่วจริงๆ​ รับเงินต่างชาติมาทำกิจกรรมทำลาย​ ชาติ​ ศาสน์​ กษัตริย์​ ประเพณี​และวัฒ​น​ธ​รร​มอัน​ดีงาม​ของชาติ… ไม่มีใครมันเลวเท่า​ ใช่หรือไ​ม่ครับ, รับเงินต่างชาติมาแล้ว เล่นให้เต็มที่นะ, คนที่หนุนหลังเอาเงินมาให้ก็เป็นได้ 

hate speech แบบไหนที่มีการใช้มากที่สุด 

จากการเก็บข้อมูลความเห็นท้ายโพสต์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่สื่อสารประเด็นสาธารณะ ทั้งนักกิจกรรม องค์กรภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และนักแสดง 10 คน จำนวน 334 โพสต์ แบ่งเป็น Facebook 263 โพสต์ TikTok 71 โพสต์ โดยในจำนวนนี้เป็นบัญชีของสื่อมวลชน 10 บัญชี บัญชีผู้ใช้ที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ 20 บัญชี โดยพบว่า จำนวนโพสต์ที่มีคอมเมนต์ hate speech ที่กล่าวถึงบุคคลที่ศึกษามีจำนวนไม่เท่ากัน โดยเรียงจากมากไปน้อยได้ ดังนี้ 

หยก-ธนลภย์ ผลัญชัย 134 โพสต์

อานนท์ นำภา 34 โพสต์ 

แพรรี่-ไพรวัลย์ วรรณบุตร 23 โพสต์ 

บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม 19 โพสต์ 

มารีญา พูลเลิศลาภ 19 โพสต์

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย 16 โพสต์

เฌอเอม-ชญาธนุส ศรทัตต์ โพสต์

ยิ่งชีพ อัฌชานนท์ 4 โพสต์

ป้อง-ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ 1 โพสต์

นอกจากนี้ยังมีโพสต์ที่กล่าวถึงบุคคลที่ศึกษาพร้อมกัน ได้แก่ 


หยก-ธนลภย์ ผลัญชัย และ บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม 65 โพสต์

หยก-ธนลภย์ ผลัญชัย และ ทิชา ณ นคร 5 โพสต์

หยก-ธนลภย์ ผลัญชัย บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม และทิชา ณ นคร 2 โพสต์

บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม และ ทิชา ณ นคร 1 โพสต์

อานนท์ นำภา และ หยก-ธนลภย์ ผลัญชัย 1 โพสต์

เมื่อนำมาจัดประเภทว่าข้อความ เนื้อหาของคอมเมนต์นั้นจัดเป็น hate speech ประเภทใดบ้าง โดยใน 1 โพสต์สามารถมี hate speech ได้มากกว่า 1 ประเภท พบประเภท hate speech ดังนี้ 

โจมตีบุคลิกลักษณะ 197 ชิ้น

โจมตีอุดมคติทางการเมือง 149 ชิ้น

ลดทอนความเป็นมนุษย์ 163 ชิ้น

โจมตีโดยใช้ถ้อยคำที่มีนัยส่อทางเพศ 129 ชิ้น

ข่มขู่/ยุยงให้กระทำความรุนแรง 104 ชิ้น

กล่าวหาว่ารับเงิน 75 ชิ้น

สาปแช่ง 48 ชิ้น

โจมตีเรื่องอายุ 38 ชิ้น

โจมตีเรื่องเชื้อชาติ 33 ชิ้น

โจมตีเรื่องการศึกษา 3 ชิ้น

โจมตีเรื่องสถานะทางเศรษฐกิจ 1 ชิ้น

*การนับจำนวน เป็นการนับจากการที่มีความเห็นที่มี hate speech ประเภทนั้นๆ ปรากฏในโพสต์นั้นๆ โดยไม่นับซ้ำ 

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าประเภทของ hate speech ที่พบมากที่สุดคือ การโจมตีบุคลิกลักษณะ 197 ชิ้น ซึ่งเป็นการโจมตีลักษณะทางกายภาพไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง หน้าตา เช่น หนังหน้าก็เหียก, ดำตับเป็ด, ใอ้..อีหน้าเหี้ย ฯลฯ รวมไปถึงลักษณะท่าทาง หรือพฤติกรรมของบุคคลนั้นๆ เช่น ทรงกุ๊ยจริงๆ, ถ่อยสไตล์, เด็กระยำ ฯลฯ 

โดยบุคคลที่ถูกคอมเมนต์โจมตีมากที่สุดโดยสัดส่วนของ hate speech ประเภทนี้คือ โพสต์ที่คาบเกี่ยวระหว่าง หยก-ธนลภย์ ผลัญชัย, บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม, ทิชา ณ นคร 2 จาก 2 โพสต์ และ บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม และ ทิชา ณ นคร 1 จาก 1 โพสต์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีจำนวนโพสต์น้อยจึงจะพิจารณาในลำดับถัดไป คือ บุ้ง-เนติพร จำนวน 14 จาก 19 โพสต์ ตามด้วย หยก-ธนลภย์ ผลัญชัย จำนวน 90 จาก 134 โพสต์ และ มารีญา พูนเลิศลาภ จำนวน 12 จาก 19 โพสต์ 

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ชายถูกโจมตีในประเด็นนี้น้อยกว่าผู้หญิงที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น ป้อง-ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ ซึ่งมีสถานะเป็นดารานักแสดง ไม่พบการโจมตีด้วยบุคลิกลักษณะ ขณะที่ มารีญา ซึ่งอยู่ในวงการบันเทิงเช่นกัน ถูกโจมตีด้วยประเด็นนี้ เช่นเดียวกับ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ และอานนท์ นำภา ที่พบการโจมตีประเภทนี้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับเพศอื่นๆ 

ดังนั้นจึงอาจจะสรุปได้ว่าการถูกโจมตีด้วย hate speech ประเภทบุคลิกลักษณะ นอกจากรูปลักษณ์ภายนอกรวมไปถึงลักษณะท่าทาง หรือพฤติกรรมของบุคคลนั้นๆ ที่เป็นเป้าในการใช้ hate speech ในการโจมตีแล้ว การเป็นผู้หญิงยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ถูกโจมตีด้วย hate speech ประเภทบุคลิกลักษณะอีกด้วย

ประเภทของ hate speech ที่พบมากรองลงมาคือ การโจมตีอุดมการณ์ทางการเมือง 149 ครั้ง เช่น พวกลัทธิคอมมูนิส, ผลผลิตของพรรคส้ม, คิดร้ายต่อสถาบัน มันคือกบฎ ฯลฯ โดยบุคคลที่ถูกคอมเมนต์โจมตีมากที่สุดของ hate speech ประเภทนี้โดยสัดส่วนคือ ป้อง ณวัฒน์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโพสต์ที่พูดถึงป้อง ณวัฒน์ มีเพียง 1 โพสต์ จึงจะพิจารณาที่ลำดับถัดไป ได้แก่ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย จำนวน 13 จาก 16 โพสต์ ตามด้วย เฌอเอม 7 จาก 10 โพสต์ และ โพสต์ที่คาบเกี่ยวระหว่างหยก-ธนลภย์ ผลัญชัยและบุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม 38 จาก 65 โพสต์ ตามด้วย อานนท์ นำภา 18 จาก 34 โพสต์ นอกจากนี้ พบว่า แพรรี่-ไพรวัลย์ วรรณบุตร ไม่ถูกโจมตีด้วย hate speech ประเภทอุดมการณ์ทางการเมืองเลย อันเนื่องมาจากประเด็นความเคลื่อนไหวของแพรรี่-ไพรวัลย์ วรรณบุตร ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองโดยตรง ส่วนมากมักจะเป็นเรื่องพุทธศาสนาและสิทธิมนุษยชน 

อย่างไรก็ตาม การที่การศึกษาครั้งนี้พบ hate speech ประเภทอุดมการณ์ทางการเมืองมากเป็นอันดับสอง อาจเป็นเพราะว่าบุคคลที่ใช้เก็บข้อมูลเป็นผู้ที่สื่อสารประเด็นสาธารณะ ทั้งนักกิจกรรม องค์กรภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และนักแสดง และประเด็นที่ก่อให้เกิดโพสต์เนื้อหาต่างๆ ส่วนมากก็เป็นประเด็นทางการเมือง ถึงอย่างนั้น ก็มีความน่าสนใจอยู่ว่า การโจมตีด้วยประเด็นเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง กลายมาเป็น hate speech ก็เพราะเป็นการทำให้คนเป็นอื่นด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่ขัดกับอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งการใช้ถ้อยคำ hate speech ในโซเชียลมีเดีย อาจนำไปสู่ความรุนแรงทางกายภาพได้ ดังที่เคยมีตัวอย่างมาแล้วในอดีต

อันดับสามคือ ลดทอนความเป็นมนุษย์ 163 ครั้ง ซึ่งการลดทอนความเป็นมนุษย์เป็นการเปรียบเทียบบุคคลกับสัตว์ที่ถูกมองว่าน่ารังเกียจ สิ่งสกปรก หรือสิ่งไม่พึงประสงค์ เพื่อทำให้รู้สึกว่าบุคคลเช่นนี้สามารถกำจัดออกไปได้ เพราะแตกต่างหรือเป็นภัยคุกคาม เช่น ขยะเปียก, ไอ้วรนุชตัวนี้, อีคางคก, อีควาย, เหี้ย คือ เหี้ย, พวกทะลุถุงยาง ฯลฯ โดยบุคคลที่ถูกคอมเมนต์โจมตีด้วย hate speech ประเภทนี้มากที่สุดโดยสัดส่วนคือ บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคมและทิชา ณ นคร จำนวน 1 จาก 1 โพสต์ แต่เนื่องจากมีเพียง 1 โพสต์ จึงจะพิจารณาที่ลำดับถัดไป ได้แก่ บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคมและหยก-ธนลภย์ ผลัญชัย โดยเป็นโพสต์ที่กล่าวถึงทั้งสองคนจำนวน 44 จาก 65 โพสต์ ขณะที่เมื่อดูโพสต์ที่กล่าวถึงรายบุคคล ก็ยังพบว่า บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม ถูกโจมตีมากที่สุด 12 จาก 19 โพสต์ รองลงมาคือ หยก-ธนลภย์ ผลัญชัย จำนวน 74 จาก 134 โพสต์ ตามด้วย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ 2 จาก 4 โพสต์ ขณะที่ ป้อง-ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ ไม่ถูกโจมตีด้วย hate speech ประเภทลดทอนความเป็นมนุษย์เลย 

อันดับสี่คือ การโจมตีเรื่องเพศ 129 ครั้ง เช่น พวกระเบิดถังขี้, ไร้ราคาอีกะหรี่, ดทชย (ดอกทองช้างเย็ด), ค.เข้า หมี เหรอ แหกปากนั้น อีดอก😂😂😂 ฯลฯ โดยบุคคลที่ถูกคอมเมนต์โจมตีมากที่สุดของ hate speech ประเภทนี้โดยสัดส่วนคือ แพรรี่ 17 จาก 23 โพสต์ ถัดมาคือ โพสต์ที่กล่าวถึงหยก-ธนลภย์ ผลัญชัย และ บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม 34 จาก 65 โพสต์ ตามด้วย โพสต์ที่คาบเกี่ยวระหว่าง หยก-ธนลภย์ ผลัญชัย บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม และทิชา ณ นคร 1 จาก 2 โพสต์ รองลงมาคือ มารีญา 9 จาก 19 โพสต์ ตามด้วย เฌอเอม 4 จาก 10 โพสต์ ขณะที่หากพิจารณาจากโพสต์ที่มีเนื้อหาคาบเกี่ยวระหว่างบุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคมและหยก-ธนลภย์ ผลัญชัย จะพบว่ามีการโจมตีด้วย hate speech เรื่องเพศถึง 34 จาก 65 โพสต์ (รองจากแพรรี่) ทั้งนี้ มีเพียง ป้อง-ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ เท่านั้นที่ไม่ถูกโจมตีด้วยด้วย hate speech ในเรื่องเพศเลย 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการโจมตีด้วย hate speech เรื่องเพศนั้นมีข้อสังเกตว่า ผู้ที่สื่อสารประเด็นสาธารณะ ที่เป็นหญิง หรือ LGBTQ+ มักจะถูกโจมตีด้วยเรื่องนี้มากกว่าผู้ชาย โดยยิ่งชีพ อัฌชานนท์ มีเพียง 1 ครั้ง และ อานนท์ นำภา เพียง 4 ครั้งเท่านั้น และในขณะที่ผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองที่เป็นเพศหญิงจะถูกโจมตีด้วย hate speech เรื่องเพศที่ตรงตัว เช่น การกล่าวหาว่าขายบริการทางเพศ (กะหรี่โหนกะเหรี่ยง) การกล่าวถึงการล่วงละเมิดทางเพศ (ค.เข้า หมี เหรอ แหกปากนั้น อีดอก) แต่ผู้ที่สื่อสารประเด็นสาธารณะที่เป็นชาย จะเป็นเพียงการใช้คำหยาบที่เกี่ยวกับอวัยวะเพศเท่านั้น เช่น ทะลุถุงยาง ไอ้ทนวยหัวคาย

ดังนั้นจึงอาจจะสรุปได้ว่า การเป็นผู้ที่สื่อสารประเด็นสาธารณะ เป็นหญิงและ LGBTQ+ ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ถูกโจมตีด้วย hate speech ด้วยเรื่องเพศมากกว่าผู้ชายอีกด้วย 

อันดับห้าคือ ข่มขู่/ยุยงให้กระทำความรุนแรง จำนวน 104 ครั้ง เช่น ยิงแม่งมันเลย, เจอตบกลิ้งไอ้เด็กเหี้ยพวกนี้, อยากได้หัวไอ้ทนายคนนี้เสียบประจานที่สนามหลวงจัง, อยากนอนเดี๋ยวก็ได้นอน พร้อมภาพพระสวดงานศพ ฯลฯ โดยบุคคลที่ถูกคอมเมนต์โจมตีมากที่สุดของ hate speech ประเภทนี้โดยสัดส่วนคือ บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคมและทิชา ณ นคร จากจำนวน 1 จาก 1 โพสต์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีเพียงโพสต์เดียวจะพิจารณาลำดับถัดไป คือ บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม 14 จาก 19 โพสต์ รองลงมาคือ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ 2 จาก 4 โพสต์ ตามด้วย อานนท์ นำภา 14 จาก 34 โพสต์ 

อันดับหก กล่าวหาว่ารับเงินจึงออกมาเคลื่อนไหว จำนวน 75 ครั้ง เช่น ได้เลือด ngo ให้เงินเพิ่มแน่ๆ, องค์กรระยำรับเงินต่างชาติมาล้มสถาบัน, สรุปทำเป็นขบวนการ มีกลุ่มทุนหนุนหลัง, เดือนมิย.เงินมันฝืด เลยรีบหาตัง โดยบุคคลที่ถูกคอมเมนต์โจมตีมากที่สุดของ hate speech ประเภทนี้โดยสัดส่วน มี 3 กลุ่มที่ได้อันดับหนึ่งเท่ากันคือ โพสต์คาบเกี่ยวระหว่าง บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม และ ทิชา ณ นคร จำนวน 1 จาก 1 โพสต์ โพสต์คาบเกี่ยวหยก-ธนลภย์ ผลัญชัย บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม และทิชา ณ นคร 2 จาก 2 โพสต์ และ โพสต์คาบเกี่ยว อานนท์ นำภา และ หยก-ธนลภย์ ผลัญชัย 1 จาก 1 โพสต์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจำนวนโพสต์น้อยจึงจะพิจารณาที่ลำดับถัดไป คือ อานนท์ นำภา 30 จาก 34 โพสต์ รองลงมาคือ แพรรี่ 19 จาก 23 โพสต์ ตามด้วยโพสต์ที่คาบเกี่ยวระหว่างหยก-ธนลภย์ ผลัญชัยและบุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม 52 จาก 65 โพสต์ ตามด้วย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จำนวน 3 จาก 4 โพสต์

อันดับเจ็ด สาปแช่ง 48 ครั้ง เช่น ผู้ใดทรยศต่อชาติ คนอัปรีย์ จงสิ้นชีวี ย่อยยับไป, ขอให้พวกมึงทั้งองกร ไม่ตายดีสักตัว, กูขอสาปแช่งห้มันมีอันเป็นไปใน3วัน7วัน, #ต้องตายชนิดเฉียบพลัน หรือ #ตายชนิดผ่อนส่ง ฯลฯ โดยบุคคลที่ถูกคอมเมนต์โจมตีมากที่สุดของ hate speech ประเภทนี้โดยสัดส่วนคือ โพสต์คาบเกี่ยวหยก-ธนลภย์ ผลัญชัย, บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม และ ทิชา ณ นคร จำนวน 1 จาก 2 โพสต์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีจำนวนน้อยจะพิจารณาที่ลำดับถัดไป คือ บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม 6 จาก 19 โพสต์ รองลงมาคือ อานนท์ นำภา 9 จาก 34 โพสต์ ตามด้วย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ 1 จาก 4 โพสต์ โดยความแตกต่างระหว่าง ข่มขู่/ยุยงให้กระทำความรุนแรง และ สาปแช่ง คือ ขณะที่การข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงหรือยุยงให้ใช้ความรุนแรงเป็นการพูดถึงว่า ตัวผู้โพสต์อยากจะเป็นผู้ลงมือ หรืออยากให้มีผู้ลงมือให้เกิดความเสียหายทั้งต่อร่างกายหรือชีวิตของกลุ่มตัวอย่างที่เลือกมา แต่การสาปแช่งนั้นไม่ได้กล่าวถึงผู้กระทำ และนอกจากนั้นยังพบว่า หลายคอมเมนต์ที่เกิดขึ้นมีนัยของการใช้ความเชื่อเรื่อง ‘กรรม’ ในการสาปแช่งอีกด้วย

อันดับแปด การโจมตีเรื่องอายุ 38 ครั้ง เช่น เด็กๆทั้งนั้นไม่ได้อย่างใจก้อต่อต้านสมองคิดเอาชนะอย่างเดียวแพ้แล้วกวนว่ะ, เด็กโดนชักจูงได้ง่าย, แค่อีแก่สมองเลอะเลือน, หงอกแค่หัว…เห่อๆอายุไม่หงอกตาม พูดจาเหมือนเด็กอมมือ โดยบุคคลที่ถูกคอมเมนต์โจมตีมากที่สุดของ hate speech ประเภทนี้โดยสัดส่วนคือ โพสต์ที่คาบเกี่ยวระหว่าง หยก-ธนลภย์ ผลัญชัย, บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม และ ทิชา ณ นคร 2 จาก 2 โพสต์ ตามด้วย โพสต์ที่เกี่ยวกับ หยก-ธนลภย์ ผลัญชัย และ ทิชา ณ นคร 4 จาก 5 โพสต์ โดยเนื้อความจะมุ่งตรงไปยัง ทิชา ณ นคร โดยตรงตามด้วยโพสต์ที่เกี่ยวกับ หยก-ธนลภย์ ผลัญชัย จำนวน 23 จาก 134 โพสต์ ข้อสังเกตที่น่าสนใจในประเด็นนี้คือ มีการหยิบเหตุแห่งอายุมาโจมตีบุคคลที่อายุน้อยที่สุดและมากที่สุดในการเก็บข้อมูล ซึ่งคือ หยก-ธนลภย์ ผลัญชัย และทิชา ณ นคร โดยการใช้เหตุแห่งอายุจะถูกใช้ใน 2 ลักษณะ คือ โจมตีว่าเพราะเป็นเด็ก จึงดื้อ เอาแต่ใจ และไม่รู้จักโต และโจมตีว่าอายุมากแล้ว แต่กลับไม่มีวิจารณญาณ

อันดับเก้า การโจมตีเรื่องเชื้อชาติ 33 ครั้ง เช่น โรฮิงแยม, หน้าแม่งเขมร, ไอ้เสี่ยวเเดกลาบดิบสมองทึบ ฯลฯ โดยบุคคลที่ถูกคอมเมนต์โจมตีมากที่สุดของ hate speech ประเภทนี้โดยสัดส่วนคือ ฐปณีย์ 7 จาก 16 โพสต์ รองลงมาคือ ยิ่งชีพ 1 จาก 4 โพสต์ ตามด้วย มารีญา 4 จาก 19 โพสต์ และ บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม 3 จาก 19 โพสต์ ข้อสังเกตที่มีความน่าสนใจในประเด็นนี้คือ การใช้ hate speech ที่เกี่ยวกันกับประเด็นเชื้อชาติ มักเกี่ยวข้องไม่ทางใดก็ทางหนึ่งกับผู้ที่สื่อสารประเด็นสาธารณะ เช่น เฌอเอม ถูกโจมตีว่าเป็นกะเหรี่ยง เพราะเคลื่อนไหวเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์บางกลอย ฐปณีย์ เอียดศรีไชยถูกโจมตีเพราะเคยเคลื่อนไหวเรื่องโรฮิงญา มารีญา มีภาพลักษณ์เป็นลูกครึ่ง ในขณะที่ อานนท์ นำภา ถูกโจมตีเรื่องเชื้อชาติจากความเป็นคนอีสานและเขาเองมักจะหยิบยกเอาอาหารอีสานขึ้นมานำเสนออยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นลาบ หรือซอยจุ๊ แต่ที่น่าสนใจคือ บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม ที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องเชื้อชาติเลยในการเคลื่อนไหว แต่ถูกโจมตีด้วย hate speech ประเภทนี้ โดยนัยหนึ่งนี่เป็นการโจมตีด้านรูปลักษณ์ แต่ในอีกนัยหนึ่งก็แฝงไปด้วยการเหยียดเชื้อชาติด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า ปรากฏการใช้ hate speech ที่มีการเหยียดในบางกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ อีสาน เขมร โรฮิงญา

และอีกสองประเภทท้ายสุดคือ การศึกษา 2 ครั้ง เช่น ผลของการไม่มีการศึกษา และไม่ยอมศึกษา เรียกร้องแต่สิทธิตัวเอง โดยไม่เคารพสิทธิผู้อื่น ซึ่งโจมตีในโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับหยก-ธนลภย์ ผลัญชัยและบุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม แต่จากเนื้อความน่าจะเป็นการโจมตีไปที่หยก-ธนลภย์ ผลัญชัยโดยตรง เนื่องด้วยประเด็นการเรียกร้องของหยก-ธนลภย์ ผลัญชัยเกี่ยวข้องกับประเด็นการศึกษา และสุดท้าย สถานะทางเศรษฐกิจ 1 ครั้ง เช่น รสนิยมสูง​ แต่ฐานะไม่ถึง​ รร.นานาชาติ ซึ่งโจมตีไปที่หยก-ธนลภย์ ผลัญชัย

แพลตฟอร์มและข้อมูลบิดเบือนมีผลต่อการสร้าง hate speech ไหม

จากการศึกษาโพสต์จำนวน 334 ชิ้น พบว่ามีเพียง 10 ชิ้นเท่านั้นที่มีการสร้างโพสต์จากข้อมูลบิดเบือน และใน 10 ชิ้นนี้ เป็นโพสต์จากอินฟลูเอนเซอร์ในโซเชียลมีเดียแทบทั้งสิ้น แบ่งเป็นจาก Facebook 7 ชิ้น และ TikTok 3 ชิ้น อย่างไรก็ตาม แม้ในการศึกษาครั้งนี้จะพบโพสต์ที่มีเนื้อหาที่สร้างมาจากข้อมูลบิดเบือนจาก TikTok น้อยกว่าใน Facebook แต่ไม่ได้หมายความว่าการสร้างเนื้อหาจากข้อมูลบิดเบือนใน TikTok จะน้อยกว่าใน Facebook เนื่องจากในการเก็บข้อมูลพบว่ามีบัญชีใน TikTok หลายบัญชีที่ถูกปิดและเปิดใหม่มาแล้วหลายครั้ง ดังนั้น จึงอาจจะมีเนื้อหาหลายโพสต์จากบรรดาบัญชีที่ถูกลบไปแล้วจึงไม่ถูกเก็บข้อมูลในการศึกษาครั้งนี้ 

ถึงอย่างนั้นก็มีความน่าสนใจว่าการสร้างโพสต์จากข้อมูลบิดเบือน อาจจะไม่ได้เป็นอิทธิพลหลักที่ส่งผลให้เกิดการใช้ hate speech ในคอมเมนต์ เนื่องจากโพสต์ที่ใช้ข้อมูลบิดเบือนนั้นพบในจำนวนน้อยมาก และเมื่อเปรียบเทียบกับ hate speech ที่เกิดขึ้นจากโพสต์ที่ใช้ข้อมูลบิดเบือนและโพสต์ที่ไม่ได้เป็นข้อมูลบิดเบือน จะเห็นว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะในสถานการณ์ปัจจุบัน สังคมไทยอยู่กับความขัดแย้งทางการเมืองมาเป็นระยะเวลานาน แต่ละคนมีความคิดเห็นทางการเมืองที่โน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่งอยู่ก่อนแล้ว การแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ จึงมาจากอคติของตนเอง

ข้อสังเกตที่น่าสนใจกลับเป็นประเด็นเรื่องสถานะและประเภทของบัญชีที่ใช้ในการเก็บข้อมูลในการศึกษาครั้งนี้มากกว่า โดยพบว่า hate speech จำนวนมาก พบในคอมเมนต์ท้ายโพสต์ทางเพจเฟซบุ๊กของสื่อมวลชนอย่าง ไทยรัฐ และข่าวสด ซึ่งอาจเป็นเพราะทั้งสองเพจเป็นสื่อมวลชนกระแสหลักที่มียอดผู้ติดตามจำนวนมาก ในขณะที่อินฟลูเอนเซอร์นั้น พบว่า อารมณ์และน้ำเสียงของต้นโพสต์ที่ดุดัน รุนแรง ส่งผลให้เกิดการแสดงความเห็นที่เป็น hate speech ตามมา เมื่อเปรียบเทียบกับโพสต์ที่ต้นโพสต์มีน้ำเสียงที่มีความเห็นอกเห็นใจหรือไม่ได้แสดงอารมณ์รุนแรงมากนัก จำนวนคอมเมนต์ที่เป็น hate speech ก็จะลดน้อยลงตาม 

ในขณะเดียวกันเมื่อดูที่ตัวแพลตฟอร์ม ทั้ง Facebook และ TikTok ยังพบว่า แม้จะพบจำนวน hate speech จากการเก็บข้อมูลใน Facebook มากกว่า TikTok แต่ก็เป็นเพราะจำนวนโพสต์ที่พบใน Facebook มีจำนวนมากกว่า แต่เมื่อเปรียบเทียบตามสัดส่วนแล้วจะพบว่า จำนวน hate speech ในหลายประเภทที่พบจากทั้งสองแพลตฟอร์มมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน 

มาตรการ hate speech ของแพลตฟอร์มและการใช้ถ้อยคำหลบเลี่ยงการตรวจสอบ 

Facebook มีการกำหนดมาตรฐานการใช้งานแพลตฟอร์มในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ hate speech ไว้ว่า “โพสต์เนื้อหาที่โจมตีบุคคลโดยตรงตามเกณฑ์ด้านล่าง องค์กรและบุคคลซึ่งเป็นที่รู้จักที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชังต่อกลุ่มคนที่ได้รับการคุ้มครองเหล่านี้จะไม่ได้รับอนุญาตให้มีตัวตนบน Facebook” 

  • เชื้อชาติ
  • ชาติพันธุ์
  • ถิ่นกำเนิด
  • การนับถือศาสนา
  • รสนิยมทางเพศ
  • เพศ เพศสภาพ หรืออัตลักษณ์ทางเพศ
  • ความทุพพลภาพหรือโรคภัยที่ร้ายแรง

ในขณะที่ TikTok ก็กำหนดมาตรฐานในส่วนนี้ไว้เช่นเดียวกัน โดยกำหนดไว้ว่า “ชุมชนของ TikTok เต็มไปด้วยผู้คนที่หลากหลายความแตกต่างของเราควรได้รับการยอมรับ แทนที่จะเป็นสาเหตุของการแตกแยกเราไม่อนุญาตถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง พฤติกรรมแสดงความเกลียดชัง หรือการส่งเสริมแนวคิดสร้างความเกลียดชังซึ่งรวมถึงเนื้อหาที่ชัดเจนหรือโดยนัยที่โจมตีกลุ่มที่ได้รับความคุ้มครอง เมื่อมีการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมใน TikTok เราต้องการให้แสดงความเคารพซึ่งกันและกันเนื้อหาอาจไม่มีคุณสมบัติสำหรับ FYF เมื่อเนื้อหานั้นลดคุณค่าทางอ้อมของกลุ่มที่ได้รับการคุ้มครอง”

โดย TikTok แบ่งการโจมตีด้วย hate speech ออกเป็น 2 แบบคือ 

การโจมตีเชิงลบโดยทางตรง

  • การโจมตีที่หมิ่นประมาทซึ่งกล่าวถึงบุคคลหรือกลุ่มคนและอัตลักษณ์ของบุคคลหรือกลุ่มคนดังกล่าวโดยใช้ภาษาที่รุนแรง ลดทอนความเป็นมนุษย์ หรือเหยียดหยาม
  • การแสดงความคิดเห็นในชุมชนหรือเนื้อหาของครีเอเตอร์ด้วยรูปภาพที่แสดงความเกลียดชังหรือภาษาที่เหยียดหยาม
  • การใช้คำพูดแสดงความเกลียดชังเกี่ยวกับกับคุณลักษณะที่ได้รับการคุ้มครองเพื่อโจมตีครีเอเตอร์หรือชุมชนของครีเอเตอร์

การโจมตีเชิงลบโดยทางอ้อม

  • มุกตลกและมีมที่เผยแพร่ทัศนคติแบบเหมารวม และทำให้การเลือกปฏิบัติและการเหยียดหยามเป็นเรื่องปกติ
  • ทฤษฎีสมคบคิดที่มีรากฐานมาจากความเกลียดชังเพื่อสร้างความไม่ไว้วางใจหรือไม่ชอบบุคคลหรือกลุ่มคนตามคุณลักษณะที่ได้รับการคุ้มครองในวงกว้าง
  • ข้อความแฝงรหัสที่ใช้โดยกลุ่มคนที่สร้างความเกลียดชังเพื่อสื่อสารกันโดยไม่แสดงความเกลียดชัง เช่น เทรนด์เสียง โค้ดคำพูด หรือสัญลักษณ์

โดยบทลงโทษของผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรฐานการใช้งานของแพลตฟอร์มไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ TikTok มีตั้งแต่การลบข้อความ การจำกัดการใช้งานชั่วคราว ไปจนถึงการปิดบัญชีของผู้ใช้งานที่ฝ่าฝืนมาตรฐานของแพลตฟอร์ม 

อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาครั้งนี้กลับพบว่า นอกจากจะพบข้อความที่เป็น hate speech โดยตรงที่ฝ่าฝืนมาตรฐานการใช้งานของแพลตฟอร์มที่ไม่ถูกตรวจสอบแล้ว ยังพบการพยายามหลบเลี่ยงการถูกตรวจสอบของแพลตฟอร์ม ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อไม่ให้แพลตฟอร์มสามารถตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนการสะกด การตั้งใจสะกดผิด การเขียนไม่ครบคำ การสะกดด้วยภาษาอังกฤษ การผสมตัวอักษรอังกฤษ การใช้คำย่อ การใช้คำผวน การใช้อิโมจิ ฯลฯ ตัวอย่างเช่น

คำแทนอวัยวะเพศชาย เช่น ค…ย, ครวย, ค, ห ค (หัวควย). ทนวยหัวคาย, คาร์หมวย, คะรวย, ๐l๐, หัวโคย, หัว…ค, คคค, ฆวย, กล้วย, ค.ว.ย., Dor, ฆ.เฮอะ, มวยหัวค๊อบ, kuy, kvy, รวย

คำแทนอวัยวะเพศหญิง เช่น กี, หอยกระจี้รี่, หีย์, Hee , หิวเป็นสี, หิวเป็นตะครี, หิวโดนตะหลี, หมี, 🐻, ติ่งแดด, ลูกอิหน่อแ..ดดด, xีแหก, ปี๋, ม่วงหรอย

คำด่าแทนสัตว์เลื้อยคลาน เช่น EHear, 🦎, เอี้ย, Here, Eเด็ก🐊, ไอ้เหี้e, เ_ี้ย, เหี้…., เด็ก ห, เด็กเกี้ย

เห้, , เด็กเห้ยๆ, เหี่ยเห็นเหี่ย,,,, อีเดกเชี้ย, ดห (เด็กเหี้ย), อีเรรด็กเฮี้ยมม, เหยี้มาก, ไอ้พวกเด็กเ_้__, วรนุช, เ.ยช่วยเ.ย, เชี้ย, เฮี้ยม, #EHear, เฮีย, อห (ไอ้เหี้ย)

คำด่าผู้หญิง เช่น ดีออก, ดทชย (ดอกทองช้างเย็ด), ดีออ, ดกทง, Golden flower , 🌺, อีกด.ก, E🌼, 🌸, ดอ.

คำว่าว่าควาย เช่น 🐃, Fly. ค.ว.า.ย

คำด่าอื่นๆ เช่น _ัส, อิชาxิชั่ว, เe็ ด, อีช้างเล็ด, Jangไร, จร. (จัญไร), อีเวล (อีเวร), โชว์ ง (โชว์โง่), ริyum (ระยำ), อิเด็กเป.ตร (อีเด็กเปรต), 💩 (ขี้), คลี่ (ขี้), เด็ก เปร…… (เด็กเปรต), ดกนเร็ก (เด็กนรก), อิเด็กเปsต, 🦶, 🖕, ห อ ม, เ*** (เย็ด), ช้าง-็ด, อีwell (อีเวร), 🍓, 🐍, Zar-เหนีย, ทนหก., ระ กำ (ระยำ)

โดยการใช้คำเหล่านี้สามารถหลบเลี่ยงการถูกตรวจจับโดยแพลตฟอร์มว่าเป็นการใช้คำที่เป็น hate speech ที่ฝ่าฝืนมาตรฐานแพลตฟอร์มและสุ่มเส่ยงต่อการถูกลงโทษจากแพลตฟอร์มไปได้ ไม่เพียงแค่นั้น ยังพบการใช้รูปประโยคหรือถ้อยคำที่แม้ไม่ใช่ hate speech หรือฝ่าฝืนมาตรฐานแพลตฟอร์มโดยตรง แต่โดยความหมายนั้นเป็นการโจมตีไม่ต่างจากการใช้ hate speech เช่น ค. คิด ว. วิเคราะห์ ย. แยกแยะ คอวอยอ ครับ ไม่เพียงแค่นั้นยังมีการใช้รูปภาพแทนการใช้คำ ที่ถือเป็น hate speech อีกด้วย โดยภาพที่ใช้มักเป็นภาพสัตว์เลื้อยคลาน ภาพสัตว์ที่ใช้แทนคำด่า เช่น ภาพตัวเหี้ย ภาพควาย ภาพสัตว์ที่ใช้ในการเปรียบเปรยรูปลักษณ์ เช่น ลิง แรด หรือภาพมีมต่างๆ ภาพที่มีความหมายในการดูถูก เหยียดหยัน ประชดประชันไปจนถึงว่าร้ายในแง่มุมต่างๆ 

จะเห็นได้ว่าแม้แพลตฟอร์มจะมีมาตรฐานและมาตรการในการใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อป้องกันการใช้ hate speech แต่ก็ยังมีช่องว่างมากมายที่ทำให้ยังสามารถใช้ hate speech ในโซเชียลมีเดียได้โดยไม่ถูกลงโทษ 

ข้อสังเกตอื่นๆ

นอกจากข้อสังเกตต่างๆ ที่ได้กล่าวไปในประเด็นประเภทของ hate speech ที่พบ และประเด็นเรื่องการใช้คำเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของแพลตฟอร์มแล้ว ในการเก็บข้อมูลของการศึกษาครั้งนี้ยังพบข้อสังเกตอื่นๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติม เช่น 

กรณีของหยก-ธนลภย์ ผลัญชัย ซึ่งเป็นผู้ที่สื่อสารประเด็นสาธารณะ ที่ถูกโจมตีด้วย hate speech มากที่สุดในการศึกษาครั้งนี้ อันเนื่องมาจากการเก็บข้อมูลพบโพสต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับหยกและมีคอมเมนต์ hate speech มากที่สุด พบข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า hate speech ประเภทต่างๆ ที่โจมตีหยก ค่อยๆ เพิ่มประเด็นมากขึ้นเรื่อยๆ จากตัวแปรอื่นๆ ที่อาจไม่ได้เกิดจากหยกโดยตรง เช่น อุดมการณ์ทางการเมืองและกล่าวหาว่ารับเงิน ก็เป็น hate speech ที่เพิ่งจะปรากฏให้เห็นในช่วงที่ ส.ส.พรรคก้าวไกลแสดงความคิดเห็นต่อการเคลื่อนไหวของหยก หรือแม้กระทั่ง ข่มขู่/ยุยงให้กระทำความรุนแรงและการสาปแช่ง ก็เป็น hate speech ที่เพิ่งมีจำนวนมากขึ้นหลังจากที่มีการบุกไปที่หน้าที่ทำการพรรคเพื่อไทย ระหว่างที่แกนนำพรรคเพื่อไทยและภูมิใจไทย ร่วมแถลงข่าวจับมือจัดตั้งรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 ซึ่งนอกจากนั้นยังเห็นว่าความรุนแรงของการใช้ถ้อยคำ hate speech ก็ยังเพิ่มระดับของความรุนแรงและหยาบคายมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงแรกที่เธอเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิการเข้าเรียนต่อ

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ในขณะที่การศึกษานี้เลือกฐปณีย์ เอียดศรีไชย โดยศึกษาในช่วงที่ทำข่าวสืบสวนสอบสวนกรณีการถือหุ้นไอทีวีของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้ง 2566 แต่ปรากฏว่าการแสดงความเห็นด้วย hate speech โจมตีโยงกลับไปยังการเสนอข่าวการช่วยเหลือชาวโรฮิงญาจากแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงของฐปณีย์เมื่อปี 2558 เช่น ใช้คำว่า โรฮิงแยม โดยไม่มีความเชื่อมโยงกับเรื่องที่กำลังพูดถึงเลย

น่าสนใจว่าความคิดเห็นที่เป็น hate speech ต่อยิ่งชีพ อัชฌานนท์ มีความเข้มข้นหรือปริมาณน้อยกว่าคนอื่นๆ ทั้งที่เคลื่อนไหวในประเด็นทางการเมืองเช่นเดียวกับอีกหลายคน เหตุที่เป็นเช่นนี้อาจจะมาจากวิธีการเคลื่อนไหวของยิ่งชีพไม่ได้มีลักษณะปะทะหน้ากับรัฐหรือผู้ที่มีความคิดเห็นตรงข้ามโดยตรง โดยยิ่งชีพทำงานภายใต้องค์กรภาคประชาสังคมที่มีแนวทางดำเนินงานที่เน้นการใช้ข้อมูลสื่อสารประเด็นสาธารณะในการรณรงค์ให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายและนโยบาย

และในประเด็นของการใช้ถ้อยคำยังพบข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกว่า มีการใช้คำซ้ำเพื่อโจมตีบุคคลนั้นๆ ในโพสต์ที่ต่างกันและคนใช้ก็ต่างบัญชีกัน จนกลายเป็นว่าคำหรือประโยคนั้นเป็นคำอธิบายแทนบุคคลหรือการเปลี่ยนไหวทางการเมืองไปแล้ว เช่น ทะลุถุงยาง ที่ถูกใช้แทบจะทุกบริบท แม้กระทั่งโพสต์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มทะลุวังเลยก็ตาม ผลผลิตด้อมส้ม/พรรคก้าวไกล ที่ถูกใช้กับผู้ที่สื่อสารประเด็นสาธารณะ แทบทุกคน แม้ว่าเนื้อหาในโพสต์นั้นจะไม่เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกลเลยก็ตาม 

นอกจากนี้ยังเห็นความพยายามใช้และผลิต ‘มีม’ บางภาพมากกว่าภาพอื่นๆ เป็นพิเศษ โดยมีการวนซ้ำในหมู่ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย เช่น การใช้ภาพตัวเงินตัวทองปีนข้ามรั้ว มีทั้งการแต่งภาพโดยเติมผมเข้าไปบนหัวของมัน การเปลี่ยนสีผม เพิ่มข้อความว่า หนูอยากเรียน ภาพเหล่านี้หากปรากฏในพื้นที่อื่นๆ ก็อาจไม่มีปัญหาใดๆ แต่เมื่อถูกนำมาใช้แสดงความเห็นต่อการปีนรั้วเข้าโรงเรียนของหยก ภาพนี้จึงกลายเป็นการกระทำ hate speech ต่อหยก

สรุป

การใช้คำพูดโจมตีด้วย hate speech ในที่สาธารณะอาจส่งผลเป็นการลดพลังการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองหรือประเด็นทางสังคมทีละน้อย จนเป็นเรื่องปกติ รวมถึงอาจพัฒนาไปสู่ความรุนแรงได้ การศึกษานี้มีเป้าหมายเพื่อฉายภาพให้เห็นว่า ผู้ที่สื่อสารประเด็นสาธารณะเผชิญกับการใช้ hate speech ลักษณะใดบ้าง ในบริบทใด ภายใต้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่แตกต่างกัน

จากข้อมูลจะเห็นว่า hate speech ที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ บุคลิกลักษณะ อุดมคติทางการเมือง ลดทอนความเป็นมนุษย์ เพศ และ ข่มขู่/ยุยงให้กระทำความรุนแรง สัดส่วน hate speech ที่มุ่งโจมตีบุคลิกลักษณะมากเป็นอันดับแรกอาจเป็นเพราะรูปลักษณ์และบุคลิกลักษณะเป็นสิ่งเห็นชัดเจน ซึ่งผู้คนรับรู้ได้ในทันที

ทั้งนี้ ภาษาที่ใช้สะท้อนค่านิยมร่วมบางประการของผู้แสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอกของนักกิจกรรมแทนที่จะมุ่งไปที่การกระทำ เช่น คางคก ช้าง การดูแคลนกลุ่มคนที่มีเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ที่ต่างไปจากตนเองว่าด้อยกว่า เช่น เขมร ลาว การใช้คำที่ส่อไปในทางเพศมาโจมตีบุคคล เช่น ขายบริการทางเพศ พฤติกรรมทางเพศ การใช้ภาษาที่แฝงแนวคิดพุทธเถรวาทของไทย เช่น บุญ บาป เวรกรรม ทั้งหมดนี้ไม่สอดรับกับอุดมการณ์ในโลกสมัยใหม่ที่ให้คุณค่ากับสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ น่าสังเกตว่า ผู้ที่เป็นหญิงจะถูกเพ่งเล็งและโจมตีด้วย hate speech มากกว่าชายอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกัน hate speech อาจไม่ได้มีที่มาจากข้อมูลบิดเบือนหรือต้นทางที่มีการแสดงเนื้อหาโดยตรง แต่เป็นเพราะความขัดแย้งทางการเมืองที่กินระยะเวลานานกว่า 15 ปีมานี้ทำให้การแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ จึงมาจากอคติของตนเองในทุกเรื่อง

วิธีการหลีกเลี่ยงการตรวจจับข้อความต้องห้ามของผู้ใช้ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยังแสดงให้เห็นว่า ระบบการตรวจสอบด้วยคำเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยไม่พิจารณาบริบททางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมร่วมด้วย เป็นการจัดการเนื้อหาเพื่อป้องกัน hate speech ที่ยังไม่มีประสิทธิภาพนัก ด้วยเหตุนี้แพลตฟอร์มจึงควรไหวรู้ต่อบริบททางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมของพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้สามารถป้องกันการใช้ hate speech และการแพร่กระจายข้อมูลบิดเบือนได้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่มากขึ้น 

ดูข้อมูลที่ https://rocketmedialab.co/database-hate-speech

หมายเหตุ:

*บัญชีผู้ใช้ที่เก็บข้อมูล ได้แก่

บัญชีของสื่อมวลชนใน Facebook

ไทยรัฐ

กรรมกรข่าว

ข่าวสด Khaosodonline

The Standard

The MATTER

บัญชีของสื่อมวลชนใน TikTok 

ไทยรัฐ

ข่าวช่อง 8

Amarin TV HD 34

ข่าวช่องวัน

ข่าวสด Khaosodonline

บัญชีของอินฟลูเอนเซอร์ใน Facebook

ผู้พิทักษ์

Watthana Saen-u-dom

เหรียญทอง แน่นหนา

เค สามถุยส์ 

วรงค์ เดชกิจวิกรม – Warong Dechgitvigrom 

สติค่ะลูกกกก 

The METTAD 

ThaiDelphi Bu 

เจ๊จุก คลองสาม FC v.1

ปู จิตกร บุษบา

บัญชีของอินฟลูเอนเซอร์ใน TikTok

SARIMREETHOEN

missyoumootun เคยอมแล้วนะシ

M555 (ผู้สนับสนุนลุงตู่ โดนปิดแอคเคาท์มาแล้ว 14 ครั้ง) 

พลาดหัวข่าว V5

✯𝓐𝓸𝓸𝓶𝓲𝓲𝔃✯ napas_aoom

Ka-yee kayee4349

หลอดไอติมวอลล์

🍀🍧💕พรี่จะพาไปเที่ยว💕🍨🍀 (สนับสนุน 112)

เอ็ม16 กองทัพไทย @mkongtpthai

PEARPLEARN

**

ความเห็นที่ยกมาเป็นตัวอย่างคงการสะกดคำไว้ตามต้นฉบับ

คุณอาจสนใจ