– ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คน พรรคพลังประชารัฐ มาจากผู้สมัครจากพรรคเดิม 100 คน คิดเป็น 25% มีผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น 98 คน คิดเป็น 24.5% และมีผู้สมัครหน้าใหม่ 202 คน คิดเป็น 50.5%
– ผู้สมัครที่มาจากพรรคเดิม 100 คน แบ่งเป็น ส.ส. พรรคพลังประชารัฐเดิมจากปี 2562 จำนวน 40 คน คิดเป็น 40% อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐเดิมจากปี 2562 จำนวน 52 คน คิดเป็น 52% อดีตผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 8 คน คิดเป็น 8%
– ในปี 2562 พรรคพลังประชารัฐมี ส.ส. เขต 100 คน กลับมาลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐเพียง 40 คนเท่านั้น โดยภาคใต้และภาคเหนือเป็นภาคที่มีสัดส่วน ส.ส. เดิมกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งมากที่สุด คิดเป็น 50% และน้อยที่สุดในภาคตะวันตก คิดเป็น 16.67%
– ส.ส. เขต ปี 2562 ที่ไม่กลับมาลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐ 61 คน ย้ายไปพรรคอื่น 51 คน แยกเป็น ภูมิใจไทยมากที่สุด 24 คน รวมไทยสร้างชาติ 20 คน และเพื่อไทย 7 คน ลงสมัครในแบบบัญชีรายชื่อของพรรค 3 คน และไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอีก 7 คน
– ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐที่มาจากการย้ายพรรค มาจากพรรคภูมิใจไทยมากที่สุด 17 คน คิดเป็น 17.52% แต่หากรวมพรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนด้วยกัน จะเป็น 18 คน และหากนับรวมพรรคไทยรักษาชาติ อีก 5 คน รวมทั้งสิ้น 23 คน
– ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ 202 คนมาจากกลุ่มที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นมากที่สุด 109 คน คิดเป็น 53.96% และมีจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่งในทุกภาคของประเทศไทย โดยสามารถกล่าวได้ว่านักการเมืองท้องถิ่นเป็นฐานผู้สมัคร ส.ส. หลักของพรรคพลังประชารัฐเลยก็ว่าได้
จากการรับสมัครผู้สมัคร ส.ส. ทั่วประเทศเมื่อวันที่ 3-7 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา Rocket Media Lab ชวนสำรวจผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ทั้ง 400 คน และบัญชีรายชื่อ 85 คน ของพรรคพลังประชารัฐว่าเป็นใคร มาจากไหนบ้าง เป็นผู้สมัครพรรคเดิม หน้าใหม่ หรือย้ายพรรค?
เลือกตั้ง 66 พรรคพลังประชารัฐถูกหารจากรวมไทยสร้างชาติ
ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 Rocket Media Lab จัดทำฐานข้อมูลทางการเมืองของผู้สมัคร ส.ส. โดยแยกกลุ่มผู้สมัครเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. ผู้สมัครจากพรรคเดิม หมายถึง อดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2562 หรือปีที่เก่ากว่านั้น
2. ผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น หมายถึง อดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2562 หรือปีที่เก่ากว่านั้น โดยนับปีล่าสุดที่ผู้สมัครคนนั้นลงสมัคร ส.ส.
3. ผู้สมัครหน้าใหม่ หมายถึง ผู้ที่ไม่เคยลงสมัคร ส.ส. มาก่อน ทั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ
เมื่อแยกผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คนในปี 2566 ของพรรคพลังประชารัฐ ตามการจัดประเภทดังกล่าว พบว่า มีผู้สมัครจากพรรคเดิม จำนวน 100 คน คิดเป็น 25% มีผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 98 คน คิดเป็น 24.5% และมีผู้สมัครหน้าใหม่ จำนวน 202 คน คิดเป็น 50.5%
และเมื่อแยกตามภูมิภาค จะเห็นได้ว่าผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเดิม มีสัดส่วนมากที่สุดที่ภาคเหนือ คิดเป็น 29.73% โดยในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคพลังประชารัฐได้จำนวน ส.ส. ในภาคเหนือเพียง 3 ที่นั่ง และน้อยที่สุดที่ภาคตะวันตก คิดเป็น 15.79% ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคพลังประชารัฐกวาดที่นั่ง ส.ส. ในภาคตะวันตกได้มากกว่าทุกพรรค 12 ที่นั่งจาก 19 ที่นั่ง
ส่วนผู้สมัคร ส.ส. 2566 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น มีสัดส่วนมากที่สุดที่ภาคตะวันออกคิดเป็น 48.28% ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคพลังประชารัฐกวาดที่นั่ง ส.ส. ในภาคตะวันออกได้มากกว่าทุกพรรค 11 ที่นั่งจาก 26 ที่นั่ง น้อยที่สุดที่ภาคเหนือ คิดเป็น 13.51% ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคพลังประชารัฐได้ที่นั่งในภาคเหนือเพียง 3 ที่นั่ง จากทั้งหมด 33 ที่นั่ง
และในส่วนของผู้สมัครหน้าใหม่ จะพบว่า มีสัดส่วนมากที่สุดที่ภาคตะวันตก คิดเป็น 68.42% และน้อยที่สุดที่ภาคตะวันออก คิดเป็น 27.59%
จากข้อมูลจะเห็นว่าในประเภทผู้สมัครพรรคเดิม พรรคพลังประชารัฐสูญเสียผู้สมัครพรรคเดิมในพื้นที่ภาคตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่ที่พรรคได้ที่นั่ง ส.ส. ในปี 2562 มากกว่าทุกพรรค ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2566 นี้เต็มไปด้วยผู้สมัครหน้าใหม่มากที่สุด ในขณะเดียวกันในประเภทผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น ก็กลับกลายเป็นว่าภาคตะวันออกที่พรรคเคยได้ที่นั่ง ส.ส. ในปี 2562 มากกว่าทุกพรรค ก็เต็มไปด้วยผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่นเช่นเดียวกัน
ผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเดิม
เมื่อพิจารณาผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คนจากพรรคพลังประชารัฐ เทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่าผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่มาจากพรรคเดิม จำนวน 100 คน ของพรรคพลังประชารัฐ สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
1. ส.ส. พรรคพลังประชารัฐเดิมจากปี 2562 จำนวน 40 คน คิดเป็น 40%
2. อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐเดิมจากปี 2562 จำนวน 52 คน คิดเป็น 52%
3. อดีตผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 8 คน คิดเป็น 8%
จากข้อมูลจะเห็นว่า ในปี 2562 พรรคพลังประชารัฐมี ส.ส. 101 คน (รวมเลือกตั้งซ่อม) ซึ่ง ส.ส. เดิมกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชารัฐเพียง 40 คนเท่านั้น และหากพิจารณาเป็นรายภาคก็จะเห็นว่าภาคใต้และภาคเหนือเป็นภาคที่มีสัดส่วน ส.ส. เดิมกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งมากที่สุด คิดเป็น 50% และน้อยที่สุดในภาคตะวันตก คิดเป็น 16.67%
ในจำนวน ส.ส. เดิมจากปี 2562 ของพรรคพลังประชารัฐ 101 คน (รวมเลือกตั้งซ่อม) จะพบว่า มี ส.ส. ปี 2562 ที่ไม่กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชารัฐจำนวน 61 คน ซึ่งพบว่าย้ายไปพรรคอื่น 51 คน แยกเป็น ภูมิใจไทยมากที่สุด 24 คน รวมไทยสร้างชาติ 20 คน และเพื่อไทย 7 คน นอกจากนี้ยังมีที่ไปลงสมัครในแบบบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐอีก 3 คน และไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอีก 7 คน
จากนั้นเมื่อพิจารณาอดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐจำนวน 250 คนจะพบว่า กลับมาลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งปี 2566 นี้ จำนวน 51 คน และเมื่อพิจารณาเป็นรายภาค จะพบว่าภาคเหนือมีอดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 ของพรรคพลังประชารัฐ กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2566 มากที่สุด คิดเป็น 31.03% น้อยที่สุดคือภาคตะวันออก คิดเป็น 13.33%
ในจำนวนอดีตผู้สมัคร ส.ส. ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งในปี 2562 ของพรรคพลังประชารัฐ 250 คน มี 199 คน ที่ไม่ได้กลับมาลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคพลังประชารัฐอีกในการเลือกตั้งปี 2566 นี้ แยกเป็น ย้ายไปลงพรรคอื่นๆ 84 คน คือ ลงสมัครในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ 30 คน พรรคภูมิใจไทย 21 คน พรรคไทยสร้างไทย 13 คน พรรคเพื่อไทย 9 คน พรรคประชาธิปัตย์ 5 คน พรรคชาติพัฒนากล้าและรวมแผ่นดิน พรรคละ 2 คน พรรคชาติไทยพัฒนาและไทยภักดี พรรคละ 1 คน
และย้ายไปลงสมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐอีก 1 คน และมี 114 คนที่ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้
และส่วนสุดท้ายคืออดีตผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐในปี 2562 จำนวน 8 คน ที่ย้ายมาลงสมัครในแบบแบ่งเขตในการเลือกตั้งปี 2566 ครั้งนี้
ผู้สมัคร ส.ส. ที่มาจากการย้ายพรรค
เมื่อพิจารณาผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คนจากพรรคพลังประชารัฐ เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่ามีผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่ย้ายมาจากพรรคอื่นจำนวน 98 คน ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้
1. ส.ส. เดิม จากปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 5 คน คิดเป็น 5.10%
2. อดีตผู้สมัคร ส.ส. เดิมจากปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 73 คน คิดเป็น 74.49%
3. อดีต ส.ส. ก่อนปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 1 คน คิดเป็น 1.02%
4. อดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 19 คน คิดเป็น 19.39%
จากข้อมูลจะพบว่าผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 98 คนของพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้ง 2566 ย้ายมาจาก
1. พรรคภูมิใจไทย จำนวน 17 คน คิดเป็น 17.35%
2. พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 13 คน คิดเป็น 13.26%
3. พรรคเพื่อไทย จำนวน 10 คน คิดเป็น 10.20%
4. พรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน 7 คน คิดเป็น 7.14%
5. พรรคไทยรักษาชาติ จำนวน 5 คน คิดเป็น 5.10%
6. พรรคพลังท้องถิ่นไทย เพื่อชาติ รวมพลังประชาชาติไทย อนาคตใหม่/ก้าวไกล พรรคละ 4 คน คิดเป็น 4.08%
7. พรรคประชาชาติ พลังประชาชน เพื่อแผ่นดิน ภราดรภาพ เสรีรวมไทย พรรคละ 3 คน คิดเป็น 3.06%
8. พรรคไทยรักไทย พลเมืองไทย พรรคละ 2 คน คิดเป็น 2.04%
9. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ชาติไทย แทนคุณแผ่นดิน ประชากรไทย พลังชาติไทย เพื่อคนไทย รวมใจไทย รักษ์ผืนป่าประเทศไทย เศรษฐกิจใหม่ สยามพัฒนา และเสรีธรรม พรรคละ 1 คน คิดเป็น 1.02%
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐที่ย้ายมาจากพรรคอื่นนั้น มาจากพรรคภูมิใจไทยมากที่สุด จำนวน 17 คน คิดเป็น 17.35% แต่ในขณะเดียวกัน หากรวมผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน ซึ่งคืออดีตพรรคเพื่อไทยที่ถูกยุบพรรคก็จะพบว่า ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐที่ย้ายมาจากพรรคอื่นนั้นมาจากพรรคเพื่อไทยมากที่สุด รวม 18 คน และหากนับรวมพรรคไทยรักษาชาติ อีก 5 คน ซึ่งเป็นเสมือนพรรคสาขาของพรรคเพื่อไทยในปี 2562 ก็จะพบว่าผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐที่ย้ายมาจากพรรคอื่นนั้นมาจากพรรคเพื่อไทย รวมทั้งสิ้น 23 คน
รองลงมาก็คือพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 13 คน คิดเป็น 13.26% ตามมาด้วยพรรคเพื่อไทย (ในกรณีที่ไม่รวมพรรคพลังประชาชนและไทยรักไทย) จำนวน 10 คน คิดเป็น 10.20%
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาในรายละเอียดเฉพาะผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐที่เป็นอดีต ส.ส. ปี 2562 ที่มาย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 5 คนก็จะพบว่า มาจากพรรคประชาธิปัตย์ 2 คน เพื่อไทย 2 คน และพลังท้องถิ่นไท 1 คน
ส่วนผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐที่เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 ที่มาจากการย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 73 คน พบว่ามาจากพรรคภูมิใจไทย มากที่สุด 13 คน รองลงมาก็คือพรรค ประชาธิปัตย์ 8 คน ตามมาด้วยพรรค เพื่อไทย 7 คน
ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐที่เป็นอดีต ส.ส. ก่อนปี 2562 มีจำนวน 1 คน มาจากพรรคไทยรักไทย และผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐที่เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 มีจำนวน 18 คน พบว่ามาจากพรรค ภูมิใจไทย มากที่สุด จำนวน 4 คน รองลงมาคือพรรคพลังประชาชน 3 คน ตามมาด้วยพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อแผ่นดิน จำนวนพรรคละ 2 คน
ผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่
เมื่อพิจารณาผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คนจากพรรคพลังประชารัฐ เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่าผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่ถือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ของพรรคพลังประชารัฐ 202 คน สามารถแบ่งออกได้ดังนี้*
1. นักการเมืองระดับท้องถิ่น 109 คน คิดเป็น 53.96%
2. นักธุรกิจ 29 คน คิดเป็น 14.36%
3. ข้าราชการ/หน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 26 คน คิดเป็น 12.87%
4. เครือญาตินักการเมืองระดับชาติ 21 คน คิดเป็น 10.4%
5. ประกอบอาชีพส่วนตัว 16 คน คิดเป็น 7.92%
6. เครือญาตินักการเมืองระดับท้องถิ่น 13 คน คิดเป็น 6.44%
7. ผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่นๆ 10 คน คิดเป็น 4.95%
8. อดีตนักการเมืองระดับชาติ 5 คน คิดเป็น 2.48%
9. นักเคลื่อนไหวทางการเมือง/สังคม 5 คน คิดเป็น 2.48%
10. บุคคลผู้มีชื่อเสียงในสังคม 3 คน คิดเป็น 1.49%
11. นักวิชาการ/นักวิจัย 1 คน คิดเป็น 0.5%
*ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. 1 คน อาจมีได้มากกว่า 1 สถานะ
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ 202 คนมาจากกลุ่มที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นมากที่สุด 109 คน คิดเป็น 53.96% ซึ่งก็คืออดีตคนที่ทำงานใน อบจ. อบต. ในตำแหน่งต่างๆ รวมไปถึงอดีตผู้สมัคร นายก อบจ. อบต. และ ส.อบจ. ส.อบต. อีกด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาในรายพื้นที่ก็จะพบว่าผู้สมัครหน้าใหม่ในประเภทนี้มีจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่งในทุกภาคของประเทศไทย โดยสามารถกล่าวได้ว่านักการเมืองท้องถิ่นเป็นกลุ่มฐานผู้สมัคร ส.ส. หลักของพรรคพลังประชารัฐเลยก็ว่าได้
รองลงมาก็คือนักธุรกิจ 29 คน คิดเป็น 14.36% ตามมาด้วยข้าราชการประจำ/หน่วยงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ จำนวน 26 คน คิดเป็น 12.87% ประกอบอาชีพส่วนตัว 16 คน คิดเป็น 7.92% เครือญาตินักการเมืองระดับท้องถิ่น 13 คน คิดเป็น 6.44% ส่วนประเภทที่มีน้อยที่สุดคือ นักวิชาการ/นักวิจัย มีจำนวนเพียง 1 คน คิดเป็น 0.5%
ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 85 คน
เมื่อพิจารณาว่าผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 85 คนจากพรรคพลังประชารัฐ เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า มาจากหน้าใหม่มากที่สุด 46 คน ซึ่งก็ยังเป็นนักการเมืองระดับท้องถิ่นมากที่สุดเช่นเดียวกันกับผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่แบบแบ่งเขต
รองลงมาก็คือผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่มาจากพรรคเดิม จำนวน 20 คน แบ่งเป็น อดีต ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ในปี 2562 จำนวน 15 คน และอดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ในปี 2562 จำนวน 5 คน
และสุดท้ายคือผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 19 คน โดยมาจากพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด จำนวน 6 คน รองลงมาก็คือพรรคภูมิใจไทย จำนวน 2 คน และพรรคความหวังใหม่ ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน แทนคุณแผ่นดิน ไทยรักษาชาติ ประชาชนปฏิรูป พลเมืองไทย เพื่อนไทย เศรษฐกิจใหม่ และอนาคตใหม่/ก้าวไกล พรรคละ 1 คน
โดยในจำนวน 19 คนนี้มี อดีต ส.ส. ปี 2562 จำนวน 4 คน อดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 จำนวน 9 คน และอดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 6 คน
ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-election-66-3/
หมายเหตุ
- ข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. เป็นข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ
- ข้อมูลผู้สมัครและประวัติ สืบค้นจากการประกาศของพรรค การนำเสนอของสื่อและโซเชียลมีเดียของผู้สมัครแต่ละเขต
- การนับ ส.ส. ปี 2562 นับจากการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 มีนาคม 2562
- ปีที่ลงสมัคร ส.ส. ไม่นับปี 2557 ที่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
- ดูฐานข้อมูลว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ปี 2566 แบบแบ่งเขต รายจังหวัด (อย่างไม่เป็นทางการ) พร้อมประวัติทางการเมืองว่า เป็นผู้สมัครจากพรรคเดิม ย้ายมาจากพรรคไหน หรือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่ไม่เคยลง ส.ส. มาก่อน ภายใต้ชื่อโครงการ DEMO Thailand ได้ที่ https://demothailand.rocketmedialab.co