Connect with us

Hi, what are you looking for?

politics

ม.44 ทำให้กรุงเทพฯ เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

Photo by Peter Kellfur on Unsplash

 

วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ นอกจากจะเป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่แล้ว ยังเป็นวันครบรอบ 8 ปีของการรัฐประหาร 2557 อีกด้วย Rocket Media Lab ชวนสำรวจว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบอะไรบ้าง จากมาตรา 44 ซึ่งเป็นอำนาจพิเศษของหัวหน้าคณะรัฐประหาร

ม.44 คืออะไร?

มาตรา 44 หรือที่มักเรียกกันว่า ม.44 เป็นหนึ่งใน 48 มาตรา ที่ถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่ถูกประกาศใช้โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังการรัฐประหารในปี 2557 โดยให้อำนาจหัวหน้า คสช. ในการ “สั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ […] และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำรวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งหรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ” [1]

จากการเก็บข้อมูลของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) พบว่าในปี 2558 หัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 ออกคำสั่งอย่างน้อย 48 ฉบับ และในปี 2559 ออกคำสั่งอีกอย่างน้อย 78 ฉบับ

แม้ต่อมาจะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และประกาศใช้ในปี 2560 แต่มาตรา 265 ในบทเฉพาะกาล ก็ยังกำหนดให้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญปี 2557 มีผลบังคับใช้ต่อไป โดยในปี 2560 หัวหน้า คสช. ยังคงใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งอีกอย่างน้อย 57 ฉบับ และในปี 2561 อีกอย่างน้อย 22 ฉบับ รวมแล้วระหว่างปี 2557-2561 มีการใช้ ม.44 ออกคำสั่งกว่า 200 ฉบับ

คำสั่งตาม ม.44 นั้น ไม่เพียงถูกใช้ในระดับประเทศเท่านั้น แต่ยังถูกใช้ในระดับท้องถิ่นด้วย รายงานนี้รวบรวมข้อมูลว่าตลอด 8 ปีที่ผ่านมา มีการใช้ ม.44 ที่ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ อย่างไรบ้าง

ตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะใกล้ชุมชน งดใช้กฎหมายผังเมือง

ก่อนหน้าที่ คสช. จะยึดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศ มี “กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556” ที่กำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ต่างๆ อย่างชัดเจน แต่เมื่อมีคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 4/2559 ในวันที่ 20 มกราคม 2559 ก็ทำให้เกิดการยกเว้นการใช้บังคับผังเมืองรวม สําหรับการประกอบกิจการบางประเภท เช่น คลังน้ำมัน โรงไฟฟ้า โรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ โรงบำบัดน้ำเสีย เตาเผาขยะ โรงงานคัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูล และหลุมฝังกลบขยะ

จากกรณีนี้ ทำให้เกิดการตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะใกล้กับชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยไม่มีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม มีเพียงการกำหนดประมวลหลักการปฏิบัติ (code of practice: CoP) เป็นเอกสารประกอบในการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น โรงไฟฟ้าจากขยะดังกล่าวคือโรงงานกำจัดขยะเชิงกล-ชีวภาพ (Mechanical Biological Waste Treatment: MBT) ดำเนินการโดยบริษัทกรุงเทพธนาคม ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดย กทม.

อย่างไรก็ตาม เมื่อ 5 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา โรงงานดังกล่าวถูกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระงับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า หลังจากประชาชนในพื้นที่ร้องเรียนเรื่องกลิ่นเหม็น โดย กกพ.มีคำสั่งให้บริษัทดำเนินการปรับปรุงระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่อง ปรับปรุงการเตือนค่าความเข้มข้นมลพิษทางอากาศ รวมทั้งปรับปรุงระบบเผาไหม้เชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพ

พัก ส.ข. ชั่วคราวแบบถาวร

เดิม กทม. มีสภาเขตกรุงเทพมหานคร (ส.ข.) ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีจำนวนอย่างน้อยเขตละ 7 คน ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ตรวจสอบและถ่วงดุลผู้อำนวยการเขต แต่ปัจจุบันการมีอยู่ของสภาเขตถูก “พัก” อย่างไม่มีกำหนด และมีแนวโน้มจะนำไปสู่การยกเลิกถาวรในที่สุด

ทันทีที่รัฐประหารสำเร็จ คสช. ได้ออกประกาศหลายฉบับให้งดการเลือกตั้งทุกระดับเป็นการชั่วคราว ซึ่งรวมถึง ส.ก. และ ส.ข. ด้วย โดยให้ ส.ก. และ ส.ข. ที่มีอยู่เดิมยังทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบวาระหรือสิ้นสุดสมาชิกภาพ และกำหนดวิธีได้มาซึ่ง ส.ก. ด้วยวิธีการคัดเลือกกรณีมีตำแหน่ง ส.ก. ว่างลง แต่ไม่ได้กำหนดวิธีได้มาซึ่ง ส.ข. เลย ทำให้ตำแหน่ง ส.ข. ค่อยๆ ว่างลงไปเอง

ส่วนความคิดที่จะยกเลิก ส.ข. เป็นการถาวรนั้น เริ่มมาจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. โดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่นของสปท. ได้เสนอรายงานเรื่อง “การบริหารราชการกรุงเทพมหานครและร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่..) พ.ศ. ….” มีสาระสำคัญส่วนหนึ่งคือ ยกเลิกสภาเขต และ แก้ไขชื่อหมวดในกฎหมายจาก “เขตและสภาเขต” เป็น “สํานักงานเขต” โดยที่ประชุมสปท. ครั้งที่ 42/2559 ได้มีมติเห็นชอบกับรายงานดังกล่าว เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2559

ข้อเสนอดังกล่าว กลายมาเป็นมาตรา 24 ใน พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 ที่ระบุให้ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ “โดยเร็ว” และในระหว่างที่ยังปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวไม่เสร็จ ก็มิให้นำมาตรา 71-80 มาใช้บังคับ โดยมาตราต่างๆ ดังกล่าวเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับสภาเขต คุณสมบัติสมาชิกสภาเขต การเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต และอำนาจหน้าที่ของสภาเขต

จึงเท่ากับว่า ในทางปฏิบัติ ระหว่างที่ยังปรับปรุงกฎหมายไม่เสร็จ ก็ให้ไม่มีสภาเขตไปก่อนชั่วคราว และเมื่อกฎหมายปรับปรุงเสร็จ กฎหมายที่ปรับปรุงใหม่ก็จะตัดสภาเขตทิ้งไปเป็นการถาวร

กฤษฎา กลันทานนท์ อดีตปลัดกรุงเทพมหานครในฐานะอนุกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ในสปท. ด้านการปกครองท้องถิ่น ให้เหตุผลว่า บทบาทหน้าที่ที่แท้จริงของ ส.ข. คือ เป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่ผู้อำนวยการเขต ไม่ใช่การตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งหน้าที่ในการตรวจสอบนั้นเป็นหน้าที่ของ ส.ก. ทั้งนี้ที่ผ่านมาในการเลือกตั้ง ส.ข. มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยมาก ไม่สะท้อนการเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง และ ส.ข.นั้นเป็นผู้ที่ยึดโยงกับนักการเมืองเพราะสังกัดพรรคการเมือง การดูแลประชาชนก็อาจจะไม่ทั่วถึงทั้งหมด

ขณะที่ อิทธิชัย ไพสินสมบูรณ์ อดีตสมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานคร เขตดุสิต แย้งว่า ส.ข. เป็นตำแหน่งที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด เป็นตำแหน่งที่ลงพื้นที่ไปพบประชาชนจริงๆ การตัด ส.ข.ออกไป ก็เหมือนไปตัดช่องทางที่ประชาชนเข้ามาเรียกร้องปัญหา

เปลี่ยนผู้ว่าฯ เป็น อัศวิน ขวัญเมือง

การปลดผู้แทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งยังไม่หมดเสียทีเดียว เมื่อหัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 แต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ ให้คน กทม. โดยวันที่ 18 ตุลาคม 2559 ได้ออกคำสั่งฉบับที่ 64/2559 เรื่อง “การให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพ้นจากตําแหน่ง และการแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” โดยระบุว่า เนื่องจากยังมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ในขณะนั้น ถูกกล่าวหา จึงต้องแต่งตั้งผู้ว่าฯ คนใหม่เข้ามาบริหารงานแทน

โดยสุขุมพันธ์ุถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการบริหารหลายเรื่อง อาทิ ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการจัดซื้อกล้องวงจรปิด เนื่องจากมีกล้องจริงจำนวน 2,046 ตัวและมีกล้องปลอม หรือที่เรียกว่ากล้องดัมมี่ด้วย 1,325 ตัว จนนำไปสู่การประกาศของสุขุมพันธุ์ ในฐานะผู้ว่าฯ กทม.ในเวลานั้นว่าจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการจัดซื้อกล้องวงจรปิดขึ้น แต่เรื่องก็เงียบหายไป

หรือแม้กระทั่งเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใน กทม. จากผลงานการอนุมัติสร้างอุโมงค์ยักษ์ 4 แห่ง มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท ที่ระบุว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำได้ถึง 2 เท่า แต่ต่อมาในปี 2554 อุโมงค์ดังกล่าวก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ 

เปลี่ยนทางเท้าให้ไม่มีหาบเร่แผงลอย

แม้ว่า กทม. จะพยายามจัดระเบียบทางเท้ามาตั้งแต่ปี 2557 ตามนโยบายคืนทางเท้าให้ประชาชน แต่รัฐบาล คสช.ได้เข้ามาแทรกแซงการทำงานของกรุงเทพฯ ด้วยการใช้ ม.44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 4/2558 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะและประชาชนโดยรวม เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2558 โดยมีสาระสำคัญส่วนหนึ่งกล่าวถึง “การใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะกีดขวางทางจราจร ทําให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ในการใช้ชีวิตประจําวัน”

ต่อมา กทม. มีนโยบายจัดระเบียบจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยใหม่ทั่วกรุงเทพฯ เมื่อ 1 พฤษภาคม 2559 ทั้งนี้นายวัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กำชับแนวทางการปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่ว่า หากพบว่ายังมีผู้ค้าเข้ามาขายของในพื้นที่อีก ก็จะโดนลงโทษฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยจะคาดโทษสูงสุดถึงขั้นโยกย้ายผู้อำนวยการเขต

โดยในปี 2559 กทม. ทยอยยกเลิกจุดผ่อนผันทำการค้าหาบเร่แผงลอยจำนวน 508 จุด และรอยกเลิก 175 จุด พร้อมทั้งจัดระเบียบผู้ค้า มุ่งเน้นไปที่การรักษาความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย และคืนทางเท้าให้ประชาชน

ไม่เพียงยกเลิกจุดผ่อนผันเท่านั้น แต่ยังห้ามตั้งวางแผงค้าบนทางเท้าตลอด 24 ชั่วโมงในพื้นที่ 8 เขต ได้แก่ เขตบางแค เขตพญาไท  เขตปทุมวัน (บริเวณสยามสแควร์และแยกราชประสงค์) เขตราชเทวี เขตบางรัก เขตวัฒนา เขตราษฎร์บูรณะ และเขตหนองแขม

จากนโยบายดังกล่าวทำให้หาบเร่แผงลอยที่มีอยู่สูงถึง 7,085 แผงในปี 2557 เหลือเพียง 472 แผง หรือหายไปมากถึง 93.34% ในปี 2563

(เกือบ) เปลี่ยนรถเมล์ โดยการยกเลิกสัมปทาน

เนื่องจากรัฐธรรมนูญให้อำนาจ ม.44 อย่างกว้างขวาง จึงมักมีการเสนอให้ใช้ ม.44 เป็นทางลัดในการจัดการปัญหาต่างๆ อยู่เสมอ อย่างในปี 2560 พิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรมขนส่งทางบก เสนอให้ใช้ม. 44 เพื่อยกเลิกสัญญาสัมปทานรถในเขตกรุงเทพ กว่า 111 สัญญา ซึ่งรวมถึง รถโดยสารประจำทาง รถสองแถวในซอย และรถตู้โดยสารสาธารณะ และให้มีการเปิดประมูลใหม่ ซึ่งกระทรวงคมนาคมเสนอให้ คสช.พิจารณา แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้มีการออกคำสั่งด้วยม.44

เจรจาต่อสัญญาบีทีเอสสายสีเขียว

ม.44 ยังเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและการขยายสัมปทานให้กับ บมจ. บีทีเอสซี ที่ยังไม่มีข้อยุติจนถึงปัจจุบัน

ปัญหาคาราคาซังของสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ต้องเล่าย้อนไปว่าเมื่อปี 2542 กรุงเทพมหานคร สังกัดกระทรวงมหาดไทยให้สัมปทาน บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ก่อสร้างและเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว และสัมปทาน 30 ปีนี้ จะสิ้นสุดในปี 2572

ต่อมา กทม.สร้างส่วนต่อขยายช่วงที่ 1 ช่วงสถานีสะพานตากสิน-สถานีบางหว้า และช่วงสถานีอ่อนนุช-สถานีแบริ่ง เก็บค่าโดยสาร 15 บาท ซึ่งหน้าที่ในการก่อสร้างเป็นของ กทม. ขณะที่บริษัทกรุงเทพธนาคม รับหน้าที่เดินรถ โดยสัมปทานมีอายุจนถึงปี 2585 

ต่อมาก็มีการสร้างส่วนต่อขยายช่วงที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เก็บค่าโดยสาร 15 บาท ก่อสร้างโดยรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สังกัดกระทรวงคมนาคม โดยปี 2561 ครม. มีมติเห็นชอบให้โอนส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ รฟม.สร้าง ให้กับ กทม. ทั้งยังระบุว่าให้ กทม. เป็นผู้จัดการบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งสาย ในที่นี้รวมถึงภาระหนี้สินของ รฟม. ด้วย 

จากข้างต้นจะเห็นว่าปัญหาของรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย มีปัญหาคือการเก็บค่าบริการซ้ำซ้อน หัวหน้า คสช. จึงใช้ ม.44 ออกคำสั่งฉบับที่ 3/2562 เรื่อง การดําเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาสัญญาสัมปทาน โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – แบริ่ง ช่วงบางหว้า – สนามกีฬาแห่งชาติ ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ยังคงมีปัญหาเรื่องการบริหาร และสัญญาการเดินรถที่ไม่เป็นเอกภาพ ไม่เป็นโครงข่ายเดียวกัน ดังนั้นจึงเกิดคำสั่งนี้ขึ้น โดยหวังว่าจะสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรม ซึ่งตั้งราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีเขียวที่ 65 บาทตลอดสาย ไม่เก็บค่าบริการเพิ่มเติมในส่วนต่อขยายอีก ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวมีผลให้งดเว้น พ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าทำให้การทำสัญญาไม่โปร่งใส

จากปัญหาการจ่ายเงินค่าโดยสารซ้ำซ้อนในส่วนต่อขยาย ทำให้ กทม. พยายามหาทางออกด้วยการเจรจากับเอกชน และท้ายที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่าให้เอกชนต่ออายุสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นเวลาอีก 30 ปี (ปี 2602) จากเดิมที่จะสิ้นสุดปี 2572  ซึ่งการต่ออายุสัมปทานนั้นก็มีข้อแลกเปลี่ยนตามมาด้วย กล่าวคือ BTSC จะต้องรับภาระหนี้สินเกิดจากการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ช่วง จากเดิมที่ กทม. และกระทรวงมหาดไทยต้องแบกรับหนี้ส่วนนี้ และให้กำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย

แม้ว่าข้อตกลงระหว่าง กทม. กับเอกชน ดูเหมือนจะได้บทสรุปแล้ว แต่เมื่อเสนอครม. กลับถูกปัดตกหลายครั้ง ทั้งยังมีเสียงคัดค้านตามมาอีกนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม ซึ่งเห็นว่าค่าโดยสาร 65 บาทนั้นแพงเกินไป

ปัจจุบันนั้น ปัญหาเรื่องสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวก็ยังไม่มีข้อสรุปออกมา และยังคงเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. อีกรอบ และอีกหลายรอบต่อไป

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงผลพวงของการใช้อำนาจของคสช. ผ่านม. 44  ว่าส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานครหลายด้านและหลายระดับ ตั้งแต่การลดทอนการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง การยกเลิก ส.ข. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน การปลดผู้ว่าฯ กทม.จากการเลือกตั้งและแต่งตั้งคนใหม่มาแทน การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยบนทางเท้า ไปจนถึงการแทรกแซงกระบวนการทำสัญญาร่วมทุนระหว่าง กทม.กับเอกชน ที่ล้วนแต่ยังหาทางออกไม่ได้จนถึงปัจจุบัน แม้ คสช.จะหมดอำนาจลงไปแล้วก็ตาม

อ้างอิง

[1] “ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคีและ ความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อ ป้องกัน ระงับ หรือปราบปราม การกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายใน หรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำรวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว” (ราชกิจจานุเบกษา, 2014)

คุณอาจสนใจ