(20 พ.ค. 2566) ที่สำนักงาน iLaw มีการจัดแถลงสรุปผลการจับตาและรายงานผลการนับคะแนนในการเลือกตั้ง ’66 โดย vote62 ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง iLaw, Rocket Media Lab, Opendream และองค์กรพันธมิตรอีกมากมาย ทั้ง We Watch ทะลุฟ้า ActLab มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 2566 ฯลฯ ที่ร่วมระดมแรงหาอาสาสมัครเพื่อร่วมกันจับตาและรายงานผลการนับคะแนนในการเลือกตั้งในครั้งนี้ ผ่านการถ่ายภาพกระดานคะแนนที่นับเสร็จแล้วในแต่ละหน่วยเลือกตั้ง อัปโหลดลงเว็บ vote62 และเข้ามาช่วยกรอกคะแนนจากภาพ เพื่อรวบรวมคะแนนตั้งแต่ระดับหน่วยฯ เพื่อเป็นข้อมูลตรวจสอบและเปรียบเทียบผลการรวมคะแนนจาก กกต. และสามารถรายงานผลได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุม
“เราเริ่มแคมเปญรณรงค์หาอาสาสมัครก่อนจะมีการเลือกตั้งประมาณ 3-4 เดือน ทั่วประเทศไทย เราทำค่ายอาสาสมัครทั้งที่จังหวัด ราชบุรี สมุทรปราการ เชียงใหม่ น่าน นครศรีธรรมราช สงขลา ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีการลงพื้นที่ไปรณรงค์ตามที่ต่างๆ อีกมากมาย สิ่งที่เราได้เห็นตลอดการลงพื้นที่คือ ความตื่นตัวอย่างมากกับการเลือกตั้ง และไม่ใช่แค่นักกิจกรรมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประชาชนทั่วไป เยาวชน หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ กกต. ด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ที่เราไป มันสะท้อนให้เห็นว่าคนต้องการการเลือกตั้งที่โปร่งใส บริสุทธ์ยุติธรรม และพร้อมที่จะทำงานอาสาสมัคร” ยุคลธรณ์ ช้อยเครือ จาก ทะลุฟ้า กล่าว
จากการทำงานแคมเปญนี้กว่า 6 เดือน ทำให้มีอาสาสมัครกว่า 39,000 หน่วย จากทั่วทั้งประเทศเข้าร่วม โดยในวันเลือกตั้งมีการส่งภาพกระดานคะแนนที่นับเสร็จแล้วของ ส.ส. แบบแบ่งเขตเข้ามาทั้งหมดกว่า 148,359 ภาพ คิดเป็นหน่วยเลือกตั้งกว่า 30,890 หน่วย และมีการเข้ามาช่วยกรอกคะแนนไปแล้วกว่า 27,578 หน่วย และภาพกระดานคะแนนที่นับเสร็จแล้วของ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ กว่า 255,775 ภาพ คิดเป็นหน่วยเลือกตั้งกว่า 28,714 หน่วย และมีการเข้ามาช่วยกรอกคะแนนเสร็จไปแล้วกว่า 19,471 หน่วย โดยทั้งประเทศนั้นมีหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 95,249 หน่วย
คิดเป็นคะแนนคือ ส.ส. แบบแบ่งเขต 12 ล้านคะแนน และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่ออีก 9 ล้านคะแนน และมีถึง 6 เขตที่มีการส่งภาพกระดานคะแนนที่นับเสร็จแล้วมาครบทุกหน่วย นั่นก็คือ กทม. เขต 1, 4, 13, 20, 23 และ 33 นอกจากนี้ในการรายงานผลคะแนนผ่านระบบการแสดงผลบนเว็บไซต์ vote62.com ยังพบว่ามีประชาชนเข้ามาดูข้อมูลและผลคะแนนการเลือกตั้งจำนวนมาก และด้วยการรายงานผลคะแนนจากอาสาสมัครทั่วประเทศกว่า 39,000 คน ทำให้ vote62 มีผลคะแนนที่เข้ามาตั้งแต่เริ่มปิดหีบมากกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ รวมถึงระบบรายงานผลของ กกต. เอง และครบ 400 เขตก่อนแพลตฟอร์มอื่นและของ กกต. ก่อนที่จะมีผลคะแนนที่รายงานเข้ามาเท่ากันกับ กกต. ในช่วง 7.1 ล้านคะแนน
“จากแคมเปญ vote62 ทำให้เราเห็นว่า ประชาชนพร้อมมีส่วนร่วม รัฐแค่ต้องอำนวยความสะดวก แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่ารัฐไม่ให้ความสะดวกเท่าที่ควร โดยเฉพาะการเปิดข้อมูล อย่างการเปิดข้อมูลหน่วยเลือกตั้ง จนทำให้เราต้องใช้ระบบ crowdsourcing เพื่อให้ประชาชนมาช่วยกันกรอกข่อมูลหน่วยเลือกตั้งของตัวเอง การเปิดเผยข้อมูลจะทำให้การเลือกตั้งนั้นโปร่งใสมากยิ่งขึ้น เช่น ในกรณีของ กทม. เขต 20 ที่ผู้สมัครแพ้-ชนะ กันเพียง 4 คะแนนเท่านั้น” ปฏิพัทธ์ สุสำเภา จาก Opendream กล่าวและว่า
“การเปิดข้อมูลจะทำให้ประชาชนไม่เคลือบแคลงสงสัยและการเลือกตั้งมีความโปร่งใสและยุติธรรมมากขึ้น โดยในอนาคตเราต้องรณรงค์ให้ทำ open election data เช่น ข้อมูลด้านภูมิศาสตร์ของพื้นที่การเลือกตั้งและพิกัดหน่วยเลือกตั้ง ข้อมูลทะเบียนพรรคการเมือง ผลการนับคะแนน ผลการเลือกตั้งรายหน่วย หรือแม้กระทั่งข้อมูลรายงานการเงิน การร้องเรียนและผลการตัดสิน ผ่านการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะได้ดีกว่านี้”
ไม่เพียงแค่การรายงานผลคะแนนเท่านั้น การจับตาปัญหาและความผิดปกติในการเลือกตั้งและการนับคะแนนยังเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ vote62 ให้ความสำคัญและได้รับการรายงานมาจากอาสาสมัครเกือบทั่วทั้งประเทศ เริ่มตั้งแต่การรายงานปัญหาและความผิดปกติของการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 7 พ.ค. ที่มีอาสาสมัครรายงานข้อมูลเข้ามา 547 ราย จาก 58 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งพบว่าปัญหาที่มีการรายงานเข้ามามากที่สุดก็คือการใส่รหัสเขตหน้าซองผิดจากเขตเลือกตั้งจริง/การไม่ระบุหมายเลขเขต ซึ่งเป็นปัญหาที่ปรากฏเป็นข่าวตลอดทั้งวันในวันเลือกตั้งล่วงหน้าเช่นเดียวกัน แต่ถึงจะมีข้อมูลการรายงานปัญหาเข้ามาจากอาสาสมัครทั่วทั้งประเทศ แต่กลับไม่พบการเปิดเผยข้อมูลจาก กกต. และการแก้ปัญหาอย่างโปร่งใส
“เราได้รับการรายงานปัญหาในการเลือกตั้งล่วงหน้าเข้ามากมาย โดยที่ไม่ได้คาดคิดว่าจะมีการจากทุกช่องทาง ทั้งทาง iLaw เอง และ vote62 หลักๆ เป็นเรื่องการจัดการการเลือกตั้งล่วงหน้าของ กกต. ซึ่งสิ่งนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมในการจัดการการเลือกตั้งของ กกต. แต่มากไปกว่านั้นก็คือปัญหาที่เราคิดว่าไม่น่าจะมีการรายงานเข้ามาเยอะ เพราะเราได้สื่อสารเรื่องนี้มากพอสมควร และทาง กกต. เองก็มีการสื่อสารออกไปเช่นเดียวกัน นั่นก็คือสิ่งที่อาสาสมัคร และคนที่ไปสังเกตการณ์ทำได้ อย่างการถ่ายรูป แต่กลับกลายเป็นว่าปัญหานี้ถูกรายงานเข้ามามากไม่แพ้กัน คือเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยบางหน่วยไม่ยอมให้ถ่ายรูป มันสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ใช่แค่การจัดการเลือกตั้งเท่านั้นที่ไม่พร้อม แต่การอบรมเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งให้มีความรู้ว่า อะไรทำไม่ได้ อะไรทำได้ ก็ยังเป็นสิ่งที่มีปัญหา เจ้าหน้าที่แต่ละหน่วย แต่ละพื้นที่มีความรับรู้ไม่เท่ากัน ” อานนท์ ชวาลาวัณย์ จาก iLaw กล่าว
เช่นเดียวกันกับวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 ที่นอกจากการรายงานผลการนับคะแนนเข้ามาแล้ว vote62 ยังเปิดระบบให้อาสาสมัครรายงานปัญหาและความผิดปกติในการนับคะแนนอีกด้วย โดยมีผู้แจ้งปัญหาเข้ามา 1,075 ราย จาก 74 จังหวัดทั่วประเทศ โดยปัญหาที่ถูกแจ้งเข้ามามากที่สุดคือการรวมคะแนนผิด 285 กรณี ซึ่งพบว่าเมื่อมีการทักท้วงแล้วเจ้าหน้ามีการที่แก้ไข 132 กรณี และ เจ้าหน้าที่ไม่แก้ไข 153 กรณี นอกจากนั้นยังพบปัญหาอย่างเจ้าหน้าที่ไม่ให้ถ่ายภาพ/วิดีโอ ทั้งตอนนับคะแนนและกระดานคะแนนที่นับเสร็จแล้วที่ถูกรายงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ประเด็นนี้มีการสื่อสารและยืนยันมาจาก กกต. เอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทั้งประสิทธิภาพในการจัดการเลือกตั้งและการขาดความเข้าใจในระบบระเบียบการจัดการเลือกตั้งของเจ้าหน้าที่และการมีส่วนร่วมจับตาการเลือกตั้งของภาคประชาชน
“เราจะเห็นได้ว่าในการจัดการเลือกตั้งมีปัญหามากมายที่มีการรายงานเข้ามายัง vote62 ตั้งแต่การเลือกตั้งล่วงหน้ามาจนถึงวันที่ 14 พ.ค. ในขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นพลังของประชาชนที่ออกไปปกป้องทุกคะแนนเสียง ผ่านการรายงานผลคะแนน ปัญหา และการทักท้วงความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการนับคะแนน ซึ่งถ้าไม่มีสิ่งนี้เกิดขึ้น ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่ถูกแก้ไข เหมือนดังข้อมูลที่เราได้มาว่าในแต่ละปัญหาเจ้าหน้าที่มีการแก้ไขหรือไม่ แก้ไขเท่าไร ไม่แก้ไขเท่าไร แต่มากไปกว่านั้นก็คือเราไม่เห็นความโปร่งใสนี้ทั้งจากการเปิดเผยข้อมูลของ กกต. ดังเช่นในกรณีของการเลือกตั้งล่วงหน้า ที่สุดแล้วเราไม่รู้เลยว่าซองบัตรลงคะแนนที่มีปัญหามีจำนวนเท่าไรกันแน่ ถูกส่งไปที่ไหนบ้าง และมีการแก้ไขอย่างไร การเปิดข้อมูลทั้งหมดจะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อใจในการจัดการเลือกตั้งของ กกต.” สันติชัย อาภรณ์ศรี จาก Rocket Media Lab กล่าว
ถึงแม้จะเกิดปัญหาดังที่มีการรายงานเข้ามายัง vote62 ทั้งการเลือกตั้งล่วงหน้าและในวันเลือกตั้งจริง แต่ในขณะเดียวกัน ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ได้เห็นปรากฏการณ์การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างล้นหลาม ทั้งจากอาสาสมัครของ vote62 และประชาชนทั่วประเทศที่ไปเฝ้าจับตาการนับคะแนนเพื่อให้เกิดความถูกต้อง โปร่งใส โดยยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
“สิ่งที่เราได้เห็นในการทำแคมเปญ vote62 ครั้งนี้และในวันเลือกตั้งที่ผ่านมาก็คือวัฒนธรรมใหม่ของการตรวจสอบการเลือกตั้งให้โปร่งใส ถึงอย่างนั้น แม้การเลือกตั้งจะเสร็จสิ้นแล้ว แต่เรายังขอเรียกร้องให้ กกต. เปิดเผยคะแนนรายหน่วยทั้งหมด ให้ถูกต้องครบถ้วนตามหน้าที่ และในส่วนของปัญหาและความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในหลายๆ เรื่อง ก็อยากจะให้ กกต. ออกมายอมรับและอธิบายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลือกตั้งล่วงหน้า ปัญหาต่างๆ ที่อาสาสมัคร vote62 หรือคนทั่วไปมีการรายงาน การพูดถึงในโซเชียลมีเดียตลอดการเลือกตั้งที่ผ่านมา หรือเรื่องการรายงานคะแนนที่ช้ากว่าที่คาดหมาย และรีบรับรองผลการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด เพราะถ้า กกต. ไม่อธิบายก็จะทำให้การทำงานในการจัดการเลือกตั้งของ กกต. ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน”
โดยต่อจากนี้ vote62 จะเปิดข้อมูลผลคะแนนรายเขตที่อาสาสมัครรายงานเข้ามาทั่วประเทศและข้อมูลรายหน่วย นอกจากนั้นจะดำเนินการสื่อสารและจัดกิจกรรมกับอาสาสมัครที่มีส่วนร่วมมากกว่า 40,000 คนเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมการจับตาทางประชาธิปไตยโดยภาคประชาชนต่อไปในอนาคต
ข้อเสนอต่อ กกต. เพื่ออนาคต
ข้อเสนอในระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้า
1. ในสถานการณ์ปัจจุบัน กกต. ควรเร่งรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการโดยเร็วที่สุด แม้ในระเบียบข้อ 215 จะให้เวลากกต. 60 วัน แต่หากกกต. ตรวจสอบแล้วว่าการเลือกตั้ง ในพื้นที่ใดไม่มีข้อสงสัยเรื่องการทุจริตก็ควรประกาศรับรองในวันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม 2566 เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่สามารถเดินหน้าไปได้โดยไม่เปิดช่องว่างให้เกิดการเจรจาต่อรอง เพื่อเปลี่ยนแปลงแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลให้แตกต่างไปจากที่ประชาชนได้ออกเสียงมา
2. สําหรับเขตเลือกตั้งที่มีข้อร้องเรียนว่าผลคะแนนรวมไม่ตรงกับจํานวนผู้มาใช้สิทธิ เลือกตั้ง ระเบียบข้อ 177 วรรคสี่ และข้อ 223 ให้อํานาจกกต. สั่ง “นับคะแนนใหม่” ได้และ ควรสั่งโดยเร็ว เมื่อมีข้อครหาเกี่ยวกับการนับคะแนนและการรายงานผลคะแนน การสั่งให้นับ คะแนนใหม่ควรจะเป็นวัฒนธรรมพื้นฐานที่สร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมและความโปร่งใส ไม่ใช่การเพิ่มภาระและไม่ใช่การเสียหน้าสำหรับกกต.
3. สําหรับเขตเลือกตั้งที่ยังมีข้อสงสัย และมีข้อร้องเรียน กกต. ควรเร่งตรวจสอบและชี้แจงต่อสาธารณะให้เร็วที่สุด เช่น กรณีการรวมคะแนนแล้วผู้สมัครบางคนมีคะแนนเพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็ว กรณีข้อมูลที่แสดงผลจากระบบ ECTReport มีลักษณะ “บัตรเขย่ง” คือ คะแนนของผู้สมัครทุกคนรวมกันมากกว่าจํานวนผู้มาใช้สิทธิและเลิกพฤติกรรมการ “กาหัว” ประชาชนที่แสดงความคิดเห็นว่า “ไม่เป็นความจริง” แต่ใช้การอธิบายข้อเท็จจริงจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ชัดเจนแทน
ข้อเสนอแนะสําหรับการจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไป
1) กกต. ควรเปิดเผยข้อมูลที่จําเป็นอย่างเป็นระบบและเป็นกิจจะลักษณะ เช่น ข้อมูล สถานที่ตั้งหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ ข้อมูลจํานวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าแต่ละพื้นที่ ข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้ง ข้อมูลค่าใช้จ่ายในการหาเสียง ข้อมูลเรื่องร้องเรียนและผลการ พิจารณา ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนตรวจสอบและสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งได้สะดวกขึ้น และเกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางมากขึ้น
2) กกต. ควรให้ความรู้และจัดอบรมให้กับกรรมการประจําหน่วย (กปน.) ให้เข้าใจระบบ การจัดการเลือกตั้งภาพรวมให้มากขึ้น ให้มีความรู้เรื่องขั้นตอนการปฏิบัติและเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้เข้าใจและเคารพประชาชนที่ต้องการมีส่วนร่วมสังเกตการณ์การนับคะแนน เปิดให้ประชาชนตรวจสอบ สอบถาม ถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งลดขั้นตอนที่ไม่จําเป็นเพื่อลดภาระและเพิ่มประสิทธิภาพของ กปน. ด้วย
3) กกต. ควรถอดบทเรียนจากระบบการรายงานผลคะแนนในปี 2566 และพัฒนาระบบที่ดีขึ้น โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบกฎหมาย ระเบียบ และพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อการรายงานผลคะแนนที่รวดเร็ว ถูกต้อง และโปร่งใสกว่าเดิม