Connect with us

Hi, what are you looking for?

politics

อบจ. เลือกตั้งไปทำไม ทำไมเลือกตั้งนายก อบจ. เหลือแค่ 47 จังหวัด

1 ก.พ. 68 เลือกตั้ง อบจ. แต่มี 29 จังหวัดที่มีการเลือกนายก อบจ. ไปก่อนหน้านี้แล้ว เพราะเหตุใดนายก อบจ. ต้องลาออกก่อนหมดวาระเพื่อเลือกตั้งก่อน 

  • นายก อบจ. ลาออก แล้วมีการเลือกตั้งใหม่ อายุงานของนายก อบจ. คนใหม่จะเท่ากับ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้งใหม่ แต่หาก ส.อบจ. ลาออก แล้วมีการเลือกตั้งซ่อม อายุงานของ ส.อบจ. ใหม่จะเหลือเท่ากับอายุงานที่เหลืออยู่ของสภา อบจ. จากการเลือกตั้งก่อนหน้านั้น จึงทำให้เกิดการเลือกตั้งไม่พร้อมกันทั่วประเทศ
  • มีนายก อบจ. ลาออกและมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ไปแล้ว 29 จังหวัด แบ่งเป็นในปี 2565 จำนวน 2 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ปี 2566 จำนวน 2 จังหวัด คือ สระแก้วและกาญจนบุรี และปี 2567 จำนวน 25 จังหวัด โดยใน 29 จังหวัด มี 26 จังหวัด เป็นการลาออกก่อนหมดวาระ และอีก 3 จังหวัดเป็นการเลือกตั้งใหม่จากคำพิพากษาของศาลและคำสั่งของ กกต. 
  • การชิงลาออกก่อนเพื่อเลือกตั้งใหม่ของ นายก อบจ. มาจากแท็กติกเพื่อหลบเลี่ยงปัญหาเชิงกฎหมาย ทั้งการหาเสียงและการใช้งบประมาณ นอกจากนั้นยังมาจากแท็กติกทางการเมืองทั้งระบบอุปถัมภ์ในการช่วยกันหาเสียงของ ส.อบจ. การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเพื่อให้คู่แข่งเตรียมตัวไม่ทัน ลดจำนวนคู่แข่ง และการลงมาช่วยหาเสียงของพรรคการเมือง 
  • ปทุมธานี ในปี 2566 มีการใช้งบเลือกตั้ง อบจ. 2,279,435.71 บาท ส่วนในปี 2567 ซึ่งมีการเลือกตั้งใหม่ถึง 2 ครั้ง มีการตั้งงบประมาณไว้ที่ 79,000,000 บาท ส่วนในวันที่ 1 ก.พ. 2568 ปทุมธานีก็ยังต้องมีการจัดการเลือกตั้ง ส.อบจ. อยู่ ก็มีการตั้งงบประมาณไว้ 89,000,000 บาท จะเห็นว่าการเลือกตั้งที่ไม่พร้อมกันหรือการลาออกก่อนหมดวาระที่ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ อบจ. จะต้องใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้งมากขึ้นไปอีก

การเลือกตั้ง อบจ. และ ส.อบจ. ทั้ง 76 จังหวัด ครั้งก่อนหน้านี้ จัดขึ้นในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ซึ่งจะครบวาระดำรงตำแหน่งในวันที่ 19 ธันวาคม 2567 และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 1 ก.พ. 2568 แต่ถึงอย่างนั้นในวันที่ 1 ก.พ. 2568 จะมีเพียง 47 จังหวัดเท่านั้นที่จะมีการเลือกตั้ง นายก อบจ. พร้อมกับ ส.อบจ. เนื่องจาก 29 จังหวัดมีการเลือกตั้งนายก อบจ. ไปก่อนหน้านี้แล้ว

เหตุใดนายก อบจ. ในหลายจังหวัดจึงชิงลาออกและเลือกตั้งใหม่ไปก่อน และปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้างในการเมืองท้องถิ่นของไทย ถ้าเป็นแบบนี้แล้วการเลือกตั้ง อบจ. ในวันที่ 1 ก.พ. 2568 ยังมีความสำคัญอยู่ไหม Rocket Media Lab ร่วมด้วยสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนหาคำตอบและทางออกของการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดจากปรากฏการณ์ครั้งนี้ 

อบจ. ทำงานอะไร 

องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีจังหวัดละหนึ่งแห่งใน 76 จังหวัด ไม่รวมกรุงเทพมหานครที่เป็นหน่วยการปกครองพิเศษ มีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมทั้งจังหวัด จัดตั้งขึ้นเพื่อบริการสาธารณประโยชน์ในเขตจังหวัด ตลอดจนช่วยเหลือพัฒนางานของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล รวมทั้งประสานแผนพัฒนาท้องถิ่นเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อน

หากจะเข้าใจว่า อบจ. นั้นสำคัญอย่างไร คงต้องพิจารณาดูที่อำนาจหน้าที่ของ อบจ. ว่าทำอะไรบ้าง จากกฎหมายที่กำหนดอำนาจและหน้าที่ของ อบจ. ซึ่งก็คือ 

1. พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 มาตรา 45 รวมไปถึงฉบับเพิ่มเติม ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2562 (6/1) ฉบับเพิ่มเติม ฉบับที่ 5 พ.ศ.2562 (7 ตรี)  

2. กฎกระทรวงมหาดไทย (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540

3. ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจได้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 17 

แต่เพื่อความเข้าใจอย่างง่าย หากพิจารณาตามแผนการใช้งบประมาณ จะเห็นว่า อำนาจหน้าที่ในการทำงานของ อบจ. ครอบคลุมอยู่ 10 เรื่องด้วยกันคือ

จะเห็นได้ว่า อบจ. มีอำนาจหน้าที่ในการสนับสนุนระบบบริการสาธารณะ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของพื้นที่ในจังหวัดเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง เนื่องด้วย อบจ. ถือว่าเป็นองค์การปกครองท้องถิ่นชั้นบน ที่มีทั้งงบประมาณและพื้นที่ที่ต้องดูแลรับผิดชอบขนาดใหญ่มากกว่าองค์การปกครองท้องถิ่นชั้นล่างอย่าง เทศบาล หรือ อบต. 

ดังนั้น การเลือกตั้ง อบจ. จึงมีความสำคัญอย่างมากในการที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดๆ นั้นจะมีโอกาสได้กำหนดทิศทางการพัฒนาของจังหวัดโดยเฉพาะในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบบริการสาธารณะ ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ผ่านการเลือก นายก อบจ. และ สมาชิกสภา อบจ. ที่มีนโยบายที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง 

เลือกตั้ง อบจ. วันที่ 1 ก.พ. 68 ทำไมเหลือแค่เลือก นายก อบจ. 47 จังหวัด

โครงสร้าง อบจ. ประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร และมีสมาชิกสภาองค์การบริการส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ทำหน้าที่เป็นสภา มีอำนาจพิจารณาข้อบัญญัติต่างๆ ของ อบจ. และพิจารณาการจัดสรรงบประมาณของ อบจ. 

แต่ พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด กำหนดให้นายก อบจ. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งครั้งละ 4 ปีนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง หากลาออกต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน หากครบวาระต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน โดยเริ่มนับระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนับแต่วันเลือกตั้ง

ในขณะที่ ส.อบจ. มีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งครั้งละ 4 ปีเช่นเดียวกัน หากลาออกต้องมีการเลือกตั้งซ่อมภายใน 60 วัน หากครบวาระต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน แต่ความแตกต่างระหว่าง นายก อบจ. กับ ส.อบจ. อยู่ที่วาระในการทำงานของ ส.อบจ. ซึ่งจะนับตามอายุที่เหลืออยู่ของสภา อบจ. 

นั่นหมายความว่าหาก นายก อบจ. ลาออก แล้วมีการเลือกตั้งใหม่ อายุงานของนายก อบจ. คนใหม่จะเท่ากับ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้งใหม่ แต่หาก ส.อบจ. ลาออก แล้วมีการเลือกตั้งซ่อม อายุงานของ ส.อบจ. ใหม่จะเหลือเท่ากับอายุงานที่เหลืออยู่ของสภา อบจ. จากการเลือกตั้งก่อนหน้านั้น ซึ่งคือ 20 ธันวาคม 2563 และหากอายุของสภาเหลือไม่ถึง 180 วัน กฎหมายก็เปิดช่องให้ไม่จัดการเลือกตั้งก็ได้

โดยการเลือกตั้ง อบจ. และ ส.อบจ. ทั้ง 76 จังหวัด ครั้งก่อนหน้านี้ จัดขึ้นในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 และจะครบวาระดำรงตำแหน่งในวันที่ 19 ธันวาคม 2567 และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 1 ก.พ. 2568 แต่ในระหว่างการดำรงตำแหน่ง มีนายก อบจ. ลาออกและถูกให้ออก และมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ไปแล้ว 29 จังหวัด แบ่งเป็นในปี 2565 จำนวน 2 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ปี 2566 จำนวน 2 จังหวัด คือ สระแก้วและกาญจนบุรี และปี 2567 จำนวน 25 จังหวัด โดยใน 29 จังหวัด 26 จังหวัด เป็นการลาออกก่อนหมดวาระ และอีก 3 จังหวัดเป็นการเลือกตั้งใหม่จากคำพิพากษาของศาลและมติ กกต.

แม้ว่าจะมีอีก 8 จังหวัดที่นายก อบจ. ลาออกก่อนหมดวาระเช่นเดียวกัน ซึ่งก็คือ เชียงใหม่ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ระยอง และลำปาง ซึ่งเป็นการลาออกเพียงไม่กี่วันก่อนจะหมดวาระ โดยการลาออกก่อนหมดวาระนั้นกฎหมายกำหนดให้ต้องเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน ทำให้ระยะเวลาในการเลือกตั้งใหม่ของนายก อบจ. กลุ่มนี้คาบเกี่ยวกับช่วงระยะเวลาการจัดการเลือกตั้ง อบจ. ในวันที่ 1 ก.พ. 2568 ดังนั้นจึงสามารถจัดการเลือกตั้งพร้อมกับ ส.อบจ. ที่หมดวาระการทำงานลงตามกรอบระยะเวลาตามกฎหมายในวันที่ 1 ก.พ. 2568 ได้ เท่ากับว่าในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 จะมีการเลือกตั้งนายก อบจ. เพียง 47 จังหวัด และ ส.อบจ. 76 จังหวัดทั่วประเทศ 

จาก 29 จังหวัดที่มีการเลือกตั้ง นายก อบจ. ไปก่อนแล้ว พบว่าอดีตนายก อบจ. ที่ลาออกหรือถูกให้ออกไปนั้นกลับมาลงสมัครเลือกตั้งนายก อบจ. อีกครั้ง 21 จังหวัด และได้กลับเข้ามาเป็น นายก อบจ. 12 จังหวัด ซึ่งนำมาสู่คำถามที่น่าสนใจก็คือ ทำไม นายก อบจ. ในหลายจังหวัดถึงชิงลาออกก่อนเพื่อเลือกตั้งใหม่ก่อนที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง

จากข้อมูลจะเห็นว่าจังหวัดที่มีการเลือกตั้ง นายก อบจ. ไปแล้ว 29 จังหวัด มี 26 จังหวัด ที่เป็นการเลือกตั้งใหม่จากการที่ นายก อบจ. ลาออกก่อนหมดวาระ จากนั้นจะพบว่า สาเหตุของการลาออกของ นายก อบจ. ไม่ใช่เพราะไม่อยากทำงานหรือไม่อยากดำรงตำแหน่งนายก อบจ. แล้ว เพราะใน 26 จังหวัดที่ นายก อบจ. ลาออกก่อนหมดวาระ พบว่ามีถึง 20 จังหวัด ที่นายก อบจ. คนที่ลาออกไปนั้นกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ในการเลือกตั้งใหม่ (หากรวมปทุมธานีที่ไม่ได้ลาออกก่อนหมดวาระแต่ต้องเลือกตั้งใหม่จากมติ กกต. และนายก อบจ. เดิมก็กลับมาลงเลือกตั้งอีกครั้งก็จะเป็น 21 จังหวัด) ในขณะที่อีก 8 จังหวัดที่แม้นายก อบจ. คนเดิมจะไม่ได้กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ก็มีเครือข่ายของอดีตนายกหรือของพรรคลงสมัครแทน เช่น จังหวัดร้อยเอ็ดที่ภรรยาของอดีตนายก อบจ. ลงสมัคร หรือพรรคส่งคนอื่นลงสมัครแทน เช่น กาญจนบุรี หรือพะเยา

นอกจากนี้ ยังพบว่าใน 21 จังหวัดที่นายก อบจ. ที่ลาออกหรือถูกให้ออกไปนั้นกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ในการเลือกตั้งใหม่ มี 14 จังหวัดที่ นายก อบจ. คนเดิม ได้รับการเลือกตั้งกลับเข้าไปดำรงตำแหน่งเดิม ซึ่งก็คือ กำแพงเพชร ชุมพร นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยโสธร ราชบุรี สุโขทัย อ่างทอง อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และอุบลราชธานี และ 7 จังหวัดที่เป็นเครือข่าย/พรรค เดิมได้รับการเลือกตั้งเข้าไป คือ กาญจนบุรี ชัยนาท ตาก พะเยา เลย สระแก้ว และอุดรธานี ในขณะที่อีก 8 จังหวัด ที่ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากกลุ่มใหม่ ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับนายก อบจ. คนเดิม ซึ่งก็คือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครศรีธรรมราช ระนอง สุรินทร์ ปทุมธานี และร้อยเอ็ด โดยในกรณีของปทุมธานีนั้นนับจากนายก อบจ. ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ครั้งล่าสุด ซึ่งก็คือ ชาญ พวงเพ็ชร์

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าการลาออกก่อนหมดวาระของนายก อบจ. เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ไม่ได้เป็นประเด็นปัญหาที่มาจากการไม่ต้องการทำงานในตำแหน่งนายก อบจ. ต่อแต่อย่างใด แต่เป็นเกิดมาจากปัจจัยอื่นๆ โดยปัจจัยที่ทำให้นายก อบจ. ชิงลาออกจากตำแหน่งก่อนหมดวาระ แล้วลงเลือกตั้งใหม่นั้นมาจากทั้งปัจจัยทางกฎหมายและปัจจัยทางการเมืองด้วยกัน คือ 

ปัจจัยทางกฎหมาย ประกอบด้วย

  1. เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการถูกร้องเรียนจากการหาเสียงภายในช่วงเวลา 180 วันก่อนครบวาระ

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งท้องถิ่น พ.ศ. 2562 กำหนดให้ผู้สมัครสามารถเริ่มหาเสียงได้ตั้งแต่ 180 วันก่อนครบวาระของผู้บริหารท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่ง นั่นเท่ากับว่านายก อบจ. ที่จะอยู่ครบวาระและจะลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง ก็สามารถเริ่มหาเสียงในขณะที่ตนเองยังเป็นนายก อบจ. อยู่ได้ตั้งแต่ 180 วันก่อนหมดวาระในการดำรงตำแหน่ง 

แต่ถึงอย่างนั้นข้อกำหนดในการหาเสียงว่าการกระทำใดอาจเป็นการผิดกฎหมายก็มีความเคร่งครัดและซับซ้อนเป็นอย่างมาก และการกระทำบางอย่างของนายก อบจ. ที่แม้จะเป็นการกระทำตามหน้าที่ก็สุ่มเสี่ยงที่จะถูกตีความและอาจถูกร้องเรียนได้ว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อจูงใจในการหาเสียง ดังนั้น การลาออกก่อนหมดวาระเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่จึงทำให้นายก อบจ. ไม่ต้องตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกร้องเรียนว่ากระทำผิดตามกฎหมายนี้ 

  1. เพื่อหลีกเลี่ยงกรอบเวลาการคำนวณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง

นอกจากพระราชบัญญัติการเลือกตั้งท้องถิ่น พ.ศ. 2562 จะกำหนดกรอบระยะเวลาเริ่มหาเสียงได้ตั้งแต่ 180 วันก่อนครบวาระของผู้บริหารท้องถิ่นแล้ว ยังกำหนดกรอบเวลาในการคำนวณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งอีกด้วย โดยให้คำนวณค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายไป ตั้งแต่ 180 วันก่อนวันที่ครบวาระจนถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดก็จะกำหนดแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด เช่น อบจ. กาญจนบุรี ในการเลือกตั้งที่ผ่านมากำหนดไว้ที่คนละไม่เกิน 7,000,000 บาท ในกรณีตำแหน่งว่างลง และคนละไม่เกิน 26,250,000 บาท ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งอันเนื่องมาจากการครบวาระ 

จะเห็นได้ว่าหากครบวาระ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการหาเสียงเลือกตั้งจะถูกคิดตั้งแต่ 180 วันก่อนวันที่ครบวาระ แต่หากลาออกก่อนครบวาระ ภาระในการแจ้งค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งก็จะลดลงไม่อยู่ภายในกรอบระยะเวลา 180 วัน ซึ่งทำให้ผู้สมัครที่แม้จะหาเสียงไปก่อนหน้านั้นสามารถหลบเลี่ยงไม่ต้องนับสิ่งที่ได้ดำเนินการไปมาคิดเป็นค่าใช้จ่าย

  1. การอนุมัติโครงการหรือกิจกรรมที่มีลักษณะสุ่มเสี่ยงภายใน 90 ก่อนวันครบวาระหรือก่อนการลาออกจากตำแหน่ง

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งท้องถิ่น พ.ศ. 2562 กำหนดห้ามไม่ให้นายก อบจ. อนุมัติโครงการหรือกิจกรรมบางอย่างที่อาจมีลักษณะเอื้อประโยชน์หรือจูงใจเพื่อคะแนนเสียง แม้ว่าตัว พ.ร.บ. จะกำหนดทั้งนายก อบจ. ที่ลาออกก่อนครบวาระและนายก อบจ. ที่อยู่จนครบวาระในกรอบเวลา 90 วันเท่ากัน แต่ในทางปฏิบัติจะเห็นได้ว่า นายก อบจ. มักจะคิดว่าการอยู่จนครบวาระนั้นอาจจะทำให้เสียเวลามากกว่า ทั้ง 90 วันก่อนหมดวาระที่อนุมัติโครงการไม่ได้ บวก 45 วันที่ต้องจัดการเลือกตั้ง และอีก 30 วันที่กว่าจะรับรองการเลือกตั้ง รวมแล้วใช้เวลา 165 วันถึงจะสามารถอนุมัติโครงการหรือกิจกรรมใดๆ ที่อาจเป็นการสุ่มเสี่ยงได้ เพราะฉะนั้นการอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระก็อาจไม่มีประโยชน์เทียบเท่ากับการลาออกก่อน

ในขณะที่หากนายก อบจ. วางแผนหรือตัดสินใจที่จะลาออกก่อนหมดวาระ ก็มักจะอนุมัติโครงการไว้ล่วงหน้าก่อน 90 วันเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทางกฎหมายไว้แล้ว เท่ากับว่าหากได้รับเลือกตั้งเข้ามาใหม่ ก็จะเป็นเวลา 60 วันที่ต้องจัดการเลือกตั้งและอีก 30 วันรับรองผลการเลือกตั้ง จึงถือว่าระยะเวลาสั้นกว่าในเชิงการวางแผนและการปฏิบัติจริง นอกจากนี้การลาออกก่อนยังได้ประโยชน์จากประเด็นอื่นๆ ร่วมอีกด้วย 

ปัจจัยทางการเมือง ประกอบด้วย

  1. การเลือกตั้งไม่พร้อมกันกับ ส.อบจ. ทำให้สามารถเช็กเสียงและการสนับสนุนจาก ส.อบจ. ได้ 

ในทางการเมือง การเลือกไม่พร้อมกัน เปิดโอกาสให้การเมืองแบบอุปถัมภ์เช็กเสียงความเป็นพวกพ้อง ความจงรักภักดีกันได้ในระดับหนึ่ง เช่น หากนายก อบจ. ลาออกแล้วเลือกตั้งใหม่ก่อน ส.อบจ ก็มักจะต้องมีข้อตกลงกับ ส.อบจ. ที่จะต้องเลือกตั้งหลังจากนั้นในวันที่ 1 ก.พ. 2568 ว่า ในรอบการเลือกตั้ง นายก อบจ. ก่อนวันที่ 1 ก.พ. 2568 หาก ส.อบจ. มาช่วยในการหาเสียงและทำให้ นายก อบจ. ชนะเลือกตั้งได้ เมื่อถึงคราวการเลือกตั้ง ส.อบจ. ในวันที่ 1 ก.พ. 2568 นายก อบจ. ที่ได้ตำแหน่งไปแล้วจากการเลือกตั้งใหม่ก็อาจจะเป็นผู้สนับสุนกลุ่ม ส.อบจ. นั้นได้อย่างเต็มที่ ทั้งด้วยตำแหน่งนายกที่ได้มาแล้ว และการจัดการเลือกตั้ง อบจ. ก็อยู่ในความรับผิดชอบของ อบจ. เอง 

ในขณะที่หากเป็นการเลือกตั้งพร้อมกัน ทั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ. การที่ต่างฝ่ายต่างมีภาระในการหาเสียงและไม่มีความแน่นอนว่าจะได้รับการเลือกตั้งไปด้วยกัน ก็อาจทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือกันและกันในการหาเสียงได้ 

  1. การชิงลาออกก่อน ทำให้คู่แข่งตั้งตัวไม่ทันในการลงสมัครรับเลือกตั้งและหาเสียง

การลาออกก่อนหมดวาระเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ของนายก​ อบจ. โดยไม่รอเลือกตั้งพร้อม ส.อบจ. ตามวาระ ในทางการเมืองจะเห็นได้ว่า นัยหนึ่งเป็นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของนายก อบจ. เดิมที่ลาออกมาเลือกตั้งใหม่กับคู่แข่งที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อแข่งขัน ทั้งในแง่การเตรียมความพร้อมในการหาเสียง ระยะเวลาในการเลือกตั้ง ที่ไม่อาจกำหนดได้ตามวาระเดิมที่จะเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งอาจทำให้คู่แข่งที่ไม่ได้เตรียมพร้อมไม่อาจสู้ในการเลือกตั้งที่ฉับพลันเพียง 45 วันหลังการประกาศลาออกได้ ในขณะเดียวกันก็ทำให้คู่แข่งในการเลือกตั้งลดจำนวนลงอีกด้วย 

จากการเลือกตั้งนายก อบจ. 27 จังหวัดที่ลาออกก่อนหมดวาระที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีผู้สมัครในแต่ละจังหวัดเพียง 2-3 คน หรือเพียงคนเดียวเช่นในจังหวัดอุทัยธานี อ่างทองและชุมพร ในขณะที่การเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ 76 จังหวัดในปี 2563 นั้นมีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งนายก อบจ. ถึง 335 คน หรือเฉลี่ยจังหวัดละ 4.4 คน 

  1. การไม่รอเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ ทำให้พรรคการเมืองลงมาช่วยหาเสียงได้อย่างทั่วถึง 

ในการเลือกตั้ง นายก อบจ. ในปี 2563 ซึ่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 34 มีกำหนดข้อห้ามให้ข้าราชการการเมือง, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่สามารถหาเสียงเลือกตั้งช่วยผู้สมัครได้ ทำให้พรรคการเมืองไม่อาจลงมาสนับสนุนการหาเสียงเลือกตั้งของนายก อบจ. ได้อย่างเต็มกำลัง เพราะอาจจะสุ่มเสี่ยงการกระทำที่ผิดกฎหมาย

ขณะที่ปัจจุบัน ข้อห้ามดังกล่าวได้มีการแก้ไขใหม่ ทำให้พรรคการเมืองลงมาช่วยหาเสียงได้อย่างเปิดเผยและเต็มกำลัง ดังที่เห็นได้จากการที่พรรคประชาชนลงมาช่วยผู้สมัครหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ. ราชบุรี หรืออุดรธานี หรือแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ลงไปช่วยหาเสียงเลือกตั้ง นายก อบจ. พะเยา ซึ่งหากเป็นการเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ พรรคการเมืองก็อาจไม่สามารถลงไปช่วยหาเสียงหรือให้การสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ได้ทุกพื้นที่จังหวัด ด้วยข้อจำกัดด้านเวลาและทรัพยากรบุคคล แต่เมื่อมีการลาออกก่อนหมดวาระ ทำให้การเลือกตั้งนายก อบจ. ในแต่ละจังหวัดนั้นเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน ก็ทำให้พรรคการเมืองสามารถลงไปช่วยหาเสียงได้อย่างทั่วถึง 

เลือกตั้งก่อนหรือเลือกตั้งพร้อมกัน ได้อะไร เสียอะไร 

นอกจากการที่ พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด กำหนดให้วาระการทำงานของนายก อบจ. เริ่มนับระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนับแต่วันเลือกตั้ง ในขณะที่วาระการทำงานของ ส.อบจ. จะเหลือเท่ากับอายุงานที่เหลืออยู่ของสภา อบจ. จากการเลือกตั้งก่อนหน้านั้น ซึ่งทำให้หากจังหวัดใด นายก อบจ. ลาออกก่อนหมดวาระก็จะต้องมีการเลือกตั้งนายก อบจ. ใหม่ก่อนวันที่ 1 ก.พ. 2568 และนอกจากนั้นก็ยังจะต้องจัดการเลือกตั้ง ส.อบจ. ในวันที่ 1 ก.พ. 2568 อีกด้วย ซึ่งทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งหลายครั้ง แทนที่จะจัดเพียงครั้งเดียวโดยเลือกทั้ง นายก อบจ. และ ส.อบจ.และรัฐธรรมนูญเองก็เปิดช่องให้ กกต. ไม่ต้องเป็นผู้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ โดยยกอำนาจในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดการเลือกตั้งเอง ประเด็นการจัดการเลือกตั้งนายก อบจ. โดยเฉพาะในกรณีการลาออกก่อนหมดวาระ และการจัดการเลือกตั้ง ส.อบจ. พร้อมกันทั่วประเทศ จึงไม่ได้มีเพียงมุมของข้อกฎหมาย หรือปัจจัยทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องงบประมาณ การบริหารจัดการและความโปร่งใสในการจัดการเลือกตั้งอีกด้วย

เมื่อการจัดการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถูก กกต. ยกให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดการเลือกตั้งเอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ต้องใช้งบประมาณขององค์กรที่ตั้งไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี และหากไม่เพียงพอก็จะต้องใช้เงินจากเงินสะสมหรือทุนสำรองสะสมของตนเองมาเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้ง

จากการรวบรวมข้อมูลของ Rocket Media Lab จากรายงานประมาณการรายจ่ายในข้อบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2568 ของ อบจ. ทั่วประเทศ โดยไม่รวม อบจ. แม่ฮ่องสอนที่ไม่มีการตั้งงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งไว้ในข้อบัญญัติงบประมาณ อบจ. ปี 2568 และ อบจ. กำแพงเพชร บึงกาฬ เลย และสมุทรสาคร ที่ไม่ตั้งงบค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ในการเลือกตั้งไว้ พบว่า ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง อบจ. ในปีงบประมาณ 2568 ประกอบด้วย ค่าจัดการเลือกตั้ง และค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ รวมเป็นเงิน 3,563,810,232 บาท 

โดยจังหวัดที่มีการตั้งงบประมาณในการเลือกตั้ง อบจ. มากที่สุด 10 อันดับแรกคือ

  1. นครราชสีมา 188,098,000 บาท
  2. สมุทรปราการ 153,000,000 บาท
  3. เชียงใหม่ 100,000,000 บาท
  4. บุรีรัมย์ 98,780,000 บาท
  5. ขอนแก่น 92,000,000 บาท
  6. ชลบุรี 90,000,000 บาท
  7. ปทุมธานี 89,000,000 บาท
  8. นนทบุรี 82,500,000 บาท
  9. อุดรธานี 81,800,000 บาท
  10. พระนครศรีอยุธยา 79,500,000 บาท

จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่าใน 10 อันดับแรก มีจังหวัดที่มีการเลือกตั้งนายก อบจ. ไปแล้ว คือ ขอนแก่น ปทุมธานี อุดรธานี และพระนครศรีอยุธยา ซึ่งนอกจากจะจัดการเลือกตั้งไปแล้ว ยังเป็นจังหวัดที่ตั้งงบประมาณการเลือกตั้งในปี 2568 ไว้สูงมาก ดังนั้น ในกรณีของจังหวัดที่มีการเลือกตั้งนายก อบจ. ไปก่อนหน้าและยังต้องจัดการเลือกตั้ง ส.อบจ. อีกครั้งในวันที่ 1 ก.พ. 2568 ก็อาจจะต้องใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้งมากกว่าการใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้งครั้งเดียว และหากจังหวัดใดมีการเลือกตั้งมากกว่า 2 รอบ เช่น ปทุมธานี ที่มีการเลือกตั้ง นายก อบจ. ถึง 2 รอบในหนึ่งปี และยังจะต้องจัดการเลือกตั้ง ส.อบจ. อีกครั้งในวันที่ 1 ก.พ. 2568 พบว่า ในปี 2566 ปทุมธานีใช้งบในการเลือกตั้ง อบจ. 2,279,435.71 บาท ส่วนในปี 2567 ซึ่งมีการเลือกตั้งใหม่ถึง 2 ครั้ง มีการตั้งงบประมาณไว้ที่ 79,000,000 บาท ส่วนในวันที่ 1 ก.พ. 2568 ปทุมธานีก็ยังต้องมีการจัดการเลือกตั้ง ส.อบจ. อยู่ ก็มีการตั้งงบประมาณไว้ 89,000,000 บาท จะเห็นว่าการเลือกตั้งที่ไม่พร้อมกันหรือการลาออกก่อนหมดวาระที่ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ จะต้องใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้งมากขึ้นไปอีก โดยหากงบประมาณที่ตั้งไว้ไม่เพียงพอก็อาจจะต้องใช้เงินจากงบฯ สะสม หรือทุนสำรองสะสมในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณของ อบจ. 

นอกจากปัญหาด้านการใช้งบประมาณแล้ว การให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นเอง แทนที่จะเป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังเช่นการเลือกตั้งทั่วไป ยังก่อให้เกิดปัญหาในด้านประสิทธิภาพของการบริหารจัดการอีกด้วย โดยจะเห็นได้ว่าในการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่ง กกต. เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้งนั้น มีการเลือกตั้งล่วงหน้ารวมถึงการเลือกตั้งนอกเขตในขณะที่การเลือกตั้ง อบจ. นั้น ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าและการเลือกตั้งนอกเขต เนื่องด้วยการจัดการเลือกตั้ง อบจ. เป็นความรับผิดชอบของ อบจ. เอง การจะจัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าและนอกเขตจะต้องมีหน่วยเลือกตั้งใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ ต้องใช้งบประมาณและการจัดการอีกมหาศาล ซึ่งศักยภาพและงบประมาณของ อบจ. ในจังหวัดหนึ่งๆ นั้นไม่สามารถจะทำได้ 

การเลือกตั้ง อบจ. ปี 2563 ที่ผ่านมา มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ ประมาณ 29,016,536 ล้านคน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 46,610,759 ล้านคน คิดเป็น 62.25% เท่านั้น ในขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 นั้น ซึ่งจัดโดย กกต. และมีการเลือกตั้งล่วงหน้า มีผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 39,293,867 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศประมาณ 52 ล้านคน คิดเป็น 75.22% ยังไม่นับว่าการเลือกตั้ง อบจ. ในวันที่ 1 ก.พ. 2568 นี้จัดขึ้นในวันเสาร์อีกด้วย 

นอกจากนั้นการที่ให้ อบจ. เป็นผู้รับผิดชอบในการเลือกตั้ง อบจ. เอง ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความโปร่งใสของกระบวนการการจัดการเลือกตั้ง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งนั้น ก็เป็นเจ้าหน้าที่ของ อบจ. ซึ่งมีความใกล้ชิดกับผู้บริหารที่อาจจะเพิ่งหมดวาระการทำงานลง และมาเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนั้นอีกด้วย 

ข้อเสนอจากนักวิชาการ 

จากประเด็นปัญหาปัญหาต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้ความเห็นว่า การเลือกตั้ง อบจ. และ ส.อบจ. ที่ไม่พร้อมกัน อันเกิดจากการที่นายก อบจ. บางจังหวัดชิงลาออกก่อนนั้น ก่อให้เกิดปัญหา ดังนี้

  1. เรื่องงบประมาณ เพราะต้องจัดการเลือกตั้งสองครั้งโดยไม่มีความจำเป็น ซึ่งเห็นชัดจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น จ.อุบลราชธานี ที่เพิ่งจัดการเลือกตั้งนายก อบจ. ไปเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2567 เมื่อถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ระยะเวลาห่างจากกันเพียงเดือนเศษๆ ก็ต้องจัดการเลือกตั้ง ส.อบจ. อีกรอบ ทำให้มีการใช้งบประมาณสองรอบโดยไม่จำเป็น 
  2. พอมีการจัดการเลือกตั้งแยกจากการที่นายก อบจ. ชิงลาออกก่อน จะทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิน้อยลง เพราะต้องไปเลือกตั้งหลายรอบ อาจจะทำให้ไม่อยากไปอีก ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง 
  3. การที่มีการเลือกตั้งไม่พร้อมกันได้ ทำให้กลายเป็นช่องว่างที่ถูกใช้เป็นแท็กติกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหลบข้อกฎหมาย ค่าใช้จ่าย การกระทำต่างๆ ที่อาจจะเข้าข่ายที่ผิดกฎหมายการเลือกตั้ง ฯลฯ การชิงลาออกก่อนเพื่อเลือกตั้งใหม่ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบตามข้อห้ามทางกฎหมายต่างๆ ในแบบการเลือกตั้งจากการหมดวาระได้ 
  4. การเอาเปรียบคู่แข่งทางการเมือง คนที่อยู่ในตำแหน่งเดิมจะได้เปรียบคู่แข่ง ถ้าหากชิงลาออกก่อน คู่แข่งก็จะตั้งตัวไม่ทัน ซึ่งเห็นปรากฏการณ์ในหลายพื้นที่ที่พบว่าบางกลุ่มการเมืองเตรียมผู้สมัครไม่ทันจนไม่ได้ส่งลงรับสมัครเลือกตั้ง ทำให้การแข่งขันทางการเมืองน้อยลงไปอีก 
  5. ในขณะเดียวกันก็เป็นแท็กติกในการตัดกระแสผู้ลงสมัครจากพรรคการเมืองแนวกระแสนิยม การไปเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ อาจทำให้เกิดการกระแสการตื่นตัวผู้คนสนใจการเลือกตั้งมากขึ้น แล้วหันไปลงคะแนนให้พรรคการเมืองแนวกระแสนิยม ก็อาจทำให้กลุ่มการเมืองเดิมที่มีตำแหน่งอยู่แล้วชนะการเลือกตั้งยากมากขึ้น หรืออาจจะแพ้การเลือกตั้งได้ การลาออกเพื่อไม่ต้องไปเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศจึงเป็นอีกแท็กติกหนึ่งในการสร้างความได้เปรียบในการเลือกตั้ง 

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดร.สติธร เสนอว่า 

  1. แก้กฎหมาย กำหนดวาระของนายก อบจ. และ ส.อบจ. ให้เหมือนกัน โดยเอาแนววาระการดำรงตำแหน่งของ ส.อบจ. ในแบบปัจจุบันเป็นหลัก ซึ่งก็คือถ้านายก อบจ. ลาออกก่อนครบวาระ คนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาใหม่จะอยู่ได้จนแค่ครบวาระ 4 ปีตามระยะเวลาในแบบ ส.อบจ. หรือลาออกในช่วง 6 เดือนสุดท้าย ก็อาจจะไม่ต้องเลือกตั้งใหม่ก็ได้ตามที่กฎหมายเขียนเอาไว้เหมือน ส.อบจ. การแก้กฎหมายเป็นแบบนี้จะทำให้แรงจูงใจให้คนที่จะชิงลาออกก่อนน้อยลง 
  2. ทำให้การเลือกตั้งสะดวกขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้งท้องถิ่นมากขึ้น เช่น มีการเลือกตั้งด้วยเครื่องมืออื่น ที่ไม่จำเป็นจะต้องเดินทางกลับบ้านเพื่อไปเข้าคูหาเท่านั้น หรือการเลือกตั้งนอกเขต ซึ่งในกรณีการเลือกตั้งนอกเขตนั้น ถ้าจะเกิดสิ่งนี้ได้ต้องไปปรับเรื่องวิธีคิดในการจัดการเลือกตั้งว่าคงไม่ใช่ท้องถิ่นเป็นคนจัดการเลือกตั้งแล้ว อาจจะเป็น กกต. เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง เหมือนการเลือกตั้งระดับชาติ ซึ่งจะสามารถจัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าและนอกเขตได้ เหมือนการเลือกตั้ง สส. 

อ้างอิง

พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540
พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจได้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542
ข้อบัญญัติงบประมาณประจำปี 2568 ของ อบจ. ทั่วประเทศ

คุณอาจสนใจ