จากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันที่อ.แม่สาย จ.เชียงรายในขณะนี้ (11 ก.ย. 2567) Rocket Media Lab ชวนสำรวจระบบเตือนภัยพิบัติในประเทศไทย ว่ามีระบบใดบ้าง ทำงานแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่อย่างไร และมีความครอบคลุมมากเพียงใด
ระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning)
กรมทรัพยากรน้ำได้ดำเนินการจัดทำระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning) เริ่มมาตั้งแต่ปี 2548 โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำระบบเตือนภัยให้ครอบคลุมหมู่บ้านเสี่ยงภัยที่อยู่ใน 25 ลุ่มแม่น้ำหลัก ผ่านการติดตั้งระบบเตือนภัยในสถานีเตือนภัยล่วงหน้าในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งทำงานประสานกันกับห้องปฏิบัติการเฝ้าระวังและเตือนภัยน้ำหลาก-ดินถล่ม สำนักทรัพยากรน้ำภาค 1-11 และห้องปฏิบัติการเผ้าระวังเตือนภัยน้ำหลาก-ดินถล่ม ที่กรมทรัพยากรน้ำ กรุงเทพฯ โดยนอกจากระบบเตือนภัยที่แสดงผ่านเว็บไซต์ https://ews.dwr.go.th/ews/index.php แล้วยังพบว่ามีโครงการการพัฒนา Mobile Application เพื่อเฝ้าระวังและเตือนภัยของโครงการนี้บนระบบ iOS และ Android โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นผ่าน App Store และ Play Store ได้
โดยประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ คือ
1. พื้นที่หมู่บ้านเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน-ดินถล่ม ในพื้นที่ใกล้พื้นที่ลาดชันเชิงเขา และพื้นที่ราบเชิงเขา มีระบบเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลัน-ดินถล่ม และได้รับการแจ้งเตือนก่อนเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลัน-ดินถล่ม
2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลจากการตรวจวัด ไปใช้ในการติดตามสถานการณ์น้ำ การเฝ้าระวัง เตือนภัย และช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย
3. สามารถลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินและบรรเทาผลกระทบจากภัยน้ำท่วมฉับพลัน-ดินถล่ม ของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทุกภูมิภาคของประเทศไทย
4. มีมาตรการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและภัยพิบัติของประเทศ
โดยระบบเตือนภัยนั้นจะแสดงผลเป็น 3 แบบคือ
1. เฝ้าระวัง
สัญญาณไฟสีเขียว จะดังขึ้นทุก 20 นาที แต่ละครั้งดังนาน 10 วินาที
การปฏิบัติตน
- ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์
- คอยฟังประกาศจากหอกระจายข่าว
2. เตือนภัย
สัญญาณไฟสีเหลือง จะดังขึ้นทุก 15 นาที แต่ละครั้งดังนาน 10 วินาที
การปฏิบัติตน
- ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์
- เก็บรวบรวมสิ่งของที่จำเป็น
- รอฟังประกาศและสัญญาณครั้งต่อไป
3. อพยพ
สัญญาณไฟสีแดง จะดังขึ้นทุก 3 นาที แต่ละครั้งดังนาน 10 วินาที
การปฏิบัติตน
- ให้เคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ปลอดภัย ที่ได้มีการแจ้งให้ทราบ
สัญญาณไฟนี้จะปรากฏสีต่างๆ และดังที่สถานีเตือนภัยล่วงหน้าในแต่ละพื้นที่ จากนั้น สถานีเตือนภัยจะส่งข้อมูลและสัญญาณไปยังกรมทรัพยากรน้ำ เพื่อส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนให้รับทราบ ในขณะที่อีกทางหนึ่งสถานีเตือนภัยก็จะส่งข้อมูลและสัญญาณไปยังผู้รู้/อาสาสมัคร/ผู้นำชุมชน ในพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อประกาศแจ้งเตือนไปยังประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยต่อไป
จากข้อมูลของกรมทรัพยากรน้ำพบว่า ปัจจุบันมีสถานีเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning) ใน 63 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีทั้งหมด 2,159 สถานี ครอบคลุม 5,954 หมู่บ้าน (ประเทศไทยมี 75,142 หมู่บ้าน) โดยจังหวัดที่ไม่พบสถานีเตือนภัยล่วงหน้าในระบบของกรมทรัพยากรน้ำก็คือ ชัยนาท นครปฐม นนทบุรี บึงกาฬ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พิจิตร ร้อยเอ็ด สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สิงห์บุรี อ่างทอง และอำนาจเจริญ
โดยในปี 2567 กรมทรัพยากรน้ำดำเนินงานโครงการติดตั้งสถานีเตือนภัยล่วงหน้าเพิ่มเติมอีก 119 สถานี โดยใช้งบประมาณ 93,941,200 บาท ซึ่งแยกเป็น
1. งานศึกษา ออกแบบ จัดทำระบบเตือนภัยล่วงหน้า 8,482,500 บาท
2. งานจัดหา และติดตั้งอุปกรณ์ 119 สถานี 71,917,700 บาท
3. งานสำรวจรูปตัดขวางลำน้ำ 4,250,000 บาท
4. งานจัดทำและเพิ่มประสิทธิภาพโปรแกรมประยุกต์เพื่อการเฝ้าระวังและเตือนภัย 7,080,000 บาท
5. งานประชาสัมพันธ์โครงการ 1,080,000 บาท
6. งานซักซ้อมทำความเข้าใจ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน 639,400 บาท
7. งานซักซ้อมทำความเข้าใจและอบรมเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำ 491,600 บาท
เชียงรายกับสถานีเตือนภัยล่วงหน้า
จากข้อมูลของกรมทรัพยากรน้ำ พบว่าจังหวัดเชียงรายมีสถานีเตือนภัยล่วงหน้า 183 สถานี 623 หมู่บ้าน ใน 79 ตำบล และ 3 เทศบาลตำบล โดยเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันที่เกิดขึ้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายในตอนนี้ (10 กันยายน 2567) จากข้อมูลพบว่าอำเภอแม่สาย มีสถานีเตือนภัยล่วงหน้าครอบคลุมเพียง 7 หมู่บ้าน ใน 3 ตำบล ประกอบไปด้วย ตำบลโป่งงาม 2 ที่บ้านผาฮี้ (อาข่า) และบ้านผาฮี้ (ลาหู่) ตำบลเวียงพางคำ 4 ที่บ้านผาหมี บ้านดอยงาม บ้านป่ายางผาแตก และบ้านห้วยน้ำริน ตำบลโรงช้าง 1 ที่บ้านแม่สาย (บ้านถ้ำผาจม)
ในขณะที่อีกหนึ่งอำเภอที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียกวันก็คืออำเภอแม่ฟ้าหลวง พบว่าอำเภอแม่ฟ้าหลวงมีการติดตั้งสถานีเตือนภัยล่วงหน้าครอบคลุม 71 หมู่บ้าน ใน 4 ตำบล คือ แม่สลองใน 26 หมู่บ้าน แม่สลองนอก 11 หมู่บ้าน แม่ฟ้าหลวง 17 หมู่บ้าน และเทอดไทย 17 หมู่บ้าน
ในขณะที่อำเภอเมืองเชียงรายนั้นพบว่ามีสถานีเตือนภัยล่วงหน้าครอบคลุม 84 หมู่บ้าน ใน 13 ตำบลคือ ห้วยชมภู 12 หมู่บ้าน สันทราย 6 หมู่บ้าน แม่ยาว 15 หมู่บ้าน แม่ข้าวต้ม 4 หมู่บ้าน แม่กรณ์ 11 หมู่บ้าน ป่าอ้อดอนชัย 3 หมู่บ้าน บ้านดู่ 2 หมู่บ้าน นางแล 8 หมู่บ้าน ท่าสุด 4 หมู่บ้าน ท่าสาย 5 หมู่บ้าน ดอนฮาง 10 หมู่บ้าน ดอนลาน 3 หมู่บ้าน และทต.นางแล 1 หมู่บ้าน
โดยในคืนวันที่ 10 กันยายน 2567 ระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่แสดงผลผ่านเว็บไซต์ https://ews.dwr.go.th/ews/index.php ของกรมทรัพยากรน้ำนั้น เตือนภัย (สีแดง) 27 หมู่บ้านเข้าขั้นวิกฤตให้อพยพ ซึ่งปรากฏเป็นหมู่บ้าน 13 หมู่บ้านในตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง 2 หมู่บ้านในอำเภอเมืองเชียงราย 4 หมู่บ้านในอำเภอพบพระ จังหวัดตาก 6 หมู่บ้านในอำเภอฝางจังหวัดเชียงใหม่ และ 2 หมู่บ้านในอำเภอแม่อาย เชียงใหม่
ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน Cell Broadcast Service
นอกจากระบบเตือนล่วงหน้า (Early Warning) แล้ว ประเทศไทยยังมีแนวคิดในการทำระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ Cell Broadcast Service ที่จะส่งข้อคววามเตือนภัยไปยังมือถือของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเมื่อมีเหตุภัยพิบัติอีกด้วย โดยจะแจ้งเตือนทั้งภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน แจ้งเตือนคนหาย และภัยก่อการร้าย เป็นต้น และสามารถรองรับได้ถึง 5 ภาษา ในรูปแบบข้อความ ตัวอักษร รูปภาพ และเสียง มีสัญญาณเสียง และข้อความที่แสดงบนหน้าจอ (Pop up) ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยใช้งบประมาณทั้งหมด 1,500 ล้านบาท เบื้องต้นจะใช้งบประมาณจำนวน 434 ล้านบาท โดยจะขอสนับสนุนจาก กองทุน USO 3 ของสำนักงาน กสทช. ซึ่งไม่รวมกับระบบ Cell Broadcast Center: CBC ของผู้ให้บริการโครงข่าย (โอเปอเรเตอร์) จำนวน 3 ราย อีกประมาณ 1,200 ล้านบาท รวมค่าบำรุงรักษา 3 ปี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการอนุมัติใช้เงินของคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณากรอบงบประมาณ และคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2568
ดูข้อมูลที่ https://rocketmedialab.co/database-early-warning
อ้างอิง
กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สืบค้น ณ วันที่ 10 ก.ย. 2567