- สวนทั้ง 7 ประเภท จำนวน 8,918 สวนจากข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เมื่อแยกประเภทเฉพาะสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ พบว่ากรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ 133 แห่ง
- เขตที่มีพื้นที่สวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ต่อจำนวนประชากรสูงที่สุดก็คือ ปทุมวัน 14.78 ตร.ม./คน รองลงมาก็คือประเวศ 11.36 ตร.ม./คน และจตุจักร 7.93 ตร.ม./คน
- เขตที่ไม่มีสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้เลยก็คือ ป้อมปราบศัตรูพ่าย พระโขนง และภาษีเจริญ
- พื้นที่สีเขียวเพื่อการบริการ มีเกณฑ์ระดับสากลอยู่ที่ 4 ตร.ม./คน มีเพียง 4 เขตในกรุงเทพฯ เท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากล นั่นก็คือ ปทุมวัน ประเวศ จตุจักร และพระนคร
- กรุงเทพฯ เพิ่มพื้นที่สีเขียวตามเป้าหมาย 9 ตร.ม./คน โดยอิงจากภาพรวมของกรุงเทพฯ ใช้งบฯ ส่วนมากในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน โดยไม่ได้พิจารณาถึงข้อมูลเชิงพื้นที่รายเขตว่าแต่ละเขตต้องเพิ่มสวนสาธารณะเท่าไร
ปัจจุบันอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ คือ 7.49 ตร.ม./คน และคาดว่าจะถึง 9 ตร.ม./คน ภายในปี 2030 ซึ่งเป็นตัวเลขตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) แต่ทำไมเรายังรู้สึกว่า กรุงเทพฯ ไม่ได้เขียวขนาดนั้น
แล้วสวนสาธารณะที่ใกล้ที่สุดจากที่พักอาศัยของคุณล่ะ มีหรือเปล่า เดินทางไปได้ในกี่นาที และในเขตที่คุณอยู่มีสวนสาธารณะกี่สวน คุณคิดว่าเพียงพอไหม
Rocket Media Lab ชวนสำรวจพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ ทำไมผู้ว่าฯ กทม. ทุกยุคทุกสมัยถึงมีนโยบายจะเพิ่มพื้นที่ แต่ก็ดูเหมือนยังมีไม่พอสักที ปัญหาของการสร้างสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ อยู่ตรงไหน แล้วตัวเลขที่กรุงเทพฯ ประกาศในปัจจุบัน มันหลอก เอ้ย! มันบอกอะไรเรา และที่จริงเรามีพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะแค่ไหนกัน
พื้นที่สีเขียว : ที่เรียกว่าเขียว นับตรงไหนบ้าง
กรุงเทพฯ แบ่งสวนออกเป็น 7 ประเภทได้แก่ สวนเฉพาะทาง สวนชุมชน สวนถนน สวนระดับเมือง สวนระดับย่าน สวนหมู่บ้าน และสวนหย่อมขนาดเล็ก แต่ความหมายของคำว่าสวน หรือ ‘สวนสาธารณะ’ ที่เราคุ้นเคยกัน ซึ่งหมายถึงการเข้าไปใช้งานพื้นที่ได้ จะอยู่ในบางประเภทเท่านั้น เช่น สวนชุมชน สวนหมู่บ้าน สวนระดับย่าน สวนระดับเขต
การแบ่งสวนออกเป็น 7 ประเภทของกรุงเทพฯ นั้นก็เพื่อจะนำมานับคำนวณ ‘พื้นที่สีเขียว’ ทั้งหมดของกรุงเทพฯ โดยรวมเอา ‘ทุกพื้นที่ที่มีสีเขียว’ มาจัดประเภทให้เป็นสวนประเภทต่างๆ เช่น สวนถนนอาจหมายถึงเกาะกลางหรือริมถนนที่ปลูกต้นไม้ หรือการปลูกไม้ประดับไม้เลื้อยเป็นสวนแนวตั้งกำแพงรั้ว สวนหย่อมขนาดเล็กอาจหมายถึงสวนหน้าบ้านของใครสักคน สวนเฉพาะทางก็อาจหมายถึงพื้นที่สวนบนโรงแรมหรือคอนโด หรือแม้กระทั่งสวนหมู่บ้านก็อาจหมายถึงสนามฟุตบอลในโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง
ซึ่งทั้งหมดนั้นถูกนำมานับรวมจนได้พื้นที่สีเขียวในอัตราส่วน 7.49 ตร.ม./คน ซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุด ที่กำลังจะเข้าใกล้ 9 ตร.ม./คน ตามคำแนะนำของ WHO
แต่ถึงอย่างนั้นในรายละเอียดของการรวบรวม ‘พื้นที่ที่มีสีเขียว’ โดยแบ่งเป็นสวน 7 ประเภทของกรุงเทพฯ ก็มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ ทั้งการนับรวมแบบเหมาพื้นที่ ณ จุดใดจุดหนึ่งที่ไม่ได้มีเฉพาะพื้นที่สีเขียว เช่น โรงเรียนบางแห่ง ที่นับรวมพื้นที่ทั้งโรงเรียนว่าเป็น ‘พื้นที่สีเขียว’ ซึ่งอาจทำให้ตัวเลขพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ นั้นสูงกว่าความเป็นจริง เช่นเดียวกันกับการนับรวมพื้นที่เอกชนซึ่งเป็นสัดส่วนขนาดใหญ่ที่ทำให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวจำนวนมาก ที่จริงๆ แล้วอาจจะต้องกล่าวว่าการเพิ่มขึ้นของพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ นั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่ผลงานของผู้ว่าฯ กทม. ทั้งหมด
มากไปกว่านั้นคือการนำเอาตัวเลขจำนวนรวมของสวนตามที่กรุงเทพฯ นำเสนอ มาใช้รายงาน โดยไม่ได้พิจารณาถึงรายละเอียดหรือข้อเท็จจริงส่วนอื่นประกอบ ซึ่งอาจจะทำให้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่ถูกต้องได้ เช่น เมื่อกล่าวถึงเขตที่มีจำนวนสวนมากที่สุด หากยึดตามข้อมูลของกรุงเทพฯ ก็คือเขตพระโขนง แต่ในความเป็นจริงแล้ว พระโขนงไม่มีสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ในเชิงการใช้พื้นที่เลยแม้แต่สวนเดียว โดยสวนในเขตพระโขนงที่ถูกนับจำนวนโดยสำนักการสวนสาธารณะ กทม. จนทำให้เขตพระโขนงเป็นเขตที่มี ‘จำนวนสวน’ มากที่สุดนั่นก็คือสวนหย่อมหน้าบ้าน
จำนวนสวนที่สำนักการสวนสาธารณะรายงาน จึงเป็นเพียงการแบ่งประเภทพื้นที่จะนำมารวมกันเป็นพื้นที่สีเขียวเท่านั้น แต่ไม่ได้พิจารณาว่าสวนหรือพื้นที่สีเขียวในแต่ละจุดที่ถูกนำมานับนั้นเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้ในเชิงการใช้พื้นที่แบบสวนสาธารณะหรือไม่
จริงๆ แล้วเรามีสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้เท่าไรกัน
หากพิจารณาองค์ประกอบของสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ในแง่การใช้พื้นที่ โดยพิจารณาจากการออกแบบพื้นที่ ที่ไม่ใช่เพียงแค่การนำเอาพืชพรรณสีเขียวมาปลูกในพื้นที่ว่าง แต่ยังรวมไปถึงการออกแบบพื้นที่เพื่อการใช้สอยต่างๆ ทั้งการเดิน วิ่ง ออกกำลังกาย หรืออย่างน้อยที่สุดนั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจ มีการอำนวยความสะดวกในขั้นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ แสงไฟ ห้องน้ำ ฯลฯ และไม่ใช่การออกแบบพื้นที่มาเพื่อใช้การอย่างหนึ่งแต่มีพื้นที่ที่เรียกว่าสวนร่วมด้วย เช่น โรงเรียน หรือวัด
จากการทำข้อมูลของ Rocket Media Lab โดยการพิจารณาสวนทั้ง 7 ประเภท จำนวน 8,918 สวนจากข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ร่วมกับข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ และแยกประเภทเฉพาะสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ในแง่การใช้พื้นที่ดังที่กล่าวไปข้างต้น พบว่ากรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ในแง่การใช้พื้นที่จำนวน 133 แห่ง
หากพิจารณาในแง่จำนวนจะพบว่า เขตที่มีจำนวนสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้มากที่สุดก็คือ พระนคร 11 แห่ง รองลงมาก็คือจตุจักร 9 แห่ง และประเวศ 7 แห่ง แต่หากพิจารณาในเชิงขนาดพื้นที่ต่อจำนวนประชากรจะพบว่าเขตที่มีพื้นที่สวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ต่อจำนวนประชากรสูงที่สุดก็คือ ปทุมวัน 14.78 ตร.ม./คน รองลงมาก็คือประเวศ 11.36 ตร.ม./คน จตุจักร 7.93 ตร.ม./คน ในขณะที่เขตที่ไม่มีสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้เลยก็คือ ป้อมปราบศัตรูพ่าย พระโขนง และภาษีเจริญ
และหากนำข้อมูลจากการทำงานของ Rocket Media Lab มาเปรียบเทียบกับข้อมูลอัตราขนาดพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรของสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ก็จะพบว่ามีข้อสังเกตที่น่าสนใจในหลายๆ เขต เช่น ป้อมปราบศัตรูพ่าย ที่มีอัตราขนาดพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรตามข้อมูลของ กทม. อยู่ที่ 6.36 ตร.ม./คน ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่น้อยเลยทีเดียว แต่เมื่อพิจารณาอัตราพื้นที่สวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ต่อจำนวนประชากรจากข้อมูลของ Rocket Media Lab จะพบว่าเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายไม่มีสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้เลย หรือเขตทวีวัฒนา มีอัตราขนาดพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรตามข้อมูลของ กทม. อยู่ที่ 22.83 ตร.ม./คน ซึ่งถือว่าสูงมาก แต่เมื่อพิจารณาอัตราพื้นที่สวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ต่อจำนวนประชากรจากข้อมูลของ Rocket Media Lab จะพบว่ามีเพียง 3.72 ตร.ม./คน เท่านั้น
ที่จริงแล้วการจะนำอัตราขนาดพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรมาเปรียบเทียบกับอัตราพื้นที่สวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ต่อจำนวนประชากร อาจจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว แต่ถึงอย่างนั้นการนำมาเปรียบเทียบก็จะทำให้เห็นว่าการที่มีพื้นที่สีเขียวจำนวนมากไม่ได้หมายความว่ามีพื้นที่สีเขียวที่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ดังเช่นสวนสาธารณะมากไปด้วย
การพิจารณาเรื่องอัตราพื้นที่สวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ต่อจำนวนประชากร หรือใช้คำว่าพื้นที่สีเขียวเพื่อการบริการ มีเกณฑ์ระดับสากลอยู่ที่ 4 ตร.ม./คน และหากใช้เกณฑ์นี้ในการพิจารณา (เหมือนดังเช่นที่ที่กรุงเทพฯ ใช้เกณฑ์อัตราขนาดพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากร 9 ตร.ม./คน ตามคำแนะนำของ WHO) ก็จะพบว่า มีเพียง 4 เขตในกรุงเทพฯ เท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากล นั่นก็คือ ปทุมวัน ประเวศ จตุจักร และพระนคร
ไม่ใช่แค่มี แต่อยู่ใกล้บ้านในระยะทางที่เข้าถึงได้ไหม
การพิจารณาเรื่องสวนสาธารณะไม่ได้มีเพียงประเด็นเรื่องจำนวนของสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ในเชิงการใช้พื้นที่และขนาดพื้นที่เท่านั้น แต่ยังมีประเด็นเรื่องการเข้าถึงได้ในเชิงระยะทางอีกด้วย โดยกรุงเทพฯ เองกำหนดเป้าหมายไว้ในโครงการ Green Bangkok 2030 นอกจากเรื่องอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรที่จะต้องเพิ่มขึ้นให้ได้ถึง 9 ตร.ม./คน ภายในปี 2030 แล้ว ยังมีเป้าหมายการเพิ่มสวนสาธารณะขนาดเล็ก (Pocket Park) ให้สามารถเข้าถึงได้ในระยะ 400-800 เมตรอีกด้วย
Rocket Media Lab จึงนำเอาข้อมูลสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้จำนวน 133 สวน มาแบ่งประเภทตามขนาดของสวนสาธารณะ โดยแบ่งเป็นสวนขนาดเล็ก (S) พื้นที่ 0 – 16,000 ตร.ม. โดยกำหนดระยะการเข้าถึงไว้ที่ 500 ม. สวนขนาดกลาง (M) พื้นที่ 16,001 – 80,000 ตร.ม. ระยะการเข้าถึง 1 กม. สวนขนาดใหญ่ (L) พื้นที่ 80,001 – 160,000 ตร.ม. ระยะการเข้าถึง 3 กม. และสวนขนาดใหญ่มาก (XL) พื้นที่ 160,001 ตร.ม. ขึ้นไป ระยะการเข้าถึง 5 กม.
เมื่อนำเกณฑ์ดังกล่าวมาประกอบกับข้อมูลจุดที่ตั้งของสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ทั้ง 133 แห่งจะพบว่าสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้และมีระยะการเข้าถึงตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ชั้นในและพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพฯ เกือบทั้งหมด รวมไปถึงในส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯ ใต้ ในขณะที่เขตรอบนอกกรุงเทพฯ ทั้งส่วนขอบของกรุงเทพฯ เหนือ เช่น ลาดกระบัง หนองจอก คลองสามวา และในส่วนของกรุงธนเหนือและกรุงธนใต้ เช่น ตลิ่งชัน หนองแขม บางแค บางขุนเทียน ทุ่งครุ เป็นเขตที่นอกจากจะมีจำนวนสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้น้อยแล้ว ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่และเข้าถึงได้ยากในเชิงความใกล้-ไกลของระยะทางอีกด้วย
แต่ในขณะเดียวกันจากข้อมูลชุดนี้ก็ทำให้เราเห็นประเด็นที่น่าสนใจว่า แม้ในเขตที่ไม่มีสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้เลยหรือมีน้อย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนา สัมพันธวงศ์ หรือบางรักที่มีเพียงแห่งเดียว หรือป้อมปราบศัตรูพ่ายที่ไม่มีเลย แต่ก็นับว่ายังมีสวนสาธารณะในเขตรอบข้างที่มีรัศมีอยู่ในระยะที่เข้าถึงได้
แต่นั่นก็นำมาซึ่งคำถามที่ว่า เขตแต่ละเขตควรจะมีทั้งจำนวนพื้นที่สีเขียว พื้นที่สีเขียวให้บริการ และการเข้าถึงเชิงระยะทาง ตามเกณฑ์มาตรฐานตามที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยไม่ใช้ระบบหารร่วม หรืออาศัยประโยชน์จากเขตพื้นที่ใกล้เคียง
กรุงเทพฯ พัฒนาพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะอย่างไร
เป้าหมายตามโครงการ Green Bangkok 2030 คือการเพิ่มอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรที่ให้ได้ถึง 9 ตร.ม./คน ภายในปี 2030 โดยการสร้างสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น แต่เป้าหมายนี้เป็นเป้าหมายรวมทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ ต่อจำนวนประชากร (ตามทะเบียนราษฎร์) ของกรุงเทพฯ แต่หากพิจารณาตามข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เอง ก็จะพบว่ามีถึง 37 เขต ที่ยังคงไม่ถึงเกณฑ์นี้อยู่
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ในระยะที่ผ่านมาก็จะพบว่า กรุงเทพฯ ใช้งบฯ จำนวนมหาศาลกว่า 980 ล้านบาท ไปกับการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีให้เป็นสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ซึ่งจะว่าไปแล้วเขตสาทรไม่ใช่เขตที่มีพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้จำนวนน้อยเป็นอันดับท้ายๆ ของกรุงเทพฯ โดยเขตสาทรมีทั้ง สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (สาทร) สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง) สวนหย่อมซอยอยู่ดี หรือแม้กระทั่งสวนสมาคมแต้จิ๋ว ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้บริการ
ในขณะที่เขตบางรัก ซึ่งเพิ่งจะมีสวนสาธารณะเป็นสวนแรก คือ สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ อันเป็นการผลักดันของกลุ่ม We Park ซึ่งได้รับมอบที่ดินจากหม่อมหลวงธิษัน ศรีธวัช และ กทม. มอบงบฯ ในการสร้างเป็นจำนวน 6,388,000 บาท หรือโครงการสวนลุมพินี 100 ปี ที่กำลังจะมีการรีโนเวท โดยเพียงค่าออกแบบนั้นก็ใช้งบฯ สูงถึง 50 ล้านบาท รวมไปถึงการสร้างสะพานเชื่อมสวน 2 สวน จากสวนลุมพินี – สวนเบญจกิติ หรือแม้กระทั่งโครงการสวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ 1 ที่แม้จะเป็นความร่วมมือของกรมธนารักษ์และให้กองทัพบกเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง (แต่งบฯ ในการดูแลรักษาคืองบฯ ของ กทม.)
กรณีข้างต้นทำให้เห็นได้ว่าแนวทางการพัฒนาพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะแม้จะมีหลักเกณฑ์การอ้างอิง อย่างอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากร 9 ตร.ม./คน ตามคำแนะนำของ WHO แต่ในเชิงพื้นที่ในการพัฒนานั้นจะเห็นว่าใช้งบฯ จำนวนมากและกระจุกตัวอยู่แต่ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน เพื่อไปให้ถึงตัวเลขเป้าหมาย แต่ไม่ได้พิจารณาถึงความต้องการในระดับพื้นที่ว่ามีพื้นที่ใดที่มีจำนวนพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะที่น้อยหรือมีความต้องการมากกว่า เช่น พื้นที่เขตกรุงเทพฯ ชั้นนอกที่ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ ยังมีสวนสาธารณะในพื้นที่เขตอื่นๆ ที่ต้องการงบฯ มาพัฒนาเพื่อให้สามารถเข้าถึงและใช้งานได้อย่างได้ เช่น สวนถนนบริเวณทางขึ้นลงทางด่วนถนนพระรามเก้าตัดถนนศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นสวนแห่งเดียวในเขตสวนหลวงที่มีพื้นที่กว้างถึง 130 ไร่ แต่กลับมีสภาพรกร้างไม่ได้รับการพัฒนาให้สามารถเข้าถึงและใช้งานได้อย่างดี ซึ่งหากกรุงเทพฯ นำงบฯ ประมาณมาพัฒนาสวนธารณะในเขตอื่นๆ นอกจากเขตพื้นที่ชั้นใน ก็จะให้ประชาชนในพื้นที่รอบนอกมีสวนสาธารณะที่ใช้งานได้ เข้าถึงได้ โดยไม่ต้องเดินทางไกลอีกด้วย
ฟังก์ชั่นของสวนสาธารณะกับผังเมืองรวม
นอกจากประเด็นเรื่องการนำเอาข้อมูลเชิงพื้นที่รายเขตมาเป็นตัวกำหนดในการพัฒนาเรื่องพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะแล้วนั้น ยังมีข้อเสนออื่นที่น่าสนใจจาก ดร.สินีนาถ ศุกลรัตนเมธี อาจารย์ประจำหลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เสนอว่าอาจจะต้องมองในประเด็นเรื่องผังเมืองและการวางแผนพื้นที่เปิดโล่ง (Open Space Planning) ร่วมด้วย
“ณ จุดหนึ่ง การนำเอาข้อมูลว่าพื้นที่ไหนยังขาดพื้นที่สวนสาธารณะมาใช้เป็นตัวกำหนดในการเพิ่มจำนวนพื้นที่สวนสาธารณะก็เป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนา แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เราควรรู้และ กทม. ควรจะบอกหรือควรจะนำไปพิจารณาร่วมด้วยก็คือโครงการนั้นๆ มันจะไปผูกกับภาพใหญ่อย่างไร มันจะ achieve อะไร โดยเฉพาะเรื่องผังเมืองรวมและการใช้พื้นที่เปิดโล่ง การสร้างสวนสาธารณะหรือพื้นที่สีเขียวมันไม่ใช่แค่การทำให้ได้ อัตรา 9 ตร.ม./คน แต่ต้องมองไปถึงว่าสิ่งที่สร้างต้องเชื่อมต่อกับสิ่งอื่นๆ ของการใช้พื้นที่เปิดโล่งและผังเมืองรวมด้วย
“หนึ่งในการวางแผนพื้นที่เปิดโล่ง ก็คือทางหลาก (floodway) ซึ่งอาจจะรวมทั้งเรื่องอากาศและน้ำท่วม ซึ่งการสร้างสวนสาธารณะนอกจากประโยชน์ในเชิงสิ่งแวดล้อม เราอาจจะต้องพิจารณาว่ามันเชื่อมต่อกับทางหลากอย่างไร ตรงนั้นเป็นพื้นที่อากาศเสีย ซึ่งอาจจะมีความจำเป็นสูงในการสร้างทางหลากทางอากาศไหม หรือเป็นต้นลมที่เราควรจะมีพื้นที่สีเขียวเพื่อป้องกัน PM2.5 หรือจะสามารถเป็นทางน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมในเขตพื้นที่นั้นๆ ซึ่งอาจจะมีปัญหาน้ำท่วมได้ด้วย
“เพราะฉะนั้นมันอาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเลข 9 ตร.ม./คน เสียทีเดียว เราอาจจะต้องมองการสร้างสวนสาธารณะในฟังก์ชั่นอื่นที่มันเชื่อมโยงกันกับผังเมืองรวมด้วย สิ่งสำคัญกว่านั้นก็คือต้องมีการวางแผนการใช้พื้นที่เปิดโล่งร่วมกัน โดยเอาปัญหาของ กทม. มากางดูว่า กทม. มีปัญหาอะไรบ้าง แต่ละโซนเป็นอย่างไร โซนที่หนาแน่นที่สุดอาจจะต้องการเชิงปริมาณจริง แต่โซนอื่นที่เบาบางอาจจะต้องการอย่างอื่น”
เมื่อกรุงเทพฯ ต้องหาที่ดินมาทำสวนสาธารณะเพิ่ม
การเพิ่มจำนวนสวนสาธารณะเป็นอีกหนึ่งความท้าทายคลาสสิกของกรุงเทพฯ ตั้งแต่ยุคแรกๆ เนื่องด้วยกรุงเทพฯ ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง และไม่มีงบฯ มากพอที่จะซื้อที่ดิน อย่างในสมัยของชํานาญ ยุวบูรณ์ ผู้ว่าฯ คนแรก การสร้างสวนพฤกษาชาติคลองจั่นนั้นก็ได้รับเงินบริจาคจากพ่อค้ากลุ่มหนึ่งจํานวน 1,241,999 บาท เพื่อเป็นทุนสร้างสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้ประชาชน
หรือในยุคของ ธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งคนแรก ในการสร้างสวนสาธารณะสวนจตุจักรนั้น สร้างขึ้นมาได้ก็เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานที่ดินจํานวน 100 ไร่ (ซึ่งการรถไฟทูลเกล้าถวายฯ) ให้ กทม.มาสร้างสวนสาธารณะ พร้อมกับพระราชทานชื่อว่า “สวนจตุจักร”
กรุงเทพฯ ยังใช้วิธีเช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ปัจจุบันคือ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์) ในการสร้างสวนสาธารณะอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นสวนธนบุรีรมย์ ในสมัย ชํานาญ ยุวบูรณ์ สวนสันติภาพ ในสมัย จำลอง ศรีเมือง สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติฯ 7 รอบ บางบอน และสวนบางแคภิรมย์ ในสมัย สุขุมพันธุ์ บริพัตร
หรือในบางเขตที่มีจำนวนสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้และพื้นที่สีเขียวจำนวนสูงขึ้น ก็มาจาการที่ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของหน่วยงานอื่นได้ เช่น สวนในพื้นที่การกีฬาแห่งประเทศไทย ในเขตบางกะปิ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ในเขตดินแดง อุทยาน 100 ปีจุฬาฯ ในเขตปทุมวัน
นอกจากนี้สวนสาธารณะส่วนมากในกรุงเทพฯ ยังเกิดจากการร่วมมือในการให้ใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์ กรมทางหลวง การเคหะแห่งชาติ และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น อุทยานเบญจสิริ สวนเฉลิมพระเกียรติเกียกกาย สวนพุทธมณฑลสาย 2 สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา สวนวัชราภิรมย์ สวนพญาไทภิรมย์ ฯลฯ โดยหากพิจารณาสวนสาธารณะหลักทั้ง 39 แห่งจะพบว่าเป็นการดำเนินการของ กทม. เองเพียง 10 แห่งเท่านั้น
แนวทางส่วนมากที่กรุงเทพฯ ใช้ในยุคหลัง จะเป็นการประสานงานขอใช้พื้นที่จากหน่วยงานอื่นเพื่อนำมาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ โดยเฉพาะยุคอดีตผู้ว่าฯ กทม. อภิรักษ์ โกษะโยธิน และ สุขุมพันธุ์ บริพัตร เช่นเดียวกันกับ อัศวิน ขวัญเมือง อย่างสวนวิภาภิรมย์ หรือสวนสวนสาธารณะบริเวณโครงการต่อเชื่อมถนนกาญจนาภิเษก-ถนนพุทธมณฑล สาย 2 ฯลฯ หรือการนำพื้นที่สาธารณะประโยชน์ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่ามาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ อย่างสวนสุขภาพอยู่เย็นเป็นสุข หรือพื้นที่ว่างจากการก่อสร้างทางลาดต่างระดับ เช่น สวนวนาภิรมย์ร่มเกล้า ซึ่งสามารถปลดล็อกปัญหากรุงเทพฯ ไม่มีที่ดินและไม่มีงบฯ จัดซื้อที่ดินในการสร้างสวนสาธารณะได้
อุปสรรคของการเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะในกรุงเทพฯ จึงไม่ใช่การไม่มีที่ดินเหมือนในยุคแรก แต่เป็นแนวทางในการพัฒนามากกว่า ว่ากรุงเทพฯ หรือผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ จะใช้แนวทางใด จะยึดอยู่กับตัวเลข 9 ตร.ม./คน และมุ่งพัฒนาแต่พื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในตามโครงการที่ได้ริเริ่มไว้ หรือจะสร้างการเข้าถึงที่เท่าเทียมของประชาชนทุกเขตในกรุงเทพมหานคร
ดูข้อมูลพื้นฐานเรื่องสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้และการจัดอันดับพื้นที่สวนสาธารณะที่เข้าถึงได้รายเขต ได้ที่นี่ https://rocketmedialab.co/database-bkk-park/
อ้างอิง
สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กทม.