Connect with us

Hi, what are you looking for?

politics

กรุงเทพฯ เมืองเทพ (และต่างชาติช่วย) สร้าง

Photo by Paul Szewczyk on Unsplash
  • ในการพัฒนากรุงเทพฯ องค์กรหนึ่งที่มีส่วนร่วมไม่น้อยคือไจก้า หรือ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
  • JICA เข้ามาช่วยเหลือกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2497 ผ่านความร่วมมือทางวิชาการ และความร่วมมือทางการเงิน ทั้งในรูปแบบให้เปล่าและรูปแบบเงินกู้ แบ่งประเด็นช่วยเหลือได้เป็น 5 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ คมนาคม การศึกษา สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และด้านอื่นๆ
  • การเข้ามาเสริมสร้างสมรรถภาพให้กับประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียนของญี่ปุ่น มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาภูมิภาคซึ่งเป็น ‘เครือข่ายการผลิต’ ที่สำคัญต่อผลประโยชน์ของญี่ปุ่น ทั้งสำหรับภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งสร้างบทบาทผู้นำทางปัญญาระดับภูมิภาคของญี่ปุ่น
  • แม้กรุงเทพฯ จะได้พัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมากมาย จากความช่วยเหลือของ JICA แต่น่าสนใจว่า โครงการเหล่านั้นได้รับการต่อยอดหรือสร้างมาตรฐานใหม่ ตามที่ตั้งเป้าไว้มากน้อยเพียงใด

“กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง เมืองศูนย์กลางการปกครอง วัดวังงามเรืองรอง เมืองหลวงประเทศไทย” คำขวัญของมหานคร แดนเนรมิตรที่เจริญที่สุดในสยามประเทศ เป็นศูนย์รวมความเจริญทั้งในภาคเศรษฐกิจและสังคม เสมือนหัวใจที่ขาดไม่ได้ ที่ทำให้ใครๆ ต่างอยากจะย้ายมาเติบโต

แต่ใครจะรู้ว่า ไม่ใช่แค่เทพเท่านั้นที่สร้าง หรือหากกล่าวตามจริง ไม่ใช่แค่รัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น ภาคเอกชน และคนตัวเล็กตัวน้อยเท่านั้นที่ร่วมสร้างกรุงเทพณ แต่ยังรวมไปถึงหน่วยงานจากต่างประเทศ อย่างองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JICA (The Japan International Cooperation Agency) อีกด้วย

หลายคนอาจนึกไม่ออกว่า มีอะไรบ้างที่ไจก้าร่วมสร้างขึ้นมาในกรุงเทพมหานครแห่งนี้ ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นอยู่ในชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพฯ แทบทุกวัน

Rocket Media Lab ชวนสำรวจกรุงเทพเมืองดุจเทพสร้างแห่งนี้ว่า มีอะไรบ้างที่ JICA ร่วมสร้าง

JICA คือใคร

JICA เป็นหน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา JICA เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือเพื่อพัฒนาอย่างเป็นทางการของญี่ปุ่นหรือ ODA (Official Development Assistance) ที่ให้ความช่วยเหลือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ในการส่งเสริมและกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจและสวัสดิการ ทั้งในการช่วยเหลือระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยที่ทาง JICA จะรับผิดชอบการช่วยเหลือในระดับทวิภาคี ทั้งความร่วมมือทางวิชาการ ความร่วมมือในรูปแบบเงินกู้ และความร่วมมือทางการเงินแบบให้เปล่า

ญี่ปุ่นเริ่มให้ความช่วยเหลือกับประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2493 ในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมโทรคมนาคม ของกระทรวงศึกษาธิการ และการจัดตั้งสถาบันวิจัยไวรัส ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ต่อมา หลังจากญี่ปุ่นได้เข้าร่วมแผนโคลัมโบในปี 2497 ก็ได้เริ่มให้การช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาในไทยอย่างเป็นทางการ (ODA) ผ่าน JICA ซึ่งสังกัดกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่น โดยเริ่มที่การให้ทุนแก่บุคคลากรไทย 21 คนไปฝึกอบรมที่ญี่ปุ่น

จากนั้นทางการญี่ปุ่นก็เริ่มปรับเปลี่ยนการช่วยเหลือ หลังสามารถยกระดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางค่อนข้างสูงได้ โดยเน้นไปที่การสนับสนุนโครงการระดับภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะในระดับอาเซียน เพิ่มขีดจำกัดความสามารถในการแข่งขันของไทย สู่การเติบโตที่ยั่งยืน ก้าวหน้าในความมั่นคงของมนุษย์ และความร่วมมือในภูมิภาค

มหานครเทพ (JICA) สร้าง?

กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ได้รับการช่วยเหลือจาก JICA ในแง่ของการเป็นเมืองนำร่องการพัฒนาเพื่อขยายไปยังจังหวัดอื่นทั่วประเทศ ด้วยความที่กรุงเทพฯ มีปัญหาด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเป็นทุนเดิม ทำให้ JICA เข้ามาให้ความช่วยเหลือกรุงเทพฯ ใน 5 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ การคมนาคม การศึกษา สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และด้านอื่นๆ

ด้านการคมนาคม

การคมนาคมถือเป็นส่วนที่ JICA ลงทุนในกรุงเทพฯ มากที่สุด ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางเข้าออก แก้ปัญหาการจราจร มีส่วนส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดย JICA เข้ามาดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯ อาทิ

  1. ให้เงินกู้และความร่วมมือทางวิชาการ กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัดในการก่อสร้างสนามบินดอนเมือง ช่วงปี 2522-2525 วงเงิน 35,000 ล้านเยน และการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ วงเงิน 164,000 ล้านเยน ในการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น อาคารผู้โดยสาร ทางวิ่ง คลังสินค้า และระบบที่เกี่ยวข้อง
  2. ให้เงินกู้และความร่วมมือทางวิชาการ กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในการก่อสร้างสะพานข้ามแม้น้ำเจ้าพระยา จำนวน 13 สะพาน ได้แก่สะพานปทุมธานี สะพานพระรามสี่ สะพานพระนั่งเกล้า สะพานพระรามห้า สะพานพระรามเจ็ด สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า สะพานพระปกเกล้า สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สะพานกรุงเทพ สะพานพระรามสาม สะพานพระรามเก้า และสะพานในโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม โดยนอกจากสะพานแล้วยังมีการสร้างโครงข่ายถนนรอบๆ เชื่อมกับถนนวงแหวนรอบนอกและถนนเส้นหลักอื่นๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อบรรเทาการจราจรที่ติดขัด
  3. ให้เงินกู้และความร่วมมือทางวิชาการ กับการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ในโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคล หรือสายสีน้ำเงิน เป็นจำนวนเงิน 220,000 ล้านเยน สำหรับก่อสร้างอุโมงค์ สถานี ศูนย์ซ่อมบำรุง ติดตั้งระบบราง ลิฟต์และบันไดเลื่อน จำนวน 18 สถานี
  4. ให้เงินกู้ ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่) จำนวน 16 สถานี วงเงิน 79,081 ล้านเยน และรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ-รังสิต) จำนวน 8 สถานี 
  5. ให้เงินกู้ในการก่อสร้างถนนราชพฤกษ์ ทางด่วนสายดินแดง-บางนา ทางด่วนสายรามอินทรา-อาจณรงค์ มอเตอร์เวย์กรุงเทพ-ชลบุรี และบูรณะถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งกรุงเทพตะวันออก
  6. สนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการในโครงการ ยุทธศาสตร์ระบบขนส่งอัจฉริยะไทยแลนด์ 4.0 ในการพัฒนาการจำลองสถานการณ์ (2561-2566) เพื่อเข้าใจคุณภาพชีวิตและการใช้ที่ดิน เพื่อส่งเสริมระบบขนส่งให้มีประสิทธิภาพ เสนอผังเมืองภายใต้ Street for all เพื่อการโดยสารระบบสาธารณะ พัฒนาการประเมินที่เป็นดัชนีวัดความสุขจากการใช้พื้นที่และระบบขนส่ง รวมถึงพัฒนาระบบ Digital Earth สำหรับออกแบบแผนการ Smart Transport
  7. สนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯปี 2563 โดยมอบรถโดยสารปรับอากาศชานต่ำฮีโน่ ระบบดีเซลและไฟฟ้า จำนวน 8 คัน เป็นรถต้นแบบในการศึกษาโครงการรถไฮบริด เพื่อพัฒนามาตรฐานการเดินรถให้เหมาะสมกับการใช้งานในประเทศ
  8. สนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับรัฐบาลไทย ในการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาสถานีกลางบางซื่อระยะยาว 15 ปี (2560-2575) โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ 1.แผนพัฒนาบริเวณสถานีกลางให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระบบการขนส่งทางบกและทางราง 2.แผนการพัฒนาเชิงพาณิชย์ 3. แผนพัฒนาตลาดจัตุจักรให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับวิถีชีวิตตลาดชุมชนเดิม 4.แผนพัฒนาพื้นที่สวนสาธารณะให้สามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่โดยรวมของสถานีกลาง และ 5. แผนพัฒนาการเดินทางเชื่อมต่อจากบริเวณหมอชิตเก่า และหมอชิตใหม่
  9. ให้เงินกู้ร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) ทำสัญญากับทางบริษัท อี สมาร์ท ทรานสปอร์ต จำกัด ในการลงทุนสนับสนุนเรือโดยสารไฟฟ้า Mine Smart Ferry ในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อยกระดับการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะของกรุงเทพฯให้ทันสมัยและไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม
  10. สนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในโครงการปรับปรุงสภาพการจราจร ผ่านการติดตั้งระบบนำร่องควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ (Area Traffic Control : ATC) เพื่อให้จังหวะสัญญาณไฟจราจรสัมพันธ์และสอดคล้องกับปริมาณจราจร นำร่องในถนนพระราม 6 ถนนราชวิถี ถนนพหลโยธิน และถนนประดิพัทธ์ ครอบคลุมสัญญาณไฟจราจรทางแยกทั้ง 12 ทางแยก และสัญญาณไฟจราจรทางข้ามชนิดกดปุ่ม 3 ทางข้าม

ด้านการศึกษา

ที่เห็นได้ชัดที่สุดสำหรับด้านการศึกษา คือการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการก่อตั้งศูนย์ฝึกโทรคมนาคมนนทบุรีในปี 2503 ซึ่งต่อมากลายมาเป็นสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยให้ความร่วมมือต่อเนื่องมากว่า 62 ปี ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งความร่วมมือทางการเงินแบบให้เปล่าและความร่วมมือทางวิชาการ อีกทั้งส่งเสริมให้สถาบันฯ เป็นหนึ่งในเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนเพื่อพัฒนาการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ ยังให้ความร่วมมือทางวิชาการและเงินให้เปล่า แก่สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ส่งอาจารย์ของสถาบันไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น และให้ทุนการศึกษากับนักศึกษาไทยในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่น

ด้านสิ่งแวดล้อม

JICA ให้ความร่วมมือในรูปแบบของเงินกู้และความร่วมมือทางวิชาการกับสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ในการแก้ปัญหาน้ำเสียตามแหล่งชุมชนของกรุงเทพฯ โดยให้คำแนะนำในการจัดทำแผนหลักระบบบำบัดน้ำเสีย พ.ศ. 2524 และมีการอัปเดตแผนเรื่อยมา มีการสนับสนุนงบประมาณในการตั้งศูนย์อบรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของกทม.ที่ปฏิบัติงานด้านการจัดการน้ำเสีย และสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับใช้ปฏิบัติงานในระบบการบำบัดน้ำเสียในโครงการบำบัดน้ำเสียสี่พระยา ในปี 2542 JICA ยังสนับสนุนการศึกษาการจัดการขยะบริเวณอ่อนนุช โดยใช้ระบบเตาเผา ซึ่งได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากสื่อมวลชนและองค์กรสิ่งแวดล้อม

หรือในสมัยของผู้ว่าฯ จำลอง ศรีเมือง (2528-2535) ทาง JICA มอบเงิน 1,848 ล้านบาท ให้กับกรุงเทพฯ ในการก่อตั้งศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม นอกจากนี้ JICA ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานครในการจัดทำแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2564-2573 โดยตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 19 ภายในปี 2573 โดยจะครอบคลุมด้านการขนส่ง การใช้พลังงาน การจัดการขยะและการบำบัดน้ำเสีย และการวางผังเมืองสีเขียว

ด้านสุขภาพ

JICA ให้ความสำคัญกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีโครงการเช่น การร่วมมือกับกรุงเทพฯ และเมืองฟุกุโอกะของญี่ปุ่น วางรูปแบบโครงการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวเชิงป้องกันในกรุงเทพมหานคร (PLC) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวแก่บุคลากร และโครงการระยะ 3 ปี เพื่อพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ นำร่องในศูนย์บริการสาธารณสุข 4 ดินแดง และศูนย์บริการสาธารณสุข 56 ทับเจริญ

ด้านอื่นๆ

JICA ยังให้ความร่วมมือในรูปแบบเงินกู้และทางวิชาการ ร่วมกับการประปานครหลวงในการปรับปรุงกิจการประปา ทั้งการก่อสร้างโรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ และโรงผลิตน้ำบางเขนในปี 2522-2543 วงเงิน 100,000 ล้านเยน และมอบเครื่องสูบน้ำจำนวน 29 เครื่องและเครื่องเติมอากาศจำนวน 4 ตัวให้การประปานครหลวงในปี 2554

กรุงเทพฯ ได้ประโยชน์ JICA ได้อะไร

การเข้ามามีบทบาทในการช่วยยกระดับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในต่างประเทศของ JICA นำมาสู่การตั้งคำถามว่า ญี่ปุ่นมีจุดประสงค์อะไร ทั้งนี้ JICA ไม่ได้ยื่นมือช่วยเหลือแค่ในไทย แต่รวมไปถึงกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ในรายงานวิจัยเรื่อง “โครงการญี่ปุ่นกับประชาคมเอเชียตะวันออก:ผลประโยชน์ ความเป็นไปได้ และผลกระทบต่อประเทศไทย” (2553) โดย กิตติ ประเสริฐสุข ตั้งข้อสังเกตว่า เป้าหมายของการเสริมสร้างสมรรถภาพให้กับประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียนก็เพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนาในภูมิภาคซึ่งเป็น ‘เครือข่ายการผลิต’  ที่สำคัญให้กับญี่ปุ่น และถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางนโยบายในการผลักดันนโยบายและแสดงบทบาทของตัวเอง  “เพื่อลดช่องว่างการพัฒนาในภูมิภาคที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการรวมตัวของประชาคมเอเชียตะวันออก เช่น การเข้ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคหรือทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น”

นอกจากนี้ การให้เงินกู้ในการลงทุนสนับสนุนต่างๆ ของทาง JICA เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเสถียรภาพของค่าเงินและเศรษฐกิจในภูมิภาค เพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ของญี่ปุ่นทั้งในภาครัฐและเอกชน ขณะเดียวกันการที่ญี่ปุ่นสนับสนุนด้านการสร้างความรู้ เช่น สนับสนุนโครงการวิจัย นรุตม์ เจริญศรี คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่วิเคราะห์ในบทความเรื่อง “ประชาคมเอเชียตะวันออกภายใต้ ERIA: บทบาทของญี่ปุ่นต่อคลังสมองกับการพัฒนาประชาคมเอเชียตะวันออก”(2559) ว่า เป็นการสร้างบทบาทผู้นำทางปัญญาระดับภูมิภาคของญี่ปุ่น

สิ่งที่ JICA คิด กับสิ่งที่กรุงเทพฯ เป็น 

JICA มีส่วนในการพัฒนากรุงเทพฯ มาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่เข้ามาส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นได้พัฒนาตาม แต่กรุงเทพฯ ก็จะยังมีปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานอยู่

ช่วงเดือนเมษายน ปี 2564 ไทยมีหนี้สาธารณะราว 8,593,834 ล้านบาท โดยเป็นหนี้จากต่างประเทศ 159,775.70 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.86 ของหนี้สาธารณะทั้งหมด คิดเป็นหนี้ที่กู้จากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่าน JICA สูงถึง 101,301.49 ล้านบาท หรือคิดเป็น 63.40% โดยมีทั้งส่วนที่รัฐบาลไทยเป็นผู้กู้โดยตรง ส่วนที่รัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันให้รัฐวิสาหกิจนำเงินมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ และส่วนที่เป็นโครงการไตรภาคีที่กู้ร่วมกับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เม็ดเงินของ JICA ที่หลั่งไหลเข้ามาพัฒนากรุงเทพฯ ยกระดับให้เมืองแห่งนี้ดีขึ้นไหม สุวิชญ โรจนวานิช อดีตที่ปรึกษาด้านการตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เคยแสดงความเห็นผ่านบทความ ’เงินกู้รัฐบาลญี่ปุ่น ลมใต้ปีกของการพัฒนาประเทศไทย’ ไว้ว่า

“โครงสร้างพื้นฐานในประเทศเกือบทั้งหมดใช้เงินกู้จากญี่ปุ่น ด้วยความที่อัตราดอกเบี้ยต่ำและเป็นประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุด”

อย่างไรก็ตามไทยก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นทุกปี มหานครเทพสร้างเต็มไปด้วยโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ทั้งประเทศควรจะมี แต่ไม่ได้รับการต่อยอดหรือสร้างมาตรฐานใหม่ได้ดังที่ควรจะเป็น

ไม่ว่าจะเป็นขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ ทั้งรถไฟฟ้าที่ JICA สนับสนุนทุนและองค์ความรู้ทางวิชาการในการวางรากฐานนับตั้งแต่ปี 2542 หรือรถเมล์ ที่ JICA สนับสนุนการศึกษาการเดินรถโดยสารไฟฟ้าให้กับ ขสมก. แต่ปัจจุบันระบบขนส่งต่างๆ ก็ยังเชื่อมต่อกันได้ไม่ดีพอ และประชาชนยังต้องแบกรับค่าเดินทางที่แพง สวนทางกับค่าแรงขั้นต่ำที่ยังคงเท่าเดิมมา 2 ปีแล้วในวันที่ค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อยๆ

หรือด้านปัญหาน้ำเสีย แม้ JICA จะมีบทบาทในการวางโครงสร้างการบำบัดน้ำเสียในกรุงเทพฯ มาตั้งแต่การจัดทำแผนหลักระบบบำบัดน้ำเสีย พ.ศ. 2524 รวมไปถึงการสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการบำบัด และนำเสนอการแก้ปัญหาโดยการใช้ท่อแยกระหว่างท่อน้ำทิ้งและน้ำฝน ตามแบบที่ประเทศญี่ปุ่นทำและสามารถแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียได้ แต่ในปัจจุบัน กรุงเทพฯ ยังคงใช้ระบบท่อรวมอยู่ และแม้จะมีจำนวนโรงบำบัดน้ำเสีย 24 แห่ง รองรับการบำบัดน้ำเสียกว่า 1,136,800 ลบ.ม./วัน แต่ยังคงมีน้ำเสียกว่า 1,228,604 ลบ.ม./วัน ที่ไม่ได้รับการบำบัด

อาจบอกได้ว่า กว่า 68 ปีที่ผ่านมา ผู้ช่วยสร้างกรุงเทพไม่ได้มีเพียงทวยเทพ ผู้ว่าฯ หรือรัฐบาลกลางเท่านั้น แต่ยังมีหน่วยงานต่างประเทศอย่าง JICA ที่มาช่วยวางระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของกรุงเทพฯ และความช่วยเหลือดังกล่าวยังคงดำเนินมาถึงปัจจุบัน

อ้างอิง

คุณอาจสนใจ