จากกระแสในโซเชียลมีเดียที่คนรุ่นใหม่รู้สึกหมดหวังต่อการบริหารประเทศ จนเกิดประเด็นการชักชวนกันย้ายไปอยู่ต่างประเทศ ตามมาด้วยการสร้างกรุ๊ปในเฟซบุ๊กชื่อ ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากภายในเวลาอันรวดเร็ว โดยมีสมาชิกในกรุ๊ปกว่า 7 แสนคนภายในเวลา 3 วันที่ก่อตั้งกรุ๊ป (ก่อนที่ต่อมาจะเปลี่ยนชื่อกรุ๊ปเป็น ‘โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย’) และได้รับการพูดถึงทั้งในสื่อและโซเชียลมีเดียเป็นอย่างมาก ทั้งยังมีการตั้งกรุ๊ปเฉพาะของกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่อยากย้ายประเทศ เช่น หมอ พยาบาล วิศวกร
เมื่อดูความนิยมในการตั้งกระทู้ในกรุ๊ป ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ พบว่าประเทศที่ได้รับการกล่าวถึงมีทั้งสหรัฐอเมริกา ประเทศในโซนยุโรปอย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร หรือในโซนสแกนดิเนเวียที่ขึ้นชื่อเรื่องรัฐสวัสดิการและคุณภาพชีวิตทั้งฟินแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ หรือประเทศในแถบเอเชียอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน รวมไปถึงทวีปออสเตรเลีย อย่างออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์
Rocket Media Lab ได้ทำข้อมูลเปรียบเทียบประเทศต่างๆ ที่ถูกพูดถึงในกรุ๊ป ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ ทั้งเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำ (อ้างอิงตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 4 พฤษภาคม 2564) ราคานม 1 ลิตร เพื่อสะท้อนอัตราค่าครองชีพ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายประจำที่ต้องจ่ายแก่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประกันสังคม ประกันสุขภาพ และค่าใช้จ่ายพื้นฐานอื่นๆ ที่ต้องจ่ายแก่รัฐเพื่อนำไปจัดสวัสดิการสังคม โดยอ้างอิงจากเว็บไซต์ทางการและไม่เป็นทางการของแต่ละประเทศ
จากข้อมูลพบว่าราคานมขนาด 1 ลิตร (อ้างอิงจาก globalproductprices.com) แตกต่างกันไม่มากนัก ในขณะที่ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียที่มีค่าแรงขั้นต่ำในอัตราสูงนั้น ก็จะพบว่ามีอัตราภาษีแบบก้าวหน้าที่สูงมากเช่นเดียวกัน และมีระบบภาษีที่ซับซ้อนทั้งภาษีที่ต้องจ่ายให้รัฐบาลกลางและภาษีส่วนท้องถิ่น ในขณะที่ระบบประกันสังคม หรือระบบประกันสุขภาพ ก็มีความแตกต่างกันออกไป ทั้งในแบบที่รวมอยู่ในภาษีที่ต้องจ่าย แบบที่ต้องจ่ายเพิ่ม หรือแม้กระทั่งการสมทบของนายจ้างก็มีตัวเลขที่แตกต่างกัน ซึ่งระบบต่างๆ ในแต่ละประเทศนั้นส่งผลถึงรายได้สุทธิของประชาชนในประเทศนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม เพียงแค่ค่าแรงขั้นต่ำ ราคานม อัตราภาษี ประกันสังคม ประกันสุขภาพ และค่าใช้จ่ายพื้นฐานอื่นๆ ที่ต้องจ่ายแก่รัฐเพื่อจัดสรรสวัสดิการสังคม เท่าที่ Rocket Media Lab ได้ทำข้อมูลในการนำเสนอในครั้งนี้ ไม่อาจวัดได้อย่างสมบูรณ์ว่าประเทศใดน่าจะย้ายไปอยู่มากกว่ากัน เพราะยังมีตัวแปรอื่นๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องค่าใช้จ่ายโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นค่าศึกษาเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล (ส่วนต่างหรือส่วนเกินจากระบบประกันสุขภาพของรัฐ) ค่าที่พักอาศัย ค่าเดินทางขนส่งมวลชน ฯลฯ หรือที่ไม่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายที่เป็นตัวเงินโดยตรง เช่น คุณภาพอากาศ คุณภาพเมืองและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หรือแม้กระทั่งกฎระเบียบในการรับชาวต่างชาติเข้ามาเป็นพลเมือง
นอกจากนี้ข้อมูลชุดนี้ยังเป็นเพียงข้อมูลมาตรฐาน ที่อาจไม่ครบถ้วนในทุกประเภทของค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานที่ต้องจ่ายให้แก่รัฐ เช่น ในบางประเทศอาจมีค่าภาษีวิทยุและโทรทัศน์ รวมไปถึงอาจมีความคลาดเคลื่อนของตัวเลขและข้อมูลซึ่งแปรผันตามท้องที่ หรือมีการปรับใหม่ หรือแม้กระทั่งจากความผิดพลาดในการหาข้อมูลเอง ซึ่งทาง Rocket Media Lab พร้อมปรับแก้ข้อมูลเพื่อความสมบูรณ์ถูกต้องในการนำไปใช้หรืออ้างอิงในโอกาสต่อไป โดยสามารถแจ้งได้ที่ contact.rocketmedialab [at] gmail.com
ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://tinyurl.com/tablesforwheretogo