Connect with us

Hi, what are you looking for?

politics

สำรวจสถานการณ์ผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง

Image by MOM from Pixabay

แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่าโศกนาฏกรรมจากการกราดยิงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นที่ นครราชสีมา หนองบัวลำภู หรือแม้กระทั่งล่าสุดที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ ว่าผู้ก่อเหตุมีความเชื่อมโยงกับโรคจิตเวชหรือไม่ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงลักษณะนี้ขึ้น สังคมมักเชื่อมโยงไปถึงอาการป่วยทางจิตของผู้ก่อเหตุที่อาจจะเข้าข่ายเป็นผู้ป่วยจิตเวชได้ ปัญหาการก่อความรุนแรงของผู้ป่วยจิตเวชเป็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในสังคมโลกและสังคมไทยเอง 

เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) Rocket Media Lab ชวนมาสำรวจสถานการณ์ผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรงในประเทศไทย โดย กรมสุขภาพจิต จัดประเภทผู้ป่วยนี้ว่า ผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (Serious Mental Illness with High Risk to Violence: SMI-V)  ซึ่งหมายถึง ผู้ป่วยด้วยโรคจิตเวชที่มีความผิดปกติทางความคิด อารมณ์หรือพฤติกรรม ความเจ็บป่วยทางจิตเวชดังกล่าวส่งผลต่อความเสี่ยงต่อพฤติกรรมรุนแรงหรือทำให้เกิดความทุพพลภาพรุนแรง มีผลรบกวนต่อการใช้ชีวิตปกติจำเป็นต้องได้รับการเฝ้าระวังและดูแลเพื่อป้องกันการกำเริบซํ้า มากกว่าผู้ป่วยที่วินิจฉัยด้วยโรคเดียวกัน 

โดยมีลักษณะพฤติกรรมความรุนแรงเข้าข่ายที่ถือว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง สามารถแบ่งตามเกณฑ์ดังนี้

1. มีประวัติทำร้ายตัวเองด้วยวิธีรุนแรงมุ่งหวังให้เสียชีวิต

2. มีประวัติทำร้ายผู้อื่นด้วยวิธีรุนแรง/ก่อเหตุรุนแรงทำให้หวาดกลัว สะเทือนขวัญในชุมชน

3. มีอาการหลงผิด มีความคิดทำร้ายตนเอง/ผู้อื่นให้ถึงแก่ชีวิตหรือมุ่งร้ายผู้อื่นแบบเฉพาะเจาะจง เช่น ระบุชื่อบุคคลที่จะมุ่งทำร้าย

4. เคยมีประวัติก่อคดีอาญารุนแรง (ฆ่า พยายามฆ่า ข่มขืน วางเพลิง)

กรมสุขภาพจิตได้เริ่มมีการจัดการระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรงในปี 2559 เป็นต้นมา ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ของสถาบัน/โรงพยาบาลจิตเวช สังกัดกรมสุขภาพจิต ระหว่างเดือนตุลาคม 2558 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พบว่า มีผู้ป่วยจิตเวชที่ได้รับการคัดกรองและลงทะเบียนเป็นผู้ป่วย SMI-V จาก ปี 2558 จนถึงปี 2561 จำนวนสะสม 13,194 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย จำนวน 8,245 คน (ร้อยละ 62.49) เป็นเพศหญิงจำนวน 4,949 คน (ร้อยละ 37.51) พบมากที่สุดในช่วงอายุ 26-45 ปีจำ นวน 6,977คน (ร้อยละ 52.89) รองลงมาคือช่วงอายุ 46 – 59 ปีจำนวน 3,079 คน (ร้อยละ 23.34)

และเมื่อพิจารณาผู้ป่วย SMI-V จำแนกตามกลุ่มโรค พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยกลุ่มโรคจิตเภท พฤติกรรมแบบโรคจิตเภท และโรคหลงผิดมากที่สุด จำนวน 5,516 คน (ร้อยละ 43.22) รองลงมาเป็นกลุ่มโรคความผิดปกติทางอารมณ์ จำนวน 3,874 ราย (ร้อยละ 30.36) และกลุ่มโรคความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท จำนวน 2,213คน

และหากจำแนกตามจำแนกตามลักษณะของความรุนแรง  เป็นผู้ป่วยที่มีประวัติทำร้ายตัวเองด้วยวิธีรุนแรงมุ่งหวังให้เสียชีวิต (v1) จำนวน 7,397 คิดเป็นร้อยละ 56.80 เป็นผู้ป่วยที่มีประวัติทำร้ายผู้อื่นด้วยวิธีรุนแรง/ก่อเหตุการณ์รุนแรงในชุมชน (v2) จำนวน 3,880 คน คิดเป็นร้อยละ 29.80 เป็นผู้ป่วยที่มีอาการหลงผิด มีความคิดทำ ร้ายผู้อื่นให้ถึงแก่ชีวิตหรือมุ่งร้ายผู้อื่นแบบเฉพาะเจาะจง เช่น ระบุชื่อบุคคลที่จะมุ่งทำร้าย จำนวน 489 คน คิดเป็นร้อยละ 3.75 เป็นผู้ป่วยที่เคยมีประวัติก่อคดีอาญารุนแรง (ฆ่า พยายามฆ่า ข่มขืน วางเพลิง) จำนวน 781 คน คิดเป็นร้อยละ 6.00 และเป็นผู้ป่วยที่มีลักษณะความรุนแรงมากกว่า 1 ข้อขึ้นไป จำนวน 475 คน คิดเป็นร้อยละ 3.65

ในขณะที่ข้อมูลล่าสุดปีงบประมาณ 2566 พบว่า มีผู้ป่วย SMI-V จำนวน 22,712 คน เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 ซึ่งมีจำนวน 7,500 คน โดยแยกเป็น 

  1. ผู้ป่วยที่มีประวัติทำร้ายตัวเองด้วยวิธีรุนแรงมุ่งหวังให้เสียชีวิต จำนวน 4,549 คิดเป็นร้อยละ 60.65
  2. ผู้ป่วยที่มีประวัติทำร้ายผู้อื่นด้วยวิธีรุนแรง/ก่อเหตุการณ์รุนแรงในชุมชน จำนวน 1,813 คน คิดเป็นร้อยละ 24.17
  3. ผู้ป่วยที่มีอาการหลงผิด มีความคิดทำร้ายผู้อื่นให้ถึงแก่ชีวิตหรือมุ่งร้ายผู้อื่นแบบเฉพาะเจาะจง เช่น ระบุชื่อบุคคลที่จะมุ่งทำร้าย จำนวน 743 คน คิดเป็นร้อยละ  9.91
  4. ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติก่อคดีอาญารุนแรง (ฆ่า พยายามฆ่า ข่มขืน วางเพลิง) จำนวน 395 คน คิดเป็นร้อยละ 5.27

แต่ในจำนวนผู้ป่วย SMI-V 26,089 คน  (ตัวเลขรวมผู้ป่วยจากฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขไม่ตรงกัน) พบว่าผู้ป่วย SMI-V ที่ได้รับการติดตามมีเพียง 6,192 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 23.73

โดยหากแยกจำนวนผู้ป่วยจิตเวช SMI-V ทั้งหมดที่มารับบริการในปีงบประมาณ 2566 ที่ได้รับการติดตามแบ่งเป็นรายภาคจะพบว่า ภาคใต้มีเปอร์เซ็นต์ที่ผู้ป่วยได้รับการติดตามมากที่สุด จากผู้ป่วย 1,224 คน ได้รับการติดตาม 901 คน คิดเป็นร้อยละ 73.61 รองลงมาคือภาคตะวันออกจากผู้ป่วย 1,975 คน ได้รับการติดตาม 1,026 คิดเป็นร้อยละ 51.65 ภาคเหนือ จากผู้ป่วย 1,972 คน ได้รับการติดตาม 930 คน คิดเป็นร้อยละ 47.16 ภาคกลาง จากผู้ป่วย 2,658 คน ได้รับการติดตาม 859 คน คิดเป็นร้อยละ 31.84 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากผู้ป่วย 18,108 คน ได้รับการติดตาม 2,476 คน คิดเป็นร้อยละ 13.67 และภาคตะวันตก 112 คน ได้รับการติดตาม 0 คน คิดเป็นร้อยละ 0

จะเห็นได้ว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยจิตเวช SMI-V มากที่สุด แต่กลับได้รับการติดตามน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่น ในขณะที่ภาคตะวันตก แม้จะมีผู้ป่วยน้อยแต่กลับไม่ได้รับการติดตามเลย

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ กรมสุขภาพจิตให้ความสำคัญกับการป้องกันเหตุรุนแรงจากผู้ป่วยจิตเวชมากขึ้นเรื่อยๆ นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  เปิดเผยข้อมูลเมื่อเดือนตุลาคม 2565 หลังเกิดเหตุชายคนหนึ่งซึ่งถูกระบุว่ามีอาการทางจิตเวชทำร้ายร่างกาย ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ประธานคณะก้าวหน้า กลางงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติว่า ที่ผ่านมามีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อความรุนแรงรวม 3,815 ราย โดยในจำนวนนี้มีผู้ป่วยจิตเวชก่อเหตุรุนแรงซ้ำจำนวน 510 ราย 

ในเดือนธันวาคม 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2565 เห็นชอบให้ใช้ระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V)  โดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ได้ระบุว่า ที่ผ่านมา ผู้ก่อความรุนแรงประมาณ 3% เท่านั้นที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเวช ระบบนี้จะครอบคลุมการค้นหา การส่งต่อ และการดูแลต่อเนื่องในชุมชนแบบไร้รอยต่อ เพื่อป้องกันปัญหาการก่อความรุนแรงของผู้ป่วยจิตเวชทั้งที่ได้รับการวินิจฉัยและยังไม่ได้รับการวินิจฉัย 

ดูข้อมูลได้ที่นี่

อ้างอิง

ระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์ Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข https://hdcservice.moph.go.th/hdc/main/index.php  

คู่มือระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง กรมสุขภาพจิต https://mhso.dmh.go.th/fileupload/202010061612167390.pdf  

คุณอาจสนใจ