- ปี 2564 สำนักการระบายน้ำ ตั้งงบฯ ในการขุดลอกคลอง 137,550,000 บาท จำนวน 32 คลอง แต่มีเพียง 14 คลองที่ได้รับงบฯ จำนวนรวม 55,119,000 บาท และมี 18 คลอง ที่มีการตั้งโครงการ แต่ไม่ได้รับงบฯ
- เท่ากับว่า ปี 2564 สำนักการระบายน้ำมีการขุดลอกคลองเพียง 14 คลอง จากคลองที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้งหมด 296 คลอง หรือคิดเป็น 4.7% เท่านั้น
- ปี 2565 สำนักการระบายน้ำ มีการตั้งงบฯ ขุดลอกคลองถึง 66 โครงการใน โดยตั้งงบฯ ไว้ 227,735,900 บาท แต่ไม่มีปรากฏว่ามี 57 โครงการ ที่ไม่ได้รับงบฯ (งบฯ ตั้งไว้ 178,468,900 บาท) และอีก 9 โครงการอยู่ในระหว่างการขอจัดสรรงบฯ (งบฯ ตั้งไว้ 49,267,000 บาท)
- ในแต่ละปีทุกเขตจะมีการขุดลอกคลองที่อยู่ในความรับผิดชอบ แต่งบฯ ที่จำกัด ทำให้แต่ละเขตไม่สามารถขุดลอกคลองทุกคลองได้ครบ และตัวงบฯ ก้อนนี้ที่นำมาใช้ในการจ้างเหมาขุดลอกคลอง ยังเป็นก้อนงบฯ ที่ยังต้องนำไปใช้ในส่วนอื่นร่วมอีกด้วย เช่น ขุดลอกท่อระบายน้ำ
จากประเด็นที่ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ เดินทางไปสำนักการระบายน้ำในช่วงค่ำวันที่ 3 มิถุนายน 2565 เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมเนื่องจากมีฝนตก ซึ่งมีการไลฟ์สดผ่านเพจชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ โดยในการไปสำนักการระบายน้ำในครั้งนี้ ทำให้ผู้ว่าฯ กทม. ได้สนทนาปัญหาเรื่องการขุดลอกคลองและท่อระบายน้ำกับสำนักการระบายน้ำ จนทำให้รับรู้ถึงปัญหาการขุดลอกคลองโดยผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำกล่าวในไลฟ์ว่าในปี 2565 มีการขุดลอกคลองเพียง 2 คลอง ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวกทำให้ข้อมูลเรื่องการขุดลอกคลองกลายเป็นที่สนใจในสังคม
Rocket Media Lab ชวนสำรวจการขุดลอกคลองในกรุงเทพฯ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม ผ่านการใช้งบฯ ของสำนักการระบายน้ำในปี 2565 เปรียบเทียบกับปี 2564 ว่ามีคลองไหน ได้รับงบฯ ในการขุดลอกคลองบ้าง
คลองมีเท่าไร และได้งบฯ ขุดลอกไปเท่าไร
กรุงเทพฯ มีคลอง 1,161 คลอง และคูลำกระโดง 521 คู รวมเป็น 1,682 คูคลอง
หากพิจารณาเฉพาะคลองจะพบว่าเป็นคลองที่อยู่ในการดูแลของสำนักการระบายน้ำ 296 คลอง และสำนักงานเขต 955 คลอง โดยเขตที่มีคลองมากที่สุดก็คือ ภาษีเจริญ 112 คลอง แบ่งเป็นสำนักการระบายน้ำดูแล 14 คลอง และเขตภาษีเจริญดูแล 98 คลอง
จากข้อมูลงบประมาณของสำนักการระบายน้ำ ในปี 2564 พบว่ามีการตั้งงบฯ ในการขุดลอกคลอง 137,550,000 บาท จำนวน 32 คลอง แต่มีเพียง 14 คลองที่ได้รับงบฯ จำนวนรวม 55,119,000 บาท คือ คลองภาษีเจริญ คลองหัวหมาก คลองหัวลำโพงเก่า คลองศาลาลอย คลองบึงเรือน คลองลาว คลองบ้านป่า คลองสะแก คลองบ้านขี้แก้ง คลองบางโพ คลองขรัวตาแก่น คลองกะจะ คลองศาลาลอยบน-ล่าง และคลองวัดสิงห์ และมี 18 คลอง ที่มีการตั้งโครงการ แต่ไม่ได้รับงบฯ (ในส่วนนี้ งบฯ ตั้งไว้จำนวน 82,431,000 บาท) ซึ่งเท่ากับว่าในปี 2564 สำนักการระบายน้ำมีการขุดลอกคลองเพียง 14 คลอง จากคลองที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้งหมด 296 คลอง หรือคิดเป็น 4.7% เท่านั้น
ในขณะที่ในปี 2565 สำนักการระบายน้ำ มีการตั้งงบฯ ขุดลอกคลองถึง 66 โครงการใน 66 คลอง โดยตั้งงบฯ ไว้ 227,735,900 บาท แต่ไม่มีปรากฏว่ามี 57 โครงการ ที่ไม่ได้รับงบฯ (งบฯ ตั้งไว้ 178,468,900 บาท) และอีก 9 โครงการอยู่ในระหว่างการขอจัดสรรงบฯ (งบฯ ตั้งไว้ 49,267,000 บาท)
ซึ่งหาก 9 โครงการที่อยู่ระหว่างการขอจัดสรรงบฯ ไม่ได้งบฯ นั้น ก็เท่ากับว่าในปี 2565 นี้ ไม่มีคลองใดในความรับผิดชอบของสำนักการระบายน้ำที่จะมีการขุดลอกเลย แต่จากการไลฟ์สดผ่านเพจชัชชาติ สิทธิพันธ์ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำกล่าวในไลฟ์ว่าในปี 2565 มีการขุดลอกคลองเพียง 2 คลองเพียงเท่านั้น ซึ่งยังไม่มีการการเปิดเผยข้อมูล
อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่ากรุงเทพฯ จะไม่ได้ขุดลอกคลองเลย หรือมีการขุดลอกคลองเพียง 2 คลอง เท่านั้น เพราะยังมีส่วนของคลองที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักเขต โดยจากข้อมูลจะพบว่าในแต่ละเขตจะมีโครงการขุดลอกคลองในแต่ละปีซึ่งเป็นคลองที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักเขต โดยจะใช้งบประมาณจากแผนการจัดการรระบายน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม หมวดค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง หรือในหมวดค่าตอบแทนใช้สอย ซึ่งในแต่ละเขตนั้นได้ไม่เท่ากัน และในแต่ละปีก็ไม่เท่ากัน โดยในงบฯ ปี 2564 ก็จะมีการปรับลดลบฯ ลงมาจากปี 2563 และงบฯ ปี 2565 ก็มีการปรับลดลงมาจากปี 2564 อีกเล็กน้อย เช่น เขตคลองเตยในปี 2563 มีงบฯ ในส่วนการระบายน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม 10,911,300 บาท ในปี2564 เหลือเพียง 8,775,400 บาท และในปี 2565 เหลือเพียง 8,470,200 บาท ซึ่งจำนวนนี้รวมทั้งค่าใช้จ่ายบุคลากรและงานดำเนินการ ซึ่งงานดำเนินการได้งบฯ เพียง 30% เท่านั้น อีก 70% เป็นงบฯ บุคลากร
ในส่วนของการใช้งบฯ ลอกคูคลองของสำนักงานเขตนั้น ตัวอย่างเช่น ในงบฯ ปี 2565 ของเขตจอมทองมีการมีการจ้างเหมาขุดลอกคลองโพธิ์จากถนนพระรามสอง ถึงพระรามสอง ซอย 3 เป็นจำนวนเงิน 249,887 บาท หรือเขตลาดพร้าวที่มีการจ้างเหมาขุดลอกคลองแยกวัดลาดปลาเค้า จากลำรางสาธารณะ หลังหมู่บ้านธานี 2 ถึงคลองวัดลาดปลาเค้า จำนวนเงิน 720,000 บาท และจ้างเหมาขุดลอกคลองวัดลาดปลาเค้าจากถนนเกษตร-นวมินทร์ ถึงคลองหลุมไผ่ จำนวนเงิน 2,600,000 บาท
จะเห็นได้ว่าในแต่ละปีทุกเขตจะมีการขุดลอกคลองที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักเขตทั้ง 50 เขตอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าด้วยงบฯ ที่จำกัด ทำให้แต่ละเขตไม่สามารถขุดลอกคลองทุกคลองในความรับผิดชอบของเขตตนเองได้ และตัวงบฯ ก้อนนี้ที่นำมาใช้ในการจ้างเหมาขุดลอกคลอง ยังเป็นก้อนเงินงบฯ ที่ยังต้องนำไปใช้ในส่วนอื่นร่วมอีกด้วย เช่น ขุดลอกท่อระบายน้ำ จึงยิ่งทำให้เขตมีการขุดลอกคลองน้อยลงไปอีก
จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ปัจจัยเรื่องงบประมาณ ส่งผลให้เกิดการขุดลอกคลองน้อย ทั้งคลองในความรับผิดชอบของสำนักการระบายน้ำ กทม. และคลองในความรับผิดชอบของสำนักงานเขต
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา (4 มิ.ย. 65) เพจ “กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์” ได้มีการชี้แจงข้อมูลออกมาว่า
“ตั้งแต่ปี 2563 ได้รับงบประมาณดำเนินการไป 138 คลอง ความยาวรวม 282,355 เมตร ต่อมาในปี 2564 ได้งบขุดลอก 42 คลอง รวมระยะทาง 88,977 เมตร ส่วนในปี 2565 นี้ได้รับงบประมาณขุดลอก 42คลอง รวมระยะทาง 60,134 เมตร แบ่งเป็นงบประมาณประจำปี 32 คลอง จะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2565 และส่วนที่สภากรุงเทพมหานครเห็นชอบให้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 10 คลอง ขณะนี้อยู่ระหว่างหาตัวผู้รับจ้าง คาดว่าจะได้ตัวผู้รับจ้างภายในเดือนมิถุนายนนี้ และจะดำเนินการแล้วเสร็จ ภาย 90 วัน หากดำเนินการขุดลอกคลองแล้วเสร็จจะเพิ่มประสิทธิภาพการรองรับและระบายน้ำในคลองเมื่อมีฝนตก”
ไม่ใช่แค่ขุดลอก คลองยังต้องสวยและต้องเป็นจุดเช็กอินถ่ายรูปได้ด้วย
หนึ่งในยุทธศาสตร์การสร้างให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครอาเซียนก็คือ การเป็น ‘มหานครสีเขียวสะดวกสบาย’ ซึ่งการจะบรรลุวัตถุประสงค์ตามยุทธศาสตร์นี้หนึ่งในแผนการดำเนินงานก็คือการปรับภูมิทัศน์ของคลองในกรุงเทพฯ จากยุทธศาสตร์ดังกล่าวถึงทำให้เกิดโครงการ ‘ปรับปรุงภูมิทัศน์คลองสายหลักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร’ ซึ่งการปรับปรุงภูมิทัศน์ของคลองในแต่ละเขตนี้ยังต้อง “ทำให้เป็น Landmark แห่งใหม่ที่สะท้อนหรือบ่งบอกถึงเรื่องราวและอัตลักษณ์ของชุมชนเพื่อให้เป็นจุด Check-in ของนัก ท่องเที่ยงและสัญจรไปมา” อีกด้วย
โดยโครงการนี้จะเป็นโครงการที่สำนักเขต ‘ไม่ใช้งบประมาณ’ แต่จะเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน โดยแต่ละหน่วยงานของกทม. มีภารกิจร่วมกันดังนี้
- สำนักการระบายน้ำ จะเป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบ
- สำนักสิ่งแวดล้อม พัฒนาพื้นที่สีเขียวตามแนวคลองและรักษาความสะอาดให้สวยงาม
- สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กำหนดพื้นที่เป้าหมาย คัดเลือกย่านที่มีความสำคัญ
- สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กำหนดกิจกรรมให้เหมาะสมในเขตพื้นที่นั้นๆ
- สำนักการจราจรและขนส่ง พัฒนาเส้นทางการสัญจร และจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่เหมาะสมเพิ่มเติม
- สำนักเทศกิจ ดูแลความเรียบร้อยความปลอดภัยในพื้นที่
- สำนักงานประชาสัมพันธ์ ประชาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆ
- สำนักงานเขต ทำงานร่วมกับสำนักต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
แม้จะเป็นโครงการที่กำหนดไว้ว่า ‘ไม่ใช้งบประมาณ’ แต่ในรายละเอียดการทำงานเพื่อให้บรรุเป้าหมายนั้น สำนักต่างๆ สามารถระบุโครงการ/กิจกรรมพร้อมรายละเอียด รูปแบบและแบบประมาณราคาเตรียมขอจัดสรรงบประมาณได้ เช่น การติดไฟส่องสว่างและกล้อง CCTV เพื่อความปลอดภัย หรือการปรับภูมิทัศน์ให้มีความสวยงาม
ซึ่งสุดท้ายแล้วในภาพรวม เราก็จะเห็นโครงการตามแนวยุทธศาสตร์นี้ที่ใช้งบฯ มหาศาล อย่างคลองโอ่งอ่างที่เสร็จสิ้นไปแล้ว หรือโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นที่อยู่ในแผนงบฯ ปี 2565 อย่าง โครงการพัฒนาคลองผดุงกรุงเกษม ที่ใช้งบประมาณเฉพาะในส่วนการปรับภูมิทัศน์กว่าร้อยล้านบาท โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองคูเมืองเดิม ด้วยงบฯ 200 ล้านบาท โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ คลองหลอดวัดราชนัดดาและคลองหลอดวัดราชบพิธ อีก 64 ล้านบาท
ซึ่งหากพิจารณาในประเด็นการขุดลอกคองเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำควบคู่ไปด้วย ก็จะทำให้เกิดคำถามว่า กทม. จะใช้งบฯ ลอกคลองเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม หรือทำคลองให้สวยเพื่อเป็นจุดเช็กอิน หรือ กทม. จะให้น้ำหนักการใช้งบฯ ประมาณกับคูคลองอย่างไร เพื่อแก้ปัญหาและเป็นการใช้งบฯ ให้ดีและได้ประโยชน์มากที่สุด
ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ : https://rocketmedialab.co/database-canal-dredging/
อ้างอิง
- ข้อบัญญัติงบประมาณ กทม. ปี 2564 และ 2565
- ข้อบัญญัติงบประมาณ สำนักการระบายน้ำ กทม. ปี 2564 และ 2565
- ข้อบัญญัติงบประมาณรายเขต กทม.