จากกรณีการเสียชีวิตของ นายแพทย์กฤตไท ธนสมบัติกุล อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “สู้ดิวะ” เนื่องด้วยมะเร็งปอดระยะสุดท้าย เมื่อปลายปี 2566 และสถานการณ์ไฟไหม้ป่าที่ภาคเหนือ ซึ่งเกิดขึ้นสม่ำเสมอทุกช่วงต้นปี ประกอบกับสถานการณ์ฝุ่นควันข้ามแดนจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ส่งผลให้เชียงใหม่ติดอันดับเมือง PM2.5 สูงสุดในโลก ทำให้ประเด็นฝุ่น PM2.5 กลับมาเป็นประเด็นระดับชาติอีกครั้ง พร้อมด้วยแผนรับมือฝุ่น จากภาคส่วนต่างๆ Rocket Media Lab และ สสส. พาไปสำรวจประเด็นต่างๆ ที่น่าจับตา ว่าในปี 2567 ที่ผ่านมา คนไทยแต่ละภาคต้องเจอกับอะไรบ้าง และอะไรคือสิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปในปี 2568 นี้
ภาคเหนือ (9 จังหวัด): จับตาไฟป่า แต่ลืมจับตาการเผาแบบอื่นๆ
![](https://rocketmedialab.co/wp-content/uploads/2025/02/info_กราฟแท่งเผาป่า_เหนือ-1024x1024.png)
ในปี 2566 เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ไฟป่ามากเป็นอันดับสามของประเทศ และเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ที่เกิดไฟป่าในเขตอนุรักษ์มากที่สุดในประเทศนับแต่ปี 2556 การเกิดไฟป่าอย่างหนักในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2566 ในเชียงใหม่ จนทำให้ครองแชมป์เมืองคุณภาพอากาศแย่ที่สุดของโลก ทำให้ปัญหาไฟป่าในภาคเหนือกลายเป็นประเด็นที่ภาครัฐต้องออกมาตรการป้องกันและแก้ไขโดยด่วน โดยเฉพาะการตั้งเป้าไว้ว่า ในปี 2567 ต้องลดการเผาไหม้ในป่าอนุรักษ์และป่าสงวน 50% เช่นเดียวกับพื้นที่การเกษตรต้องลดการเผาลงให้ได้ 50% ในพื้นที่ 17 จังหวัดในภาคเหนือ
![](https://rocketmedialab.co/wp-content/uploads/2025/02/info_เผาป่า_treemap_เหนือ-1024x1024.png)
แม้จุดความร้อนในภาคเหนือ (9 จังหวัด) จะลดลง 75,007 จุดในเดือนพฤศจิกายน 2565 – ตุลาคม 2566 เป็น 59,821 จุดในเดือนพฤศจิกายน 2566 – ตุลาคม 2567 แต่หากพิจารณาจากข้อมูลพื้นที่การเผา (burn scar) ระหว่างมกราคม-พฤษภาคม 2566 และ มกราคม-พฤษภาคม 2567 ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) จะพบว่ากลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จาก 6,202,042 ไร่ในปี 2566 เป็น 6,269,701 ไร่ในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้น 1.09% และแม้พื้นที่เผาไหม้ป่าจะลดลงจาก 4,605,045 ไร่ในปี 2566 เป็น 1,827,813 ไร่ในปี 2567 หรือลดลง 60.31% รวมไปถึงข้าวโพด จาก 701,312 ไร่ในปี 2566 เป็น 533,147 ไร่ในปี 2567 หรือลดลง 23.98% แต่กลับพบการเผาในพื้นที่เกษตรอื่นๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จาก 580,162 ไร่ในปี 2566 เป็น 2,486,157 ไร่ในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้น 328.53% และพื้นที่เผาไหม้อ้อยเพิ่มขึ้น จาก 11,999 ไร่ เป็น 45,791 ไร่ หรือเพิ่มขึ้น 281.62% จะเห็นได้ว่าในขณะที่มาตรการของรัฐและการทำงานของหน่วยงานในพื้นที่มุ่งเป้าไปที่ไฟป่า ซึ่งเป็นปัญหาหลักของภาคเหนือในปี 2566 แต่ในพื้นที่อื่นๆ กลับถูกละเลย จนท้ายที่สุดแล้วในปี 2567 พื้นที่การเผาไหม้รวมในภาคเหนือ (9 จังหวัด) ไม่ได้ลดลงตามที่ตั้งเป้าไว้ และยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย
พื้นที่และจังหวัดในภาคเหนือ (9 จังหวัด) ที่ต้องจับตา
พื้นที่ที่ต้องจับตาในปี 2568: พื้นที่เกษตรอื่นๆ โดยเฉพาะจังหวัดลำปาง แม่ฮ่องสอนและน่าน
จังหวัดที่ต้องจับตาในปี 2568: จังหวัดแพร่ มีจำนวนพื้นที่เผาไหม้เพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นในภาค โดยเพิ่มขึ้นจาก 319,262 ไร่ในปี 2566 เป็น 689,195 ไร่ในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้น 115.87%
ภาคตะวันตก: แม้พื้นที่ป่าจะมาก แต่เผาพื้นที่เกษตรมากที่สุด
![](https://rocketmedialab.co/wp-content/uploads/2025/02/info_เผาป่า_treemap_ตะวันตก-1024x1024.png)
ในขณะที่ภาคตะวันตกซึ่งมีพื้นที่ติดกับภาคเหนือและได้รับผลกระทบจากหมอกควันจากไฟป่าที่เชียงใหม่ในปี 2566 พบว่า พื้นที่เผาไหม้รวมเพิ่มขึ้น 54.39% จาก 1,721,069 ไร่ในปี 2566 เป็น 2,657,134 ไร่ในปี 2567 โดยเฉพาะพื้นที่เผานาข้าวที่เพิ่มขึ้นสูงสุด จาก 15,274 ไร่ในปี 2566 เป็น 633,787 ไร่ในปี 2567 หรือเพิ่มถึง 4,049.45% รองลงมาก็คือพื้นที่เกษตรอื่นๆ เพิ่มขึ้น จาก 129,599 ไร่ในปี 2566 เป็น 914,014 ไร่ในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้น 605.26% ส่วนพื้นที่เผาไหม้ป่า ก็เพิ่มจาก 1,281,688 ไร่ในปี 2566 เป็น 548,809 ไร่ในปี 2567 หรือลดลง 57.18% ในขณะที่ข้าวโพด เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย จาก 246,936 ไร่ในปี 2566 เป็น 268,188 ไร่ในปี 2567 หรือคิดเป็น 8.61%
![](https://rocketmedialab.co/wp-content/uploads/2025/02/info_กราฟแท่งเผาป่า_ตะวันตก-1024x1024.png)
ส่วนพื้นที่ที่มีการเผาลดลงก็คืออ้อย โดยลดลงจากจาก 28,230 ไร่ในปี 2566 เหลือ 220 ไร่ในปี 2567 หรือลดลงถึง 99.22%
พื้นที่และจังหวัดในภาคตะวันตกที่ต้องจับตา
พื้นที่ที่ต้องจับตาในปี 2568: พื้นที่เกษตรอื่นๆ โดยจังหวัดตากและกาญจนบุรี
จังหวัดที่ต้องจับตาในปี 2568: เพชรบุรี มีจำนวนพื้นที่เผาไหม้เพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นในภาค โดยเพิ่มขึ้น 3,004.01% โดยเพิ่มจาก 3,146 ไร่ ในปี 2566 เป็น 97,652 ไร่ในปี 2567
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: ภาคที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในเรื่อง PM2.5 แต่การเพิ่มขึ้นของพื้นที่เผาไหม้สูงสุด
แม้จากตัวเลขพื้นที่เผาไหม้ในปี 2567 ภาคเหนือ (9 จังหวัด) ยังคงเป็นภาคที่มีพื้นที่การเผาไหม้มากที่สุด ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นเป็นอันดับสอง คือมีพื้นที่เผาไหม้ 5,692,127 ไร่ แต่หากพิจารณาถึงการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เผาไหม้เปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าจะพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นมีอัตราการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เผาไหม้สูงสุด โดยเพิ่มถึง 506.41% จาก 938,666 ไร่ในปี 2566 เป็น 5,692,127 ไร่ในปี 2567 และสิ่งที่แตกต่างจากภาคเหนือ (9 จังหวัด) ก็คือ พื้นที่เผาไหม้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่นาข้าวมากที่สุด โดยหากเปรียบเทียบพื้นที่เผานาข้าวกับปีก่อนหน้าจะพบว่า จากพื้นที่เผานาข้าว 331,218 ไร่ในปี 2566 เป็น 2,303,924 ไร่ในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้นถึง 595.59%
![](https://rocketmedialab.co/wp-content/uploads/2025/02/info_กราฟแท่งเผาป่า_ตะวันออกเฉียงเหนือ-1024x1024.png)
ไม่เพียงแต่พื้นที่นาข้าวเท่านั้นที่มีการเผามากขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังพบว่า พื้นที่ข้าวโพดยังพบการเผาเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย จาก 28,651 ไร่ในปี 2566 เป็น 1,904,910 ไร่ในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้น 6548.67% รวมไปถึงพื้นที่การเผาป่า ที่เพิ่มขึ้น จาก 326,904 ไร่ในปี 2566 เป็น 550,849 ไร่ในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้น 68.50%
ในขณะที่พื้นที่การเผาอ้อยที่ลดลงจาก 56,167 ไร่ในปี 2566 เป็น 877 ไร่ในปี 2567 หรือลดลง 98.44%
![](https://rocketmedialab.co/wp-content/uploads/2025/02/info_เผาป่า_treemap_ตะวันออกเฉียงเหนือ-1024x1024.png)
อย่างไรก็ตามการที่พื้นที่เผารวมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในประเทศก็อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษในปี 2568 นี้
พื้นที่และจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ต้องจับตา
พื้นที่ที่ต้องจับตาในปี 2568: นาข้าว โดยเฉพาะในจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ และขอนแก่น
จังหวัดที่ต้องจับตาในปี 2568: ร้อยเอ็ด มีจำนวนพื้นที่เผาไหม้เพิ่มขึ้นมากขึ้นที่สุด โดยเพิ่ม 2,461.16% จาก 18,616 ไร่ในปี 2566 เป็น 476,786 ไร่ ในปี 2567
ภาคกลาง: เผาอ้อยลดลง แต่การเผาอย่างอื่นกลับเพิ่มสูงขึ้น
ภาคกลางเป็นภาคที่มีพื้นที่การปลูกอ้อยมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่นๆ และอ้อยยังเป็นพืชผลทางการเกษตรที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐตันละ 120 บาท เพื่อไม่ให้มีการเผาอ้อย แต่ก็เป็นพืชผลทางการเกษตรชนิดเดียวเช่นกันที่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการเผาหรือไม่เมื่อต้องส่งอ้อยเข้าหีบในโรงงาน อันจะส่งผลต่อราคาของอ้อยและมาตรการการหักเงินอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ 130 บาทต่อตันที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้พื้นที่การเผาอ้อยในภาคกลางลดลง จาก 326,151 ในปี 2566 เป็น 2,970 ในปี 2567 หรือลดลง 99.09% ไม่เพียงแค่พื้นที่การเผาอ้อยเท่านั้นที่ลดลง แต่พื้นที่ไฟป่าในภาคกลางก็ลดลงอีกด้วย จาก 698,426 ในปี 2566 เป็น 252,604 ไร่ในปี 2567 หรือลดลง 63.83%
![](https://rocketmedialab.co/wp-content/uploads/2025/02/info_กราฟแท่งเผาป่า_กลาง-1024x1024.png)
แต่ถึงอย่างนั้นกลับพบว่าพื้นที่เผาไหม้ในภาคกลางโดยรวมเพิ่มขึ้น 92.80% จาก 2,321,411 ไร่ในปี 2566 เป็น 4,475,787 ไร่ในปี 2567 โดยพื้นที่เผาไหม้ที่เพิ่มขึ้นอยู่ในส่วนของข้าวโพดมากที่สุด จาก 184,701 ไร่ในปี 2566 เป็น 1,588,395 ไร่ในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้น 759.98% พื้นที่อื่นๆ จาก 26,122 ไร่ในปี 2566 เป็น 88,085 ไร่ในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้น 237.21% พื้นที่เกษตรอื่นๆ จาก 203,039 ไร่ในปี 2566 เป็น 629,905 ไร่ในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้น 210.24% และนาข้าว 882,972 ไร่ในปี 2566 เป็น 1,913,830 ไร่ในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้น 116.75%
![](https://rocketmedialab.co/wp-content/uploads/2025/02/info_เผาป่า_treemap_กลาง-1024x1024.png)
จะเห็นได้ว่าแม้พื้นที่เผาไหม้ในส่วนของข้าวโพดจะเพิ่มมากที่สุด แต่จำนวนพื้นที่ที่มีการเผาไหม้มากที่สุดในภาคกลางในปี 2567 ก็คือนาข้าว เช่นเดียวกันกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พื้นที่และจังหวัดในภาคกลางที่ต้องจับตา
พื้นที่ที่ต้องจับตาในปี 2568: นาข้าว โดยเฉพาะเฉพาะในจังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี และเพชรบูรณ์
จังหวัดที่ต้องจับตาในปี 2568: พระนครศรีอยุธยา มีจำนวนพื้นที่เผาไหม้เพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นในภาค โดยเพิ่มขึ้นถึง 2393.02% จาก 2,809 ไร่ในปี 2566 เป็น 70,029 ไร่ในปี 2567
ภาคตะวันออก: พื้นที่อุตสาหกรรมของประเทศ แต่สัดส่วนพื้นที่เผาไหม้พุ่งขึ้นสู่อันดับสอง
ภาคตะวันออกมักไม่ค่อยถูกพูดถึงในประเด็นเรื่องหมอกควันหรือฝุ่น PM2.5 มากนัก โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม เนื่องด้วยภาคตะวันออกมักจะถูกมองเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมมากกว่า ประเด็นเรื่องมลพิษทางอากาศจึงผูกติดอยู่กับภาพของโรงไฟฟ้าหรือโรงงานอุตสาหกรรมภายในภาค แต่จากข้อมูลจะพบว่าการเผาไหม้ในภาคตะวันออกเพิ่มสูงถึง 371.96% โดยเพิ่มจาก 90,787 ไร่ในปี 2566 เป็น 428,477 ไร่ในปี 2567 โดยอัตราการเพิ่มขึ้นเป็นรองแค่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น และยังพบว่าพื้นที่เผาไหม้มากที่สุดคือพื้นที่ปลูกข้าวโพดโดยเพิ่มขึ้นจาก 182 ไร่ในปี 2566 เป็น 139,717 ไร่ในปี 2567 หรือคิดเป็น 76,667.58%
![](https://rocketmedialab.co/wp-content/uploads/2025/02/info_กราฟแท่งเผาป่า_ตะวันออก-1024x1024.png)
นอกจากพื้นที่ข้าวโพดแล้ว ยังพบว่า พื้นที่เกษตรอื่นๆ ก็มีพื้นที่เผาไหม้เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มจาก 9,673 ไร่ในปี 2566 เป็น 92,721 ไร่ในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้น 858.55% พื้นที่นาข้าวจาก 43,990 ไร่ในปี 2566 เป็น 187,299 ไร่ในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้น 325.78% รวมถึงพื้นที่อื่นๆ จาก 2,461 ไร่ในปี 2566 เป็น 3,699 ไร่ในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้น 50.30%
ขณะที่พื้นที่เผาไหม้ในส่วนของป่าและอ้อยนั้นลดลงเช่นเดียวกับภาคอื่นๆ โดยพื้นที่เผาไหม้ป่า ลดลงจาก 14,903 ไร่ในปี 2566 เป็น 4,933 ไร่ในปี 2567 หรือลดลง 66.90% และพื้นที่เผาไหม้อ้อย ลดลงจาก 19,578 ไร่ในปี 2566 เป็น 107 ไร่ในปี 2567 หรือลดลงถึง 99.45%
![](https://rocketmedialab.co/wp-content/uploads/2025/02/info_เผาป่า_treemap_ตะวันออก-1024x1024.png)
พื้นที่และจังหวัดในภาคตะวันออกที่ต้องจับตา
พื้นที่ที่ต้องจับตาในปี 2568: ข้าว โดยเฉพาะในจังหวัดปราจีนบุรี
จังหวัดที่ต้องจับตาในปี 2568: ระยอง มีจำนวนพื้นที่เผาไหม้เพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นในภาค โดยเพิ่มขึ้นถึง 5,250% จาก 6 ไร่ในปี 2566 เป็น 321 ไร่ในปี 2567
ภาพรวมของประเทศไทยในปี 2567: ใครว่าเผาลดลง?
จากปริมาณฝุ่น PM2.5 ในปี 2566 รวมไปถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าที่เชียงใหม่ในปี 2566 ทำให้รัฐบาลมีมาตรการในการลดฝุ่น PM2.5 ในปี 2567 โดยตั้งตัวชี้วัดให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด 17 จังหวัดในภาคเหนือ ให้ลดการเผาไหม้ในป่าอนุรักษ์และป่าสงวน 50% เช่นเดียวกับพื้นที่การเกษตรต้องลดการเผาลงให้ได้ 50% ส่วนพื้นที่เป้าหมายรองต้องลดการเผาลง 20% และพื้นที่เกษตรอื่นๆ ให้ลดการเผาให้ได้ 10%
![](https://rocketmedialab.co/wp-content/uploads/2025/02/info_กราฟแท่งเผาป่า_ทั้งประเทศ-1024x1024.png)
แต่จากข้อมูลจะพบว่า ในภาพรวมทั้งประเทศ มีการเผาเพิ่มขึ้น 73.15% จาก 11,275,651 ไร่ในปี 2566 เป็น 19,523,235 ไร่ในปี 2567 โดยพบการเพิ่มขึ้นของพื้นที่การเผาในพื้นที่เกษตรอื่นๆ มากที่สุด จาก 996,137 ไร่ในปี 2566 เป็น 4,883,724 ไร่ในปี 2567 หรือคิดเป็น 390.27% รองลงมาก็คือ นาข้าว จาก 1,529,604 ไร่ในปี 2566 เป็น 6,054,743 ไร่ ในปี 2567 หรือคิดเป็น 295.84% ตามมาด้วยข้าวโพด จาก 1,161,779 ไร่ในปี 2566 เป็น 4,434,360 ไร่ ในปี 2567 หรือคิดเป็น 281.69% และพื้นที่อื่นๆ จาก 218,987 ไร่ ในปี 2566 เป็น 915,426 ไร่ ในปี 2567 หรือคิดเป็น 318.03%
ในขณะที่พื้นที่เผาป่านั้นลดลง จาก 6,927,021 ไร่ในปี 2566 เหลือ 3,185,017 ไร่ในปี 2567 หรือลดลง 54.02% เช่นเดียวกับอ้อย จาก 442,124 ไร่ในปี 2566 เหลือ 49,966 ไร่ในปี 2567 หรือลดลง 88.70% แต่ในกรณีของการเผาอ้อยที่มีพื้นที่การเผาลดลงอย่างมาก มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า การเก็บข้อมูลพื้นที่การเผานั้นเก็บในช่วง 1 มกราคม-31 พฤษภาคม ในขณะที่การเผาอ้อยเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตและส่งเข้าหีบในโรงงานนั้นจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป ดังนั้นตัวเลขพื้นที่การเผาอ้อยที่ลดลงอย่างมากอาจจะคลาดเคลื่อนกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น โดยรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ระบุว่าภาพรวมเฉลี่ยโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศรับซื้ออ้อยถูกเผากว่า 4 ล้านตัน คิดเป็น 21.80% ของปริมาณอ้อยที่รับเข้าหีบทั้งหมดกว่า 18 ล้านตัน เทียบเท่ากับการเผาป่ากว่า 4 แสนไร่
![](https://rocketmedialab.co/wp-content/uploads/2025/02/info_เผาป่า_treemap_ทั้งประเทศ-1024x1024.png)
หากพิจารณาเฉพาะจำนวนพื้นที่เผาไหม้ในปี 2567 จะพบว่า พื้นที่เผานาข้าวสูงที่สุด จำนวน 6,054,743 ไร่หรือคิดเป็น 31.01% ในขณะที่น้อยที่สุดคืออ้อย 49,966 หรือคิดเป็น 0.26%
และเมื่อพิจารณาเป็นรายภาคจะพบว่า ภาคที่มีพื้นที่เผาไหม้เพิ่มสูงคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเพิ่มถึง 506.41% จาก 938,666 ไร่ในปี 2566 เป็น 5,692,127 ไร่ในปี 2567 รองลงมาก็คือ ภาคตะวันออก เพิ่มขึ้น 371.96% โดยเพิ่มจาก 90,787 ไร่ในปี 2566 เป็น 428,477 ไร่ในปี 2567 ตามมาด้วยภาคกลาง มีพื้นที่เผาไหม้เพิ่มขึ้น 92.80% จาก 2,321,411 ไร่ในปี 2566 เป็น 4,475,787 ไร่ในปี 2567
ภาคตะวันตก มีพื้นที่เผาไหม้เพิ่มขึ้น 54.39% จาก 1,721,069 ไร่ในปี 2566 เป็น 2,657,134 ไร่ในปี 2567 และภาคเหนือ (9 จังหวัด) เพิ่มขึ้น 1.09% จาก 6,202,042 ไร่ในปี 2566 เป็น 6,269,701 ไร่ในปี 2567
ในขณะที่ภาคใต้นั้น มีพื้นที่เผาไหม้ลดลง 99.52% จาก 1,677 ไร่ในปี 2566 เหลือ 8 ไร่ในปี 2567
จะเห็นได้ว่าปัญหาไฟป่าและเผาในพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในปี 2567 โดยภาพรวมแล้วไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด อีกทั้งยังเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย หากในปี 2566 พื้นที่เผาที่ถูกจับตาเป็นพิเศษคือพื้นที่ป่า ข้อมูลในปี 2567 แสดงให้เห็นแล้วว่าในปี 2568 นี้ พื้นที่ที่ควรจับตาและมีมาตรการอย่างเคร่งครัดก็คือนาข้าว
![](https://rocketmedialab.co/wp-content/uploads/2025/02/info_กราฟเปรียบเทียบจุดความร้อน-1024x1024.png)
หมอกควันข้ามแดน: จุดความร้อนลด แต่นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่ม โดยเฉพาะจากกัมพูชา
อีกปัจจัยของปัญหาเรื่องฝุ่นก็คือ หมอกควันข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน จากข้อมูลจุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้านของ GISTDA ระหว่างวันที่ 1 พ.ย.2566-31ต.ค.2567 พบว่า มีจุดความร้อนในเมียนมามากที่สุด 338,943 จุด ตามด้วย สปป.ลาว 175,930 จุด และกัมพูชา 156,420 จุด อันดับสี่ คือ เวียดนาม 57,871 จุด และอินโดนีเซีย อย่างน้อย 20,752 จุด และมาเลเซีย อย่างน้อย 493 จุด (เนื่องจากไม่ปรากฏข้อมูลในปี 2567 ของอินโดนีเซียและมาเลเซีย)
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบจุดความร้อนระหว่าง 1 พฤศจิกายน 2565- 31 ตุลาคม 2566 กับ 1 พฤศจิกายน 2566-31 ตุลาคม 2567 พบว่า กัมพูชา เพิ่มขึ้น 46.96% ส่วนเวียดนามเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 4.90% ขณะที่ประเทศลาวและเมียนมา ลดลง 31.97% และ 17.88% ตามลำดับ
แม้จุดความร้อนโดยรวมในประเทศเพื่อนบ้านจะลดลง แต่กลับพบว่าการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยจากประเทศเพื่อนบ้านกลับเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2566 ไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมา ลาว และกัมพูชา รวม 1,331,428 ตัน โดยนำเข้าจากเมียนมาสูงสุด ในขณะที่ในปี 2567 เพิ่มเป็น 2,012,117 ตัน และยังเป็นการนำเข้าจากเมียนมามากที่สุดเช่นเดียวกัน
สาเหตุที่ประเทศไทยต้องนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมานั้น มาจากความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทย โดยสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ ให้ข้อมูลไว้ว่าในปี 2567 ประเทศไทยต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราว 8 ล้านตันต่อปี แต่คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร พยากรณ์ไว้ว่า ในปี 2567 ประเทศไทยจะสามารถผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศได้เพียง 4,742,139 ตัน จึงจำเป็นที่จะต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจะมีกระแสคัดค้านให้ยกเลิกการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากพบว่าจำนวนจุดความร้อนที่เกิดขึ้นอย่างมากในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว เมียนมา กัมพูชา สัมพันธ์กันกับปัญหาหมอกควันข้ามแดนและฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดในประเทศไทยที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยรายงานผืนป่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปี พ.ศ.2558-2563 ของกรีนพีซ วิเคราะห์จุดความร้อนจากภาพดาวเทียม Suomi-NPP ระบบ VIIR พบว่า 1 ใน 3 ของจุดความร้อนอยู่ในพื้นที่ปลูกข้าวโพด
![](https://rocketmedialab.co/wp-content/uploads/2025/02/info_เปรียบเทียบการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-819x1024.png)
ขณะที่เมื่อเทียบกับการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากเว็บไซต์กรมศุลกากร พบว่า ปริมาณการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2558 ถึงพฤศจิกายน 2567 พบว่า ไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมามากที่สุด 8,127,18 ตัน จากทั้งหมด 9,394,819 ตัน และไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น 1,130.50% ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด 2 ครั้ง ได้แก่ ปี 2561 กับ ปี 2562 เพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า และปี 2562 กับปี 2563 เพิ่มขึ้น 2 เท่า ปี 2567 มีปริมาณนำเข้าสูงสุด 2,012,11 ตัน
ในช่วงปี 2558-2559 ไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากลาวเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปี 2562 จนถึงปี 2567 ไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมาเป็นหลัก จาก 588,515 ตันในปี 2562 เป็น 1,750,024 ตันในปี 2567
รายงานโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เมื่อ 28 มีนาคม 2567 ระบุว่า การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมาอยู่ภายใต้ความตกลง ASEAN Trade in Goods Agreement (ATIGA) 3 ทำให้ผู้นำเข้าได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า รวมถึงต้นทุนค่าขนส่งต่ำ จึงมีความได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ ในปีเดียวกัน คณะรัฐมนตรียังคงนโยบายที่ผู้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะได้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากร ในอัตรา 0% เช่นเดิมในปี 2568
เผาก็เพิ่ม ผู้ป่วยก็เพิ่ม: ภาพรวมปัญหาสุขภาพในปี 2567 ที่อาจมีสาเหตุมาจากฝุ่นพิษ PM2.5
![](https://rocketmedialab.co/wp-content/uploads/2025/02/info_กราฟแท่งกลุ่มโรค-820x1024.png)
จากข้อมูลผู้ป่วยรายโรครายเดือน 1 พ.ย. 2566 – 31 ต.ค.2567 ของระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ (HDC) กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผู้ป่วยกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ (กลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ประกอบด้วย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคปอดอักเสบ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคต่อมทอนซิลอักเสบ โรคจมูกอักเสบเรื้อรัง โรคหลอดลมอักเสบ โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง กลุ่มโรคตาอักเสบ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ กลุ่มโรคอื่นๆ และโรคมะเร็งปอด) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดูเฉพาะจำนวนกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ (กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ประกอบด้วย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคปอดอักเสบ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคต่อมทอนซิลอักเสบ โรคจมูกอักเสบเรื้อรัง และโรคหลอดลมอักเสบ) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็สูงกว่าภาคอื่นเช่นกัน ขณะที่เมื่อดูเฉพาะตัวเลขมะเร็งปอด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นรองเพียงภาคกลาง ซึ่งห่างกันเพียง 1,252 คนเท่านั้น ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลพื้นที่เผาในปี 2567 ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เผาสูงที่สุดในประเทศ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสัดส่วนผู้ป่วยต่อประชากรแสนคน จะพบว่า ภาคเหนือ (9 จังหวัด) มีสัดส่วนผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ และโรคมะเร็งปอดมากที่สุด โดยอยู่ที่ 20,459.65 คนต่อแสนประชากรและ 616.87 คนต่อแสนประชากรตามลำดับ ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลพื้นที่การเผาในปี 2567 ที่ภาคเหนือ (9 จังหวัด) ยังครองแชมป์จำนวนพื้นที่การเผาสูงที่สุดของประเทศ ขณะที่เมื่อดูผู้ป่วยกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ พบว่า ภาคใต้ มีสัดส่วนผู้ป่วยมากที่สุด 9,471.19 คนต่อประชากรแสนคน
แม้ว่ามาตรการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 จะพุ่งเป้าไปที่ภาคเหนือเป็นพิเศษ แต่เมื่อดูข้อมูลผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 ช่วงสองปีเทียบกันแล้ว พบว่า ภาคที่เริ่มมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นคือ ภาคตะวันออก ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลพื้นที่เผาไหม้ ซึ่งภาคตะวันออกมีพื้นที่เผาไหม้เพิ่มขึ้นอยู่ในอันดับที่สอง รองจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยข้อมูลจำนวนผู้ป่วยรายโรครายเดือน ระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 2565 – 31 ต.ค.2566 กับ 1 พ.ย. 2566 – 31 ต.ค.2567 ของระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ (HDC) กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ภาคตะวันออก มีจำนวนผู้ป่วยกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ เพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยเพิ่ม 14.25% จาก 786,974 คนเป็น 899,133 คน จังหวัดที่น่าจับตาคือ จังหวัดสระแก้วที่มีจำนวนผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ เพิ่มขึ้นมากกว่าจังหวัดอื่นในภาค คิดเป็น 16.68% ซึ่งจังหวัดสระแก้วเป็นจังหวัดที่มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากที่สุดในภาคตะวันออก และอยู่ติดกับประเทศกัมพูชา พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่จำนวนจุดความร้อนเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วยในปีที่ผ่านมา
ขณะที่เมื่อดูเฉพาะโรคมะเร็งปอด ก็พบว่า ภาคตะวันออกเป็นภาคที่มีจำนวนผู้ป่วย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน มากที่สุดเช่นกัน โดยอยู่ที่ 14.94% โดยสระแก้ว มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่าจังหวัดอื่นในภาค คิดเป็น 15.52%
ส่วนภาคเหนือที่มักมีข่าวเรื่องมลพิษทางอากาศปรากฏว่า เป็นภาคที่มีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปอด ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.10% หรือลดลง 424 คน โดยลดลงที่จังหวัดเชียงใหม่ พะเยา และลำปาง
ขณะที่เมื่อดูเฉพาะกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ พบว่า ภาคกลาง เป็นภาคที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากที่สุด 11.47% จาก 1,141,505 คนเป็น 1,272,461 คน โดยกรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่น่าจับตา โดยเพิ่มขึ้น 43.37% จาก 82,201 คนเป็น 117,855 คนในช่วงเดียวกันของปีถัดไป แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลผู้ป่วยเดือน พ.ย.-ธ.ค.2565 ปรากฏก็ตาม
พ.ร.บ. อากาศสะอาด จะช่วยลดปัญหา PM2.5 ได้จริงไหม
ปัญหาฝุ่น PM2.5 เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน จึงต้องใช้ความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ที่ผ่านมา มีความพยายามผลักดันการออกกฎหมายเพื่อจัดการกับปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างจริงจัง โดยมีร่างกฎหมาย 7 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ 1 ฉบับ ฉบับที่พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอ 5 ฉบับ (พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์) และฉบับประชาชน โดยมีคนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 22,251 คนเป็นผู้เสนอ
โดยเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ….ทั้ง 7 ฉบับ ผ่านรัฐสภาด้วยมติ 443: 0 มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณายกร่างใหม่จาก 7 ฉบับดังกล่าว ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด เขียนข้อความผ่าน X ว่า ฝ่ายนิติบัญญัติ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาได้ราว 70% แล้ว และจะเร่งเสนอเข้าสภาภายในต้นปีหน้า
ข้อมูลจากเว็บไซต์รัฐสภา มีรายงานสรุปผลการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. สภาผู้แทนราษฎร แล้ว 44 ครั้งจนถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2567 โดยประเด็นที่มีการพิจารณาแล้ว มีเรื่องเด่น 7 เรื่อง ดังนี้
- กำหนดให้บุคคล ชุมชน และประชาชนมีสิทธิในอากาศสะอาด สิทธิในสุขภาพ และสิทธิในชีวิตอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยรัฐมีหน้าที่ทำให้เกิดการเคารพ คุ้มครอง และทำให้สิทธิดังกล่าวเกิดขึ้นจริง
- มีคณะกรรมการหลากหลายรูปแบบ ทั้งคณะกรรมการระดับชาติที่ดูแลด้านนโยบาย คณะกรรมการกำกับดูแลเพื่ออากาศสะอาด ที่จะทำหน้าที่ประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายและเป้าหมายที่กำหนด คณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งจะจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในระดับจังหวัด โดยให้สอดคล้องกับนโยบายระดับชาติ และคำนึงถึงบริบทเฉพาะของพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการเฉพาะด้าน เช่น คณะกรรมการวิชาการ คณะกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์
- เมื่อพื้นที่ใดมีปัญหามลพิษทางอากาศ อันเกิดจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ สภาพแวดล้อม หรือปัญหาข้ามพื้นที่ คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัดสามารถแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ในพื้นที่นั้นๆ อย่างเร่งด่วนได้
- กรณีมีพื้นที่ที่มีคุณภาพอากาศไม่เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพระดับประเทศหรือมีแนวโน้มเกิดมลพิษทางอากาศซึ่งอาจกระทบต่อสุขภาพหรือคุณภาพสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัดมีอำนาจประกาศให้พื้นที่นั้นเป็นเขตเฝ้าระวังมลพิษทางอากาศ และหากมีพื้นที่ใดที่มีคุณภาพอากาศเกินเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัดก็มีอำนาจประกาศให้พื้นที่นั้นเป็นเขตประสบมลพิษทางอากาศได้ด้วย
- จะมีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพระดับประเทศ มาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาดเพื่อสวัสดิภาพของสาธารณะ และดัชนีคุณภาพอากาศ โดยคณะกรรมการวิชาการเพื่ออากาศสะอาดเป็นผู้เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายร่วมเพื่ออากาศสะอาด
- มีเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกลไกตลาดและลดการปล่อยมลพิษโดยการสร้างแรงจูงใจ หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคล ผู้ประกอบการ หรือชุมชน ในการป้องกัน บำบัด ขจัด หรือลดมลพิษทางอากาศ หรือส่งเสริมให้มีอากาศสะอาด เช่น ภาษีอาการเพื่ออากาศสะอาด ค่าธรรมเนียมเพื่ออากาศสะอาด การจัดสรร การซื้อขาย และการโอนสิทธิในการระบายมลพิษทางอากาศ หลักประกันความเสี่ยงหรือความเสียหายอันเนื่องมาจากมลพิษทางอากาศ มาตรการอุดหนุน สนับสนุน หรือส่งเสริม บุคคล ผู้ประกอบการ ชุมชน หรือกิจกรรมเพื่ออากาศสะอาด
- กำหนดให้หน่วยงานรัฐบูรณาการการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดน โดยร่วมมือกับต่างประเทศ ควบคุมสินค้าเกษตรที่ก่อมลพิษ และกำหนดความรับผิดของผู้กระทำผิด
![](https://rocketmedialab.co/wp-content/uploads/2025/02/info_บทบาทของสสส-1024x1024.png)
บทบาทของ สสส.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผลักดันกระบวนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในทุกมติ ด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ผ่าน 4 กลไกหลัก ได้แก่ พลังนโยบาย พลังปัญญา พลังสังคม และการสื่อสารสังคม เพื่อเสริมหนุนความเข้มแข็งให้กับภาคประชาสังคม เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพของประชาชนอย่างยั่งยืน แบบสหวิชาชีพ อย่างบูรณาการข้ามศาสตร์
จนนำไปสู่การสร้างความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคม ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการในการแก้ปัญหาสาเหตุ PM2.5 อย่างบูรณาการ เช่น เครือข่ายสภาลมหายใจ ประกอบด้วย สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจแม่ฮ่องสอน สภาลมหายใจลำพูน สภาลมหายใจเชียงราย สภาลมหายใจลำปาง ชมรมอากาศดีที่เมืองแพร่ สภาลมหายใจพะเยา เครือข่ายรักษ์อากาศน่าน สภาลมหายใจตาก สภาลมหายใจกรุงเทพมหานคร และสภาลมหายใจกาญจนบุรี เป็นต้น ยกระดับการแก้ปัญหา PM2.5 ระดับตำบล ระดับอำเภอ นำไปสู่ข้อเสนอและปฏิบัติการทางนโยบายระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติ เช่น การบริหารจัดการไฟตามบริบทภูมิสังคม แทนการบริหารควบคุมจุดความร้อนห้ามเผาเด็ดขาด หรือ Fire Management แทน Zero Burning และ การผลักดันการแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่าพื้นที่รอยต่อจังหวัดและพื้นที่ไหม้ซ้ำซากในภาคเหนือตอนบน (ไฟแปลงใหญ่)
เชื่อมโยงการบริหารจัดการ บูรณาการ Big Data พัฒนา ปรับปรุงงานวิชาการ เสนอแนะวิธีแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เช่น การจัดประชุมทางวิชาการระดับชาติ เรื่อง มลพิษทางอากาศ PM2.5 ครั้งที่ 1 (Thailand National PM 2.5 Forum) หัวข้อ “อากาศสะอาด: ความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชน และประชาสังคม” เพื่อร่วมกันหาข้อสรุปนโยบายและมาตรการจัดการมลพิษทางอากาศ นำเสนอต่อรัฐบาล ทั้งเรื่องระบบสุขภาพ การจัดการไฟป่า ไฟในที่โล่ง พื้นที่ทางการเกษตร มลพิษข้ามแดน ฝุ่นจากอุตสาหกรรม ผลกระทบภาคธุรกิจ และการกำหนดมาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 ใหม่ให้เข้มงวดขึ้น เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศ ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยผ่านการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน
โดยมีหมุดหมายสำคัญ คือ ก้าวข้ามการจัดการแบบเดิมไปสู่การจัดการมลพิษทางอากาศแบบสุขภาพนำสังคม หรือ “สังคมอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ” เชื่อมประสานการดำเนินงานทางสถาบันการศึกษา หน้าต่างทางนโยบาย และการเคลื่อนไหวทางสังคม โยงใยกลไกและองค์กรทั้งภาคการเมือง ภาครัฐ ภาคท้องที่ท้องถิ่น ภาควิชาการ ภาคการสื่อสารสาธารณะ ภาคเอกชน และการต่างประเทศ
อ้างอิง
ข้อมูลพื้นที่เผาไหม้ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2566 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
ข้อมูลพื้นที่เผาไหม้ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2567 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
ข้อมูลจุดความร้อน 2022 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
ข้อมูลจุดความร้อน 2023 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
ข้อมูลจุดความร้อน 2024 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
ระบบรายงานสถิติ กรมศุลกากร
ดูข้อมูลที่ https://rocketmedialab.co/database-pm25-2024/
![](https://rocketmedialab.co/wp-content/uploads/2021/03/rml@2x.png)