จากการที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่รายงานผลการเลือกตั้ง 2566 อย่างไม่เป็นทางการ โดยมีผู้มาใช้สิทธิ 39,514,973 คน คิดเป็นร้อยละ 75.71 จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52,195,920 คน นอกจากนี้ยังพบว่า มีบัตรเสียรวมทั้งหมด 2,967,735 ใบ แบ่งเป็นบัตร ส.ส. เขต 1,457,899 ใบ และบัตรบัญชีรายชื่อ 1,509,836 ใบ ซึ่งก่อให้เกิดคำถามว่าทำไมบัตรเสียถึงมีจำนวนสูงมากและสูงที่สุดตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2548
#vote62 ชวนมาดูตัวอย่าง ‘บัตรเสีย’ จากอาสาสมัครที่รายงานปัญหาและความผิดปกติในการนับคะแนนการเลือกตั้ง 14 พ.ค. ที่ผ่านมา เข้ามายังระบบของ vote62 ที่อาจจะทำให้เห็นภาพว่า การที่การเลือกตั้งครั้งนี้มี ‘บัตรเสีย’ จำนวนมาก เสียเพราะอะไรกันแน่
จากรายงานปัญหาและความผิดปกติในการนับคะแนนการเลือกตั้ง 14 พ.ค. ที่อาสาสมัคร vote62 รายงานเข้ามาจำนวน 1,076 ราย จาก 74 จังหวัด พบว่ามีการรายงานปัญหาและความผิดปกติในการนับคะแนน โดยมีการขานบัตรเสียว่าดี บัตรดีกว่าเสีย จำนวน 143 ราย โดยเมื่อพิจารณาจากรายละเอียดที่อาสาสมัครเขียนบรรยายและส่งรูปประกอบเข้ามาจะพบว่า ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่จะไม่ได้แสดงบัตรเลือกตั้งให้ดูเมื่อพบว่าเป็นบัตรเสีย และไม่ชี้แจงว่าบัตรเสีย เสียเพราะอะไร
ในขณะที่ส่วนหนึ่งนั้นมีการแสดงบัตรเลือกตั้งที่ขานว่าเป็นบัตรเสีย พร้อมอธิบายว่าทำไมถึงวินิจฉัยให้เป็นบัตรเสีย ซึ่งทำให้เกิดการโต้แย้งจากอาสาสมัคร และมีการรายงานเข้ามายัง vote62 โดยในบางกรณีมีการแนบภาพบัตรเลือกตั้งที่เป็นปัญหาที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นบัตรเสียมาด้วย โดยมีตัวอย่างบางส่วนดังนี้
- “แจ้งบัตรเสียหลายบัตร ไม่ชัดเจนทั้งๆ ที่ไม่น่าจะเป็นเสีย กรณีกากบาทซ้ำเพิ่มความชัดเจน” – อาสาสมัครจากเขตเลือกตั้งที่ 10 หน่วย 41 กรุงเทพมหานคร
- “มีการกาในช่องหลายขีด” – อาสาสมัครจากหน่วยที่ 23 ศาลาอเนกประสงค์ชุมชนซอยประชาชื่นนนทบุรี 8 (ตู้ยามบริการประชาชน) นนทบุรี
- “กาเลยช่องนิดเดียวนับเสีย” – อาสาสมัครจากหน่วยเลือกตั้งหมู่บ้านพฤกษา 12/1 ต.คลองสาม ปทุมธานี
- “เจ้าหน้าที่ไม่แจ้งว่าบัตรเสียเพราะอะไร ให้เหตุผลว่า กกต.ไม่ให้แจ้ง” – อาสาสมัครจากเขตที่ 2 หน่วยเลือกตั้งที่ 9 ศาลาประชาคมบ้านหนองอิเลิง ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย
- “เจ้าหน้าที่แจ้งบัตรเสีย เนื่องจากน่าจะมีหมึกเลอะมือไปโดนช่อง 18” – อาสาสมัครจากหน่วย 74 สนามกีฬาอารีน่าพาร์ค คู้บอน 27 แยก 11 กรุงเทพมหานคร
- “มีการขีดกากบาท 2 อันทับกัน ซึ่งเป็นบัตรเสีย” – อาสาสมัครจากหน่วยเลือกตั้งที่ 8 เขต 33 กรุงเทพมหานคร
- “ขีดเลยออกมานิดเดียว ตอนแรกดื้อดึงว่าเป็นบัตรเสีย จนประชาชนหลายคนทักจึงยอมให้เป็นบัตรดี และนับบัตรเสียใหม่” – อาสาสมัครจากหน่วยเลือกตั้งที่ 8 สนามกีฬา ซอย อุดมเดช 10-11 ต.บางเมืองใหม่ อ.เมือง สมุทรปราการ
- “มีรอยตัดมากกว่า 1 จุด” – อาสาสมัครจากหน่วยเลือกตั้งที่ 15 เขต1 ชลบุรี
- “เพราะกาไม่เต็มช่องบ้าง หรือย้ำเส้นเกินไปบอกเส้นบวม” – อาสาสมัครจากเขต 2 บางรักน้อย หน้าหมู่บ้าน เพชรดา ท่าอิฐ นนทบุรี
- “บัตรบางส่วนถูกวินิจฉัยเป็นบัตรเสีย และเล่มคู่มือการกาที่ก่อให้เกิดบัตรเสียของ กกต. นำมาแสดง ไม่ตรงกับที่สื่อมวลชนประชาสัมพันธ์ไว้ก่อนหน้า หรือบางบัตรมีการกาที่ดี แต่อาจเป็นเพราะปากกา กามีขีดซ้ำจุดเดิม กลายเป็นบัตรเสีย” – อาสาสมัครจากหน่วยเลือกตั้งย่อยที่ 28 หน้าสโมสร บางแคเหนือ บางแค กทม.
- “บัตรเสียของก้าวไกลเยอะจากรูปแค่บางส่วนที่ขานบัตรเสีย” – อาสาสมัครจากชลบุรีเขต 1 หน่วยเลือกตั้ง 15-18
- “ขีดเลยช่อง ขานว่าเป็นบัตรเสีย” – อาสาสมัครจากหน่วยเลือกตั้งที่ 3 อาคารกองทุนหมู่บ้านปลวกแดง ระยอง
- “บัตรกากบาทย้ำ (คล้ายปากกาไม่ติด) แต่เจ้าหน้าที่ตัดสินเป็นบัตรเสีย” – อาสาสมัครจากหน่วยเลือกตั้งนอกเขต หน่วยที่ 5 สำนักงานเขตห้วยขวาง
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าบัตรเลือกตั้งส่วนหนึ่งที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นบัตรเสีย เกิดจากการกากบาทซ้ำทับรอยเส้นเดิม ทำให้อาจจะมีจุดตัดมากกว่าหนึ่งจุด หรือเป็นรอยขีดที่มากกว่า 2 เส้นตัดกัน ในขณะเดียวกันก็จะพบว่ามีการกากบาทเลยช่องออกไปเพียงเล็กน้อย ซึ่งทั้งสองกรณีที่มีการรายงานเข้ามานั้นถูกวินิจฉัยว่าเป็นบัตรเสีย ถึงแม้ว่าในภาพประชาสัมพันธ์ของ กกต. เองที่ออกมาก่อนหน้าการเลือกตั้งไม่นับว่าเป็นบัตรเสียก็ตาม
คำถามที่น่าสนใจก็คือในจำนวนบัตรเสียกว่า 3 ล้านใบในครั้งนี้ เป็นบัตรเสียที่เกิดจากการวินิจฉัยผิดพลาดเท่าไรกัน