- ปี 2567 ประเทศไทยมีความต้องการใช้อาหารสัตว์ประมาณ 21.30 ล้านตัน โดยใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่มากที่สุด
- ในปี 2567 พบว่าประเทศไทยมีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ประมาณ 8.91 ล้านตัน แต่ประเทศไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้เองเพียง 2.012 ล้านตัน จึงทำให้ต้องนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากต่างประเทศ 5.033 ล้านตัน ซึ่งไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่จากเมียนมา 86.99%
- แม้สหรัฐฯ จะเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อันดับหนึ่งของโลก และราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากสหรัฐฯ ต่ำกว่าราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศเพื่อนบ้านที่ไทยนำเข้าอยู่ในปัจจุบัน แต่ภาษีการนำเข้า 20% ภายใต้ WTO และต้นทุนการขนส่งที่ไกลกว่า ก็อาจจะทำให้การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากสหรัฐฯ มีราคาสูงกว่าการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะส่งผลต่อราคาเนื้อสัตว์ที่อาจจะสูงขึ้นไปด้วย
- กากถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบที่ต้องนำเข้ามากที่สุด เนื่องจากผลิตในประเทศได้น้อยที่สุด และส่วนที่ผลิตในประเทศได้นั้นก็มาจากการใช้เมล็ดถั่วเหลืองในประเทศเพียง 0.51% และมาจากเมล็ดถั่วเหลืองที่ต้องนำเข้าถึง 99.49% โดยกากถั่วเหลืองได้มาจากเมล็ดถั่วเหลืองที่นำมาสกัดเป็นน้ำมันพืชในประเทศ
- ในปี 2567 ประเทศไทยนำเข้ากากถั่วเหลือง 8.832 ล้านตัน โดยนำเข้ามาจากบราซิลมากที่สุด การที่ประเทศไทยนำเข้ากากถั่วเหลืองจากบราซิลมากกว่าเป็นเพราะเหตุผลด้านราคา ที่ราคากากถั่วเหลืองของบราซิลนั้นถูกกว่าสหรัฐฯ และมีโปรตีนมากกว่าอีกด้วย ในขณะที่ภาษีนำเข้านั้นทั้งสองประเทศเท่ากันที่ 2%
จากการที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการภาษีใหม่ โดยจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าที่อัตรา 10% และจะเก็บ “ภาษีต่างตอบแทน” (reciprocal tariff) กับประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลทางการค้า กว่า 60 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ และจะถูกเก็บภาษีสูงถึง 37% จนทำให้เกิดแนวคิดการเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ โดยไทยจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่ม หนึ่งในนั้นคือแนวคิดการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบในการทำอาหารสัตว์
Rocket Media Lab ชวนดูข้อมูลอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในประเทศไทย ว่าสุดท้ายแล้วเราควรจะนำเข้าอะไร ไม่นำเข้าอะไร จากสหรัฐฯ เพื่อต่อรองกำแพงภาษีต่างตอบแทนในครั้งนี้
อาหารสัตว์ทำมาจากวัตถุดิบอะไร และจำเป็นไหมที่ประเทศไทยต้องนำเข้า
จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย พบว่า ปี 2567 ประเทศไทยมีความต้องการใช้อาหารสัตว์ประมาณ 21.30 ล้านตัน โดยใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ดังนี้
- การเลี้ยงไก่เนื้อมากที่สุด 8.07 ล้านตัน
- หมูขุน 5.09 ล้านตัน
- ไก่ไข่ให้ไข่ 2.27 ล้านตัน
- โคนม 1.15 ล้านตัน
- หมูพันธุ์ 1 ล้านตัน
- ไก่พ่อแม่พันธุ์ 0.96 ล้านตัน
- ไก่ไข่เล็กรุ่น 0.61 ล้านตัน
- โคเนื้อขุน 0.54 ล้านตัน
- ปลา 0.54 ล้านตัน
- กุ้ง 0.51 ล้านตัน
- เป็ดเนื้อ 0.28 ล้านตัน
- เป็ดไข่ 0.25 ล้านตัน
- ไก่ไข่พ่อแม่พันธุ์ 0.02 ล้านตัน
- เป็ดพันธ์ุ 0.02 ล้านตัน

ซึ่งอาหารสัตว์ประกอบไปด้วยวัตถุดิบ คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลายข้าว กากถั่วเหลือง ปลาป่น และมันสำปะหลัง โดยในภาพรวมจะพบว่าวัตถุดิบเหล่านี้มาจากการนำเข้าประมาณ 60% และผลิตเองในประเทศอีก 40% หากแยกเป็นรายวัตถุดิบจะพบว่า
- ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลิตเอง 71.44% นำเข้า 28.56%
- กากถั่วเหลือง ผลิตเอง 43.01% นำเข้า 56.99%
- ปลาป่น ผลิตเอง 84.57% นำเข้า 15.43%
- มันสำปะหลัง ผลิตเอง 85.56% นำเข้า 14.44%
จากข้อมูลจะเห็นว่า วัตถุดิบที่ใช้ในการทำอาหารสัตว์ที่มีการนำเข้ามากที่สุดคือกากถั่วเหลือง ในขณะที่มันสำปะหลังนั้นนำเข้าน้อยที่สุด เนื่องจากมีการผลิตในประเทศได้อย่างมาก และส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ มากกว่าอุตสาหกรรมอาหารสัตว์
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในไทย มาจากที่ไหนบ้าง

จากข้อมูลในปี 2567 พบว่าประเทศไทยมีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ประมาณ 8.91 ล้านตัน แต่ประเทศไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้เองเพียง 2.012 ล้านตัน ทำให้ต้องนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากต่างประเทศ 5.033 ล้านตัน ซึ่งไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่จากเมียนมา 86.99% หรือประมาณ 1.75 ล้านตัน รองลงมาก็คือ ลาว และกัมพูชา
การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2558 ถึงพฤศจิกายน 2567 พบว่า ไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมามากที่สุด 8,127,181 ตัน จากทั้งหมด 9,394,819 ตัน และไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น 1,130.50% ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด 2 ครั้ง ได้แก่ ปี 2561 กับ ปี 2562 เพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า และปี 2562 กับปี 2563 เพิ่มขึ้น 2 เท่า ปี 2567 มีปริมาณนำเข้าสูงสุด 2,012,11 ตัน
ในช่วงปี 2558-2559 ไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากลาวเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปี 2562 จนถึงปี 2567 ไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมาเป็นหลัก จาก 588,515 ตันในปี 2562 เป็น 1,750,024 ตันในปี 2567
นอกจากนี้การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมาอยู่ภายใต้ความตกลง ASEAN Trade in Goods Agreement (ATIGA) 3 ทำให้ผู้นำเข้าได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า รวมถึงต้นทุนค่าขนส่งต่ำ จึงมีความได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ ในปีเดียวกัน คณะรัฐมนตรียังคงนโยบายที่ผู้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะได้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากร ในอัตรา 0% เช่นเดิมในปี 2568
อย่างไรก็ตาม การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านก็มาพร้อมกระแสการคัดค้านเนื่องจากพบว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านอาจสัมพันธ์กับประเด็นหมอกควันข้ามแดนจนก่อให้เกิดปัญหา PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดที่ติดกับประเทศเมียนมา ลาว และกัมพูชา
การที่ประเทศไทยมีแนวความคิดจะนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากสหรัฐฯ เพื่อใช้ต่อรองการลดกำแพงภาษีต่างตอบแทน 37% ที่สหรัฐฯ ประกาศไปก่อนหน้านี้นั้น จากข้อมูลจะพบว่าแม้สหรัฐฯ จะเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อันดับหนึ่งของโลก และราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากสหรัฐฯ ต่ำกว่าราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศเพื่อนบ้านที่ไทยนำเข้าอยู่ในปัจจุบัน แต่ภาษีการนำเข้า 20% ภายใต้ WTO และต้นทุนการขนส่งที่ไกลกว่า ก็อาจจะทำให้การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศสหรัฐฯ มีราคาสูงกว่าการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะส่งผลต่อราคาเนื้อสัตว์ที่อาจจะสูงขึ้นตามไปด้วย หากต้นทุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในการทำอาหารสัตว์สูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีแนวคิดสนับสนุนเนื่องจากการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากสหรัฐฯ อาจช่วยลดการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นส่วนของปัญหาหมอกควันข้ามแดนลงได้
นอกจากนี้ หลังจากมีกระแสแนวคิดจะนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากสหรัฐฯ เพื่อใช้ต่อรองการลดกำแพงของสหรัฐฯ สมาคมพืชเกษตรไทย ทั้ง สมาคมโรงสีข้าวไทย, สมาคมการค้าพืชไร่, สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือยื่นคัดค้านแนวความคิดนี้ โดยให้เหตุผลว่า ข้าวโพดสหรัฐฯ เป็นพืช GMO ยังมีการเผาแปลงปลูกข้าวโพดด้วย ในขณะที่ประเทศไทยห้ามปลูกพืช GMO และห้ามเผาแปลงปลูก การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากสหรัฐฯ อาจจะขัดกับกฎหมายไทย และยังสามารถใช้ข้าวเปลือกและมันสำปะหลังในประเทศมาเป็นพืชทดแทนวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้โดยไม่ต้องนำเข้า
กากถั่วเหลืองที่ใช้ทำอาหารสัตว์ในไทย มาจากที่ไหนบ้าง

กากถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการทำอาหารสัตว์ โดยสัดส่วนในการใช้อยู่ที่ประมาณ 28% แม้จะน้อยกว่าในส่วนของข้าวโพด มันสำปะหลัง ที่ถือเป็นอาหารกลุ่มที่ให้พลังงาน ส่วนกากถั่วเหลืองนั้นเป็นกลุ่มที่ให้โปรตีน แต่กากถั่วเหลืองกลับเป็นวัตถุดิบที่ต้องนำเข้ามากที่สุด เนื่องจากผลิตในประเทศได้น้อยที่สุด และส่วนที่ผลิตในประเทศได้นั้นก็มาจากการใช้เมล็ดถั่วเหลืองในประเทศเพียง 0.51% และมาจากเมล็ดถั่วเหลืองที่ต้องนำเข้าถึง 99.49% โดยกากถั่วเหลืองได้มาจากเมล็ดถั่วเหลืองที่นำมาสกัดเป็นน้ำมันพืชในประเทศ
ในส่วนของกากถั่วเหลืองที่ต้องนำเข้านั้น โดยในปี 2567 ประเทศไทยนำเข้ากากถั่วเหลือง 8.832 ล้านตัน โดยนำเข้ามาจากบราซิลมากที่สุด คิดเป็น 89.03% รองลงมาก็คือสหรัฐฯ 6.73% อาร์เจนตินา 1.90% ปารากวัย 1.23 และอื่นๆ รวม 1.11%
จากข้อมูลจะเห็นว่าประเทศไทยนำเข้ากากถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ อยู่แล้ว และสหรัฐฯ เองก็ส่งออกกากถั่วเหลืองเป็นอันดับสองของโลกรองจากประเทศจีน แต่การที่ประเทศไทยนำเข้ากากถั่วเหลืองจากบราซิลมากกว่าเป็นเพราะเหตุผลด้านราคา ที่ราคากากถั่วเหลืองของบราซิลนั้นถูกกว่าสหรัฐฯ และมีโปรตีนมากกว่าอีกด้วย ในขณะที่ภาษีนำเข้านั้นทั้งสองประเทศเท่ากันที่ 2%
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองที่ใช้ทำกากถั่วเหลืองมาจากบราซิลมากที่สุดด้วย รองลงมาคือสหรัฐฯ นอกจากกากถั่วเหลืองแล้วการที่จะนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ มากขึ้น ก็มีความเป็นไปได้เหลือเพียงการแข่งขันทางด้านราคาเท่านั้น เนื่องจากสหรัฐฯ ผลิตถั่วเหลืองได้ 118.84 ล้านตัน ถือเป็นประเทศที่ส่งออกอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล
นอกจากนี้ยังพบว่าแนวคิดการนำเข้ากากถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ เป็นแนวคิดที่ได้รับการสนับสนุนมากที่สุดในกรณีที่หากทำราคาได้ถูกกว่าการนำเข้าบราซิล เพราะประเทศไทยเองผลิตกากถั่วเหลืองได้น้อยมาก ต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก จึงอาจไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทย
ปลาป่นที่ใช้ทำอาหารสัตว์ในไทย มาจากที่ไหนบ้าง

ปลาป่นเป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบที่จำเป็นในการทำอาหารสัตว์ เนื่องจากให้โปรตีนสูงและมีกรดอะมิโนที่จำเป็นกับสัตว์ รวมถึงมีแคลเซียมและวิตามินสูงมาก และยังย่อยง่ายมากเหมาะกับสัตว์เลี้ยงแรกเกิด ในการทำอาหารสัตว์นั้นใช้ปลาป่นเป็นวัตถุดิบประมาณ 3%
จากข้อมูลปี 2567 พบว่า ประเทศไทยต้องการปลาบ่น 0.61 ล้านตัน ผลิตได้เอง 0.28 ล้านตัน นำเข้า 0.051 ล้านตัน นอกจากนี้ยังพบว่ามีการส่งออกอีกด้วย 0.18 ล้านตัน โดยในส่วนของการนำเข้านั้นจะพบว่ามีการนำเข้าจากเมียนมามากที่สุด 77.24% รองลงมาคือฟิลิปปินส์ 6.07% มาเลเซีย 6.07% เวียดนาม 3.13% และอื่นๆ 7.49% ซึ่งทั้งหมดนั้นภาษีนำเข้า 0%
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความต้องการปลาบ่นในประเทศไม่ได้มาก และผลิตได้เองในประเทศอย่างเพียงพออยู่แล้ว จึงไม่มีประเด็นการนำเข้าปลาบ่นจากสหรัฐฯ และสหรัฐฯ เองก็เป็นประเทศที่ส่งออกปลาน้อยกว่าประเทศไทย โดยในปี 2566 ไทยส่งออกปลาบ่น 4.35 ล้านตัน ส่วนสหรัฐฯ ส่งออกเป็นอันดับ 10 ของโลก 3.61 ล้านตัน ในขณะที่เปรูเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกปลาบ่นมากที่สุดในโลก
มันสำปะหลังที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ในไทย มาจากที่ไหนบ้าง

มันสำปะหลังเป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบที่ใช้ในการทำอาหารสัตว์ ในส่วนของวัตถุดิบที่ให้พลังงานเช่นเดียวกันกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ใช้น้อยกว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
จากข้อมูลปี 2567 พบว่า ประเทศไทยมีความต้องการมันสำปะหลังในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งหมด 42.58 ล้านตัน ผลิตเอง 27.19 ล้านตัน และมีการนำเข้าและส่งออก แบ่งเป็นการนำเข้า 4.52 ล้านตันและส่งออก 2.03 ล้านตัน โดยเป็นการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว 53.34% กัมพูชา 45.92% และเมียนมา 0.74%
ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์นั้นพบว่า ใช้มันสำปะหลังน้อยมาก เพราะมีโปรตีนต่ำ และมีสารพิษกรดไฮโดรไซยานิค จึงต้องนำไปผ่านกระบวนการลดสารพิษก่อน ทั้งการทำเป็นมันเส้น หรือมันหมัก โดยส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักจะนำไปทำเป็นมันเส้น
อย่างไรก็ตาม การที่อาหารสัตว์ต้องพึ่งพาวัตถุดิบอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งต้องนำเข้ามากกว่า ก็ทำให้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์มีแนวคิดในการผลักดันให้หันมาใช้มันเส้นมากขึ้นเพื่อลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดยในปี 2567 ไทยตั้งเป้าใช้มันเส้นในการเลี้ยงปศุสัตว์และทำอาหารสัตว์ 1 ล้านตัน หรือคิดเป็นหัวมันสด 2.5 ล้านตัน และไม่มีแนวคิดในการนำเข้ามันสำปะหลังเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถผลิตในประเทศได้เป็นจำนวนมาก และประเทศไทยเองก็เป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังเป็นอันดับ 3 ของโลก
ดูข้อมูลพื้นฐานที่นี่
อ้างอิง
รายงานสถิติ กรมศุลกากร
ข้อมูลสินค้าเกษตร (Fact Sheet) ประจำปี 2567 เดือนมิถุนายน สัปดาห์ที่ 4 กองบริหารการพาณิชย์ภูมิภาค กระทรวงพาณิชย์
