- ค่ารอบในช่วงแรกของแต่ละแพลตฟอร์มจะสูงกว่าในปัจจุบัน เช่น GrabFood ในปี 2561 ค่ารอบ 60 บาทต่อออเดอร์ ปัจจุบันค่ารอบของ GrabFood ใน กรุงเทพฯ อยู่ที่ 30 บาทต่อออเดอร์ หรือ LINE MAN ในปี 2563 ค่ารอบ 62 บาทต่อออเดอร์ ปัจจุบันค่ารอบของ LINE MAN ใน กรุงเทพฯ อยู่ที่ 30 บาทต่อออเดอร์
- จังหวัดที่มีค่ารอบขั้นต่ำเฉลี่ยจากทั้ง 3 แพลตฟอร์ม GrabFood, LINE MAN, ShopeeFood มากที่สุด คือ กรุงเทพฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 31 บาทต่อออเดอร์ จังหวัดที่มีค่ารอบขั้นต่ำเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ ชุมพร เฉลี่ยอยู่ที่ 15 บาทต่อออเดอร์
- เมื่อนำค่ารอบขั้นต่ำเฉลี่ยเทียบกับข้อมูลค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนเพื่อดูว่าไรเดอร์แต่ละจังหวัดต้องวิ่งกี่งานถึงจะเพียงพอต่อค่าครองชีพในจังหวัด พบว่าจังหวัดที่ไรเดอร์ต้องวิ่งงานมากที่สุด คือ จันทบุรี โดยต้องวิ่งงานถึง 54.64 ออเดอร์
วันแรงงานทุกปี ประเด็นที่มักจะถูกจับตามองก็คือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ก็ใช่ว่าทุกอาชีพจะได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เช่นเดียวกับไรเดอร์ที่มีสถานะเป็น ‘พาร์ทเนอร์’ กับแพลตฟอร์ม ที่ค่ารอบนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับค่าแรงขั้นต่ำ แต่หากค่ารอบเปรียบเสมือนเงินเดือน กลับพบว่าไรเดอร์คืออาชีพที่ยิ่งทำงานเงินเดือนยิ่งลดลง
จากข้อมูลการประท้วงของไรเดอร์ ระหว่างปี 2562 – 2566 พบว่าจากการประท้วงทั้งหมด 113 ครั้ง เป็นการเรียกร้องประเด็นค่ารอบและค่าตอบแทนมากที่สุดถึง 93 ครั้ง โดยส่วนใหญ่นั้นมาจากประเด็นเรื่องค่ารอบที่ลดลง Rocket Media Lab ชวนสำรวจค่ารอบของไรเดอร์ในไทยว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร ในวันที่ตลาดบริการส่งอาหาร (Food Delivery) แข่งขันอย่างดุเดือด
สถานการณ์แพลตฟอร์ม
วันที่ 23 พฤษภาคม 2568 foodpanda ประกาศเตรียมยุติให้บริการในประเทศไทย ทำให้ตลาดบริการส่งอาหารเหลือแพลตฟอร์มไม่กี่เจ้า เช่น GrabFood, LINE MAN, Robinhood และ ShopeeFood แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ยังขาดทุนต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามพบว่ารายได้ของแพลตฟอร์มในตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่โตขึ้นเรื่อย และขาดทุนน้อยลงทุกปี เช่น GrabFood ที่แม้จะขาดทุนสะสม 425,368,372 บาท ตลอด 4 ปี แต่กลับมีรายได้เพิ่มขึ้น และเริ่มทำกำไรในปี 2565 และ 2566 รวม 1,884,598,543 บาท ในขณะที่ LINE MAN แม้จะขาดทุนอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปี แต่ในปี 2566 LINE MAN ขาดทุนเพียง 253,806,613 บาท น้อยกว่าปี 2565 ที่ขาดทุนถึง 2,730,849,262 บาท และมีแนวโน้มที่จะสามารถทำกำไรในเร็วๆ นี้
จากตัวเลือกในตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ที่น้อยลง ส่งผลต่อไรเดอร์ที่มีตัวเลือกในการรับงานน้อยลงเช่นเดียวกัน ท่ามกลางตัวเลขรายได้ของแพลตฟอร์มที่โตขึ้นเรื่อยๆ แต่ค่ารอบของไรเดอร์กลับลดลงอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 21 เมษายน 2568 แพลตฟอร์ม LINE MAN ประกาศลดค่ารอบอีกครั้ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล กระทบไรเดอร์ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาครและนครปฐม โดยค่ารอบลดลงจาก 30 บาทต่อออเดอร์เหลือ 28 บาทต่อออเดอร์
ค่ารอบเคยสูงสุดเท่าไร ปัจจุบันอยู่ที่เท่าไรแล้ว

Rocket Media Lab รวบรวมข้อมูลค่ารอบของ 4 แพลตฟอร์ม ได้แก่ GrabFood, LINE MAN, Robinhood และ ShopeeFood จากการเผยแพร่ของแพลตฟอร์มและจากการแลกเปลี่ยนของไรเดอร์ในช่องทางโซเชียลมีเดีย จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2568 เพื่อดูว่า นับตั้งแต่เปิดให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ แต่ละแพลตฟอร์มให้ค่ารอบเท่าไรและปัจจุบันมีค่ารอบอยู่ที่เท่าไร พบว่า
GrabFood เปิดให้บริการในประเทศไทยปี 2561 โดยในช่วงแรก มีการกำหนดค่ารอบไว้ที่ 60 บาทต่อออเดอร์ ต่อมาในปี 2562 มีการปรับโครงสร้างค่ารอบใหม่ โดยลดค่ารอบพื้นฐานลง แต่ไปเพิ่มโบนัสต่องานแทน จากเดิมค่ารอบอยู่ที่ 60 บาทต่อออเดอร์ ลดลงเหลือ 40 บาทต่อออเดอร์ โดยโบนัสต่องานจะสามารถรับได้ในวันถัดไป
จากนั้นในปี 2566 GrabFood ได้นำระบบค่ารออาหารเข้ามาใช้ในโครงสร้างค่ารอบ โดยค่ารอบจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่รออาหารจากร้านค้า ยิ่งนาน ยิ่งได้ค่ารอบเพิ่ม สูงสุด 43 บาทต่อออเดอร์ อย่างไรก็ตาม GrabFood ได้ลดค่ารอบพื้นฐาน จาก 40 บาทต่อออเดอร์ เหลือ 28 บาทต่อออเดอร์ โดยส่วนต่างของค่ารอบที่หายไปจะถูกเพิ่มจากค่ารออาหารที่กำหนดไว้ 10 นาที และไม่มีการหักค่าคอมมิชชั่น ทำให้ไรเดอร์ประท้วงและกดดันให้แพลตฟอร์มทบทวนค่ารอบใหม่ ก่อนที่ทาง GrabFood จะปรับโครงสร้างค่ารอบใหม่ จากเดิมค่ารอบพื้นฐาน 28 บาทต่อออเดอร์ เพิ่มเป็น 30 บาทต่อออเดอร์ โดยเพิ่มเกณฑ์ของค่ารออาหาร หากรอเกิน 10 นาที จะเพิ่มค่ารอบเป็น 40 บาทต่อออเดอร์ และรอเกิน 30 นาที จะเพิ่มค่ารอบเป็น 57 บาทต่อออเดอร์
ปัจจุบันค่ารอบของ GrabFood ในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 30 บาทต่อออเดอร์ หากดูค่ารอบทั่วประเทศ พบว่า GrabFood ให้ค่ารอบขั้นต่ำสูงสุด 35 บาท ในโซนกรุงเทพฯ 1 (ราชเทวี บางรัก คลองเตย วัฒนา และปทุมวัน) และภูเก็ต ส่วนค่ารอบขั้นต่ำน้อยสุด 15 บาท ในพื้นที่จังหวัด 14 จังหวัด เช่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชุมพร ลำพูน
LINE MAN เปิดให้บริการในปี 2563 โดยในช่วงแรก มีการกำหนดค่ารอบไว้ที่ 62 บาทต่อออเดอร์ และหักค่าคอมมิชชั่น 15% ต่อมาในปี 2564 LINE MAN ได้ปรับโครงสร้างค่ารอบใหม่ โดยลดค่ารอบพื้นฐานลงมาที่ 50 บาทต่อออเดอร์ และหักค่าคอมมิชชั่น 15% สร้างความไม่พอใจให้กับไรเดอร์ นำไปสู่การประท้วงของไรเดอร์ให้กลับมาใช้ค่ารอบเดิม 62 บาทต่อออเดอร์ แต่ไม่สำเร็จ
จากนั้นในปี 2565 LINE MAN ได้นำระบบค่ารอบอิงตามพื้นที่ของร้านอาหาร แบ่งออกเป็นเขตพื้นที่ธุรกิจสีแดง (เช่น บางรัก ห้วยขวาง คลองเตย) ได้รับค่ารอบ 43 บาทต่อออเดอร์ และพื้นที่รอบนอกสีเหลืองในกรุงเทพฯ ค่ารอบเริ่มต้น 38 บาทต่อออเดอร์
ปัจจุบัน ค่ารอบของ LINE MAN ในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 30 บาทต่อออเดอร์ หากดูค่ารอบทั่วประเทศ พบว่า LINE MAN ให้ค่ารอบขั้นต่ำสูงสุด 43 บาทต่อออเดอร์ ในพื้นที่ธุรกิจใจกลางเมือง ส่วนค่ารอบขั้นต่ำน้อยสุด 15 บาท ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ชุมพร น่าน พะเยา สระบุรี และอุตรดิตถ์
Robinhood เปิดให้บริการในปี 2563 โดยในช่วงแรก มีการกำหนดค่ารอบไว้ที่ 40 บาทต่อออเดอร์ ต่อมาในปี 2564 ได้เพิ่มค่ารอบเป็น 43 บาทต่อออเดอร์ เพื่อจูงใจให้ไรเดอร์เข้ามาทำงานในแพลตฟอร์มมากขึ้น จากนั้นในปี 2566 ก็มีการลดค่ารอบลงมาเหลือ 39 บาทต่อออเดอร์
ปี 2567 Robinhood ประกาศโครงสร้างค่ารอบใหม่ โดยนำระบบค่ารอบอิงตามพื้นที่ของร้านอาหารมาใช้ แบ่งออกเป็นพื้นที่สีแดง เช่น ปทุมวัน บางรัก สาทร ได้ค่ารอบเริ่มต้น 43 บาทต่อออเดอร์ และพื้นที่สีเหลืองในกรุงเทพฯ ได้ค่ารอบที่ 38 บาทต่อออเดอร์ ก่อนที่จะมีการประกาศขายแพลตฟอร์มให้กับบริษัท ยิบอินซอย จำกัด
ปัจจุบัน ค่ารอบของ Robinhood ในกรุงเทพฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 38 บาทต่อออเดอร์ หากดูค่ารอบทั่วประเทศ พบว่า Robinhood ให้ค่ารอบขั้นต่ำสูงสุด 43 บาทต่อออเดอร์ ในพื้นที่สีแดงของกรุงเทพฯ และค่ารอบขั้นต่ำน้อยที่สุด 37 บาทต่อออเดอร์ ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสงคราม
ShopeeFood เปิดให้บริการในปี 2564 โดยในช่วงแรก มีการกำหนดค่ารอบไว้ที่ 36 บาทต่อออเดอร์ ก่อนที่จะปรับขึ้นเป็น 40 บาทต่อออเดอร์ ต่อมาในปี 2565 ได้ลดค่ารอบลงเหลือ 39 บาทต่อออเดอร์ และในปี 2566 ShopeeFood เริ่มนำระบบจัดอันดับไรเดอร์มาใช้และปรับโครงสร้างค่ารอบใหม่ โดยลดค่ารอบลงเหลือ 38 บาทต่อออเดอร์ และในปี 2567 ได้ลดค่ารอบลงเหลือ 33 บาทต่อออเดอร์
ปัจจุบัน ค่ารอบของ ShopeeFood ใน กรุงเทพฯ อยู่ที่ 33 บาทต่อออเดอร์ หากดูค่ารอบทั่วประเทศ พบว่า ShopeeFood ให้ค่ารอบขั้นต่ำสูงสุด 38 บาทต่อออเดอร์สำหรับไรเดอร์ระดับ Legend ในพื้นที่กรุงเทพฯ และค่ารอบขั้นต่ำน้อยที่สุด 15 บาทต่อออเดอร์ในพื้นที่จังหวัดชุมพร
ค่ารอบขั้นต่ำทั่วประเทศเป็นอย่างไร


เมื่อนำค่ารอบขั้นต่ำจากแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ 3 เจ้า ได้แก่ GrabFood, LINE MAN และ ShopeeFood มาหารเฉลี่ยเป็นค่ารอบของไรเดอร์ในจังหวัดนั้นๆ พบว่า
จังหวัดที่มีค่ารอบขั้นต่ำเฉลี่ยมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 31 บาทต่อออเดอร์ ตามมาด้วย ภูเก็ต 30.7 บาทต่อออเดอร์ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ค่ารอบขั้นต่ำเท่ากันที่ 30.3 บาทต่อออเดอร์
จังหวัดที่มีค่ารอบขั้นต่ำเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ ชุมพร เฉลี่ยอยู่ที่ 15 บาทต่อออเดอร์ ตามมาด้วย ลำปาง 15.7 บาทต่อออเดอร์ อุตรดิตถ์และพะเยา 16 บาทต่อออเดอร์ และแม่ฮ่องสอน น่าน และจันทบุรี 16.7 บาทต่อออเดอร์
หากเทียบเป็นรายภาค พบว่า ภาคกลาง มีค่ารอบขั้นต่ำเฉลี่ยมากที่สุด 23.7 บาทต่อออเดอร์ ตามมาด้วย ภาคตะวันออก 21.3 บาทต่อออเดอร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20.9 บาทต่อออเดอร์ ภาคใต้ 20.4 บาทต่อออเดอร์ ภาคตะวันตก 19.7 บาทต่อออเดอร์ และภาคเหนือ 18.4 บาทต่อออเดอร์
เมื่อนำค่ารอบขั้นต่ำเฉลี่ยเทียบกับข้อมูลค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือน ปี 2566 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อดูว่าไรเดอร์แต่ละจังหวัดต้องวิ่งกี่งานถึงจะเพียงพอต่อค่าครองชีพในจังหวัด พบว่า
จังหวัดที่ไรเดอร์ต้องวิ่งงานมากที่สุด คือ จันทบุรี ต้องวิ่งงานถึง 54.64 งาน รองลงมาคือ ชุมพร 52.75 งาน ราชบุรี 51.84 งาน สุราษฎร์ธานี 47.91 งาน และกระบี่ 47.19 งาน ในขณะที่จังหวัดที่ต้องวิ่งงานน้อยที่สุดคือ อุบลราชธานี ที่ต้องวิ่งงาน 19.21 งาน ตามมาด้วย เชียงราย 19.91 งาน บุรีรัมย์ 23.21 งาน อุดรธานี 23.96 งาน และขอนแก่น 24.91 งาน
หมายเหตุ : การรวบรวมค่ารอบทั้ง 77 จังหวัด มาจากข้อมูลค่ารอบที่แพลตฟอร์มเปิดเป็นข้อมูลสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลครบทุกจังหวัดที่แพลตฟอร์มให้บริการ จึงรวบรวมเพิ่มจากช่องทางโซเชียลมีเดียของไรเดอร์แพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนที่สุด
ลดค่ารอบแล้วแพลตฟอร์มเพิ่มอะไรให้แทน

การลดค่ารอบขั้นต่ำของแพลฟอร์ม ส่งผลให้รายได้ของไรเดอร์ลดลง และอาจทำให้ไรเดอร์เลิกวิ่งงานหรือหันไปหาแพลตฟอร์มที่ให้ค่ารอบดีกว่า แพลตฟอร์มจึงพยายามคิดระบบ หรือมาตรการใหม่ๆ ออกมาเพื่อจูงใจให้ไรเดอร์วิ่งงานต่อ หรือทำงานให้กับแพลตฟอร์มมากขึ้น แม้ค่ารอบจะลดลงก็ตาม จากการรวบรวมของ Rocket Media Lab พบว่ามีอย่างน้อย 8 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่
- อินเซนทีฟหรือเบี้ยขยัน
เป็นระบบการสะสมคะแนนเพื่อแลกเงิน โดยในแต่ละออเดอร์ที่ไรเดอร์ปิดงานสำเร็จจะได้รับคะแนน สามารถสะสมคะแนนเหล่านี้เพื่อแลกกับสิทธิพิเศษหรือเงิน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีทุกสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่แพลตฟอร์มเป็นผู้กำหนด เช่น อัตราการรับงาน คะแนนความพึงพอใจของลูกค้า หรืออัตราการยกเลิกงาน
ยกตัวอย่างเช่น อินเทนซีฟของ GrabFood เมื่อไรเดอร์ปิดงานสำเร็จจะได้สัญลักษณ์ “เพชร” เป็นของรางวัล หากสะสมถึงเกณฑ์ที่เป็นไปตามเงื่อนไขของแพลตฟอร์ม เช่น สะสมเพชรครบ 185 กะรัต มีคะแนนการรับงานมากกว่า 80% อัตรารับงานสำเร็จ 60% ขึ้นไป ได้คะแนนจากลูกค้า 4.7 คะแนนขึ้นไป และมีอัตราการยกเลิกงานไม่เกิน 10% ไรเดอร์สามารถนำเพชรไปแลกรับเงิน 2,000 บาทจากแพลตฟอร์ม
อย่างไรก็ตาม อินเซนทีฟอาจมีผลต่อสภาพการทำงานของไรเดอร์ เนื่องจากไรเดอร์ต้องแข่งกับเวลาและทำยอดส่งงานให้ได้ตามเกณฑ์ที่แพลตฟอร์มกำหนด ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องของพื้นที่การรับงานที่อาจจะมีผลต่อการสะสมอินเซนทีฟของไรเดอร์ อีกทั้งไรเดอร์ไม่มีอำนาจต่อรองเรื่องเกณฑ์และข้อกำหนดอินเซนทีฟ ทำให้แพลตฟอร์มมีอำนาจเด็ดขาดได้การออกแบบอินเซนทีฟ ไรเดอร์อาจต้องวิ่งงานมากขึ้น ในขณะที่อินเซนทีฟที่ได้รับอาจน้อยลง
- ระบบจัดอันดับไรเดอร์
เป็นระบบที่เข้ามาเพื่อแบ่งระดับของไรเดอร์ ซึ่งเพิ่มเข้ามาเพื่อจูงใจให้ไรเดอร์ทำงานตามที่แพลตฟอร์มกำหนด ยิ่งระดับของไรเดอร์สูงขึ้น ยิ่งได้รับสิทธิพิเศษมากขึ้น เช่น ได้อินเทนซีฟพิเศษ ค่ารอบพิเศษ สิทธิพิเศษทางการเงิน และประกันอุบัติเหตุ
ยกตัวอย่าง แพลตฟอร์ม GarbFood มีการแบ่งระดับไรเดอร์เป็น 4 ระดับได้แก่ พลทหาร จอมยุทธ์ เซียน และเทพ โดยสิทธิประโยชน์จากระดับเซียน อาทิ ได้รับอินเทนซีฟพิเศษสูงสุด 4,500 บาท/เดือน ส่วนลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเงินสด 5% ประกันรถมอเตอร์ไซค์ บัตรเติมน้ำมัน โดยเกณฑ์การได้ระดับเซียน ไรเดอร์ต้องใส่เครื่องแต่งกายของแพลตฟอร์ม สะสมแต้มมากกว่า 600 แต้มต่อเดือน (1 แต้ม = 1 รอบขับ) มีอัตราการรับงานมากกว่า 85% อัตราการยกเลิกงานไม่เกิน 5% และมีคะแนนดาว 4.7 ดาว
ในแพลตฟอร์ม ShopeeFood ใช้ระบบ Ranking กับไรเดอร์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยไรเดอร์ระดับ 0 (เมมเบอร์) จะได้ค่ารอบเริ่มต้นที่ 33 บาท ระดับ 1 (ไรเดอร์ใหม่) 37 บาท ระดับ 2 (คลาสสิก) 35 บาท ระดับ 3 (มาสเตอร์) 36 บาท ระดับ 4 (แกรนด์มาสเตอร์) 37 บาท และระดับ 5 (เลเจนด์) 38 บาท โดยไรเดอร์สามารถเพิ่มระดับของตัวเองจากการสะสมคะแนน T-Point ที่ได้จากการปิดงานส่งอาหาร
อย่างไรก็ตาม เมื่อระบบจัดอันดับไรเดอร์กำหนดโดยแพลตฟอร์ม โดยไรเดอร์ไม่มีอำนาจต่อรอง อาจทำให้ไรเดอร์ต้องทำงานมากขึ้น และทำให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่แพลตฟอร์มกำหนด เช่น อัตราการรับงาน อัตราการยกเลิกงาน และคะแนนความพึงพอใจ
- งานแบชหรืองานพ่วง

เป็นงานประเภทใหม่ให้ไรเดอร์สามารถรับส่งอาหารได้มากกว่า 1 ออเดอร์ในครั้งเดียว โดย LINE MAN เริ่มนำรูปแบบงานนี้มาใช้เป็นเจ้าแรก ใน 1 งานของไรเดอร์จะส่งให้กับลูกค้ามากว่า 1 คนขึ้นไป โดยจะได้ค่ารอบเป็นค่ารอบพื้นฐาน บวกกับค่ารอบงานพ่วง โดยจากเดิมที่การส่งงาน 2 จุด จะได้รับค่ารอบทั้ง 2 จุดเท่ากัน แต่เมื่อเป็นงานพ่วง จะคิดค่ารอบโดยเป็นค่ารอบบวกกับค่ารอบงานพ่วงที่น้อยกว่าค่ารอบปกติ
ตัวอย่างเช่น ปกติไรเดอร์ที่รับงานส่งอาหาร 2 งาน จะได้ค่ารอบ งานละ 30 บาท รวมเป็น 60 บาท แต่หากเป็นงานพ่วง เมื่อส่งอาหารครบทั้ง 2 จุด จะได้ค่ารอบ 30 บาท และค่างานพ่วง 15 บาท รวมกันเป็น 45 บาท จะเห็นได้ว่ารูปแบบงานพ่วงทำให้แพลตฟอร์มจ่ายค่ารอบให้กับไรเดอร์น้อยลง การส่งหลายจุดมีผลต่ออาหารของลูกค้า ไรเดอร์อาจถูกร้องเรียนเรื่องความล่าช้าในการจัดส่งที่มีผลต่อการสะสมอินเทนซีฟและการเลื่อนระดับของไรเดอร์
- การเพิ่มโบนัสในพื้นที่ที่กำหนด
เป็นระบบที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในการทำงานของไรเดอร์เป็นปัจจัยในการเพิ่มค่ารอบ เช่น สภาพอากาศ การจราจร จำนวนคำสั่งซื้อ หรือพื้นที่ที่แพลตฟอร์มต้องการให้ไรเดอร์เข้าไปวิ่งงานในพื้นที่นั้นๆ เช่น หากฝนตก แพลตฟอร์มจะเพิ่มค่ารอบ เพื่อจูงใจให้ไรเดอร์รับงานในช่วงฝนตก หากเป็นช่วงที่มีคำสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก จะเพิ่มโบนัสพิเศษให้ไรเดอร์ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มโบนัสเพื่อจูงใจให้ไรเดอร์ทำงานอาจส่งผลต่อความปลอดภัยในการทำงานของไรเดอร์ เช่น อาจต้องทำงานในสภาวะฝนตกหนัก ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
- ระบบยิงงาน
เป็นระบบที่แพลตฟอร์มเอามาใช้แทนระบบกดรับงาน โดยแพลตฟอร์มจะเลือกงานให้กับไรเดอร์ โดยที่ไรเดอร์ไม่ต้องกดแย่งรับงานเอง ช่วยกระจายงานให้กับไรเดอร์ได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม ปัญหาของระบบยิงงาน คือไรเดอร์ไม่สามารถเลือกงานเองได้ ไรเดอร์ต้องลุ้นว่าจะได้รับงานประเภทไหน ระยะทางเท่าไร หากเลือกงานอาจส่งผลต่ออัตราการรับงาน ซึ่งถ้าอัตราการรับงานต่ำ จะส่งผลต่อการได้อินเทนซีฟและการเลื่อนระดับของไรเดอร์ลดลง และจะกระทบกับรายได้ของไรเดอร์
- ค่ารออาหาร
ในกรณีที่ไรเดอร์รอรับอาหารจากร้านค้านาน มีการนำระบบการรออาหารมาใช้เป็นค่าเสียเวลาให้ไรเดอร์ ยิ่งรอนาน ยิ่งได้ค่ารอบเพิ่ม ในช่วงแรกค่ารออาหารจะเป็นการทำเรื่องของไรเดอร์เพื่อให้แพลตฟอร์มพิจารณา ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นระบบคิดคำนวนในค่ารอบในระบบ
ยกตัวอย่าง ค่ารออาหารในแพลตฟอร์ม GrabFood หากไรเดอร์รออาหารจากร้านค้านาน สามารถได้รับค่ารอบสูงสุด 57 บาท หากรออาหารจากร้านค้าเกิน 30 นาที อย่างไรก็ตาม ปี 2566 ช่วงที่เริ่มใช้ระบบค่ารออาหาร GrabFood ได้ลดค่ารอบขั้นต่ำลงจากเดิม 40 บาทต่อออเดอร์ เหลือ 28 บาทต่อออเดอร์ แล้วไปเพิ่มส่วนต่างว่าจะไม่เก็บค่าคอมมิชชั่นและเพิ่มค่ารออาหารเข้าไป สร้างความไม่พอใจให้กับไรเดอร์ในพื้นที่กรุงเทพฯ จนออกมาประท้วงและปิดแอปไม่รับงาน ก่อนที่ทาง GrabFood จะปรับโครงสร้างค่ารอบใหม่ เป็น 30 บาทต่อออเดอร์ บวกกับค่ารออาหาร
อย่างไรก็ตาม กลุ่มไรเดอร์เองก็มีข้อสังเกตในการคำนวณค่ารออาหารของแพลตฟอร์มว่าไม่ได้ประเมินจากระยะเวลาการรอของไรเดอร์แบบเรียลไทม์ แต่ดูจากข้อมูลย้อนหลังของแต่ละร้านในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้ไรเดอร์อาจจะไม่ได้ค่ารอตามระยะเวลาที่รอจริงๆ
- การจองรอบ
คือ ระบบการจองช่วงเวลาวิ่งงานของไรเดอร์ โดยมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่และช่วงเวลาในการทำงาน เพื่อให้ไรเดอร์สามารถรับงานได้เร็วขึ้นและใกล้มากขึ้น หากรายได้ไม่ถึงขั้นต่ำที่แพลตฟอร์มการันตี สามารถรับค่ารอบชดเชยได้
ยกตัวอย่าง ระบบการจองรอบงานของ ShopeeFood โดยไรเดอร์สามารถจองรอบขับตั้งแต่ 3 ชั่วโมงถึง 10 ชั่วโมง และได้รับโบนัสของการจองรับขับตามที่แพลตฟอร์มกำหนด หากในชั่วโมงการทำงานได้รับงานไม่ครบตามที่แพลตฟอร์มการันตีไว้ จะมีการจ่ายค่ารอบชดเชยให้กับไรเดอร์ เช่น หากจองทำงาน 3 ชั่วโมง แพลตฟอร์มการันตีงานขั้นต่ำให้ไรเดอร์ 5 งาน แต่เมื่อครบชั่วโมงการทำงาน ไรเดอร์ได้รับงานเพียง 3 งาน แพลตฟอร์มจะจ่ายค่ารอบชดเชยให้ ตามค่ารอบขั้นต่ำในพื้นที่และจำนวนงานที่ขาด
อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มมีเกณฑ์เรื่องค่ารอบชดเชย สามารถรับได้หาก “เวลาเฉลี่ยในการจัดส่ง” ของทุกงานที่จองรอบเฉลี่ยไม่เกิน 60 นาที มีอัตราการจัดส่งสำเร็จมากว่า 90% และมีเวลาออนไลน์ตามที่แพลตฟอร์มกำหนด หากทำครบ ไรเดอร์สามารถรับค่ารอบชดเชยได้ อีกทั้งในการจองรอบ ทุกออเดอร์จะไม่ได้รับคะแนนสะสมเพื่อแลกอินเซนทีฟและคะแนนเลื่อนระดับไรเดอร์ เท่ากับว่าไรเดอร์ที่จองงานอาจจะไม่ได้โบนัสพิเศษจากการทำงานเพิ่มเติมเท่ากับไรเดอร์ที่ไม่ได้จองรอบงาน
- สมัครไรเดอร์ประจำ
เป็นตำแหน่งที่แพลตฟอร์มเพิ่มเข้ามาเป็นทางเลือกให้กับไรเดอร์ในการรองรับการจัดส่งอาหารในพื้นที่ที่มีคำสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก โดยแพลตฟอร์มจะการันตีรายได้ให้กับไรเดอร์
ยกตัวอย่าง แพลตฟอร์ม Line Man เปิดรับสมัครไรเดอร์ประจำ โดยไรเดอร์จะวิ่งงานในพื้นที่ที่แพลตฟอร์มกำหนด เช่น สัมพันธวงศ์ พระนคร สาทร ปทุมวัน เข้างานตั้งแต่ 11.00 – 20.00 น. สัปดาห์ละ 6 วัน โดยการันตีรายได้สูงสุดวันละ 1,000 บาท
แม้จะเป็นการการันตีรายได้เพื่อดึงดูดให้ไรเดอร์เข้ามาทำงานในพื้นที่ที่กำหนดซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สีแดงที่มีคำสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก โดยไรเดอร์วิจารณ์ว่า เป็นพื้นที่ที่วิ่งงานยาก รถเยอะ เส้นทางวกวน เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ การกำหนดค่ารอบต่อออเดอร์แบบขั้นบันได ทำให้ไรเดอร์ต้องวิ่งงานมากขึ้น นอกจากนี้ แพลตฟอร์มกำหนดเกณฑ์ของไรเดอร์ประจำไว้ค่อนข้างสูง เช่น ไรเดอร์ต้องเปิดรับงานแบบอัตโนมัติ ไม่ปัดงาน และไม่ยกเลิกงาน หากมีการยกเลิกงาน 1 งานหรือไม่เกิน 5% จะได้รับค่ารอบไม่เกิน 28 ออเดอร์ แต่หากมีการยกเลิกงานเกินจากที่แพลตฟอร์มกำหนด ไรเดอร์จะไม่ได้ค่ารอบทั้งหมดของวันนั้น ซึ่งข้อกำหนดเหล่านี้ไรเดอร์ไม่มีส่วนในการต่อรองกับทางแพลตฟอร์ม
จากรูปแบบที่แพลตฟอร์มเพิ่มเข้ามาเพื่อจูงใจให้ไรเดอร์ยังทำงานให้กับแพลตฟอร์ม แต่ในทางปฏิบัติไรเดอร์กลับได้ค่าตอบแทนน้อยลง ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยตามที่รูปแบบกำหนดไว้ นอกจากนี้ยังเป็นการเร่งให้ไรเดอร์ทำงานมากขึ้นเพื่อรับส่วนชดเชยรายได้และสวัสดิการต่างๆ ซึ่งอาจทำให้ไรเดอร์สายพาร์ทไทม์ ไม่ได้รับการชดเชยรายได้เท่าไรเดอร์ที่ขับเป็นงานประจำ ในขณะเดียวกันสภาพการทำงานของไรเดอร์อาจยิ่งแย่ลง จากการต้องเร่งส่งงานและทำรายได้เพิ่มขึ้นจากเกณฑ์ที่แพลตฟอร์มเป็นผู้กำหนด โดยที่ไรเดอร์ไม่ได้มีส่วนร่วมในการต่อรองข้อกำหนดเหล่านั้น
ดูข้อมูลที่ https://rocketmedialab.co/database-rider-delivery-decline
อ้างอิง
รวบรวมจากเว็บไซต์แพลตฟอร์มส่งอาหารและการแลกเปลี่ยนในโซเชียลมีเดียของไรเดอร์แพลตฟอร์มต่างๆ ณ วันที่ 30 เมษายน 2568
DBD DATAWAREHOUSE กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2566 สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
