Connect with us

Hi, what are you looking for?

environment

ปี 2020 คนกรุงเทพฯ สูดฝุ่นพิษ PM 2.5 เท่ากับการสูบบุหรี่ 1,270 มวน

เดือนที่กรุงเทพฯ อากาศเลวร้ายเต็มไปด้วยฝุ่นพิษมากที่สุดในปี 2020 ก็คือเดือนมกราคม

ภาพโดย Peggy und Marco Lachmann-Anke จาก Pixabay

ประเด็นปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 แม้จะเป็นชื่อที่เพิ่งได้ยินกันไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ แต่จากข้อมูลของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) พบว่าประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงของฝุ่นจิ๋ว ที่เพิ่มความเข้มข้นตั้งแต่ปี 2541-2559 โดยเฉพาะใน 5 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ น่าน พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน เช่นเดียวกันกับในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่ต้องผจญปัญหาฝุ่นพิษเรื่อยมา ซึ่งในบางวันนั้นระดับฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ สูงจนติดอันดับ 3 ของโลกเลยทีเดียว

จากการทำงานของ Rocket Media Lab ซึ่งทำงานด้านข้อมูลเพื่อการสื่อสารมวลชน โดยอ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project พบว่า ในปีที่ 2020 ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ อยู่ในระดับสีแดง ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพ และกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง มากถึง 14 วัน คิดเป็น 3.86% ระดับสีส้ม อากาศในระดับปานกลางแต่อันตรายต่อกลุ่มเสี่ยง 68 วัน คิดเป็น 18.73% ระดับสีเหลือง อากาศปานกลาง 210 วัน คิดเป็น 57.85% และระดับสีเขียว อากาศดี 71 วัน คิดเป็น 19.56%

จากข้อมูลยังพบว่า เดือนที่กรุงเทพฯ อากาศเลวร้ายเต็มไปด้วยฝุ่นพิษมากที่สุดในปี 2020 ก็คือเดือนมกราคม โดยวันที่มีค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงสุดแห่งปี คือวันที่ 11 มกราคม 2020 อยู่ในระดับสีแดง สูงถึง 181 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และตลอดทั้งเดือนมกราคม 2020 ที่ผ่านมา ไม่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเขียว ซึ่งหมายถึงอากาศดีเลย ส่วนวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง สีเหลือง มีจำนวน 6 วัน วันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีส้ม ซึ่งหมายถึงอากาศระดับปานกลางแต่เป็นอันตรายต่อกลุ่มเสี่ยง มีจำนวน 20 วัน และมีวันที่ค่าอากาศแบบมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในแถบสีแดง ซึ่งหมายถึงไม่ดีต่อสุขภาพ มีจำนวน 4 วัน (หมายเหตุเดือนมกราคมมีสถิติบันทึกไว้เพียง 30 วัน)

3 เดือนที่ค่าฝุ่นเลวร้ายที่สุด

แต่ถึงอย่างนั้นเดือนมกราคมก็ยังไม่ใช่เดือนที่มีค่าฝุ่นเฉลี่ยสูงสุด เดือนที่มีค่าฝุ่นเฉลี่ยสูงสุดก็คือเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งไม่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเขียว หรืออากาศดีเลย ส่วนวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง สีเหลือง มีจำนวน 6 วัน วันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีส้ม ซึ่งหมายถึงอากาศระดับปานกลางแต่เป็นอันตรายต่อกลุ่มเสี่ยง มีจำนวน 14 วัน และมีวันที่ค่าอากาศแบบมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในแถบสีแดง ซึ่งหมายถึงไม่ดีต่อสุขภาพ มีจำนวน 9 วัน

สำหรับเดือนธันวาคม 2020 ซึ่งเป็นเดือนที่มีข่าวว่าค่าฝุ่น PM 2.5 ของกรุงเทพฯ สูงติดอันดับท็อปของโลกหลายวัน เดือนธันวาคม มีค่าฝุ่นเป็นมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงสุดแห่งปีในวันที่ 15 ธันวาคม 2020 อยู่ในระดับสีแดง สูงถึง 161 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และไม่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเขียว ซึ่งหมายถึงอากาศดีเลย ส่วนวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง สีเหลือง มีจำนวน 14 วัน วันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีส้ม ซึ่งหมายถึงอากาศระดับปานกลางแต่เป็นอันตรายต่อกลุ่มเสี่ยง มีจำนวน 16 วัน และมีวันที่ค่าอากาศแบบมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในแถบสีแดง ซึ่งหมายถึงไม่ดีต่อสุขภาพ มีจำนวน 1 วัน

อย่างไรก็ตามค่าฝุ่นในแต่ละวันตามสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project เป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จึงอาจเป็นไปได้ว่าในวันหนึ่งๆ อาจจะมีบางเขตของกรุงเทพฯ ที่มีค่าฝุ่นสูงกว่าค่าเฉลี่ยและมีบางเขตที่มีค่าฝุ่นต่ำกว่าเฉลี่ย หรือแม้กระทั่งมีค่าฝุ่นอยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันในทุกๆ เขต

สำหรับวันที่ค่าฝุ่นต่ำที่สุดในรอบปี 2020 ในกรุงเทพฯ ก็คือ วันที่ 21 กันยายน ซึ่งมีค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เพียง 26 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่เดือนกันยายนก็ยังไม่ใช่เดือนที่มีอากาศดีที่สุดของปี 2020 ของกรุงเทพฯ

3 เดือนที่มีอากาศ ‘ดี’ ที่สุด

สำหรับเดือนที่มีอากาศดีที่สุดในปี 2020 ของกรุงเทพฯ ก็คือเดือนมิถุนายน มีค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในแถบสีเขียวอันหมายถึงอากาศดี มากถึง 18 วัน และวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง สีเหลือง อีกจำนวน 12 วัน

รองลงมาคือเดือนกันยายน มีค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในแถบสีเขียว อันหมายถึงอากาศดี จำนวน 17 วัน และวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง สีเหลือง อีกจำนวน 13 วัน

และอันดับสามเดือนกรกฎาคม อยู่ในแถบสีเหลือง-ส้ม ระหว่าง 61-80 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อีก 6 วัน มีค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในแถบสีเขียว อันหมายถึงอากาศดี จำนวน 14 วัน และวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง สีเหลือง อีกจำนวน 17 วัน

ถ้าค่าฝุ่น PM 2.5 22 ug/m3 = บุหรี่ 1 มวน ปี 2020 ที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ สูบบุหรี่ไปกี่มวน

จากงานของ Richard A. Muller นักวิจัยชาวอเมริกันจากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซึ่งคำนวณเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศหรือ PM 2.5 กับปริมาณการสูบบุหรี่ พบว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบได้กับการสูบบุหรี่ 1 มวน ซึ่งหากนำค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในแต่ละวันของปี 2020 มาคำนวณเปรียบเทียบตามเกณฑ์ของ Richard Muller จะพบว่า

เดือนกุมภาพันธ์ 2020 (ซึ่งถือเป็นเดือนที่มีค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุด) คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 166.90 มวน รองลงมาก็คือเดือนมกราคม คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 164.60 มวน ตามมาด้วยเดือนธันวาคม 146.71 มวน

แม้แต่ในเดือนที่มีอากาศดีที่สุดแห่งปี 2020 อย่างเดือนมิถุนายน เมื่อคำนวณเปรียบเทียบดูแล้ว คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 66.70 มวน รองลงมาก็คือเดือนกันยายน 69.80 มวน และเดือนกรกฎาคมจำนวน 73.41 มวน

โดยรวมแล้วในปี 2020 ที่ผ่านมาคนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ ทั้งหมดจำนวน 1,270.07 มวน

อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการชี้ว่าควันพิษจากบุหรี่นั้นมีสารพิษมากกว่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก

แล้วกรุงเทพมหานครแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างไร

แม้จะยังไม่มีนโยบายอย่างชัดเจนว่ากรุงเทพมหานครจะแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ด้วยวิธีใด แต่จากการสืบค้นข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของกรุงเทพมหานคร ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 พบว่า

มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการให้ความรู้ปัญหาเรื่องฝุ่นพิษ PM 2.5 หลายโครงการ อาทิ โครงการ 63067289066 จ้างเหมาผลิตอินโฟกราฟิกภัยแล้ง, อุทกภัย, ฝุ่น PM 2.5 ตามโครงการบริหารจัดการสำนักข่าวแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2563 งบประมาณ 140,000 บาท

โครงการ 62027379217 จ้างผลิตวีดิทัศน์ เรื่อง อาชีวะอาสาลดควัน ลดฝุ่น ประดิษฐ์เครื่องพ่นละอองน้ำช่วยบรรเทาอากาศพิษ PM 2.5 ของกลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักอำนวยการ งบประมาณ 35,000 บาท

โครงการ 63027449850 จ้างผลิตโปสเตอร์และแผ่นพับ รณรงค์ปัญหา PM 2.5 งบประมาณ 36,000 บาท โครงการ 62097156993 จ้างเหมาจัดพิมพ์แผ่นพับการบำรุงรักษาเครื่องยนต์เพื่อลดมลพิษและแผ่นพับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 งบประมาณ 99,243 บาท

โครงการ 63027178209 จ้างเหมาจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตนและป้องกันตนเองจากอันตรายของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) จำนวน 6 รายการ งบประมาณ 500,000 บาท

โครงการ 62117207767 จ้างผลิตบอลลูนนิทรรศการ รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่อง PM 2.5 งบประมาณ 75,000 บาท

โดยนอกจากโครงการประเภทการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลแล้ว ยังพบโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น โครงการ 62087496935 จ้างที่ปรึกษาศึกษาแหล่งกำเนิดฝุ่นขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) และสารมลพิษตั้งต้นของฝุ่นทุติยภูมิ (Secondary PM 2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล งบประมาณ 500,000 บาท

โครงการ 63027015453 จ้างตรวจวัดและบริการวิเคราะห์ฝุ่น PM 2.5 จำนวน 1 งาน งบประมาณ 344,400 บาท โครงการ 62117384825 จ้างเหมาจัดหาและรวบรวมข้อมูลดาวเทียมที่มีศักยภาพให้ข้อมูล PM 2.5 โดยตรงและดาวเทียมที่ให้ข้อมูลปัจจัยทางกายภาพที่เกี่ยวข้องและมีผลต่อ PM 2.5 งบประมาณ  250,000 บาท

โครงการ 62067450151 และ 62067162163 ซื้อเครื่องวัดปริมาณฝุ่น PM 2.5 งบประมาณโครงการละ 10,593 บาท โครงการ 63067010922 ซื้อหน้ากากป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 และ PM10 ประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 500 ชิ้น งบประมาณ 63,000 บาท โครงการ 63047221860 ซื้อหน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 งบประมาณ 15,000 บาท

โครงการ 62127178708 ประกวดราคาชื้อเครื่องตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) แบบอัตโนมัติสำหรับตรวจวัดภายนอกอาคาร จำนวน 2 ชุด งบประมาณ 2,953,200 บาท โครงการ 63047337278 ประกวดราคาซื้อเครื่องเก็บตัวอย่างฝุ่นในปล่องระบายตามวิธีการมาตรฐาน (PM 2.5/PM 10/TSP) กรอ.พญาไท จำนวน 1 ชุด, กรอ.เชียงใหม่ จำนวน 1 ชุด งบประมาณ 1,876,400 บาท

ยังปรากฏโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่สอดคล้องกับกิจกรรมการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของทางกรุงเทพมหานครอีกหลายรายการ เช่น กิจกรรม Big Cleaning ปฏิบัติการล้างทำความสะอาดพื้นที่เพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 50 เขต ในวันที่ 18 ธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา ก็พบโครงการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์จำพวกเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง หัวฉีดน้ำ ฯลฯ อีกมากมาย

ในขณะที่โครงการที่ปรากฏตามข่าวในปีที่แล้ว เช่น การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศบนหลังคารถเมล์นั้น เป็นงบประมาณจากกระทรวงคมนาคม ส่วนโครงการของกรุงเทพมหานครอื่นๆ ที่มีการพูดถึงในข่าว เช่น หอฟอกอากาศ จำนวน 24 หอ งบประมาณราว 127 ล้านบาท ยังไม่ปรากฏมีการจัดซื้อจัดจ้าง

หมายเหตุ: 

อ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project ซึ่งค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง https://aqicn.org/city/bangkok/ 

ค่ามาตรฐานอ้างอิงจาก Air Quality Index Scale and Color Legend 

ข้อมูลที่พบมี 363 วัน ขาดหายไปสองวัน ดังนั้นค่าร้อยละจึงคิดจากข้อมูลที่มีอยู่

ค่าฝุ่นในแต่ละวันตามสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project เป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จึงอาจเป็นไปได้ว่าในวันหนึ่งๆ อาจจะมีบางเขตของกรุงเทพฯ ที่มีค่าฝุ่นสูงกว่าค่าเฉลี่ยและมีบางเขตที่มีค่าฝุ่นต่ำกว่าเฉลี่ย หรือแม้กระทั่งมีค่าฝุ่นอยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันในทุกๆ เขต

PM2.5 เทียบกับบุหรี่ คำนวณจาก CMU CCD https://www.cmuccdc.org/pmcompare
ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ : https://tinyurl.com/pm25bkk2020

คุณอาจสนใจ