Connect with us

Hi, what are you looking for?

economy

โรงรับจำนำ ที่พึ่งคนจน?

คนไทยเข้าโรงรับจำนำมากน้อยแค่ไหน แล้วใครกันที่ต้องพึ่งโรงรับจำนำ

Chainwit., CC BY-SA 4.0, via Wikimedia Commons

กระแสโรงรับจำนำกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งเมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมาถึงการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนว่า 

“ต้องให้มีการเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ผู้ประกอบการรายย่อย SMEs จัดให้มีซอฟต์โลนสำหรับ SMEs ที่เป็น NPL ให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ การเพิ่มจำนวนโรงรับจำนำและจัดทำโรงรับจำนอง เพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อยและมีที่ดินให้สามารถเข้าถึงเงินทุนเหล่านี้”

ประเทศไทยมีโรงรับจำนำอยู่เท่าไหร่

จากการสำรวจของ Rocket Media Lab ซึ่งทำงานด้านข้อมูลเพื่อการสื่อสารมวลชน พบว่าประเทศไทยมีโรงรับจำนำอยู่ทั้งหมดประมาณ 730 แห่งทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น สถานธนานุเคราะห์ ซึ่งเป็นโรงรับจำนำภายใต้การกำกับดูแลของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 39 แห่ง สถานธนานุบาล ซึ่งเป็นโรงรับจำนำภายใต้การดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 238 แห่ง และโรงรับจำนำเอกชนอีก 453 แห่ง

โดยกรุงเทพมหานครมีจำนวนโรงรับจำนำมากที่สุด 235 แห่ง รองลงมาก็คือ นนทบุรี 45 แห่ง ชลบุรี 29 แห่ง ปทุมธานี 26 แห่ง และนครราชสีมา 22 แห่ง 

หากพิจารณาเฉพาะในกรุงเทพมหานครจะพบว่า เขตที่มีโรงรับจำนำมากที่สุดได้แก่ บางกะปิ บางแค และบางซื่อ เขตละ 10 แห่งเท่ากัน รองลงมาก็คือ คลองสาน 9 แห่ง ตามมาด้วยธนบุรี บางกอกน้อย และบางนา เขตละ 7 แห่งเท่ากัน 

โรงรับจำนำของรัฐ

สถานธนานุเคราะห์ หรือโรงรับจำนำของรัฐ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2498 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยปัจจุบันถือเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคม

และความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนองนโยบายรัฐในการสร้างโอกาสการเข้าถึงการรับจำนำในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนทางการเงินเฉพาะหน้า

ในการก่อตั้งนั้น สำนักงานธนานุเคราะห์ได้รับเงินงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลเป็นทุนหมุนเวียนดำเนินการเป็นเงิน 30.99 ล้านบาทแต่หลังจากปี พ.ศ.2515 ก็ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณอีกเลย โดยสำนักงานธนานุเคราะห์ได้ใช้ผลกำไรของกิจการดำเนินงานเรื่อยมา 

ปัจจุบัน (ณ วันที่ 30 กันยายน 2563) มีทุนดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 5,833.41 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 90.03 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 1.52 มีเงินกู้ 1,846.12 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 333.26 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 15.29 แต่ถึงอย่างนั้นสำนักงานธนานุเคราะห์มีกำไรสะสม 3,956.31 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 243.24 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.55

ในการดำเนินกิจการในปี 2563 ที่ผ่านมา พบว่าสำนักงานธนานุเคราะห์มีรายได้ 814.96 ล้านบาท โดยมีค่าใช้จ่าย 402.47 ล้านบาท และถือเป็นกำไรเบ็ดเสร็จ 412.49 ล้านบาท ซึ่งกำไรเบ็ดเสร็จที่ได้รับในแต่ละปี จะต้องถูกจัดสรรนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินในอัตราร้อยละ 35 โดยในปี 2563 สำนักงานธนานุเคราะห์มีรายได้นำส่งให้รัฐสูงถึง 159.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งนำส่งเพียง 145.03 ล้านบาท 

โดยสถานธนานุเคราะห์ที่มีกำไรเบ็ดเสร็จสูงสุดในปี 2563 5 อันดับแรกได้แก่ 

สถานธนานุเคราะห์ 19 หน้าวัดศรีบุญเรือง 26,993,184.88 ล้านบาท

สถานธนานุเคราะห์ 30 เขตลาดกระบัง กทม. 23,423,609.79 ล้านบาท

สถานธนานุเคราะห์ 18 บริเวณศูนย์ชุมชนห้วยขวาง กทม. 21,759,036.56 ล้านบาท

สถานธนานุเคราะห์ 28 ถ.จันทอุดม อ.เมือง จ.ระยอง 21,535,675.19 ล้านบาท

สถานธนานุเคราะห์ 13 ถ.สาธุประดิษฐ์ กทม. 20,557,014.07 ล้านบาท

คนไทยเข้าโรงรับจำนำมากน้อยแค่ไหน

ในปี 2563 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขหนี้ครัวเรือนว่ามีมูลหนี้รวมทั้งสิ้น 14.02 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ 89.3%  ซึ่งนับเป็นจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 18 ปี

หากมองมาที่สถานธนานุเคราะห์จะพบว่าในปี 2563 มีทรัพย์ที่ถูกนำมาจำนำ 1,305,781 รายการ ลดลงจากปี 2562 ถึง 4.74% (ปี 2562 มี 1,370,703 รายการ) แต่หากคิดเป็นจำนวนเงินจะพบว่า ทรัพย์จำนำในปี 2563 คิดเป็นมูลค่า 19,582.45 ล้านบาท สูงกว่าปี 2562 ถึง 70.57 ล้านบาท (ปี 2562 เป็น 19,511.88 ล้านบาท) หรือ 0.36%

นอกจากการจำนำจะลดลงแล้ว ยังพบว่าการไถ่ถอนยังมีมากขึ้นอีกด้วย โดยการไถ่ถอนเพิ่มขึ้น 2.52% ทรัพย์หลุดจำนำลดลง 41.53%  โดยในปี 2563 มีการไถ่ถอนทรัพย์เป็นจำนวน 1,332,367 รายการ คิดเป็นมูลค่า 19,748.48 ล้านบาท ซึ่งมีการไถ่ถอนมากกว่าปี 2562 ที่มีการไถ่ถอน 1,299,584 รายการ คิดเป็นมูลค่า 18,619.57 ล้านบาท

นอกจากนี้ในปี 2563 ยังมีทรัพย์หลุดจำนำ 41,520 รายการ คิดเป็นมูลค่า 490.78 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าในปี 2562 ที่มีทรัพย์หลุดจำนำ 71,012 รายการ คิดเป็นมูลค่า 961.08 ล้านบาท ทำให้ในปี 2563 มีทรัพย์จำนำคงเหลือ 325,662 รายการ คิดเป็นมูลค่า 4,903.04 ล้านบาท

ใครกันที่ต้องพึ่งโรงรับจำนำ

คนไทยนิยมใช้โรงรับจำนำในการหาทางออกสภาพคล่องทางการเงินเฉพาะหน้า เนื่องด้วยอัตราดอกเบี้ยถูก ได้เงินเร็ว โดยที่ทรัพย์สินไม่สูญหาย และสามารถไถ่คืนได้ ที่สำคัญคือไม่ต้องมีคนค้ำประกัน สามารถใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวได้ 

หากมองไปยังกลุ่มอาชีพที่ใช้โรงรับจำนำเป็นทางออกในการหาสภาพคล่องทางการเงินเฉพาะหน้า จากข้อมูลของสถาบันธนานุเคราะห์จะพบว่าในปี 2563 ที่ผ่านมา กลุ่มอาชีพของผู้รับจำนำที่มีมากที่สุดคือ รับจ้าง 1,126,327 ราย รองลงมาก็คือพ่อบ้านแม่บ้าน 89,667 ราย ค้าขาย 56,643 ราย ข้าราชการ 15,908 ราย นิสิต นักศึกษา 12,499 ราย พนักงานรัฐวิสาหกิจ 3,227 ราย และเกษตรกร 1,510 ราย

ความน่าสนใจของกลุ่มอาชีพที่นำทรัพย์สินมาจำนำในปี 2563 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ก็คือ อาชีพรับจ้าง พ่อบ้านแม่บ้าน และข้ารชการนั้นมีจำนวนที่ลดลง ส่วนนิสิตนักศึกษานั้นลดลงเล็กน้อย ในขณะที่อาชีพค้าขาย พนักงานรัฐวิสาหกิจและเกษตรกร มีจำนวนเพิ่มขึ้น 

ในส่วนของทรัพย์สินที่นำมาจำนำนั้นพบว่า อันดับหนึ่งคือทรัพย์สินประเภท ทอง นาก เพชร และเครื่องรูปพรรณ จำนวน 1,274,769 ราย คิดเป็นมูลค่า 19,493.83 ล้านบาท อันดับสองคือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มือถือ 11,024 รายการ คิดเป็นมูลค่า 29.08 ล้านบาท อันดับสามคือ นาฬิกาข้อมือ 8,246 รายการ คิดเป็นมูลค่า 37.44 ล้านบาท อันดับสี่คือ เครื่องมือช่าง ปากกา กล้องถ่ายรูป 5,333 รายการ คิดเป็นมูลค่า 8.03 ล้านบาท อันดับห้าคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า 4,105 รายการ คิดเป็นมูลค่า 7.87 ล้านบาท อันดับหกคือ เงินรูปพรรณ 1,233 รายการ คิดเป็นมูลค่า 4.43 ล้านบาท อันดับเจ็ดคือ เครื่องดนตรี 1,012 รายการ คิดเป็นมูลค่า 1.62 ล้านบาท และอันดับแปดคือ เครื่องมือการเกษตร 59 รายการ คิดเป็นมูลค่า 0.15 ล้านบาท

ความน่าสนใจของประเภททรัพย์สินที่นำมาจำนำในปี 2563 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ก็คือ ในส่วนของทอง นาก เพชร และเครื่องรูปพรรณ มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด จาก 1,341,037 รายการในปี 2562 เหลือเพียง 1,274,769 ราย ในขณะที่เงินรูปพรรณและเครื่องมือการเกษตรนั้นลดลงเล็กน้อย ส่วนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นก็คือเครื่องดนตรี เครื่องมือช่าง นาฬิกาข้อมือ ในขณะที่เครื่องใช้ไฟฟ้า มือถือ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

หากภาพจำของโรงรับจำนำของคนไทยคือช่วงเปิดเทอมที่พ่อแม่จะต้องนำทรัพย์สินมาจำนำเพื่อนำเงินไปสร้างสภาพคล่องให้ครอบครัวในช่วงที่มีค่าใช้จ่ายทั้งค่าเล่าเรียน อุปกรณ์การเรียน ค่ากินอยู่ใช้จ่าย ฯลฯ แต่โดยสถิติของสำนักงานธนานุเคราะห์นั้นพบว่า เดือนที่การจำนำมากที่สุดคือ มกราคม จำนวน 125,620 ราย และเป็นเดือนที่มีการไถ่ถอนมากที่สุดด้วยเช่นกัน จำนวน 124,470 ราย ส่วนเดือนที่มีการจำนำน้อยที่สุดคือ พฤษภาคม จำนวน 90,806 ราย และเดือนที่มีการไถ่ถอนน้อยที่สุดคือ กันยายน 85,094 ราย

ข้อมูลจาก 

pawn.co.th

lgp.go..th

dataforthai.com 

ดูข้อมูลโรงรับจำนำ ที่ https://rocketmedialab.co/database-pawn-shop/

คุณอาจสนใจ