Connect with us

Hi, what are you looking for?

politics

ส่องความสัมพันธ์ผู้สมัครนายก อบจ.2563-พรรคการเมือง

ภาพโดย OpenClipart-Vectors จาก Pixabay

เป็นเวลา 6 ปีแล้วที่ประเทศไทยไม่ได้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น หลังจากถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ซึ่งเข้ามาปกครองประเทศด้วยการรัฐประหารในปี 2557 ระงับการเลือกตั้งท้องถิ่นไว้

โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา มีข่าวลือว่ารัฐบาลโดยการนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ซึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใต้พรรคพลังประชารัฐจากการเลือกตั้งในปี 2562 ด้วยกติกาการโหวตนายกรัฐมนตรีแบบใหม่ จะประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นภายในเดือนธันวาคมปี 2563 (ตามข่าวลือที่มีการนำเสนอโดยสื่อมวลชนคือวันที่ 13 ธันวาคม 2563) 

จากนั้นในวันที่ 9 ตุลาคม คณะก้าวหน้า ได้มีการประกาศเตรียมส่งว่าที่ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจำนวน 32 คน (ล่าสุดทางคณะก้าวหน้าประกาศผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในนามคณะก้าวหน้าทั้งหมดจำนวน 42 คน) จากนั้นในวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ก็มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นโดยจะจัดขึ้นในวันที่ 20 ธันวาคม 

ตามมาด้วยในวันที่ 28 ตุลาคม เมื่อพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคใหญ่ในซีกรัฐบาลที่ทำการบริหารประเทศอยู่ในขณะนี้มีมติไม่ส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในนามพรรค โดยเกรงว่าจะผิดกฎหมายการเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 34 ที่ระบุว่า

“ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ กระทำการใดใดโดยมิชอบ ด้วยหน้าที่ และอำนาจอันเป็นการกลั่นแกล้งผู้สมัครใด หรือดำเนินการใดใด ที่เป็นคุณ หรือเป็นโทษ แก่ผู้สมัครใด ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง มอบหมาย มีอำนาจสั่งให้ยุติ หรือระงับการกระทำนั้นได้” 

ในขณะที่พรรคเพื่อไทยนั้น ‘ประกาศ’ ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศเป็นจำนวน 25 คน ส่วนพรรคภูมิใจไทยไม่ได้มีมติออกมาอย่างเป็นทางการว่าจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ มีแต่เพียงการประกาศห้ามใช้โลโก้พรรคในการหาเสียง พรรคประชาธิปัตย์ก็ประกาศส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเพียงสองจังหวัดเท่านั้น ก็คือสงขลาและสตูล และไม่ปรากฏว่าพรรคอื่นๆ มีการประกาศอย่างเป็นทางการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคแต่อย่างใด

กฎหมายการเลือกตั้งและการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์

จากการที่พรรคพลังประชารัฐมีมติไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง อบจ. เนื่องจากมีความกังวลว่า จะสุ่มเสี่ยงการกระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะมาตรา 34 ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ซึ่งกำหนดข้อห้ามในการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอย่างเคร่งครัด โดยกำหนดให้ข้าราชการการเมือง, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่สามารถหาเสียงเลือกตั้งช่วยผู้สมัครได้ 

โดยเฉพาะประเด็นการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ (โซเชียลมีเดีย) ที่ห้ามบุคคลข้างต้นกดไลก์กดแชร์ ข้อความการหาเสียงของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง อบจ. หากกระทำถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย นอกจากนี้ การหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ยังต้องดำเนินการตามระเบียบและคิดเป็นค่าใช้จ่ายตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดอีกด้วย

จึงทำให้พรรคการเมืองหลายพรรคมีมติไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในนามพรรคการเมืองในการเลือกตั้งในครั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง อันจะนำไปสู่การร้องเรียน ตรวจสอบ และตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งได้ จึงทำให้เกิดผู้สมัครรับเลือกตั้งในนาม ‘อิสระ’ มากกว่าในนามพรรคการเมือง

จากงดที่แปลว่าทำได้อยู่ สู่คำว่า “อิสระ” ที่อาจแปลได้ว่า “มีพรรคการเมืองสนับสนุน”

ในการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นครั้งนี้ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั้งหมด 335 คน ผ่านการตรวจสอบและรับสมัคร 332 คน ไม่ผ่าน 3 คน คือ นางนันทิยา วงศ์วานิชย์ ผู้สมัครในจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายสุนทร ใจแก้ว ผู้สมัครในจังหวัดลำปาง และนายวิชัย สีนูเดช ผู้สมัครในจังหวัดสกลนคร 

จากการทำข้อมูลของ Rocket Media Lab บริษัททำงานด้านข้อมูลเพื่อการสื่อสารมวลชน ในการสืบค้นว่าในการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดในครั้งนี้ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวนเท่าใด จากพรรคการเมืองใดบ้างตามที่พรรคประกาศอย่างเป็นทางการ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวนเท่าใด ที่ลงสมัครในนาม “อิสระ” แต่อาจมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง โดยอาศัยการชี้วัดจากความสัมพันธ์ในอดีตจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น การสังกัดพรรคการเมือง, การเคยลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคการเมืองนั้น, มีคู่สมรส บุตร ญาติ อยู่ในพรรคการเมืองนั้น, เป็นผู้ให้การสนับสนุนพรรคการเมืองนั้นๆ ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการหาเสียงเลือกตั้ง เงินทุน ฯลฯ หรือมีความสัมพันธ์กับนักการเมืองในพรรคนั้นๆ อย่างใกล้ชิด อันเป็นวิถีทางที่สื่อมวลชนหลายสำนักใช้กันในการนำเสนอข่าว และมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นจำนวนเท่าใดที่ถือว่าเป็นผู้สมัครอิสระ/นักการเมืองท้องถิ่น หรือผู้ที่ไม่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองได้อย่างชัดเจน 

พบว่าในการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดในครั้งนี้ นอกจากผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีการประกาศจากพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีเพียง 3 กลุ่มเท่านั้น รวมเป็นจำนวน 69 คน แบ่งเป็นพรรคเพื่อไทยจำนวน 25 คน คณะก้าวหน้าจำนวน 42 คน และพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 2 คน ยังมีผู้สมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งนายก อบจ. ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองทั้งหมด 17 พรรคการเมือง รวมเป็นจำนวน 157 คน และอีกหนึ่งกลุ่มที่ถือเป็นผู้สมัครอิสระ/นักการเมืองท้องถิ่นหรือผู้ที่ไม่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองได้อย่างชัดเจน จำนวน 106 คน

โดยจากผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ทั้ง 332 คนทั่วประเทศ สามารถแยกเป็นรายพรรคการเมืองและผู้สมัครอิสระ/นักการเมืองท้องถิ่นได้ดังนี้ 

จากการทำข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า แม้พรรคเพื่อไทยจะประกาศส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. อย่างเป็นทางการเพียงแค่ 25 คน แต่จากข้อมูลยังปรากฏว่า มีผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่นๆ ที่แม้จะไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่พรรคประกาศอย่างเป็นทางการแต่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทยอีก 30 คน รวมเป็น 55 คน เช่น นายชัยศิริ ศุภรักษ์จินดา ผู้สมัครในจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งลงในนามอิสระ แต่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทย โดยในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วในปี 2555 ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทย 

เช่นเดียวกันกับคณะก้าวหน้า ที่แม้ไม่ใช่พรรคการเมือง แต่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับอดีตพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน โดยคณะก้าวหน้าประกาศส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ในนามคณะก้าวหน้า 42 คน แต่จากข้อมูลยังปรากฏว่า มีผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่นๆ ที่แม้จะไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่คณะก้าวหน้าประกาศอย่างเป็นทางการแต่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับอดีตพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล หรือคณะก้าวหน้าอีก 10 คน รวมเป็น 52 คน เช่น นายวินิจ จินใจ ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. จังหวัดเชียงใหม่ จากกลุ่มเชียงใหม่ก้าวใหม่ ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ที่ประกาศชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ในนามพรรคเพียง 3 จังหวัดนั่นก็คือ นายเกตุชาติ เกศา ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. จังหวัดสตูล นายไพเจน มากสุวรรณ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. จังหวัดสงขลา และนาย นายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว จังหวัดสุราฎร์ธานี 

ในขณะที่พรรคที่ประกาศไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคอย่าง พรรคพลังประชารัฐ จากข้อมูลการเชื่อมโยงความสัมพันธ์พบว่า มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคพลังประชารัฐจำนวน 40 คน เช่น นายอัครา พรหมเผ่า ผู้สมัครนายก อบจ. พะเยา จากกลุ่มฮักพะเยา ซึ่งเป็นน้องชายของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สังกัดพรรคพลังประชารัฐ

เช่นเดียวกันกับพรรคภูมิใจไทยที่ประกาศไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคอย่างเป็นทางการ จากข้อมูลการเชื่อมโยงความสัมพันธ์พบว่า มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคภูมิใจไทย 25 คน เช่น นายภุชงค์ วรศรี  หัวหน้ากลุ่ม “ภูมิใจพัทลุง“ ผู้สมัครนายก อบจ.พัทลุง ซึ่งมีนางนาที รัชกิจประการ อดีต ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย มาช่วยลงพื้นที่หาเสียงให้ 

การเมืองท้องถิ่น VS การเมืองระดับประเทศ

แม้ในอดีตจะมีคำกล่าวว่าการเมืองท้องถิ่นนั้นค่อนข้างจะแยกขาดจากการเมืองระดับประเทศ เนื่องด้วยการเมืองท้องถิ่นขึ้นอยู่กับบุคคลมากกว่าพรรคการเมือง ถึงแม้ว่าในหลายพื้นที่นักการเมืองท้องถิ่นจะมีความเชื่อมโยงผูกพันกับนักการเมืองระดับชาติ หรือพรรคการเมืองก็ตาม ดังจะเห็นได้จากข้อมูลของ Rocket Media Lab กับผลข้อมูลการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างอดีตนายก อบจ. และพรรคการเมือง ถึงแม้ว่าในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาในปี 2555 นั้น จะยังไม่มีพรรคการเมืองที่ชื่อ “พลังประชารัฐ” ก็ตาม 

แต่จากการทำข้อมูลการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของ Rocket Media Lab จะพบว่า มีพื้นที่ 19 จังหวัดเลยทีเดียว ที่นายก อบจ. มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคพลังประชารัฐ อันเนื่องมาจากการเลือกตั้งปี 2562 และการขึ้นมาเป็นพรรคผู้นำรัฐบาล ที่ทำให้นักการเมืองท้องถิ่นหรือแม้แต่นักการเมืองพรรคต่างๆ เปลี่ยนขั้วทางการเมือง ยกตัวอย่างเช่น ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ อดีตนายก อบจ. จังหวัดสุโขทัย ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายก อบจ. ก่อนจะมีพรรคพลังประชารัฐ และต่อมาก็ได้ลาออกจากการเป็นนายก อบจ. เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2562 ในนามพรรคพลังประชารัฐ 

นอกจากนี้ การรัฐประหารในปี 2557 ทำให้มีการแบ่งขั้วอุดมการณ์ทางการเมืองและขั้วพรรคการเมือง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พรรคการเมืองมีผลต่อการตัดสินใจในการลงคะแนนเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น เช่นเดียวกันกับการก่อกำเนิดพรรคการเมืองใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นพรรคก้าวหน้า ในขณะที่อดีตนักการเมืองพรรคอนาคตใหม่กลายมาเป็น “คณะก้าวหน้า” ซึ่งส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ด้วย จึงทำให้เห็นได้ว่า การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในครั้งนี้ เป็นการต่อสู้กันของพรรคการเมืองระดับประเทศด้วย ไม่ใช่เพียงแค่การต่อสู้กันของตัวบุคคลในท้องถิ่นเท่านั้น 

จากการทำข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งนายก อบจ. ในการเลือกตั้งครั้งนี้จำนวน 332 คน แบ่งจำนวนเป็นพรรคต่างๆ ทั้งโดยที่พรรคประกาศอย่างเป็นทางการและการทำข้อมูลแบบเชื่อมโยงความสัมพันธ์ ซึ่งพบว่าในระดับจำนวนผู้สมัครนายก อบจ. นั้น พรรคที่ส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งมากที่สุดก็คือพรรคเพื่อไทย จำนวน 55 คน คิดเป็น 16.57% ตามมาด้วยคณะก้าวหน้า+ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคก้าวไกลและอดีตพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 52 คน คิดเป็น 15.66% อันดับสามคือพรรคพลังประชารัฐ ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคพลังประชารัฐ จำนวน 40 คน คิดเป็น 12.05%

อันดับสี่คือ พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีจำนวนผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในแบบที่ประกาศอย่างเป็นทางการโดยพรรคและในแบบที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคจำนวน 26 คน คิดเป็น7.83% และอันดับห้า พรรคภูมิใจไทย มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคจำนวน 25 คน คิดเป็น 7.53% ของผู้สมัครทั้งประเทศ 

และนอกจากนี้ หากพิจารณาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรค ยังพบว่ามีจำนวนสูงกว่าผู้สมัครอิสระ/นักการเมืองท้องถิ่น หรือผู้ที่ไม่พบความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัยพรรคการเมืองอีกด้วย โดยผู้สมัครอิสระ/นักการเมืองท้องถิ่น หรือผู้ที่ไม่พบความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัยพรรคการเมือง มีจำนวน 107 คน หรือคิดเป็น 32.23% ของผู้สมัครทั้งประเทศ

การแข่งขันในระดับภาค

หากมองการแข่งขันของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การปกครองท้องถิ่นครั้งนี้ในระดับภาค จากข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า ภาคเหนืออันเป็นพื้นที่คะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทย โดยในชุดข้อมูลการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของอดีตนายก อบจ. กับพรรคการเมืองนั้น พบว่าใน 9 จังหวัดในภาคเหนือ เป็นพื้นที่ความสัมพันธ์ของพรรคเพื่อไทยถึง 8 จังหวัด และในการเลือกตั้งครั้งนี้ ภาคเหนือมีจำนวนผู้สมัครนายก อบจ. ทั้งหมด 40 คน  แบ่งออกเป็น

พรรคเพื่อไทยทั้งแบบที่ประกาศอย่างเป็นทางการโดยพรรคจำนวน 6 คนและในแบบที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคอีก 5 คน รวมทั้งหมด 11 คน คิดเป็น 27.50% ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับพรรคอื่นๆ รองลงมาคือ คณะก้าวหน้าแบบที่ประกาศอย่างเป็นทางการจำนวน 3 คน และในแบบที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรค/คณะ อีก 2 คน รวมทั้งหมด 5 คน คิดเป็น 12.50% ซึ่งเท่ากับพรรคพลังประชารัฐ

เช่นเดียวกันกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งหลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2562 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นไม่ได้เป็นพื้นที่ที่เป็นฐานคะแนนเสียงโดยส่วนใหญ่ของพรรคเพื่อไทยเพียงเท่านั้น แต่ยังกระจายไปยังพรรคการเมืองอื่นๆ ทั้งพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และเมื่อพิจารณาจากชุดข้อมูลการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของอดีตนายก อบจ. กับพรรคการเมืองของ Rocket Media Lab จะพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 20 จังหวัด เป็นพื้นที่ฐานคะแนนเสียงของพรรคพลังประชารัฐสูงถึง 8 จังหวัด ตามมาด้วยพรรคเพื่อไทย 6 จังหวัด และพรรคภูมิใจไทย 5 จังหวัด

และในการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดในครั้งนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนผู้สมัครนายก อบจ. ทั้งหมด 111 คน  แบ่งออกเป็น พรรคเพื่อไทยแบบที่ประกาศอย่างเป็นทางการโดยพรรคจำนวน 10 คนและในแบบที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคอีก 9 คน รวมทั้งหมด 19 คน คิดเป็น 17.12% ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับพรรคอื่นๆ รองลงมาคือ คณะก้าวหน้าแบบที่ประกาศอย่างเป็นทางการจำนวน 13 คน และในแบบที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรค/คณะ อีก 5 คน รวมทั้งหมด 18 คน คิดเป็น 16.22% ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐและภูมิใจไทยเท่ากันที่จำนวน 10 คน คิดเป็น 9% โดยมีข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือในขณะที่ภาคเหนือนั้น จากการทำข้อมูลไม่ปรากฏผู้สมัครที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคภูมิใจไทยเลย

สำหรับภาคกลาง จำนวน 21 จังหวัด มีผู้สมัครนายก อบจ. ทั้งหมด 89 คน ซึ่งพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. มากที่สุดก็คือ คณะก้าวหน้า ในแบบที่ประกาศอย่างเป็นทางการโดยพรรคจำนวน 15 คนและในแบบที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคอีก 1 คน รวมทั้งหมด 16 คน คิดเป็น 17.98% (ไม่ได้กำหนดว่าจังหวัดใดอยู่ภาคใดตามที่คณะก้าวหน้าประกาศ) รองลงมาก็คือพรรคเพื่อไทย ในแบบที่ประกาศอย่างเป็นทางการโดยพรรคจำนวน 7 คนและในแบบที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคอีก 8 คน รวมทั้งหมด 15 คน คิดเป็น 16.85%

อันดับสามคือพรรคพลังประชารัฐ จำนวน 12 คน คิดเป็น 13.48 % อันดับสี่คือพรรคภูมิใจไทย จำนวน 8 คน คิดเป็น 8.99% และอันดับห้าคือพรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน 4  คน  คิดเป็น 4.49% โดยพรรคชาติไทยพัฒนามีฐานคะแนนเสียงอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม อ่างทอง และอุทัยธานี

ภาคตะวันออก 7 จังหวัด มีจำนวนผู้สมัครนายก อบจ. ทั้งหมด 25 คน  แบ่งออกเป็นอันดับหนึ่ง พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 5 คน คิดเป็น 20% รองลงมาคือ คณะก้าวหน้าในแบบที่พรรคประกาศอย่างเป็นทางการจำนวน 4 คน คิดเป็น 16% อันดับสามคือพรรคเพื่อไทย ในแบบที่พรรคประกาศอย่างเป็นทางการจำนวน 2 คน และแบบเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับพรรคอีก 2 คน รวมทั้งหมด 4 คน คิดเป็น 16% พรรคประชาธิปัตย์ในแบบเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับพรรค 2 คน คิดเป็น 8%  และนอกจากนั้นยังมีพรรคภูมิใจไทย 1 คน คิดเป็น 4% และนักการเมืองท้องถิ่น/ผู้สมัครอิสระ หรือผู้สมัครที่ไม่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับพรรคได้อย่างแน่ชัด จำนวน 9 คน คิดเป็น 36%

ภาคตะวันตก 5 จังหวัด มีจำนวนผู้สมัครนายก อบจ. ทั้งหมด 14 คน  แบ่งออกเป็น อันดับหนึ่ง พรรคเพื่อไทย ทั้งในแบบที่พรรคประกาศ อย่างเป็นทางการ 1 คน และในแบบเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับพรรคอีก 3 คน รวมทั้งหมด 4 คน คิดเป็น 28.57%  อันดับสองคือ พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 3 คน คิดเป็น 21.43% อันดับสามคณะก้าวหน้าในแบบที่พรรคประกาศอย่างเป็นทางการ 2 คน คิดเป็น 14.29% อันดับสี่ พรรคประชาธิปัตย์ ในแบบเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับพรรค จำนวน 2 คน คิดเป็น 14.29% และที่เหลือคือผู้สมัครอิสระ/นักการเมืองท้องถิ่น หรือผู้สมัครที่ไม่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับพรรคได้อย่างแน่ชัด จำนวน 3  คน คิดเป็น 21.43% โดยภาคตะวันตก มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. เพชรบุรีเพียงคนเดียว นั่นก็คือนายชัยยะ อังกินันทน์ ทีมเพชรรวมใจ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพรรคพลังประชารัฐ จากการเชื่อมโยงความสัมพันธ์โดยภรรยา นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน

ภาคใต้ 14 จังหวัด มีจำนวนผู้สมัครนายก อบจ. ทั้งหมด 53 คน แบ่งออกเป็น อันดับหนึ่งพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีฐานคะแนนเสียงส่วนมากอยู่ในภาคใต้ และประกาศส่งผู้สมัครในแบบทางการโดยพรรคเพียง 3 จังหวัดภาคใต้เท่านั้น ก็คือสงขลา สุราษฎร์ธานี และสตูล แต่ในขณะเดียวกัน จากการทำข้อมูลโดย Rocket Media Lab ก็ปรากฏผู้สมัครในแบบเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับพรรคประชาธิปัตย์อีกจำนวน 11 คน รวมทั้งหมด 14 คน คิดเป็น 26.41%

รองลงมาคือคณะก้าวหน้าในแบบประกาศอย่างเป็นทางการจากพรรคจำนวน 5 คน และแบบเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับพรรคอีก 2 คน รวมทั้งหมด 7 คน คิดเป็น 13.20% อันดับสามคือพรรคภูมิใจไทย จำนวน 6 คน คิดเป็น 11.32% อันดับสี่คือพรรคพลังประชารัฐ จำนวน 5 คน คิดเป็น  9.43% อันดับห้าคือพรรคประชาชาติ 4 คน คิดเป็น 7.55% โดยภาคเหนือและภาคใต้มีความหลากหลายของพรรคการเมืองมากที่สุดเท่ากันที่ 10 พรรคการเมือง 

“แอบ” ในแบบอิสระ 

ภายใต้ข้อกฎหมายพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 34 ที่มีความเข้มงวดในการห้ามไม่ให้ข้าราชการการเมือง, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่รัฐ หาเสียงช่วยผู้สมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ ที่ทำให้พรรคการเมืองเปลี่ยนรูปแบบในการลงมาเล่นการเมืองท้องถิ่น ซึ่งก็มีทั้งการประกาศสนับสนุนจากพรรคการเมืองว่าเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคอย่างเป็นทางการ และในแบบการสนับสนุนทางอ้อม ดังเช่นที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้วนั้น

แม้การทำข้อมูลของ Rocket Media Lab ในครั้งนี้ กับความพยายามเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. และพรรคการเมืองจากข่าวในอดีตเท่านั้น อาจจะไม่สามารถชี้ชัดได้ 100% ดังเช่นการลงสมัครรับเลือกตั้งภายใต้สังกัดพรรคการเมืองดังเช่นที่ผ่านมา และตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งเองก็อาจจะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์และขั้วการเมืองได้ทุกเมื่อ แต่ผลจากการทำข้อมูลนั้นก็ทำให้เห็นได้ว่า การเมืองระดับประเทศ หรือพรรคการเมืองระดับประเทศยังคงมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเมืองระดับท้องถิ่น แม้ในยามที่ข้อจำกัดของกฎหมายจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ “แอบ” ในนามผู้สมัครอิสระก็ตาม และดูเหมือนว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้ พรรคการเมืองระดับประเทศ โดยเฉพาะพรรคขนาดใหญ่ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างขั้วกัน จะยิ่งแข่งขันกันมากขึ้น ในยามที่อุดมการณ์ทางการเมืองกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกที่จะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนพรรคใด มากกว่านโยบายตัวบุคคลในระดับท้องถิ่น 

ซึ่งผลการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในครั้งนี้ อาจจะเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนการเมืองระดับชาติได้เป็นอย่างดี ด้วยเพราะไม่ได้มีการเลือกตั้งมานานถึง 6 ปี รวมไปถึงในยามที่สถานการณ์การเมืองร้อนแรงเช่นนี้ก็เป็นได้ 

หมายเหตุ: 

สามารถดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://tinyurl.com/pao-candidates 

คุณอาจสนใจ