Connect with us

Hi, what are you looking for?

politics

ครม. เศรษฐา 1 : หน้าตา ครม. เป็นอย่างไร เหมือนหรือต่างจาก ครม. ในอดีตอย่างไรบ้าง

  • รัฐมนตรีใน ครม. เศรษฐา 1 มาจากการเป็น สส. ทั้งสองแบบทั้งแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อในสัดส่วนใกล้เคียงกัน อันเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดไว้ว่ารัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องลาออกจากการเป็น สส. 
  • ในขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดไว้ว่ารัฐมนตรีจะต้องลาออกจากการเป็น สส. จนทำให้คณะรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งในปี 2544 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นครั้งแรกนั้นมาจาก สส. แบบบัญชีรายชื่อมากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดการเลือกตั้งซ่อม และสูญเสียเก้าอี้ สส. ในสภา 
  • ครม. เศรษฐา 1 มีรัฐมนตรีที่ไม่เคยลงสมัคร สส. เลยทั้ง 6 คน หรือจะเรียกว่ารัฐมนตรีคนนอกก็ได้ ส่วนมากมักจะเกิดขึ้นกับกระทรวงที่ต้องใช้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ หรือ ‘เทคโนแครต’ มาทำหน้าที่รัฐมนตรี โดยเฉพาะกระทรวงการคลังหรือกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นกระทรวงที่ใช้รัฐมนตรีคนนอกมากที่สุดในการจัดตั้ง ครม. ที่ผ่านๆ มาด้วย
  • มีรัฐมนตรีที่ลงสมัคร สส. ในการเลือกตั้งปี 2566 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง 3 คน ซึ่ง 2 ใน 3 คน ที่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยนั้นลงสมัครในแบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ท้ายๆ คือ จักรพงษ์ แสงมณี เป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ในปี 2561 และ พวงเพ็ชร ชุนละเอียด นั้นพบว่าเป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 
  • ครม. เศรษฐา 1 ทั้ง 34 คน มีถึง 15 คนที่เคยย้ายพรรคมาก่อน และมีรัฐมนตรีที่เคยทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีมาก่อนจำนวน 14 คน 

หลังจากมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ทั้ง 34 คน ในรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาด้วยกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งในประเด็นเรื่องจำนวนโควต้ารัฐมนตรีที่พรรคต่างๆ ได้ไปในแต่ละกระทรวง ความเหมาะสม ความเชี่ยวชาญต่างๆ ของรัฐมนตรีในแต่ละตำแหน่ง ฯลฯ Rocket Media Lab ชวนสำรวจประวัติทางการเมืองของรัฐมนตรีในรัฐบาลเศรษฐา 1 โดยอาศัยฐานข้อมูลประวัตินักการเมืองจากโครงการ Demo Thailand เพื่อดูว่ารัฐมนตรีคนไหนเคยย้ายพรรคมาจากพรรคไหนบ้าง เคยลงสมัคร สส. มาแล้วกี่ครั้ง ได้เป็น สส. มาแล้วกี่สมัย หรือใครที่ไม่เคยเป็น สส. เลยแต่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี

จากข้อมูลคณะรัฐมนตรีทั้งหมด 34 คน ที่ได้รับการการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สามารถแยกประเภทรัฐมนตรีออกเป็น 5 ประเภท คือ 

  1. รัฐมนตรีจาก สส.บัญชีรายชื่อ 12 คน
  2. รัฐมนตรี จาก สส.แบ่งเขต 10 คน 
  3. รัฐมนตรีที่ไม่เคยสมัคร สส. 6 คน 
  4. รัฐมนตรีที่เคยสมัคร สส. แต่ไม่สมัคร ปี 2566 3 คน 
  5. รัฐมนตรีที่สมัคร สส. ปี 2566 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง 3 คน

และเมื่อพิจารณารัฐมนตรีในแบบที่ 1 ที่มาจากการเป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อ 12 คน จะพบว่ามาจากพรรคเพื่อไทย 6 คน ได้แก่ เกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย, ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์, สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี, สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.ท่องเที่ยว, สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม และ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม

พรรคภูมิใจไทย 2 คน คือ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย, ทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย

พรรครวมไทยสร้างชาติ 1 คน คือ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. พลังงาน 

พรรคพลังประชารัฐ 1 คน คือ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข 

พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน คือ วราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคม

พรรคประชาชาติ 1 คน คือ ทวี สอดส่อง รมว. ยุติธรรม 

ส่วนในแบบที่ 2 รัฐมนตรี ที่มาจากการเป็น สส. แบบแบ่งเขต 10 คน จะพบว่ามาจากพรรคเพื่อไทย 5 คน ได้แก่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง, ชลน่าน ศรีแก้ว รมว. สาธารณสุข, ไชยา พรหมา รมช. เกษตรฯ, ประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว. ดิจิทัลฯ, มนพร เจริญศรี รมช. คมนาคม

พรรคภูมิใจไทย 2 คน ได้แก่ ชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช. มหาดไทย, สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช. ศึกษาธิการ

พรรครวมไทยสร้างชาติ 2 คน ได้แก่ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว. อุตสาหกรรม, อนุชา นาคาศัย รมช. เกษตรฯ 

พรรคพลังประชารัฐ 1 คน ได้แก่ ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว. เกษตรฯ 

แบบที่ 3 รัฐมนตรีที่ไม่เคยลงสมัคร สส. 6 คน จะพบว่ามาจากพรรคเพื่อไทย 2 คน ได้แก่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว. คลัง, เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว. วัฒนธรรม 

พรรคภูมิใจไทย 2 คน ได้แก่ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว. แรงงาน, เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว. ศึกษาธิการ 

พรรคพลังประชารัฐ 1 คน ได้แก่ พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ

พรรครวมไทยสร้างชาติ 1 คน ได้แก่ กฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง

แบบที่ 4 รัฐมนตรีที่เคยลงสมัคร สส. แต่ในการเลือกตั้งปี 2566 ไม่ได้ลงสมัคร 3 คน จะพบว่ามาจากพรรคเพื่อไทย 2 คน ได้แก่ นภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ ซึ่งเป็นอดีต สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ปี 2554, สุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ซึ่งเป็นอดีต สส. แบบแบ่งเขต พรรคเพื่อไทย ปี 2554

พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน ได้แก่ ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ซึ่งเป็นอดีต สส. บัญชีรายชื่อพรรคชาติไทย ปี 2544

และแบบที่ 5 รัฐมนตรีที่ลงสมัคร สส. ในการเลือกตั้งปี 2566 ไม่ว่าแบบใด แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง 3 คน จะพบว่ามาจากพรรคเพื่อไทย 2 คน คือ จักรพงษ์ แสงมณี รมช. ต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 92 ของพรรคเพื่อไทย และพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมต. สำนักนายกฯ ซึ่งเป็นผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 98 ของพรรคเพื่อไทย 

พรรคภูมิใจไทย 1 คน ได้แก่ ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อุดมศึกษา ซึ่งเป็นผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 10 ของพรรคภูมิใจไทย 

ความน่าสนใจเมื่อเราแยกประเภทของคณะรัฐมนตรีก็คือ ในส่วนของแบบที่ 1 และแบบที่ 2 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่มาจากการเป็น สส. ทั้งสองแบบ ซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน อันเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดไว้ว่ารัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องลาออกจากการเป็น สส. ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญในปี 2540 ที่กำหนดไว้ว่ารัฐมนตรีจะต้องลาออกจากการเป็น สส. จนทำให้คณะรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งในปี 2544 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ใช้รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นครั้งแรกนั้นมาจาก สส. แบบบัญชีรายชื่อมากที่สุด (อันจะกล่าวถึงในส่วนถัดไป) เพื่อไม่ให้เกิดการเลือกตั้งซ่อม และอาจเสียเก้าอี้ในสภา หากรัฐมนตรีมาจาก สส. แบบแบ่งเขต 

และในส่วนที่ 3 ก็จะพบความน่าสนใจว่า รัฐมนตรีที่ไม่เคยลงสมัคร สส. เลยทั้ง 6 คน หรือจะเรียกว่ารัฐมนตรีคนนอกก็ได้ ส่วนมากมักจะเกิดขึ้นกับกระทรวงที่ต้องใช้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ หรือ ‘เทคโนแครต’ มาทำหน้าที่รัฐมนตรี โดยเฉพาะกระทรวงการคลังหรือกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นกระทรวงที่ใช้รัฐมนตรีคนนอกมากที่สุดในการจัดตั้ง ครม. ที่ผ่านๆ มาด้วย

ส่วนในคณะรัฐมนตรี เศรษฐา 1 ครั้งนี้ ก็ยังพบว่ามีการใช้รัฐมนตรีคนนอกจากกระทรวงการคลังดังเช่นในหลายๆ ครั้ง ทั้งเศรษฐา ทวีสินเอง ซึ่งเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ในขณะที่กฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง แม้ไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ก็เคยเป็นอดีตปลัดกระทรวงการคลังมาก่อน สำหรับเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว. วัฒนธรรม เคยเป็นอดีต รมช. ศึกษาธิการ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาก่อน ส่วนพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว. แรงงาน ก็เคยเป็นอดีต รมว.ท่องเที่ยว ในรัฐบาลประยุทธ์ 2562 

ในส่วนที่ไม่เคยทำงานทางการเมืองโดยตรงมีเพียงเพิ่มพูน ชิดชอบ รมว. ศึกษาธิการ ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้ช่วย ผบ.ตร. และอดีตที่ปรึกษาพิเศษตำรวจมาก่อน รวมทั้งเป็นน้องชายของเนวิน และเป็นพี่ชายของศักดิ์สยาม ชิดชอบ และพัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ เคยเป็นอดีต ผบ.ตร. และที่สำคัญคือเป็นน้องชายพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 

นอกจากนี้ ยังจะเห็นว่ามีการให้ตำแหน่งรัฐมนตรีกับผู้ที่เคยลงสมัคร สส. แต่ในการเลือกตั้งปี 2566 ไม่ได้ลงสมัครอีก 3 คน และผู้ที่ลงสมัคร สส. ในการเลือกตั้งปี 2566 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง 3 คน ซึ่ง 2 ใน 3 คน ที่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยนั้นลงสมัครในแบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ท้ายๆ เลยทีเดียว โดยจากข้อมูลพบว่า จักรพงษ์ แสงมณี เป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ในปี 2561 และได้รับมอบหมายให้ติดตามดูแล เศรษฐา ทวีสิน อย่างใกล้ชิดตั้งแต่ช่วงหาเสียง ส่วนพวงเพ็ชร ชุนละเอียด นั้นพบว่าเป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย มีความใกล้ชิดกับครอบครัวชินวัตร เป็นผู้ที่ไปดูแลทักษิณ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งต้องลี้ภัยไปอาศัยในต่างประเทศ โดยในการเลือกตั้งปี 2566 เป็นผู้สมัครสส. แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 98

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเรื่องการย้ายพรรค จะพบว่าคณะรัฐมนตรีทั้ง 34 คน มีถึง 15 คนที่เคยย้ายพรรคมาก่อน และที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือ จำนวนมากเคยอยู่พรรคไทยรักไทย/พลังประชาชน/เพื่อไทย มาก่อน เช่น ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อุดมศึกษา จากพรรคภูมิใจไทย ก็เคยเป็น สส. แบบแบ่งเขตของพรรคไทยรักไทยในปี 2544 มาก่อน หรือ อนุชา นาคาศัย รมช.เกษตร จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็เคยเป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักไทยในปี 2544 มาก่อน หรือสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข ก็เคยเป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักไทยในปี 2548 มาก่อน เช่นเดียวกัน เรียกได้ว่าแม้จะเป็นคณะรัฐมนตรีจากรัฐบาลผสม แต่ส่วนใหญ่รัฐมนตรีก็เป็นศิษย์เก่าของพรรคไทยรักไทย/พลังประชาชน/เพื่อไทยนั่นเอง 

และหากพิจารณาประวัติการทำงานที่ผ่านมาก็จะพบว่า ครม. 34 คนในรัฐบาลเศรษฐา 1 นี้ มีรัฐมนตรีที่เคยทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีมาก่อนจำนวน 14 คน และมีรัฐมนตรีที่เคยทำงานในกระทรวงนั้นมาแล้วในอดีต เช่น ชลน่าน ศรีแก้ว ซึ่งเคยเป็น รมช.สาธารณสุข ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทรงศักดิ์ ทองศรี อดีต รมช. มหาดไทย ในรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และได้ตำแหน่งเดิมในรัฐบาลนี้ ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมช. เกษตรฯ ในรัฐบาลที่ผ่านมา และได้เขยิบขึ้นมาเป็น รมว. ในรัฐบาลล่าสุดนี้ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว. ท่องเที่ยวฯ ในรัฐบาลที่ผ่านมา และยังคงได้รับตำแหน่งเดิมในรัฐบาลนี้ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ก็เคยเป็น รมว. คมนาคม มาแล้วในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 2 ในขณะที่มีรัฐมนตรีป้ายแดง จำนวน 20 คน 

หน้าตาของคณะรัฐมนตรีที่เปลี่ยนไปตามรัฐธรรมนูญ

หากเราย้อนกลับไปดูหน้าตาของ ครม. ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2544 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้ ซึ่งกำหนดให้ สส. มี 2 แบบ คือแบบแบ่งแขตและแบบบัญชีรายชื่อ อันเป็นระบบที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน โดยในรัฐธรรมนูญ 2540 ได้กำหนดจำนวน สส. เป็นแบบแบ่งเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งเมื่อแยกประเภทรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งปี 2544 ออกมาก็จะพบว่า

การเลือกตั้งปี 2544 มี ครม. 37 คน 

  1. รัฐมนตรีจาก สส. บัญชีรายชื่อ 29 คน
  2. รัฐมนตรีที่ลงสมัคร สส. แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง 6 คน
  3. รัฐมนตรีที่ไม่เคยลงสมัคร สส. 2 คน

นอกจากรัฐธรรมนูญ 2540 จะกำหนดให้มี สส. 2 แบบแล้ว ในมาตรา 118 ยังกำหนดเรื่องสมาชิกภาพของ สส. ไว้ใน (7) อีกด้วยว่าการเป็น สส. จะสิ้นสุดลงหาก สส. คนนั้นไปเป็นรัฐมนตรี ซึ่งทำให้หน้าตาของ ครม. ในการเลือกตั้งปี 2544 เต็มไปด้วย สส. ที่มาจากบัญชีรายชื่อสูงถึง 29 คนและไม่มีรัฐมนตรีที่มาจาก สส. แบบแบ่งเขตเลย เนื่องจากว่า หาก สส. แบบแบ่งเขตได้เป็นรัฐมนตรี จะต้องลาออกจากการเป็น สส. ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองสูญเสียเก้าอี้ในรัฐสภา และจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งซ่อม ในขณะที่รัฐมนตรีที่มาจากคนนอก หรือผู้ที่ไม่เคยลงสมัคร สส. เลยนั้น มีจำนวน 2 คน คือ นที ขลิบทอง รมช. เกษตรฯ ซึ่งเคยเป็นอดีตรักษาการผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย และอดีตเลขาธิการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรมาก่อน และสมบัติ อุทัยสาง รมช. มหาดไทย ซึ่งเคยเป็นอดีตรมช.คมนาคม ในรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา (2538) มาก่อน 

ในขณะที่ในการเลือกตั้งปี 2548 ซึ่งก็ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เช่นเดียวกัน แต่กลับพบว่าหน้าตาของ ครม. ในการเลือกตั้งปี 2548 แตกต่างไปจาก ครม. การเลือกตั้งปี 2544 โดยปรากฏว่า

การเลือกตั้งปี 2548 มีครม. 33 คน 

  1. รัฐมนตรีที่มาจาก สส. บัญชีรายชื่อ 8 คน
  2. รัฐมนตรีที่เคยลงสมัคร สส. แต่ในปี 2548 ไม่ได้ลงสมัคร 16 คน
  3. รัฐมนตรีที่ไม่เคยลงสมัคร สส. เลย 9 คน

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ครม. จากการเลือกตั้งปี 2548 นั้นมีสิ่งที่เหมือนกันกับ ครม. จากการเลือกตั้งปี 2544 คือ ไม่มีรัฐมนตรีที่มาจาก สส. แบบแบ่งเขต ซึ่งมีสาเหตุมาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 เช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือมีรัฐมนตรีที่มาจาก สส. แบบบัญชีรายชื่อน้อยกว่ารัฐมนตรีคนนอก และรัฐมนตรีที่มาจากผู้ที่ลงสมัคร สส. แต่ไม่ได้รับเลือกเสียอีก โดยรัฐมนตรีที่ไม่ได้ลงเลือกตั้ง แต่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีล้วนแล้วแต่เป็น ‘บิ๊กเนม’ ทั้งสิ้น โดยจำนวนมากมาจากพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ได้แก่ ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, วราเทพ รัตนากร, ไชยยศ สะสมทรัพย์, กันตธีร์ ศุภมงคล, ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ, สมศักดิ์ เทพสุทิน, ประชา มาลีนนท์, สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, อดิศร เพียงเกษ, ยงยุทธ ติยะไพรัช และ สุวิทย์ คุณกิตติ

ที่เป็นเช่นนี้มาจากสองสาเหตุด้วยกัน คือ หนึ่งความนิยมในตัวพรรคไทยรักไทยหลังจากที่ชนะการเลือกตั้งและได้เป็นผู้นำรัฐบาลจากการเลือกตั้งปี 2544 ส่งผลให้เมื่อถึงการเลือกตั้งปี 2548 มีผู้ประสงค์อยากจะลงสมัคร สส. ในนามพรรคไทยรักไทยจำนวนมาก และสอง เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่กำหนดให้ สส. ที่เป็นรัฐมนตรีต้องลาออกจากเป็น สส. ซึ่งจะทำให้รัฐมนตรีที่มาจาก สส. แบบแบ่งเขต ต้องลาออกและต้องจัดการเลือกตั้งซ่อม ซึ่งอาจจะทำให้พรรคสูญเสียที่นั่งในสภา และหากเป็นรัฐมนตรีที่มาจาก สส. แบบบัญชีรายชื่อ ก็จะต้องมีการเลื่อนลำดับ 

บุคคลในระดับบิ๊กเนมซึ่งเป็น ‘แกนนำ’ ของพรรคจึงไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อที่จะได้ไม่เกิดปัญหาการต้องลาออกจาการเป็น สส. และเลือกตั้งซ่อม หรือมีการเลื่อนลำดับมากจนเกินไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้น และที่สำคัญก็คือจากความนิยมในตัวพรรคไทยรักไทย ทำให้พรรคมีความมั่นใจในผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ทำให้สุดท้ายแล้วบิ๊กเนมทั้งหลายในระดับแกนนำพรรคจึงไม่ถูกส่งชื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่เมื่อผลการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว ชื่อเหล่านั้นก็กลายมาเป็นตำแหน่งรัฐมนตรี โดยไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง จนทำให้หน้าตาของ ครม. ในการเลือกตั้งปี 2548 มีรัฐมนตรีที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งมากที่สุด 

นอกจากนั้นยังพบว่า ครม. ในการเลือกตั้งปี 2548 นี้ยังมีการใช้รัฐมนตรีคนนอกสูงถึง 9 คนเลยทีเดียว เช่น ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกฯ และรมว. มหาดไทย ซึ่งเคยเป็นอดีตรอง ผบ.ตร. วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ซึ่งเคยได้รับตำแหน่งเดียวกันนี้ในสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 และในกระทรวงที่ต้องใช้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษก็มีการใช้รัฐมนตรีคนนอกอย่าง ทนง พิทยะ รมว. พาณิชย์ ซึ่งเคยเป็นอดีต รมว.คลัง รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช. มหาดไทย ซึ่งเคยเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยมาก่อน หรือ วิเศษ จูภิบาล รมว. พลังงาน ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาลทักษิณ 1 มาก่อน 

หลังจากนั้นในการเลือกตั้งปี 2550 ก็เป็นปีที่ใช้กฏเกณฑ์การเลือกตั้งแบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี 2550 โดยกำหนดให้มี สส. 480 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 400 คน และแบบสัดส่วน 80 คน และเมื่อแยกประเภทรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งปี 2550 ออกมาก็จะพบว่า

การเลือกตั้ง ปี 2550 มีครม. 34 คน 

  1. รัฐมนตรีจาก สส.บัญชีรายชื่อ 11 คน
  2. รัฐมนตรีจากสส. แบ่งเขต 10 คน 
  3. รัฐมนตรีที่ไม่เคยสมัคร สส. 3 คน 
  4. รัฐมนตรีที่เคยสมัคร สส. แต่ไม่ได้สมัครปี 2550 1 คน 
  5. รัฐมนตรีที่สมัคร สส. ปี 2550 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง 9 คน

แต่เนื่องด้วยรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ยกเลิกประเด็นเรื่องการที่ สส. ที่ได้เป็นรัฐมนตรีต้องลาออกจากการเป็น สส. ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ออกไป ทำให้หน้าตาของ ครม. ในการเลือกตั้งปี 2550 มีรัฐมนตรีที่มาจาก สส. แบบแบ่งเขตถึง 10 คน ใกล้เคียงกับรัฐมนตรีที่มาจาก สส. แบบบัญชีรายชื่อที่มี 11 คน ในขณะที่มีการใช้รัฐมนตรีคนนอก 3 คน ซึ่งก็คือ สหัส บัณฑิตกุล รองนายกฯ ซึ่งเคยเป็น อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ฝ่ายโยธา ในสมัยสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯ กทม. พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว. พลังงาน ภรรยาสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และ อุไรวรรณ เทียนทอง อดีต รมว. วัฒนธรรม ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 2 

ในการเลือกตั้งครั้งต่อมาในปี 2554 ซึ่งมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2554 กำหนดให้มี สส. 500 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 375 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 125 คน หน้าตาของ ครม. ในการเลือกตั้งปี 2554 พบว่า 

การเลือกตั้ง ปี 2554 มี ครม. 36 คน

  1. รัฐมนตรีจากสส. บัญชีรายชื่อ 13 คน
  2. รัฐมนตรีจาก สส. แบ่งเขต 15 คน 
  3. รัฐมนตรีที่ไม่เคยสมัคร สส. 5 คน 
  4. รัฐมนตรีที่สมัคร สส. ปี 2554 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง 3 คน

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า แม้สัดส่วนของ สส. แบบแบ่งเเขตและแบบบัญชีรายชื่อจะเปลี่ยนไปจากรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่หน้าตา ครม. ในการเลือกตั้งปี 2554 มีความคล้ายคลึงกันกับหน้าตา ครม. ในการเลือกตั้งปี 2550 คือมีรัฐมนตรีจาก สส. แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน แต่เป็นครั้งแรกที่ ครม. มีรัฐมนตรีที่มาจาก สส. แบบแบ่งเขตมากกว่าบัญชีรายชื่อ ส่วนที่มีความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยก็คือ ครม. ในการเลือกตั้งปี 2554 ใช้รัฐมนตรีจากผู้สมัคร สส. ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งน้อยกว่าในปี 2550 ส่วนรัฐมนตรีคนนอกนั้นมี 5 คน คือ โกวิท วัฒนะ รองนายกฯ ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และอดีต รมว. มหาดไทย ในรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์, กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว. พาณิชย์ ซึ่งเคยเป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยชินวัตร และอดีตกรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) 

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว. คลัง ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สายนโยบายการเงิน และอดีตรองผู้ว่าการเสถียรภาพการเงิน และอดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต., ธีระ วงศ์สมุทร รมว. เกษตรฯ ซึ่งเคยเป็นอดีตรมว.เกษตรฯ ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และอดีตอธิบดีกรมชลประทาน, สุกำพล สุวรรณทัต รมว. คมนาคม ซึ่งเคยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพอากาศ 

ในการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปี 2560 กำหนดจำนวน สส. 500 คน แบบแบ่งเขต 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน และเมื่อจำแนกประเภทรัฐมนตรีออกมาก็จะพบว่า

การเลือกตั้งปี 2562 มีครม. 36 คน 

  1. รัฐมนตรีจาก สส. บัญชีรายชื่อ 16 คน
  2. รัฐมนตรีจาก สส. แบ่งเขต 5 คน 
  3. รัฐมนตรีที่ไม่เคยสมัคร สส. 11 คน 
  4. รัฐมนตรีที่เคยสมัคร สส. แต่ปี 2562 ไม่ได้ลงสมัคร 2 คน 
  5. รัฐมนตรีที่สมัคร สส.ปี 2562 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง 2 คน

จากข้อมูลจะพบว่า หน้าตา ครม. ในการเลือกตั้งปี 2562 เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง กล่าวคือรัฐมนตรีที่มาจาก สส. แบบบัญชีรายชื่อกลับมามีจำนวนสูงอีกครั้งใน ครม. และรัฐมนตรีที่มาจาก สส. แบบแบ่งเขตลดลงอย่างมาก แตกต่างไปจากในการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้าในปี 2554 ที่สำคัญก็คือ มีการใช้รัฐมนตรีคนนอกสูงถึง 11 คน ซึ่งทั้งหมดมาจากคณะรัฐบาล คสช. ไม่ว่าจะเป็น ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ซึ่งเคยเป็นรองนายกฯ ในรัฐบาล คสช. ชัยชาญ ช้างมงคล รมช. กลาโหม ตำแหน่งเดิมจากรัฐบาล คสช. อุตตม สาวนายน รมว. คลัง ซึ่งเคยเป็นอดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในรัฐบาล คสช. ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว. ต่างประเทศ ตำแหน่งเดิมจากรัฐบาล คสช. สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว. พลังงาน ซึ่งเคยเป็นอดีต รมช.พาณิชย์ ในรัฐบาล คสช. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว. มหาดไทย ตำแหน่งเดิมจากรัฐบาล คสช. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว. อุดมศึกษา ซึ่งเคยเป็น รมว. วิทยาศาสตร์ฯ ในรัฐบาล คสช. 

ในส่วนของการเลือกตั้งปี 2566 ซึ่งยังคงใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 โดยมี สส. 500 คน แบบแบ่งเขต 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน เช่นเดียวกันกับในการเลือกตั้งปี 2562 และเมื่อแยกประเภทรัฐมนตรีใน ครม. เศรษฐา 1 จะพบว่า

การเลือกตั้งปี 2566 มี ครม. 34 คน 

  1. รัฐมนตรีจาก สส.บัญชีรายชื่อ 12 คน
  2. รัฐมนตรี จาก สส.แบ่งเขต 10 คน 
  3. รัฐมนตรีที่ไม่เคยสมัคร สส. 6 คน 
  4. รัฐมนตรีที่เคยสมัคร สส. แต่ไม่สมัคร ปี 2566 3 คน 
  5. รัฐมนตรีที่สมัคร สส.ปี 2566 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง 3 คน

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าหน้าตา ครม. ในการเลือกตั้งปี 2566 คล้ายกับครม. ในการเลือกตั้งปี 2550 กล่าวคือมีรัฐมนตรีที่มาจาก สส. แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อใกล้เคียงกัน แต่รัฐมนตรีที่มาจาก สส. แบบัญชีรายชื่อมีมากกว่า และมีการใช้รัฐมนตรีคนนอกมากกว่า 

ดูข้อมูลได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-minister/ 

หมายเหตุ:

นับเฉพาะการลงสมัคร สส. โดยไม่รวมการเลือกตั้งปี 2557

รายชื่อคณะรัฐมนตรี นับเฉพาะคณะแรกที่ได้รับการแต่งตั้งหลังเลือกตั้งในครั้งนั้นๆ 

คุณอาจสนใจ