
ทุกปีในวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี ทุกคนต่างติดตามว่าปีนี้จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไหม จะขึ้นเท่าไร ขึ้นในพื้นที่ไหนบ้าง เพราะหลายครั้งรัฐบาลก็มักจะปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เป็นของขวัญในช่วงวันแรงงาน
Rocket Media Lab เคยพาไปสำรวจประวัติศาสตร์การปรับค่าแรงขั้นต่ำในไทยว่าในแต่ละครั้งที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ขึ้นช่วงไหน ขึ้นแค่ไหน มีปัจจัยอะไรบ้าง ทำไมบางจังหวัดสูง บางจังหวัดต่ำ ทำไมขึ้นไม่เท่ากันมาแล้ว ปีนี้ชวนย้อนดูว่าค่าแรงขั้นต่ำในรอบกว่า 15 ปี ตั้งแต่ 2553 – 2568 ปีไหนไม่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำบ้าง เพราะอะไร
ประเทศไทยมีการประกาศใช้ค่าแรงขั้นต่ำครั้งแรกในปี 2516 ในรัฐบาลถนอม กิตติขจร แต่โดยทั่วไปแล้วค่าแรงขั้นต่ำไทยไม่ได้มีการปรับขึ้นทุกปี หากสำรวจในรอบกว่า 15 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2553 – 2568 จะพบว่า มีการขึ้นค่าแรง 10 ครั้ง ใน 10 ปี และมี 6 ปีไม่มีการขึ้นค่าแรง ได้แก่
ปี 2557 ไม่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 18 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554 คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2558 อย่างไรก็ตาม หากภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีความผันผวนอย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อ
การครองชีพของลูกจ้าง คณะกรรมการค่าจ้างสามารถพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ได้
จนกระทั่งในปี 2558 ในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ. สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็ยืนยันว่าไม่ปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มเป็น 320 บาท เนื่องจากต้องพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก่อน และบอร์ดมีมติให้คงค่าแรงไว้ที่ 300 บาทจนถึงสิ้นปี 2558
ต่อมาปี 2559 ก็ยังไม่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งอยู่ในช่วงทบทวนสูตรคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ แต่เดิมจะพิจารณาจากเกณฑ์ 9 ข้อของจังหวัดนั้นๆ ได้แก่ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้า ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวม และสภาพเศรษฐกิจและสังคม ต่อมามีการพิจารณาสูตรคำนวณแบบใหม่ ในระหว่างนี้จึงทำให้กระบวนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำล่าช้า และไม่ได้ถูกปรับขึ้นในปี 2559
ในปี 2562 มีการเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหารในปี 2557 อย่างไรก็ตามมีการพิจารณาของอนุกรรมการค่าจ้างว่าจะประกาศใช้ได้ 1 เม.ย. 2562 แต่ไม่มีข้อสรุปที่ลงตัว ต่อมา ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวว่าไม่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำในปี 2562 โดยกล่าวว่า หากปรับขึ้นช่วงปลายปีจะกระทบกับนายจ้างในการจ่ายเงินโบนัส
หลังจากนั้นไม่นานทั่วโลกก็เจอกับสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ทำให้ปี 2564 ไม่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็ได้ให้เหตุผลไว้ว่าช่วงที่ผ่านมาไม่ได้มีการปรับค่าแรงเลย เนื่องจากต้องแก้ปัญหาและเยียวยาประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลทำได้แค่ประคับประคองไม่ให้เลิกจ้าง
ปี 2566 ก็เป็นอีกปีที่ไม่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากอยู่ในช่วงจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ยังไม่ลงตัวจากการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม จนได้รัฐบาลในเดือนสิงหาคม ขณะที่อนุคณะกรรมการค่าจ้างก็มีการประชุมทบทวนและปรับปรุงสูตรการคำนวณอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่เสมอ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกระบวนการก็ล่าช้า จึงทำให้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2567
นอกจากนี้ ในปี 2567 ยังมีการพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เป็นไปตามตามที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน มีนโยบายและเป้าหมายให้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศภายใน 1 ตุลาคม 2567 อย่างไรก็ตาม เป้าหมายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทไม่เกิดขึ้น เนื่องจากตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย เกษียณอายุราชการ ต้องรอให้แบงก์ชาติส่งผู้แทนคนใหม่เข้ามาทำให้ไม่สามารถเปิดประชุมบอร์ดค่าจ้างได้ เพราะสัดส่วนคณะกรรมการค่าจ้างมีไม่ครบ 15 คน ตามกฎหมาย การประชุมในครั้งนี้จึงล่ม จนต่อมามีการเปิดพิจารณาตัวเลขใหม่ ซึ่งซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างจึงได้มีมติให้ปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มในอัตราวันละ 2 – 16 บาท เป็นอัตราวันละ 330 – 370 บาท
เส้นทางในการเดินไปสู่เป้าหมายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศก็ยังคงไม่เกิดขึ้นในปี 2568 เนื่องจากในประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 13) ระบุว่าค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทนั้น จะขึ้นบางพื้นที่ 4 จังหวัด 1 อำเภอ คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ภูเก็ต ระยอง เฉพาะอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยระบุว่าเป็นการนำร่อง และ 380 บาทใน 2 อำเภอ เฉพาะอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และเฉพาะอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
น่าสนใจว่านายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่าภายใน 1 พ.ค. 2568 จะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เป็น 400 บาททั่วประเทศ เพื่อเป็นของขวัญให้ชาวแรงงาน แต่การประชุมค่าจ้างช่วงที่ผ่านมา นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 กล่าวว่านายจ้างเห็นว่ายังไม่ควรขึ้นค่าแรงในช่วงนี้ เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
สุดท้ายนี้ ก็ต้องมาลุ้นกันต่อไปว่า ‘ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ’ จะทำสำเร็จได้หรือไม่ในปีนี้
ดูข้อมูลดิบ https://rocketmedialab.co/database-minimumwage-2025
ชวนย้อนอ่าน ปีใหม่ ค่าแรงใหม่ : ค่าแรงขั้นต่ำไทยยุติธรรมหรือไม่ ขึ้นยังไง ขึ้นช่วงไหน ทำไมขึ้นไม่เท่ากัน https://rocketmedialab.co/minimum-wage-2023/
