Connect with us

Hi, what are you looking for?

culture

เมื่อประวัติศาสตร์ถูกเล่าอย่าง ‘bad’? คนเรียนเลย ‘sad’ อย่างบ่อย

สำรวจประวัติศาสตร์ไทยในแบบเรียน ม.1-6

สำรวจประวัติศาสตร์ไทยในแบบเรียน ม.1-6

  • แบบเรียนประวัติศาสตร์ชั้นมัธยม 1-6 นำเสนอเหตุการณ์ประวัติศาสตร์จากมุมมองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง โดยมีบทบาทสำคัญในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร ซึ่งปรากฏตั้งแต่ยุคสุโขทัยจนถึงประวัติศาสตร์สมัยใหม่
  • เหตุการณ์สำคัญที่แบบเรียนหยิบมาเล่าเป็น ‘ประวัติศาสตร์แบบราชการ’ แม้ปัจจุบันข้อเท็จจริงของเหตุการณ์นั้นๆ ยังเป็นข้อถกเถียงทางวิชาการอยู่ก็ตาม เช่น กรณีหลักศิลาจารึก สมเด็จพระสุริโยทัย การกระทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
  • พบการให้รายละเอียดของเหตุการณ์ต่างๆ ของแต่ละสำนักพิมพ์ที่แตกต่างกัน หรือแม้แต่แบบเรียนแต่ละชั้นปีก็ให้รายละเอียดแตกต่างกัน เช่น กรณีการล่มสลายของอาณาจักรธนบุรีและการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือกรณี 6 ตุลา 19 ซึ่งแต่ละสำนักพิมพ์ระบุคู่ขัดแย้งต่างกันไป มีตั้งแต่การชุมนุมของนักศึกษาเพื่อต้านถนอม ไปจนถึงเป็นความขัดแย้งของฝ่ายซ้ายที่มีแนวคิดอุดมการณ์สังคมนิยมและฝ่ายขวาที่เป็นอนุรักษนิยม 
  • อีกทั้งยังพบว่า แบบเรียน ศธ. ปรากฏจุดที่น่าจะพิมพ์ปีของเหตุการณ์ผิดพลาด 2 จุด คือ บรรยายว่า “16 ตุลาคม 2516” ซึ่งน่าจะหมายถึง 14 ต.ค. 2516 และ “19 พฤษภาคม 2553” ซึ่งน่าจะเป็น 2535 เพราะกล่าวถึง “ม็อบมือถือ” 
  • ในแบบเรียน ม.ปลาย มีการกล่าวถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยึดโยงกับประเทศไทยในมิติต่างๆ ทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ซึ่งส่งผลต่อสังคมไทยแม้กระทั่งในยุคประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งของ ศธ.ที่ระบุว่าการมีประชาธิปไตยมีมาตั้งแต่สมัย ร.5 ดังที่ปรากฏในหัวข้อ “พื้นฐานประชาธิปไตยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์” 
  • ประวัติศาสตร์สมัยใหม่เริ่มปรากฏเนื้อหาในบทเรียนมากขึ้น แต่ก็พบการตีความเนื้อหาที่สะท้อนทัศนคติทางการเมือง เช่น แบบเรียนของ ศธ. พูดถึงความจำเป็นของการรัฐประหารเพื่อยุติความรุนแรงทางการเมือง แม้ฝ่ายทหารไม่ต้องการเป็นรัฐบาล หรือประเด็นเรื่องเศรษฐกิจทุนนิยมที่ระบุว่าประชาชนใช้เงินกู้จากกองทุนหมู่บ้านไปซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ส่งผลให้เกษตรกรในชนบทมีหนี้สินเพิ่มขึ้น
  • ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ยังพบบทบาทกษัตริย์ในหลายมิติ ทั้งเรื่องการเมือง เช่น กรณี 14 ต.ค. 2516 และพฤษภาคม 2535 ที่แบบเรียนบรรยายว่ายุติลงได้ด้วยพระบารมีของร. 9 หรือเรื่องเศรษฐกิจ ที่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ถูกหยิบมาปรับใช้หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง 
  • แต่ในขณะเดียวกันแบบเรียนประวัติศาสตร์ก็เลือกที่จะไม่ให้รายละเอียดในหลายๆ เรื่อง ที่มีนัยสำคัญทั้งทางประวัติศาสตร์และการเมือง เช่น ประวัติพระเจ้าตากสินและ ร.1 การสวรรคตของ ร.8 ความขัดแย้งทางการเมืองเสื้อเหลือง-เสื้อแดง 

จากกรณีที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่างประกาศการบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษา โดยจะมีการแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกจากกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ให้เด็กสนุก และรู้สึกว่าการเรียนประวัติศาสตร์ไม่น่าเบื่อ ซึ่งผลที่จะตามมาคือทำให้เด็กรักชาติ และเข้าใจความเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นบทเรียนในอนาคต

ซึ่งทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมและนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ว่า การแยกรายวิชาประวัติศาสตร์ออกจากวิชาสังคมศึกษา ด้วยเหตุผลว่าอยากให้เยาวชนรักชาติมากขึ้นนั้น จะเป็นการใช้ประวัติศาสตร์เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง และตั้งคำถามว่าที่จริงแล้วการแยกรายวิชาประวัติศาสตร์ออกจากวิชาสังคมศึกษา มีประโยชน์ในด้านใด ตัวนักเรียนเองได้อะไร เสียอะไรกันแน่

Rocket Media Lab จึงชวนไปสำรวจเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์จากแบบเรียนประวัติศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จากทั้ง 6 สำนักพิมพ์ที่ได้รับความนิยมในการนำไปใช้เป็นแบบเรียน ทั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช (วพ.) สำนักพิมพ์พัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ (อจท.) สำนักพิมพ์แม็คเอ็ดดูเคชั่น (แม็ค) และสำนักพิมพ์เอมพันธ์ โดยแยกเป็นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 2 3 และ 4-6 ตามที่ปรากฏเป็นแบบเรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 ว่าเนื้อหาในแบบเรียนประวัติศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษานั้นสอนเรื่องอะไรบ้าง มีเนื้อหาอย่างไร และประเด็นที่น่าสนใจอย่างไร 

แบบเรียนประวัติศาสตร์ ม.1 

แบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีเนื้อหาเกี่ยวกับกาลเวลาและวิธีการทางประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประวัติศาสตร์ไทยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นมาของชนชาติไทย ประวัติศาสตร์ไทยสมัยสุโขทัย แต่ละสำนักพิมพ์นำเสนอเนื้อหาที่มีจุดเน้นและรายละเอียดที่เหมือนและแตกต่างกัน มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

เวลาและยุคสมัยทางประวัติศาสตร์

เนื้อหาในแบบเรียนอธิบายความสำคัญของเวลาและช่วงเวลาในการศึกษาประวัติศาสตร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนเข้าใจความหมาย ความสำคัญของเวลาและยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ สามารถใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์มาวิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆ อย่างเป็นระบบ

เริ่มจากการนิยามประวัติศาสตร์ สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ต่างอธิบายในทำนองเดียวกันกับเอมพันธ์ว่า “ประวัติศาสตร์เป็นการศึกษาเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมาแล้วของสังคมมนุษย์ เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นย่อมมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันตามมิติของเวลา”

แต่น่าสนใจว่าในแบบเรียนของ ศธ. ให้ความหมายของประวัติศาสตร์โดยยกตัวอย่างว่า “ถ้าพิจารณาเหตุการณ์ใกล้ตัวนักเรียนเอง นักเรียนจะทราบความหมายของประวัติศาสตร์ได้ ตัวอย่างเช่น “สมมติว่าสมศักดิ์เคยอาศัยอยู่ที่แฟลตการเคหะดินแดงใน พ.ศ. 2534 และมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นที่นั่นมากมาย แต่สมศักดิ์ไม่ได้จดบันทึกเรื่องราวเหล่านั้นไว้ และเหตุการณ์ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อคนในสังคมส่วนรวม หรือไม่เป็นผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคม เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่แฟลตการเคหะดินแดงในปี พ.ศ. 2534 จึงไม่ปรากฏในหนังสือประวัติศาสตร์เล่มไหนเลย ในขณะที่สงครามอิรักที่เกิดขึ้นในปีเดียวกัน เป็นประวัติศาสตร์ที่เราเห็นในหนังสือแบบเรียนและในหนังสือสือประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่โดยทั่วไป ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น นักเรียนสามารถพิจารณาได้หรือไม่ว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่แฟลตดินแดงไม่เป็นประวัติศาสตร์ เพราะไม่มีผลกระทบสำคัญที่ทำให้มีการรวบรวมข้อมูลนำมาเขียนเป็นประวัติศาสตร์ ในขณะที่สงครามในอิรักเป็นเหตุการณ์สำคัญที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก และมีข้อมูลรายงานจึงสามารถนำมาเขียนเป็นประวัติศาสตร์ได้”

เนื้อหาบทนี้เน้นไปที่การให้ความรู้เกี่ยวกับศักราชแบบต่างๆ ที่ใช้ในสังคมไทย เช่น พุทธศักราช คริสต์ศักราช จุลศักราช ฮิจเราะห์ศักราช รัตนโกสินทร์ศก พร้อมทั้งยกตัวอย่างการใช้เวลาแบบต่างๆ ซึ่งน่าสังเกตว่าทุกสำนักพิมพ์หยิบยกตัวอย่างที่เป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์

ในตัวอย่างการใช้พุทธศักราชและคำบอกว่า ศธ. ยกตัวอย่างวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช อดุลยเดชมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อโรงเรียนนายร้อยทหารบกว่า “โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า” วพ. กล่าวถึงวันประสูติของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (พระอนุชาของ ร.1) อจท. ยกตัวอย่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต แม็คยกเหตุการณ์วันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสร็จขึ้นครองราชย์ในราชวงศ์จักรีและทรงสร้างกรุงเทพฯ แต่ก็มีตัวอย่างวันที่ลงนามเอกสารปฏิญญากรุงเทพ เอกสารก่อตั้งสมาคมประชาชาติอาเซียนร่วมด้วย ขณะที่เอมพันธ์ยกตัวอย่างพระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย

มีข้อสังเกตว่า ในหัวข้อการนับและเปรียบเทียบศักราช ทั้ง อจท.และแม็คใช้ตัวอย่างข้อความที่คัดมาจาก พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของ ร.7 โดยที่เลือกข้อความแตกต่างกัน

อจท. เลือก “ “บ้านโนล แครนลี ประเทศอังกฤษ …ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร…พระปรมาภิไธย ประชาธิปก วันที่ 2 มีนาคม 2477″ แม็คเลือก “ข้าพเจ้ามีความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่สามารถจะยังประโยชน์ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติของข้าพเจ้าต่อไปได้ ตามความตั้งใจและความหวัง ซึ่งรับสืบต่อ กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยังได้แต่ตั้งสัตยอธิษฐานขอให้ประเทศสยามจงได้ประสบความเจริญ และขอให้ประชาชนชาวสยามจงได้มีความสุขความสบาย” พระปรมาภิไธย ประชาธิปก วันที่ 2 มีนาคม 2477”

ขณะที่แบบเรียนของ ศธ.ใช้ภาพประกอบลายพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติเป็นตัวอย่างหลักฐานประเภทตัวอักษรในบทการศึกษาประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ไม่มีคำอธิบายว่า เหตุใดจึงมีการยกตัวอย่างกรณีดังกล่าวมาประกอบ

ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เนื้อหาในส่วนนี้นำเสนอประวัติศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มย้อนไปที่รัฐโบราณ จากนั้นไล่เรียงตามลำดับเวลาโดยใช้การเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคของชาติต่างๆ เป็นกรอบการอธิบาย ได้แก่ อิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดียและจีน การเข้ามาของชาติตะวันตก การเป็นอาณานิคมและขบวนการเรียกร้องเอกราช มาจนถึงยุคปัจจุบัน 

ในยุคก่อนประวัติศาสตร์และรัฐโบราณ เนื้อหากล่าวถึง รัฐโบราณในลุ่มแม่น้ำโขง แม่น้ำอิรวดีและสาละวิน คาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะ อาณาจักรต่างๆ เช่น อาณาจักรฟูนัน อาณาจักรพุกาม รวมทั้งนำเสนอประเด็นอิทธิพลจากจีนและอินเดียด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ ทุกสำนักพิมพ์กล่าวถึงอิทธิพลของอารยธรรมอินเดียและจีน โดยเฉพาะพุทธศาสนานิกายเถรวาทและมหายานต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่น่าสังเกตว่า เฉพาะเอมพันธ์ที่มีหัวข้อ “การเข้ามาของศาสนาอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะ” สำนักพิมพ์อื่นๆ เช่น ศธ. กล่าวถึงเรื่องนี้แทรกในเรื่องการเปลี่ยนแปลงศาสนาในหัวข้ออาณาจักรที่เป็นคาบสมุทรและหมู่เกาะ

นอกจากนี้มีเพียง เอมพันธ์ที่มีเนื้อหาประชากรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กล่าวถึงชาติพันธุ์ต่างๆ ในภูมิภาค ภายใต้หัวข้อความหลากหลายของชาติพันธุ์ โดยกล่าวถึงความหลากหลายของชาติพันธุ์ เช่น กลุ่มชนเนกริโต มองโกลอยด์ใต้ ชนชาติมาเลย์ มอญ ไทยใหญ่ กระเหรี่ยง ฉิ่น คะฉิ่น พม่า เขมร กลุ่มชาติพันธุ์ไทยหรือไท ชาวเวียด ส่วนสำนักพิมพ์อื่นๆ สอดแทรกประเด็นนี้เล็กน้อยในเนื้อหาที่กล่าวถึงอาณาจักรโบราณต่างๆ เช่น อาณาจักรพุกามที่ประกอบด้วยชนหลายเผ่า

ในช่วงที่เป็นเนื้อหาสมัยที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก แบบเรียนเสนอสาเหตุและผลกระทบจากการเข้ายึดครองของชาติตะวันตกในทำนองเดียวกัน ขณะที่เนื้อหาใน ศธ. วพ. อจท. แม็ค และเอมพันธ์ อาจสรุปได้ว่า มีปัจจัยมาจากการค้า การเผยแผ่ศาสนา ความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากร และการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ทำให้สามารถเดินเรือได้ไกล พว.ระบุว่า สาเหตุการเข้ายึดครองของชาติตะวันตก ได้แก่ ความต้องการเครื่องเทศ การเผยแผ่ศาสนาคริสต์ การแย่งชิงแบ่งปันผลประโยชน์ การช่วงสถานะมหาอำนาจทางการเมืองของชาติตะวันตก 

แบบเรียนระบุผลกระทบจากการยึดครองประเทศต่างๆ เช่น ศธ. อธิบายว่า “ผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงในดินแดนอาณานิคม “…1.ชาวตะวันตกประกาศใช้กฎหมายเพื่อเก็บภาษีประชาชนอย่างรุนแรง ยิ่งกว่าช่วงระยะที่ชาวพื้นเมืองปกครองกันเอง 2. กลุ่มนายทุนขาวตะวันตกเข้ามายึดครองพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ และกอบโกยทรัพยากรธรรมชาติจากดินแดนอาณานิคมแล้วนำไปแปรรูปเป็นสินค้าอุตสาหกรรมส่งไปขายทั่วโลกสร้างความร่ำรวยแก่กลุ่มนายทุนตะวันตก…” 

อย่างไรก็ตาม เฉพาะแบบเรียนของ อจท.เท่านั้นกล่าวถึงผลดีว่า ทำให้ความขัดแย้งและการสงครามระหว่างอาณาจักรต่างๆ ที่มีมานานสิ้นสุดลง คนพื้นเมืองส่วนหนึ่งมีโอกาสได้รับการศึกษาแบบชาติตะวันตก มีการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเพาะปลูกขนาดใหญ่ และก่อให้เกิดสำนึกความเป็นชาติขึ้นเพื่อเรียกร้องเอกราช

สำหรับประวัติศาสตร์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การเรียกร้องเอกราช และยุคสมัยใหม่ ศธ. แม็ค และเอมพันธ์ ให้ความสำคัญกับขบวนการชาตินิยมในแต่ละประเทศโดยละเอียด มีหัวข้อเฉพาะ ขณะที่ วพ. พว. และ อจท. มีเนื้อหาการเรียกร้องเอกราชโดยย่อ ไม่เจาะจงรายละเอียด หรือระบุว่าเป็นขบวนการชาตินิยม ส่วนสงครามในประเทศอินโดจีน แบบเรียนส่วนใหญ่บรรยายถึงเหตุการณ์สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองในกัมพูชา แต่น่าสังเกตว่า แบบเรียนของแม็คกล่าวถึงประเด็นนี้สั้นๆ ภายหลังที่เวียดนามแบ่งเป็นเวียดนามเหนือ และเวียดนามใต้แล้วว่า “การต่อสู้ระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ก็ยังคงดำเนินต่อมา จนกระทั่งฝ่ายเวียดนามเหนือได้รับชัยชนะและสถาปนาสาธารณรัฐสังคมเวียดนามในปี 2519” โดยไม่กล่าวถึงสงครามเวียดนาม ขณะที่เนื้อหาประเทศกัมพูชา มีการบรรยายถึงการปกครองของเขมรแดงที่ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก

เนื้อหาส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของทุกสำนักพิมพ์ปิดท้ายด้วยการรวมกลุ่มเป็นประเทศอาเซียน เพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ที่มาของชนชาติไทยและอาณาจักรสุโขทัย

เนื้อหาส่วนนี้เป็นประวัติศาสตร์ไทยในยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงอาณาจักรสุโขทัย ประกอบด้วย การตั้งถิ่นฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ การก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย พัฒนาการด้านต่างๆ ของอาณาจักรสุโขทัย ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ทุกสำนักพิมพ์มีเนื้อหาไม่ต่างกันนัก

ประวัติความเป็นมาของชนชาติไทย ทุกสำนักพิมพ์ใช้หลักฐานทางโบราณคดีเพื่อบรรยายถึงชุมชนต่างๆ ก่อนยุคสุโขทัย และกล่าวถึงรัฐโบราณโดยรอบ ตัวอย่างเช่น แบบเรียน อจท.บรรยายว่า “ก่อนที่ชนชาติไทยจะเข้ามาตั้งรัฐไทยในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันนั้น ได้มีหลายกลุ่มชนตั้งหลักแหล่งอยู่มาก่อนแล้ว โดยกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของไทย กลุ่มชนเหล่านี้ได้สร้างความเจริญของตนจนมีพัฒนาการมากขึ้น โดยเติบโตจากชุมชนเป็นบ้านเมือง จากบ้านเมืองเป็นแคว้นหรือรัฐ และจากแคว้นเป็นอาณาจักร” สำหรับการกล่าวถึงที่มาของชนชาติไทย มีเพียง 2 สำนักพิมพ์ได้แก่ ศธ. และเอมพันธ์ที่กล่าวถึงแนวคิดความเป็นมาของชนชาติไทย โดย ศธ.หยิบยกแนวคิดความเป็นมาของชนชาติไทยว่าถิ่นเดิมของไทยอยู่ที่ไหน แบ่งออกเป็น 1) เทือกเขาอัลไต 2) ตอนกลางแม่น้ำฮวงโห 3) ตอนใต้ของจีน ส่วนเอมพันธ์นำเสนอแนวคิดของนักวิชาการ 4 คนที่นำเสนอข้อสันนิษฐานต่างกัน ขณะที่ วพ. บรรยายว่า “ชนชาติไทยในดินแดนไทยในระยะแรกไม่มีหลักฐานชัดเจน ต่อมาจึงปรากฏหลักฐานพอสันนิษฐานได้ว่า เมื่อชนชาติไทยมีจำนวนมากขึ้นและมีผู้นำที่เข้มแข็งก็สามารถกำจัดอิทธิพลของคนพื้นเมืองหรือพวกที่มีอำนาจอยู่เก่า สถาปนารัฐไทยขึ้นและขยายอำนาจเกิดเป็นแคว้นและอาณาจักรของคนไทย” และ พว.บรรยายว่า “”จากสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมต่อการตั้งหลักแหล่งและค้าขาย อีกทั้งยังอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติของดินแดนประเทศไทย ส่งเสริมให้มนุษย์หลายเผ่าพันธุ์เข้ามาตั้งหลักแหล่ง เกืดการผสมผสานด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรม สืบเนื่องต่อมาถึงรัฐไทย…” ขณะที่แม็ค ไม่กล่าวถึงชนชาติไทย มีเพียงเนื้อหารัฐโบราณที่เกิดขึ้นตามลุ่มแม่น้ำต่างๆ ก่อนจะมีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย

นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงตำนานเกี่ยวกับที่มาของชนชาติไทยไว้ด้วยโดยแบบเรียน 2 สำนักพิมพ์คือ ศธ.และ วพ. โดย ศธ.หยิบยก ตำนานและพงศาวดารเก่าแก่ของชนชาติไทย พงศาวดารล้านช้าง เรื่องราวของเจ้าไทยที่ส่งลูกชายไปสร้างเมืองต่างๆ ในภาคเหนือของไทย ตำนานสิงหนวัติ ส่วน วพ.บรรยายว่า ตำนานรัฐไทยแรกๆ เกิดขึ้นในภาคเหนือตอนบน แคว้นโยนกเชียงแสนและแคว้นหิรัญนครเงินยางบริเวณลุ่มน้ำกก และแคว้นพะเยา มีตำนานสิงหนวัติเล่าความเป็นมาของแคว้นโยนกเชียงแสน

ในด้านการเมืองการปกครองความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองเป็นแบบ “พ่อปกครองลูก” ควบคู่กับความเป็น “ธรรมราชา” ของกษัตริย์ ศธ.บรรยายว่า “ผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครองจะมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ผู้ปกครองจะดูแลเอาใจใส่ความทุกข์สุข ความยุติธรรม และความปลอดภัยแก่ผู้อยู่ใต้การปกครอง นอกจากนั้นยังทำหน้าที่อบรมสั่งสอนผู้อยู่ใต้การปกครองให้เป็นคนดี มีศีลธรรม มีความสามัคคีกลมเกลียวกัน” “ทรงให้สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคแก่ประชาชน เช่น ให้สิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ และสิทธิในการสืบทอดมรดก” พว.บรรยายพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า นอกจากเป็นนักรบที่เก่งกล้าสามารถแล้ว ยังเป็น “ผู้รู้บุญรู้ธรรม” จึงเป็นที่ยอมรับในการเป็นผู้นำของบ้านเมืองต่างๆ ส่วน วพ. บรรยายว่า “พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ ทรงปกครองบ้านเมืองให้มีความสงบเรียบร้อย ปราศจากศัตรูภายในและภายนอก ประชาชนอยู่เป็นสุขทั่วกัน และทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณมหาศาลแก่ชนชาติไทย” อจท. สรุปว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎรที่เด่นชัดจะมีทั้งลักษณะบิดาปกครองบุตรและความเป็น “ธรรมราชา” แต่ก็มีความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพอยู่ด้วยเหมือนกัน โดยพระมหากษัตริย์ยังคงมีพระราชอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองแผ่นดิน”

ส่วนพัฒนาการด้านศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญคึอ ลายสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่ปรากฏในศิลาจารึก ทุกสำนักพิมพ์ระบุถึงการประดิษฐ์ตัวอักษรไทยเป็นภูมิปัญญาไทยที่สำคัญยิ่ง เพราะทำให้ชนชาติไทยมีตัวหนังสือของตนเอง เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และกล่าวถึงเครื่องถ้วยชามสังคโลก และภูมิปัญญาด้านการกักน้ำชลประทาน สำหรับการละเล่นเผาเทียนเล่นไฟ ซึ่งมักถูกอ้างอิงว่าเป็นที่มาของประเพณีลอยกระทงในปัจจุบันนั้น ได้รับการกล่าวถึงในแบบเรียนว่า สันนิษฐานว่าการเผาเทียนคือการจุดประทีปโคมไฟเพื่อเป็นการบูชา พระพุทธเจ้าและเทวดา ส่วนการเล่นไฟเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสสำคัญเท่านั้น อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่า ขาดการกล่าวถึงประเด็นที่มีการถกเถียงกันในหมู่นักประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับศิลาจารึกและประเพณีลอยกระทง รวมถึงการประกวดนางนพมาศในปัจจุบันที่มักถูกอ้างอิงกับการเผาเทียนเล่นไฟในยุคนี้

ปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการของอาณาจักรสุโขทัย ได้รับการนำเสนอจากทุกสำนักพิมพ์ว่า มาจากปัจจัยภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ปัจจัยด้านอารยธรรม และความสามารถของผู้นำ ที่มีข้อแตกต่างอยู่บ้างเป็น แบบเรียนของ วพ. บรรยายถึงปัจจัยความเติบโตแข็งแกร่งของสุโขทัยว่า ได้แก่ ความสามารถในการทำสงครามของกษัตริย์และราชวงศ์ ความสามัคคีในหมู่ราชวงศ์และขุนนาง ความสามารถในการดำเนินนโยบายกระชับสัมพันธ์กับรัฐใกล้เคียง ความเอาใจใส่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน และความร่วมมือร่วมใจของไพร่ฟ้าประชาชน

เมื่อกล่าวถึงสาเหตุการล่มสลายของอาณาจักรสุโขทัย ทุกสำนักพิมพ์บรรยายตรงกันว่า มาจาก “การแตกแยกภายใน ความไม่เข้มแข็งของพระมหากษัตริย์ การตั้งอาณาจักรอยุธยาทำให้สุโขทัยไม่สามารถใช้เส้นทางการค้ากับต่างประเทศได้ การปกครองที่เป็นแบบรัฐนคร ระบบพ่อปกครองลูกมีความเหมาะสมเฉพาะเมื่อเป็นรัฐขนาดเล็ก” ทั้งนี้แบบเรียนของ ศธ. มีประเด็นว่า “อาณาจักรสุโขทัยรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจเฉพาะสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเท่านั้น กษัตริย์สุโขทัยหลายพระองค์ไม่มีบารมีและพระปรีชาสามารถในการปกครอง ช่วงหลังเกิดการแย่งชิงราชสมบัติกันบ่อยครั้ง อาณาจักรอยุธยามีความเข้มแข็ง”

ทั้งนี้น่าสังเกตว่า มีเพียงแบบเรียนของ ศธ. ที่มีเนื้อหาการสิ้นอำนาจของอาณาจักรอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี สมัยรัตนโกสินทร์ จนถึงสมัยปัจจุบันหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยบรรยายว่า “ระยะแรกการบริหารประเทศตามรูปแบบดังกล่าว ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม เกิดการปฏิวัติหลายครั้ง และบางครั้งถึงขั้นนองเลือด อย่างไรก็ตามการปกครองของไทยก็สามารถพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นตามลำดับในเมื่อประชาชนชาวไทยเริ่มตื่นตัวเรียกร้องให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น” ปิดท้ายเล่มด้วยภาพถ่ายอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบนถนนราชดำเนิน

สรุปแบบเรียนประวัติศาสตร์ ม.1

ประเด็นหลักแบบเรียนประวัติศาสตร์มัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์ไทยและเพื่อสะท้อนว่าไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอารยธรรมยาวนาน ด้วยการเริ่มจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งพยายามชี้ให้เห็นผ่านหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ ที่ค้นพบทั่วภูมิภาค เช่น โบราณคดีบ้านเชียง เครื่องสังคโลก ตลอดจนโบราณสถานที่เป็นมรดกโลก จนถึงอาณาจักรสุโขทัยซึ่งถูกนับว่าเป็นอาณาจักรเริ่มแรกของไทย ซึ่งบรรยายถึงพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมในช่วงเวลานั้น ทั้งบทบาทของผู้ปกครองที่ไม่เพียงเป็นระบบพ่อปกครองลูก แต่กษัตริย์ยังเป็น “ธรรมราชา” ที่เป็นพุทธศาสนานิกชนที่ดีด้วย

จากการศึกษาแบบเรียนทั้ง 6 เล่ม มีข้อสังเกตว่า แทนที่เนื้อหาจะให้ความสำคัญกับวิธีการทางประวัติศาสตร์หรือแสดงการนำวิธีการทางประวัติศาสตร์มาใช้กับการศึกษาประวัติศาสตร์ ‘ไทย’ หรือนำไปสู่การอภิปรายทางความคิดดังที่อธิบายว่า การศึกษาประวัติศาสตร์เป็น “กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง เพื่ออธิบายและวิเคราะห์เรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต โดยศึกษาสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นั้นๆ ตลอดจนผลกระทบที่เกิดต่อมา” (พว.) แต่กลับเป็นการมุ่งให้ข้อมูลอย่างเดียว/ด้านเดียวโดยไม่สะท้อนให้เห็นถึงที่มาหรือข้อโต้แย้งของข้อสรุปดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงในแวดวงวิชาการประวัติศาสตร์ เช่น ความเป็นมาของชนชาติไทย ซึ่งไม่ค่อยได้รับการพูดถึงมากนัก มีเพียง 2 สำนักพิมพ์ที่หยิบยกสมมติฐานต่างๆ มานำเสนอ ขณะที่ส่วนใหญ่กล่าวถึงอย่างสรุปว่า ในดินแดนนี้มีชุมชนตั้งมาอยู่ก่อนแล้ว ทั้งที่ประเด็นนี้ยังคงเป็นข้อถกเถียงและมีการศึกษาวิจัยจนถึงปัจจุบัน หรือการตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับกำเนิดของศิลาจารึก

แบบเรียนประวัติศาสตร์ ม. 2

สำหรับการศึกษาแบบเรียนประวัติศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 โดยในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 นั้นจะมีเนื้อหาครอบคลุมในเรื่องหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อาณาจักรอยุธยา อาณาจักรธนบุรี และทวีปเอเชีย โดยจากการศึกษาแบบเรียนประวัติศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จากทั้ง 6 สำนักพิมพ์ พบความน่าสนใจดังนี้

หลักฐานทางประวัติศาสตร์

ในบทเรียนเรื่องหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้นเป็นการเรียนเกี่ยวกับการอ่านและการตีความหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เริ่มต้นด้วยความหมายและความสำคัญของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยความน่าสนใจในประเด็นนี้อยู่ที่การให้ความหมายและความสำคัญของการเรียนประวัติศาสตร์ ในแบบเรียน ศธ.กล่าวไว้ว่า “ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมมนุษย์ที่มีการแปรเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมภายใต้บริบทของสังคม ค่านิยม ความคิดความเชื่อ อุดมการณ์ ที่สำคัญยิ่งคือเรื่องผลประโยชน์ เกียรติยศชื่อเสียง ที่ต้องพิทักษ์” 

ในขณะที่แบบเรียนของ อจท. กล่าวว่า “การศึกษาประวัติศาสตร์ต้องอาศัยหลักฐานต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทั้งหลายได้บันทึกไว้ ถ้าไม่มีหลักฐาน การศึกษาประวัติศาสตร์ก็จะไม่ถูกต้อง หรือถูกต้องน้อย และอาจเปรียบได้กับนวนิยาย”

และหากจะมองจากประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคมดังที่ได้กล่าวไว้แล้วนั้น เราก็จะเห็นประเด็นนั้นจากการให้ความสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ของแบบเรียนของ อจท.ที่กล่าวไว้ว่า “ประวัติศาสตร์ยังช่วยให้ผู้เรียนมีความเข้าใจ ความรัก และความภูมิใจในชาติของตน”

นอกจากนี้ในหน่วยย่อยแรกนี้ยังมีความน่าสนใจอยู่ที่การใช้รูปประกอบเนื้อหา โดยแบบเรียน ศธ. มีการใช้ภาพเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 โดยไม่ได้กล่าวถึงว่าเป็นเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 แต่เขียนกำกับไว้ว่า “เหตุการณ์สำคัญของสังคมมนุษย์ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตเป็นเรื่องราวของประวัติศาสตร์” ในขณะที่แบบเรียนจากเอมพันธ์ มีการใช้รูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและรูปทีมฟุตบอลชาติไทยในเหตุการณ์การได้แชมป์ Suzuki Cup มาใช้ประกอบข้อความ “เหตุการณ์สำคัญในสังคมมนุษย์ที่ผ่านมาแล้วเป็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์”

จากนั้นในส่วนของหน่วยย่อยว่าด้วยเรื่องประเภทของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้ง 6 สำนักพิมพ์ยกตัวอย่างคล้ายกัน คือมีทั้งศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง พงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ์อักษรนิติ์ หรือจดหมายเหตุลาลูแบร์ ในขณะที่ในส่วนของการประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานนั้น สำนักพิมพ์ที่มีตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือเอมพันธ์ ที่หยิบยกประเด็นที่ว่า หลักศิลาจารึกหลักที่ 1 หรือจารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นของปลอมหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความท้าทายและก้าวหน้าอย่างมาก โดยในท้ายเรื่องนั้นมีการสรุปโดยการอ้างอิงหลักฐานต่างๆ การตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ การเทียบเคียงคำและภาษาจากจารึกหลักอื่นๆ และหลักฐานจากพระราชหัตถเลขา เพื่อมาสนับสนุนว่าเป็นของจริงไม่ได้สร้างขึ้นหลังสมัยสุโขทัย 

เช่นเดียวกันกับในส่วนของการประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในส่วนการประเมินว่าอะไรคือข้อเท็จจริง ความจริง หรือความคิดเห็น โดย 3 สำนักพิมพ์หลักคือ พว. อจท. และแม็ค เลือกใช้ประเด็นการเสียกรุงศรีอยุธยา 2 ครั้งให้พม่ามาเป็นประเด็นในการวิเคราะห์ ส่วน ศธ. ใช้ประเด็นเรื่องจดหมายเหตุเมืองถลาง และบันทึกของโตโม่ปิเรส และเอมพันธ์ ใช้ประเด็นเรื่องชื่อประเทศ ไท หรือ สยาม โดยอ้างอิงจากหนังสือเรื่องประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม โดย นายฟรองซัวส์ อองรี ตุรแปง

นอกจากนั้นเอมพันธ์ ยังได้หยิบยกเอาประเด็นเรื่อง ‘สงครามยุทธหัตถี’ ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชาว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ มาใช้ในการวิเคราะห์ เนื่องด้วยพงศาวดารจากทั้งสองประเทศกล่าวไว้ไม่ตรงกัน ก่อนจะสรุปว่าในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เหตุการณ์หนึ่งมักมีข้อมูลไม่ตรงกัน ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ควรแสวงหาหลักฐานให้รอบด้านก่อนจะสรุปข้อเท็จจริง

พัฒนาการของอาณาจักรอยุธยา

ในบทเรียนเกี่ยวกับอาณาจักรอยุธยานั้น ในส่วนของประเด็นแรกคือ การสถาปนาอาณาจักรอยุธยา มีความน่าสนใจอยู่ที่การให้ข้อมูลเรื่องพระเจ้าอู่ทอง ผู้สถาปนาอาณาจักรอยุธยา ว่าเป็นใครมาจากไหน โดยแบบเรียนส่วนใหญ่นำเอาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีความขัดแย้งกันมานำเสนอก่อนจะสรุปว่าไม่อาจสรุปได้ว่าพระเจ้าอู่ทองเป็นใครมาจากไหน ในขณะที่ 2 สำนักพิมพ์คือ แม็คและเอมพันธ์ ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นนี้

ในประเด็นเรื่องความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรอยุธยา หนึ่งในเหตุผลที่ทุกแบบเรียนยกมาประกอบก็คือความปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ โดยมีเพียงสำนักพิมพ์เดียวนั้นก็คือ อจท. ที่ใส่ชื่อพระมหากษัตริย์ว่าเป็นพระนเรศวรมหาราชและพระนารายณ์มหาราช คล้ายกับประเด็นเรื่องลักษณะการเมืองการปกครอง ที่กล่าวถึงกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมในยุคอยุธยา โดย ศธ. กล่าวว่ากฎหมายในสมัยอยุธยาให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนพอสมควร ในขณะที่ พว. กล่าวว่า “พระมหากษัตริย์พระราชทานความยุติธรรมแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินในฐานะผู้พิพากษาสูงสุด”

ด้านสังคมในสมัยอยุธยามีการกล่าวถึงโครงสร้างทางสังคมที่มีการแบ่งชนชั้น แบบเรียน ศธ. กล่าวว่า “ในสมัยอยุธยามีกฎหมายให้ความคุ้มครองทาสไว้หลายประการ เช่น ห้ามนายใช้งานทาสหนักเกินกำลัง กระทำร้ายหรือทารุณทาส… ดังนั้นทาสในสมัยอยุธยาจึงมีฐานะความเป็นอยู่ไม่ลำบากนัก ชาวไทยจึงสมัครตัวเป็นทาสกันมาก” โดยอ้างอิงจากบันทึกลาลูแบร์ที่ว่า “ชาวสยามกลัวการเป็นขอทานมากกว่ากลัวการเป็นทาส” นอกจากนี้ยังมีหัวข้อการเลื่อนฐานะทางสังคม

ในขณะที่ วพ. กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “ชนชั้นต่างๆ ในสังคมอยุธยามีความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ตั้งแต่พระมหากษัตริย์จนถึงทาส โดยเป็นการให้ความอุปถัมภ์ตามลำดับชั้น…ส่วนพระสงฆ์เป็นผู้เชื่อมโยงชนชั้นต่างๆ และสั่งสอนให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข” นอกจากนี้ยังกล่าวถึงประเด็นการเลื่อนฐานะทางสังคมว่า “การที่ชนชั้นต่างๆ ในสังคมสามารถเลื่อนฐานะทางสังคมได้เป็นการสร้างแรงกระตุ้นให้คนแสวงหาความรู้ สั่งสมความสามารถ และแสดงออกเพื่อยกฐานะของตนเองให้สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดพัฒนาการด้านต่างๆ ในสังคม” 

ประเด็นที่น่าสนใจในบทนี้อยู่ที่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งให้น้ำหนักไปยังพม่าและฝรั่งเศส ในส่วนของพม่านั้นมีตัวละครที่น่าสนใจที่ทุกแบบเรียนกล่าวถึงก็คือ ‘สมเด็จพระสุริโยทัย’ โดยแบบเรียนของ ศธ.และเอมพันธ์ ให้รายละเอียดในประเด็นนี้ไว้เหมือนกันคือ “สมเด็จพระสุริโยทัย ได้ปลอมพระองค์เป็นชายเข้าร่วมสงครามยุทธหัตถีด้วย พระองค์สิ้นพระชมน์บนหลังช้าง”

ในประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังมีข้อน่าสนใจอีกว่า ในแบบเรียน ศธ. ได้แยกออกเป็นสองกลุ่มคือความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านฉันมิตร คือล้านช้างและมอญ และความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านในลักษณะการแข่งขันอำนาจกัน คือพม่า เขมร โดยในส่วนของพม่านั้นมีการกล่าวไว้ว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับพม่าอยู่ในลักษณะที่พม่าพยายามรุกรานอยุธยาด้วยสาเหตุต่างๆ ” 

นอกจากนี้แบบเรียนทุกสำนักพิมพ์ยังให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องการทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอีกด้วย โดยมีสองสำนักพิมพ์คือ อจท. และแม็ค ที่ให้รายละเอียดว่าเกิดขึ้นที่ตำบอลหนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี 

ในขณะที่ความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสนั้นมีการกล่าวถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเพทราชา และออกญาวิไชเยนทร์ แต่ให้รายละเอียดที่แตกต่างกันไป เช่น แบบเรียน ศธ. กล่าวว่าเมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคต ออกพระเพทราชาจึงขึ้นครองราชย์แทน ในขณะที่แบบเรียนของ พว. และเอมพันธ์ให้รายละเอียดแตกต่างไปว่าพระเพทราชาเข้ายึดอำนาจ ส่วนแบบเรียนของแม็คนั้นไม่ได้กล่าวถึงออกญาวิไชเยนทร์และให้รายละเอียดความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยาและฝรั่งเศสที่แตกต่างออกไป ว่าเกิดขึ้นในสมัยพระเพทราชา 

ส่วนเรื่องความเสื่อมของอาณาจักรอยุธยา แบบเรียนส่วนใหญ่ให้รายละเอียดไปในแนวทางเดียวกันว่าเป็นเพราะความขัดแย้งภายใน โดยส่วนหนึ่งยกกรณีเรื่องความขัดแย้งกันระหว่างพระเจ้าอุทุมพรและพระเจ้าเอกทัศ เช่นในแบบเรียน ศธ. พว. และเอมพันธ์ อีกส่วนหนึ่งกล่าวถึงความขัดแย้งของขุนนางและราชวงศ์ คือ วพ. และแม็ค ในขณะที่ อจท. ไม่ได้กล่าวถึงทั้งสองประเด็น 

ในส่วนของบุคคลสำคัญ ในสมัยอยุธยานั้น น่าสนใจว่านอกจากกษัตริย์แล้วยังมีรายชื่ออื่นๆ อีกด้วย ทั้งสมเด็จพระสุริโยทัย เจ้าพระยาโกษาธิบดี พันท้ายนรสิงห์ ชาวบ้านบางระจัน โดยมีแค่ อจท. เท่านั้น ที่ไม่มีบทที่กล่าวถึงบุคคลสำคัญโดยเฉพาะ แต่มีเสริมสาระว่าด้วยชาวบ้านบางระจันเพียงคณะเดียว

การสถาปนาอาณาจักรธนบุรี

ในการเรียนเรื่องอาณาจักรธนบุรี ในประเด็นแรกที่กล่าวถึงการสถาปนาอาณาจักรธนบุรีของพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น มีเพียงเอมพันธ์ เท่านั้นที่กล่าวถึงประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชว่ามีบิดาชื่อนายฮงเป็นคนจีนอพยพ มารดาชื่อนางนกเอี้ยงเป็นคนไทย เกิดในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในขณะที่อีก 5 สำนักพิมพ์ไม่ได้กล่าวถึงประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเลย

ในประเด็นเรื่องเศรษฐกิจและสังคมมีการกล่าวถึงกรณีการซื้อข้าวสารพระราชทานแก่ราษฎร โดย อจท. เป็นสำนักพิมพ์เดียวที่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่า เป็นการสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 

ประเด็นเรื่องความสัมพันธ์กับต่างประเทศ เน้นไปที่การทำศึกสงครามกับพม่า โดยมีตัวละครที่สำคัญก็คือพระยาพิชัยดาบหัก โดยมีเพียง พว. และ อจท. เท่านั้นที่ไม่ได้กล่าวถึงพระยาพิชัยดาบหักในส่วนของหน่วยการเรียนรู้ย่อยนี้ และอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจก็คือการทำศึกสงครามกับเวียงจันทน์ ซึ่งมีประเด็นเรื่องพระแก้วมรกตที่ถูกกล่าวถึงแทบทุกสำนักพิมพ์ยกเว้น พว. โดยแบบเรียนศธ. กล่าวว่า

“สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้กวาดต้อนชาวเวียงจันทน์นำมาไว้ในเขตไทย พร้อมทั้งอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางมาประดิษฐานที่กรุงธนบุรีด้วย” นอกจากนี้ยังมีหมายเหตุว่า “ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระราชทานพระบางคืนแก่ลาว ส่วนพระแก้วมรกตนั้นไม่ได้คืนเพราะถือว่าเคยเป็นของไทยมาก่อน” ในขณะที่สำนักพิมพ์อื่นๆ กล่าวเพียงว่าได้อัญเชิญมายังกรุงธนบุรี 

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจในการเรียนเรื่องอาณาจักรธนบุรีของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 2 ก็คือประเด็นความเสื่อมของอาณาจักรธนบุรี ที่แต่ละสำนักพิมพ์ให้รายละเอียดที่แตกต่างกันไป โดยมี 2 สำนักพิมพ์ไม่กล่าวถึงประเด็นนี้นั้นก็คือ ศธ.และ พว. ในขณะที่ประเด็นการผนวชของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แต่ละสำนักพิมพ์ให้รายละเอียดที่ไม่เหมือนกันเลย 

กล่าวคือ วพ. กล่าวว่าพระยาสรรค์บังคับให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระผนวช อจท. กล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยอมแพ้และทรงรับจะผนวช ซึ่งคล้ายกับเอมพันธ์ที่กล่าวว่าที่สุดสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขอยอมแพ้ และขอผนวชที่วัดแจ้ง ส่วนสำนักพิมพ์แม็คกล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงไม่ต้องการทำสงคราม ได้ทรงผนวช ณ อุโบสถวัดแจ้ง

นอกจากนี้ในประเด็นเรื่องการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็มีการให้รายละเอียดที่แตกต่างกันด้วย อจท. เป็นสำนักพิมพ์เดียวที่กล่าวว่าเป็นการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ในขณะที่ วพ. และเอมพันธ์ใช้คำว่าสำเร็จโทษเท่านั้น ส่วนแม็คกล่าวว่า “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกพิจารณาเห็นว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่สามารถจะปกครองกรุงธนบุรีต่อไปได้” ซึ่งก็เป็นการให้เหตุผลที่แตกต่างจากแบบเรียนเล่มอื่นๆ ที่กล่าวว่าเป็นการลงความเห็นของที่ประชุมขุนนางมากกว่าจะเชื่อมโยงไปยังสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก

และในส่วนของบุคคลสำคัญในสมัยธนบุรีนั้น มีเพียงเอมพันธ์ที่ไม่มีการกล่าวถึงเนื้อหานี้ ในขณะที่ ศธ.มีเพียงพระยาพิชัยดาบหักเพียงคนเดียว ส่วนแบบเรียนอื่นๆ มีทั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เจ้าพระยาสุรสีห์ ฯลฯ 

การพัฒนาของภูมิภาคเอเชีย

ในส่วนภูมิภาคเอเชียนั้น ส่วนใหญ่เป็นการให้ข้อมูลประเทศต่างๆ โดยที่เนื้อหาในแบบเรียนไม่แตกต่างกันมากนัก จะมีความแตกต่างเพียงเนื้อหาว่ามีมากหรือน้อย ลงรายละเอียดหรือเพียงข้อมูลทั่วไป และเน้นเนื้อหาประเทศใดเป็นพิเศษ 

เช่น ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ประเทศจีนและญี่ปุ่น หรือภูมิภาคเอเชียใต้จะเน้นที่ประเทศอินเดีย ในขณะที่ พว. นั้นจะเป็นการให้ข้อมูลทั่วไปในแต่ละเทศในทุกภูมิภาคไม่ได้เน้นประเทศใดเป็นพิเศษ ส่วนในประเด็นเรื่องแหล่งอารยะธรรมโบราณในภูมิภาคเอเชียนั้นแบบเรียน ศธ. อจท. และเอมพันธ์ จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับอารยธรรมอิสลามด้วย

สรุปแบบเรียนประวัติศาสตร์ ม. 2

แบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ยังคงเป็นการเรียนประวัติศาสตร์ในแบบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางของเรื่อง และยังคงขับเน้นด้วยการเชิดชูพระมหากษัตริย์ทั้งในประเด็นการเรียนประวัติศาสตร์และเรื่องราวรายละเอียดที่อยู่ในแบบเรียน เช่น การกล่าวว่า”พระมหากษัตริย์พระราชทานความยุติธรรมแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินในฐานะผู้พิพากษาสูงสุด” ในประเด็นเรื่องศาลและความยุติธรรม หรือการเสียสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อข้าวสารพระราชทานแก่ราษฎรของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 

แต่ประเด็นที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือ ตัวอย่างและรายละเอียดที่ถูกนำมาใช้ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ที่หลายเรื่องยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวและรายละเอียดการทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระเนรศวรมหาราช สมเด็จพระสุริโยทัย ชาวบ้านบางระจัน การสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ฯลฯ จึงเท่ากับว่านักเรียนในชั้นมัธยมยังต้องเรียนเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ยังต้องแสวงหาข้อเท็จจริงกันอยู่ ในขณะที่แบบเรียนนั้นนำเสนอด้วยเนื้อหาและรายละเอียดราวกับข้อเท็จจริงนั้นสิ้นสุดลงแล้ว และหลายต่อหลายครั้งก็จะเห็นว่าแบบเรียนจากต่างสำนักพิมพ์ก็ให้รายละเอียดที่แตกต่างกันไปอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เราก็ยังได้เห็นถึงความก้าวหน้าในความพยายามที่จะนำเอาประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่ยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ในปัจจุบันมาใช้เป็นเนื้อหาประกอบการเรียนว่าในประเด็นนั้นมีข้อเท็จจริงหลากหลายที่ยังคงไม่สามารถสรุปได้ เช่นเรื่องหลักศิลาจารึกหรือการทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในแบบเรียนของสำนักพิมพ์เอมพันธ์ แต่ก็ปรากฏสิ่งนี้เพียงในสำนักพิมพ์เดียวและปรากฏเนื้อหาในลักษณะนี้เพียงบทเดียวเท่านั้น 

แบบเรียนประวัติศาสตร์ ม.3

แบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีการทางประวัติศาสตร์และการสืบค้นเรื่องราวในอดีต ประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ พัฒนาการของทวีปต่างๆ ความขัดแย้งและความร่วมมือในคริสต์ศตวรรษที่ 20 และอิทธิพลของอารยธรรมตะวันตกที่มีต่อพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ประเด็นที่น่าสนใจ มีดังนี้ 

วิธีการทางประวัติศาสตร์

วิธีการทางประวัติศาสตร์ กล่าวถึงความหมาย ความสำคัญ และขั้นตอนของวิธีการทางประวัติศาสตร์ โดยแบบเรียนของศธ. พูดถึงความรู้เดิมที่อาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีหลักฐานใหม่ “…ความรู้เกี่ยวกับอดีตสามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีการค้นพบข้อมูลใหม่ที่ทำให้การแสวงหาความจริงในอดีตถูกต้องและชัดเจนมากขึ้น” ขณะที่แบบเรียนของ อจท. ชี้ว่า เรื่องราวในประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ในปัจจุบันมีคำอธิบายที่หลากหลาย บางครั้งก็แตกต่างตรงข้ามกัน นักเรียนต้องนำมาวิเคราะห์ว่าเรื่องราวที่ควรจะเป็น หรือที่น่าจะถูกต้องคืออย่างไร ไม่ใช่เชื่อในคำอธิบายใดๆ โดยทันที และแม็ค ย้ำว่า วิธีการทางประวัติศาสตร์มีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ เพราะเป็นการวิจัยเอกสารและหลักฐานอื่นๆ ที่เป็นร่องรอยจากอดีต เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ใหม่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมมาอย่างเป็นระบบและมีเหตุผล โดยไม่นำความคิดในปัจจุบันไปตัดสินอดีต 

นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงขั้นตอนของวิธีการทางประวัติศาสตร์ ที่ประกอบด้วยการกำหนดประเด็น รวบรวมหลักฐาน ตรวจสอบหลักฐาน ตีความ และเรียบเรียงนำเสนอ ประเภทของหลักฐาน และข้อจำกัดของข้อมูล ด้านตัวอย่างการวิเคราะห์เหตุการณ์สำคัญในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ละสำนักพิมพ์เลือกตัวอย่างที่แตกต่างกัน ได้แก่ ศธ. ยกตัวอย่างการวิเคราะห์ช่วงที่ไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 และรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงครามเพราะขบวนการเสรีไทย วพ. ยกตัวอย่างกรณีการศึกษาว่าการทำสัญญาเบาว์ริ่งมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เอมพันธ์ ยกตัวอย่างหัวข้อ ร.5 กับการพัฒนาคมนาคมของไทย พว.ยกตัวอย่างเหตุการณ์วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ส่วนแม็ค หยิบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาเป็นตัวอย่าง

ประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์

ประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ แบ่งตามช่วงเวลาได้เป็นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ร.1-ร.3) สมัยปฏิรูปประเทศ (ร.4-ร.7) และยุคประชาธิปไตย (ตั้งแต่ 2475) โดยทุกแบบเรียนจะกล่าวถึงเหตุการณ์โดยอ้างอิงปี พ.ศ.

ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น บทการสถาปนาราชวงศ์จักรี มีการเล่าเรื่องแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ อจท. และแม็ค ระบุว่า เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบปรามการจลาจลหรือแก้วิกฤตในกรุงธนบุรีแล้ว จึงได้รับการสนับสนุนจากขุนนางและประชาชนให้ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ และ ศธ. พว. และ วพ. ไม่ได้ระบุถึงเหตุการณ์ก่อนหน้าการปราบดาภิเษก

แบบเรียนทั้งหก กล่าวถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีในการสร้างความเจริญและความมั่นคงของชาติ วพ.ระบุรวมถึงกษัตริย์ตั้งแต่สมัยสุโขทัยว่าทุกพระองค์ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์ให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขและสร้างความเจริญทุกด้านสืบมา 

เอมพันธ์ และพว. เป็นแบบเรียนที่กล่าวถึงความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ ในแง่การสืบสันตติวงศ์ที่มีเสถียรภาพ โดยฉบับเอมพันธ์ ระบุว่า เป็นการสืบสันตติวงศ์โดยไม่มีการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองเช่นสมัยอยุธยา ทำให้ไทยมีเอกภาพและเสถียรภาพ ส่วน พว. นอกจากระบุในประเด็นเดียวกันแล้วยังให้รายละเอียดด้วยว่า พระมหากษัตริย์ไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มขุนนางที่สืบเชื้อสายตระกูลขุนนางเก่าสมัยอยุธยาอย่างมาก ขณะที่พระมหากษัตริย์ก็สามารถควบคุมความจงรักภักดีของเหล่าขุนนางไว้ได้

ในบทนี้กล่าวถึงการปกครองว่า ยังเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบสมัยอยุธยา โดยกษัตริย์ทรงไว้ซึ่งอำนาจสูงสุด จัดรูปแบบการปกครองเป็นแบบส่วนกลาง หัวเมือง และท้องที่ มีการกล่าวถึงการปรับปรุงกฎหมาย การศาลและฎีกา

ในหัวข้อที่เล่าถึงความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ สำหรับความสัมพันธ์กับจีน แบบเรียนทั้งหมดอธิบายว่า ยังคงเป็นเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา คือ ไทยส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจักรพรรดิจีน แม็ค อธิบายว่า เป็นความสัมพันธ์ทางการค้า ศธ. วพ. พว. และเอมพันธ์ ชี้ว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า ขณะที่ อจท. ให้รายละเอียดว่า ไทยสร้างความสัมพันธ์กับจีนก็เพื่อผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ “มิได้คิดว่าไทยจะต้องยอมอ่อนน้อมต่อจีนแต่อย่างใด”

การกล่าวถึงชนชาติอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในไทย ส่วนใหญ่กล่าวถึงชาวจีน ที่อพยพเข้ามาในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ โดย อจท.ยกตัวอย่างการอพยพเข้ามาของชาวจีน ว่าเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่มีผลต่อพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ มีการอภิปรายทั้งสาเหตุการอพยพออกนอกประเทศของชาวจีน ปัจจัยที่เข้ามาในไทย ผลของการอพยพ ตลอดจนการจัดระเบียบชาวจีน 

ส่วนชนชาติอื่น มีกล่าวถึงในแบบเรียน ศธ.ที่ระบุว่าจากหลักฐานในเอกสารของชาวต่างชาติ ไทยมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ โดยนอกจากกลุ่มชาวจีน ยังประกอบด้วย กลุ่มพวกมอญ เขมร ลาว ญวน พม่า และมลายู ขณะที่ พว. กล่าวถึงชนชาติอื่นในหมวดชนชั้นที่ถูกปกครอง โดยระบุว่าเป็นชนหมู่น้อย ที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เข้ามาอยู่อาศัย ประกอบอาชีพ มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ชนหมู่น้อยที่มีบทบาทสำคัญ เช่น ชาวมุสลิม ชาวมอญ ชาวลาว ชาวเขมร ชาวญวน และชาวจีน 

ประวัติศาสตร์สมัยปฏิรูปประเทศ (ร.4-ร.7) มีการให้บริบทว่าจักรวรรดิตะวันตกเริ่มรุกรานไทย พระมหากษัตริย์จึงต้องพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ให้เจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ เพื่อป้องกันมิให้ประเทศตะวันตกอ้างในการครอบครองไทยเป็นอาณานิคม โดยมีการปฏิรูปการปกครอง เลิกไพร่ เลิกทาส กระบวนการยุติธรรม การทหารและตำรวจ มีเหตุการณ์สำคัญคือ การทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งกับอังกฤษ ในสมัย ร.4 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการค้าเสรีของไทย และ การที่ ร.5 ที่ทรงแก้ไขสนธิสัญญาเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับจักวรรดิตะวันตกหลายประเทศได้ หลังเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงคราม

รายละเอียดที่แตกต่าง อาทิ อจท. ระบุว่า ร.4 ทำให้ราษฎรใกล้ชิดกษัตริย์ เข้าเฝ้ารับเสด็จได้ ไม่ต้องซ่อนตัว ฎีกาได้สะดวกขึ้น และที่ระบุว่าก้าวหน้ามาก คือ เปิดให้ราษฎรฟ้องเจ้านายที่ข่มเหงรังแกได้ เลือกนับถือศาสนา และมีโอกาสทำงานกับต่างชาติได้ พว.ระบุถึงการปรับปรุงสถานภาพและบทบาทสตรีครั้งสำคัญ ว่าคือกรณีที่ร.5 ทรงสถาปนาพระอัครมเหสีคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนขณะพระองค์เสด็จประพาสยุโรป

สำหรับความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย มีแบบเรียน 3 เล่ม ที่กล่าวถึงความเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งแรก คือ เหตุการณ์กบฏ ร.ศ.103 (พ.ศ.2427) ซึ่งตรงกับรัชสมัยของ ร.5 คือ เอมพันธ์ วพ. และ อจท. 

ขณะที่ก่อนถึงบทการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 ทุกแบบเรียน ระบุว่า ร.7 ทรงมีแนวคิดพระราชทานสิทธิทางการเมืองแก่ประชาชนอยู่ก่อนแล้ว โดย ศธ. วพ. พว. แม็ค และเอมพันธ์ กล่าวถึงการเตรียมการร่างรัฐธรรมนูญของ ร.7 ว่าได้ทรงเตรียมการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ให้พระยาศรีวิสารวาจาและนายเรมอนด์ บี. สตรีเวนส์ ร่างรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อร่างเสร็จ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพร้อมบันทึกความเห็นว่า ไม่เห็นด้วยที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมปกครองตนเอง 

ประวัติศาสตร์ยุคประชาธิปไตย (ตั้งแต่ พ.ศ. 2475)

ประวัติศาสตร์ยุคนี้เล่าตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงปัจจุบัน นอกจากประวัติศาสตร์ในประเทศแล้ว ยังเล่าถึงเหตุการณ์สำคัญของโลกที่ไทยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เช่น สงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งไทยยอมให้ญี่ปุ่นใช้พื้นที่ ก่อนที่ต่อมาขบวนการเสรีไทยช่วยให้ไทยไม่ตกเป็นประเทศที่แพ้สงคราม รวมถึงบทบาทของไทยในยุคสงครามเย็น

เนื้อหาส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของคณะราษฎรในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แบบเรียนอธิบายว่า ร.7 ทรงเต็มใจสละพระราชอำนาจ ศธ.ให้รายละเอียดว่า ร.7 เห็นว่าถ้าไม่รับข้อเสนอจะเกิดความขัดแย้งของคนในชาติอย่างรุนแรงถึงขั้นนองเลือด วพ. และ อจท. ระบุคล้ายกันว่า ร.7 สละพระราชอำนาจ ทำให้การเปลี่ยนผ่านไม่เสียเลือดเสียเนื้อ และพว.ระบุว่า พระองค์ไม่มีพระราชประสงค์จะให้เกิดสงครามกลางเมือง การเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงเป็นไปด้วยความสงบ ประชาชนไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อเหมือนกับการเปลี่ยนแปลงประเทศอื่น

นอกจากนี้ พบว่า ในแบบเรียน เอมพันธ์ พว. และ วพ. ไม่ได้กล่าวถึงกรณี ร.8 เสด็จสวรรคตไว้ ขณะที่ ศธ. อจท. และแม็ค มีเนื้อหาใกล้เคียงกันว่า ร.8 เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืน และรัฐบาลขณะนั้นถูกวิจารณ์อย่างหนัก ไม่มีการเล่าถึงเหตุการณ์ข้างเคียงอื่นๆ เช่น การประหารชีวิตเฉลียว ปทุมรส ชิต สิงหเสนี และบุศย์ ปัทมศริน หรือข้อถกเถียงกรณีสวรรคต

ในส่วนที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ มีการบรรยายถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ในการยุติความขัดแย้ง เช่น ในเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 และ พฤษภาคม 2535 โดยเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญๆ พบว่า เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ศธ. เล่าถึงเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ว่า “นับเป็นการจลาจลนองเลือดที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย” พว. เอมพันธ์ และแม็ค ระบุว่า เหตุการณ์ยุติลงด้วยพระบารมีของ ร.9 โดย ศธ. พว. และเอมพันธ์ ระบุรายละเอียดว่า ร.9 ทรงขอร้องให้ทุกฝ่ายยุติการต่อสู้กัน ขณะที่ วพ. ระบุว่า เหตุการณ์สงบลงด้วยพระมหากรุณาธิคุณของร.9 โปรดเกล้าฯ ให้ถนอม ประภาส ลาออกจากตำแหน่ง และเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ส่วน อจท. เล่าว่า เหตุการณ์นี้สิ้นสุดลงเมื่อจอมพลถนอม จอมพลประภาส และพันเอกณรงค์ เดินทางออกนอกประเทศ และ ร.9 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สัญญา ธรรมศักดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

ขณะที่เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 มีคำอธิบายคู่ขัดแย้งต่างกันหลายระดับ มีตั้งแต่ อจท. ระบุว่า เป็นการชุมนุมประท้วงจอมพลถนอม กิตติขจรของกลุ่มนักศึกษา ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกไปสลายการชุมนุม แม็ค เล่าว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมกลุ่มนักศึกษาประชาชนที่มารวมตัวประท้วงการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร พว. ให้ภาพว่า 6 ต.ค. 2519 เป็นการปะทะกันระหว่างกลุ่มที่มีความคิดอุดมการณ์การเมืองฝ่ายขวา ซึ่งไม่พอใจความวุ่นวายทางการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เช่น ชาวนา ชาวไร่ กรรมกร นักศึกษา กับฝ่ายซ้ายที่เห็นด้วยกับการแสดงออกทางการเมืองของนักศึกษา ศธ. ระบุว่าเป็นการปะทะกันระหว่างกลุ่มที่เห็นด้วยกับนักศึกษาที่สนับสนุนกลุ่มกรรมกร ชาวไร่ ชาวนา และกลุ่มอนุรักษนิยม เอมพันธ์ ระบุว่าเป็นความขัดแย้งของฝ่ายซ้ายที่มีแนวคิดอุดมการณ์สังคมนิยมและฝ่ายขวาที่เป็นอนุรักษนิยม 

ที่ต่างออกไป คือ วพ. ซึ่งระบุถึงการปลุกระดมและกลุ่มติดอาวุธ โดยระบุว่า 6 ต.ค. 2519 เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอนุรักษนิยมกับกลุ่มก้าวหน้า มีการปลุกระดมจากกลุ่มรักชาติ กล่าวหาว่าผู้ชุมนุมเป็นคอมมิวนิสต์ ที่ต้องการล้มล้างชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กำลังตำรวจกับกลุ่มบุคคลติดอาวุธบุกเข้าไปในมธ. ใช้อาวุธสงครามยิงผู้ชุมนุมบาดเจ็บล้มตายหลายคน 

เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ซึ่งเป็นชุมนุมค้านการเป็นนายกฯ ของพล.อ.สุจินดา คราประยูร แบบเรียนทั้งหมดระบุว่าจบลงได้ด้วยพระบารมี โดยมีสองสำนักพิมพ์ที่ให้รายละเอียดคือ วพ. ระบุว่า เหตุการณ์สงบลงด้วยพระบารมีของร.9 ที่ให้นายกฯ และแกนนำเข้าเฝ้า เพื่อพระราชทานโอวาทให้ปรองดองกัน การจลาจลจึงยุติ และเอมพันธ์ เล่าว่า ยุติลงได้ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของร.9 พระราชทานโอวาทให้ปรองดองกัน 

ส่วนเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มทางการเมืองในเวลาต่อๆ มา ทั้งของ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ไม่มีการเอ่ยถึงอย่างชัดเจน จะเล่าเพียงว่าเกิดความขัดแย้งขึ้นเป็นระยะ และมีการรัฐประหารเท่านั้น และมีเพียง ศธ. ที่เล่าโดยระบุชื่อรัฐบาลและระบุด้วยว่ามีความขัดแย้งของกลุ่มคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง

โดย ศธ.เขียนเรื่องนี้ไว้ภายใต้หัวข้อ “ความยุ่งเหยิงทางการเมืองจนนำไปสู่การแตกแยกของประชาชน” ระบุว่า ระหว่าง พ.ศ. 2551-2552 รัฐบาลจากการเลือกตั้ง (สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงษ์สวัสดิ์ และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ประสบปัญหายุ่งยากในการบริหารราชการแผ่นดินเนื่องจากสังคมไทยมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงทางการเมือง “ระหว่างกลุ่มต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ใช้สัญลักษณ์เสื้อเหลือง กับกลุ่มที่นิยม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ใช้เสื้อสีแดง ทั้งสองกลุ่มใช้วิธีชุมนุมประท้วงจนเกิดการจลาจลติดกันหลายครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทหารและตำรวจได้เข้าไประงับเหตุและสลายการชุมนุม ทำให้เกิดการปะทะกันมีผู้บาดเจ็บล้มตายทั้งสองฝ่ายจำนวนมาก เหตุการณ์ร้ายแรงดังกล่าวส่งผลเสียหายต่อการท่องเที่ยวของไทยอย่างมาก เนื่องจากชาวต่างชาติหวาดกลัวต่อความวุ่นวายจึงไม่กล้าเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย” ต่อมา ปี 2554 น้องสาวของพ.ต.ท.ทักษิณ คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกฯ เพื่อไทยตั้งรัฐบาล ก่อนจะยุบสภาในวันที่ 9 ธ.ค. 2556 

อย่างไรก็ตาม ในบทประวัติศาสตร์การเมืองส่วนนี้ มีข้อสังเกตว่า แบบเรียน ศธ. ปรากฏจุดที่น่าจะพิมพ์ปีของเหตุการณ์ผิดพลาด 2 จุด คือ หน้า 85 “16 ตุลาคม 2516” ซึ่งน่าจะหมายถึง 14 ต.ค. 2516 เพราะก่อนหน้านั้นกล่าวกลุ่มนักธุรกิจที่มีบทบาทก่อน 14 ตุลาคม 2516 และหน้า 86 “19 พฤษภาคม 2553” ซึ่งน่าจะเป็น 2535 เพราะกล่าวถึง “ม็อบมือถือ” 

ทั้งนี้ จากแบบเรียน 6 เล่ม มี อจท. และเอมพันธ์ ที่มีทำเนียบรายชื่อนายกรัฐมนตรีของไทย พร้อมช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่ง โดยของ อจท. จะมีคำอธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับลักษณะเด่นของตัวนายกฯ หรือของช่วงเวลานั้นๆ กำกับอยู่ด้วย เช่น หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกฯ คนที่ 6 เป็นสมัยที่ไทยต้องเผชิญ 6 ต.ค. 2519 ทักษิณ ชินวัตร นายกฯ คนที่ 23 เป็นนายกฯ คนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง และอยู่ครบวาระ 4 ปี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ คนที่ 27 เป็นนายกฯ ที่ได้รับยกย่องเป็นผู้มีวาทะศิลป์ในการพูดที่ดีคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คนที่ 29 นั้น ไม่มีข้อความระบุไว้

หนึ่งในพัฒนาการด้านเศรษฐกิจของยุคประชาธิปไตย คือ การประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีเพียง วพ. และเอมพันธ์ ที่อธิบายที่มาที่ไปของแผนพัฒนาฯ นี้ โดย วพ. ระบุว่า ในปลายทศวรรษ 2490 โลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็นเป็นผลให้ฝ่ายโลกเสรีนำโดยสหรัฐอเมริกาสนใจจะช่วยส่งเสริมเสถียรภาพของโครงสร้างทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเพื่อใช้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการปิดกั้นการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อให้เกิดการประกาศใช้แผนพัฒนาฉบับที่หนึ่งนับแต่พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา ส่วนเอมพันธ์ระบุว่า ตั้งแต่ 2490 การเมืองระหว่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคสงครามเย็น อเมริกาผู้นำโลกฝ่ายเสรีประชาธิปไตยให้ความช่วยเหลือประเทศไทยเพื่อต่อต้านการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ประกอบกับการตั้งฐานทัพอเมริกันส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเฟื่องฟูขึ้น สหรัฐอเมริกาสนับสนุนนโยบายวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของไทยเพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างมีแบบแผนรัฐบาลได้จัดตั้งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจขึ้นและประกาศใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 โดยได้พัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรม

ขณะที่เมื่อเล่าถึงปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ในช่วงปี 2540 ศธ. วพ. แม็ค และเอมพันธ์ ระบุในทำนองเดียวกันว่า ตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ต้นเป็นมา ได้มีการอัญเชิญแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของ ร.9 มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาประเทศให้เป็นไปทางสายกลาง 

นอกจากนี้มี 2 แบบเรียนที่กล่าวถึงนโยบายประชานิยมเอาไว้ นั่นคือ ศธ. กล่าวถึง 2 ครั้ง คือในหัวข้อสถานภาพเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของไทยภายใต้ระบบทุนนิยมเสรี ปัญหาที่เกษตรกรไทยต้องเผชิญค่อนข้างรุนแรงในปัจจุบันคือ ลงทุนด้วยต้นทุนสูง แต่ขายผลผลิตได้ต่ำ รัฐบาลแก้ด้วยการจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ พักหนี้เกษตรกร จัดหาแหล่งน้ำ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรและขยายตลาดการค้าต่างประเทศ แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ “เนื่องจากมาตรการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลมักจะเป็นมาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และมักเป็นนโยบายประชานิยม” และในหัวข้อสังคมไทยภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 รัฐบาลทักษิณ “ใช้นโยบายประชานิยม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้า นโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาลดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความแตกแยกทางการเมืองและมีผลกระทบต่อสังคมไทย ประชาชนแบ่งเป็นหลายฝ่ายที่แตกแยกทางอุดมการณ์และความคิดจนยากที่จะปรองดองกันได้” พร้อมระบุต่อว่า “ปัจจุบัน ประชาชนหันมาพึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเน้นเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเกษตรกรหันมาใช้ทฤษฎีใหม่ และหลักการพัฒนาแบบยั่งยืน” และ อจท. ที่ระบุว่า หลังวิกฤตเศรษฐกิจ ช่วง 2539-2540 ในปี 2548-2550 รัฐบาลใช้นโยบายเศรษฐกิจพอเพียง เป็นระบบเศรษฐกิจหลัก ก่อนจะหันมาใช้ ประชานิยม ในลักษณะของการแจกเงิน หรือให้บริการฟรีในเรื่องต่างๆ 

ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย 

บทนี้ ส่วนใหญ่กล่าวถึงบทบาทของกษัตริย์แต่ละพระองค์ต่อการฟื้นฟูศิลปกรรมแขนงต่างๆ รื้อฟื้นแบบแผนพระราชประเพณี ตลอดจนปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมให้ทันสมัยตามตะวันตก โดยมีหัวข้อย่อยเป็นการเฉพาะที่กล่าวถึงบทบาทอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลเดชมหาราชบรมนาถบพิตร เช่น โครงการฝนหลวง กังหันน้ำชัยพัฒนา โครงการแก้มลิง เกษตรทฤษฎีใหม่ และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และบทบาทอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงผ่านมูลนิธิศูนย์ศิลปาชีพ โดยส่งเสริมงานหัตกรรมแก่ราษฎร ซึ่งนอกจากเป็นการอนุรักษ์แล้ว ยังสร้างรายได้ให้กับเกษตรด้วย 

ส่วนที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น แบบเรียน ศธ. ในเรื่องภูมิปัญญาด้านสถาปัตยกรรม ตอนหนึ่ง พูดถึงการพัฒนาสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก โดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม และการก่อสร้างด้วยรูปแบบและวัสดุที่ไม่ระบายความร้อน ทำให้อากาศไม่ถ่ายเท ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศ พร้อมระบุว่า ถ้าเอาภูมิปัญญาของบรรพชนมาประยุกต์ใช้ จะไม่ต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ 

พัฒนาการของทวีปต่างๆ 

เมื่อเข้าสู่บทพัฒนาการด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของทวีปต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยทวีปยุโรป ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปอเมริกาใต้ ทวีปแอฟริกา และทวีปออสเตรเลียและโอเชียเนีย ระบบปีที่อ้างถึงจะเป็น ค.ศ.ทั้งหมด ในบทนี้ส่วนใหญ่มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน มีข้อน่าสังเกต เช่น แบบเรียนของ ศธ. วพ. อจท. และแม็ค มีการใช้คำว่า “นิโกร” “อเมริกันนิโกร” ขณะที่เอมพันธ์ กับ พว. จะใช้คำเรียกเช่น คนผิวดำจากแอฟริกา ทั้งนี้ เดิมคำว่า “นิโกร” เป็นที่ยอมรับในช่วงเวลาหนึ่งก่อนที่ต่อมา จะถูกมองว่า เป็นคำที่มีอคติทางเชื้อชาติ 

นอกจากนี้ มีส่วนที่กล่าวถึงคาแรกเตอร์ของคนแต่ละประเทศ เช่น อจท. ในบททวีปอเมริกาเหนือ ตอนหนึ่งระบุว่า สหรัฐอเมริกาและแคนาดาซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวที่มีแบบแผนทางสังคมและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน ผู้คนมีความขยันและเชื่อมั่นในการศึกษา มีระเบียบวินัยในการทำงาน รักกีฬาเป็นชีวิตจิตใจ และนิยมการเตรียมแผนงานล่วงหน้า ตลอดจนชอบความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน 

พว. กล่าวถึงประชากรในแคนาดาและสหรัฐอเมริกาว่า ได้รับการศึกษาสูงและมีมาตรฐานการครองชีพสูง เนื่องจากชาวอเมริกันและชาวแคนาดามีค่านิยมยกย่องผู้ที่มีความมานะพยายามจนประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งเป็นผลให้ชาวอเมริกันและชาวแคนาดา มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม 

ในบททวีปออสเตรเลียและโอเชียเนีย เอมพันธ์ ระบุว่า ประชากรของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีคุณภาพ เนื่องจากได้รับการศึกษาสูง ทั้งมีการคมนาคมขนส่งและการสื่อสารที่ก้าวหน้าและทั่วถึงครอบคลุมทั้งประเทศ และมีสถานศึกษาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลหลายแห่ง ทำให้ชาวเอเชียจำนวนมากนิยมไปศึกษาในปัจจุบัน 

อิทธิพลของอารยธรรมตะวันตก

อิทธิพลของอารยธรรมตะวันตกที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ส่วนใหญ่มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน คือกล่าวถึงอิทธิพลด้านการเมือง เช่น รัฐชาติ ประชาธิปไตย ด้านเศรษฐกิจ เช่น ทุนนิยม ด้านวัฒนธรรม เช่น การแต่งกายที่แบบตะวันตกกลายมาเป็นแบบสากล อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตจากแบบเรียนบางสำนักพิมพ์ เช่น แบบเรียนของ พว. ตอนหนึ่งระบุว่า ในด้านเศรษฐกิจ เมื่อมีการขยายตลาดเสรีตามแนวคิดแบบทุนนิยมตะวันตก ทำให้สังคมโลกเป็นสังคมบริโภคนิยม “หลายประเทศจึงหวนคิดถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเน้นการดำรงชีวิตอยู่อย่างพอเพียงและยั่งยืน ทั้งยังสอดคล้องกับวิถีธรรมชาติอีกด้วย แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม 

ด้านนันทนาการ พว.ระบุว่า กิจกรรมนันทนาการแบบตะวันตกในรูปของดนตรี กีฬา เช่น ฟุตบอล เทนนิส เข้ามาแทนที่นันทนาการพื้นบ้าน เช่น ศิลปะการแสดงและการละเล่นพื้นเมือง ที่ค่อยๆ เสื่อมความนิยมและไม่มีผู้สืบทอด ดังนั้น แต่ละท้องถิ่นต้องช่วยกันอนุรักษ์มรดกทางวัวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของชาติ ก่อนจะสรุปว่า ผู้รับวัฒนธรรมสมัยใหม่ไม่ว่าจากตะวันตกหรือตะวันออก ต้องใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบ เพราะวัฒนธรรมเหล่านั้นมีทั้งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ และไม่มี เช่น สิ่งเสพติดและค่านิยมบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกับขนมธรรมเนียมและศีลธรรมอันดีที่สงคมไทยยึดถือมาอย่างยาวนาน และแต่ละท้องถิ่นต้องไม่ละทิ้งวัฒนธรรมดั้งเดิมที่บอกถึงความเป็นชาติ เอกลักษณ์และตัวตนของเราด้วย 

ความขัดแย้งและความร่วมมือของโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทั้งหกแบบเรียน มีเนื้อหาคล้ายกันโดยความขัดแย้ง กล่าวถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็น โดยให้ข้อมูลถึงสาเหตุและผลกระทบจากสงครามนั้นๆ ขณะที่ความร่วมมือ ส่วนใหญ่กล่าวถึงความร่วมมือจัดตั้งองค์กรระดับสากล คือ องค์การสันนิบาตชาติ ซึ่งตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และองค์การสหประชาชาติที่ตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 

สรุปแบบเรียนประวัติศาสตร์ ม. 3

แบบเรียนประวัติศาสตร์ ม.3 บอกเล่าเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์โดยละเอียด หลากหลายแง่มุม ขณะที่ประวัติศาสตร์ในช่วงหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยแล้วมีค่อนข้างน้อย ตัวนายกฯ ในฐานะผู้นำรัฐบาลแต่ละยุคสมัยไม่ได้ถูกหยิบมาเล่าถึงมากนัก ยิ่งไปกว่านั้นจำนวนมากก็ไม่ถูกกล่าวถึงเลย นอกจากนี้ในส่วนของเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญๆ ยังพบว่า บางแบบเรียนให้รายละเอียดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่น กรณี 6 ต.ค. 2519 ขณะที่บางเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญต่อการเมืองไทย เช่น การชุมนุมของกลุ่มการเมือง พธม. นปช. และ กปปส. ก็ไม่ได้ถูกกล่าวถึงอย่างตรงไปตรงมา 

นอกจากนี้ ระบบปีที่ใช้อ้างอิงตลอดทั้งเล่ม ยังไม่มีความสม่ำเสมอ โดยเมื่อกล่าวถึงประวัติศาสตร์ไทยจะใช้ พ.ศ. ขณะที่เมื่อเข้าถึงบทที่กล่าวถึงต่างประเทศ จะใช้ระบบ ค.ศ. ทำให้ยากต่อการเทียบเคียงเหตุการณ์เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ ณ ขณะนั้น

แบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ม.4-ม.6

สำหรับการเรียนประวัติศาสตร์ช่วงมัธยมปลายนั้น จะแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 เล่ม คือประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์สากล โดยในที่นี้จะหยิบเฉพาะเล่มประวัติศาสตร์ไทยมาทำการศึกษา ซึ่งในส่วนของประวัติศาสตร์ไทย แต่ละสำนักพิมพ์มีการระบุวัตถุประสงค์ของการศึกษาไว้ เช่น  ศธ. ระบุว่า “เพื่อให้ครูผู้สอนและนักเรียนมีสื่อการเรียนการสอนใช้สำหรับการจัดเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน” หรือในแบบเรียนของ วพ. ที่ระบุไว้คล้ายๆ กันว่า “มีเป้าหมายให้นักเรียนและครูใช้เป็นสื่อในการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่หลักสูตรกำหนด พัฒนานักเรียนให้มีสมรรถนะตามที่ต้องการทั้งด้านการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา การใช้ทักษะชีวิต และการใช้เทคโนโลยี ตลอดจนพัฒนานักเรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมไทยและสังคมโลกได้อย่างมีความสุข”

ในขณะที่แบบเรียนของ พว. ระบุว่า “เป็นหนังสือเรียนที่สอดแทรกการบูรณาการ และเน้นการสร้างความรู้กับค่านิยมตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” อจท.ระบุว่า “เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของเวลาและยุคสมัยทางประวัติศาสตร์อย่างเป็นระบบ” ขณะที่เอมพันธ์ ในคำนำระบุว่า “เรียบเรียงขึ้นตามหลักสูตรแกนกลางที่กระทรวงกำหนด”

ส่วนแบบเรียนของแม็คมีการระบุเพิ่มเติมไว้ว่า “เพื่อตอบสนองนโยบายค่านิยมหลักที่ดีงาม 12 ประการ จึงได้มีการเพิ่มเนื้อหาและกิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบภาระงานที่มุ่งให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในด่านิยมหลัก 12 ประการ และนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้”

ในส่วนของหน่วยการเรียนรู้ แต่ละสำนักพิมพ์แบ่งจำนวนไม่เท่ากัน แต่เนื้อหาใกล้เคียงกันมาก โดยจะสอนเรื่องเวลา ยุคสมัย วิธีการทางประวัติศาสตร์ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ไทย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสำคัญทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ตามมาด้วยเรื่องวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย และเรื่องบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย 

เวลา ยุคสมัย และวิธีการทางประวัติศาสตร์

เนื้อหาในบทนี้กล่าวถึงความหมายและความสำคัญของประวัติศาสตร์ การนับเวลา การแบ่งช่วงยุคสมัยทางประวัติศาตร์ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ และการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ โดยเริ่มจากความหมายและความสำคัญของประวัติศาสตร์ 

นิยามของประวัติศาสตร์ในแบบเรียนของ ศธ. ระบุว่า “ประวัติศาสตร์หมายถึงการศึกษาพฤติกรรมของมนุษยชาติในอดีตที่มีผลต่อสังคมทั้งในยุคสมัยนั้นหรือส่งผลกระทบเชื่อมโยงถึงปัจจุบันและอนาคต” ในขณะที่แบบเรียนของเอมพันธ์มีการใส่ความหมายที่หลากหลายในการนิยามประวัติศาสตร์ เช่น ในพงศาวดารของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ให้ความหมายว่าเป็นการศึกษาเพื่อเข้าใจอดีตของสังคมมนุษย์ในมิติเวลา หรือในแบบเรียนของ วพ.ให้ความหมายของประวัติศาสตร์ว่า “การศึกษาเรื่องราวและพฤติกรรมของสังคมมนุษย์ในอดีต โดยศึกษาเฉพาะเรื่องราวสำคัญที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก” อย่างไรก็ตาม ในแบบเรียนของ วพ. พบจุดที่มีข้อมูลคลาดเคลื่อน ที่ระบุศัพท์ภาษากรีกของประวัติศาสตร์ว่ามาจากคำว่า Histori แต่ความเป็นจริงควรเป็นคำว่า Historia

ในเรื่องความสำคัญของประวัติศาสตร์ ในแบบเรียน อจท. อธิบายถึงความสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ว่าจะทำให้ “รู้สึกถึงความเป็นชาติ รากเหง้าของคน เพื่อเข้าใจและเกิดความภาคภูมิใจในชาติ เห็นข้อบกพร่อง ความผิดพลาด ความสำเร็จ ความดีงาม และความเสียสละของบรรพบุรุษ” ในแบบเรียนของ พว. อธิบายไว้ว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีต ทำให้สามารถเชื่อมโยงความสำคัญของเหตุการณ์ในอดีตที่มีผลต่อปัจจุบัน มีการยกตัวอย่างรถไฟไทยในการย้ำถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ โดยชี้ว่า ในปัจจุบันแม้รถไฟจะไม่ได้นิยมเหมือนอดีต แต่เป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางบกของประเทศไทย

เนื้อหาของวิธีการทางประวัติศาสตร์ โดยในประเด็นการเรี่องรวบรวมหลักฐาน อจท. ยกตัวอย่าง “ภาพถ่ายเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงของนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และบริเวณถนนราชดำเนิน 14 ต.ค. 2516 เป็นหลักฐานชั้นต้นที่อยู่ร่วมสมัยกับผู้ที่ถ่ายภาพเหตุการณ์ จึงมีความน่าเชื่อถือ” และยกตัวอย่างหลักฐานหลายลักษณะ เช่น เอกสารส่วนบุคคลซึ่งเป็นบันทึกส่วนตัวของผู้ที่เกี่ยวข้องหรือรู้เห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น เช่น บันทึกของคณะราษฎรช่วงปี 2475 และยกตัวอย่างลายพระราชหัตถเลขาของพระจุลจอมเกล้าพระราชทานแก่นางแอนนา เลียวโนเวนส์ 

ในส่วนของการประเมินคุณค่า การวิเคราะห์สังเคราะห์ และนำเสนอ เนื้อหาจะมีความแตกต่างกันที่บทนำ และการอธิบายความหมายทางประวัติศาสตร์ หรือศาสตร์การนับเวลา เช่น แม็ค อธิบายความหมายของเวลา ที่มาของคำว่า calendar มาจากรากศัพท์ภาษาละตินที่หมายความถึงสมุดบัญชีของผู้ปล่อยเงินกู้ (moneylender’s account book) 

ที่น่าสนใจคือ เอมพันธ์กล่าวถึงหลักฐานชั้นสาม (tertiary source) ด้วย ขณะที่สำนักพิมพ์อื่นๆ ไม่ได้กล่าวถึง และกล่าวถึงการชำระพงศาวดารที่เกิดขึ้นหลายครั้งว่าอาจจะต้องประเมินความน่าเชื่อถือด้วย นอกจากนี้ยังนำเสนอเรื่องหลักฐานอื่นๆ อีกมาก เช่น วิทยานิพนธ์หรือวิจัย ซึ่งวิทยานิพนธ์ที่ผ่านการตีความหลักฐานมาแล้ว นำมาซึ่งแนวคิด และข้อคิดเห็นใหม่ๆ ที่ต่างไปจากประวัติศาสตร์ไทยในอดีต ซึ่งมีประโยชน์เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม อจท. ลงท้ายว่าเอกสารต่างชาติสำหรับไทยนั้นเป็น “เรื่องที่ได้มีการบันทึกไว้เป็นมุมมองของต่างชาติที่ต่างจากของไทย โดยเรื่องหรือเหตุการณ์ที่คนไทยปฏิบัติกันเป็นปกติ อาจกลายเป็นเรื่องไม่ดีในสายตาของต่างชาติก็เป็นได้” การเลือกเอกสารที่จะศึกษาต้องคำนึงด้วยว่าเป็นเอกสารชนิดใด หากเป็นพระราชพงศาวดารหรือหนังสือที่เขียนเพื่อยกย่องพระมหากษัตริย์ จึงมีเนื้อหาเชิดชูพระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกันอาจมีข้อมูลด้านลบของศัตรู นักเรียนจึงควรพิจารณาถึงประเด็นเหล่านี้ด้วย 

นอกจากนี้ แต่ละสำนักพิมพ์ยังยกตัวอย่างศักราชแตกต่างกัน โดยแม็ค มี 6 ศักราช คือ พุทธศักราช คริสต์ศักราช ฮิจเราะห์ศักราช มหาศักราช จุลศักราช และรัตนโกสินทรศก ส่วนเอมพันธ์ มี 5 ศักราช ไม่มีปรากฏฮิจเราะห์ศักราช ขณะที่อจท.มีเพียง 4 ศักราช คือ พุทธศักราช มหาศักราช จุลศักราช และรัตนโกสินทรศก 

การตั้งถิ่นฐานในดินแดนไทย

การนำเสนอเรื่องการตั้งถิ่นฐานในดินแดนไทย มีการยกตัวอย่างคล้ายๆ กันคือ นำเสนอแนวคิดหลากหลาย 5 แนวคิด คือ จากเทือกเขาอัลไต จากเสฉวน จากรัฐอัสสัม จากคาบสมุทรมลายู และถิ่นที่อยู่ปัจจุบัน และมีแนวคิดแย้งรวมถึงเหตุผลประกอบว่าแนวคิดใดมีจุดบกพร่องอย่างไรบ้าง ส่วนเล่มของ อจท. มีระบุว่าแนวคิดคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต กำเนิดโดยขุนวิจิตรมาตรา มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความจงรักภักดีต่อชาติจึงเสนอแนวคิดว่าชาติไทยเป็นชาติเก่าแก่ อย่างไรก็ตาม แบบเรียน พว. ไม่ได้อธิบายรายละเอียดได้อย่างครบถ้วนเหมือนสำนักพิมพ์อื่น โดยระบุเพียงแค่ว่ามีนักวิชาการคนไหนที่ศึกษา พร้อมทฤษฎีที่ว่าคนไทยมาจากไหนบ้าง แต่ไม่ได้มีการโต้แย้งในแต่ละทฤษฎีว่ามีข้อโต้แย้งหรือมีนักวิชาการคัดค้านด้วยเหตุผลอะไรบ้างเหมือนแบบเรียนเล่มอื่น

เรื่องรัฐโบราณในดินแดนไทย ในแบบเรียนหลายเล่มเล่าถึงปัจจัยที่ทำให้หลายแว่นแคว้นโบราณเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนไทย ยกตัวอย่างเช่น แบบเรียนของ ศธ.ที่อธิบายว่าดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันเป็นดินแดนที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตกาล ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านสภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม เป็นที่ราบลุ่มระหว่างเขา และแม่น้ำหลายสาย เหมาะแก่การดำรงชีพ มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ และอยู่กึ่งกลางระหว่างจีนและอินเดียจึงกลายเป็นเมืองท่าบนเส้นทางคมนาคมสำคัญ 

นอกจากนี้ในแบบเรียนหลายเล่มยังกล่าวถึงแว่นแคว้นต่างๆ ในไทย ตั้งแต่ทราวดี ละโว้ ศรีวิชัย ตามพรลิงค์ หริภุญชัย เป็นต้น เพื่อให้เห็นถึงพัฒนาการของเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของอารยธรรมโบราณในไทย แต่จะแตกต่างด้านรายละเอียดและการอ้างอิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น แม็คมักอ้างอิงเอกสารจีนอยู่บ่อยครั้ง อาทิ อาณาจักรศรีวิชัย พบหลักฐานจีนเรียก ซานโฟชิ (San Fo Qi) อาณาจักรละโว้ พบจดหมายเหตุจีนชื่อหลงหูระบุไว้ หรืออาณาจักรหริภุญชัย ก็พบการอ้างอิงเอกสารจีนสมัยราชวงศ์ถัง เป็นต้น ในขณะที่หนังสือของเอมพันธ์จะอ้างอิงหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงให้เห็นถึงร่องรอย เช่น กลองจากวัฒนธรรมดองซอน คูบัวที่จังหวัดราชบุรี เป็นต้น

ในเรื่องการสถาปนาอาณาจักรไทยนั้น แม็คระบุเพียงว่า “การสถาปนาอาณาจักรไทยไม่ว่าจะเป็นกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และรัตนโกสินทร์นั้นล้วนมีปัจจัยการก่อตั้งที่แตกต่างกัน” ส่วนของ อจพ. เริ่มระบุที่อาณาจักรโบราณ ตามด้วยสุโขทัย อยุธยา ตามลำดับ สำนักพิมพ์เอมพันธ์ระบุว่าการแบ่งยุคสมัยย่อยๆ ที่ปรากฏในแบบเรียนนั้นเป็นลักษณะที่นิยมใช้กัน “แบ่งตามศูนย์กลางอำนาจทางการปกครอง” โดยเริ่มจากสมัยก่อนสุโขทัย ตามมาด้วยสุโขทัย อยุธยา ตามลำดับ

ในเรื่องการสถาปนาราชอาณาจักรรัตนโกสินทร์โดยเปลี่ยนผ่านจากอาณาจักรธนบุรีนั้น น่าสนใจที่แบบเรียนหลายเล่มไม่ได้มีการพูดถึงช่วงปลายของพระเจ้าตากสินก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สมัยของอาณาจักรรัตนโกสินทร์ ส่วนแบบเรียนที่มีการพูดถึงช่วงท้ายของพระเจ้าตากสิน เช่น วพ. ที่ระบุว่าในระหว่างที่มีการปราบปรามกบฎในเขมร เกิดการจราจลที่กรุงเก่าและกลายเป็นกบฎพระยาสรรค์บุกเข้ายึดกรุงธนบุรีและบังคับให้พระเจ้าตากสินทรงผนวช แม้ตอนท้ายพระยาสุริยอภัยจะนำกองทัพมาปราบกบฎลงและอัญเชิญสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ แต่ก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงพระเจ้าตากสินต่อจากนั้น 

หรือในเล่มของแม็คระบุถึงการครองราชย์ของ ร.1 ว่าเป็นการปราบดาภิเษก กล่าวคือพระเจ้าตากสินโดนพระยาสรรค์บุรีบังคับบวช ขุนนางเห็นว่าพระเจ้าตากสินสติฟั่นเฟือน ไม่ทรงอยู่ในทศพิธราชธรรม ประชาราษฎร์ได้รับความเดือดร้อน เห็นควรสำเร็จโทษพระเจ้าตากสิน ข้าราชการจึงทูลเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นเป็นกษัตริย์ ส่วนเล่มของเอมพันธ์กล่าวว่า “ได้รับอัญเชิญจากบรรดาขุนนางข้าราชการทั้งปวงให้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ”

 ความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์

เรื่องกษัตริย์และไทยมีระบุในแม็คว่า สถาบันกษัตริย์มีบทบาทในการพัฒนาชาติไทย ด้านการเมืองคือการตั้งราชธานี ออกรบเพื่อป้องกันบ้านเมือง เจริญสัมพันธไมตรีทั้งการแต่งงานและการค้า “ในสมัยโบราณเรียกว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นอำนาจสูงสุดในการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ได้รับการยอมรับเทิดทูนจากประชาชนในลักษณะเป็นเสมือนสถาบันศักดิ์สิทธิ์ที่ให้ความคุ้มครองแก่ตน การยอมอยู่ใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์เป็นไปด้วยความสมัครใจเกิดจากความจงรักภักดี เพราะตระหนักว่าประเทศชาติมีความสงบและมั่นคงเพราะบารมีของพระมหากษัตริย์”

ขณะที่เอมพันธ์ ยกตัวอย่างหลักฐานทางโบราณคดีที่จับต้องได้ โดยระบุความสำคัญของกษัตริย์และยกตัวอย่างแนวคิดที่ปรากฏในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระอริยวงตาคตญาณ (อุฏฐายีมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 16 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2508-2514) ความว่า “…การที่คนไทยสามารถรักษาเอกราชในท่ามกลางการเสียเอกราชของเพื่อนบ้านรอบทุกด้าน มาถึงปัจจุบันก็ดี เพราะคนไทยเราสร้างความสามัคคีธรรมได้ดี โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ยึดถือเป็นองค์เคารพสักการะมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบันโดยไม่ขาดสาย การถือนั้นมีหลักใหญ่ อยู่ 3 ประการ คือ ในชาติไทยถือว่าทรงเป็นพระประมุขของชาติ ในกองทัพไทยถือว่าทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพ ในพระพุทธศาสนาถือว่าทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก การถืออย่างนี้เห็นได้ชัดว่าเป็นความฉลาดของคนไทยอย่างยิ่งที่เดียว”

อย่างไรก็ตามแบบเรียนของเอมพันธ์ มักยกตัวอย่างประกอบหลักฐานด้วยโบราณคดี มีหลักฐานยกประกอบให้เห็นภาพ และสรุปรวมเป็นยุค โดยมีหัวข้อย่อยแต่ละยุคคือ ด้านตุลาการ ด้านศาสนา และด้านวัฒนธรรม 

ความน่าสนใจอยู่ที่แบบเรียนของ พว. ซึ่งเป็นเพียงเล่มเดียวที่กล่าวถึงฐานอำนาจของสถาบัน ว่ามาจากความมั่นคงแห่งพระราชอำนาจ และการคงอยู่ของสถาบันมาจากทั้งอิทธิพลทางศาสนาเรื่องฐานะสมมติเทพของพราหมณ์และหลักทศพิศราชธรรมของพุทธ การสนับสนุนและความจงรักภักดีของกลุ่มบุคคล เช่น กลุ่มชนชั้นสูง สมณพราหมณ์ ผู้ถูกปกครอง (ไพร่ ทาส พ่อค้า) 

การปฏิรูปบ้านเมืองสมัยรัชกาลที่ 5 

แบบเรียนแต่ละสำนักพิมพ์เน้นย้ำความสำคัญแตกต่างกัน บางเล่มปรากฏไม่กี่หน้า แต่บางเล่มปรากฏมีมากกว่า 5 หน้าขึ้นไปและมีแผนผังแสดงประกอบ โดยระบุสาเหตุเหมือนกันคือมีทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน สาเหตุแรกคือลัทธิจักรวรรดินิยม จึงต้องมีการปรับปรุงประเทศอย่างเร่งด่วน ยอมเสียส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ ส่วนการเมืองภายในนั้นเพราะ ช่วง บุนนาคครองอำนาจ วิธีการที่ดีคือต้องดึงพระราชอำนาจกลับสู่สถาบันเพื่อให้ดำเนินการปฏิรูปได้อย่างเต็มที่ และการประพาสต้นก็ทำให้เห็นสถานการณ์ความเป็นไปมากมาย ซึ่งมีการปฏิรูปประเทศ 2 ระยะ โดยแบบเรียนของแม็คนำเสนอเรื่องการปฏิรูปประเทศของ ร.5 และข้ามประเด็นการปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทยในปี 2475 ไป และตอนท้ายของบทยังลงท้ายว่า “การปฏิรูปทำให้ไทยรักษาเอกราชไว้ได้ ขณะที่เพื่อนบ้านต้องตกเป็นอาณานิคม อย่างไรก็ตาม ไทยจำเป็นต้องเสียดินไปหลายส่วนเพื่อรักษาส่วนมากไว้”

ขณะที่ อจท. ระบุไว้ว่าการปฏิรูปบ้านเมืองสมัย ร.5 “ทำให้ไทยก้าวสู่ยุคใหม่ เป็นประเทศที่ทันสมัยทำให้ไทยรอดพ้นจากยุคจักรวรรดินิยมมาได้ซึ่งเป็นเพียงชาติเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังส่งผลอย่างสำคัญต่อความเจริญของประเทศไทยในปัจจุบันอีกด้วย” สาเหตุของการปฏิรูปบ้านเมือง เพราะจักรวรรดินิยมจึง

ต้องปฏิรูป สร้างรัฐรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า รัฐชาติ (nation state) เพื่อไม่ให้ชาวตะวันตกยึดครองดินแดน และระบุเพิ่มเติมว่าการปฏิรูป “เพื่อให้บ้านเมืองมั่นคงสามารถรักษาเอกราชไว้ได้ เพราะรูปแบบการปกครองที่ใช้ในเวลานั้นไม่เหมาะสม” เนื่องจากการปกครองเดิมล้าสมัย บางหน่วยงานล้นมือ บางหน่วยไม่มีงาน ปฏิรูปการปกครอง ตั้งสภาที่ปรึกษาเพราะอำนาจไม่มั่นคง มีการระบุในหนังสือว่าในสมัย ร.5 มีการสำรวจและทำแผนที่ประเทศไทย ถือเป็นการแสดงเขตแดนหรืออาณาเขตของประเทศไทยที่ชัดเจน ทำให้รักษาเอกราชไว้ได้ ถือเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดของคนไทย

การเลิกไพร่และทาส

ทุกสำนักพิมพ์ล้วนระบุสาเหตุการเลิกไพร่และทาสคล้ายกัน ซึ่งมักบรรยายด้วยคำว่า สุขุมนุ่มนวล เล่มของ อจท.ระบุว่าการเลิกทาสของ ร.5 “ทรงทำได้ดีอย่างยิ่ง ทั้งยังนุ่มนวลและไม่มีเหตุยุ่งยากเป็นเรื่องใหญ่โตเหมือนในบางประเทศ” ระบบไพร่ทาสสิ้นสุดลงด้วยดี

เอมพันธ์ กล่าวถึงการเลิกไพร่ทาสว่าเป็นพระประสงค์ตั้งแต่ครองราชย์ โดยทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ส่วนเล่มของแม็คระบุว่าที่ประสงค์เลิกทาสนั้นเพราะการมีทาสเป็นการขัดต่อการปกครองแบบใหม่และไม่เหมาะสมกับลักษณะทางเศรษฐกิจ ได้รับการดูถูกจากตะวันตกว่าล้าหลัง เป็นการกดขี่ ลดคุณค่า และเกียรติภูมิของความเป็นคน โดยทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลา 30 ปีถึงสำเร็จ 

ศธ. กล่าวถึงการเลิกระบบไพร่ว่าเป็นเหตุให้เกิดการแบ่งชนชั้นในสังคมไทย ราษฎรไทยไม่ได้รับความเสมอภาคและความยุติธรรมเท่าที่ควร ร.5 จึงให้ยกเลิกแบบค่อยเป็นค่อยไป จนถึงพ.ศ. 2448 จึงจะยกเลิกเด็ดขาด ในขณะที่การเลิกทาสเกิดขึ้นเพราะ ร.5 มองว่าการมีทาสทำให้ประเทศล้าหลัง เป็นสังคมที่มนุษย์ยังไร้ศักดิ์ศรี ขาดความเสมอภาค อิสรภาพและเสรีภาพโดยที่อารยประเทศต่างๆ ก็ได้ยกเลิกทาสในประเทศตน จึงมีพระราชดำริยกเลิกทาสแบบค่อยเป็นค่อยไป การเลิกทาสดำเนินไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในระยะเวลา 31 ปี จึงจะสำเร็จเรียบร้อยทั่วประเทศโดยไม่ขัดแย้งถึงขั้นทำสงครามกันเองเหมือนสหรัฐอเมริกา

ในหนังสือของ วพ. มีเนื้อหาการเลิกไพร่และทาสใกล้เคียงกับของ ศธ. แต่เพิ่มเนื้อหาว่า หากประเทศยังมีทาสต่อไป ชาติตะวันตกอาจถือเป็นข้ออ้างเข้าควบคุมการปกครองของไทยโดยอ้างว่าเพื่อสร้างความเจริญให้กับประเทศป่าเถื่อน นอกจากนี้ยังสรุปว่า การเลิกทาสเป็นผลดีต่อสังคม ทำให้ราษฎรส่วนใหญ่ได้รับอิสระและเสรีที่ไม่เคยมีมาก่อน ยังบังเกิดผลสอดคล้องกับสภาพการเมืองการปกครองที่กำลังพัฒนาไปสู่รูปแบบใหม่ในระหว่างนั้นด้วย

บางส่วนมีเนื้อหาการประพาสต้นของ ร.5 ซึ่งแม็คมีระบุรายละเอียดการประพาสหลายครั้ง รวมทั้งมีภาพถ่ายจำนวนมาก เช่น รูปคู่กับพระเจ้าซาร์นิโคลัสแห่งรัสเซีย กับดอยเซอร์แห่งสวิตเซอร์แลนด์ กับพระนางเจ้ามาเรีย คริสตินาแห่งสเปน ส่วน อจท. มีการอธิบายจุดมุ่งหมายว่าเพื่อดูความเจริญของต่างประเทศและนำกลับมาปรับปรุงประเทศไทย รวมทั้งไปแก้ไขเจรจาความขัดข้อง รวมถึงรักษาตัว โดยกล่าวถึงตั้งแต่ทำแผนผังระบุจุดที่ประพาสและเหตุผลในการประพาสต้นแต่ละแห่ง 

อย่างไรก็ตาม ส่วนที่น่าสนใจคือเรื่องคณะราษฎรกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเล่มของ พว. และแม็ค ไม่ปรากฏเรื่องราวดังกล่าวเลย ส่วนเอมพันธ์ ระบุชื่อกลุ่มคณะราษฏร 99 คนโดยยกตัวอย่างคนสำคัญในเนื้อหา และยังบรรยายไว้ว่า “คณะราษฏรได้เชิญพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการ มาไว้เป็นตัวประกัน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ครั้นพอเหตุการณ์สงบลงคณะราษฎรจึงปล่อยข้าราชการและพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหมดเป็นอิสระ ต่อมาช่วงบ่ายในวันเดียวกันคณะราษฎรได้แจกใบปลิวประณามความเหลวแหลกของพระบรมวงศานุวงศ์” นอกจากนี้ยังนำเสนอหลัก 6 ประการของคณะราษฎร โดยระบุว่า หลังการปฏิรูปนั้นทำให้มีรัฐธรรมนูญชั่วคราว มีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ราษฎรมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคทางการเมืองการปกครองเท่าเทียมกันภายใต้รัฐธรรมนูญ 

นอกจากนี้เล่มของอจท.ระบุว่า เกิดขึ้นเพราะคณะราษฎร มีพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้า เริ่มประชุมครั้งแรกที่ฝรั่งเศส มีผู้เข้าร่วม 7 คน ระบุหลัก 6 ประการของคณะราษฎรเอาไว้ มีรูปภาพประกอบ มีลำดับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเล่าลำดับเหตุการณ์การยึดอำนาจและการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ภายหลังยึดอำนาจการปกครองมีพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 มีนายกรัฐมนตรีคนแรก และเกิดวันรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นวันหยุดราชการประจำปี

ในเล่มของ ศธ. และ วพ. มีรายละเอียดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรในปี 2475 ให้ข้อมูลเรื่องสาเหตุการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผลของการเปลี่ยนแปลง และเหตุการณ์สำคัญหลังปี 2475 เช่นเดียวกัน  แต่ของ ศธ.จะมีการขยายเนื้อหาภายใต้บท “ความก้าวหน้าและความล้มเหลวของการปกครองแบบประชาธิปไตย (2475-2516)”

นอกจากนี้ อจท. ยังมีระบุเหตุผลเรื่องการปฏิรูปประเทศสมัยปี 2475 ไว้ว่า ร.5 รวมการปกครองประเทศเข้าด้วยกันแต่ไม่ได้ถึงขั้นจะให้รัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่าขณะนั้นประชาชนไทยไม่พร้อมจะปกครองตนเองได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ ต่อมาในสมัย ร.6 มีเหตุการณ์ ร.ศ. 130 ทหารพยายามใช้กำลังบีบบังคับให้เปลี่ยนแปลงการปกครองแต่ไม่สำเร็จ หลังเกิดเหตุการณ์จึงตั้งดุสิตธานี เพื่อเป็นเมืองประชาธิปไตยในขั้นทดลอง “แสดงให้เห็นแนวพระราชดำริของ ร.6 ที่ต้องการให้ข้าราชบริพารรู้จักประชาธิปไตย” 

ร.7 ขึ้นครองราชย์มีดำริให้ร่างรัฐธรรมนูญสำหรับใช้ในการปกครองประเทศ แต่ยังไม่ได้ประกาศใช้ก็เกิดการประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฏรเสียก่อน คณะราษฏรได้แนวคิดจากตะวันตก เพราะ ร.5 ส่งพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง และข้าราชการไปเรียนต่างประเทศ จึงได้รับอิทธิพลมา เพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก โดยรัฐบาลขณะนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำของประเทศให้ลุล่วง ทำให้กลายเป็นข้ออ้างสำหรับคณะราษฏรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศในเอเชีย ทำให้เห็นว่าประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศควรเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมือง

ส่วนในประเด็นเรื่องการเข้าร่วมสงครามโลกทั้งครั้งที่ 1 และ 2 นั้น แม็คและเอมพันธ์ ไม่ปรากฏรายละเอียดดังกล่าวเลย ส่วนของ อจท. ระบุเรื่องสงครามไว้ดังนี้  “ร.6 มีปณิธานแน่วแน่ที่จะทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมนานาชาติและเป็นที่รู้จัก เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงไม่ได้รีบร้อนประกาศสงครามต่อฝ่ายมหาอำนาจกลางในทันที แต่รอเวลาที่เหมาะสม เมื่อเห็นว่าเยอรมนีไม่มีมนุษยธรรม และสหรัฐอเมริการ่วมสงครามด้วย และแน่ใจว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะชนะ จึงประกาศสงครามและส่งทหารไทยไปร่วมรบ”

และยังปรากฏเนื้อหาที่ระบุว่า “รัฐบาลไทยประกาศนโยบายเป็นกลาง ขณะนั้นทหารญี่ปุ่นขอเดินทัพผ่านประเทศไทย ไทยซึ่งมีนโยบายเป็นกลางขอยับยั้งการยกพลขึ้นบก แต่ญี่ปุ่นปฏิเสธ ต่อมารัฐบาลไทยเล็งเห็นว่าญี่ปุ่นอาจจะเป็นฝ่ายชนะสงครามจึงประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ การตัดสินใจทำให้ชาวไทยไม่เห็นด้วยจึงมีขบวนการเสรีไทย หลังสหรัฐอเมริกาและอังกฤษชนะสงคราม การประกาศสงครามของรัฐบาลไทยจึงเป็นโมฆะ ความเสียสละของขบวนการเสรีไทยมีส่วนสำคัญทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการตกเป็นผู้แพ้สงคราม สามารถรักษาเอกราชและอธิปไตย ตลอดจนเกียรติภูมิของชาติเอาไว้ได้” 

การเมืองการปกครอง

ในหัวข้อนี้จะแบ่งออกเป็นเรื่องการปฏิรูปในรัชสมัยของ ร.5 การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และการเมืองประชาธิปไตย 

ในหัวข้อการการปฏิรูป ร.5 แบบเรียนทุกสำนักพิมพ์จะกล่าวถึงการปฏิรูปการเมือง เช่น ระบบราชการ การปกครองส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น การเลิกไพร่ทาส การปฏิรูปการศึกษา เศรษฐกิจ และเรื่องการประพาสของ ร.5 โดยในแบบเรียนของ วพ. กล่าวถึงการเลิกทาสว่า “การยกเลิกระบบไพร่ สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยอย่างมาก ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว อำนาจของกษัตริย์มีมากขึ้น สามารถเก็บภาษีและผลประโยชน์เข้ารัฐโดยตรง” หรือในแบบเรียนของ ศธ. กล่าวว่า “ร.5 ยึดหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาสามารถท้วงติง หรือคัดค้านสิ่งที่ไม่ถูกต้อง” 

หัวข้อการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 แบบเรียนทุกสำนักพิมพ์กล่าวถึงคณะราษฎรและการยื่นหนังสือให้ร.7 ในการเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดย วพ. ระบุว่าคณะราษฎร ส่งหนังสือไปกราบบังคมทูลให้ทรงยอมเป็นกษัตริย์ต่อไปแต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดย ร.7 ทรงตัดสินพระราชหฤทัยยินยอมตามข้อเสนอของคณะราษฎร ในพระราชสาส์นมีข้อความหนึ่งความว่า “ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเสียเนื้อ” ในส่วนของ อจท. และเอมพันธ์ กล่าวถึงลักษณะสำคัญของพระราชบัญญัติรัฐธรรมการปกครองสยามชั่วคราวปี 2475 และ รัฐธรรมนูญสยามปี 2475

หัวข้อการเมืองระบอบประชาธิปไตย มีเพียงแบบเรียนของ ศธ.ที่มีเนื้อหาครอบคลุม โดยมีการทำหัวข้อแยกย่อยเพื่ออธิบายพัฒนาการของระบบประชาธิปไตยในไทย และเหตุการณ์ทางการเมืองไว้อย่างละเอียด ในขณะที่เล่มอื่นๆ มีเพียงเรื่องการปฏิรูปในสมัย ร.5 และการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475

เช่นหัวข้อ “พื้นฐานประชาธิปไตยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ที่เล่าถึงความเป็นประชาธิปไตยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยอธิบายว่าเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปการปกครองมาตั้งแต่สมัย ร.4 ในสมัยนั้นแม้จะไม่ถือว่าเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่เรียกได้ว่าเป็นความก้าวหน้าในเชิงสร้างสรรค์และผ่อนปรนให้ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคพอสมควร การปฏิรูปดังกล่าว ทำให้เกิดการพัฒนาด้านต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการปกครองแบบประชาธิปไตย

ต่อมาในหัวข้อ “แนวคิดในการพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชน” ระบุว่า ร.5 ยังไม่เห็นด้วยในการพระราชทานรัฐธรรมนูญ มองว่าในเวลานั้นประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ยังด้อยการศึกษา ไม่มีความรู้ด้านประชาธิปไตย ไม่สามารถปกครองตัวเองได้ ควรวางรากฐานการปกครองแบบประชาธิปไตยด้วยการปฏิรูปการปกครองและพัฒนาการต่างๆ ก่อน โดยในแบบเรียนมีการหยิบพระราชดำรัสเพื่ออธิบายว่าจะมีการพระราชทานรัฐธรรมนูญขึ้นในสมัย ร.6 

ในประเด็นของ “ขบวนการประชาธิปไตยของประชาชน” เริ่มพูดถึงตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 โดยมีสาเหตุมาจากการฉ้อโกงที่มีมายาวนานตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์ และจอมพลถนอม การเป็นรัฐบาลเผด็จการมาอย่างยาวนาน และการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทยไปเป็นทุนนิยม ความน่าสนใจคือการพูดถึงการยุติความขัดแย้งในเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีพระมหากษัตริย์เข้ามามีบทบาท เช่น ในเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516  เหตุการณ์จลาจลสงบลงโดยทันทีเป็นเพราะพระบารมีของ ร.9

นอกจากนี้แบบเรียนของ ศธ. ยังพูดถึงการรัฐประหารในเชิงว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อยุติความรุนแรงทางการเมือง บางครั้งยังมีการลงรายละเอียดว่าในการรัฐประหาร ฝ่ายทหารไม่ได้ต้องการเป็นรัฐบาล แต่คือความจำเป็นที่ต้องทำ เช่น

“การรัฐประหาร พ.ศ. 2490 รัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในขณะนั้น จึงถูกพรรคฝ่ายค้านคือพรรคประชาธิปัตย์โจมีตีอย่างรุนแรง ในที่สุดฝ่ายทหารนำโดยพลโทผิน ชุณหะวัณ ก่อการรัฐประหาร แต่ฝ่ายทหารไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล เพราะเกรงประชาชนจะติฉินนินทาว่าทหารยึดอำนาจเพราะต้องการเป็นรัฐบาลเสียเอง จึงมอบหมายให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล” “การรัฐประหาร พ.ศ. 2500 รัฐบาลจัดเลือกตั้งทั่วประเทศ ฝ่ายรัฐบาลหวังจะจัดตั้งรัฐบาลภายหลัง จึงวางแผนใช้กลโกงการเลือกตั้งเพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากๆ ผลทำให้ประชาชน นิสิต นักศึกษา ในกรุงเทพฯ พากันเดินขบวนประท้วงและขับไล่รัฐบาลครั้งใหญ่ ก่อนที่ฝ่ายทหารนำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จะทำรัฐประหาร ภายหลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ไม่ยอมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่มอบให้นายพจน์ สารสิน เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล”

นอกจากนี้การพูดถึงการเมืองสมัยใหม่ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ถึงปัจจุบัน มีการพูดถึงการบริหารของรัฐบาลและนโยบายประชานิยม แต่ไม่ลงรายละเอียดว่าเป็นของรัฐบาลยุคใด ทั้งสมัยรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในทางกลับกัน กลับระบุชื่อของผู้นำรัฐประหารอย่างพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และย้ำเนื้อหาของนายกฯ คนปัจจุบันว่า “สังคมไทยแตกแยกทางการเมืองอย่างรุนแรง มีการแบ่งกลุ่มเสื้อเหลือง เสื้อแดง เป็นวิกฤติการณ์การเมืองไทย จึงเกิดรัฐประหารปี 2557 ยึดอำนาจโดยคสช. นำโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศรัฐธรรมนูญ 2560 และจัดเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ผลปรากฏว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศสืบต่อมา”

ในแบบเรียนของ ศธ. มีการพูดถึง “เศรษฐกิจทุนนิยมในประเทศไทย” ที่กล่าวถึงพัฒนาการเศรษฐกิจไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา การเปลี่ยนแปลงสู่ทุนนิยมในสมัย ร.5 และมีการพูดถึงวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ โดยในหนังสือฉบับนี้ไม่ได้เรียกชื่อวิกฤติการณ์ว่า “ต้มยำกุ้ง” และยังมีเหตุการณ์เศรษฐกิจระหว่าง ปี 2546 – 2547 โดยกล่าวว่า “ระหว่าง 2546 – 2547 อัตราก้าวหน้าทางเศรษฐกิจไทยเริ่มลดลงมีสาเหตุมาจากสภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากประชาชนใช้เงินกู้จากกองทุนหมู่บ้านไปซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น ยานพาหนะ โทรศัพท์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่งผลให้เกษตรกรในชนบทมีหนี้สินเพิ่มขึ้นเกือบทุกครัวเรือน”

วัฒนธรรม และภูมิปัญญา

เรื่องภูมิปัญญาไทยนั้น ทุกสำนักพิมพ์อธิบายคล้ายคลึงกัน คือความรู้ ความคิด ความเชื่อ ความสามารถ ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้และมีประสบการณ์สืบต่อมาทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่น่าสนใจคือของเอมพันธ์ ระบุเรื่องเทคโนโลยีท้องถิ่น ส่วน อจท. กล่าวถึงภูมิปัญญาไทยนั้น ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอื่นมาปรับใช้ให้เข้ากับสังคมและสภาพแวดล้อม อีกทั้งการมีความเป็นมาด้านประวัติศาสตร์ที่ทำให้เกิดภูมิปัญญาไทย “โดยเฉพาะการสร้างสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นศูนย์รวมของคนไทย” และมีการยกตัวอย่างภูมิปัญญาในสมัยอยุธยา โดยกล่าวว่าหนึ่งในภูมิปัญญาไทยคือ “การสร้างสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย การที่รากฐานอยุธยาแน่นแฟ้นเพราะคนไทยสมัยอยุธยาได้ร่วมใจกันสถาปนาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีความเข้มแข็งและมีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพของอาณาประชาราษฎร์โดยทั่วไป” หรือในวพ. ที่พูดถึงภูมิปัญญาด้านควบคุมกำลังคน “โดยผู้ปกครองคิดค้นระบบควบคุมแรงงานเหล่านี้ให้ได้ประโยชน์แก่ชุมชนและรัฐมากที่สุด ระบบการควบคุมแรงงานหรือที่เรียกกันว่าระบบไพร่จึงเกิดขึ้น”

แม็คระบุถึงภูมิปัญญาไทย โดยยกตัวอย่างการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงไม่ให้ใกล้ชิดกันมากเกินไป ด้วยมีความเชื่อในเรื่อง “ผิดผี” 

เรื่องการอนุรักษ์และคุ้มครองศิลปวัฒนธรรม อจท. เน้นเรื่อง “อยู่อย่างไทยในสังคมโลก” กำหนดยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยภายใต้กรอบ เช่น ภายใต้กรอบซึ่งประกอบไปด้วย การศึกษา การปรับปรุงทางสังคม เศรษฐกิจ และการกระจายอำนาจ เป็นต้น

ในแบบเรียนของ พว. แยกเรื่องการอนุรักษ์วัฒนธรรมออกมาเป็นอีกหน่วยการเรียนรู้ แทนที่จะเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยเรื่องวัฒนธรรมและภูมิปัญญา มีการบรรยายว่า “สังคมเมืองเป็นสังคมที่ดำรงรักษาภูมิปัญญาไว้ได้ยากกว่าชนบท” มีพัฒนาการนโยบายอนุรักษ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น ร.1 มีกฎหมายตราสามดวงที่มีข้อกำหนดอนุรักษ์ ป้องกันการทำลายองค์การศาสนาและสงวนรักษาโบราณสถาน มีแนวทางการอนุรักษ์ที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยา การจัดตั้งโบราณคดีสโมสรในสมัย ร.5 เพื่อสำรวจดูแลสมบัติโบราณ 

หรือมีการจัดตั้งกระทรวงวัฒนธรรมในสมัย ร.9 เพื่อเร่งส่งเสริมเผยแพร่การให้ความรู้ด้านวัฒนธรรม เช่น การสร้างอนุสาวรีย์วีรบุรุษสตรีไทย แสดงละครอิงประวัติศาสตร์ การจัดสร้างพุทธมณฑล การจัดงานวันแม่ งานศิลปหัตกรรม มีการยกพระบรมราโชวาทของ ร.9 เกี่ยวกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมที่ว่า “การก่อสร้างอาคารสมัยใหม่เป็นเกียรติของผู้สร้างเพียงคนเดียว แต่โบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่าๆ แผ่นเดียว มีค่าควรที่เราจะช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย โบราณวัตถุและศิลปวัตถุทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงอดีตอันรุ่งโรจน์ของชาติไทยเรา เป็นประโยชน์แก่การศึกษาทั้งในประวัติศาสตร์ ศิลปะโบราณคดี และวัฒนธรรม จึงควรที่ทุกฝ่ายจะได้ช่วยกันทะนุถนอมบำรุงรักษาอย่าให้สูญสลายไป”

บุคคลสำคัญ

โดยมากกล่าวถึงบุคคลที่คล้ายกัน อาทิ พ่อขุนรามคำแหง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระพันวัสสาอันยิกาเจ้า ร.1 – 10 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในแบบเรียนของ อจท. มีการเล่าประวัติของบุคคลสำคัญและประวัติต่างๆ เช่นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชซึ่งมีการกล่าวถึงประวัติของพ่อและแม่ด้วย ประวัติของ ร.10 โดยมีการยกตัวอย่างโครงการต่างๆ เช่น ปั่นเพื่อแม่ Bike For Mom, ปั่นเพื่อพ่อ Bike For Dad นอกจากนี้ยังมีการเน้นย้ำให้ตระหนักถึงคุณูปการของบุคคลสำคัญ โดยปรากฏข้อความว่า “ถ้าคนไทยทุกคนศึกษาประวัติศาสตร์ไทยด้วยความสำนึกของความเป็นไทยอย่างแท้จริง ก็จะพบว่าประเทศสามารถดำรงอยู่มาได้จนกระทั่งทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะบทบาทของสถาบันกษัตริย์” 

อจท. ยังมีข้อความระบุไว้ว่า “พระมหากษัตริย์ไทยมีลักษณะเป็นสมมติเทพ เป็นขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งคนไทยเห็นว่าเป็นประเพณีที่งดงาม ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนก็มีมาโดยตลอดไม่เคยที่จะตัดขาดจากกันได้ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำของชนชาติไทย ประชาชนต้องการให้ประมุขของรัฐคือพระมหากษัตริย์เท่านั้น ถ้าสังคมไทยขาดสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติ สังคมไทยอาจเกิดความแตกแยกและไม่อาจดำรงอยู่ได้ คนไทยทุกคนจึงควรเทิดทูนและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่คู่กับสังคมไทยตลอดไป” 

ใน พว. จะแบ่งหมวดบุคคลสำคัญเป็น 5 หัวข้อ ได้แก่ หมวดพระราชกรณียกิจ ชาวต่างชาติ บุคคลของไทยที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก ศิลปินแห่งชาติ และบทบาทสตรี ทั้งนี้มีการใส่พระเจ้าเอกทัศเข้ามาในบท แต่ไม่ใส่รายละเอียดพระราชกรณียกิจเหมือนกษัตริย์องค์อื่น ในส่วนของบุคคลสำคัญอื่นๆ มีการระบุเรื่องความเป็นมา และขั้นตอนการคัดเลือกของยูเนสโก

ความน่าสนใจในบทบุคคลสำคัญอยู่ที่บทสรุป ซึ่งอธิบายว่า “ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมไทยต่อเนื่องมาช้านานล้วนเกิดจากผลงานและการสร้างสรรค์ของบุคคลสำคัญต่างๆ ดังนั้น การศึกษาเรื่องราวของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยจึงไม่เพียงให้ผู้ศึกษาตระหนักถึงคุณค่าของบรรพชนที่สร้างสรรค์ผลงานในประวัติศาสตร์และความเจริญรุ่งเรืองของวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นแบบอย่างที่พึงยกย่องในระดับชาติและสากล แต่เกิดความภาคภูมิใจในชาติที่มีพัฒนาการความเจริญรุ่งเรืองที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง และได้ถ่ายทอดเป็นมรดกของสังคมไทยที่ได้ยกย่องจากประชาคมโลกในปัจจุบัน” 

นอกจากนี้ใน อจท. ยังปรากฏเรื่องบทบาทสตรีไทยด้วย มีการแบ่งยุคสมัยของบทบาทสตรี ทั้งก่อนเข้าสู่ความทันสมัย สมัยไทยปรับตัวเข้าสู่ความทันสมัย และสตรีไทยหลังการปกครอง ปี 2475 ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยปรากฏดังนี้ สตรีไทยก่อนเข้าสู่ความทันสมัย คือในสมัยสุโขทัยและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีหน้าที่หลักในการทำงานบ้านและทำมาหากินเพื่อจุนเจือครอบครัว บวชชีได้เมื่ออายุเกิน 50 ปี ส่วนสตรีในยุคที่ต้องปรับตัวเข้าสู่ความทันสมัย มีอิสระในการดำเนินชีวิตที่เป็นอิสระมากขึ้น สตรีไทยยังคงทำงานในบ้านเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว และออกไปทำไร่ทำนา โดยสมัย ร.4-ร.5 เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้รับการศึกษา หลังเลิกทาสก็พึ่งพาตัวเองได้ทางเศรษฐกิจ

สตรีในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 ผู้หญิงไทยมีสิทธิเลือกตั้ง แต่มีผู้หญิงน้อยมากที่มีส่วนร่วมทางการเมือง และมักถูกกีดกันทางการเมืองที่เป็นทางการ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีตั้งวัฒนธรรมฝ่ายหญิงขึ้น เพื่อให้เท่าเทียมกับผู้ชาย ประกาศให้ยศทหารแก่ผู้หญิงที่มีบทบาทสำคัญ เช่น พันโทหญิง ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม และหมวดสตรีภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ สตรีไทยมีโอกาสเท่าเทียมผู้ชาย แก้ไขกฎหมายให้เสมอภาค สตรีเข้าไปมีบทบาทในเศรษฐกิจ สตรีหันมาประกอบอาชีพค้าขาย งานบริการ หัตถกรรม แต่ผู้หญิงก็ยังเสียเปรียบเพราะเป็นแรงงานราคาถูก เผชิญกับการกีดกันทางเพศ สำหรับสตรีที่มีบทบาททัดเทียมกับผู้ชายในเรื่องการเมือง มักมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจดีและมีการศึกษาสูงกว่าผู้ชาย 

ขณะที่แบบเรียนของ ศธ. เป็นเล่มเดียวที่ไม่มีบุคคลสำคัญเป็นผู้หญิง หรือเรื่องมีบทบาทสตรีเลย

สรุปแบบเรียนประวัติศาสตร์ ม. 4-6

แบบเรียนประวัติศาสตร์ของชั้นมัธยมปลายเป็นการเรียนประวัติศาสตร์ในแบบที่มีกษัตริย์เป็นศูนย์กลาง ผ่านการเชิดชูพระราชกรณียกิจต่างๆ ว่ามีความสำคัญแก่ประเทศชาติอย่างไร นอกจากนี้ยังเห็นได้ว่า แบบเรียนสอดแทรกบทบาทของพระมหากษัตริย์ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยึดโยงกับประเทศไทยในมิติต่างๆ ทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ซึ่งส่งผลต่อสังคมไทยแม้กระทั่งในยุคประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งของ ศธ.ที่ระบุว่าการมีประชาธิปไตยมีมาตั้งแต่สมัย ร.5 ดังที่ปรากฏในหัวข้อ “พื้นฐานประชาธิปไตยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์” 

ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า แบบเรียนทุกสำนักพิมพ์ให้ความสำคัญกับพระราชกรณียกิจของ ร. 5 อย่างยิ่ง เห็นได้จากความยาวของเนื้อหาและการให้รายละเอียดของเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงที่ประเทศกำลังเข้าสู่ความเจริญก้าวหน้าในยุคสมัยใหม่

นอกจากนี้ยังพบว่า แบบเรียนชั้น ม.4-6 มุ่งให้คำอธิบายปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยพัฒนามาได้ดังเช่นทุกวันนี้เป็นเพราะพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์จากแง่มุมเดียว มากกว่าการเปิดพื้นที่ให้กับข้อโต้แย้งทางประวัติศาสตร์อื่นๆ 

ในขณะที่แบบเรียนประวัติศาสตร์ชั้นมัธยมปลายแทบไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองไทยร่วมสมัยเลย เช่น ในแม็คที่ตัดความอ่อนไหวทางประวัติศาสตร์และการเมืองออกจากเนื้อหา รวมถึงเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทำให้จากตัวอย่างแบบเรียนทั้ง 6 สำนักพิมพ์ มีเพียงแบบเรียนของ ศธ. เท่านั้นที่มีรายละเอียดเนื้อหาการเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475 และเนื้อหาเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง ทั้งเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 และเหตุการณ์พฤษภาคม ปี 2535 

บทสรุป

จากการศึกษาแบบเรียนชั้นมัธยมศึกษาตั้งแต่ปีที่ 1-6 ของทั้ง 6 สำนักพิมพ์ที่ได้รับความนิยมในการนำไปใช้เป็นแบบเรียนนั้นพบว่า 

โดยภาพรวม แบบเรียนประวัติศาสตร์สำหรับนักเรียนมัธยมต่างพยายามชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ และเน้นย้ำวิธีการศึกษาทางประวัติศาสตร์ว่าควรมีลักษณะอย่างไร ก่อนที่จะนำเสนอเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ทั้งในและนอกประเทศโดยไล่เรียงตามลำดับเวลา ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงยุคปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามบรรยายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ โดยใช้หลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อสรุป แต่เมื่ออ่านอย่างละเอียดและเปรียบเทียบระหว่างสำนักพิมพ์ จะเห็นว่าแต่ละเล่มมีวิธีการเล่าเหตุการณ์เดียวกันด้วยน้ำเสียงและลีลาไม่เหมือนกัน ตลอดจนสอดแทรกทัศนคติบางประการเข้าไปในเนื้อหา แม้ว่าจะต้องเสนอเนื้อหาที่สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานก็ตาม

ขณะที่นักประวัติศาสตร์สะท้อนความกังวลต่อนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งให้นักเรียนรักและภาคภูมิใจในชาติ จากการศึกษาของ Rocket Media Lab เห็นว่า แบบเรียนประวัติศาสตร์ในปัจจุบันมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับความต้องการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้ว เช่น การเชิดชูพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีบทบาทในหลายมิติตั้งแต่การประดิษฐ์อักษรไทยไปจนถึงการระงับความขัดแย้งทางการเมือง สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ วิธีการนำเสนอเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่หยุดนิ่งตายตัว แทบจะไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ข้อเสนอจากหลายมุมมอง ทั้งที่บทแรกของแบบเรียนก็เน้นย้ำว่า ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์สามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอเมื่อมีหลักฐานใหม่ ทั้งยังควรวิเคราะห์และตีความจากมุมมองที่หลากหลาย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เด็กเอ๋ยเด็กดีต้องมีหน้าที่…แบบไหนกัน : อ่านแบบเรียนสังคมศึกษา ชั้น ป.6

คุณอาจสนใจ