Connect with us

Hi, what are you looking for?

politics

เครือญาตินักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต ปี 2566

  • ในการเลือกตั้งปี 2566 มีผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด 4,781 คน* และถือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ จำนวน 2,896 คน โดยในจำนวนนี้มีผู้สมัครหน้าใหม่ที่มีความสัมพันธ์เป็นเครือญาตินักการเมืองระดับชาติ จำนวน 151 คน และในจำนวนนี้ ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต จำนวน 39 คน คิดเป็น 25.83%  
  • ผู้สมัครหน้าใหม่ที่มีความสัมพันธ์เป็นเครือญาตินักการเมืองระดับชาติที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต จำนวน 39 คน มีจำนวนมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 คน ตามด้วยภาคกลาง 8 คน ภาคใต้ 6 คน ภาคเหนือ 4 คน ภาคตะวันออก 2 คน และภาคตะวันตก 1 คน 
  • นักการเมืองระดับชาติที่ว่าที่ ส.ส. ปี 2566 นั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องเป็นเครือญาติ เป็นอดีต ส.ส. ในปี 2562 จำนวน 23 คนด้วยกัน
  • พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่มีผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่ที่เป็นเครือญาตินักการเมืองระดับชาติมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับพรรคอื่นๆ เป็นจำนวน 41 คน มีผู้ได้รับการเลือกตั้งถึง 18 คน 

จากการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่ง กกต. ได้ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2566 Rocket Media Lab ชวนสำรวจว่าที่ ส.ส. แบบแบ่งเขตที่เป็นเครือญาติของนักการเมืองระดับชาติ ว่ามีใครจากพรรคไหนบ้าง 

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 Rocket Media Lab จัดทำฐานข้อมูลทางการเมืองของผู้สมัคร ส.ส. โดยแยกกลุ่มผู้สมัครเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. ผู้สมัครจากพรรคเดิม หมายถึง อดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2562 หรือปีที่เก่ากว่านั้น ที่ลงสมัครในนามพรรคเดิมในปี 2566

2. ผู้สมัครที่ย้ายพรรค หมายถึง อดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2562 หรือปีที่เก่ากว่านั้น โดยนับปีล่าสุดที่ผู้สมัครคนนั้นลงสมัคร ส.ส. ที่ย้ายไปลงสมัครพรรคใหม่ในปี 2566

3. ผู้สมัครหน้าใหม่ หมายถึง ผู้ที่ไม่เคยลงสมัคร ส.ส. มาก่อน ทั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ

ในการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา มีผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด 4,781 คน* และถือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ จำนวน 2,896 คน โดยในจำนวนนี้มีผู้สมัครหน้าใหม่ที่มีความสัมพันธ์เป็นเครือญาตินักการเมืองระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นบุตร สามี-ภรรยา หลาน พี่น้อง ฯลฯ จำนวน 151 คน และในจำนวนนี้ ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต จำนวน 39 คน คิดเป็น 25.83%  และเมื่อแยกเป็นรายพรรคจะพบว่า ได้แก่

  1. พรรคเพื่อไทย 18 คน
  • ทินพล ศรีธเรศ เขต 5 กาฬสินธุ์ 
  • ศักดิ์ชาย ตันเจริญ เขต 3 ฉะเชิงเทรา
  • ศิวะ พงศ์ธีระดุลย์ เขต 5 ชัยภูมิ 
  • ศรีโสภา โกฏคำลือ เขต 10 เชียงใหม่ 
  • ปิยะนุช ยินดีสุข เขต 7 นครราชสีมา 
  • นิกร โสมกลาง เขต 8 นครราชสีมา
  • อาทิตย์ หวังศุภกิจโกศล เขต 11 นครราชสีมา 
  • พชร จันทรรวงทอง เขต 13 นครราชสีมา 
  • พรเทพ ศิริโรจนกุล เขต 16 นครราชสีมา 
  • รัฐ คลังแสง เขต 6 มหาสารคาม
  • นรากร นาเมืองรักษ์ เขต 4 ร้อยเอ็ด
  • วรวงศ์ วรปัญญา เขต 5 ลพบุรี
  • จิรัชยา สัพโส เขต 3 สกลนคร
  • วัชระพล ขาวขำ 9 อุดรธานี
  • รวี เล็กอุทัย เขต 3 อุตรดิตถ์
  • สุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ เขต 7 อุบลราชธานี
  • ธัญธารีย์ สันตพันธุ์ เขต 6 อุบลราชธานี
  1. พรรคภูมิใจไทย 6 คน
  • สยาม เพ็งทอง เขต 1 บึงกาฬ
  • ไชยชนก ชิดชอบ เขต 2 บุรีรัมย์
  • ศักดิ์ ซารัมย์ เขต 6 บุรีรัมย์
  • พิมพฤดา ตันจรารักษ์ เขต 3 พระนครศรีอยุธยา
  • ภัทรพงศ์ ภัทรประสิทธิ์ เขต 1 พิจิตร
  • นรินทร์ คลังผา เขต 4 ลพบุรี
  1. พรรคพลังประชารัฐ 5 คน
  • อัครแสนคีรี โล่ห์วีระ เขต 7 ชัยภูมิ
  • อามินทร์ มะยูโซ๊ะ เขต 2 นราธิวาส
  • อัคร ทองใจสด เขต 6 เพชรบูรณ์
  • ปกรณ์ จีนาคำ เขต 1 แม่ฮ่องสอน
  • จตุพร กมลพันธ์ทิพย์ เขต 3 ราชบุรี
  1. พรรคก้าวไกล 4 คน
  • ธิษะณา ชุณหะวัณ เขต 2 กรุงเทพมหานคร
  • ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ เขต 9 กรุงเทพมหานคร
  • วรรณิดา นพสิทธิ์ เขต 2 ชลบุรี
  • ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เขต 3 เชียงใหม่
  1. พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน
  • พิทักษ์เดช เดชเดโช เขต 3 นครศรีธรรมราช
  • ยูนัยดี วาบา เขต 4 ปัตตานี
  • ร่มธรรม ขำนุรักษ์ เขต 3 พัทลุง
  1. พรรครวมไทยสร้างชาติ 2 คน 
  • กานสินี โอภาสรังสรรค์ เขต 1 สุราษฎร์ธานี
  • นิติศักดิ์ ธรรมเพชร เขต 2 พัทลุง
  1. พรรคชาติไทยพัฒนา 
  • ศุภโชค ศรีสุขจร เขต 1 นครปฐม 

เมื่อแยกเป็นรายภาคจะพบว่า ผู้สมัครหน้าใหม่ที่มีความสัมพันธ์เป็นเครือญาตินักการเมืองระดับชาติที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต จำนวน 39 คน มีจำนวนมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 คน ตามด้วยภาคกลาง 8 คน ภาคใต้ 6 คน ภาคเหนือ 4 คน ภาคตะวันออก 2 คน และภาคตะวันตก 1 คน นอกจากนี้ยังพบว่า นักการเมืองระดับชาติที่ว่าที่ ส.ส. ปี 2566 นั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องเป็นเครือญาติ เป็นอดีต ส.ส. ในปี 2562 จำนวน 23 คนด้วยกัน

จากข้อมูลยังพบว่า พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่มีผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่ที่เป็นเครือญาตินักการเมืองระดับชาติมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับพรรคอื่นๆ เป็นจำนวน 41 คน ในจำนวนนี้มีผู้ได้รับการเลือกตั้ง 18 คน โดยพรรคเพื่อไทยมีอดีต ส.ส. ปี 2562 หลายคนที่ไม่กลับไปลงสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต ทั้งยุติบทบาททางการเมืองหรือย้ายไปลงในแบบบัญชีรายชื่อ และมีเครือญาติลงสมัคร ไม่ว่าจะเป็น นิรันดร์ นาเมืองรักษ์ ที่บุตรชาย นรากร นาเมืองรักษ์ ลงสมัครในเขต 4 จ.ร้อยเอ็ด และได้รับการเลือกตั้ง หรือ ศรีเรศ โกฏคำลือ ที่บุตรสาว ศรีโสภา โกฏคำลือ ลงสมัครในเขต 10 จ.เชียงใหม่ และได้รับการเลือกตั้ง 

โดยในส่วนที่มีเครือญาติลงสมัครและไม่ได้รับการเลือกตั้ง เช่น คมเดช ไชยศิวามงคล ที่ภรรยา ยรรยงรัตน์ ไชยศิวามงคล ลงสมัครในเขต 3 จ.กาฬสินธุ์ เชิดพงศ์ ราชป้องขันธ์ ที่บุตรสาว ภัทรพร ราชป้องขันธ์ ลงสมัครในเขต 1 บึงกาฬ หรือประสิทธิ์ วุฒินันชัย ที่บุตรชาย นิธิกร วุฒินันชัย ลงสมัครในเขต 7 เชียงใหม่ 

อันดับสองคือพรรคภูมิใจไทย โดยพรรคภูมิใจไทยมีผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่ที่เป็นเครือญาตินักการเมืองระดับชาติเป็นจำนวน 20 คน โดยได้รับการเลือกตั้ง 6 คน เช่น ไชยชนก ชิดชอบ ซึ่งเป็นบุตรของเนวิน ชิดชอบ ในเขต 2 บุรีรัมย์ หรือใน เขต 6 บุรีรัมย์ ก็มี ศักดิ์ ซารัมย์ ซึ่งเป็นเครือญาติกับสมบูรณ์ ซารัมย์ ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ก็ได้รับเลือกตั้งเช่นเดียวกัน โดยในส่วนที่เป็นเครือญาตินักการเมืองระดับชาติแต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง เช่น สีหเดช ไกรคุปต์ เขต 3 ราชบุรี ซึ่งเป็นพี่ชายของปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส. ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ หรือ ปิยวัฒน์ กิตติธเนศวร เขต 1 นครนายก ซึ่งเป็นบุตรของ วุฒิชัย กิตติธเนศวร อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย

อันดับสามคือพรรคพลังประชารัฐ โดยพรรคพลังประชารัฐมีผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่ที่เป็นเครือญาตินักการเมืองระดับชาติเป็นจำนวน 21 คน โดยได้รับการเลือกตั้ง 5 คน เช่น  อัครแสนคีรี โล่ห์วีระ เขต 7 ชัยภูมิ ซึ่งเป็นบุตรของ อร่าม โล่ห์วี อดีต ส.ส. ชัยภูมิ 6 สมัย หรือ อามินทร์ มะยูโซ๊ะ เขต 2 นราธิวาส ซึ่งเป็นเครือญาติของ สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ อดีต ส.ส. นราธิวาส พรรคพลังประชารัฐ โดยในส่วนที่เป็นเครือญาตินักการเมืองระดับชาติแต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง เช่น อรัชมน รัตนวราหะ เขต 8 นครราชสีมา ซึ่งเป็นภรรยาของอธิรัฐ รัตนเศรษฐ อดีต รมช.คมนาคม และอดีตส.ส. พรรคพลังประชารัฐ หรือ จิรวรรณ เรี่ยวแรง เขต 3 นนทบุรี ซึ่งเป็นเครือญาติของฉลอง เรี่ยวแรง อดีต ส.ส. นนทบุรี

อันดับสี่คือพรรคก้าวไกล โดยพรรคก้าวไกลมีผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่ที่เป็นเครือญาตินักการเมืองระดับชาติเป็นจำนวน 7 คน โดยได้รับการเลือกตั้ง 4 คน เช่น  ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ เขต 9 กรุงเทพมหานคร  ซึ่งเป็นหลานชายของ วิชาญ มีนชัยนันท์ อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หรือ ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล เขต 3 เชียงใหม่ ซึ่งเป็นบุตรของสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี โดยในส่วนที่เป็นเครือญาตินักการเมืองระดับชาติแต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง เช่น อันวาร์ อุเซ็ง เขต 1 ยะลา ซึ่งเป็นบุตรของ อุสมาน อุเซ็ง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ หรือ กัญญาวีร์ ทองสงค์ เขต 3 สุโขทัย ซึ่งเป็นบุตรของสุวิทย์ ทองสงค์ อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ปี 2562

อับดับห้าคือพรรคประชาธิปัตย์  โดยพรรคประชาธิปัตย์มีผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่ที่เป็นเครือญาตินักการเมืองระดับชาติเป็นจำนวน 22 คน โดยได้รับการเลือกตั้ง 3 คน คือ พิทักษ์เดช เดชเดโช เขต 3 นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นน้องชายของ ชัยชนะ เดชเดโช อดีต ส.ส. นครศรีธรรมราช ยูนัยดี วาบา เขต 4 ปัตตานี ซึ่งเป็นบุตรของ นิมุคตาร์ วาบา อดีต ส.ส. ปัตตานี พรรคเพื่อแผ่นดิน และร่มธรรม ขำนุรักษ์ เขต 3 พัทลุง ซึ่งเป็นบุตรของ นริศ ขำนุรักษ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์  โดยในส่วนที่เป็นเครือญาตินักการเมืองระดับชาติแต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง เช่น ปิยะกาญจน์ สุพรรณชนะบุรี เขต 2 พัทลุง เป็นบุตรของ สานันท์ สุพรรรณชนะบุรี อดีต ส.ส. พัทลุง หรือ วณิชชา ม่วงศิริ เขต 28 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเครือญาติของสามารถ ม่วงศิริ อดีต ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ 

และอันดับหกคือ พรรครวมไทยสร้างชาติ 2 คน โดยพรรครวมไทยสร้างชาติมีผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่ที่เป็นเครือญาตินักการเมืองระดับชาติเป็นจำนวน 19 คน โดยได้รับการเลือกตั้ง 2 คน คือ กานสินี โอภาสรังสรรค์ เขต 1 สุราษฎร์ธานี และเป็นลูกสะใภ้ของชุมพลและโสภา กาญจนะ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และนิติศักดิ์ ธรรมเพชร เขต 2 พัทลุง ซึ่งเป็นบุตรชายของ วิสุทธิ์ ธรรมเพชร รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์  โดยในส่วนที่เป็นเครือญาตินักการเมืองระดับชาติแต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง เช่น รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี เขต 33 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นบุตรของไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต ส.ส. 4 สมัย หรือ พูน แก้วภราดัย เขต 1 นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นบุตรชายของ วิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส. นครศรีธรรมราช

อันดับ 7 พรรคชาติไทยพัฒนา โดยพรรคชาติไทยพัฒนามีผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่ที่เป็นเครือญาตินักการเมืองระดับชาติเป็นจำนวน 2 คน และได้รับการเลือกตั้ง 1 คน คือ ศุภโชค ศรีสุขจร เขต 1 นครปฐม ซึ่งเป็นบุตรของธงชัย ศรีสุขจร อดีต ส.ว. นครปฐม และส่วนที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งคือ วันชัย เจียมวิจักษณ์ เขต 3 เชียงราย ซึ่งเป็นบุตรของสุรสิทธิ์ เจียมวิจักษณ์ อดีต ส.ส. เชียงราย

*ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 4,781 คน นับจากวันรับสมัครและไม่ได้ลบจำนวนผู้สมัครที่ถอนการสมัครและถูกตัดสิทธิจาก กกต. หลังจากนั้นออก

ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-election-66-3/ 

หมายเหตุ

ข้อมูลผู้สมัครและประวัติ สืบค้นจากการประกาศของพรรค การนำเสนอของสื่อและโซเชียลมีเดียของผู้สมัครแต่ละเขต

การนับ ส.ส. ปี 2562 นับจากการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 มีนาคม 2562

ปีที่ลงสมัคร ส.ส. ไม่นับปี 2557 ที่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ดูฐานข้อมูลว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ปี 2566 แบบแบ่งเขต รายจังหวัด (อย่างไม่เป็นทางการ) พร้อมประวัติทางการเมืองว่า เป็นผู้สมัครจากพรรคเดิม ย้ายมาจากพรรคไหน หรือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่ไม่เคยลง ส.ส. มาก่อน ภายใต้ชื่อโครงการ DEMO Thailand ได้ที่ https://demothailand.rocketmedialab.co

*ผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตใช้ผลการเลือกตั้งจากประกาศ กกต. ในวันที่ 25 พ.ค. 66

คุณอาจสนใจ