Connect with us

Hi, what are you looking for?

politics

จากโผ ครม. สู่ ผล ครม. : สำรวจพลังต่อรองผ่าน 19 โผ ครม. ที่ปรากฏในสื่อ

ใครนอนมา ใครยังอยู่แต่เปลี่ยนกระทรวง หรือใครบ้างที่หลุดโผ

  • ตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค. มีโผ ครม. ออกมาไม่ต่ำกว่า 19 แบบ โดยโผวันที่ 3 ส.ค. เริ่มมีรายชื่อที่ตรงกับรายชื่อ ครม. เป็นครั้งแรก คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข 
  • กระทรวงพลังงาน เป็นกระทรวงที่ รทสช. ปักธงไว้อย่างเหนียวแน่น โดยโผตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. ถูกวางเป็นโควต้าของพรรครวมไทยสร้างชาติมาตลอด แม้ว่าจะมีชื่อของเพื่อไทยกลับเข้ามาในโผ 2 ครั้ง แต่สุดท้ายเก้าอี้นี้ก็เป็นของคนจาก รทสช.
  • กระทรวงทรัพยากรฯ มีการเปลี่ยนตัวมากที่สุด จาก วราวุธ ศิลปอาชา เป็นพัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็น วราวุธ ศิลปอาชา เป็น สันติ พร้อมพัฒน์ กลับมาเป็น วราวุธ ศิลปอาชา ย้ายไปที่พัชรวาท วงษ์สุวรรณ กระโดดไปที่ พิพัฒน์ รัชกิจประการ สุดท้ายก็เป็นพัชรวาท วงษ์สุวรรณ จาก พปชร.
  • บุคคลที่อยู่ในโผนานที่สุด คือทวี สอดส่อง อยู่ในโผตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. และไม่เคยถูกขยับตำแหน่งอีกเลย จนวันโปรดเกล้าฯ ครม. ส่วนที่พลิกโผในช่วงท้ายสุด คือ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ที่มีชื่อในโผวันที่ 28 ส.ค. เป็น รมช.พาณิชย์ แต่พอวันที่ 29 ส.ค. กลับถูกย้ายมาที่ รมว.อุตสาหกรรม และจบลงที่ตำแหน่งนี้
  • สุทิน คลังแสง และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว มีชื่อในโผในตำแหน่งต่างๆ มากที่สุด โดย สุทิน คลังแสง มีชื่อเป็น รมว.กลาโหม, รมต.สำนักนายกฯ, รมว.ศึกษา, รมว.วัฒนธรรม ก่อนจะมาจบที่ รมว.กลาโหม ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว มีชื่อเป็น รมว.มหาดไทย, รมว.สาธารณสุข, รองนายกฯ, รมว.ศึกษา ก่อนจะจบที่ รมว.สาธารณสุข
  • โผวันที่ 18 ส.ค. เป็นครั้งแรกที่มีชื่อรัฐมนตรีครบทุกตำแหน่ง เทียบกับรายชื่อ ครม. วันโปรดเกล้าฯ จะพบว่า มีผู้ที่ชื่อตรงกันเพียง 6 ตำแหน่งจาก 36 ตำแหน่ง ประกอบด้วย นายกฯ, รองนายกฯ 2 คน คือ พล.ต.อ พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.ต่างประเทศ คือ ปานปรีย์ พหิทธานุกร, รมว.ยุติธรรม คือ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง, รมช.มหาดไทย คือ ทรงศักดิ์ ทองศรี และ รมช.เกษตร คือ ไชยา พรหมา

จากรายชื่อ ครม. ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ชื่อที่หายไปจากโผครั้งล่าสุด มี 2 คน คือ พิชิต ชื่นบาน ทนายความตระกูลชินวัตร ที่มีชื่อโผล่ในโค้งสุดท้ายในตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งต่อมาเจ้าตัวออกมาประกาศขอไม่รับตำแหน่งใดๆ และไผ่ ลิกค์ ที่มีชื่อในโผมาตลอด ทั้งในตำแหน่ง รมช.มหาดไทย รมช.คมนาคม และ รมช.พาณิชย์ 

Rocket Media Lab ชวนสำรวจข้อมูลจากโผ ครม. ที่ถูกรายงานในสื่อนับตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค. 66 ที่พรรคเพื่อไทยแถลงขอถอนตัวจากการร่วมมือ MOU 8 พรรค เพื่อเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่ โดยจะเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ สู่ผลสุดท้าย ณ วันที่ 2 ก.ย. 66 ซึ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ว่าใครนอนมา ใครยังอยู่แต่เปลี่ยนกระทรวง หรือใครบ้างที่หลุดโผ

ไทม์ไลน์โผ ครม. ทั้ง 19 โผ

โผ ครม. ที่มีเพื่อไทยเป็นแกนนำปรากฏให้เห็นโผแรกในวันที่ 2 ส.ค. 66 โดยสื่อแรกที่เริ่มรายงานเรื่องนี้คือ ฐานเศรษฐกิจและเนชั่นออนไลน์ ซึ่งรายงานตรงกันว่า นอกจากตำแหน่งนายกฯ จะเป็นเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 2 แล้ว เพื่อไทยจะคุมอีก 4 กระทรวง ประกอบด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.มหาดไทย, แพทองธาร ชินวัตร รมว.ต่างประเทศ, คนนอก ชื่อ “อ.” เป็น รมว.คลัง, ประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.คมนาคม และ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมว.พลังงาน  โดยที่โควต้ารัฐมนตรีขึ้นอยู่กับจำนวน ส.ส. ที่เข้าร่วมรัฐบาล และการต่อรองระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคที่ร่วมรัฐบาลด้วย

ก่อนที่วันถัดมา (3 ส.ค. 66) จะมีโผ ครม. จากเดลินิวส์ที่เริ่มปรากฏชื่อของรัฐมนตรีจากเพื่อไทยเพิ่มเติม ได้แก่ พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมว.วัฒนธรรม, ภูมิธรรม เวชยชัย หรือ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.เกษตร, ส่วนชลน่าน ศรีแก้ว ที่เดิมมีชื่ออยู่กระทรวงมหาดไทย ถูกเปลี่ยนมาเป็น รมว.สาธารณสุข คู่กับอีกตัวเลือกคือ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และมีชื่อของเศรษฐา ทวีสิน ว่าที่นายกรัฐมนตรีนั่งควบ รมว.ต่างประเทศ แทนชื่อของแพทองธาร ชินวัตร ส่วน รมว.คลัง โควต้าพรรคเพื่อไทย ที่เดิมมีรายงานว่าเป็นคนนอก ปรากฏเพียงชื่อ “อ” นั้น ในโผวันที่ 3 ส.ค. นี้เป็นชื่อ อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) และเพิ่มโควต้าเพื่อไทย ในเก้าอี้ รมว.กลาโหม แต่ไม่ปรากฏชื่อว่าเป็นใคร นอกจากนี้ยังปรากฏโควต้าของพรรคอื่นๆ โดยมีการระบุถึงเงื่อนไขใหม่คือ พรรคการเมืองที่มาร่วมรัฐบาลและเป็นรัฐมนตรีปัจจุบัน (ในรัฐบาลประยุทธ์) จะไม่ได้ดูแลกระทรวงเดิม (ต่อมา 14 ส.ค.66 ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ปฏิเสธว่าไม่มีหลักเกณฑ์เรื่องกระทรวงเดิม) เช่น ภูมิใจไทย มีการระบุว่า แกนนำพรรคต้องการกระทรวงเดิมทั้งกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงคมนาคม แต่จะไม่ได้กระทรวงเดิม โดยคาดว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ ไผ่ ลิกค์ จากพลังประชารัฐ ในตำแหน่ง รมช.เกษตร ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง พรรคประชาชาติ ถูกระบุว่าจะนั่งตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม ทั้งนี้ข่าวโผชิ้นนี้ มีการระบุว่า เสียงพรรคร่วมที่รวบรวมได้ จะมีเสียงที่มาจาก “งูเห่าจากพรรคประชาธิปัตย์” ด้วย

สอดคล้องกับโผถัดมา (10 ส.ค.66) จาก The Better ที่ปรากฏชื่อคนจากพรรคประชาธิปัตย์ โดยระบุว่า ในโควต้าของพรรคประชาธิปัตย์ จะมีการเจรจาขอตำแหน่ง รมว.เกษตรฯ ให้กับเดชอิศม์ ขาวทอง โดยเก้าอี้นี้เดิมเป็นโควต้าของเพื่อไทยที่อยู่ระหว่างหาผู้ที่เหมาะสม ขณะเดียวกันในโผนี้ นอกจากชื่อ ทวี สอดส่อง ที่มีอยู่แต่เดิมในโผข้างต้นแล้ว เริ่มปรากฏชื่อคนจากพรรคพลังประชารัฐอย่าง พล.ต.อ พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม (เดิมเป็นโควต้าเพื่อไทย), ไผ่ ลิกค์ รมช.มหาดไทย, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.แรงงาน, ตรีนุช เทียนทอง ในตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ พรรครวมไทยสร้างชาติมีชื่อของ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รมว.พลังงาน พรรคชาติไทยพัฒนาเป็น วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรฯ นอกจากนี้ยังปรากฏโควต้าพรรค แต่ยังไม่ระบุชื่อบุคคล โดยเก้าอี้ รมว.ดิจิทัล เป็นของรวมไทยสร้างชาติ ส่วน รมว.สาธารณสุข และ รมว.ท่องเที่ยวฯ  เป็นของภูมิใจไทย ทั้งนี้ มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า แพทองธาร ชินวัตร จะไม่รับตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาล โดยจะทำหน้าที่บริหารพรรคจัดการในพรรค นอกจากนี้ยังปรากฏชื่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ว่าจะได้โควต้าประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ของสภาผู้แทนราษฎร

วันถัดมา (11 ส.ค.) ยังคงมีโผ ครม. ออกมาต่อเนื่อง โผที่รวบรวมได้ มี 3 โผ โผแรก ปรากฏในกรุงเทพธุรกิจ ปรากฏชื่อ พวงเพ็ชร ชุนละเอียด จากเพื่อไทย เป็น รมต.สำนักนายกฯ ส่วน รมว.กลาโหม และรมว.คลัง ระบุว่าเป็นคนนอกแต่เป็นโควต้าของพรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ยังปรากฏชื่อ ปานปรีย์ พหิทธานุกร จากเพื่อไทยเป็น รมว.ต่างประเทศ เพิ่มขึ้นมาอีกด้วย และยังมีเก้าอี้ที่เปลี่ยนหน้าไป เช่น วราวุธ ศิลปอาชา เป็นรมว.ท่องเที่ยว ซึ่งพรรคภูมิใจไทยก็ต้องการเก้าอี้นี้ ชลน่าน ศรีแก้ว ย้ายไปนั่ง รมว.ศึกษา, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ชื่อมาโผล่ รมว.ทรัพยากรฯ ขณะที่มีเก้าอี้ที่มีหลายพรรคต้องการ เช่น รมว.เกษตร มีชื่อของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จากพลังประชารัฐ, สมศักดิ์ เทพสุทิน จากเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย รมว.พลังงาน มีชื่อของจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ จากเพื่อไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ รมว.คมนาคม มีชื่อของ ประเสริฐ จันทรรวงทอง และ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ จากเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย นอกจากนี้ มีรายงานว่า พรรคภูมิใจไทยยังต้องการ รมว.สาธารณสุขด้วย 

โผนี้สุดท้ายมีชื่อที่ตรงกับรายชื่อ ครม. 4 ชื่อ คือ พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมต.สำนักนายกฯ, ปานปรีย์ พหิทธานุกร รมว.ต่างประเทศ, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รมว.ทรัพยากรฯ, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตร 

ส่วนโผที่สอง ปรากฏในเว็บพีพีทีวี ชื่อของวราวุธ ศิลปอาชา กลับมาอยู่ที่ รมว.ทรัพยากรฯ ตรีนุชกลับมานั่ง รมว.ศึกษา ส่วนเก้าอี้ที่ก่อนหน้านี้มีแคนดิเดตหลายพรรคเหลือเพียงพรรคเดียว เช่น รมว.ท่องเที่ยว เป็นของพรรคภูมิใจไทย รมว.เกษตร เป็นของพรรคเพื่อไทย แต่ยังไม่ได้ระบุตัวบุคคล ในขณะที่เก้าอี้ที่มีการระบุตัวบุคคลในโผนี้คือ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ จากรวมไทยสร้างชาติ นั่ง รมว.พลังงาน และ ประเสริฐ จันทรรวงทอง จากพรรคเพื่อไทย นั่ง รมว.คมนาคม ส่วน รมว.ดิจิทัลฯ ยังเป็นของคนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยปรากฏชื่อ อนุชา นาคาศัย โผนี้มีความน่าสนใจคือ แม้จะไม่อ้างแหล่งข่าวแต่มีการรายงานอ้างแหล่งข่าวเพื่อยืนยันความถูกต้องของโผว่า “…ยังไม่มีใครออกมายืนยัน โผคณะรัฐมนตรีอันนี้ แต่แหล่งข่าวบอกกับพีพีทีวีว่าหลายตำแหน่ง ณ ตอนนี้มีแนวโน้มสูงเป็นไปตามนี้” อย่างไรก็ตาม ในข่าวเดียวกันมีการรายงานถึงคำให้สัมภาษณ์ของ ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งออกมาปฏิเสธโผ ครม. ด้วยว่า ยังไม่ได้มีการคุยกันเรื่องนี้ มีแค่กลุ่มนักวิเคราะห์ที่ไปพูดกันเท่านั้น 

โผที่สาม ปรากฏในมติชนออนไลน์ เป็นโผแรกที่ รมว.ดิจิทัลเปลี่ยนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ มาเป็นคนของพรรคเพื่อไทย แต่ยังไม่ปรากฏชื่อบุคคล ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ รมว.ดิจิทัลจากโผที่สามของวันที่ 11 ส.ค.66 นี้ ไม่เปลี่ยนเป็นพรรคอื่นอีกเลย ขณะที่ รมว.ทรัพยากรฯ ยังเป็นตัวเลือกระหว่างพรรคชาติไทยพัฒนาและ สันติ พร้อมพัฒน์ จากพรรคพลังประชารัฐ รมว.พลังงาน ยังไม่ลงตัวระหว่างพรรคเพื่อไทย และ ณอคุณ สิทธิพงศ์ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่วน รมช.มหาดไทย เปลี่ยนจาก ไผ่ ลิกค์ เป็น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จากพรรคเดียวกัน 

ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า โผตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. ไม่ปรากฏชื่อของประชาธิปัตย์อีกเลย

โผวันที่ 18 ส.ค.66 มี 3 โผเช่นเดียวกัน โผหนึ่งจากมติชนออนไลน์ มีรายละเอียดชื่อและตำแหน่งไม่มาก แต่ปรากฏชื่อบุคคลในตำแหน่งใหม่ เช่น รมว.คลัง ที่เคยมีชื่อ อาทิตย์ นันทวิทยา โควต้าจากพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว มีการเพิ่มชื่อ ประสงค์ พูนธเนศ อดีตปลัดกระทรวงการคลังเข้ามา รมว.เกษตรฯ มีชื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กับ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ จากพรรคภูมิใจไทย ส่วน รมว.พลังงาน มี 2 ชื่อ คือ ณอคุณ สิทธิพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน กับ ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย 

อีกสองโผ เป็นการรายงานในลักษณะภาพเอกสารหลุดทั้งสองชิ้น โดยเอกสารมีหน้าตาแบบตาราง excel ฉบับแรก คมชัดลึกระบุว่า เป็นเอกสารที่ถูกเผยแพร่มาสู่สื่อมวลชน มีรายละเอียดทั้งตำแหน่ง ชื่อ-นามสกุล และพรรค ของ ครม. 36 ตำแหน่ง แบ่งเป็นเพื่อไทย 16 เก้าอี้, ภูมิใจไทย 8 เก้าอี้, พลังประชารัฐ 6 เก้าอี้, รวมไทยสร้างชาติ 4 เก้าอี้, เสรีรวมไทย 1 เก้าอี้, ชาติไทยพัฒนา 1 เก้าอี้, ประชาชาติ 1 เก้าอี้ โดยถือเป็นครั้งแรกที่ปรากฏชื่อ แพทองธาร ชินวัตร เป็นรองนายกฯ และ รมว.คลัง  

ขณะที่อีกฉบับ ฐานเศรษฐกิจ รายงานว่าเป็น “เอกสารหลุดออกมาจากพรรคเพื่อไทย (พท.)” มีเพียงข้อมูลตำแหน่งและพรรค 37 ตำแหน่ง (รองนายกฯ 5 เก้าอี้นับเป็น 1 ตำแหน่ง) ประกอบด้วย เพื่อไทย 19 เก้าอี้, ภูมิใจไทย 9 เก้าอี้, พลังประชารัฐ 5 เก้าอี้, รวมไทยสร้างชาติ 5 เก้าอี้, ชาติไทยพัฒนา 1 เก้าอี้, ประชาชาติ 1 เก้าอี้ 

ความคล้ายคลึงของ 2 โผนี้คือ มีการระบุรายละเอียดตำแหน่ง รมช.เพิ่มขึ้นมา จากเดิมที่โผก่อนหน้ามีระบุโควต้าเพียง รมช.มหาดไทย ในโผวันที่ 18 ส.ค. ฉบับแรก มี รมช.เกษตร, รมช.ดิจิทัล, รมช.คมนาคม, รมช.พาณิชย์, รมช.แรงงาน, รมช.ศึกษา และรมช.สาธารณสุข เพิ่มขึ้นมา ขณะที่โผ ฉบับที่ 2 คล้ายกัน ยกเว้น รมช.แรงงาน ที่ไม่มีระบุไว้

ความแตกต่างของเอกสารหลุดสองฉบับนี้ นอกจากจำนวนเก้าอี้ที่แต่ละพรรคได้มากน้อยต่างกันก็คือ ฉบับแรก มีโควต้าของพรรคเสรีรวมไทย ในตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ขณะที่ในเวอร์ชั่นที่สอง ไม่มีชื่อของพรรคเสรีรวมไทย อย่างไรก็ตาม จากโผที่รวบรวมได้ มีชื่อของพรรคเสรีรวมไทยปรากฏอยู่จนถึงวันที่ 18 ส.ค. ก่อนจะหายไปจากโผ ครม. แม้ว่า ที่สุดแล้วในวันโหวตนายกฯ พรรคเสรีรวมไทยจะร่วมโหวตให้กับเศรษฐาก็ตาม

โผถัดมา (19 ส.ค.) มติชนระบุว่าเป็น “รายงานข่าวจากเพื่อไทย” โดยมีที่นั่งที่เปลี่ยนไป เช่น อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.เกษตร, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ มีชื่อกลับมาเป็น รมว.คมนาคม ขณะที่ประเสริฐ จันทรรวงทองที่มีชื่อเป็น รมว.คมนาคมมาตลอด ไปนั่งเก้าอี้ รมว.ดิจิทัล และไม่เคยหลุดโผตำแหน่งนี้อีกเลย ส่วน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็น รมว.ทรัพยากรฯ ขณะที่ ปรากฏชื่อ วราวุธ ศิลปอาชา ในตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ครั้งแรก 

โผ ครม. ถัดมาคือ โผ ครม. ใน ข่าวสด วันที่ 22 ส.ค.66 ซึ่งตรงกับวันโหวตนายกฯ รอบที่ 3 เป็นครั้งแรกที่ รมว.กลาโหม ปรากฏชื่อ สุทิน คลังแสง และชื่อเศรษฐา ทวีสิน นั่งควบ รมว.คลัง และปรากฏชื่อ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นครั้งแรกในตำแหน่งรมว.พลังงาน  ส่วน รมว.ดิจิทัล ยังเป็น ประเสริฐ จันทรวงทอง รมว.ทรัพยากรฯ เป็นชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รมว.ยุติธรรม ยังเป็นทวี สอดส่อง ทั้งนี้ ตำแหน่งหลักข้างต้นตรงกับรายชื่อ ครม.ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ 

โผ 23 ส.ค.66 เป็นโผที่ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่าเป็นโผที่ถูกเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ชื่อของ สุทิน คลังแสง ถูกย้ายมานั่ง รมต.สำนักนายกฯ ส่วน อนุทิน ชาญวีรกูล มาอยู่ รมว.คมนาคม นอกจากนี้ ยังปรากฏชื่อคนและตำแหน่งใหม่ เช่น กิตติรัตน์ ณ ระนอง จากพรรคเพื่อไทย ในตำแหน่งรมว.คลัง, นลินี ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย เป็น รมว.ต่างประเทศ, ไชยชนก ชิดชอบ จากพรรคภูมิใจไทย เป็นรมว.ท่องเที่ยว, กิตติ ลิ่มสกุล จากพรรคเพื่อไทย เป็น รมว.อุดมศึกษา, สรอรรถ กลิ่นประทุม จากพรรคภูมิใจไทย เป็น รมว.เกษตร, พิพัฒน์ รัชกิจประการ จากพรรคภูมิใจไทย นั่ง รมว.ทรัพยากรฯ และ วราวุธ ศิลปอาชา จากพรรคชาติไทยพัฒนา มาอยู่ รมว.พัฒนาสังคมฯ ซึ่งกรณีวราวุธ สุดท้ายตรงกับรายชื่อ ครม.

นอกจากนี้ โผนี้ยังเป็นโผเดียวจาก 19 โผที่ปรากฏชื่อโฆษกสำนักนายกฯ โดยมี 3 ชื่อด้วยกัน คือ ดนุพร ปุณณกันต์, จิราพร สินธุไพร และ ขัตติยา สวัสดิผล อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ไทยรัฐและไทยโพสต์รายงานตรงกันว่า กรณีที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง ระบุชื่อโฆษกประจำสำนักนายกฯ ลงตัวแล้วคือ นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ สมาชิกพรรคที่มีส่วนร่วมในการร่างนโยบายด้านการเกษตร 

โผวันที่ 24 ส.ค. มีสองโผ โผหนึ่งจากข่าวสดออนไลน์ พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ที่เคยมีชื่อเป็น รมต.สำนักนายกฯ ในช่วงแรกๆ ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนเป็นชื่ออื่น มีชื่อกลับมาอยู่ในโผ ครม.อีกครั้ง โดยถูกระบุว่า อาจจะเป็นรมว.วัฒนธรรม หรือ รมว.พัฒนาสังคมฯ นอกจากนี้ ปรากฏชื่อ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร จากพรรครวมไทยสร้างชาติ นั่ง รมว.อุตสาหกรรม เป็นครั้งแรก จากเดิมที่ในโผวันที่ 23 ส.ค. ปรากฏชื่อเป็น รมช.พาณิชย์ ขณะที่อีกโผจากโพสต์ทูเดย์ มีข้อมูลที่สุดท้ายแล้วตรงกับรายชื่อ ครม. คือ พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมต.สำนักนายกฯ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นั่ง รมว.เกษตร และอนุทิน ชาญวีรกุล นั่ง รมว.มหาดไทย  

วันที่ 26 ส.ค. มีโผสามแบบ (ไทยพีบีเอส1,ไทยพีบีเอส2, เดอะรีพอร์ตเตอร์) รายชื่อและตำแหน่งรัฐมนตรีเริ่มลงตัว โดยแต่ละโผมีชื่อคล้ายๆ กัน ส่วนชื่อที่ต่างกัน เช่น ในช่วงเช้า ปรากฏชื่อของ ร.อ.ธรรมนัส มีชื่ออยู่ระหว่าง รมว.เกษตร และ รมว.แรงงาน ก่อนที่การรายงานในช่วงค่ำ ชื่อของธรรมนัสจะอยู่ที่ รมว.เกษตร ส่วน รมว.แรงงานเป็น พิพัฒน์ รัชกิจประการ, เก้าอี้ รมว.ศึกษาธิการ จาก สุทิน คลังแสง ในช่วงค่ำกลายเป็น พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ, ศุภมาส อิสรภักดี จาก รมช.สาธารณสุข กลายเป็น รมช.พาณิชย์, ส่วน สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.เกษตร ถูกย้ายไป รมช.ศึกษา ในตอนค่ำ ขณะที่ตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ถูกเปลี่ยนหน้าไปมา จาก จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ในช่วงเช้า ช่วงค่ำเป็น ปานปรีย์ พหิทธานุกร ซึ่งจะควบเก้าอี้รองนายกฯ ด้วย แต่พอเกือบ 22:00 น. ในตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศและรองนายกฯ ก็มีชื่อของ แพทองธาร ชินวัตร ที่เคยมีชื่ออยู่ในโผตั้งแต่ช่วงแรกๆ กลับเข้ามาในโผอีกครั้ง 

โผวันที่ 28 ส.ค. จากไทยรัฐออนไลน์ ตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ เป็นปานปรีย์ พหิทธานุกร, ชื่อของ ศุภมาส อิศรภักดี ย้ายมาอยู่ที่ รมว.อุดมศึกษา, พิพัฒน์ รัชกิจประการ เป็น รมว.แรงงาน และ เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช นั่ง รมว.วัฒนธรรม ซึ่งตรงกับรายชื่อ ครม. นอกจากนี้ ปรากฏยังชื่อ พิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ นั่ง รมว.อุตสาหกรรม ครั้งแรกอีกด้วย

และหากดูที่ตำแหน่ง รมช. จะพบว่า โผ 28 ส.ค. เป็นวันที่รายชื่อกลุ่มนี้เริ่มลงตัว โดยมีถึง 12 ชื่อที่ตรงกับรายชื่อ ครม. ที่ได้รับการแต่งตั้งจริงในวันที่ 2 ก.ย. ส่วนรายชื่อที่ต่างไปคือ มนพร เจริญศรี ซึ่งเดิมเคยมีชื่ออยู่ในโผอยู่แล้ว แต่โผวันที่ 28 ส.ค. ชื่อหลุดไปและกลับเข้ามาใหม่ในวันที่ 2 ก.ย., ไผ่ ลิกค์ ที่อยู่ที่ รมช.พาณิชย์ แต่สุดท้ายหลุดจากโผไป และ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ที่เดิมชื่ออยู่ที่ รมช.มหาดไทย แต่สุดท้ายคือ รมว.อุตสาหกรรม

วันที่ 29 ส.ค. เพจสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว ระบุว่า ชื่อต่างๆ เริ่มนิ่ง มีชื่อใหม่เข้ามา 2 ชื่อคือ  พิชิต ชื่นบาน โควต้าพรรคเพื่อไทย ในตำแหน่ง รมต.สำนักนายกฯ และ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม โควต้าของพรรครวมไทยสร้างชาติ

ก่อนที่สุดท้าย รายชื่อในวันที่ 2 ก.ย. ในพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ มีรายนามดังนี้

นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง –  เศรษฐา ทวีสิน

รองนายกฯ – พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ, ภูมิธรรม เวชยชัย,  สมศักดิ์ เทพสุทิน, ปานปรีย์ พหิทธานุกร, อนุทิน ชาญวีรกูล, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

รมต.สำนักนายกฯ – พวงเพ็ชร ชุนละเอียด

รมว.กลาโหม – สุทิน คลังแสง

รมว.ต่างประเทศ – ปานปรีย์ พหิทธานุกร

รมว.ท่องเที่ยว – สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล

รมว.พัฒนาสังคม – วราวุธ ศิลปอาชา

รมว.อุดมศึกษา – ศุภมาส อิศรภักดี

รมว.เกษตร – ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า  

รมว.คมนาคม – สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รมว.ดิจิทัล – ประเสริฐ จันทรรวงทอง

รมว.ทรัพยากร – พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ

รมว.พลังงาน – พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

รมว.พาณิชย์ – ภูมิธรรม เวชยชัย

รมว.มหาดไทย – อนุทิน ชาญวีรกูล

รมว.ยุติธรรม – พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง

รมว.แรงงาน – พิพัฒน์ รัชกิจประการ

รมว.วัฒนธรรม – เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช

รมว.ศึกษา – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ

รมว.สาธารณสุข – นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว

รมว.อุตสาหกรรม –  พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รมช.คลัง –  กฤษฎา จีนะวิจารณะ, จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

รมช.ต่างประเทศ – จักรพงษ์ แสงมณี

รมช.เกษตร – อนุชา นาคาศัย, ไชยา พรหมา

รมช.คมนาคม – สุรพงษ์ ปิยะโชติ, มนพร เจริญศรี

รมช.พาณิชย์ – นภินทร ศรีสรรพางค์

รมช.มหาดไทย – ทรงศักดิ์ ทองศรี, ชาดา ไทยเศรษฐ์, เกรียง กัลป์ตินันท์

รมช.ศึกษา – สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล

รมช.สาธารณสุข – สันติ พร้อมพัฒน์

โผ ครม.ใกล้เคียงความจริงแค่ไหน?

นับตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค. 66 ซึ่งเป็นวันที่พรรคเพื่อไทยถอนตัวจากการร่วมมือ MOU 8 พรรค เพื่อเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลโดยเสนอ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ มีโผ ครม. ออกมาไม่ต่ำกว่า 19 แบบ โดยโผวันที่ 3 ส.ค. เริ่มมีรายชื่อที่ตรงกับรายชื่อ ครม. เป็นครั้งแรก คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ในตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข 

โผ ครม. ในแต่ละครั้งอาจจะไม่ใช่การโยนหินถามทาง แต่เป็นการทำให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงรายชื่อของแต่ละโผ เป็นการต่อรองอำนาจของพรรคร่วมรัฐบาล โดยดูได้จากความเปลี่ยนแปลงหลายมุมมอง ดังนี้ 

ในโผแรก มีรายงานว่า กระทรวงที่พรรคเพื่อไทยปักธงไว้ คือ กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงมหาดไทย โดยวางตัวบุคคลไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มมีการจับขั้วพรรคร่วมรัฐบาล โควต้าของกระทรวงเหล่านี้ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นพรรคอื่น โดยสุดท้ายเมื่อรายชื่อ ครม.ออกมา ปรากฏว่า จากกระทรวงที่มีการรายงานในโผแรก 5 กระทรวง พรรคเพื่อไทย ได้มา 3 กระทรวงคือ กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม โดยที่ชื่อบุคคลไม่ตรงกับที่วางไว้ ขณะที่กระทรวงพลังงานเป็นของพรรครวมไทยสร้างชาติ และกระทรวงมหาดไทยกลายเป็นของพรรคภูมิใจไทย อย่างไรก็ตาม ชื่อของคนเพื่อไทยที่ถูกวางไว้แต่แรก 3 คน ยังปรากฏว่ามีตำแหน่งใน ครม. ได้แก่ ประเสริฐ จันทรรวงทอง นั่ง รมว.ดิจิทัล, นพ.ชลน่าน นั่ง รมว.สาธารณสุข และ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ได้นั่ง รมช.คลัง 

ทั้งนี้ พบว่า นับจากวันที่เริ่มมีพรรคร่วมรัฐบาลเข้ามาในโผ ครม. กระทรวงพลังงานเป็นกระทรวงที่พรรครวมไทยสร้างชาติปักธงไว้อย่างเหนียวแน่น โดยโผตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. ถูกวางเป็นโควต้าของพรรครวมไทยสร้างชาติมาตลอด แม้ว่าจะมีชื่อพรรคเพื่อไทย หรือจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ กลับเข้ามาในโผ 2 ครั้ง แต่สุดท้ายเก้าอี้นี้ก็เป็นของคนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ

ส่วนกระทรวงทรัพยากรฯ มีการเปลี่ยนโผเจ้ากระทรวงมากที่สุด โดยมีชื่อบุคคลจากพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย สลับกันเข้ามาในโผ โดยถูกเปลี่ยนจาก วราวุธ ศิลปอาชา เป็น พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เปลี่ยนเป็น วราวุธ ศิลปอาชา กลายเป็น สันติ พร้อมพัฒน์ กลับมาที่ วราวุธ ศิลปอาชา กลับไปที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ไปที่ พิพัฒน์ รัชกิจประการ ก่อนที่สุดท้ายเก้าอี้ รมว.ทรัพยากรฯ จะเป็นของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ

ทั้งนี้ ชื่อบุคคลที่อยู่ในโผนานที่สุด คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ที่อยู่ในโผ ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. และไม่เคยถูกขยับตำแหน่งอีกเลยจนวันโปรดเกล้าฯ ครม. ส่วนที่พลิกโผในช่วงท้ายสุด คือ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ที่มีชื่อในโผวันที่ 28 ส.ค. เป็น รมช.พาณิชย์ แต่พอวันที่ 29 กลับถูกย้ายมาที่ รมว.อุตสาหกรรม และจบลงที่ตำแหน่งนี้ 

หากลองสำรวจว่า รัฐมนตรีคนใดมีชื่อในโผในตำแหน่งต่างๆ มากที่สุด พบว่า คนสำคัญจากพรรคเพื่อไทย 2 คน คือ สุทิน คลังแสง และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ถูกขยับไปมาในจำนวนครั้งเท่าๆ กัน โดย สุทิน คลังแสง มีชื่อใน รมว.กลาโหม, รมต.สำนักนายกฯ, รมว.ศึกษา, รมว.วัฒนธรรม ก่อนจะมาจบที่ รมว.กลาโหม ขณะที่ นพ.ชลน่าน  มีชื่อเป็น รมว.มหาดไทย, รมว.สาธารณสุข, รองนายกฯ, รมว.ศึกษา ก่อนจะจบที่ รมว.สาธารณสุข 

ส่วนคนจากพรรคร่วมที่มีชื่ออยู่ในตำแหน่งต่างๆ ของโผ ครม. มากที่สุด คือ อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย ที่มีชื่อเป็น รองนายกฯ, รมว.สาธารณสุข, รมว.เกษตร, รมว.คมนาคม และจบที่ รมว.มหาดไทย พ่วงรองนายกฯ ตามมาด้วย วราวุธ ศิลปอาชา จากพรรคชาติไทยพัฒนา ที่มีชื่อนั่งเก้าอี้ รมว.ท่องเที่ยว, รมว.ทรัพยากร, รมว.พาณิชย์ จบที่ รมว.พัฒนาสังคม และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จากพลังประชารัฐ มีชื่อในโผเริ่มที่ รมว.เกษตร, รมว.แรงงาน, รมช.มหาดไทย ก่อนจะจบที่ รมว.เกษตร 

การรายงานโผ ครม. รอบนี้ ส่วนใหญ่สื่อไม่ได้ระบุแหล่งข่าว โดยมีสื่อที่ลงรายละเอียดแหล่งข่าว 2 แห่งคือ ฐานเศรษฐกิจ ในวันที่ 18 ส.ค. ใช้ว่า “เอกสารหลุดออกมาจากพรรคเพื่อไทย (พท.)” และมติชนออนไลน์ วันที่ 19 ส.ค. ใช้ว่า “รายงานข่าวจากเพื่อไทย” 

โดยรายชื่อในเอกสารหลุดวันที่ 18 ที่ตรงกันกับรายชื่อ ครม. ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ คือ รองนายกฯ ซึ่งระบุว่าจะมีพรรคเพื่อไทย 3 คน, พรรคพลังประชารัฐ, พรรคภูมิใจไทย, พรรครวมไทยสร้างชาติ อย่างละ 1 คน รัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย คือ รมว.คลัง รมว.ต่างประเทศ รมว.คมนาคม รมว.ดิจิทัล รมว.สาธารณสุข ส่วน รมว.พลังงาน จะมาจากพรรครวมไทยสร้างชาติ และรมว.ยุติธรรม จะเป็นพรรคประชาชาติ 

หากดูโผวันที่ 18 ส.ค. ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีชื่อรัฐมนตรีครบทุกตำแหน่ง เทียบกับรายชื่อ ครม. วันโปรดเกล้าฯ จะพบว่า มีผู้ที่ชื่อตรงกันเพียง 6 ตำแหน่งจาก 36 ตำแหน่ง ประกอบด้วย นายกฯ, รองนายกฯ 2 คน คือ พล.ต.อ พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อนุทิน ชาญวีรกุล รมว.ต่างประเทศ ปานปรีย์ พหิทธานุกร, รมว.ยุติธรรม พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง, รมช.มหาดไทย คือ ทรงศักดิ์ ทองศรี และ รมช.เกษตร คือ ไชยา พรหมา

ขณะที่โผ วันที่ 19 ส.ค. รายชื่อที่ตรงกับรายชื่อ ครม. คือ รองนายกฯ เป็น พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ, ภูมิธรรม เวชยชัย , อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.คมนาคม เป็น สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, รมว.ดิจิทัล เป็น ประเสริฐ จันทรรวงทอง, รมว.ทรัพยากร เป็น พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และ รมว.ยุติธรรม เป็น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง

คุณอาจสนใจ