Connect with us

Hi, what are you looking for?

future

คนกรุงเทพฯ ป่วยแล้วไปไหนได้บ้าง

1662222 via Pixabay
  • เมื่อนำจำนวนสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ดูแลประชาชนตามสิทธิการรักษาพยาบาล ทั้ง 3 ประเภทคือ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิบัตรทอง มาแบ่งกลุ่มตามเขตทั้ง 50 เขต พบว่า มีนบุรี มีมากที่สุดที่ 20 แห่ง บางนา 18 แห่ง ราชเทวี 16 แห่ง ตามด้วยบางเขนและสายไหม 15 แห่ง 
  • ส่วนเขตที่มีสถานพยาบาลที่เข้าถึงได้ตามสิทธิน้อยที่สุด คือ สัมพันธวงศ์ 3 แห่ง พระนครและคลองสาน 4 แห่ง ตามด้วย ปทุมวัน พระโขนง ตลิ่งชัน ทุ่งครุ ที่ 5 แห่งเท่ากัน
  • เขตที่มีจำนวนสถานพยาบาลต่อประชากรสูงที่สุดในกรุงเทพฯ คือ ราชเทวี 23.62 แห่งต่อแสนประชากร บางนา 20.68 ป้อมปราบศัตรูพ่าย 19.79 พญาไท 18.12 และสัมพันธวงศ์ 14.44
  • สำหรับเขตที่มีจำนวนสถานพยาบาลต่อประชากรน้อยที่สุด 5 อันดับท้าย ได้แก่ ทุ่งครุ 4.05 แห่งต่อแสนประชากร ตลิ่งชัน 4.88 จตุจัตร 5.19 บางแค 5.20 และจอมทอง 5.49

กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วที่เราจะต้องเสียเวลาเป็นวันๆ กับการตื่นแต่เช้าไปเข้าแถวรอคิวโรงพยาบาลรัฐ และถ้าไม่อยากรอ ก็ต้องยอมเสียเงินเพิ่มไปใช้บริการเอกชนแทน

ผลสำรวจโดย โครงการวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบและระบบบริการปฐมภูมิเขตเมือง: กรณีศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) (2559) ระบุว่า เมื่อสำรวจถึงสถานพยาบาลที่เคยใช้ และ/หรือคาดว่าจะใช้บริการเมื่อเกิดภาวะเจ็บป่วย จากประชากรในกรุงเทพฯ 1,916 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้มีสิทธิข้าราชการ 918 คน (47.91%) และผู้มีสิทธิประกันสังคม 998 คน (52.09%) พบว่า 60% ของทั้งสองกลุ่มเคยใช้/คาดว่าจะใช้บริการสถานพยาบาลเอกชนมากกว่าสถานพยาบาลของรัฐ แต่เมื่อจำแนกตามสิทธิการรักษา จะพบว่า ผู้มีสิทธิข้าราชการ 60% จะไปที่สถานพยาบาลของรัฐ ส่วนผู้มีสิทธิประกันสังคม 80% จะไปที่สถานพยาบาลเอกชน

กลุ่มตัวอย่างชี้ว่า เหตุผลหลักของการเลือกใช้สถานพยาบาล คือความสะดวกในการเข้าถึงสถานพยาบาล เช่น ใกล้บ้านหรือที่ทำงาน (57.83%) ตามด้วยการใช้สิทธิตามสถานพยาบาลที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้หรือมีสิทธิใช้บริการนั้น (15.55%) และความเชื่อมั่นในความรู้ความชำนาญของแพทย์และพยาบาล (9.56%)

ขณะที่ข้าราชการ 50.98% รับผิดชอบจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น เป็นส่วนที่เบิกตามสิทธิไม่ได้ หรือเป็นการไปรับการรักษาที่อื่นที่สะดวกกว่า แต่ไม่สามารถเบิกได้ เป็นต้น ขณะที่กลุ่มผู้มีสิทธิประกันสังคมราว 40% รับผิดชอบจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง แม้จะจ่ายสมทบไปแล้วทุกเดือน

แต่นี่ไม่ควรเป็นเรื่องปกติ

สำรวจสถานพยาบาลในกรุงเทพฯ ผ่านสิทธิรักษาพยาบาล

เพื่อสำรวจการกระจายตัวของสถานพยาบาลที่ให้บริการประชาชนในแต่ละเขต Rocket Media Lab รวบรวมข้อมูลจำนวนสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯ จากหน่วยบริการปฐมภูมิที่ผู้มีบัตรทองสามารถเลือกได้ สถานพยาบาลที่ผู้มีสิทธิประกันสังคมเลือกได้ และโรงพยาบาลรัฐรวมถึงโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมสิทธิเบิกจ่ายตรงสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ได้ทั้งสิ้น 484 แห่ง แล้วจัดกลุ่มตามเขตใน กทม. 50 แห่ง พบว่า มีนบุรี มีมากที่สุดที่ 20 แห่ง บางนา 18 แห่ง ราชเทวี 16 แห่ง ตามด้วยบางเขนและสายไหม 15 แห่ง 

ส่วนเขตที่มีสถานพยาบาลที่เข้าถึงได้ตามสิทธิน้อยที่สุด คือ สัมพันธวงศ์ 3 แห่ง พระนครและคลองสาน 4 แห่ง ตามด้วย ปทุมวัน พระโขนง ตลิ่งชัน ทุ่งครุ ที่ 5 แห่งเท่ากัน

อย่างไรก็ตาม หากนำจำนวนสถานพยาบาลในแต่ละเขตมาหารด้วยจำนวนประชากรของเขตนั้น จะพบว่า เขตที่มีจำนวนสถานพยาบาลต่อประชากรสูงที่สุดในกรุงเทพฯ คือ ราชเทวี 23.62 แห่งต่อแสนประชากร บางนา 20.68 ป้อมปราบศัตรูพ่าย 19.79 พญาไท 18.12 และสัมพันธวงศ์ 14.44

ท้ังนี้จะเห็นว่าเขตที่มีสัดส่วนสถานพยาบาลอับดับต้นๆ เกือบทั้งหมด ยกเว้นบางนา อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน ซึ่งเขตข้างเคียงก็มีสัดส่วนสถานพยาบาลสูงเช่นกัน ประกอบกับมีระบบขนส่งมวลชนทั่วถึงกว่า ทำให้คนในกรุงเทพชั้นในมีแนวโน้มที่จะมีทางเลือกของสถานพยาบาลมากกว่าและเข้าถึงได้สะดวกกว่า

สำหรับเขตที่สถานพยาบาลรับบทหนัก 5 อันดับท้าย ได้แก่ ทุ่งครุ 4.05 แห่งต่อแสนประชากร ตลิ่งชัน 4.88 จตุจัตร 5.19 บางแค 5.20 และจอมทอง 5.49

ขณะที่ถ้าดูสัดส่วนสถานพยาบาลที่เป็นของรัฐ จะพบว่า ราชเทวี ยังคงเป็นอันดับหนึ่งในการจัดอันดับนี้ โดยเป็นเขตที่มีที่ตั้งของสถานพยาบาลของรัฐมากที่สุด ถึง 13 แห่ง และส่วนหนึ่งยังเป็นสถานพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น สถาบันประสาทวิทยา กรุงเทพมหานคร, สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร, สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์

เขตที่มีสถานพยาบาลของรัฐน้อยที่สุด คือ 1 แห่งต่อเขต มีถึง 13 เขต ได้แก่ สัมพันธวงศ์ บางบอน บางพลัด วัฒนาบางกอกใหญ่ สาทร บางกะปิ บางเขน ลาดพร้าว สะพานสูง วังทองหลาง จอมทอง และตลิ่งชัน 

ขณะที่หากดูประเภทของสถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยตามสิทธิต่างๆ พบว่า ข้าราชการ จะสามารถเข้ารับการรักษาฟรีตามสิทธิได้ในโรงพยาบาลของรัฐ รวมถึงมีโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งที่เข้าร่วมสิทธิเบิกจ่ายตรงของข้าราชการ ขณะที่ตัวเลือกของผู้ใช้สิทธิบัตรทองและสิทธิประกันสังคมนั้น จำนวนมากเป็นคลินิกเอกชน หรือการบริการในระดับปฐมภูมิ ซึ่งถูกดึงเข้ามาร่วมแก้ปัญหาความไม่เพียงพอของระบบสาธารณสุขในกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ต้องไม่ลืมว่าจำนวนประชากรดังกล่าว ยังไม่รวมถึงประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานและเรียนหนังสือ และแรงงานข้ามชาติทั้งที่มาแบบถูกและไม่ถูกกฎหมาย ที่เราไม่รู้จำนวนที่แท้จริง โดยที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติประมาณการไว้ว่าเมื่อปี 2561 กรุงเทพฯ มีประชากรแฝงรวม 2.05 ล้านคน ขณะที่ “สถิติจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร ประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2565” โดยกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่า มีจำนวนแรงงานข้ามชาติ ในกรุงเทพฯ รวม 534,386 คน

กทม. กับระบบสาธารณสุข

ไม่ใช่แค่รถไฟ ที่มีมาตั้งแต่สมัย ร.5 แต่งานด้านอนามัย เราก็มีมาตั้งแต่สมัย ร.5 เช่นกัน โดยกรุงเทพฯ มีกาารดำเนินงานด้านสาธารณสุข มาตั้งแต่ รศ. 116 หรือ พ.ศ. 2440 ได้รับจัดตั้งเป็นกรมแพทย์สุขาภิบาล กระทรวงนครบาล รับผิดชอบตาม พ.ร.ก.สุขาภิบาลกรุงเทพ รศ. 116  ก่อนจะได้รับการยกฐานะเป็นสำนักอนามัย กทม. ในปี 2517

ที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องการพัฒนาระบบสาธารณสุขใน กทม. อยู่ในแผนพัฒนากรุงเทพฯ มาตลอด นับแต่ฉบับที่ 1 ในปี 2520 อาทิ ตั้งเป้าสร้างศูนย์บริการสาธารณสุขเพิ่ม (แผนพัฒนากรุงเทพฯ ฉบับที่ 1  พ.ศ. 2520-2524) ปรับปรุงหน่วยบริการสาธารณสุขในแหล่งชุมชนแออัดและเขตชั้นนอกได้ทั่วถึง (แผนพัฒนากรุงเทพฯ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2525-2529) พัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุขให้เป็นโรงพยาบาลชุมชน จัดตั้งศูนย์บริการสาธารณสุขขนาดเล็กให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพ (แผนพัฒนากรุงเทพฉบับที่ 4 พ.ศ. 2535-2539) มีระบบเครือข่ายการบริการสุขภาพแบบผสมผสานให้ครอบคลุม 50 เขต (แผนพัฒนากรุงเทพฉบับที่ 6 พ.ศ. 2545-2549) หรือเร่งรัดการพัฒนาโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขสังกัดกรุงเทพมหานครเพื่อให้บริการประชาชนแบบครบวงจร และมีคุณภาพเทียบได้กับมาตรฐานสากล และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการแพทย์ฉุกเฉินและสถานการณ์วิกฤตหรือภัยพิบัติ (แผนพัฒนากรุงเทพ 12 ปี พ.ศ. 2552-2563)

แต่แม้จะเข้าสู่ปีที่ 45 นับตั้งแต่แผนพัฒนากรุงเทพฯ ฉบับที่ 1 หากมองในเชิงปริมาณ สถานพยาบาลในสังกัดของ กทม. ยังมีเพียงโรงพยาบาล 11 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ (400 เตียง) โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโรอุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กถึงขนาดกลาง (100-200 เตียง) โรงพยาบาลคลองสามวาและโรงพยาบาลบางนากรุงเทพมหานคร ที่ให้บริการผู้ป่วยนอก และศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้นและนำตัวส่งโรงพยาบาล เพื่อเข้ารับการรักษาจากแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กทม.

ส่วนศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยบริการระดับปฐมภูมิ ทำหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพ ฟื้นฟูสุขภาพ ป้องกันโรค และรักษาพยาบาล มีทั้งสิ้น 69 แห่ง โดยเขตที่ไม่มีศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. เลย คือเขตวังทองหลาง และเขตบางเขน ซึ่งทั้งสองเขตมีประชากรรวม 292,101 คน ขณะที่ศูนย์บริการสาธารณสุขสาขา ซึ่งให้บริการรักษาพยาบาลเบื้องต้น ควบคุม-ป้องกันโรค และสร้างเสริม-ฟื้นฟูสุขภาพ มีเจ้าหน้าที่คือ พยาบาลวิชาชีพและนักวิชาการสาธารณสุข มี 77 แห่ง โดยจำนวนมากจะอยู่ในกรุงเทพฯ ชั้นนอก เช่น หนองจอก 11 แห่ง ตลิ่งชัน และบางขุนเทียน 7 แห่ง และลาดกระบัง คลองสามวา 6   

ขณะที่ผู้ว่าฯ กทม. คนที่ผ่านๆ มาก็ไม่ได้มีนโยบายด้านสาธารณสุขที่โดดเด่นนัก และเมื่อไปดูงบประมาณ กทม. ตั้งแต่ ปี 2516 จนถึง 2565 ก็จะพบว่าประเด็นเรื่องการบริการสาธารณสุขถูกจัดวางไว้ในลำดับรอง โดยสำนักการแพทย์ อยู่ในลำดับที่ 4 รองจากสำนักการโยธา สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักการระบายน้ำ ด้วยงบ 88,616,233,381 บาท และสำนักอนามัย อยู่ในอันดับ 6 รองจากสำนักการจราจรและขนส่ง ด้วยงบฯ รวม 52,121,264,183 บาท

ไม่ใช่แค่หน้าที่ กทม.

แม้ในเชิงพื้นที่ การจัดบริการสาธารณสุขจะเป็นอำนาจของ กทม. โดยตรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 แต่ระบบสุขภาพของไทยมีความซับซ้อนกว่านั้น โดยมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องตามสิทธิในการรักษาพยาบาล ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ระบบหลัก ได้แก่

หนึ่ง สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่นิยมเรียกกันว่า “สิทธิบัตรทอง” คนไทยที่มีเลขประจำตัว 13 หลัก และไม่ได้มีสิทธิประกันสุขภาพอื่นจากหน่วยงานรัฐ มีสิทธิลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำ เพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุขได้ โดยไม่ต้องเสียค่าบริการ สิทธินี้ดูแลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ภายใต้กำกับของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข

สอง สิทธิประกันสังคม มนุษย์เงินเดือนที่มีนายจ้างซึ่งจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน สามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลที่เลือกลงทะเบียนไว้ สิทธินี้ดูแลโดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

และสาม สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ที่คุ้มครองให้กับข้าราชการและบุคคลในครอบครัว (บิดา มารดา คู่สมรสและบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย) โดยเข้ารับบริการรักษาพยาบาลได้ฟรีที่โรงพยาบาลของรัฐ และเข้ารับบริการโดยจ่ายบางส่วนในโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งที่ร่วมโครงการเบิกจ่ายตรง ประเภทผู้ป่วยในตามเกณฑ์กลุ่มวินิจฉัยร่วม สิทธินี้มีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ดูแลระบบออกกฎระเบียบการเบิกจ่าย

ไปต่อยังไง 

ในการระดมความเห็นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เรื่อง “ก้าวต่อไป..หน่วยบริการปฐมภูมิในเขตกรุงเทพมหานคร (Fact & Future)” เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ โดยนำร่องพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งสืบเนื่องจากการยกเลิกสัญญาคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ให้บริการปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งขณะนั้น จากคลินิกชุมชนอบอุ่นราว 230 แห่ง เหลือเพียง 28 แห่งส่งผลกระทบต่อการรับบริการของประชาชนที่ใช้บัตรทอง กว่า 2 ล้านคน

ที่ประชุมมีข้อเสนอว่า พื้นที่กรุงเทพฯ ต้องมีโรงพยาบาลประจำเขต เพื่อให้บริการรับส่งต่อ และควรมีจำนวนเตียงที่เพียงพอในการรองรับผู้ป่วย รวมถึงมีการนำบริการการแพทย์ทางไกล (telemedicine) มาช่วยในการเพิ่มคุณภาพของการบริการสุขภาพ ลดค่าใช้จ่าย ตลอดจนสามารถขยายเวลาในการทำงานของแพทย์ได้ ขณะที่หน่วยงานของรัฐควรสนับสนุนคลินิกชุมชนอบอุ่นเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ลดหย่อนภาษี สร้างความมั่นใจในการขยายการดำเนินงาน โดยใช้สัญญาในการควบคุมค่าใช้จ่ายและกำกับคุณภาพบริการ ควบคู่ไปกับการที่ สปสช. เขต 13 ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัยของ กทม. กระทรวงสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องสร้างความมั่นใจ ในการให้บริการปฐมภูมิที่มีคุณภาพแก่ประชาชน เช่น ได้พบหมอทุกครั้งที่รับบริการ มีเครื่องมือในการดูแลรักษาพร้อม การได้รับยาที่มีคุณภาพ และมอบประสบการณ์ที่ดีในการไปใช้บริการ

ขณะที่ภาพใหญ่กว่านั้น รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องการปฏิรูปหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai universal health coverage reform for sustainable development) ของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา เมื่อปี 2564 มีข้อเสนอให้มีชุดสิทธิประโยชน์หลักที่จำเป็นและเบิกจ่ายในรูปแบบเดียวกันสำหรับระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐทุกระบบ และในระยะยาว เสนอให้รวมกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทุกระบบเป็นระบบเดียว (single fund)

ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-bkk-public-health/

อ้างอิง

การวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบและระบบบริการปฐมภูมิเขตเมือง : กรณีศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 

มาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุขสาขา สำนักอนามัย 

สถิติจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร ประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2565, กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

ประชากรแฝงในประเทศไทย พ.ศ.2561, สำนักงานสถิติแห่งชาติ 

ประวัติสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร

สวรส.จัดเวทีระดมความเห็น ชงข้อเสนอสู่นโยบาย “แก้ปัญหาผลกระทบยกเลิกคลินิกชุมชนอบอุ่น” พร้อมพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ กทม. ในอนาคต

รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องการปฏิรูปหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai universal health coverage reform for sustainable development) ของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา 

คุณอาจสนใจ