หนึ่งในการหล่อหลอมความคิดและอุดมคติของเด็กไทย ก็คือแบบเรียน ที่ไม่เพียงบรรจุเนื้อหาความรู้ ข้อเท็จจริงต่างๆ ไว้เพื่อการศึกษา แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงการคัดเลือกว่าสิ่งใดคือความรู้ การให้คุณค่าต่อสิ่งใด รวมไปถึงการให้เหตุผลต่อสิ่งต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นการหล่อหลอมความคิด ทัศนคติ ของเด็กไทยต่อประเด็นต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะในแบบเรียนวิชาสังคมศึกษา ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมและการใช้ชีวิตโดยตรง ซึ่งแฝงไว้ด้วยการให้คุณค่าต่อสิ่งต่างๆ ในสังคมไทย
Rocket Media Lab เลือกแบบเรียนวิชาสังคมศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของชั้นประถมศึกษา และเป็นวัยที่กำลังเรียนรู้ที่จะเป็นสมาชิกของสังคมและเริ่มมีการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล มาศึกษา โดยมีแบบเรียนทั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสำนักพิมพ์ต่างๆ คือ วัฒนาพานิช (วพ.) สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) และอักษรเจริญทัศน์ (อจท.) ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่ผลิตแบบเรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดฯ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) และได้รับความนิยมในการนำไปใช้เป็นแบบเรียนในโรงเรียนทั่วประเทศ
โดยปรกติแล้ว แบบเรียนวิชาสังคมศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อยู่ภายใต้ “กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม” โดยมีแบบเรียนเล่มหลักหนึ่งเล่ม ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการมีชื่อว่า หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน “หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตในสังคม เศรษฐศาสตร์ และภูมิศาสตร์” สำหรับ วพ. ใช้ชื่อว่า “สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม”
โดยยังมีการแยกเนื้อหาแบบเรียนออกเป็นอีกสองเล่มก็คือ ประวัติศาสตร์ (รายวิชาพื้นฐาน) และหน้าที่พลเมือง (รายวิชาเพิ่มเติม) โดยมีเพียงของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้นที่ไม่มีแบบเรียนหน้าที่พลเมืองแยกออกมา และในหลายสำนักพิมพ์ก็มักจะมีแบบฝึกหัดเป็นเล่มแยกออกมาด้วย โดยการในศึกษาครั้งนี้ เลือกพิจารณาจากแบบเรียน “สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม” จากทั้งสี่สำนักพิมพ์ แบบเรียน “ประวัติศาสตร์” จากทั้งสี่สำนักพิมพ์ และแบบเรียน “หน้าที่พลเมือง” จากสามสำนักพิมพ์ (ยกเว้นของกระทรวงศึกษาธิการ)
สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
ในส่วนของเล่มหลัก “สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม” มีเนื้อหาแบ่งออกเป็นสามส่วนหลักๆ คือส่วนที่หนึ่ง หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตในสังคม โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง กฎหมายพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน, ข้อมูลข่าวสารในชีวิตประจำวัน, การเมืองการปกครองของไทย และวัฒนธรรมมารยาทไทย ส่วนที่สองคือ เศรษฐศาสตร์ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง ผู้ผลิตและผู้บริโภค, การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน, ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และส่วนที่สามคือ ภูมิศาสตร์ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง เครื่องมือทางภูมิศาสตร์, ธรรมชาติกับสังคมไทย, ภัยพิบัติในประเทศไทย และการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
โดยที่แบบเรียนของ วพ. จะมีเนื้อหาเพิ่มเติมอีกสามบท คือพุทธศาสนา, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทยสมัยรัตนโกสินทร์ ในขณะที่ อจท. จะมีเนื้อหาเพิ่มเติมหนึ่งบทก็คือศาสนากับการดำเนินชีวิต ซึ่งไม่ถูกนำมาพิจารณาในส่วนนี้เนื่องจากมีวิชาพุทธศาสนาแยกออกมาอยู่แล้ว และในส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทยสมัยรัตนโกสินทร์ จะปรากฏในแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์อยู่แล้วเช่นกัน
บทบาท หน้าที่ขององค์กรการปกครอง
ในส่วนแรกนั้นพบว่ากระทรวงศึกษาธิการใช้ชื่อบทเรียน (บทที่หนึ่ง) ว่า “ประชาธิปไตย” ในขณะที่ วพ.ใช้ชื่อว่า “การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” พว.ใช้ชื่อว่า “การเมืองการปกครองไทย” และ อจท. ใช้ชื่อว่า “กิจกรรมประชาธิปไตย”
เนื้อหาส่วนแรกกล่าวถึงหน้าที่ของรัฐบาล โดยนอกจากหน้าที่หลักในการบริหารประเทศแล้ว ยังพบว่าแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ มีการระบุเพิ่มเติมว่า “รักษาความยุติธรรมให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนทุกฝ่าย…มีหน่วยงานที่ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมคือ ศาล” ส่วนเนื้อหาใน วพ. ระบุเพิ่มเติมว่า “ริเริ่มเสนอกฎหมายมาใช้ในการปกครองประเทศ” พว. ระบุเพิ่มเติมว่า “พิทักษ์รักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และ อจท. ระบุเพิ่มเติมว่า “ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรัก ความสามัคคี และปรองดองกัน”
จะพบว่าเด็กไทยปัจจุบันมีการเรียนเรื่ององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย ทั้ง อบต. อบจ. เทศบาล โดยมีการระบุถึงหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเหมือนกันทั้งสี่สำนักพิมพ์ก็คือการ ดูแล ทำนุบำรุง และพัฒนาท้องถิ่นในด้านต่างๆ ในขณะเดียวกันก็มีหน้าที่เพิ่มเติมด้านอื่นๆ ที่ระบุแตกต่างกัน เช่น ทั้งแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ พว และ อจท. ต่างระบุเรื่องหน้าที่ในการชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา (พว.ใช้คำว่า “ศาสนาต่างๆ”) ในขณะที่ วพ. มีการระบุถึงบทบาทหน้าที่ในการกำหนดนโยบายผังเมืองและการควบคุมการใช้ที่ดิน เช่น เขตก่อสร้างอาคารสูง
การมีส่วนร่วมในกิจกรรมประชาธิปไตย
ในส่วนของเนื้อหาว่าด้วยการมีส่วนร่วมในกิจกรรมประชาธิปไตยนั้น นอกจากการกล่าวถึงเรื่องการไปเลือกตั้งแล้ว ยังพบว่าทั้งแบบเรียนของ ศธ. พว. และ อจท. ต่างระบุถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการป้องกันปัญหายาเสพติด รวมไปถึงการสืบสานวัฒนธรรมไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่นว่าเป็นการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมประชาธิปไตยอีกด้วย ในขณะที่ วพ. ระบุถึงการใช้สิทธิเสรีภาพที่มีอยู่เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมประชาธิปไตย โดยยกตัวอย่าง การรับการศึกษาขั้นพื้นฐานจากรัฐอย่างน้อย 12 ปี
และที่น่าสนใจก็คือประเด็นเรื่องการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง โดยแบบเรียนของ ศธ. และ พว. ไม่มีการกล่าวถึงการเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง ในขณะที่ วพ. ระบุว่า หากจะใช้สิทธิชุมนุมทางการเมืองก็ต้องไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เช่น ไม่ปิดเส้นทางการจราจร แต่ถึงอย่างนั้น วพ. ยังเป็นแบบเรียนเล่มเดียวที่กล่าวถึงการเสนอกฎหมายโดยการเข้าชื่อ 10,000 คน ส่วน อจท. ระบุว่าเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
ในประเด็นเรื่องกฎหมายในชีวิตประจำวัน ทุกสำนักพิมพ์ระบุถึงกฎหมายเรื่องทะเบียนราษฎร จราจร และยาเสพติด และมีการเรียนเกี่ยวกับ อบจ. อบต. เหมือนกันทั้งหมด ในส่วนประเด็นเรื่องข้อมูลข่าวสารในชีวิตประจำวัน นั้น แบบเรียนสองสำนักพิมพ์คือ พว. และ อจท. มีการระบุถึงเลือกรับข้อมูลข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น หน่วยงานของทางราชการ และ พว.มีการให้เหตุผลเพิ่มเติมว่าหนังสือของทางราชการน่าเชื่อถือมากกว่าอินเทอร์เน็ต
วัฒนธรรมและมารยาทไทย
บทเรียนเรื่องผลของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม มีความน่าสนใจในการให้ภาพแทนของความเป็นวัฒนธรรมตะวันตก เช่น ควรรับวัฒนธรรมตะวันตกที่ดี ทั้งการมีวินัย ตรงต่อเวลา ใช้หลักและเหตุผลในการอยู่ร่วมกัน การเข้าแถว การรอสัญญาณไฟจราจร ซึ่งปรากฏในแบบเรียนของศธ. และ อจท. นอกจากนี้ในแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ยังระบุว่าปลูกบ้านด้วยคอนกรีตแทนที่จะปลูกด้วยไม้ทำให้บ้านร้อน ใช้เครื่องไฟฟ้าทำให้เปลืองไฟฟ้า มียานพาหนะเผาผลาญพลังงานน้ำมัน และทุกสำนักพิมพ์ใช้การเปรียบเปรยวัฒนธรรมตะวันตกผ่านตัวแทนของบ้าน การใช้ช้อนส้อม การใช้รถ การแพทย์สมัยใหม่
ในส่วนของประเด็นเรื่องมารยาทนั้น พบว่าทุกสำนักพิมพ์ระบุถึงลักษณะมารยาทที่ดีผ่านการการไหว้ ยืน เดิน นั่ง นอน และการสนทนา แต่มีความแตกต่างกันเรื่องการนอน โดยที่แบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ และอักษรเจริญทัศน์ ไม่มีการระบุถึงท่านอน เพียงให้พิจารณาเรื่องความปลอดภัย ในขณะที่ พว. มีการแนะนำท่านอนหงายและนอนตะแคง โดยการนอนตะแคงยกท่าการนอนแบบพระพุทธเจ้า และแนะนำว่าให้นอนต่ำกว่าพ่อแม่เพื่อแสดงความเคารพ ส่วน วพ. ระบุว่าตามมารยาทไทย ก่อนนอนควรล้างเท้า หน้า และแปรงฟัน กล่าวสวัสดีพ่อแม่ ไม่ควรนอนสูงหรือต่ำกว่าคนอื่น และไม่ควรนอนกรน
เศรษฐศาสตร์
ในส่วนที่สองซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง ผู้ผลิตและผู้บริโภค, การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน, ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจนั้น พบว่า ทุกสำนักพิมพ์เนื้อหาว่าด้วยบทบาทและหน้าที่ของผู้ผลิต และผู้บริโภค ปัญหาสิ่งแวดล้อมในการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การลดใช้ถุงพลาสติก และหลักการ 7R (reduce reuse repair reject recycle return rethink) เหมือนกันทั้งหมด เช่นเดียวกันกับประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหน่วยเศรษฐกิจ ภาษี และแรงงานเหมือนกัน ยกเว้นในประเด็นเรื่องแรงงานในส่วนของ พว. เพียงสำนักพิมพ์เดียวที่ไม่มีการกล่าวถึงประเด็นเรื่อง “แรงงานหญิง”
ในส่วนของประเด็นเรื่องการรวมกลุ่มเชิงเศรษฐกิจนั้น พบว่า มีการกล่าวถึงเรื่องกองทุนหมู่บ้าน เพียงแต่ยกตัวอย่างที่แตกต่างกัน คือ ในแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการไม่มีการยกตัวอย่าง แบบเรียนของ วพ. ยกตัวอย่างกองทุนหมู่บ้านตามแนวทางประชารัฐ พว. ยกตัวอย่างกองทุนหมู่บ้าน โดย อบต. ส่วน อจท. ยกตัวอย่างกองทุนหมู่บ้าน ตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.)
ภูมิศาสตร์
ในส่วนที่สาม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ลักษณะทางกายภาพ การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ และการจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างยั่งยืนนั้น พบว่าแบบเรียนทุกสำนักพิมพ์มีการหยิบยกเหตุการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาใช้เป็นเนื้อหาในเรื่องภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเหมือนกันทั้งหมด
ในส่วนของประเด็นเรื่องทรัพยากร โดยเฉพาะการจัดการน้ำ มีความน่าสนใจคือในแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่ามนุษย์ดัดแปลงธรรมชาติเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตและใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างคุ้มค่า เช่น การสร้างเขื่อนเก็บน้ำ การทำฝนเทียม การลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ นอกจากนั้นยังระบุว่าสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเป็นการเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง (ภาพประกอบ เขื่อนวชิราลงกรณ์ จังหวัดกาญจนบุรี)
แบบเรียนของ วพ. ระบุว่าการสร้างเขื่อนทำให้พื้นที่ป่าลดลง และ ขวางเส้นทางน้ำ โดยปรากฏประเด็นนี้ถึง 3 ครั้ง ส่วนในแบบเรียนของ พว. ระบุว่าการจัดการทรัพยากรน้ำ ด้วยการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำให้มากและเพียงพอโดยเฉพาะในเขตแล้ง (รูปประกอบคือเขื่อนภูมิพล บรรยายว่า เขื่อนภูมิพลเป็นเขื่อนที่ช่วยกักเก็บน้ำ เป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ) และน้ำเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญ ร.9 ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงสำรวจประเทศเพื่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ เช่น เขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ และมีโครงการแก้มลิง
ในขณะที่แบบเรียนของ อจท. ระบุว่าความจำเป็นที่ต้องจัดการน้ำให้เพียงพอกับความต้องการ การชลประทานจึงมีการสร้างเขื่อน การสร้างฝายชะลอน้ำอยู่ทั่วประเทศ เช่น เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก แต่ในประเด็นเรื่องการแก้ปัญหาภัยแล้ง ระบุว่าการจัดหาพื้นที่ักักเก็บน้ำไว้ใช้นอกฤดูฝน เช่น การสร้างเขื่อน การสร้างฝายกักเก็บน้ำ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และการทำฝนเทียมเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและสิ้นเปลืองงบประมาณมาก
และในประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของประเทศไทย มีความน่าสนใจในการใช้ภาพแสดงแทนวัฒนธรรมสากล เพื่อเปรียบเปรยกับวัฒนธรรมไทย โดยในแบบเรียนของ วพ. ระบุว่า วัฒนธรรมในเมืองที่ทันสมัย มีการดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรมสากล เช่น ใช้รถยนต์ในการเดินทาง ย่อมทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ หรือการดำเนินชีวิตตามแบบวัฒนธรรมสากลบางครั้งอาจไม่เหมาะกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ เช่น ความนิยมในการแต่งกายด้วยเสื้อสูทไปทำงาน ไม่เหมาะกับพื้นที่ที่อยู่อาศัยที่มีอากาศร้อนอบอ้าว ในขณะที่ในแบบเรียนของ พว. ระบุว่า ค่านิยมและพฤติกรรมเลียนแบบศิลปินต่างประเทศ เช่น การแต่งกาย ดนตรี ซึ่งหากมีการยึดถือปฏิบัติโดยไม่คำนึงถึงความเป็นไทย ย่อมส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมจนไม่เหลือเอกลักษณ์ของความเป็นไทย จึงควรนำมาประยุกต์ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยอย่างเหมาะสม
ประวัติศาสตร์
หนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งมีทั้งสี่สำนักพิมพ์ คือ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) วัฒนาพานิช (วพ.) สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) และอักษรเจริญทัศน์ (อจท.) โดยจัดอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม มีเนื้อหาประกอบด้วยมีเนื้อหาที่มุ่งให้นักเรียนเข้าใจวิธีการสืบค้นทางประวัติศาสตร์ เข้าใจประวัติศาสตร์ไทยในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ และเพื่อนบ้านของไทย แต่ละสำนักพิมพ์นำเสนอเนื้อหาที่มีจุดเน้นและรายละเอียดที่เหมือนและแตกต่างกัน
ในหน่วยการศึกษาที่ว่าด้วยการสืบค้นเรื่องราวในอดีต ซึ่งนำเสนอตัวอย่างของการศึกษาและค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ มีเพียงหนังสือเรียนของ ศธ. ที่ใช้หัวข้อเรื่องเป็นพระราชประวัติรัชกาลที่ 4 ส่วนสำนักพิมพ์อื่นๆ นำเสนอประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น สะพานข้ามแม่น้ำแคว เมืองพัทยา
กำเนิดอาณาจักรรัตนโกสินทร์
การสถาปนาอาณาจักรรัตนโกสินทร์เป็นการอธิบายปัจจัยทางการเมือง ยุทธศาสตร์ และภูมิศาสตร์ เริ่มจากการบรรยายสถานการณ์ในเวลานั้นว่า สมัยปลายกรุงธนบุรีเกิดกบฏพระยาสรรค์ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ยกทัพเข้ามาปราบปรามจนสำเร็จ จากนั้นทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วทรงตั้งเมืองหลวงขึ้นใหม่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยของศธ.บรรยายเพิ่มเติมว่า “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกหรือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้รับการสนับสนุนจากขุนนางและไพร่ฟ้าประชาชนให้ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325”
ในส่วนนี้ พว. มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสร้างพระบรมมหาราชวังว่า “เป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจและเป็นศูนย์กลางการบริหารแผ่นดิน และการอัญเชิญพระแก้วมรกตซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญมาประดิษฐานที่เมืองหลวงแห่งใหม่ เป็นการฟื้นฟูขวัญและกำลังใจแก่คนไทยในยุคนั้นที่จะสร้างชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป” ขณะที่สำนักพิมพ์อื่นๆ ไม่กล่าวถึง
การเมืองการปกครอง
เนื้อหาที่เกี่ยวกับการเมืองและการปกครองในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ทุกสำนักพิมพ์ให้ความสำคัญกับสมัยรัชกาลที่ 4-5 พ.ศ. 2475 ว่าเป็นยุคปฏิรูปประเทศ และเน้นการเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะการเลิกทาสและยกเลิกธรรมเนียมหมอบคลานเข้าเฝ้า แบบเรียนของ ศธ.บรรยายว่า “…ทรงพยายามสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม สร้างความเท่าเทียมในสังคม…” พว. บรรยายว่า “…รัชกาลที่ 5 ทรงให้สิทธิเสรีภาพแก่สามัญชนมากขึ้น เช่น ให้สตรีที่บรรลุนิติภาวะแล้วสามารถเลือกสามีได้โดยสมัครใจ …” วพ. บรรยายว่า “…สมัยรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปสังคมโดยการเลิกระบบไพร่และทาส ทำให้ราษฎรมีความเป็นอิสระ สามารถประกอบอาชีพได้ตามใจชอบ…” อจท. บรรยายว่า “…ให้ยกเลิกระบบไพรและทาสที่มีอยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านาน เพื่อให้คนไทยมีความเท่าเทียมกัน และไม่ให้ชาวต่างชาติดูถูกว่าเมืองไทยกดขี่ประชาชนให้เป็นทาส..”
ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย พ.ศ. 2475 แบบเรียนของศธ. ไม่กล่าวถึงสาเหตุที่นำไปสู่การปฏิวัติของคณะราษฎร
ขณะที่แบบเรียนของ วพ. และ พว.ระบุสถานการณ์ในเวลานั้นว่า เป็นเวลาที่ประเทศกำลังประสบปัญหาหนักทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ส่วนอจท.ระบุว่า “การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของรัชกาลที่ 7 ไม่สามารถทำให้ฐานะการเงินของประเทศอยู่ในสภาพที่ปลอดภัย เพราะราษฎรว่างงานข้าราชการที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งก็เกิดความไม่พอใจ ประกอบกับมีกลุ่มคนหนุ่มที่จบการศึกษาระดับสูงจากต่างประเทศและในประเทศ มีความต้องการจะปฏิวัติ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในปีพ.ศ. 2475” ทั้งนี้แบบเรียนทุกสำนักพิมพ์ไม่กล่าวถึงพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวของคณะราษฎร ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475
การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
สำหรับประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ มีเพียง 2 สำนักพิมพ์เท่านั้นที่มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา คือ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) โดยแบบเรียนของ ศธ. ระบุว่า “เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนชาวไทยกลุ่มต่างๆ ได้แก่ นิสิต นักศึกษา และประชาชนหลากหลายอาชีพ…ได้มาชุมนุมกัน…เพื่อเรียกร้องให้คณะรัฐบาลซึ่งไม่ปกครองประเทศตามแนวทางประชาธิปไตยลาออก การชุมนุมในครั้งนี้ได้เกิดการปะทะกัน…ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ขณะที่ความรุนแรงทวีขึ้นและยังไม่มีทีท่ายุติลงโดยง่ายนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีรับสั่งทางโทรทัศน์ให้ทุกฝ่ายกลับไปสู่ความสงบ หยุดยั้งความขัดแย้งกันเองในหมู่คนไทยด้วยกัน ในที่สุดคณะรัฐบาลยอมลาออก เหตุการณ์จึงคลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติ”
ในขณะที่แบบเรียนของ พว. นั้น ระบุว่า “จอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศยึดอำนาจตนเอง ยกเลิกรัฐธรรมนูญและสภาผู้แทนราษฎร พร้อมจัดตั้งรัฐบาลทหารขึ้น การกระทำดังกล่าวเป็นการนำประเทศเข้าสู่การปกครองระบบเผด็จการอีกครั้งหนึ่ง ส่งผลให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องการปกครองแบบประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ. 2516 ซึ่งเหตุการณ์ได้บานปลายทำให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ครั้งนี้เรียกว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงระงับเหตุการณ์โดยโปรดให้ทุกฝ่ายยุติการต่อสู้ ซึ่งนำไปสู่ความสงบเรียบร้อย”
ขณะที่มีเพียงแบบเรียนของศธ.ที่กล่าวถึงเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญทั้งสามเหตุการณ์ในช่วงเวลานี้ ได้แก่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และเหตุการณ์พฤษภาคม พ.ศ. 2535 จากนั้นสรุปทั้ง 3 เหตุการณ์ว่า “…จากเหตุการณ์สำคัญที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่าปัญหาความแตกแยกในสังคมล้วนแต่เป็นปัญหาจากความคิดเห็นไม่ตรงกันในการเมืองการปกครอง การแบ่งฝักฝ่ายผสมผสานกับการขาดความซื่อสัตย์ การขาดคุณธรรมจริยธรรม การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง โดยไม่นำเอาบทเรียนในอดีตมาเป็นเครื่องเตือนใจ คนไทยจึงควรน้อมนำเอาพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระราชทานให้ชาวไทยรู้รักสามัคคี เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติก็จะทำให้บ้านเมืองเป็นปกติสุขได้ และเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นแล้วก็จะไม่เกิดอีกในอนาคต…”
นอกจากนี้เฉพาะแบบเรียนของศธ.ที่นำเสนอเรื่องรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญ 2540 ว่า “เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนในการร่างและเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งประเทศร่วมลงประชามติในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้…” และ รัฐธรรมนูญ 2550 ระบุหน้าที่ของประชาชนชาวไทยดังนี้ “รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปฏิบัติตามกฎหมาย ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง”
ด้านเหตุการณ์สำคัญทางสังคมและเศรษฐกิจ ทุกสำนักพิมพ์นำเสนอนโยบายชาตินิยมของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เป็นผู้นำเด็ดขาด ฟื้นฟูราชประเพณีที่สำคัญ และริเริ่มจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจระดับชาติ
สังคมและวัฒนธรรม
ด้านภูมิปัญญาไทยและวัฒนธรรมไทย เนื้อหาเป็นการกล่าวถึงสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม วรรณกรรม ในยุคสมัยต่างๆ มีเพียงแบบเรียนของ ศธ.เท่านั้นที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอาหารไทย ซึ่งยกตัวอย่าง ต้มยำกุ้ง ผัดไทย น้ำพริกปลาทู และมารยาทไทยซึ่งอธิบายว่า “คนไทยมีกิริยามารยาทสุภาพเรียบร้อย รู้จักเคารพต่อผู้ควรเคารพ อ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม เช่น พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ การกราบบิดามารดา ครูอาจารย์ ตลอดจนการแสดงความเคารพคนที่เสมอกัน” นอกจากนี้แบบเรียนของ ศธ.ยังมีบทที่ว่าด้วยพระบรมมหาราชวังและวัดประจำรัชกาลเฉพาะ เนื้อหาเป็นการแนะนำให้รู้จักพระที่นั่งต่างๆ ในพระบรมมหาราชวัง
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า เนื้อหาด้านศิลปวัฒนธรรมเน้นส่วนกลางเป็นหลัก มีเพียงแบบเรียนของศธ.เท่านั้นที่กล่าวถึงมหรสพไทย 4 ภาค
แบบเรียนของ อจท. และ พว.กล่าวถึงปัจจัยที่ส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองในสมัยรัตนโกสินทร์ด้วยว่า ประกอบด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์ซึ่งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาที่อุดมสมบูรณ์ อจท. ระบุว่า ยังมาจากการที่ “…ประเทศไทยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งชาติ…” และ “…คนไทยมีรอยยิ้มที่เป็นมิตรทำให้ชาวต่างชาติประทับใจและเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น คนไทยเป็นคนที่มีคุณธรรม มีน้ำใจ ซื่อสัตย์ กตัญญู มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่น…” ส่วน พว.ระบุว่า มีปัจจัยทางการเมืองที่ “…พระมหากษัตริย์ของไทยทุกพระองค์ต่างมีพระปรีชาสามารถในการปกครองดูแลประเทศและราษฎรให้มีความสุขร่มเย็น เมื่อถึงคราวต้องเผชิญกับการรุกรานของต่างประเทศ พระมหากษัตริย์ของไทยก็ทรงป้องกันและดำเนินนโยบายเพื่อรักษาเอกราชของไทยไว้ได้…”
ในหน่วยการเรียนรู้ที่ว่าด้วยบุคคลสำคัญสมัยรัตนโกสินทร์ ขณะที่แบบเรียนของ ศธ.เสนอเรื่องราวของรัชกาลที่ 3 และท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร สำนักพิมพ์อื่นๆ เสนอเนื้อหาตรงกันคือ รัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท โดยที่วพ.มีเรื่องของรัชกาลที่ 4 เพิ่มเติมด้วย
ประเทศเพื่อนบ้าน
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ต้องเรียนรู้เรื่องประเทศเพื่อนบ้านในปัจจุบันด้วย ทุกสำนักพิมพ์มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศ กัมพูชา เมียนมา ลาว มาเลเซีย ส่วนแบบเรียนของอจท.มีเรื่องของทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่เป็นการอธิบายข้อมูลทางภูมิศาสตร์ สภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง แบบเรียนของ ศธ.กล่าวถึงการเรียกร้องเอกราชจากชาติตะวันตก ส่วนแบบเรียนของ พว.อธิบายเรื่องการเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมา และสงครามกลางเมืองในกัมพูชา รวมทั้งการนำเสนอความเหมือนและความแตกต่างระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านด้านภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง ภาษา ขณะที่ไม่ปรากฏประเด็นนี้ในสำนักพิมพ์อื่น
ด้านความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน แบบเรียนทุกสำนักพิมพ์นำเสนอประวัติความเป็นมาของสมาคมอาเซียนและความร่วมมือด้านต่างๆ
หน้าที่พลเมือง
แบบเรียนรายวิชาเพิ่มเติม หน้าที่พลเมือง 6 ป.6 ซึ่งมีทั้งเพียงสามสำนักพิมพ์ คือ วัฒนาพานิช (วพ.) สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) และอักษรเจริญทัศน์ (อจท.) โดยจัดอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม มีเนื้อหาประกอบด้วย 5 หัวข้อใหญ่ คือ 1.ความเป็นไทย 2.ความรักชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ 3.การเป็นพลเมืองดี 4.ความปรองดองสมานฉันท์ และ 5.ความมีวินัย
ความเป็นไทย
ในหัวข้อความเป็นไทย ประกอบด้วยมารยาทไทย ซึ่งมีรายละเอียดคือ การแสดงความเคารพ การสนทนา การปฏิบัติตนตามกาละเทศะ และการต้อนรับผู้มาเยือน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาไทย
โดยในหัวข้อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งสามสำนักพิมพ์กล่าวถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะที่ อจท. มีการกล่าวเพิ่มเติมว่า “การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นการแสดงความกตัญญูรูปแบบหนึ่งที่คนไทยควรปฏิบัติ โดยเริ่มต้นจากตัวเราและชักชวนให้คนรอบข้างได้ปฏิบัติตามเพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคงอยู่กับเราตลอดไป”
ความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
ในหัวข้อความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แบบเรียนทั้งหมดระบุว่า ทำได้โดยการใช้สินค้าไทย การดูแลรักษาโบราณสถานและโบราณวัตถุ การรักษาสาธารณสมบัติ การปฏิบัติตนเป็นศาสนิกชนที่ดี การปฏิบัติตนตามพระราชจริยวัตรและพระจริยวัตร พระบรมราโชวาท และหลักการทรงงาน
โดยในหัวข้อนี้ จะอ้างถึงพระราชจริยวัตร หลักการทรงงาน และพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ร.9) โดยแบบเรียนของ วพ. ระบุถึงพระราชจริยวัตรของ ร.9 ว่า “พระองค์ได้เสด็จออกไปปฏิบัติพระราชกิจประจำ โดยเสด็จเยี่ยมราษฎรไปในถิ่นทุรกันดารต่างๆ ด้วยความเสียสละ ความอดทน ความเพียรพยายาม” พร้อมยกตัวอย่างพระบรมราโชวาทของร.9 เรื่องการเสียสละ ตอนหนึ่งว่า “…อาชีพทหาร ถือว่าเป็นอาชีพที่ต้องเสียสละ และการที่ท่านสมัครเข้ารับราชการเป็นทหารนั้น ย่อมหมายความว่า ท่านพร้อมแล้วที่จะเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อส่วนรวม การบำเพ็ญตนเกี่ยวกับการเสียสละซึ่งจะทำให้บังเกิดผลอย่างแท้จริงจะต้องอาศัยความซื่อสัตย์สุจริต สามัคคี ความเคารพเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา และควรมีเมตตากรุณาต่อผู้น้อยเป็นหลักปฏิบัติหน้าที่…”
พว. ระบุถึงพระราชจริยวัตรของร.9 เรื่องการประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ระบุว่าทรงเป็นแบบอย่างทั้งด้านความเสียสละ อดทน เพียรพยายาม เรียบง่าย มัธยัสถ์ ทรงชี้แนะแนวทางให้คนไทยปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต “…ทรงเป็นแบบอย่างความพอเพียงตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เช่น พระองค์ไม่ทรงซื้อของเล่นที่มีราคาสูงกว่าทรัพย์ที่มี ทรงจักรยานไปโรงเรียนแทนการสำเร็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์ ทรงใช้สิ่งของอย่างประหยัดและรู้คุณค่า เช่น ยาสีพระทนต์ (ยาสีฟัน) พระองค์ทรงใช้จนหมดหลอด โดยทรงใช้ด้ามแปรงสีพระทนต์รีดและกดบริเวณคอหลอดจนบุ๋ม ฉลองพระองค์และฉลองพระบาททรงใช้งานนานหลายปี เมื่อชำรุดทรงส่งซ่อมแซมให้ใช้ต่อไปได้” พร้อมภาพประกอบหลอดยาสีพระทนต์
ส่วนแบบเรียนของ อจท. ระบุว่า “พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ทรงมีพระราชจริยวัตรที่ควรนำมาเป็นแบบอย่างหลายประการ เช่น พระราชจริยวัตรเกี่ยวกับความประหยัดและพอเพียงของรัชกาลที่ 9 โดยพระองค์ทรงใช้ยาสีพระทนต์จนหลอดแบนราบเรียบ ทรงใช้ดินสอจนหมดแท่ง”
ส่วนหลักการทรงงานนั้น แบบเรียนของทั้งสามสำนักพิมพ์ ระบุถึงหลักการทรงงานของ ร.9 ที่นักเรียนควรศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติ 2 เรื่องคือ หลักการองค์รวม โดยยกตัวอย่างทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ โดยการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ และการทำให้ง่าย ขณะที่เรื่องพระบรมราโชวาท ทั้งสามสำนักพิมพ์จะยกตัวอย่างพระบรมราโชวาทของ ร.9 เรื่องความใฝ่รู้และความกตัญญู
พลเมืองดี
ในบทเรื่องพลเมืองดี จะพูดถึงข้อตกลง กติกา กฎ ระเบียบ ในห้องเรียนและโรงเรียน บทบาทหน้าที่ของการเป็นสมาชิกที่ดีของห้องเรียนและโรงเรียน และกิจกรรมต่างๆ ของห้องเรียนและโรงเรียน
ในหัวข้อบทบาทหน้าที่ของการเป็นสมาชิกที่ดีของห้องเรียนและโรงเรียน ประกอบด้วยการเป็นผู้นำและการเป็นสมาชิกที่ดี การยึดถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ การใช้สิทธิและหน้าที่ และการใช้เสรีภาพอย่างรับผิดชอบ ซึ่งในหัวข้อย่อยเรื่องการใช้สิทธิและหน้าที่ ทั้ง วพ.และ พว. มีการให้นิยามสิทธิและหน้าที่ไว้ ตอนหนึ่ง วพ. ระบุว่า “หลายครั้งคนส่วนใหญ่มักนึกถึงสิทธิที่จะได้ สิทธิที่จะมีเพียงด้านเดียว แต่สิทธิในระบอบประชาธิปไตยนั้น ประชาชนมีสิทธิที่จะให้สิ่งที่ดี สิ่งที่มีประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติด้วย ซึ่งก็คือหน้าที่ สิทธิและหน้าที่เป็นสิ่งที่ต้องอยู่คู่กันอย่างสมดุลเสมอ บุคคลย่อมไม่อาจมีสิทธิได้หากไม่ทำหน้าที่”
ส่วน พว. ระบุว่า สิทธิและหน้าที่เป็นสิ่งที่ต้องใช้คู่กัน การอยู่ร่วมกันในห้องเรียนและโรงเรียน นักเรียนควรเคารพในสิทธิของผู้อื่น และปฏิบัติตนตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง ไม่ละเมิดในสิทธิและหน้าที่ของผู้อื่น ขณะที่ อจท. ไม่ได้นิยามสิทธิและหน้าที่ แต่ยกตัวอย่างสิทธิและหน้าที่ในโรงเรียน เช่น การใช้สิทธิเลือกหัวหน้าห้อง การปฏิบัติตามกฎของโรงเรียน
การปรองดอง
ในบทเรื่องการปรองดอง จะระบุถึง ความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรมในประเทศไทย การอยู่ร่วมกันอย่างสันติและการพึ่งพาซึ่งกันและกัน และปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และแนวทางแก้ปัญหาโดยสันติวิธี
โดยปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและแนวทางแก้ปัญหาโดยสันติวิธี มีการกล่าวถึงการละเมิดสิทธิและการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเรื่องการละเมิดสิทธิ วพ. ระบุว่า สาเหตุการละเมิดสิทธิ ได้แก่ ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม การกดขี่ข่มเหงทั้งจากภาครัฐบาลและจากประชาชนกันเอง การใช้อำนาจในทางมิชอบของภาครัฐบาล และการเลือกปฏิบัติ การใช้อำนาจทางเศรษฐกิจของผู้ที่มีฐานะดีกว่าต่อผู้ที่มีฐานะด้อยกว่า การขาดโอกาสทางการศึกษา ความยากจน ความอ่อนแอของกฎหมาย
ขณะที่ พว. ชี้ว่า ปัญหาที่พบมากที่สุดคือ การล่วงละเมิดทางเพศและการทำร้ายร่างกาย โดยระบุว่าสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีมีแนวโน้มสูงขึ้น
ส่วน อจท.ระบุว่า ตัวอย่างการละเมิดสิทธิ เช่น การละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกาย เช่น ทารุณและทำร้ายร่างกายเด็กและสตรี การค้ามนุษย์, การละเมิดสิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคล, การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา, การละเมิดสิทธิอันเป็นความลับส่วนบุคคล เช่น เผยแพร่ข้อมูลหรือคลิปส่วนตัวต่อที่สาธารณะ และการละเมิดสาธารณสมบัติของชาติ เช่น รุกที่ดินของรัฐ ป่าสงวนอันเป็นสาธารณสมบัติของชาติ เพื่อนำไปสร้างบ้านพัก ลักลอบตัดไม้ล่าสัตว์
เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้ง วพ. และ พว. มีการยกตัวอย่างเรื่องการเข้ามาดำเนินการของภาครัฐบาลในการรักษาสิ่งแวดล้อมอาจทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้ เช่น การรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำ ซึ่งอาจทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินของคนในพื้นที่ ออกกฎหมายห้ามใช้เครื่องมือประมงทุกชนิดในแหล่งน้ำจืดในฤดูวางไข่ ซึ่งอาจขัดแย้งกับคนในพื้นที่ที่ประกอบอาชีพประมง ส่วน อจท. ยกตัวอย่างกรณีบริษัทเอกชนซื้อที่ดินใกล้ชายทะเลเพื่อสร้างโรงงาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ทั้งด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมและการประกอบอาชีพ
ความมีวินัย
ในบทเรื่องวินัย ประกอบด้วย ความซื่อสัตย์สุจริต ความขยันหมั่นเพียร ความอดทน การใฝ่หาความรู้ การตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ และการยอมรับผลที่เกิดจากการกระทำของตนเอง โดยในแบบเรียนของ วพ. เรื่องการใฝ่หาความรู้ มีการยกตัวอย่างสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีในการใฝ่หาความรู้ ผ่านการสังเกต ถาม และบันทึก โดยชี้ว่า จากการติดตามข่าวในพระราชสำนัก จะเห็นว่า “พระองค์จะสังเกตสิ่งที่ทอดพระเนตรอย่างละเอียดลออ มีพระราชดำรัสซักถามข้อสงสัยจากผู้ที่นำทอดพระเนตร และพระองค์ทรงจดบันทึกข้อความรู้ที่ทรงได้รับไว้ในแฟ้มหรือสมุดบันทึกที่ทรงถือติดพระหัตถ์ไว้ตลอดเวลา”