ในประเด็นเรื่องสัดส่วนชาย-หญิง ของผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ปี 2563 ในครั้งนี้ จากข้อมูลของ Rocket Media Lab บริษัททำงานด้านข้อมูลเพื่อการสื่อสารมวลชน พบว่า จากจำนวนผู้สมัครนายก อบจ. ทั่วประเทศ ทั้งหมด 332 คน มีผู้สมัครเพศชาย 283 คน คิดเป็น 85.24% และผู้สมัครเพศหญิง 49 คน คิดเป็น 14.76 %
และเมื่อแยกเป็นรายพรรค โดยสันนิษฐานสังกัดจากการสืบค้นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง โดยอาศัยข้อมูลจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนจนถึงต้นเดือนธันวาคม 2563 พบว่า พรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. เพศหญิงมากที่สุดคือ พรรคภูมิใจไทย 8 คน รองลงมาคือ พรรคเพื่อไทย 7 คน พรรคพลังประชารัฐ 6 คน คณะก้าวหน้า 4 คน พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 1 คน พรรคเสรีรวมไทย 1 คน พรรคคลองไทย 1 คน และผู้สมัครอิสระ/นักการเมืองท้องถิ่น 18 คน
โดยหากแยกเป็นภาค พบว่า ภาคเหนือ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ทั้งหมด 40 คน เป็นเพศชาย 36 คน คิดเป็น 90% และเพศหญิง 4 คน คิดเป็น 10% โดยพรรคที่ส่งผู้สมัครที่เป็นเพศหญิงสูงสุดคือพรรคเพื่อไทย จำนวน 3 คน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ทั้งหมด 111 คน เป็นเพศชาย 96 คน คิดเป็น 86.49% และเพศหญิง 15 คน คิดเป็น 13.51% โดยพรรคที่ส่งผู้สมัครที่เป็นเพศหญิงสูงสุดคือพรรคภูมิใจไทย จำนวน 5 คน
ภาคกลาง มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ทั้งหมด 89 คน เป็นเพศชาย 71 คน คิดเป็น 79.78% และเพศหญิง 18 คน คิดเป็น 20.22% โดยพรรคที่ส่งผู้สมัครที่เป็นเพศหญิงสูงสุดคือพรรคภูมิใจไทย จำนวน 3 คน
ภาคตะวันออก มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ทั้งหมด 25 คน เป็นเพศชาย 20 คน คิดเป็น 80% และเพศหญิง 5 คน คิดเป็น 20% โดยพรรคที่ส่งผู้สมัครที่เป็นเพศหญิงสูงสุดคือคณะก้าวหน้า จำนวน 3 คน
ภาคตะวันตก มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ทั้งหมด 14 คน เป็นเพศชาย 11 คน คิดเป็น 78.57% และเพศหญิง 3 คน คิดเป็น 21.43% โดยพรรคที่ส่งผู้สมัครที่เป็นเพศหญิงสูงสุดคือคณะก้าวหน้าและพรรคเพื่อไทย จำนวนพรรคละ 1 คน และอีก 1 คนคือผู้สมัครอิสระ/นักการเมืองท้องถิ่น
ภาคใต้ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ทั้งหมด 53 คนเป็นเพศชาย 49 คน คิดเป็น 92.45% และเพศหญิง 4 คน คิดเป็น 7.55% โดยพรรคที่ส่งผู้สมัครที่เป็นเพศหญิงสูงสุดคือพรรคประชาธิปัตย์ พรรคคลองไทยและพรรคพลังประชารัฐจำนวนพรรคละ 1 คน และอีก 1 คนคือผู้สมัครอิสระ/นักการเมืองท้องถิ่น
ภาพรวม
จากข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า ภาคที่มีสัดส่วนผู้สมัครเพศหญิงมากที่สุดก็คือภาคตะวันตก จำนวน 3 คน หรือคิดเป็น 21.43% ในขณะที่ภาคใต้มีสัดส่วนน้อยที่สุด คือ 4 คน คิดเป็น 7.55%
โดยหากเปรียบเทียบกับตำแหน่งนายก อบจ. ก่อนหน้านี้ พบว่า นายก อบจ. ทั้ง 76 จังหวัด มีนายก อบจ. ที่เป็นเพศชาย 67 คน คิดเป็น 88.16% และเป็นเพศหญิง 9 คน คิดเป็น 11.84%
และหากเปรียบเทียบกับจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2562 พบว่า ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2562 มีผู้สมัครรับเลือกตั้งในแบบ ส.ส.เขตทั้งหมด 11,181 คน แบ่งเป็นผู้สมัครเพศชาย จำนวน 8,702 คน คิดเป็น 77.83% และมีผู้สมัครที่เป็นเพศหญิง จำนวน 2,479 คน คิดเป็น 22.17%
โดยพรรคการเมืองที่ส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเพศหญิง ในแบบ ส.ส.เขต มากที่สุด เรียงตามลำดับคือ พรรคไทยรักธรรม 134 คน พรรคประชาชนปฏิรูป 112 คน พรรคมหาชน 100 คน พรรคอนาคตใหม่ 56 คน พรรคประชาธิปัตย์ 55 คน พรรคพลังประชารัฐ 54 คน พรรคชาติพัฒนา 48 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 42 คน พรรคภูมิใจไทย 42 คน และพรรคเพื่อไทย 33 คน ฯลฯ
และจากผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนแทนราษฎร 2562 พบว่าจากสมาชิกสภาผู้แทนแทนราษฎร ที่ได้รับการเลือกตั้งทั้งหมด 498 คน เป็นเพศชาย 420 คน คิดเป็น 84.34% เพศหญิง 78 คน คิดเป็น 15.66% โดย ส.ส. หญิงทั้ง 78 คนนั้นแบ่งเป็น ส.ส.เขต จำนวน 53 คน และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จำนวน 25 คน (จากจำนวนทั้งหมด 149 คน คิดเป็น 16.79%) ซึ่งพรรคการเมืองที่มี ส.ส.หญิงมากที่สุด เรียงลำดับดังนี้ พรรคพลังประชารัฐ 22 คน พรรคเพื่อไทย 21 คน พรรคอนาคตใหม่ 14 คน พรรคประชาธิปัตย์ 9 คน พรรคภูมิใจไทย 4 คน พรรคเพื่อชาติ 2 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 2 คน พรรคเสรีรวมไทย 2 คน พรรคพลเมืองไทย 1 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน
ในขณะที่การสรรหาสมาชิกวุฒิสภาที่ผ่านมา พบว่า จากจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการคัดเลือกทั้งหมด 250 คน มีเพศชาย 224 คน คิดเป็น 89.6% และมีเพศหญิง 26 คน คิดเป็น 10.4%
ผู้หญิงกับพื้นที่ทางการเมือง
ประเด็นเรื่องสัดส่วนของผู้หญิงในพื้นที่การเมือง มีการพูดถึงมาโดยตลอด ไม่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น มีประเทศที่เคยมีผู้นำหญิงขึ้นมาบริหารประเทศแล้วถึง 87 ประเทศ และในปัจจุบันมีผู้นำหญิงทำหน้าที่ผู้บริหารประเทศกว่า 20 คน ทั้งในประเทศ เยอรมนี ไอซ์แลนด์ บังกลาเทศ นอร์เวย์ นิวซีแลนด์ หรือไต้หวัน
องค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ (IPU) ได้เปิดเผยข้อมูลสัดส่วนการมีส่วนร่วมในพื้นที่ทางการเมืองของผู้หญิง โดยพิจารณาจากจำนวนที่นั่งทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาล่าสุด พบว่าประเทศที่มีสัดส่วนการมีส่วนร่วมในพื้นที่ทางการเมืองของผู้หญิงมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ก็คือ ประเทศรวันดา โดยมีผู้หญิงนั่งในสภาจำนวน 49 คน จากทั้งหมด 80 ที่นั่ง หรือคิดเป็น 61.3% ตามมาด้วยประเทศคิวบาและโบลิเวีย ในขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้หญิงที่นั่งในสภาเพียง 5.3% เท่านั้น (ข้อมูลในปี 2561 ก่อนการเลือกตั้ง) อยู่ในอันดับที่ 184 ของโลก
แม้ตัวเลขของผู้หญิงในพื้นที่การเมืองอาจจะไม่ได้การันตีว่าผู้หญิงที่เข้าไปทำงานการเมืองจะเป็นกระบอกเสียงในการผลักดันประเด็นปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ หรือปัญหาผู้หญิงและเด็กเสมอไป แต่ในขณะเดียวกันจำนวนและสัดส่วนของผู้หญิงในพื้นที่ทางการเมืองก็ยังมีความสำคัญ เช่น ในประเทศไทย หาก ส.ส. หญิงสามารถรวมตัวกันได้ 20 คน ก็สามารถเสนอกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้หญิงและเด็กได้
สำหรับในต่างประเทศ ที่เยอรมนี มีความพยายามออกกฎหมายที่เรียกว่า Parity Act หรือกฎหมายที่กำหนดให้พรรคการเมืองระดับท้องถิ่นต้องเพิ่มจำนวนนักการเมืองหญิงในระบบปาร์ตี้ลิสต์ให้มากได้เท่ากับนักการเมืองชาย เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศในรัฐสภา โดยเฉพาะในรัฐบรันเดินบวร์ค ที่พยายามผลักดันกฎหมายนี้ออกมาใช้ในการเลือกตั้งในปี 2567 แต่กฎหมายฉบับนี้ก็ถูกตีตกไปด้วยการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญของเยอรมนี
ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น ตั้งเป้าจะให้โควต้า 35% สำหรับผู้สมัครสมาชิกรัฐสภาที่เป็นหญิงให้ได้ภายในปี 2568 โดยจะมีการกำหนดเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม เพื่อช่วยเพิ่มความเท่าเทียมกันทางเพศในพื้นที่ทางการเมือง โดยจากรายงานของ Inter-Parliamentary Union ในสภาล่างของญี่ปุ่นนั้น จากจำนวนผู้ร่างกฎหมายทั้งหมด 465 คนมีผู้หญิงเพียง 46 คน หรือคิดเป็น 9.9% และอยู่ในอันดับที่ 167 จาก 190 ประเทศในการจัดอันดับสัดส่วนการมีส่วนร่วมในพื้นที่ทางการเมืองของผู้หญิงในแต่ละประเทศทั่วโลก
หมายเหตุ:
สามารถดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://tinyurl.com/pao-candidates