แม้ว่าการเลือกตั้ง อบจ. ในวันที่ 1 ก.พ. 2568 จะมีเพียง 47 จังหวัดที่จะมีการเลือกตั้ง นายก อบจ. แต่ถึงอย่างนั้นก็จะมีการจัดการเลือกตั้งทั้ง 76 จังหวัด เพราะต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ซึ่งหมดวาระพร้อมกันทั่วประเทศ โดยจะมี 47 จังหวัดเท่านั้นที่จะมีการเลือกตั้งทั้ง นายก อบจ. พร้อมกันกับ ส.อบจ. ในขณะที่อีก 29 จังหวัดมีการจัดการเลือกตั้งนายก อบจ. ไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งมาจากการที่นายก อบจ. ลาออกก่อนหมดวาระ 26 จังหวัด และจากคำพิพากษาของศาล/มติ กกต. อีก 3 จังหวัด แยกเป็น การเลือกตั้งในปี 2565 จำนวน 2 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ปี 2566 จำนวน 2 จังหวัด คือ สระแก้ว และกาญจนบุรี และปี 2567 จำนวน 25 จังหวัด
Rocket Media Lab พาไปดูตัวเลขงบประมาณที่ตั้งไว้สำหรับการจัดการเลือกตั้ง อบจ.จากข้อบัญญัติงบประมาณ ปี 2568
เลือกตั้ง อบจ. ใช้งบประมาณเท่าไร จังหวัดไหนใช้งบมากที่สุด
การจัดการเลือกตั้ง อบจ. เป็นหน้าที่ของสำนักปลัด อบจ. ดังนั้น งบประมาณที่ใช้จึงมาจาก อบจ. เอง โดยในการทำงบประมาณประจำปีในแต่ละปี อบจ. จะประมาณการงบประมาณในการจัดการตั้งในปีนั้นๆ ไว้ในแผนงานบริหารงานทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งนายก อบจ. หรือ ส.อบจ. หากตำแหน่งว่างลง โดยในการจัดการเลือกตั้ง จะมีการใช้งบประมาณแบ่งคร่าวๆ เป็น 3 ส่วนคือ
- ค่าจัดการเลือกตั้ง อยู่ในรายจ่ายเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติราชการที่ไม่เข้าลักษณะรายจ่ายงบรายจ่ายอื่นๆ ของค่าใช้สอย ภายใต้งบดำเนินการในแผนงานบริหารงานทั่วไป
- ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ในการเลือกตั้ง อยู่ในค่าตอบแทน ภายใต้งบดำเนินการในแผนงานบริหารงานทั่วไป
- ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าพิมพ์บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
จากการรวบรวมข้อมูลของ Rocket Media Lab จากรายงานประมาณการรายจ่ายในข้อบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2568 ของ อบจ. ทั่วประเทศ โดยไม่รวม อบจ. แม่ฮ่องสอนที่ไม่มีการตั้งงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งไว้ในข้อบัญญัติงบประมาณ อบจ. ปี 2568 และ อบจ. กำแพงเพชร บึงกาฬ เลย และสมุทรสาคร ที่ไม่ตั้งงบค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ในการเลือกตั้งไว้ พบว่า ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง อบจ. ในปีงบประมาณ 2568 ประกอบด้วย ค่าจัดการเลือกตั้ง และค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ รวมเป็นเงิน 3,563,810,232 บาท
โดยจังหวัดที่มีการตั้งงบประมาณในการเลือกตั้ง อบจ. มากที่สุด 10 อันดับแรกคือ
ส่วนงบประมาณเฉพาะการจัดการเลือกตั้ง อบจ. ในปี 2568 อยู่ที่ 1,890,786,869 บาท
จังหวัดที่มีการตั้งงบประมาณการจัดการเลือกตั้ง มากที่สุด 10 อันดับแรกคือ
และค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ในการเลือกตั้ง มีการตั้งงบประมาณไว้ 1,673,023,363 บาท โดยจังหวัดที่มีการตั้งงบประมาณเฉพาะในส่วนของค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ในการเลือกตั้ง มากที่สุด 10 อันดับแรกคือ
งบประมาณเลือกตั้ง อบจ. 2568 แยกรายภาค
ลาออก เลือกตั้งใหม่ ภาระด้านงบประมาณของ อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้ง
จากการที่ พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด กำหนดการเริ่มนับระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของ นายก อบจ. และ ส.อบจ. แตกต่างกัน กล่าวคือ นายก อบจ. นับระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งจากการที่ตำแหน่งว่างลงด้วยเหตุใด ในขณะที่ ส.อบจ. มีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนับตามอายุที่เหลืออยู่ของสภา อบจ. จากการเลือกตั้งเข้ามาในครั้งแรกของสภา อบจ. โดยประเทศไทย ในช่วงที่ปกครองโดยคณะรัฐประหาร มีพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้น หลังจากนั้นจึงมีการจัดการเลือกตั้ง อบจ. พร้อมกันทั่วประเทศ ทั้งตำแหน่ง นายก อบจ. และ ส.อบจ. ในวันที่ 20 ธันวาคม 2563
นั่นหมายความว่าหาก นายก อบจ. ลาออก แล้วมีการเลือกตั้งใหม่ อายุงานของนายก อบจ. คนใหม่จะเท่ากับ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้งใหม่ แต่หาก ส.อบจ. ลาออก แล้วมีการเลือกตั้งซ่อม อายุงานของ ส.อบจ. ใหม่จะเหลือเท่ากับอายุงานที่เหลืออยู่ของสภา อบจ. จากการเลือกตั้งก่อนหน้านั้น ซึ่งคือ 20 ธันวาคม 2563 และหากอายุของสภาเหลือไม่ถึง 180 วัน กฎหมายก็เปิดช่องให้ไม่จัดการเลือกตั้งก็ได้
ยกตัวอย่างเช่น กรณีจังหวัดปทุมธานี ที่มีการเลือกตั้งตำแหน่งนายก อบจ. ถึง 2 ครั้งในปีเดียว ทั้งในกรณีที่ลาออกก่อนหมดวาระและกรณีที่กกต. สั่งให้เลือกตั้งใหม่ ก็พบว่า ในปี 2566 มีการตั้งงบประมาณในการเลือกตั้ง อบจ. ไว้ 2,279,435.71 บาท ส่วนในปี 2567 ซึ่งมีการเลือกตั้งใหม่ถึง 2 ครั้ง มีการตั้งงบประมาณไว้ที่ 79,000,000 บาท ส่วนในวันที่ 1 ก.พ. 2568 ที่ปทุมธานีก็ยังต้องมีการจัดการเลือกตั้ง ส.อบจ. อยู่ ก็มีการตั้งงบประมาณไว้ 89,000,000 บาท
จะเห็นได้ว่าเมื่อการเลือกตั้ง อบจ. เป็นความรับผิดชอบของ สำนักปลัด อบจ. งบที่ใช้ในการเลือกตั้งก็มาจากงบของ อบจ. เอง ซึ่งหากงบที่ตั้งไว้ในงบประมาณประจำปีไม่เพียงพอในการจัดการเลือกตั้ง อบจ. ก็ต้องใช้งบจากเงินสะสมของ อบจ. เอง และยิ่งมีการลาออกก่อนหมดวาระมากเท่าใด ก็ยิ่งต้องใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้งถี่มากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น ใน 26 จังหวัดที่ นายก อบจ. ลาออก จึงต้องใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง 2 รอบ คือ รอบแรกในการเลือกตั้ง นายก อบจ. ที่ลาออกก่อนหมดวาระและต้องจัดการเลือกตั้งก่อน 1 ก.พ. และรอบสอง คือการจัดการเลือกตั้ง ส.อบจ. ในวันที่ 1 ก.พ. 2568
ทั้งหมดนี้จึงก่อให้เกิดภาระด้านงบประมาณ ที่ อบจ. จะต้องเป็นผู้แบกรับ โดยเฉพาะหากงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งที่ตั้งไว้ในแผนงบประมาณประจำปีไม่เพียงพอ อบจ. ก็จะต้องใช้งบจากเงินสะสมของ อบจ. เองในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้ควรจะเป็นงบประมาณที่ถูกนำไปใช้ในการช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ
ประมาณการต้นทุนการจัดการเลือกตั้งต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1 คน อยู่ที่ 75 บาท
การเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้ จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ. 2568 ซึ่งแตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ และการเลือกตั้งอื่นๆ ที่มักจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ นำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการจัดเลือกตั้งในวันเสาร์นั้นจะทำให้ประชาชนที่อยู่ต่างถิ่นซึ่งต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาไปเลือกตั้งน้อยลง เนื่องด้วยการเลือกตั้ง อบจ. ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าและการเลือกตั้งนอกเขต และการเดินทางกลับไปเลือกตั้งในวันเสาร์นั้นจึงอาจจะสร้างภาระและความยากลำบากมากกว่า ไม่เพียงแค่นั้น การที่บางจังหวัดมีการเลือกตั้ง นายก อบจ. ไปแล้ว และในวันที่ 1 ก.พ. มีเพียงการเลือก ส.อบจ. เท่านั้น ก็อาจจะทำให้ประชาชนที่อยู่ต่างถิ่นไม่อยากเดินทางกลับไปภูมิลำเนาเพื่อเลือกตั้งอีกครั้งก็เป็นได้
จากการเลือกตั้ง อบจ. ที่ผ่านมาในปี 2563 พบว่ามีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ ประมาณ 29,016,536 ล้านคน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 46,610,759 ล้านคน คิดเป็น 62.25% เท่านั้น
หากนำงบประมาณการที่ตั้งไว้ในการจัดการเลือกตั้ง อบจ. ในปี 2568 ทั้งงบการจัดการเลือกตั้งและงบค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ โดยไม่รวมงบประมาณอื่นๆ เฉพาะจังหวัดที่มีการตั้งงบประมาณไว้ในการเลือกตั้งทั้งสองหมวด ในปี 2568 รวม 3,397,670,352 บาท หารด้วยจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เฉพาะในจังหวัดที่มีการตั้งงบประมาณการเลือกตั้งไว้ทั้งสองหมวด จำนวน 45,275,143 คน จะพบว่า ประมาณการต้นทุนการจัดการเลือกตั้งต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1 คน อยู่ที่ 75 บาท
การไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ย่อมส่งผลต่อการใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น และส่งผลต่อการกำหนดอนาคตการพัฒนาท้องถิ่นภายใต้การทำงานของ อบจ. ซึ่งประชาชนควรจะมีโอกาสได้เลือกผู้ที่จะเข้ามาทำงานพัฒนาพื้นที่ของตนได้อย่างมีอุปสรรคน้อยที่สุด
อ้างอิง:
รายงานประมาณการรายจ่ายจากข้อบัญญัติงบประมาณประจำปี 2568 ของ อบจ. ทั่วประเทศ (โดยไม่รวม อบจ. แม่ฮ่องสอนที่ไม่มีการตั้งงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งไว้ในข้อบัญญัติงบประมาณ อบจ. ปี 2568 และ อบจ. กำแพงเพชร บึงกาฬ เลย และสมุทรสาคร ที่ไม่ตั้งงบค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ในการเลือกตั้งไว้) รวบรวมโดย Rocket Media Lab
ข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ณ วันที่ 30 พ.ย. 2567 จากเว็บไซต์กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
ดูข้อมูลที่ งบประมาณการจัดการเลือกตั้ง อบจ. [ข้อมูลดิบ]
มีการอัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อ 9 ม.ค. 2568 เวลา 12.30 น.