จากกรณี พล.อ.พุฒิประสิทธิ์ จิระมะกร เจ้ากรมเสมียนตรา ทำการแทนปลัดกระทรวงกลาโหม มีหนังสือตอบกลับ ประธานคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร หลังขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับจำนวนนายทหารชั้นสัญญาบัตร ตั้งแต่ ระดับ พลตรี พลโท และพลเอก แยกตามเหล่าทัพ ว่า “จำนวนอัตรกำลังพลของกระทรวงกลาโหม เป็นข้อมูลกำหนดชั้น “ลับมาก” หากเปิดเผยทั้งหมดหรือบางส่วน จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอย่างร้ายแรง
Rocket Media Lab ชวนดูข้อมูลกำลังพลของกระทรวงกลาโหม จาก รายงานการศึกษาส่วนบุคคล เรื่อง การปรับลดกำลังพลของกระทรวงกลาโหม เพื่อมุ่งสู่กองทัพที่ทันสมัย จัดทำโดย พลตรี สถาพร กระแสร์แสน
![](https://rocketmedialab.co/wp-content/uploads/2025/02/Defense-personnel-820x1024.png)
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 194,498.73 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณที่ผ่านมากว่า 7,167 ล้านบาท แยกเป็นงบประมาณด้านบุคลากรจำนวน 107,439.04 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 55.24 สำหรับภารกิจพื้นฐาน จำนวน 43,705.67 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22.47 และสำหรับโครงการต่างๆ จำนวน 43,354.02 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 22.29 จากข้อมูลจะเห็นได้ว่างบประมาณของกระทรวงกลาโหมเกินกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณเป็นงบบุคลากร
โดยรายงานสถานภาพกำลังพลกระทรวงกลาโหม ประจำเดือน ก.พ. 2566 กองกรรมวิธีข้อมูล สำนักงานนโยบายและแผนการกำลังพล กรมเสมียนตรา พบว่า กองทัพบก มีกำลังพลมากที่สุด แบ่งเป็น น.สัญญาบัตร 34,259 คน น.ประทวน 102,611 คน พลทหาร 108,105 คน รวม 244,975 คน รองลงมาคือ กองทัพเรือ แบ่งเป็น น.สัญญาบัตร 13,691 คน น.ประทวน 27,711 คน พลทหาร 23,078 คน รวม 64,480 คน กองทัพอากาศ แบ่งเป็น น.สัญญาบัตร 12,197 คน น.ประทวน 18,108 คน พลทหาร 13,908 คน รวม 44,213 คน นอกจากนี้ยังมีในส่วนของ สำนักงานปลัด 7,540 และ กองบัญชาการกองทัพไทย อีก 20,173 คน
จากสถานภาพอัตรากำลังพลดังกล่าวข้างต้น (ยังไม่รวมอัตรากำลังพลประเภท ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ และนักเรียนทหาร) จะเห็นได้ว่ากระทรวงกลาโหมมีกำลังพลเกือบ 400,000 คน และมีขนาดกำลังคนเป็นลำดับที่ 2 ในส่วนราชการระดับกระทรวง ทั้งนี้ กระทรวงที่มีอัตรากำลังคนมากกว่า คือ กระทรวง สาธารณสุข ซึ่งมีอัตรากำลังคน จำนวน 555,186 คน (สำนักงาน ก.พ. : กำลังพลภาครัฐในฝ่ายพลเรือน 2564)
จากนั้นเมื่อพิจารณาการบรรจุกำลังพลกระทรวงกลาโหม ปี 2565 จาก กองกรรมวิธีและข้อมูล สำนักงานนโยบายและแผนการกำลังพล กรมเสมียนตรา แยกเป็นชั้นยศ จะพบว่าเป็น
- พล.อ. (พิเศษ) อัตรา 23 ตำแหน่ง บรรจุจริง 21 ตำแหน่ง
- พล.อ. อัตรา 155 ตำแหน่ง บรรจุจริง 93 ตำแหน่ง
- พล.ท. อัตรา 434 ตำแหน่ง บรรจุจริง 302 ตำแหน่ง
- พล.ต. อัตรา 1,329 ตำแหน่ง บรรจุจริง 971 ตำแหน่ง
- พ.อ.(พิเศษ) อัตรา 5,179 ตำแหน่ง บรรจุจริง 4,636 ตำแหน่ง
- พ.อ. อัตรา 5,323 ตำแหน่ง บรรจุจริง 6,724 ตำแหน่ง
- พ.ท. อัตรา 12,446 ตำแหน่ง บรรจุจริง 8,660 ตำแหน่ง
- พ.ต. อัตรา 23,749 ตำแหน่ง บรรจุจริง 7,836 ตำแหน่ง
- ร.อ. อัตรา 53,563 ตำแหน่ง บรรจุจริง 40,528 ตำแหน่ง
- จ.ส.อ.(พิเศษ) อัตรา 22,734 ตำแหน่ง บรรจุจริง 12,963 ตำแหน่ง
- จ.ส.อ. อัตรา 105,312 ตำแหน่ง บรรจุจริง 70,311 ตำแหน่ง
- ส.อ. อัตรา 184,858 ตำแหน่ง บรรจุจริง 80,321 ตำแหน่ง
โดยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมากระทรวงกลาโหมได้ดำเนินการปรับลด กำลังพลซึ่งเป็นข้าราชการทหารอย่างต่อเนื่องด้วยการดำเนินการต่างๆ หลายวิธี ได้แก่
- แผนการปรับลดนายทหารชั้นนายพล (อัตราพลตรี พลโท และพลเอก) ในตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ และนายทหารสัญญาบัตรชั้นยศพันเอก (พิเศษ) ในตำแหน่งนายทหาร ปฏิบัติการ ระยะ 20 ปี โดยกำหนดให้ปรับลดลงร้อยละ 50 จากอัตราที่มีอยู่ ณ ปีงบประมาณ 2551 ภายใน ปีงบประมาณ 2571 โดยมีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนนายทหารชั้นนายพลในตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิและ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ จากเดิม 768 นาย ให้เหลือ 384 นาย สำหรับการปรับลดนายทหารสัญญาบัตรตำแหน่ง นายทหารปฏิบัติการ จากเดิม 2,696 นาย ให้เหลือจำนวน 1,349 นาย
- โครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด (Early Retirement) จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดตามมติคณะรัฐมนตรี โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดตามมติ สภากลาโหม และโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดตามมติคณะกรรมการข้าราชการทหาร ซึ่งในปัจจุบัน โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดตามมติ ครม. ได้หมดวาระการดำเนินการไปแล้วตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 จึงเหลือดำเนินการอยู่ จำนวน 2 โครงการ ซึ่งหากผู้เข้าร่วมโครงการมีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด มีสิทธิได้รับการพิจารณาเสนอขอพระราชทานยศหรือเลื่อนยศสูงขึ้น 1 ชั้นยศ เป็นกรณีพิเศษ ในวันที่ 1 ตุลาคมของปีงบประมาณ จากสถิติตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 – 2565 มีกำลังพลเข้าร่วมโครงการมากถึง 57,845 นาย
- แนวทางการปฏิรูประบบบริหารจัดการกำลังพลของกระทรวงกลาโหม กำหนดแผนการ ปรับลดยอดกำลังพลนายทหารสัญญาบัตร นายทหารประทวน และพลอาสาสมัคร ของกระทรวงกลาโหม ลงร้อยละ 5 จากยอดที่บรรจุจริง ณ เดือนกันยายน 2563 จำนวน 237,624 โดยให้ทยอยปรับลดกำลังพล เป็นรายปีซึ่งจะทำให้มีเป้าหมายยอดกำลังพล จำนวน 227,410 นาย ภายในเดือนกันยายน 2570 คิดเป็น จำนวนกำลังพลที่จะต้องปรับลด จำนวน 11,794 นาย
- การนำทหารอาสาเข้ามาบรรจุทดแทนข้าราชการทหาร ซึ่งเป็นบุคคลที่ทำสัญญาจ้าง กับส่วนราชการของกระทรวงกลาโหม เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยกำลังรบและหน่วยสนับสนุนการรบ สามารถแต่งเครื่องแบบทหารและมีชั้นยศ ทหารอาสามีสัญญาจ้างวาระละ 4 ปี และสามารถต่อสัญญาได้ แต่รวมปฏิบัติงานไม่เกิน 8 ปีสิทธิประโยชน์เทียบเท่ากับทหารกองประจำการ รวมถึงมีสิทธิสอบคัดเลือกบรรจุ เป็นข้าราชการทหาร นอกจากนี้เมื่อครบสัญญาจ้างก็มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือ (ลักษณะเช่นเดียวกับเงิน บำเหน็จ) รวมถึงมีการติดต่อประสานหน่วยงานทั้งภาครัฐ/เอกชน เพื่อจัดหางานรองรับ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 โดยกระทรวงกลาโหมได้ลงนามทำสัญญาจ้างทหารอาสาเข้ามาปฏิบัติงานแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 1,037 นาย
- การนำข้าราชการพลเรือนกลาโหมซึ่งเป็นข้าราชการที่ไม่มียศทหารเข้ามาบรรจุทดแทน ข้าราชการทหารในตำแหน่งหรือสายงานที่ต้องใช้ความรู้และความชำนาญโดยเฉพาะ
- การปรับลดยอดการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการในกองประจำการในแต่ละปี ตามความจำเป็นและให้อยู่ในจำนวนที่เหมาะสมกับภารกิจ
อย่างไรก็ตามการดำเนินการปรับลดกำลังพลที่ผ่านมาของกระทรวงกลาโหมยังไม่สามารถปรับลดกำลังพลได้ตามเป้าหมาย
ที่มา
รายงานการศึกษาส่วนบุคคล เรื่อง การปรับลดกำลังพลของกระทรวงกลาโหม เพื่อมุ่งสู่กองทัพที่ทันสมัย จัดทำโดย พลตรี สถาพร กระแสร์แสน
![](https://rocketmedialab.co/wp-content/uploads/2021/03/rml@2x.png)