Connect with us

Hi, what are you looking for?

politics

ลองคำนวณ จำนวน ส.ส.เขต ’66 เวอร์ชั่น กกต. VS เวอร์ชั่นตัดผู้ไม่มีสัญชาติไทยออก

มี 8 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากสูตรที่รวมคนที่ไม่มีสัญชาติไทยของ กกต.

Photo by พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ (CC BY 2.0)

เนื้อหาทั้งหมดเป็นเนื้อหาก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเรื่องการคำนวณจำนวน ส.ส. ของ กกต. ในวันที่ 3 มีนาคม 2566

จากการที่ กกต. คำนวณ ส.ส. เขต โดยใช้จำนวนประชากรที่รวมผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ทำให้ 4 จังหวัดได้ ส.ส. เพิ่มจังหวัดละ 1 คน คือ เชียงใหม่ ตาก เชียงราย และสมุทรสาคร  ซึ่ง เชียงใหม่ ตาก เชียงราย เป็น 3 จังหวัดที่มีประชากรที่ไม่ใช่สัญชาติไทยมากที่สุดในประเทศ นอกจากนั้นยังเกิดผลที่ตามมาทำให้อีก 4 จังหวัด มี ส.ส. ลดลง จังหวัดละ 1 คน ซึ่งก็คือ นครศรีธรรมราช ลพบุรี ปัตตานี และอุดรธานี

กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด เพื่อเตรียมพร้อมรับการเลือกตั้ง 2566 ซึ่งคำนวณจำนวน ส.ส.เขต จากเดิม 350 เขต เป็น 400 เขต โดยต่อมา สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย และอดีต กกต. ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการคำนวณจำนวน ส.ส.ของ กกต. โดยอาจนำคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมานับรวมด้วยนั้น ล่าสุด กกต. ออกมาชี้แจงว่า มีการคำนวณเช่นนี้มาตลอดตั้งแต่ปี 2558 พร้อมอ้างอิงความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่สอดคล้องกับ กกต.ว่า การคำนวณจำนวนราษฎรนั้น ต้องคิดรวมคนที่อาศัยอยู่โดยชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด ไม่ว่าผู้นั้นจะมีสัญชาติไทย และไม่ว่าจะมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ 

ร็อกเกต มีเดีย แล็บ ชวนดูผลจากการคำนวณจำนวน ส.ส. ว่าหากนำตัวเลขจำนวนประชากรที่ตัดผู้ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยออก จะแตกต่างกับเวอร์ชั่นของ กกต. อย่างไรบ้าง

เปิดสูตรคำนวณแบบร็อกเกต มีเดีย แล็บ 

เมื่อพิจารณาตัวเลขประชากรที่ กกต. ใช้คำนวณ ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งรายจังหวัดในการเลือกตั้งปี 2566 พบว่า นำมาจากประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่องจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานทะเบียนราษฎร เมื่อ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งมีจำนวนประชากร 66,090,475 คน และแยกจำนวนราษฎรสัญชาติไทยและไม่ใช่สัญชาติไทยของแต่ละจังหวัดโดยในจำนวนนี้รวมประชากรที่มิใช่สัญชาติไทยไว้ 983,994 คนด้วย อย่างไรก็ตาม มาตรา 95 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 บัญญัติไว้ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย

ร็อกเกต มีเดีย แล็บ จึงทดลองคำนวณจำนวน ส.ส.เขต ในแต่ละจังหวัด ด้วยวิธีการเดียวกันกับ กกต. แต่ใช้ตัวเลขประชากรเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยทั้งประเทศ 65,106,481 คน หารด้วยจำนวนเขตเลือกตั้งทั้งหมด 400 เขต ได้ผลลัพธ์ประชากร 162,766 คนต่อ ส.ส. เขต 1 คน จากนั้นนำ ผลลัพธ์ประชากร 162,766 คน ไปหารจำนวนประชากรเฉพาะที่มีสัญชาติไทยในแต่ละจังหวัด ก็จะได้ผลลัพธ์เป็นจำนวน ส.ส. เขตในแต่ละจังหวัด รวมทั้งประเทศ 362 คน เหลือที่ต้องจัดสรรเพิ่มอีก 38 คน จึงนำเศษประชากรจากการหารในรอบแรกของแต่ละจังหวัดมาเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย แล้วเพิ่มจำนวน ส.ส.ให้ 38 จังหวัดที่มีเศษประชากรมากที่สุด อีกจังหวัดละ 1 คน จนได้ ส.ส. เขตรวมทั้งประเทศ 400 คน

ตัวอย่างเช่น จังหวัดกำแพงเพชร มีราษฎรสัญชาติไทย 707,173 คน เมื่อหารด้วย 162,766 ได้ผลลัพธ์ 4 คน เหลือเศษ 56,109 คน ซึ่งเมื่อจัดลำดับเศษเรียงทุกจังหวัดแล้ว กำแพงเพชรอยู่ในลำดับที่ 48 ไม่ได้ที่นั่งเพิ่มจากการหารเศษ จึงไม่ได้ ส.ส.เพิ่มขึ้น ดังนั้น จำนวน ส.ส.ของกำแพงเพชรเท่ากับ 4 คน

ส่วนจังหวัดสตูล มีราษฎรสัญชาติไทยรวม 324,763 คน เมื่อหารด้วย 162,766 ได้ผลลัพธ์ 1 คน เหลือเศษ 161,997 คน ซึ่งเมื่อเรียงลำดับเศษทุกจังหวัดแล้ว สตูลอยู่ในลำดับที่ 1 ได้ที่นั่งเพิ่มอีก 1 คน ดังนั้น จำนวน ส.ส.ของสตูลเท่ากับ 2 คน

โดย 38 จังหวัดที่มีเศษประชากรมากที่สุด ซึ่งทำให้ได้ ส.ส. เพิ่มอีกจังหวัดละ 1 คน (เรียงจากมากไปน้อย) ได้แก่ 

สตูล นราธิวาส อุทัยธานี เพชรบูรณ์ กาฬสินธุ์ ชัยนาท ขอนแก่น เพชรบุรี กระบี่ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ตรัง สระบุรี น่าน นนทบุรี เลย ชัยภูมิ พะเยา มหาสารคาม สงขลา อุตรดิตถ์ บุรีรัมย์ อ่างทอง ชลบุรี แพร่ พังงา ระยอง นครปฐม นครนายก บึงกาฬ สุโขทัย อุดรธานี สุราษฎร์ธานี ลพบุรี ภูเก็ต ปัตตานี แม่ฮ่องสอน และนครศรีธรรมราช

สวมหมวก กกต. คำนวณจำนวน ส.ส. เขต

จากการที่ กกต. คำนวณ ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งรายจังหวัดในการเลือกตั้งปี 2566 โดยใช้จำนวนประชากรรวมผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งมีจำนวนประชากร 66,090,475 คน หารด้วยจำนวนเขตเลือกตั้งทั้งหมด 400 เขต ได้ผลลัพธ์ประชากร 165,226 คนต่อ ส.ส. เขต 1 คน จากนั้นนำผลลัพธ์ประชากร 165,226 คน ไปหารจำนวนประชากรรวมแต่ละจังหวัด ก็จะได้ผลลัพธ์เป็นจำนวน ส.ส. เขตในแต่ละจังหวัด รวมทั้งประเทศ 360 คน เมื่อทำตามสูตรนี้ก็จะพบว่าเหลือจำนวน ส.ส. ที่ต้องจัดสรรเพิ่มอีก 40 คน จากนั้นจึงทดลองนำเศษประชากรจากการหารในรอบแรกของแต่ละจังหวัดมาเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย แล้วเพิ่มจำนวน ส.ส.ให้ 40 จังหวัดที่มีเศษประชากรมากที่สุด อีกจังหวัดละ 1 คน จนได้ ส.ส. เขตรวมทั้งประเทศ 400 คน ซึ่งได้ตัวเลข ส.ส. เขตในแต่ละจังหวัดตรงตามที่ กกต. ประกาศ  

โดย 40 จังหวัดที่มีเศษประชากรมากที่สุด ซึ่งทำให้ได้ ส.ส. เพิ่มอีกจังหวัดละ 1 คน (เรียงจากมากไปน้อย)  ตามสูตรของ กกต. ได้แก่

สตูล พระนครศรีอยุธยา อุทัยธานี สกลนคร นราธิวาส ชัยนาท เพชรบุรี นครราชสีมา กระบี่ เพชรบูรณ์ กาฬสินธุ์ น่าน เชียงราย สระบุรี ตรัง เลย เชียงใหม่ นนทบุรี ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ขอนแก่น พะเยา ชัยภูมิ แม่ฮ่องสอน มหาสารคาม อุตรดิตถ์ สงขลา ชลบุรี อ่างทอง พังงา แพร่ ระยอง นครปฐม นครนายก สมุทรสาคร บึงกาฬ บุรีรัมย์ ภูเก็ต สุโขทัย และสุราษฎร์ธานี

เวอร์ชั่นตัดผู้ไม่มีสัญชาติไทยออก

จากนั้นเมื่อนำจำนวน ส.ส. ในแต่ละจังหวัดตามการคำนวณของ กกต. และการคำนวณเฉพาะผู้ที่มีสัญชาติไทยตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น มาเปรียบเทียบกัน ผลปรากฏว่า มี 8 จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.แตกต่างกัน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก นครศรีธรรมราช ปัตตานี ลพบุรี สมุทรสาคร และอุดรธานี

โดยจังหวัดที่คำนวณแล้วได้จำนวน ส.ส.น้อยกว่าการคำนวณของ กกต. มี 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงรายลดลงจาก 8 เป็น 7 คน เชียงใหม่ลดลงจาก 11 เป็น 10 คน ตากลดลงจาก 4 เป็น 3 คน และสมุทรสาคร ลดลงจาก 4 เป็น 3 คน

ส่วนจังหวัดที่คำนวณแล้วได้จำนวน ส.ส. มากกว่าการคำนวณของ กกต. มี 4 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช เพิ่มจาก 9 เป็น 10 คน ลพบุรีเพิ่มจาก 4 เป็น 5 คน ปัตตานีเพิ่มจาก 4 เป็น 5 คน และอุดรธานีเพิ่มจาก 9 เป็น 10 คน

จำนวน ส.ส. ปี 2562 และจำนวน ส.ส. แต่ละจังหวัดที่แตกต่างกันจากวิธีคำนวณ 2 เวอร์ชั่น 

เมื่อย้อนดูผลการเลือกตั้งในปี 2562 ซึ่งมีจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตทั่วประเทศ 350 คน ในพื้นที่ 8 จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส. แตกต่างกันจากการใช้วิธีการคำนวณ ส.ส. สองแบบ พบว่า

กลุ่มที่ 1 ที่การคำนวณในเวอร์ชั่นของ กกต. ทำให้มีจำนวน ส.ส. มากขึ้นกว่าการคำนวณโดยใช้ประชากรเฉพาะที่มีสัญชาติไทย มีความน่าสนใจดังนี้

เชียงราย

ในการเลือกตั้งปี 2562 จากทั้งหมด 7 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทยครอง 5 ที่นั่ง ได้แก่ 1) วิสิษฐ์ เตชะธีราวัฒน์ 2) วิสาร เตชะธีราวัฒน์ 3) รังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ 4) พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน 5) ละออง ติยะไพรัช และพรรคอนาคตใหม่ 2 ที่นั่งได้แก่ 1) เอกภพ เพียรพิเศษ ซึ่ง และพีรเดช คำสมุทร 

จำนวน ส.ส. ‘62 : 7 ที่นั่ง

จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น กกต. : 8 ที่นั่ง

จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น เฉพาะสัญชาติไทย : 7 ที่นั่ง

เชียงใหม่ 

ในการเลือกตั้งปี 2562 ทั้งหมด 9 ที่นั่งเป็นของพรรคเพื่อไทย ได้แก่ 1) ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ 2) นพคุณ รัฐผไท 3) จักรพล ตั้งสุทธิธรรม 4) วิทยา ทรงคำ 5) สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ 6) จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ 7) ประสิทธิ์ วุฒินันชัย 8) สุรพล เกียรติไชยากร 9) ศรีเรศ โกฎคำลือ 

จำนวน ส.ส. ‘62 : 9 ที่นั่ง

จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น กกต. : 11 ที่นั่ง

จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น เฉพาะสัญชาติไทย : 10 ที่นั่ง

ตาก 

ในการเลือกตั้งปี 2562 ทั้งหมด 3 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐ ครอง 2 ที่นั่ง ได้แก่ ธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ และภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ 1 ที่นั่งคือ ภาคภูมิ บูลย์ประมุข 

จำนวน ส.ส. ‘62 : 3 ที่นั่ง

จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น กกต. : 4 ที่นั่ง

จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น เฉพาะสัญชาติไทย : 3 ที่นั่ง

สมุทรสาคร

ในการเลือกตั้งปี 2562 ทั้งหมด 3 ที่นั่ง

พรรคอนาคตใหม่ ครอง 2 ที่นั่ง ได้แก่ ทองแดง เบ็ญจะปัก และสมัคร ป้องวงษ์ พรรคพลังประชารัฐครอง 1 ที่นั่ง ได้แก่ จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ

จำนวน ส.ส. ‘62 : 3 ที่นั่ง

จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น กกต. : 4 ที่นั่ง

จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น เฉพาะสัญชาติไทย : 3 ที่นั่ง

ในขณะที่ในกลุ่มที่ 2 ที่การคำนวณในเวอร์ชั่นของ กกต. ทำให้มีจำนวน ส.ส. น้อยลงกว่าการคำนวณโดยใช้ประชากรเฉพาะที่มีสัญชาติไทย มีความน่าสนใจดังนี้

นครศรีธรรมราช 

ในการเลือกตั้งปี 2562 ทั้งหมด 8 ที่นั่ง แบ่งเป็นพรรคประชาธิปัตย์ 5 ที่นั่ง ได้แก่ 1) เทพไท เสนพงศ์ 2) ประกอบ รัตนพันธ์ 3) ชินวรณ์ บุณยเกียรติ 4) ชัยชนะ เดชเดโช 5) พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล และพรรคพลังประชารัฐ 3 ที่นั่งได้แก่ 1) รงค์ บุญสวยขวัญ 2) สัณหพจน์ สุขศรีเมือง 3) สายัณห์ ยุติธรรม 

จำนวน ส.ส. ‘62 : 8 ที่นั่ง

จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น กกต. : 9 ที่นั่ง

จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น เฉพาะสัญชาติไทย : 10 ที่นั่ง

ปัตตานี 

ในการเลือกตั้งปี 2562 ทั้งหมด 4 ที่นั่ง แบ่งเป็น พรรคประชาชาติ 2 ที่นั่งได้แก่ 1) อนุมัติ ซูสารอ และ 2) สมมุติ เบ็ญจลักษณ์ พรรคประชาธิปัตย์ 1 ที่นั่งได้แก่ อันวาร์ สาและ และพรรคภูมิใจไทย 1 ที่นั่งได้แก่ อับดุลบาซิม อาบู

จำนวน ส.ส. ‘62 : 4 ที่นั่ง

จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น กกต. : 4 ที่นั่ง

จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น เฉพาะสัญชาติไทย : 5 ที่นั่ง

ลพบุรี

ในการเลือกตั้งปี 2562 ทั้งหมด 4 ที่นั่ง แบ่งเป็น พรรคภูมิใจไทย 2 ที่นั่ง ได้แก่ 1) เกียรติ เหลืองขจรวิทย์ และ 2) มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช พรรคพลังประชารัฐ 1 ที่นั่งได้แก่ ประทวน สุทธิอำนวยเดช และพรรคเพื่อไทย 1 ที่นั่ง ได้แก่ อุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม

จำนวน ส.ส. ‘62 : 4 ที่นั่ง

จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น กกต. : 4 ที่นั่ง

จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น เฉพาะสัญชาติไทย : 5 ที่นั่ง

อุดรธานี 

ทั้งหมด 8 ที่นั่งเป็นของพรรคเพื่อไทย ได้แก่ 1) ศราวุธ เพชรพนมพร 2) อนันต์ ศรีพันธุ์ 3) ขจิตร ชัยนิคม 4) อาภรณ์ สาราคำ 5) จุฑาพัตธน์ เมนะสวัสดิ์ 6) จักรพรรดิ ไชยสาส์น 7) เกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม 8) เทียบจุฑา ขาวขำ

จำนวน ส.ส. ‘62 : 8 ที่นั่ง

จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น กกต. : 9 ที่นั่ง

จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น เฉพาะสัญชาติไทย : 10 ที่นั่ง

เวอร์ชั่นที่รวมประชากรที่ไม่ใช่สัญชาติไทย และเวอร์ชั่นที่คำนวณเฉพาะคนไทย มีนัยสำคัญอย่างไร?

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า เมื่อ กกต. ใช้จำนวนประชากรที่รวมผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยตามประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่องจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานทะเบียนราษฎร เมื่อ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งมีจำนวนประชากร 66,090,475 คน มาใช้ในการคำนวณจำนวน ส.ส. เขตในแต่ละจังหวัด จะทำให้จังหวัดที่มีจำนวนประชากรที่ไม่ใช่สัญชาติไทยจำนวนมาก มีจำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้น ซึ่งก็คือ เชียงใหม่  ตาก และเชียงราย  โดยทั้ง 3 จังหวัดนี้ ได้จำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นอีกจังหวัดละ 1 คน และทั้ง 3 จังหวัดนี้ ถือเป็นจังหวัดที่มีจำนวนประชากรที่ไม่ใช่สัญชาติไทยมากที่สุดในประเทศไทย 3 อันดับแรก โดยเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรที่ไม่ใช่สัญชาติไทย จำนวน 161,567 คน ตาก 137,410 คน และเชียงราย 132,515 คน

ในขณะที่กรณีจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ได้จำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นจากการใช้ตัวเลขประชากรที่รวมผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยของ กกต. พบว่าไม่ได้เป็นผลมาจากจำนวนผู้ที่ไม่สัญชาติไทยในจังหวัด เพราะสมุทรสาครมีประชากรที่ไม่มีสัญชาติไทยเพียง 32,568  คน แต่เป็นผลมาจากจำนวนเศษประชากรที่เหลือจากการหารเพื่อหาจำนวน ส.ส. พึงมี ที่สมุทรสาครมีเศษประชากรเหลือ 93,750 คน อยู่ในอันดับที่ 35 จาก 40 จังหวัดที่มีเศษประชากรเยอะที่สุด ทำให้ได้ ส.ส. เพิ่มอีก 1 คน ตามสูตรการคำนวณในเวอร์ชั่น กกต.

ผลจากจำนวน ส.ส. ที่เพิ่มจากการที่ กกต. ใช้สูตรการคำนวณที่รวมประชากรที่ไม่มีสัญชาติไทยในหลายจังหวัดจึงทำให้มี 4 จังหวัดได้ ส.ส. น้อยลงจังหวัดละ 1 คน ได้แก่  นครศรีธรรมราช ลพบุรี ปัตตานี และอุดรธานี

หากยึดตามเวอร์ชั่นของ กกต. จังหวัดใดมี ส.ส. เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งปี 2562 บ้าง

เมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งมี ส.ส.แบบแบ่งเขต 350 คน แต่ในปี 2566 มีจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้งสิ้น 400 คน พบว่า มี 43 จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้น โดยกรุงเทพฯ มีจำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 คน จาก 30 คนเป็น 33 คน รองลงมา เพิ่มขึ้นจังหวัดละ 2 คน คือ นนทบุรี จาก 6 เป็น 8 คน ชลบุรี จาก 8 เป็น 10 คน นครราชสีมา จาก 14 เป็น 16 คน บุรีรัมย์ จาก 8 เป็น 10 คน และเชียงใหม่จาก 9 เป็น 11 คน

จังหวัดที่มี ส.ส. เพิ่มขึ้น 1 คน มี 37 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ เชียงราย ตรัง ตาก นครนายก นครปฐม นครศรีธรรมราช นราธิวาส บึงกาฬ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พังงา เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ร้อยเอ็ด ระยอง เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี

ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่นี่

อ้างอิง

ประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่องจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานทะเบียนราษฎร เมื่อ 31 ธันวาคม 2565 https://stat.bora.dopa.go.th/stat/pk/pk_65.pdf

ข้อมูล ส.ส.ปี 2562 จากสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง

หมายเหตุ: 

1. มีการแก้ไขเนื้อหาและภาพเมื่อ 21 ก.พ. 2566 โดยแก้ไขจำนวนราษฎรจากเดิมที่อ้างอิงจำนวนประชากรไทยที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน รายเดือนธันวาคม 2565 จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2564 มาตรา 86 ที่บัญญัติให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง

2. ข้อมูลจำนวนประชากรในประเทศไทยมี 2 ชุด คือ จำนวนประชากรไทยที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านแยกรายอายุรายเดือน ธันวาคม 2565 จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร จากการตรวจสอบพบว่า ผลรวมประชากรทั้งหมดของแต่ละจังหวัดและทั้งประเทศของทั้งสองแหล่งข้อมูลมีจำนวนเท่ากัน 

แต่น่าสังเกตว่า ตัวเลขจำนวนผู้ไม่ใช่สัญชาติไทยต่างกัน เช่น  ในจำนวนประชากรไทยที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านแยกรายอายุรายเดือน ธันวาคม 2565 ระบุว่า จำนวนผู้ไม่ใช่สัญชาติไทยทั้งประเทศ 801,073 คน ขณะที่ในประกาศสำนักทะเบียนกลางฯ  ระบุว่า 983,994 คน หรือจังหวัดกรุงเทพมหานคร  ในจำนวนประชากรไทยที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านแยกรายอายุรายเดือน ธันวาคม 2565  ระบุว่า ผู้ไม่ใช่สัญชาติไทยมี 52,017 คน ในประกาศสำนักทะเบียนกลางฯ ระบุว่า 100,022 คน

อย่างไรก็ตาม เมื่อโทรศัพท์สอบถามกับเจ้าหน้าที่สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ได้รับคำอธิบายว่า จำนวนผู้ได้-ไม่ได้สัญชาติไทยเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ กรณีที่ต้องการจำนวนประชากรที่มีสัญชาติไทยและไม่ใช่สัญชาติไทยให้ยึดประกาศสำนักทะเบียนกลางเป็นหลัก ส่วนกรณีที่ต้องการใช้ข้อมูลจำนวนประชากรจำแนกรายอายุ ให้ใช้ข้อมูลจำนวนประชากรไทยที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านแยกรายอายุรายเดือน

คุณอาจสนใจ