Connect with us

Hi, what are you looking for?

environment

แก้ปัญหา PM2.5 ด้วยการทำห้องเรียนปลอดฝุ่นให้กับนักเรียนทั่วประเทศ จะต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่

ภาพจากเพจสำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.
  • จากรายงาน ปี 2566 ของยูนิเซฟ ชี้ว่าเด็กในประเทศไทยที่เผชิญความเสี่ยงสูงจากฝุ่น PM2.5 นั้นมีมากกว่าจำนวนเด็กที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางสภาพอากาศอื่นๆ เช่น น้ำท่วม คลื่นความร้อน และภัยแล้งเสียอีก และยังพบว่ามีเด็กกว่า 13.6 ล้านคนในประเทศไทย ได้รับผลกระทบรุนแรงจากฝุ่น PM2.5
  • กทม. มีนโยบายทำห้องเรียนปลอดฝุ่น ในโรงเรียน 429 แห่ง รวม 1,966 ห้อง ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2567 จำนวน 744 ห้อง คิดเป็น 38% ของทั้งหมด และอยู่ระหว่างดำเนินการปี 2568 จำนวน 1,222 ห้อง คิดเป็น 62% โดยในปี 2568 ใช้งบประมาณ 219,339,000 บาท 
  • หากนำจำนวนห้องเรียนของโรงเรียนในสังกัด กทม. และ สพฐ. ทั่วประเทศ มาคำนวณจัดซื้อเครื่องฟอกอากาศแบบตั้งพื้นที่เคลื่อนย้ายได้ โดยอ้างอิงราคาจัดซื้อจากหน่วยงานของรัฐในขนาดที่เหมาะสมกับห้องเรียน 1 ห้อง โดยมีราคาเครื่องละ 9,300 บาท ทั้งหมดจำนวน 357,558 ห้อง จะใช้งบประมาณ 3,315,989,400  บาท 
  • เท่ากับว่านักเรียน 1 คนใช้งบประมาณในการสร้างอากาศสะอาดคนละ 496 บาท หากคำนวณด้วยตัวเลขนี้กับจำนวกนักเรียนในสังกัดดการศึกษาอื่นที่เหลือทั้งประเทศ อีก 5,201,382 คนจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีก 2,579,885,472 บาท 
  • หากรวมถึงเด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ ทั้งในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำนวน 638,043 คน ในสังกัด กทม. อีก 17,231 คน ดังนั้น หากเปรียบเทียบงบประมาณจากการคำนวณ 496 บาทต่อนักเรียน 1 คน จะพบว่า รัฐจะต้องใช้งบประมาณจัดซื้อเครื่องฟอกอากาศสำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพิ่มขึ้นอีก 325,015,904 บาท 
  • รวมแล้วทั้งนักเรียนในสังกัดการศึกษาทุกสังกัดทั่วประเทศ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ จะต้องใช้งบประมาณ 6,220,890,776 บาท 

ฤดูกาลฝุ่น PM2.5 กลับมาอีกครั้ง ที่ผ่านมามีเด็กเล็กเจ็บป่วยด้วยโรคอันเป็นผลมาจาก PM2.5 เพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งเด็กเป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้ผลกระทบจากฝุ่นง่ายที่สุด โดยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีถือเป็นกลุ่มที่เปราะบางต่อมลพิษทางอากาศเป็นพิเศษ และไม่เพียงแค่เด็กเล็ก แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาได้ด้วย 

จากรายงาน Over the Tipping Point report ของ ยูนิเซฟ ในปี 2566 ชี้ว่าเด็กในประเทศไทยที่เผชิญความเสี่ยงสูงจากฝุ่น PM2.5 นั้นมีมากกว่าจำนวนเด็กที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางสภาพอากาศอื่นๆ เช่น น้ำท่วม คลื่นความร้อน และภัยแล้งเสียอีก ในขณะที่งานวิจัยของยูนิเซฟในปี 2566 พบว่ามีเด็กกว่า 13.6 ล้านคนในประเทศไทยได้รับผลกระทบรุนแรงจากฝุ่น PM2.5

ดังนั้น การแก้ไขปัญหา PM2.5 ด้วยความพยายามลดแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 แล้ว การจะต้องมีมาตรการเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางยังมีความสำคัญเฉพาะหน้ามากอีกด้วย

โครงการห้องเรียนปลอดฝุ่นคืออะไร? 

จากค่าฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มสูงขึ้นในกรุงเทพฯ จนก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ จนทำให้ภาครัฐมีมาตรการแก้ปัญหาเร่งด่วน โดยออกมาตรการขึ้นรถเมล์-รถไฟฟ้าฟรีทุกสายทาง 7 วัน ตั้งแต่ 25-31 มกราคม 2568 ซึ่งทางรัฐบาลจะชดเชยตามค่าเฉลี่ย 7 วัน รวมประมาณ 140 ล้านบาท โดยมาจากงบกลาง และในวันที่ 28 มกราคม 2568 มีรายงานว่ามีการเพิ่มงบประมาณจากเดิมที่ระบุไว้ 140 ล้านบาท เป็น 329.82 ล้านบาท แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามาตรการดังกล่าวอาจอาจไม่เห็นผล และไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ ซึ่งมีการหยิบยกการนำเอางบประมาณส่วนนี้ไปทำ ‘ห้องเรียนปลอดฝุ่น’ จะดีกว่า ว่าแต่ห้องเรียนปลอดฝุ่นคืออะไร 

ห้องเรียนปลอดฝุ่นเกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกแนวทางคู่มือการลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) พ.ศ. 2563 ซึ่งรูปแบบการจัดทำ Cleanroom หรือห้องปลอดฝุ่น ที่กรมอนามัยแนะนำคือ 1.ห้องปิดมิดชิด ป้องกันฝุ่นจากภายนอก แต่ไม่มีเครื่องฟอกอากาศ แต่ทั้งนี้หากเปลี่ยนไปใช้รูปแบบอื่นได้ก็แนะนำรูปแบบอื่นมากกว่า 2.ห้องแบบมีเครื่องฟอกอากาศ  3.ห้องที่มีเครื่องฟอกอากาศ และมีตัวระบายอากาศ มีแผ่นกรอง โดยกรมอนามัยชี้ว่าห้องแบบที่ 3 ที่มีเครื่องฟอกอากาศและตัวระบายอากาศเป็นรูปแบบห้องปลอดฝุ่นที่ดีที่สุด แต่อาจจะติดขัดด้านงบประมาณ

ห้องเรียนปลอดฝุ่น แต่เดิมชื่อโครงการว่า “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เน้นการออกแบบหลักสูตรเสริมการรับมือกับฝุ่นสภาวะวิกฤต สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย โดยให้ความรู้ในการรับมือกับฝุ่น PM2.5 สร้างความตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพต่อภาวะวิกฤตฝุ่นละออง สอนให้เด็กรับมือสถานการณ์ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน เสริมสร้างทักษะชีวิตให้กับเด็กและเยาวชน ซึ่งเริ่มต้นขึ้นที่ภาคเหนือ ต่อมามีโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะที่ 1 มีใน 32 โรงเรียน มี 7 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการและได้รับการประเมินว่าดีเลิศ คือ 1.โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ 2.โรงเรียนประชานิเวศน์ 3.โรงเรียนสุเหร่าใหม่ สำนักงานเขตสวนหลวง 4.โรงเรียนวัดวิมุตยาราม 5.โรงเรียนวัดราชบูรณะ 6.โรงเรียนวัดทองสัมฤทธิ์ และ 7.โรงเรียนวัดกันตทาราราม

อย่างไรก็ตาม การสอนให้รู้จักฝุ่น PM2.5 อย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ โครงการเรื่องห้องเรียนปลอดฝุ่นจึงถือกำเนิดขึ้น กล่าวได้ว่าไม่ใช่แค่สู้ฝุ่นเท่านั้น แต่ต้องปลอดฝุ่นด้วย ซึ่งปัจจุบันตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะให้ครบทั้ง 437 โรงเรียนในสังกัดกทม. ที่มีจำนวนห้องเรียนสำหรับเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 1-3 อายุระหว่าง 3-5 ขวบ จำนวน 1,743 ห้อง 

งบประมาณห้องเรียนปลอดฝุ่นของ กทม. ในปี 2568

เมื่อสำรวจแล้วจะพบว่าห้องเรียนปลอดฝุ่นนั้นอยู่ใต้โครงการ BKK Clean Air Area ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น ด้วยการปลูกต้นไม้ ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ และสร้างความตระหนักรู้ให้กับเยาวชน เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับฝุ่น PM2.5  มีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดฝุ่น ในพื้นที่เปิด กทม.ปลูกและสนับสนุนให้เอกชนปลูกต้นไม้ บำรุงรักษาต้นไม้ที่ช่วยดักจับและกรองฝุ่น ส่วนในพื้นที่ปิดมีการสนับสนุนการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ เน้นสถานที่ที่มีกลุ่มเปราะบาง และประชาชนหนาแน่น

โดย กทม. จะผลักดันให้ห้องเรียนของโรงเรียนในสังกัด กทม. มีเครื่องปรับอากาศและเครื่องฟอกอากาศในรูปแบบห้องปลอดฝุ่น (Cleaner air shelter) ซึ่งทำตามคำแนะนำของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยจะทำห้องตามมาตรฐานห้องปลอดฝุ่นรูปแบบ 2 กล่าวคือกั้นฝุ่นข้างนอกไม่ให้เข้ามาในห้องเรียน ด้วยการอุดรอยรั่วของห้อง เมื่ออุดแล้วก็ต้องกรองฝุ่นในห้องด้วยเครื่องฟอกอากาศ จึงจะกลายเป็นห้องปลอดฝุ่นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กนักเรียน 

และเมื่อสำรวจโครงการที่จะดำเนินงานในปีงบประมาณ 2568 จากเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของ กทม. นั้นจะพบว่ามีงบประมาณรายจ่ายประจำจำนวน 90,773,031,580 บาท  แบ่งเป็นด้านการศึกษา 1,669,198,373 บาท ซึ่งพบโครงการที่เกี่ยวข้องกับห้องเรียนปลอดฝุ่น ด้วยงบประมาณ 219,339,000 บาท แบ่งได้ดังนี้

  • โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น ชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ 14,250,000 บาท
  • โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น ชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง  6,190,000 บาท
  • โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น ชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ 21,170,000 บาท
  • โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น ชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงธนใต้ 25,130,000 บาท
  • โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น ชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ 3,570,000 บาท
  • โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น ชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก 55,790,000 บาท

ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำ TOR จำนวน 6 กลุ่มเขต กรุงเทพกลาง จำนวน 49 ห้อง กรุงเทพเหนือ จำนวน 126 ห้อง กรุงเทพใต้ จำนวน 29 ห้อง กรุงเทพตะวันออก จำนวน 437 ห้อง กรุงธนเหนือ จำนวน 140 ห้อง กรุงธนใต้ จำนวน 214 ห้อง รวมทั้งสิ้นจำนวน 995 ห้อง

ซึ่งแนวทางการดำเนินการปรับปรุงห้องระบบเปิดให้เป็นระบบปิด มีขนาดห้องเรียน 2 ขนาด กล่าวคือ ขนาดห้องเรียนที่มีพื้นที่มากกว่า 35 ตร.ม. และขนาดห้องเรียนที่มีพื้นที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 35 ตร.ม. โดยได้ทำการติดตั้งเครื่องปรับอากาศแบบแขวน ระบบ INVERTER พร้อมพัดลมระบายอากาศ เดินระบบ MAIN BREAKER ภายในห้อง ติดตั้งเครื่องวัดค่าคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 วัดสภาพอากาศ

แผนงานของ กทม.เรื่องห้องเรียนปลอดฝุ่นเป็นยังไงบ้าง

ทั้งนี้ เอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแผนงานในปี 2568 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2568 ว่า กทม.ร่วมกับโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นของ สสส. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม ได้ดำเนินโครงการสร้างการเรียนรู้สำหรับเยาวชนเพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพ ต่อภาวะวิกฤตฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีโรงเรียนในสังกัดเข้าร่วม 32 โรงเรียน และจะขยายความร่วมมือให้ครบ 437 โรงเรียน 

โดยโรงเรียนในสังกัด กทม.จะได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ การจัดทำเครื่องวัดคุณภาพอากาศ จำนวน 405 ชุด จากห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม ส่วนสำนักการศึกษาจะจัดซื้อตู้กันน้ำพลาสติก จำนวน 405 ชุด เพื่อนำมาประกอบเป็นเครื่องวัดคุณภาพอากาศ โดยส่งมอบเครื่องวัดคุณภาพอากาศให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครแล้ว 382 เครื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการส่งมอบจำนวน 17 เครื่อง และอยู่ระหว่างดำเนินการส่งประกอบ จำนวน 6 เครื่อง 

แต่ทั้งนี้ตามแนวทางคู่มือการลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละออง PM2.5 จากรายงานของ กทม. พบว่ามีจำนวนโรงเรียน 429 โรงเรียน 1,966 ห้อง ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้วในปี 2567 จำนวน 744 ห้อง คิดเป็น 38% ของทั้งหมด และอยู่ระหว่างดำเนินการปี 2568 จำนวน 1,222 ห้อง คิดเป็น 62% 

ทำไมห้องเรียนปลอดฝุ่นที่ กทม. เคยเสนอไปในปีงบ 2567 ถูกปัดตก

แม้จะเห็นความพยายามผลักดันโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่นในปี 2568 แต่เมื่อย้อนไปในปีงบประมาณ 2567 จะพบว่ามีการพยายามทำให้เกิดขึ้นมาแล้ว ทว่าถูกสภา กทม. ปัดตกไป

ย้อนกลับไปเมื่อ 7 กันยายน 2566 ในการประชุมงบเรื่อง ข้อบัญญัติงบประมาณกรุงเทพมหานคร ปี 2567 สภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบตัดงบโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่น (Clean air shelter) สำหรับเด็กอายุ 3-6 ขวบ ที่จะใช้งบประมาณ 219,339,000 บาท สำหรับโรงเรียน 429 โรงเรียน รวมจำนวนห้องเรียน 1,743 ห้องที่ต้องทำระบบฟอกอากาศ ทั่วทั้ง 50 เขต ในสภากรุงเทพมหานคร จากข้อบัญญัติงบประมาณกรุงเทพมหานคร ปี 2567 เนื่องจากมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ และโครงการโรงเรียนสู้ฝุ่นเดิม นำร่อง 32 แห่ง ที่ กทม. ดำเนินการอยู่ไม่มีการขยายผลต่อยอด 

เมื่อสืบดูแนวทางในการจัดการ พบว่าโครงการดังกล่าว กทม.จะติดตั้งเครื่องฟอกอากาศจำนวน 1,743 เครื่อง โดยได้รับงบประมาณในส่วนของงบครุภัณฑ์ 52.11 ล้านบาท รวมถึงจะปรับปรุงห้องเรียนใน 429 โรงเรียน รวม 1,743 ห้องเรียน โดยจะปรับปรุงห้องเรียนระบบเปิดให้กลายเป็นระบบปิด ในห้องเรียนขนาดเฉลี่ย 49-64 ตารางเมตร ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เครื่องวัดอากาศ เครื่องกรองอากาศและพัดลมระบายอากาศในห้องเรียน ซึ่งติดตามผลฝุ่นหรือคาร์บอนที่ลดได้ โดย กทม.ร่วมกับเอกชนในรูปแบบของซีเอสอาร์ 

ทั้งนี้แนวทางในการเลือกเครื่องปรับอากาศ คือเลือกขนาดไม่ต่ำกว่า 30,000 BTU จำนวน 2 เครื่อง เพราะเหมาะสมกับห้องเรียนขนาด 49-64 ตารางเมตร ความสูง 3.5 เมตร คำนวณจากค่าเฉลี่ยของห้องเรียนในโรงเรียนตามปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ขนาดของห้องและค่าคูลลิ่งโหลด หรือค่าความร้อนในแต่ละห้อง คือเป็นห้องเรียนที่มีเด็กนักเรียนอยู่จำนวนมาก และเปิดใช้งานในเวลากลางวัน แสงแดดส่องถึง โดยเลือกระบบอินเวอร์เตอร์ เนื่องจากประหยัดไฟได้มากกว่าปกติถึง 30% และทำงานเงียบกว่าแอร์ธรรมดา จึงไม่รบกวนสมาธิเวลาเรียนและการนอนกลางวันของเด็ก

โดยจะนำร่องด้วยห้องเรียนของนักเรียนชั้นอนุบาลก่อน เนื่องจากนักเรียนอนุบาลไม่สะดวกใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ซึ่งมีนักเรียนจำนวน 36,891 คน จึงตั้งงบประมาณไว้ที่ 219 ล้านบาท เฉลี่ยใช้เงิน 125,874 บาทต่อหนึ่งห้องเรียน เพื่อการดูแลสุขภาพของเด็กนักเรียนในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ไม่สามารถดำเนินได้ดังที่กล่าวไปข้างต้น เนื่องจากรายละเอียดในเอกสารที่ของบประมาณเข้ามาในขั้นตอนของการแปรญัตติ ในคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 นั้นไม่ครอบคลุม โดยนฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ โฆษกสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) ชี้ว่าเอกสารดังกล่าวมีข้อบกพร่องคือ มีการระบุห้องเรียนที่จะติดตั้งแอร์ขนาด 20 ตร.ม.ทุกห้องเรียน ไม่มีการระบุจำนวนผู้ใช้งาน 

ทั้งนี้เมื่อการพิจารณางบประมาณ กทม. ปี 2567 ไม่ผ่าน ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. ชี้ว่าได้กลับมาทบทวนโครงการ ตัวเลขที่แสดงในเอกสารมีข้อมูลหนึ่งที่เป็นค่าก่อผนังซึ่งเขียนว่า 20 ตร.ม. แต่จริงๆ แล้ว ตัวของห้องที่จะทำ มีขนาด 49-64 ตร.ม. จึงจำเป็นต้องใช้แอร์ 2 ตัว จึงจำเป็นต้องนำไปทบทวนกันต่อไป ด้านชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่าจะมีการนำเสนอโครงการอีกครั้งในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งปัจจุบันโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่นผ่านเรียบร้อย และกำลังเริ่มดำเนินการ

ชวนมาคำนวณดูเล่นๆ ว่าถ้าห้องเรียนทั่วประเทศจะปลอดฝุ่นได้ต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า หากจะจัดห้องเรียนปลอดฝุ่น จะต้องใช้งบประมาณ 3 ด้านด้วยกันคือ 1. การก่อสร้างเพื่อให้ห้องเรียนเป็นห้องปิด 2. การจัดซื้อและติดตั้งเครื่องปรับอากาศ 3. การจัดซื้อและติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ

อย่างไรก็ตาม ในการคำนวณครั้งนี้จะใช้เพียงเครื่องฟอกอากาศเท่านั้น ซึ่งปกติแล้วราคาเครื่องฟอกอากาศอ้างอิงตามราคาที่ระบุไว้ในบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ จะพบว่ามีราคา 47,000 บาท แต่เป็นเครื่องฟอกอากาศขนาดใหญ่แบบฝังใต้เพดาน หรือแบบติดผนัง ในการคำนวณครั้งนี้จะใช้เครื่องฟอกอากาศแบบเคลื่อนย้ายได้ ซึ่งบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ไม่มีราคากลางของเครื่องฟอกอากาศแบบเคลื่อนย้ายได้ ในการคำนวณครั้งนี้จึงจะอ้างอิงราคาเครื่องฟอกอากาศตั้งพื้นที่เคลื่อนย้ายได้ที่เหมาะกับห้องเรียนขนาดมาตรฐานตามรายงาน คือมีขนาด 49-64 ตารางเมตร โดยในส่วนของราคากลางนั้นอ้างอิงจากราคาการจัดซื้อนอกครุภัณฑ์ จากการจัดซื้อจัดจ้างที่มิใช่การก่อสร้างโดยวิธีวิธีเฉพาะเจาะจง เป็นราคากลางเครื่องฟอกอากาศตั้งพื้นที่เคลื่อนย้ายได้ สำหรับขนาดพื้นที่ 35-60 ตารางเมตร โดยกรมควบคุมโรค ในราคา 9,300 บาทต่อหน่วย

Rocket Media Lab ชวนมาคำนวณว่าหากต้องทำห้องเรียนปลอดฝุ่นให้เด็กนักเรียนทั่วประเทศ จะต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ โดยแบ่งเป็นจำนวนห้องเรียน* จำนวนโรงเรียน และงบประมาณที่ต้องใช้ ดังนี้

*จำนวนห้องเรียน หมายถึง ห้องสำหรับกิจกรรมการเรียน การสอน เช่น ห้องม.1/1 นับเป็น 1 ห้องเรียน ซึ่งปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กำหนดจำนวนนักเรียนใน 1 ห้องเรียนในระดับปฐมวัยไว้ที่ 30 คนต่อห้องเรียน ประถมศึกษา 40 คนต่อห้องเรียน และมัธยมศึกษา 40 คนต่อห้องเรียน

กทม. 

  1. โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร หมายถึง โรงเรียนที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร จากข้อมูล ปี 2566 พบว่า มี จำนวน 437 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียน 253,554 คน ซึ่งมีห้องเรียน 9,178 ห้อง หากซื้อเครื่องฟอกอากาศ 1 เครื่องต่อ 1 ห้องเรียนในราคา 9,300 บาท จะใช้งบประมาณ 85,355,400 บาท
  2. โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 160 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียน 246,541 คน และจำนวนห้องเรียน 7,447 ห้อง จะใช้งบประมาณ 69,257,100 บาท

ภาคเหนือ :  มีโรงเรียนภายใต้สังกัดสพฐ. จำนวน 3,214 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียน 591,709 คน จำนวน ห้องเรียน 33,354 ห้องเรียน หากซื้อเครื่องฟอกอากาศ1 เครื่องต่อ 1 ห้องเรียนในราคา 9,300 บาท จะใช้งบประมาณ 310,192,200 บาท

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : มีโรงเรียนภายใต้สังกัดสพฐ. จำนวน 13,100 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียน 2,300,793 คน จำนวนห้องเรียน 138,811 ห้อง หากซื้อเครื่องฟอกอากาศ 1 เครื่องต่อ 1 ห้องเรียนในราคา 9,300 บาท จะใช้งบประมาณ 1,290,942,300 บาท

ภาคกลาง :  มีโรงเรียนภายใต้สังกัดสพฐ. จำนวน 5,594 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียน 1,341,515 คน จำนวนห้องเรียน 67,125 ห้อง หากซื้อเครื่องฟอกอากาศ 1 เครื่องต่อ 1 ห้องเรียนในราคา 9,300 บาท จะใช้งบประมาณ 624,262,500 บาท

ภาคตะวันออก : มีโรงเรียนภายใต้สังกัดสพฐ. จำนวน 1,703 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียน 528,925 คน จำนวนห้องเรียน  22,695 ห้อง หากซื้อเครื่องฟอกอากาศ 1 เครื่องต่อ 1 ห้องเรียนในราคา 9,300 บาท จะใช้งบประมาณ 211,063,500 บาท

ภาคตะวันตก : มีโรงเรียนภายใต้สังกัดสพฐ. จำนวน 1,508 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียน 379,403 คนจำนวนห้องเรียน 18,259 ห้อง หากซื้อเครื่องฟอกอากาศ 1 เครื่องต่อ 1 ห้องเรียนในราคา 9,300 บาท จะใช้งบประมาณ 169,808,700 บาท

ภาคใต้ : มีโรงเรียนภายใต้สังกัดสพฐ. จำนวน 4,170 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียน 977,349 คน จำนวนห้องเรียน 48,096 ห้อง หากซื้อเครื่องฟอกอากาศ 1 เครื่องต่อ 1 ห้องเรียนในราคา 9,300 บาท จะใช้งบประมาณ 447,292,800 บาท

และโรงเรียนสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการประกอบไปด้วยโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนเฉพาะความพิการและศูนย์ศึกษาพิเศษทั่วประเทศ จำนวน 184 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียน 71,932 คน จำนวนห้องเรียน 11,593 ห้อง หากซื้อเครื่องฟอกอากาศ 1 เครื่องต่อ 1 ห้องเรียนในราคา 9,300 บาท จะใช้งบประมาณ 107,814,900 บาท

ดังนั้น หากรวมงบประมาณจากการคำนวณในครั้งนี้ทั้งพื้นที่ กทม. ที่รวมทั้งโรงเรียนในสังกัด กทม.และ สพฐ. รวมไปถึงโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคใต้ และโรงเรียนสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ซึ่งมีห้องเรียนรวมกันทั้งหมดจำนวน 356,558 ห้อง จะใช้งบประมาณ 3,315,989,400  บาท 

ค่าอากาศสะอาด 496 บาทเพื่อนักเรียนทั่วประเทศ

จากตัวเลขที่ลองคำนวณดูนั้น หากต้องทำห้องปลอดฝุ่นโดยการจัดซื้อเฉพาะเครื่องฟอกอากาศแบบเคลื่อนที่ได้สำหรับ 1 ห้องเรียน เพื่ออากาศที่สะอาดสำหรับเด็กนักเรียนทั่วประเทศในสังกัดกทม. และสพฐ. จำนวน 6,691,721 คน รัฐบาลต้องใช้งบระมาณ 3,315,989,400 บาท หรือคิดเป็น 496 บาทต่อคนสำหรับค่าอากาศสะอาด

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่ครอบคลุมเด็กนักเรียนทั้งประเทศ เนื่องด้วยยังมีนักเรียนในสังกัดสถานศึกษา สำนักงานคณะกรรมการอาชีวะศึกษา สังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โรงเรียนในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและอื่นๆ รวมทั้งหมด อีก 5,201,382 คนและหากคิดงบประมาณจากการคำนวณ 496 บาทต่อนักเรียน 1 คน จะพบว่า หากรัฐจะต้องใช้งบประมาณจัดซื้อเครื่องฟอกอากาศสำหรับนักเรียนทั่วประเทศ จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีก 2,579,885,472 บาท รวมเป็น 5,895,874,872 บาท 

ไม่เพียงแค่นั้น หากจะให้ครอบคลุมอาจจะต้องรวมไปถึงเด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ โดยปัจจุบันมีเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำนวน 638,043 คน ใน 18,242 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพฯ อีก 17,231 คน ใน 274 แห่ง ดังนั้นหาก งบประมาณจากการคำนวณ 496 บาทต่อนักเรียน 1 คน จะพบว่า รัฐจะต้องใช้งบประมาณจัดซื้อเครื่องฟอกอากาศสำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพิ่มขึ้นอีก 325,015,904 บาท 

รวมแล้วรัฐต้องใช้งบประมาณประมาณ 6,220,890,776 บาท 

อย่างไรก็ตาม การคำนวณครั้งนี้เป็นการคำนวณเฉพาะการจัดซื้อเครื่องฟอกอากาศในแบบตั้งพื้นที่เคลื่อนย้ายได้ โดยอ้างอิงราคาการจัดซื้อจากหน่วยงานหนึ่งเป็นฐานในการคำนวณเท่านั้น การสร้างห้องเรียนปลอดฝุ่นในแต่ละพื้นที่นั้น อาจมีปัจจัยที่ทำให้ใช้งบประมาณที่แตกต่างกัน เพิ่มขึ้นหรือลดลงอีก ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ห้องเรียนเป็นห้องปิดที่จำเป็นต้องมีการก่อสร้าง หรือการต้องติดเครื่องปรับอากาศร่วมด้วย เหมือนดังเช่นแนวทางนโยบายห้องเรียนปลอดฝุ่นของ กทม. หรืออาจจะใช้เครื่องฟอกอากาศในรูปแบบอื่น เช่น แบบฝังหรือติดกับผนัง ซึ่งมีาคารที่แตกต่างกันจากราคาที่ใช้คำนวณในครั้งนี้ นอกจากนั้นยังรวมไปถึงบางพื้นที่ที่เป็นพื้นที่อากาศดี ไม่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ก็อาจไม่จำเป็นต้องติดตั้งเครื่องฟอกอากาศก็เป็นได้ 

แต่ถึงอย่างนั้น นอกจากมาตรการการป้องกันอย่างการสร้างห้องเรียนปลอดฝุ่นแล้ว สิ่งที่สำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 คือการแก้ไขปัญหาจากต้นตอแหล่งกำเนิดฝุ่น ไม่ว่าจะเป็นการเผา ภาคขนส่งและอุตสาหกรรม รวมไปถึงหมอกควันข้ามแดนนั่นเอง 

ดูข้อมูลที่ ลองคำนวณห้องเรียนปลอดฝุ่นทั่วประเทศ [ข้อมูลดิบ]

ที่มา 

รายงานสถิติจำนวนศูนย์การเรียน สถานเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นักเรียน และร้อยละของนักเรียนระดับก่อนประถมศึกษา นอกระบบโรงเรียนของประเทศไทย ปีการศึกษา 2565

จำนวนนักเรียนโรงเรียนสังกัด กทม. จากรายงานสถิติการศึกษา ปีการศึกษา 2566 โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร https://webportal.bangkok.go.th/user_files/116/2052212579651f64bf7549d6.15479121.pdf

จำนวนนักเรียนโรงเรียนสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ จาก รายงานสถิติการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

จำนวนนักเรียนนักศึกษา จำแนกตามสังกัด ปีการศึกษา 2/2567 จากระบบศูนย์บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

รายงานสถิติจำนวนศูนย์การเรียน สถานเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นักเรียน และร้อยละของนักเรียนระดับก่อนประถมศึกษา นอกระบบโรงเรียนของประเทศไทย ปีการศึกษา 2565

คุณอาจสนใจ