จากการประชุมเพื่อพิจารณาญัตติ ขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จำนวน 6 รัฐมนตรี ได้แก่
1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
2.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
3.นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
4.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
5.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
6.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ในระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม ถึงวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมานั้น โดยผลปรากฏว่า ทั้งรัฐมนตรีทั้ง 6 คน ได้รับการลงมติไว้วางใจด้วยกันทั้งสิ้น
Rocket Media Lab ชวนสำรวจข้อมูลย้อนหลังในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล จากช่วงหลังการรัฐประหารของ รสช. ในปี 2534 จนนำมาสู่การจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2535 และได้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งก็คือรัฐบาลภายใต้การนำของ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี อันถือเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ประชาธิปไตยเริ่มจะเบ่งบานอีกครั้ง จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
อภิปรายไม่ไว้วางใจ
รัฐสภาไทยจากยุครัฐบาลของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ในปี 2478 จนถึงรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปัจจุบัน มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรวมทั้งหมด 44 ครั้ง โดยจบลงด้วยการลงมติไว้วางใจจำนวน 36 ครั้ง และไม่ได้มีการลงมติด้วยเหตุต่างๆ เช่น นายกรัฐมนตรีลาออกก่อนเริ่มอภิปราย ยุบสภาก่อนลงมติไม่ไว้วางใจ การขอเปิดอภิปรายขัดต่อรัฐธรรมนูญ ฯลฯ จำนวน 8 ครั้ง
แต่หากนับจากรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ในปี 2535 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 11 คนทั้งจากการเลือกตั้งทั่วไป มติของสภาผู้แทนราษฎร และการรัฐประหาร และมีรัฐบาลบริหารประเทศในรูปแบบรัฐสภา 11 ครั้ง และอีก 2 ครั้ง เป็นการปกครองด้วยการรัฐประหาร มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ 24 ครั้ง โดยได้รับการลงมติไว้วางใจทั้ง 24 ครั้ง (มีเพียงรัฐบาลในยุคของสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เท่านั้น ที่ไม่มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เนื่องด้วยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียง 75 วัน)
จากการทำข้อมูลในครั้งนี้พบว่า จากรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ในปี 2535 จนถึงปัจจุบัน (ก.ย. 2564) รัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นรัฐบาลเดียวที่มีการขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจทั้งคณะ และมีจำนวนมากที่สุด รวม 3 ครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยชวน 1 จำนวน 1 ครั้งในปี 2538 อันเกี่ยวเนื่องกับประเด็นเรื่องเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-0-1 และสมัยชวน 2 จำนวน 2 ครั้ง ในปี 2541 และช่วงท้ายปี 2542 แต่หากนับตั้งแต่ยุครัฐบาลของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ในปี 2478 จะพบว่ายังมีการขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจทั้งคณะอีก 4 ครั้ง ได้แก่ รัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ในปี 2533 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2530 พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในปี 2490 และพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ในปี 2478
หากพิจารณาในด้านตำแหน่งและกระทรวงที่สังกัดจะพบว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เกิดขึ้น จากรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ในปี 2535 จนถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเดือน ก.ย. 2564 ปัจจุบัน รัฐมนตรีกระทรวงที่ถูกยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจมากที่สุดได้แก่ กระทรวงมหาดไทย จำนวน 17 ครั้ง ด้วยประเด็นทั้งการทุจริต การประพฤติปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ และเท่ากันกับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี แต่ในกรณีตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีนี้ อาจเป็นไปได้ว่าเป็นการควบตำแหน่งของรัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ ที่ถูกยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจนั่นเอง
อันดับต่อมาก็คือกระทรวงคมนาคม จำนวน 15 ครั้ง กระทรวงการคลัง จำนวน 13 ครั้ง นายกรัฐมนตรี จำนวน 12 ครั้ง ตามมาด้วยกระทรวงพาณิชย์ 10 ครั้ง กระทรวงกลาโหม 8 ครั้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงการต่างประเทศ เท่ากันที่จำนวน 7 ครั้ง กระทรวงศึกษาธิการจำนวน 5 ครั้ง กระทรวงแรงงานและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศเดิม) เท่ากันที่จำนวน 4 ครั้ง
กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวนเท่ากันที่ 2 ครั้ง
โดยหากไม่นับการขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจทั้งคณะ จะพบว่า รัฐมนตรีของกระทรวงทั้ง 5 กระทรวง ดังต่อไปนี้ไม่เคยถูกยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจเลยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา นั่นก็คือ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (กระทรวงวิทยาศาสตร์เดิม)
นอกจากตำแหน่งและกระทรวงแล้ว หากพิจารณาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นรายบุคคล จะพบว่าพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เคยถูกยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจมากที่สุด ทั้งในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลชวน หลีกภัย ในปี 2536 จำนวน 2 ครั้ง และในปี 2537 อีก 1 ครั้ง ในฐานะนายกรัฐมนตรีในปี 2540 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลทักษิณ ในปี 2545 ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลทักษิณ ในปี 2547 รวมทั้งหมด 6 ครั้ง
นายกรัฐมนตรีที่ไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ
จากข้อมูลดังกล่าว ซึ่งพบว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถูกยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจ ถึง 12 ครั้ง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีในระบบรัฐสภาที่ไม่เคยถูกยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจมี 2 คน ก็คือ ทักษิณ ชินวัตร (ทั้งสองรัฐบาล) และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในส่วนของ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นเพราะว่าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียง 75 วัน
ส่วนในกรณีของ ทักษิณ ชินวัตร นั้น เป็นเพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งกำหนดไว้ว่า “มาตรา 185 ของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540 ได้กำหนดจำนวนขั้นต่ำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรี ว่าจะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าสองในห้าของจานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร”
โดยพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งครั้งแรก และได้ที่นั่งในสภาสูงถึง 248 ที่นั่ง บวกกับเมื่อพรรคความหวังใหม่มีมติให้ยุบพรรครวมกับพรรคไทยรักไทย ทำให้พรรคไทยรักไทยมี ส.ส.จำนวนมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ในสมัยที่สองก็ชนะการเลือกตั้ง ได้ที่นั่งในสภาสูงถึง 377 ที่นั่ง จนทำให้ฝ่ายค้านไม่สามารถรวบรวมสมาชิกในสภาฯ เพื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ ตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ทำได้เพียงอภิปรายรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลเท่านั้น ซึ่งมีทั้งสิ้น 4 ครั้ง คือ 3 ครั้งในสมัยทักษิณ 1 และ 1 ครั้งในสมัยทักษิณ 2
อย่างไรก็ตาม ต่อมาในรัฐธรมมนูญ ปี 2550 และรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนสมาชิกขั้นต่ำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ เหลือเพียงไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าเท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนเดิมตามรัฐธรรมนูญปี 2534 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2538 ด้วย
อภิปรายไปทำไม ยังไงก็ไว้วางใจอยู่ดี
จากข้อมูลจะเห็นว่าไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งได้ที่ผลออกมาว่าไม่ไว้วางใจ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี จึงนำมาสู่คำถามที่หลายคนอาจจะตั้งคำถามเช่นเดียวกันว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นเป็นกลไกในกระบวนการรัฐสภาที่ใช้ได้จริงหรือ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนในบทความ “บทบาทและสถานะของการอภิปรายไม่ไว้วางใจของการเมืองรัฐสภาในปัจจุบัน” ว่า
“แม้จะล้มรัฐบาลไม่ได้ แต่การอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจมีบทบาทและสถานะของมันในการสร้างทางเลือกใหม่ให้กับประชาชนให้เห็นความแตกต่างในทางอุดมการณ์ จุดยืนทางการเมือง และ จุดยืนทางนโยบายที่แตกต่างกันของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน”
ไม่เพียงแค่นั้น จากข้อมูลยังพบว่า ถึงแม้การอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกครั้งจะได้รับการลงมติไว้วางใจทุกครั้ง แต่ก็มีหลายครั้งที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อให้เกิดผลตามมา เช่น ในรัฐบาลชวน หลีกภัย ในช่วงปลายปี 2537 พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลคือ นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์และสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ทั้งสองคนลาออกก่อน ต่อมาพรรคร่วมฝ่ายค้านก็ได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ในวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2538 และยังไม่ทันมีการลงมติ รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ก็ประกาศยุบสภา และในรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา หรือแม้กระทั่งรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ประกาศยุบสภาหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ได้รับการไว้วางใจ
ดูรายละเอียดที่ https://rocketmedialab.co/database-censure-debate
หมายเหตุ
ข้อมูลพื้นฐานนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่จะมีการพัฒนาต่อไปในอนาคตเพื่อให้ครอบคลุมและมีรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้ง 44 ครั้ง
ข้อมูลจาก
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร https://msbis.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_report/main.php?filename=index
คลังข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจ จากสถาบันพระปกเกล้า 1, 2
สถาบันนโยบายศึกษา http://www.fpps.or.th/news.php?detail=n1089217379.news
http://www.fpps.or.th/news.php?detail=n1049013643.news
http://www.fpps.or.th/news.php?detail=n1216569484.news
บทความ “บทบาทและสถานะของการอภิปรายไม่ไว้วางใจของการเมืองรัฐสภาในปัจจุบัน” โดยพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ https://www.matichon.co.th/article/news_2579524