Connect with us

Hi, what are you looking for?

politics

เลือกตั้งอบจ.63 พรรคไหนมาวิน

ผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ

ภาพโดย mohamed Hassan จาก Pixabay

จากการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดในวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นในรอบ 6 ปีของประเทศไทย โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ถึงแม้จะมีประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์มากมายตั้งแต่กฎหมายการเลือกตั้ง โดยเฉพาะส่วนการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ การส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งของคณะก้าวหน้า การไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของพรรคพลังประชารัฐหรือพรรคภูมิใจไทย ไปจนถึงการกำหนดวันเลือกตั้ง และการไม่มีการเลือกตั้งนอกเขตและการเลือกตั้งล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดในครั้งนี้ มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ 46,610,729 คน โดยมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 29,016,539 คน คิดเป็น 62.25%

คณะก้าวหน้าไม่ได้ที่นั่ง เพื่อไทยได้เพียง 9 ที่นั่ง แล้วที่เหลือเป็นของใคร

จากการทำข้อมูลของ Rocket Media Lab ของผู้สมัครนายก อบจ. และความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง ทั้งในแบบที่พรรคประกาศอย่างเป็นทางการและโดยอาศัยการชี้วัดจากความสัมพันธ์ในอดีตจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในช่วงก่อนเลือกตั้งเท่านั้น และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งนายก อบจ. ทั้ง 76 จังหวัดอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า 

พรรคเพื่อไทย ซึ่งประกาศส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. อย่างเป็นทางการ 25 คน ใน 25 จังหวัด และจากข้อมูลเดิมของ Rocket Media Lab ยังปรากฏว่า มีผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่นๆ ที่แม้จะไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่พรรคประกาศอย่างเป็นทางการแต่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทยอีก 29 คน รวมเป็น 54 คน โดยผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการพบว่า พรรคเพื่อไทยคว้าเก้าอี้นายก อบจ. ได้ทั้งหมด 19 คน แบ่งเป็นแบบพรรคประกาศ 9 คน (จาก 25 คน) แบบเชื่อมโยงความสัมพันธ์ 10 คน  คิดเป็น 25% 

ในขณะที่คณะก้าวหน้า ที่นำโดยอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ประกาศส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ในนามคณะก้าวหน้า 42 คน แต่จากข้อมูลยังปรากฏว่า มีผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่นๆ ที่แม้จะไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่คณะก้าวหน้าประกาศอย่างเป็นทางการแต่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับอดีตพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล หรือคณะก้าวหน้าอีก 10 คน รวมเป็น 52 คน และถือเป็นพรรค/คณะ ที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. มากเป็นอันดับสอง แต่ไม่ได้ที่นั่งนายก อบจ. ในครั้งนี้

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ที่ประกาศชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ในนามพรรคเพียง 3 จังหวัดนั่นก็คือ นายเกตุชาติ เกศา จังหวัดสตูล นายไพเจน มากสุวรรณ์ จังหวัดสงขลา และนายชุมพล กาญจนะ จังหวัดสุราฎร์ธานี และในแบบเชื่อมโยงความสัมพันธ์จากข้อมูลของ Rocket Media Lab อีก 23 คน รวมเป็น 26 คน และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ พบว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเลือกตั้งทั้งหมด 10 คน แบ่งเป็นแบบพรรคประกาศ 1 คน (จาก 3 คน) แบบเชื่อมโยงความสัมพันธ์ 9 คน  คิดเป็น 13.16% 

ในขณะที่พรรคที่ไม่ประกาศส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. อย่างเป็นทางการอย่างพรรคพลังประชารัฐ แต่จากข้อมูลเดิมของ Rocket Media Lab ปรากฏผู้สมัครรับเลือกตั้งอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคพลังประชารัฐทั้งหมด 41 คน และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ พบว่าพรรคพลังประชารัฐ ได้รับการเลือกตั้งในตำแหน่งนายก อบจ. ทั้งหมด 18 คน คิดเป็น 23.68%

ส่วนพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพรรคที่ไม่ประกาศส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. อย่างเป็นทางการ แต่จากข้อมูลเดิมของ Rocket Media Lab ปรากฏผู้สมัครรับเลือกตั้งอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคภูมิใจไทยทั้งหมด 25 คน และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ พบว่าพรรคภูมิใจไทย ได้รับการเลือกตั้งในตำแหน่งนายก อบจ. ทั้งหมด 15 คน คิดเป็น 19.74%

นอกจากนั้นยังมีพรรคอื่นๆ อย่าง พรรคชาติไทยพัฒนา โดยจากข้อมูลเดิมของ Rocket Media Lab ปรากฏผู้สมัครรับเลือกตั้งอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคชาติไทยพัฒนาทั้งหมด 8 คน และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ พบว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้รับการเลือกตั้งในตำแหน่งนายก อบจ. ทั้งหมด 5 คน คิดเป็น 6.58%

พรรคประชาชาติ โดยจากข้อมูลเดิมของ Rocket Media Lab ปรากฏผู้สมัครรับเลือกตั้งอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคประชาชาติทั้งหมด 4 คน และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ พบว่าพรรคประชาชาติ ได้รับการเลือกตั้งในตำแหน่งนายก อบจ. ทั้งหมด 3 คน คิดเป็น 3.98%

พรรครวมพลังประชาชาติไทย โดยจากข้อมูลเดิมของ Rocket Media Lab ปรากฏผู้สมัครรับเลือกตั้งอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรครวมพลังประชาชาติไทยทั้งหมด 1 คน และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ พบว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทย ได้รับการเลือกตั้งในตำแหน่งนายก อบจ. ทั้งหมด 1 คน คิดเป็น 1.32%

และผู้สมัครอิสระ/นักการเมืองท้องถิ่น โดยจากข้อมูลเดิมของ Rocket Media Lab ที่ไม่ปรากฏผู้สมัครรับเลือกที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคอย่างชัดเจนจำนวนทั้งหมด 107 คน และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ พบว่าผู้สมัครอิสระ/นักการเมืองท้องถิ่น ได้รับการเลือกตั้งในตำแหน่งนายก อบจ. ทั้งหมด 5 คน คิดเป็น 6.58% 

ภาคไหน ใครครอง

หากมองการแข่งขันของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งนายกองค์การปกครองท้องถิ่นครั้งนี้ในระดับภาค จากข้อมูลเดิมของ Rocket Media Lab และนำมาเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า 

ภาคเหนือ

จากข้อมูลของ Rocket Media Lab พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. มากที่สุดในภาคเหนือ รวม 11 คน แบ่งเป็นแบบพรรคประกาศ 6 คน แบบเชื่อมโยงความสัมพันธ์ 5 คน และได้รับการเลือกตั้งทั้งหมด 7 คน แบ่งเป็นแบบพรรคประกาศ 5 คน และแบบเชื่อมโยงความสัมพันธ์อีก 2 คนคิดเป็น 77.78% ของภาค

ตามมาด้วยพรรคพลังประชารัฐ ที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตามข้อมูลการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของ Rocket Media Lab ทั้งหมด 5 คน และได้รับการเลือกตั้ง 1 คนคิดเป็น 11.11% พรรคชาติไทยพัฒนา ที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตามข้อมูลการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของ Rocket Media Lab จำนวน 1 คน และได้รับการเลือกตั้ง 1 คน คิดเป็น 11.11%

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

พรรคภูมิใจไทย ที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตามข้อมูลการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของ Rocket Media Lab ทั้งหมด 10 คน และได้รับการเลือกตั้ง 9 คน คิดเป็น 45% ของภาค

ตามมาด้วยพรรคเพื่อไทย ที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด รวม 19 คน แบ่งเป็นแบบพรรคประกาศ 10 คน แบบเชื่อมโยงความสัมพันธ์ 9 คน และได้รับการเลือกตั้งทั้งหมด 5 คน แบ่งเป็นแบบพรรคประกาศ 4 คน และแบบเชื่อมโยงความสัมพันธ์อีก 2 คน คิดเป็น 25%

พรรคพลังประชารัฐ ที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตามข้อมูลการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของ Rocket Media Lab ทั้งหมด 10 คน และได้รับการเลือกตั้ง 5 คน คิดเป็น 25% และพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตามข้อมูลการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของ Rocket Media Lab จำนวน 2 คน และได้รับการเลือกตั้ง 1 คน คิดเป็น 5%

ภาคกลาง

จากข้อมูลของ Rocket Media Lab คณะก้าวหน้า เป็นคณะ/พรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ในภาคกลางมากที่สุด รวม 16 คน แบ่งเป็นในแบบคณะก้าวหน้าประกาศ 15 คน และแบบเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับคณะก้าวหน้า อดีตพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล อีก 1 คน ซึ่งไม่ได้รับการเลือกตั้งแม้แต่ที่นั่งเดียว

รองลงมาคือพรรคเพื่อไทย ที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ในภาคกลางรวม 15 คนแบ่งเป็นแบบพรรคประกาศ 7 คน แบบเชื่อมโยงความสัมพันธ์ 8 คน และได้รับการเลือกตั้งทั้งหมด 6 คน โดยทั้งหมดไม่ได้เป็นผู้สมัครในนามพรรค แต่มีข้อมูลเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับพรรค คิดเป็น 28.57% ของภาค 

เช่นเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ ที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตามข้อมูลการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของ Rocket Media Lab ทั้งหมด 12 คน และได้รับการเลือกตั้ง 6 คน คิดเป็น 28.57%  

นอกจากนี้ยังมีพรรคชาติไทยพัฒนา ที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตามข้อมูลการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของ Rocket Media Lab ทั้งหมด 4 คน  และได้รับการเลือกตั้ง 4 คน คิดเป็น 19.05% พรรคภูมิใจไทย ที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตามข้อมูลการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของ Rocket Media Lab ทั้งหมด 8 คน และได้รับการเลือกตั้ง 3 คน คิดเป็น 14.29%

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตามข้อมูลการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของ Rocket Media Lab ทั้งหมด 4 และได้รับการเลือกตั้ง 1 คน คิดเป็น 4.76% และนักการเมืองท้องถิ่น/ผู้สมัครอิสระ ที่ไม่ปรากฏความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองอย่างชัดเจนตามข้อมูลของ Rocket Media Lab ซึ่งมีผู้สมัครรวม 28  คน และได้รับการเลือกตั้ง 1 คน คิดเป็น 4.76%

ภาคตะวันออก

จากข้อมูลของ Rocket Media Lab พรรคพลังประชารัฐมีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตามข้อมูลการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทั้งหมด 5 คน และได้รับการเลือกตั้ง 3 คน คิดเป็น 42.86% ของภาค รองลงมาคือพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตามข้อมูลการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของ Rocket Media Lab ทั้งหมด 2 คน และได้รับการเลือกตั้ง 1 คน คิดเป็น 14.29%

ตามมาด้วยพรรคภูมิใจไทย ที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตามข้อมูลการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของ Rocket Media Lab ทั้งหมด 1 คน และได้รับการเลือกตั้ง 1 คน คิดเป็น 14.29% และนักการเมืองท้องถิ่น/ผู้สมัครอิสระ ที่ไม่ปรากฏความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองอย่างชัดเจนตามข้อมูลของ Rocket Media Lab ซึ่งมีผู้สมัครทั้งหมด 9  คน และได้รับการเลือกตั้ง 2 คน คิดเป็น 28.57%

ภาคตะวันตก

จากข้อมูลของ Rocket Media Lab พรรคพลังประชารัฐมีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตามข้อมูลการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทั้งหมด 3 คน และได้รับการเลือกตั้ง 3 คน คิดเป็น 60% ของภาค

ตามมาด้วยพรรคเพื่อไทย ที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ในภาคตะวันตกมากที่สุด รวม 4 คน แบ่งเป็นแบบพรรคประกาศ 1 คน แบบเชื่อมโยงความสัมพันธ์ 3 คน และได้รับการเลือกตั้งทั้งหมด 1 คน จากแบบเชื่อมโยงความสัมพันธ์ คิดเป็น 20% 

และพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตามข้อมูลการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของ Rocket Media Lab ทั้งหมด 2 คน และได้รับการเลือกตั้ง 1 คน คิดเป็น 20% 

ภาคใต้

จากข้อมูลของ Rocket Media Lab พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. มากที่สุดในภาคใต้ รวม 14 คนแบ่งเป็นแบบพรรคประกาศ 3 คน แบบเชื่อมโยงความสัมพันธ์ 11 คน และได้รับการเลือกตั้งทั้งหมด 6 คน แบ่งเป็นแบบพรรคประกาศ 1 คน และแบบเชื่อมโยงความสัมพันธ์อีก 5 คน คิดเป็น 42.86% ของภาค

ตามมาด้วยพรรคประชาชาติ ที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตามข้อมูลการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของ Rocket Media Lab ทั้งหมด 4 คน และได้รับการเลือกตั้ง 3 คนคิดเป็น 21.43%  พรรคภูมิใจไทย ที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตามข้อมูลการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของ Rocket Media Lab ทั้งหมด 6 คน และได้รับการเลือกตั้ง 2 คน คิดเป็น 14.29%

นอกจากนั้นยังมีพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตามข้อมูลการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของ Rocket Media Lab ทั้งหมด 1 คน และได้รับการเลือกตั้ง 1 คน คิดเป็น 7.14% และนักการเมืองท้องถิ่น/ผู้สมัครอิสระ ที่ไม่ปรากฏความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองอย่างชัดเจนตามข้อมูลของ Rocket Media Lab ซึ่งมีผู้สมัครทั้งหมด 11 คน และได้รับการเลือกตั้ง 2 คน คิดเป็น 14.29%

คนหรือพรรค

จากข้อมูลผลการเลือกตั้งนายก อบจ. อย่างไม่เป็นทางการ ทั้ง 76 จังหวัดนี้ พบว่ามี 34 จังหวัด ที่อดีตนายก อบจ. ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งและได้รับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ. ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ ในขณะเดียวกันจากข้อมูลของ Rocket Media Lab ซึ่งสืบค้นความสัมพันธ์ของอดีตนายก อบจ. และความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง โดยอาศัยการชี้วัดจากความสัมพันธ์ในอดีตจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในช่วงก่อนเลือกตั้งเท่านั้น พบว่า มีอดีตนายก อบจ. ที่สามารถสืบค้นความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย 18 จังหวัด พรรคภูมิใจไทย 15 จังหวัด พรรคประชาธิปัตย์ 10 จังหวัด พรรคชาติไทยพัฒนา 5 จังหวัด พรรคประชาชาติ 3 จังหวัด พรรคพลังประชาชาติไทย 1 จังหวัด และพื้นที่จังหวัดที่ไม่อาจสืบค้นความสัมพันธ์ระหว่างอดีตนายก อบจ. กับพรรคการเมืองได้อย่างแน่ชัดอีก 3 จังหวัด

สิ่งที่น่าสนใจก็คืออดีตนายก อบจ. ที่สามารถสืบค้นความสัมพันธ์กับพรรคพลังประชารัฐ อีก 21 จังหวัด ซึ่งหากพิจารณากันตามไทม์ไลน์ทางการเมืองแล้วจะพบว่า อดีตนายก อบจ. นั้นได้รับการเลือกตั้งเป็นนายก อบจ. เมื่อการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาในช่วง 6 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พรรคพลังประชารัฐยังไม่ได้ก่อตั้ง แต่จากการสืบค้นความสัมพันธ์ระหว่างอดีตนายก อบจ. กับพรรคการเมืองจากข้อมูลข่าวในอดีตจนถึงต้นเดือนธันวาคมก่อนการเลือกตั้งของ Rocket Media Lab พบว่ามีอดีตนายก อบจ. ถึง 21 จังหวัด ที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคพลังประชารัฐอย่างชัดเจน แม้ว่าเมื่อครั้งที่ได้รับการเลือกตั้งนั้นพรรคพลังประชารัฐจะยังไม่ได้ก่อตั้งก็ตาม 

เช่น นายอนุสรณ์ นาคาศัย อดีตนายก อบจ. ชัยนาท ที่ได้รับการเลือกตั้งกลับมาอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นน้องชายของอนุชา นาคาศัย เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ หรือแม้กระทั่งอดีตนายก อบจ. ในบางจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ในช่วงเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดเมื่อ 6 ปีที่แล้ว สามารถสืบค้นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทยได้ แต่ในช่วงก่อนเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2562 กลับพบว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคพลังประชารัฐด้วยการขึ้นเวทีสนับสนุนผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ

และเมื่อนำพื้นที่ความสัมพันธ์ของแต่ละจังหวัดของอดีตนายก อบจ. จากการทำข้อมูลของ Rocket Media Lab มาเปรียบเทียบกับว่าที่นายก อบจ. ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งล่าสุดนี้ พบว่ามี 53 จังหวัดที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างนายก อบจ.ทั้งในอดีตและผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งล่าสุดกับพรรคการเมือง และมี 23 ที่มีการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองที่มีการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับอดีตนายก อบจ. และพรรคการเมืองที่มีการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งนายก อบจ. ล่าสุด โดยภาคที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยคือภาคตะวันออก 

แม้การทำข้อมูลของ Rocket Media Lab ในครั้งนี้ โดยพยายามเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างอดีตนายก อบจ. กับพรรคการเมือง และผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ. ล่าสุดกับพรรคการเมือง โดยการศัยการเชื่อมโยงความสัมพันธ์จากข่าวในอดีตเท่านั้น อาจจะไม่สามารถชี้ชัดได้ 100% และตัวนักการเมืองท้องถิ่นเองก็อาจจะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์และขั้วการเมืองได้ทุกเมื่อ ดังเช่น การทำข้อมูลเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างอดีตนายก อบจ. กับพรรคการเมือง ที่ปรากฏความสัมพันธ์กับพรรคพลังประชารัฐถึง 21 จังหวัด แม้ว่าพรรคพลังประชารัฐจะเพิ่งก่อตั้งและลงสนามเลือกตั้งเมื่อครั้งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2562 ที่ผ่านมาก็ตาม 

แต่ผลจากการทำข้อมูลก็คงทำให้เห็นได้ว่า แม้ผลการเลือกตั้งที่ออกมา พรรคเพื่อไทย ซึ่งประกาศส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ 25 คน และได้รับการเลือกตั้งเพียง 9 คน เช่นเดียวกันกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ประกาศส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ 3 คน และได้รับการเลือกตั้งเพียง 1 คน และคณะก้าวหน้า ที่ประกาศส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ 42 คน ซึ่งไม่ได้แม้แต่ที่นั่งเดียว 

แต่จำนวนทั้งหมดในการเลือกตั้งนายก อบจ. นั้นมีถึง 76 จังหวัด ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า ในขณะที่พรรคการเมืองใหญ่ระดับชาติอย่างพลังประชารัฐ และภูมิใจไทย นั้นไม่มีการประกาศส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. อย่างเป็นทางการ แล้วที่นั่งที่เหลือนั้น มีความเกี่ยวเนื่องกับพรรคการเมืองระดับชาติมากน้อยเพียงใด รวมไปถึงเรื่องการเมืองระดับประเทศ หรือพรรคการเมืองระดับประเทศมีอิทธิพลต่อการเมืองระดับท้องถิ่นมากน้อยเพียงใดเช่นเดียวกัน 

หมายเหตุ: สามารถดูข้อมูลพื้นฐานทั้งหมดได้ที่ https://tinyurl.com/pao-candidates

คุณอาจสนใจ