หมายเหตุ: มีการแก้คำผิด วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เวลา 13.11 น.
- ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2014 ที่นับว่าเป็นปีที่มีซีรีส์วายเรื่องแรกออกฉาย จนถึง 2023 จำนวน 253 เรื่อง ก่อกำเนิดคู่จิ้นจำนวน 227 คู่
- มี 131 บริษัทที่ผลิตซีรีส์วายลงจอในช่วงปี 2014-2023 บริษัทที่ผลิตซีรีส์วายออกมามากที่สุดคือ GMMTV 58 เรื่อง 19.46% ตามมาด้วย Studio Wabi Sabi 16 เรื่อง 5.37% COPY A BANGKOK 9 เรื่อง 3.02%
- เมื่อสำรวจรสนิยมทางเพศของตัวละครคู่หลักในซีรีส์วาย 418 ตัวละคร 209 คู่ ซึ่งนับเฉพาะคู่หลักของเรื่อง พบว่าตัวเอกสนใจในเพศเดียวกัน หรือชอบผู้ชายมาก่อนแล้ว จำนวน 193 ตัวละคร แบ่งเป็นพระเอก จำนวน 91 ตัวละคร และนายเอก จำนวน 102 ตัวละคร
- อาชีพของตัวละครในซีรีส์วายมากที่สุดเป็นนักเรียน/นักศึกษามาถึง 233 ตัวละคร โดยแบ่งเป็นนักศึกษา 155 ตัวละคร นักเรียนมัธยม 78 ตัวละคร
- คู่จิ้นที่ส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ไทยมากที่สุด พบว่าเป็น #คริสสิงโต ที่มีงานแฟนมีตติ้งในต่างประเทศ จำนวน 32 ครั้ง รองลงมาคือออฟกัน 19 ครั้ง เตนิว 17 ครั้ง ทั้งนี้น่าสนใจว่าประเทศที่มีคู่จิ้นจัดแฟนมีตติ้งที่เยอะที่สุดจำนวน 20 ครั้งนั้น ซึ่งเป็นงานแฟนมีตติ้งที่มีคู่ #คริสสิงโต มากถึง 14 ครั้งด้วยกัน
ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา กระแสซีรีส์วายในไทยเริ่มเป็นที่รู้จักทั้งภายในและต่างประเทศ นักแสดงนำหลายคนต่างโด่งดังขึ้นมาจนเป็นที่นิยม จนมีคนกล่าวว่า ซีรีส์วายนั้นคือซอฟต์พาวเวอร์ของไทย Rocket Media Lab ชวนสำรวจจักรวาลซีรีส์วายของไทย ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2014 ที่นับว่าเป็นปีที่มีซีรีส์วายเรื่องแรกออกฉาย จนถึง 2023 จำนวน 253 เรื่อง ที่ก่อกำเนิดคู่จิ้นจำนวน 227 คู่ ว่าแต่ละคู่มีเส้นทางอย่างไร มาบรรจบกันตรงไหน และสถานภาพซีรีส์วายในไทยเป็นอย่างไร กว่าจะกลายมาเป็นสื่อบันเทิงที่มีอิทธิพลอย่างในปัจจุบัน

ซีรีส์วายและการกำเนิดความสัมพันธ์ที่เรียกว่า ‘คู่จิ้น’ จาก ‘คู่รอง’ สู่ ‘คู่จริง’
แม้จะไม่สามารถฟันธงได้ว่าซีรีส์วาย* ของไทยเริ่มต้นจากตรงไหน แต่ในหลากหลายบทความและงานศึกษาต่างระบุไว้เหมือนกันว่า หากจะนับจุดเริ่มต้นของซีรีส์วายไทย อาจจะสามารถนับจากซีรีส์เรื่อง ‘Love Sick The Series’ (2014) ซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายชื่อ LOVE SICK : ชุลมุนหนุ่มกางเกงน้ำเงิน นิยายวายออนไลน์บนเว็บไซต์นิยายดังอย่าง dek-d ซึ่งนิยายเรื่องนี้ได้รับความนิยมจนถูกนำมาสร้างเป็นซีรีส์ในชื่อ เลิฟซิค เดอะซีรีส์ รักวุ่น วัยรุ่นแสบ Love Sick The Series ถึงสองซีซั่น โดยซีซั่นแรกออกฉายในปี 2014 และซีซั่นสองในปี 2015 ทางช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวี หลังจากการออกอากาศก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการซีรีส์วายในไทยมาจนถึงปัจจุบัน
*เนื่องจากเส้นแบ่งของคำว่าวายในไทยนั้นเลือนลางและมีนิยามมากมาย ดังนั้นในข้อมูลที่สำรวจนั้น จะสำรวจซีรีส์วายที่มีเนื้อหาดังนี้ คือละครที่มีลักษณะเป็นตอนหรือชุด โดยมีคู่รักเพศเดียวกัน (ชาย-ชาย) ทั้งที่เป็นคู่นำและคู่รองในเรื่อง แม้ว่าภายใต้การเป็นคู่รองนั้นจะอยู่ใต้ซีรีส์ที่มีชายหญิงเป็นคู่นำก็ตาม การเก็บข้อมูลจะนับละครชุดที่มีเนื้อหาของชายชายเป็นหลัก รวมไปถึงคู่รองด้วย เนื่องจากมีพลวัตที่ส่งถึงภาพรวมของซีรีส์วายไทยในอนาคต
จากการสำรวจข้อมูลของ Rocket Media Lab ถึงการเติบโตของกระแสซีรีส์วายในไทยในระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2014-2023 พบว่ามีนักแสดง 383 คน คู่จิ้น 227 คู่ ในซีรีส์วาย 253 เรื่อง โดยในปี 2014 มีเพียง 2 เรื่อง คิดเป็น 0.79% ปี 2015 จำนวน 2 คิดเป็น 0.79% จนกระทั่งปี 2016 เพิ่มจำนวนมาเป็น 9 เรื่อง คิดเป็น 3.56% ปี 2017 จำนวน 16 เรื่อง คิดเป็น 6.32% ปี 2018 จำนวน 7 เรื่อง คิดเป็น 2.77% ปี 2019 จำนวน 20 เรื่อง คิดเป็น 7.91% ปี 2020 จำนวน 25 เรื่อง คิดเป็น 9.88% ปี 2021 จำนวน 37 เรื่อง คิดเป็น 14.62% ปี 2022 จำนวน 68 เรื่อง คิดเป็น 26.88% และปี 2023 จำนวน 67เรื่อง คิดเป็น 26.48%
ปี 2014 ที่พบจำนวน 2 เรื่องนั้น คือเรื่อง Love Sick The Series SS1 รักวุ่นวัยรุ่นแสบ ซึ่งมีตัวเอกเป็นชาย-ชาย ทั้งยังฉายทางช่องสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ซึ่งนับเป็นช่องทีวีสาธารณะของไทย และนับเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสซีรีส์วายในไทย โดยมีนักแสดงนำอย่างชลธร คงยิ่งยง และ ณวัชร์ พุ่มโพธิงาม เป็นการจุดกระแสคู่จิ้น #ปุณณ์โน่ หรือ #กัปตันไวท์ และในปีเดียวกันยังพบคู่จิ้นชาย-ชายในซีรีส์ที่มีนักแสดงนำเป็นชาย-หญิงอย่าง Room Alone 401-410 มีคู่จิ้น #กันอชิแอมป์ แสดงโดยอชิรวิชย์ สาลิวรรธนะ และ ภูริกูลกฤษฎ์ ชูศักดิ์สกุลวิบูล ฉายทางช่อง GMM25 และ ONE31 อย่างไรก็ตามแม้จะเรียกว่าเป็นคู่จิ้น แต่สถานะความสัมพันธ์ในซีรีส์ของคู่กันอชิแอมป์ก็ไม่ได้สมหวัง เนื่องจากเป็นพล็อตแบบแอบรักสเตรท (Straight) หรือชายที่มีรสนิยมทางเพศชอบผู้หญิง
ต่อมาปี 2015 มีกระแสคู่จิ้น #มาร์ชตั้ว หรือภูธีร์ ในซีรีส์เรื่องฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น 2 (Hormones The Series 2) แสดงโดยมาร์ช จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล และ ตั้ว เสฎฐวุฒิ อนุสิทธิ์ ในปีเดียวกันยังมีซีรีส์ Love Sick The Series SS2 รักวุ่นวัยรุ่นแสบ 2 ที่นำแสดงโดยคู่จิ้นกัปตันไวท์ออกฉายอีกด้วย
ปี 2016 นับว่ากระแสซีรีส์วายที่มีตัวเอกเป็นชาย-ชาย เริ่มพบมากขึ้น ทั้งเรื่อง Make It Right รักออกเดิน นำแสดงโดยกฤตภัค อุดมพานิช และ ภีมพล พาณิชย์ธำรง ในบทฟิวส์และธีร์ ฉายผ่านทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ และ ฉายซ้ำผ่านทาง LINE TV และซีรีส์ที่ทำให้วงการวายไทยปรากฏสู่สายตาต่างชาติคือ SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง นำแสดงโดย พีรวัส แสงโพธิรัตน์ และปราชญา เรืองโรจน์ มีคู่จิ้นอย่างคริสสิงโต นับเป็นซีรีส์วายไทยเรื่องแรกที่โด่งดังในต่างประเทศ เริ่มจาก “tv asahi” สถานีโทรทัศน์ชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น นำไปออกอากาศบนแพลตฟอร์มออนไลน์ TELASA และเริ่มจัดแฟนมีตติ้ง (Fan meeting) ในต่างประเทศ ทั้งที่ญี่ปุ่นและ JDF Yunfeng Theater ในเซี่ยงไฮ้
แต่ถึงอย่างนั้นกลับพบว่าในช่วงแรกของสร้าง ‘คู่จิ้น’ ในซีรีส์วายไทย มีลักษณะเป็น ‘งานทดลอง’ กระแส การตอบรับของสังคมไทยมากกว่า โดยมาจากการทดลองให้มีคู่ชาย-ชาย ปรากฏเป็นคู่รองในซีรีส์ที่มีคู่หลักเป็นชาย-หญิง เช่น ในปี 2016 กับ #แมกซ์ตุลย์ แสดงโดยณัฐพล ดิลกนวฤทธิ์และภากร ธนศรีวนิชชัย ในเรื่อง Bad Romance The Series ตกหลุมหัวใจยัยปีศาจ หรือคู่ #โจอี้ปวินท์ แสดงโดย วิทวัส ติชะวาณิชย์ และ อิทธิศักดิ์ วุฒิธนวัฒน์ ในเรื่อง The Extra วงการร้าย วงการรัก ทั้งนี้มีคู่รองที่ได้รับความนิยมมากอย่างคู่ปิ๊กโรม หรือออฟกันจากรุ่นพี่ Secret Love ตอน Puppy Honey สแกนหัวใจนายหมอหมา นำแสดงโดยจุมพล อดุลกิตติพร และอรรถพันธ์ พูลสวัสดิ์ โดยฉายทาง GMM25 ช่อง ONE31 และ LINE TV ซึ่งคู่ปิ๊กโรมเป็นเพียงคู่รองในซีรีส์ที่มีตัวเอกเป็นชาย-หญิงเท่านั้น แต่ความโด่งดังของคู่นี้ทำให้มีซีรีส์ภาคแยกเป็นของตัวเองต่อมาในอนาคต
นอกจากคู่จิ้นชาย-ชาย ที่เป็นเพียงโครงเรื่องรองในซีรีส์ ยังพบว่ามีคู่จิ้นอย่างพอร์ชและเหนือ หรือ นัทกานต์ ในเรื่องมิติรักผ่านเลนส์ (Views of Love The Series) ที่มีตอนเป็นของตัวเองภายใต้ซีรีส์ที่มีหลายตอนหลายคู่รวมทั้งคู่ชาย-หญิง ซึ่งก็คือตอน รุ้งสีเทา ก่อนที่ซีรีส์วายจะแยกตัวออกจากซีรีส์ที่มีตัวละครชาย-หญิง เป็นคู่หลักและประสบคามสำเร็จมากๆ อย่างซีรีส์ เดือนเกี้ยวเดือน 2Moons The Series ในปี 2017 ที่นำแสดงโดยอิทธิพัทธ์ ฐานิตย์ และ สุรเดช พินิวัตร์ ซึ่งมีคู่จิ้น #ก็อตบาส โดยหลังจากนั้นจะเห็นว่าซีรีส์วายเริ่มเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากในปี 2016 ที่มีการผลิตซีรีส์ที่มีคู่จิ้นวายเพียง 9 เรื่อง กลายเป็น 16 เรื่องในปี 2017 และเพิ่มมากขึ้นในปี 2019 ที่มี 20 เรื่อง และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยเป็น 25, 37, 68 และ 67 เรื่องในปี 2023 ตามลำดับ
จากข้อมูลพบว่าในช่วงปีแรกของการตั้งไข่ซีรีส์วายในไทยนั้น คู่จิ้นชาย-ชาย เริ่มต้นด้วยการทดลองตลาด กระแสการตอบรับของสังคมด้วยการเป็นเพียงคู่รองในซีรีส์ที่มีคู่หลักเป็นชาย-หญิง ก่อน หรือเป็นเพียงโครงเรื่องรอง (sub plot) ของซีรีส์ก่อน เพื่อหยั่งกระแสความนิยมว่าตัวละครแบบชาย-ชาย นั้นจะได้รับความนิยมมากน้อยเพียงใด และจะสามารถพัฒนาขึ้นไปเป็นคู่หลัก หรือเป็นซีรีส์วายอย่างเต็มรูปแบบได้หรือไม่ และด้วยความนิยมที่มีอย่างล้นหลามทั้งจากคู่รองในซีรีส์ชาย-หญิงเป็นคู่หลัก โดยเฉพาะคู่ปิ๊กโรมหรือออฟกันจากรุ่นพี่ Secret Love ตอน Puppy Honey หรือ แมกซ์ตุลย์ ในเรื่อง Bad Romance The Series ที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าตัวละครชาย-ชาย ในซีรีส์ที่มีคู่หลักเป็นชาย-หญิง นั้นได้รับความนิยมไม่แพ้คู่หลักชาย-หญิง รวมไปถึงความโด่งดังของ SOTUS The Series หรือ 2Moons The Series ซีรีส์วายที่คู่ชาย-ชาย เป็นคู่หลักของเรื่องที่ดังไกลไปต่างประเทศ ก็ทำให้สิ่งที่เรียกว่า ‘คู่จิ้น’ ได้ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการ และไม่จำเป็นจะต้องเป็นเพียงคู่รองในในซีรีส์ชาย-หญิงเป็นคู่หลักอีกต่อไป

ช่องทางการฉายซีรีส์วาย บริษัทไหนเป็นเจ้าตลาดซีรีส์วายไทย
หากนับซีรีส์ Love Sick The Series SS1 รักวุ่นวัยรุ่นแสบ ในปี 2014 เป็นเรื่องแรก ซึ่งฉายทางฟรีทีวีอย่างสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ จากการสำรวจข้อมูลซีรีส์วาย 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2014 จนถึง 2023 จากจำนวนซีรีส์วาย 253 เรื่อง พบว่าซีรีส์วายไทยนั้นฉายผ่าน 30 ช่องทาง โดยหนึ่งเรื่องอาจฉายมากกว่า 1 ช่องทาง ดังนี้
- ฉายผ่าน YouTube จำนวน 111 เรื่อง คิดเป็น 22.65%
- ฉายผ่าน LINE TV จำนวน 67 เรื่อง คิดเป็น 13.67%
- ช่องทาง GMM 25 จำนวน 64 เรื่อง คิดเป็น 13.06%
- ช่องทาง iQIYI จำนวน 43 เรื่อง คิดเป็น 8.78%
- ช่องทาง ONE31 จำนวน 41 เรื่อง คิดเป็น 8.37%
- ช่องทาง WeTV จำนวน 39 เรื่อง คิดเป็น 7.96%
- ช่องทาง AIS PLAY จำนวน 18 เรื่อง คิดเป็น 3.67%
- ผ่านทาง Ch3Thailand จำนวน 17 เรื่อง คิดเป็น 3.47%
- ช่องทาง VIU จำนวน 17 เรื่อง คิดเป็น 3.47%
- ช่องทาง MCOT จำนวน 16 เรื่อง คิดเป็น 3.27%
- ช่องทาง AMARIN TV จำนวน 13 เรื่อง คิดเป็น 2.65%
- ผ่านทาง Gagaoolala จำนวน 13 เรื่อง คิดเป็น 2.65%
- และช่องทางอื่นๆ เช่น Netflix, Disney+ Hotstar, Youku, Rakuten TV เป็นต้น จำนวน 31 เรื่อง คิดเป็น 6.33%
นอกจากนี้หากแบ่งประเภทของช่องทางที่ฉาย จะพบว่าฉายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากที่สุดจำนวน 328 ครั้ง ซึ่งช่องทางออนไลน์ในที่นี้หมายถึงแอพพลิเคชั่น สตรีมมิ่งต่างๆ เช่น Youtube, LINE TV, iQIYI, WeTV เป็นต้น ตามมาด้วยฉายผ่านทีวีดิจิตอล 122 ครั้ง เช่น ช่อง GMM 25, AMARIN TV และผ่านทางช่องทีวีสาธารณะ 40 ครั้ง แม้ว่าการฉายซีรีส์วายในไทยเรื่องแรกๆ จะฉายผ่านช่องทีวีสาธารณะอย่างช่อง 9 ก็ตาม แต่ก็พบว่าซีรีส์วายนิยมฉายบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากกว่า สาเหตุมาจากหลักเกณฑ์กำกับเนื้อหารายการในวิทยุและโทรทัศน์ซึ่งกำหนดเนื้อหาไว้อย่างกว้างๆ เช่น “ศีลธรรมอันดี” “ลามกอนาจาร” โดย ilaw ให้ความเห็นว่ายากที่ผู้ผลิตรายการจะทราบได้ว่ารายการแบบไหนผลิตแล้วจะถูกพิจารณาว่าสามารถออกอากาศได้หรือไม่ จึงเป็นไปได้ว่าเพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดทางกฎหมาย ผู้ผลิตจึงเลือกที่จะฉายบนช่องทางออนนไลน์ ซึ่งยืดหยุ่นกว่า และมีอิสระในการสร้างสรรค์เนื้อหามากกว่าช่องทีวีสาธารณะ
ภายหลังจึงพบว่าซีรีส์วายหลายๆ เรื่องเลือกที่จะฉายผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งออนไลน์เช่น Netflix, LINE TV, Viu หรือสตรีมมิ่งอื่นๆ เนื่องจากแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็ให้การสนับสนุนซีรีส์วายโดยการลงทุนและโปรโมตซีรีส์เหล่านี้ในระดับที่สูงมากขึ้น โดยแรกเริ่มสำหรับการลง Uncut Version นั้นจะพบว่าเป็นการลงรูปพิเศษที่ไม่ได้ปรากฎในซีรีส์ให้รับชม ฉากพิเศษสั้นๆ และยกระดับมาเป็นเวอร์ชั่นเต็มๆที่ไม่ถูกตัดทอนใดๆ เห็นได้จากจำนวนซีรีส์ที่มีเวอร์ชั่น Uncut Version (บางแหล่งอาจเรียกว่า Unrated Version , Director’s cut) โดยฉายผ่านช่องทางออนไลน์โดยเฉพาะ ซึ่งจากข้อมูลพบว่ามีซีรีส์ที่มี Uncut Version จำนวน 68 เรื่อง คิดเป็น 26.88% ไม่มี Uncut Version จำนวน 185 เรื่อง คิดเป็น73.12% นอกจากนี้ซีรีส์ชุด 4 Minutes (2024) นำแสดงโดย ไบเบิ้ล-วิชญ์ภาส สุเมตติกุล และ เจษ-เจษฎ์พิพัฒ ติละพรพัฒน์ ยังพบว่าจะมีมากกว่า Uncut Version นั่นคือ Sultrier version หรือเรียกที่ว่าเวอร์ชั่นที่ร้อนแรงขึ้นอีกด้วย
แม้ช่องทางการฉายซีรีส์วายช่องทางแรกๆ จะเป็นทีวีสาธารณะอย่างสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ กับซีรีส์เลิฟซิค ในขณะที่แพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีการนำซีรีส์วายมาฉาย ช่องทางแรกคือ LINE TV ซึ่งเปิดให้บริการในไทย ในปี 2015 โดยซีรีส์วายเรื่องแรกที่ฉายใน LINE TV ก็คือ Make it right ในปี 2016 แต่เป็นการฉายแบบ Exclusive Rerun และในปีเดียวกันนั้นทาง LINE TV ก็มีซีรีส์วายแบนแพลตฟอร์มอีก 9 เรื่อง เช่น Kiss The Series รักต้องจูบ, SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง, ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ เดอะ ซีรี่ส์ หรือแม้กระทั่งซีรีส์เรื่อง มิติรักผ่านเลนส์ ตอน รุ้งสีเทา ก็นำมาฉายทางไลน์ด้วย จะเห็นว่าซีรีส์ที่ฉายผ่าน LINE TV เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จากปีละ 9 เรื่องในปี 2016-2017 ปี 2018 มี 7 เรื่อง ขยับมาเป็น 13 เรื่องในปี 2019 และปีละ 14 เรื่องในปี 2020-2021 สอดคล้องกับบทสัมภาษณ์ของ กณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ LINE ประเทศไทย ระบุว่าการนำ Make it right มารีรันนั้นถือเป็น ช่วงเริ่มต้นของคอนเทนต์แนว Boy’s Love ในเมืองไทย หลังจากนั้นกระแสซีรีส์วายได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ซีรีส์ที่นำมาฉายในแพลตฟอร์มจึงเพิ่มขึ้นด้วย และจนกระทั่ง LINE TV ประกาศปิดตัวในไทยเมื่อ 31 ธันวาคม 2021 ซีรีส์วายจึงทยอยไปฉายบนแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น แต่ทั้งนี้ซีรีส์ทั้งหมดที่พบในแพลตฟอร์มดังกล่าว มีมากถึง 67 เรื่อง
ประกอบกับมีแพลตฟอร์มอื่นๆ เริ่มตีตลาดซีรีส์วายในไทยมากขึ้น หรือหากเป็นซีรีส์ที่ไม่ได้ลงแพลตฟอร์มที่ต้องสมัครสมาชิกเพื่อจ่ายเงินดู ก็มีการนำมาอัปโหลดลงใน YouTube โดยไม่เก็บค่าสมาชิก เช่น ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ เดอะ ซีรี่ส์ ในปี 2016 ซึ่งในระยะแรกนั้นยังพบซีรีส์วายที่ฉายในยูทูบน้อยมาก ในปี 2017 พบเพียง 3 เรื่อง เช่น เรื่อง GAY OK BANGKOK SS2 ปี 2018 พบเพียง 1 เรื่องนั้น คือเรื่อง What The Duck รักแลนดิ้ง ต่อมาในปี 2019 ถึงขยับเพิ่มขึ้นเป็น 13 เรื่อง มีซีรีส์ยอดนิยมมากมาย เช่น 2Moons S2 The Series เดือนเกี้ยวเดือน 2, 2 Wish The Series, TharnType The Series เกลียดนักมาเป็นที่รักกันซะดีๆ เป็นต้น จนกระทั่งปี 2023 พบมากถึง 38 เรื่องด้วยกัน รวมแล้วซีรีส์ที่ฉายผ่านช่องทางดังกล่าว มีมากถึง 112 เรื่องเลยทีเดียว และในปี 2019 บริษัท Tencent เปิดตัว WeTV สตรีมมิ่งสัญชาติจีนเพื่อเปิดตลาดวีดีโอสตรีมมิ่งไทย แรกเริ่มมีการซื้อซีรีส์วายมาฉาย พบว่ามี 4 เรื่อง ได้แก่ 2 Wish The Series, Love Poison ข่อยฮักเจ้า เรารักกัน ภาค 1, Missing Piece และ รักของพี่เกิดที่ 7-11 จากปีแรกเริ่มที่มีเพียง 4 เรื่อง ตามมาด้วย iQIYI (อ้ายฉีอี้) สตรีมมิ่งสัญชาติจีนที่เริ่มตีตลาดในไทยด้วยเช่นกัน
GMMTV เจ้าพ่อผู้ผลิตซีรีส์วาย
จากการสำรวจข้อมูลพบว่าใน 131 บริษัทที่ผลิตซีรีส์วายลงจอในช่วงปี 2014-2023 บริษัทที่ผลิตซีรีส์วายออกมามากที่สุดคือ GMMTV จำนวน 58 เรื่อง คิดเป็น 19.46% เช่น SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง (2016) เพราะเราคู่กัน 2gether The Series (2020) แค่เพื่อนครับเพื่อน BAD BUDDY SERIES (2021) ตามมาด้วย Studio Wabi Sabi จำนวน 16 เรื่อง คิดเป็น 5.37% ที่ผลิตซีรีส์สุดฮิตอย่าง บังเอิญรัก Love by Chance (2018) กับคู่จิ้น #เพิร์ธเซ้นต์ ตามมาด้วย COPY A BANGKOK จำนวน 9 เรื่อง คิดเป็น 3.02% มีซีรีส์ชุด Y-Destiny หรือเป็นที่พรหมลิขิต (2021) ที่มีคู่จิ้นมากถึง 7 คู่ในเรื่อง, บริษัท Star Hunter Entertainment จำนวน 7 เรื่อง คิดเป็น 2.35% ผู้ผลิตซีรีส์มังกรกินใหญ่ Big Dragon The Series (2022), บริษัท 9Naa Production จำนวนน 7 เรื่อง คิดเป็น 2.35% ผู้ผลิตซีรีส์ Check Out คืนนั้นกับนายดาวเหนือ (2023) ,
บริษัท Mandee Work จำนวน 7 เรื่อง 2.35% กับซีรีส์ที่มีคู่จิ้นสุดฮิตอย่าง #ซีนุนิว #แม้กณฐ ในซีรีส์ชุดนิ่งเฮียก็หาว่าซื่อ และ ดื้อเฮียก็หาว่าซน, บริษัท TV Thunder จำนวน 7 เรื่อง คิดเป็น 2.35%ที่ผลิตซีรีส์สืบสวนสอบสวนและเนื้อหาเข้มข้นอย่างเรื่อง พฤติการณ์ที่ตาย Manner of Death (2020) กับคู่จิ้น #แม็กซ์ตุลย์, บริษัท Me Mind Y จำนวน 6 เรื่อง คิดเป็น 2.01% ที่ผลิตซีรีส์ต้นกำเนิดคู่จิ้นสุดฮอตอย่าง #มิวกลัฟ ในเรื่อง ธารไทป์ TharnType The Series เกลียดนักมาเป็นที่รักกันซะดีๆ นอกจากนี้ยังมี บริษัท MFlow Entertainment จำนวน 6 เรื่อง คิดเป็น 2.01% , บริษัท Wayufilm Production จำนวน 6 เรื่อง คิดเป็น 2.01% , บริษัท Dee Hup House จำนวน 5 เรื่อง คิดเป็น 1.68%, บริษัท GREATDIGIT COMPANY จำนวน 5 เรื่อง คิดเป็น 1.68%, บริษัท Jinloe Media Work จำนวน 5 เรื่อง 1.68% , และ บริษัทอื่นๆที่ผลิตซีรีส์วายน้อยกว่า 5 เรื่อง มีจำนวน 154 เรื่อง
ซีรีส์วายเรื่องแรกที่ GMMTV ผลิตออกมาคือ Room Alone 401-410 (2014) ถึงแม้จะไม่ใช่ซีรีส์ที่มีคู่เอกเป็นชาย-ชาย แต่ทว่าเป็นจุดกำเนิดของคู่จิ้นอย่าง #กันอชิแอมป์ ต่อมาในปี 2016 ก็ทยอยผลิตซีรีส์ออกซึ่งเพิ่มคู่จิ้นชาย-ชายเข้าไปในเนื้อเรื่องด้วย อาทิ Kiss The Series รักต้องจูบ กับคู่จิ้นปิ๊กโรม หรือออฟกัน ตามมาด้วยการผลิตซีรีส์ชาย-ชายแบบเต็มรูปแบบในปีเดียวกันอย่าง SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง ซึ่งมีคู่จิ้นสุดฮอตจนสร้างปรากฏการณ์ทั่วเอเชียอย่างคริสสิงโต
สำหรับบริษัท Studio Wabi Sabi เรื่องแรกที่ผลิตออกมาคือ บังเอิญรัก Love By Chance (2018) เดิมเป็นนิยายที่ได้รับความนิยมมากในเว็บไซต์เด็กดี ซึ่งได้ผู้กำกับอย่าง นิว-ศิวัจน์ สวัสดิ์มณีกุล ที่เป็นทั้งเป็นผู้จัดและกำกับซีรีส์ และเจ้าของสตูดิโอ Wabi Sabi มารับหน้าที่ดูแลทั้งหมด แม้จะเป็นซีรีส์ภายใต้ชื่อ สตูดิโอ Wabi Sabi เป็นเรื่องแรก แต่ผู้กำกับเคยมีผลงานมาก่อนจากซีรีส์วายเรื่องอื่นๆ อย่าง เดือนเกี้ยวเดือน, วอร์เตอร์บอย มาแล้ว ส่งผลให้ซีรีส์บังเอิญรักออนแอร์ก็ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี โดยมียอดเข้าชมทาง LINE TV กว่า 124 ล้านครั้ง ทั้งยังได้รับความนิยมในต่างประเทศอีกด้วย และต่อมาก็มีผลงานอีกมากมาย เช่น 2 Wish The Series, Until We Meet Again ด้ายแดง, กลรักรุ่นพี่, เชือกป่าน เป็นต้น
ส่วนบริษัท COPY A BANGKOK หากพูดชื่อละครที่บริษัทเคยผลิตมาก็ล้วนโด่งดังทั้งสิ้น โดยเรื่องแรกที่บริษัทลงมือผลิตคือผลงานแจ้งเกิดคู่จิ้นถึง 3 คู่ ทั้ง #บูมพีค (พีค-ภีมพล พาณิชย์ธำรง,บูม-กฤตภัค อุดมพานิช) หรือที่ใช้ชื่อว่า ฟิวส์-ธีร์ ในซีรีส์ คู่ #โอมเต้ย (เต้ย-สิทธิวัฒน์ อิ่มเอิบปฐม, โอมภวัต จิตต์สว่างดี) และคู่ #บอนน์บีม (บีม-กฤตภัค อุมพานิช,บอนน์-มนภัทร เตชะกำพุ) ในเรื่อง Make It Right รักออกเดิน (2016) และต่อมาก็ผลิตซีรีส์เรื่อง Y-Destiny หรือเป็นที่พรหมลิขิต ซึ่งก็แจ้งเกิดคู่จิ้นมากถึง 7 คู่ ทั้งแม้ก ศรัณย์ รุจีรัตนาวรพันธ์ กับ ณัฐ ณฐสิชณ์ เอื้อเอกสิชฌ์ ในคู่ #แม้กณฐ , กร กรณรัสย์ องค์สรานนท์ กับ กัง กันต์พงษ์ กุลธนาเรืองนนท์ ในคู่ #กังกร รวมไปถึง #เต้แชป (แชป ศุภชีพ ชนะภัย กับ เต้ ชยพัทธ์ คงทรัพย์) #โทรุเฟิร์ส (โทรุ โทรุ ทากิซาว่า กับ เฟิร์ส ปิยังกูร เสาหิน) #อู๋พี (พี พีรวิชญ์ พลอยนำพล กับ อู๋ นิติธร จันฤาไชย) #ยุ่นเล (เล ทะเล สงวนดีกุล กับ ยุ่น ภูษณุ วงศาวณิชชากร กับ เพิร์ธ นคุณ สเกร) และคู่ #ต้นจ๊าบ (จ๊าบ ภูมิสิทธิ์ เวศกิจกุล – ศรัณญ์ อนันตะเศรษฐกูล)
นอกจากนี้บางบริษัทอาจไม่ได้ผลิตผลงานออกมามากมาย แต่ผลิตผลงานออกมาเรื่องแรกก็กลายเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมเลย เช่น บริษัท Me Mind Y ผู้ผลิตซีรีส์ TharnType The Series เกลียดนักมาเป็นที่รักกันซะดีๆ (2019) จนแจ้งเกิดคู่จิ้น #มิวกลัฟ ทั้งนี้ซีรีส์เรื่องแรกของบริษัทก็เป็นผลงานนิยายของผู้ก่อตั้งอย่าง เมย์ อรวรรณ วิชญวรรณกุล นามปากกา MAME เองด้วย กล่าวได้ว่าบริษัทเปิดตัวมาเพื่อผลิตซีรีส์วายที่ผลิตเองตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำเลยทีเดียว
ทั้งนี้บริษัททั้งหมด 131 บริษัทที่ผลิตซีรีส์วายออกมาสู่ตลาดเหล่านี้ หากสำรวจสัญชาติหรือความเป็นเจ้าของ ก็จะพบว่าเป็นบริษัทสัญชาติไทยกว่า 126 บริษัท เช่น GMMTV, Studio Wabi Sabi, COPY A BANGKOK เป็นต้น และยังมีบริษัทจีน 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท WeTV เช่น เรื่องพฤติการณ์ที่ตาย (Manner of Death) ละครชุดแนว สืบสวนสอบสวน ผลิตโดย WeTV ภายใต้ความร่วมมือกับ ทีวี ธันเดอร์ , บริษัท CIBN Film ผลิตซีรีส์ที่มีตัวเอกเป็นชายและหญิงเรื่อง Love Complex คอนโดวุ่นจุ้นรัก โดยผลิตร่วมกับบริษัท Greatest Entertainment และบริษัท QPower ซึ่งผลิตซีรีส์เรื่อง สูทรักนักออกแบบ ทั้งนี้ยังพบบริษัทที่ร่วมมือระหว่างไทยและจีนอย่าง Jinloe Media Work ที่ผลิตซีรีส์เรื่อง รักชอบเจ็บ (2023) บริษัทไทย-สิงคโปร์อย่าง IME PRODUCTIONS เป็นต้น
ปัจจุบันซีรีส์วายไทยไม่เพียงแต่ผลิตโดยโปรดักชั่นหรือนายทุนในประเทศเท่านั้น จากข้อมูลพบว่าแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งหลายแห่งมีงบประมาณไปทำซีรีส์มาลงแพลตฟอร์มตนเอง ทั้งให้งบสำหรับการพัฒนาบทและโปรดักชั่นไปจนถึงขั้นตอนการผลิตอื่นๆ กลายเป็นซีรีส์ที่ลงท้ายว่า Original อาทิ WeTV ที่มีซีรีส์ฉบับ Original เช่น Knock Knock Boys! บ้านหนุ่มโสด โหมดพร้อมเลิฟ, กลรักรุ่นพี่ Love Mechanics, 609 Bedtime Story ไม่เพียงแพลตฟอร์มเดียวเท่านั้น บางเรื่องเป็นการร่วมทุนกันระหว่างไทยและต่างชาติ เช่น เรื่อง Call It What You Want จะรักก็รักเหอะ ภาค1 (2021) ที่นับเป็น Gagaoolala Original ถือเป็น BL ไทยเรื่องแรกที่ร่วมทุนไทยและไต้หวัน และเรื่องเดือนเกี้ยวเดือน 3 ซึ่งเป็นการร่วมทุนกันระหว่างไทยและจีน เป็นต้น

เส้นทางคู่จิ้นในจักรวาลซีรีส์วายไทย กว่าจะเป็นคู่จิ้นกันได้ ไม่ใช่แค่พรหมลิขิต
การที่ซีรีส์วายเรื่องหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้ ไม่ใช่แค่พล็อตเรื่อง บทน่าสนใจ หรืออยู่ภายใต้โปรดักชั่นของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเม็ดเงินและช่องทางในการทำพีอาร์เท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า ‘คู่จิ้น’ ไม่ว่าจะเป็นคู่หลักหรือคู่รองในเรื่อง ว่ามีเคมีต่อกันให้เกิดการ ‘จิ้น’ (ทั้งในจอและนอกจอก ในบทและนอกบท) มากน้อยแค่ไหน ซึ่งการจะหานักแสดงชายสองคนมาสร้างเป็นคู่จิ้นที่ได้รับความนิยมนั้น ไม่ใช่แค่การหาเด็กหนุ่มหน้าตาดี หุ่นดี มาแสดงร่วมกันในซีรีส์วายเพื่อเกิดเป็นคู่จิ้นเท่านั้น แต่ยังเกิดจากหลายเหตุปัจจัย ที่สำคัญ คู่จิ้นที่เกิดขึ้น เหมือนการทดลองมากกว่าจะเกิดขึ้นโดยความบังเอิญ
โดยเมื่อนำเอาคู่จิ้น 227 คู่ ในซีรีส์วาย 253 เรื่องตลอดช่วงปี 2014-2023 มาจำแนกประเภทของการเดินทางสู่การเป็นคู่จิ้นนั้น พบว่าสามารถแยกได้เป็น 3 รูปแบบดังนี้

แบบที่ 1 : คู่จิ้น Perfect Match: คู่จิ้นที่เล่นคู่กันตั้งแต่ครั้งแรกแล้วไม่เคยถูกแยกคู่อีกเลย เปรียบเสมือนพรหมลิขิตให้มาคู่กัน
เส้นทางของคู่จิ้น Perfect Match มีตัวอย่างให้เห็น เช่น คู่จิ้น #ออฟกัน หรือ จุมพล อดุลกิตติพร (ออฟ) และ กัน อรรถพันธ์ พูลสวัสดิ์ (กัน) มีซีรีส์คู่กัน 6 เรื่อง สำหรับคู่ออฟกันเริ่มต้นความสัมพันธ์จากซีรีส์เรื่อง “รุ่นพี่ Secret Love ตอน Puppy Honey สแกนหัวใจนายหมอหมา” ออกอากาศทางช่อง GMM 25 ในปี 2016 โดยออฟรับบทปิ๊ก ส่วนกันรับบทโรม ซึ่งเป็นเพียงคู่รองชาย-ชาย ในซีรีส์ชาย-หญิง แต่ทว่ากลับประสบความสำเร็จอย่างมาก ได้รับความนิยมจากผู้ชม ทั้งในไทยและต่างประเทศ ด้วยเคมีที่เข้ากันส่งผลให้ทั้งคู่มีแฟนคลับเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งมีการสานต่อบทบาทของปิ๊กและโรมในซีรีส์ “รุ่นพี่ Secret Love ตอน Puppy Honey 2” ในปี 2017 ซึ่งเป็นภาคต่อที่เล่าเรื่องราวของคู่ปิ๊กและโรมมากขึ้น จากนั้นปี 2018 มีตอนที่เล่าเรื่องราวของปิ๊กโรมโดยเฉพาะในเรื่อง Our Skyy อยากเห็นท้องฟ้าเป็นอย่างวันนั้น และหลังจากนั้นออฟกันก็มีซีรีส์คู่กันมาเรื่อยๆ ทั้งเรื่อง Theory of Love ทฤษฎีจีบเธอ (2019) Not Me เขา ไม่ใช่ผม (2021) Cooking Crush อาหารเป็นยังไงครับหมอ (2023) จากเส้นทางคู่จิ้นจะพบว่าทั้งออฟและกันไม่เคยแยกจากกันเลยในเส้นทางนี้ และการจับคู่จิ้นของทั้งคู่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
คู่จิ้น #แม้กณฐ ระหว่าง แม้ก กรธัสส์ รุจีรัตนาวรพันธุ์ และ ณฐ ณฐสิชณ์ เอื้อเอกสิชฌ์ มีซีรีส์คู่กัน 5 เรื่อง โดยเส้นทางคู่จิ้นของทั้งแม้กและณฐ เริ่มจากการเป็นคู่รองในเรื่อง WHY R U The Series เพราะรักใช่เปล่า (2020) ต่อมาก็มีซีรีส์คู่กันในเรื่อง Close Friend โคตรแฟน ภาค 1 (2021) ซึ่งเป็นเพียงคู่รองในเรื่องเช่นกัน ตามมาด้วย Y-Destiny หรือเป็นที่พรหมลิขิต (2021) ซึ่งก็ยังคงรับบทเป็นคู่รองในเรื่องเท่านั้น จนกระทั่งแจ้งเกิดจากซีรีส์วายเรื่อง “นิ่งเฮียก็หาว่าซื่อ” ในปี 2022 จากการเป็นคู่รองในเรื่อง ซีรีส์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก ได้รับความนิยมจากผู้ชม ถึงแม้ว่าซีรีส์นิ่งเฮียก็หาว่าซื่อ จะจบลงแล้ว แต่คู่จิ้นแม้กณฐยังคงเป็นที่ชื่นชอบของแฟนคลับ ทำให้ในปี 2023 แม้กณฐมีซีรีส์ที่เป็นคู่หลักเรื่องแรก ในภาคแยกชื่อ “Naughty Babe ดื้อเฮียก็หาว่าซน” แม้ว่าจะใช้เวลาตั้งแต่ปี 2020 กว่าจะมีซีรีส์ภาคแยกเป็นของตัวเอง แต่ทั้งแม้กและณฐก็ไม่เคยแยกจากกันในเส้นทางคู่จิ้นเลย
คู่ต่อมาคือ #บิวกิ้นพีพี หรือ บิวกิ้น พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล และ พีพี กฤษฏ์ อำนวยเดชกร ที่มีซีรีส์คู่กัน 3 เรื่อง โดยคู่จิ้นนี้แจ้งเกิดจากซีรีส์วายเรื่อง ‘My Ambulance รักฉุดใจนายฉุกเฉิน’ ที่ออกอากาศทาง LINE TV ในปี 2019 ในบทบาทของหมอเต่าและทิวเขา และแม้ทั้งคู่จะเป็นเพียงคู่จิ้นรองในละคร My Ambulance รักฉุดใจนายฉุกเฉิน แต่ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จากกระแสคู่จิ้นหมอเต่าและทิวเขา ทำให้นาดาวบางกอก ได้หยิบขึ้นมาต่อยอดเป็นโปรเจกต์พิเศษ BKPP Project เดิมทีนฤเบศ กูโน (ผู้กำกับ) วางแผนสร้างซีรีส์เป็นภาคต่อจากตัวละคร แต่ด้วยบทละครที่ทำให้ตัวละครหนึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ทำให้ทีมพัฒนาบทไม่สามารถหาวิธีการจับคู่ขึ้นมาใหม่ได้ ทำให้นฤเบศ กูโน ซึ่งเป็นผู้กำกับนั้นตัดสินใจเขียนบทใหม่ทั้งหมด ซึ่งระบุว่าบทละครแปลรักฉันด้วยใจเธอ อ้างอิงมาจากชีวิตจริงของทั้งบิวกิ้นและพีพี เป็นเค้าโครงต้นแบบ จึงเป็นที่มาของซีรีส์ “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” ทั้งภาค 1 และ ภาค 2
นอกจากคู่ที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังพบเส้นทางคู่จิ้นของ #แม็กซ์ตุลย์ ที่มีซีรีส์คู่กันทั้งหมด 4 เรื่องตั้งแต่ปี 2016-2020 ที่โด่งดังจากซีรีส์วายเรื่อง “Bad Romance The Series” ออกอากาศทาง LINE TV รวมไปถึงคู่ #จิมมี่ซี คู่ #ฟอสบุ๊ค จากค่าย GMM เป็นต้น

แบบที่ 2 : คู่กันแล้วไม่แคล้วกัน: คู่จิ้นที่เคยแสดงด้วยกัน แต่อาจจะต้องแยกกันไปทำงานอื่น แต่ท้ายที่สุดก็ได้กลับมาหากัน ตามสุภาษิตที่ว่าคู่กันแล้วไม่แคล้วกัน
สำหรับคู่จิ้นแบบที่ 2 ที่อาจจะไม่ได้คู่กันมาตั้งแต่แรกแต่เมื่อมาแสดงด้วยกันก็โด่งดังจนกลายเป็นคู่จิ้น หรือมีการสลับคู่บ้างในระหว่างทาง ตัวอย่างเช่น คู่จิ้น #เตนิว เต ตะวัน วิหครัตน์ และ นิว ฐิติภูมิ เตชะอภัยคุณ แจ้งเกิดจากซีรีส์ “Kiss: The Series” เตและนิวได้รับการจับคู่จิ้นในซีรีส์เรื่องนี้เป็นครั้งแรก เตรับบทเป็นพีท และนิวรับบทเป็นเก้า โดยทั้งคู่เป็นเพียงคู่รองในเรื่องเท่านั้น ทว่าด้วยการแสดงและเคมีของพวกเขาทำให้ได้รับความนิยมจากแฟนๆ อย่างมาก อย่างไรก็ตามในปี 2017 นิว ฐิติภูมิ มีคู่จิ้นในซีรีส์เรื่อง Water Boyy the Series โดยเป็นคู่จิ้นกับ พิรพัฒน์ วัฒนเศรษสิริ จนเป็นคู่ #เอิร์ทนิว มาก่อน แต่เล่นเป็นคู่จิ้นกันแค่เรื่องเดียวเท่านั้น ต่อมาปี 2018 ซีรีส์ “Kiss Me Again” นิวกลับมารับบทคู่จิ้นกับเตดังเดิม ซึ่งเป็นซีรีส์ภาคต่อของ Kiss: The Series ที่เล่าถึงเรื่องราวก่อนเหตุการณ์ในซีรีส์ภาคแรก ซึ่งทำให้แฟนๆ ได้เห็นการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครของเตและนิว และในปีเดียวกันนั้นยังมีซีรีส์ตอนเดี่ยวของคู่เตนิวโดยเฉพาะอย่างเรื่อง “Our Skyy อยากเห็นท้องฟ้าเป็นอย่างวันนั้น” ทั้งนี้เพื่อสานต่อเรื่องราวสุดจิ้นของเตนิว ปี 2019 ทั้งคู่มีซีรีส์ภาคแยกชื่อ “Dark Blue Kiss” ซีรีส์ภาคต่อที่เล่าเรื่องราวหลังจาก Kiss: The Series ในครั้งนี้ เตและนิวเป็นคู่หลักในเรื่อง และเนื้อหาของซีรีส์เข้มข้นและมีความดราม่ามากขึ้น ส่งผลให้คู่จิ้นเตนิวเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และหลังจากนั้นนิวก็เริ่มรับบทที่หลากหลายมากขึ้น มีรับบทคู่กับนักแสดงหญิงเรื่องๆอื่นๆ อาทิ “อุ่นไอในใจเธอ Put Your Head On My Shoulder” (2021) นิวรับบทพระเอกซีรีส์ในแบบฉบับรีเมคเวอร์ชั่นไทย , เธอซึมเศร้า แต่เขา OCD (You are my missing piece) (2022) เป็นต้น จนกระทั่งปี 2023 ซึ่งทั้งเตและนิวกลับมาเจอกันอีกครั้งในฐานะคู่จิ้นที่คู่กันแล้วย่อมไม่แคล้วกัน ในเรื่อง “Cherry Magic! 30 ยังซิง” เวอร์ชันไทยนำแสดงโดย เต ตะวัน และ นิว ฐิติภูมิ ซึ่งเป็นการดัดแปลงจากซีรีส์ญี่ปุ่นยอดนิยม เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชายหนุ่มที่เมื่ออายุครบ 30 ปีและยังเป็นโสด จะได้รับพลังวิเศษในการอ่านใจคนอื่นได้เมื่อสัมผัสตัว
หรือคู่จิ้นในตำนาน #คริสสิงโต อย่าง คริส พีรวัส แสงโพธิรัตน์ และ สิงโต ปราชญา เรืองโรจน์ คู่จิ้นในตำนานที่ได้รับความนิยมอย่างมากในระดับโลก จุดเริ่มต้นมาจาก ปี 2016 กับซีรีส์ “SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง” ซึ่งร่วมแสดงด้วยกันเป็นครั้งแรก คริสรับบทเป็นอาทิตย์ และสิงโตรับบทเป็นก้องภพ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในระบบโซตัสของมหาวิทยาลัย ซึ่งซีรีส์นี้ได้รับความนิยมอย่างมากและเป็นจุดเริ่มต้นของคู่จิ้น #คริสสิงโต หรือกลุ่มแฟนคลับตั้งชื่อว่า #พีรญา (มาจากชื่อจริงของคริสและสิงโตรวมกัน) ต่อมาปี 2017 ความสำเร็จของซีรีส์ภาคแรกนำไปสู่การทำภาคต่อคือ “SOTUS S The Series โซตัสเอสเดอะซีรีส์” ซึ่งเล่าเรื่องราวหลังจากที่ก้องภพและอาทิตย์เริ่มทำงานแล้ว ความสัมพันธ์ของพวกเขาได้พัฒนาขึ้นและมีความน่ารักมากขึ้น และปี 2018 โปรเจกต์พิเศษที่นำเอาคู่จิ้นจากซีรีส์วายต่างๆ มาร่วมแสดง ในตอนของคริสสิงโต ได้เล่าเรื่องราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับชีวิตคู่ของก้องภพและอาทิตย์ ในเรื่อง “Our Skyy อยากเห็นท้องฟ้าเป็นอย่างวันนั้น” ความนิยมของซีรีส์ทำให้คริสสิงโตได้รับการยอมรับและความนิยมจากแฟนๆ ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งคู่ได้รับรางวัลและการยอมรับในฐานะนักแสดงและคู่จิ้นที่มีเคมีที่ดี อาทิ คว้ารางวัลงาน V-Chart Award ที่มาเก๊า ทั้งยังได้รางวัล Media Recommendation Artist Award 2017 รวมถึงสิงโตเองก็ได้รับรางวัล Most Popular New Artists Of The Year มาครองอีกด้วย นอกจากนี้ทั้งคู่ยังได้ทำงานร่วมกันในโปรเจกต์ต่างๆ เช่น มีตติ้ง แฟนมีต รวมถึงแฟนมีตติ้งในต่างประเทศด้วย
อย่างไรก็ตามแม้ว่าทั้งคู่จะเป็นคู่จิ้นในตำนาน แต่ทั้งคริสและสิงโตก็ได้ทดลองเล่นซีรีส์ในบทบาทต่างๆ ที่แตกต่างกันไป เช่น สิงโตจับคู่กับนะ ธนบูลย์ วัลลภศิรินันท์ ในบทบาทคู่จิ้น #พิชเชอร์บีเอ็ม จากเรื่อง U-PRINCE SERIES ตอน เฟิร์สคลาส (2017) หรือในเรื่อง Baker Boys รักของผม ขนมของคุณ (2021) ที่นำแสดงโดย ฐานัฐพ์ โล่ห์คุณสมบัติ และปราชญา เรืองโรจน์ จนมีคู่จิ้นกันชื่อว่า สิงโต-ลี หรือชื่อในซีรีส์อย่าง #ปุณเวียร์ เป็นต้น ขณะเดียวกัน คริส พีรวัสก็ได้รับบทที่หลากหลายด้วยเช่นกัน อาทิ Be My Favorite บทกวีของปีแสง (2023) ซึ่งคริสเล่นคู่กับ กวิน แคสกี้ จนเกิดเป็นคู่จิ้น #คริสกวิน #กวินคริส
ไม่เพียงแต่ในซีรีส์วายเท่านั้น แต่ทั้งคู่ยังมีผลงานอื่นๆ ด้วย เช่น Who are you เธอคนนั้น คือ ฉันอีกคน (2020) คริส พีรวัสรับบทพระเอก คู่กับ น้ำตาล ทิพนารี วีรวัฒโนดม หรือ ซีรีส์เรื่อง เขามาเชงเม้งข้าง ๆ หลุมผมครับ He’s Coming To Me (2019) สิงโตจับคู่กับ โอม ภวัต จิตต์สว่างดี , เจนนี่ กลางวันครับ กลางคืนค่ะ! Jenny A.M. (2022) โดยสิงโตได้รับบทบาทเป็นเจนนี่ในช่วงกลางคืน ทั้งนี้อาจเพราะเป็นคู่กันแล้วย่อมไม่แคล้วกัน เมื่อ 15 มิถุนายน 2024 ทั้งคริสและสิงโตจัดแฟนมีตติ้งในชื่อ “PERAYA PARTY BEGIN AGAIN” #KristSingtoFanmeeting โดยถือว่าเป็นการกลับมาพบกัน โดย “คริส-สิงโต” เผยถึงคอนเซ็ปต์ครั้งนี้ว่า “พวกเรารู้สึกดีใจมากๆ เป็นการกลับมาทำงานด้วยกันในรอบ 2-3 ปี ทั้งยังระบ่วาจะมีการกลับมาเล่นซีรีส์คู่กันอีกในรอบ 7 ปี โดยได้ให้สัมภาษณ์คู่กัน ในงานแถลงข่าว GMMTV 2024 Up & Above Part 2 เผยถึงโปรเจกต์ซีรีส์ที่หวนกลับมาเล่นคู่กันอีกครั้ง ในเรื่อง “the Ex morning แฟนเก่าเปลี่ยนแปลงบ่อย”
นอกจากคู่ข้างต้นสำหรับคู่จิ้นที่เริ่มต้นแสดงด้วยกัน แต่บางครั้งอาจจะต้องแยกกันทำงาน แต่ท้ายที่สุดก็ได้กลับมาหากัน ตามสุภาษิตที่ว่าคู่กันแล้วไม่แคล้วกันแล้ว ยังมีคู่จิ้นอื่นๆ อีกหลายคู่กลับมาพบกัน เช่น #จาเฟริสท์ #เต้ตี๋ #นัทกานต์ ที่ได้หวนกลับมาเล่นซีรีส์คู่กันอีกด้วย

แบบที่ 3 คู่จิ้นฉบับทดลอง: คู่จิ้นที่ถูกจับคู่ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอคนที่มีเคมีตรงกัน
นอกจากเส้นทางของคู่จิ้นฉบับ Perfect Match และคู่จิ้นฉบับรักกันแล้วไม่แคล้วกัน ยังพบว่ามีคู่จิ้นอีกมากมายที่เสมือนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ด้วยการจับคู่ไปเรื่อยๆ แสวงหาเส้นทางการแสดงเพื่อทดลองบทที่หลากหลายรวมไปถึงการหาคู่จิ้นที่ลงตัว อาทิ คู่จิ้น #โอห์มฟลุ๊ค อย่าง โอห์ม ฐิติวัฒน์ ฤทธิ์ประเสริฐ และ ฟลุ๊ค ณธัช ศิริพงษ์ธร ทั้งคู่ได้เล่นซีรีส์เรื่อง “Until We Meet Again: ด้ายแดง” คู่กัน ซึ่งเป็นซีรีส์วายไทยที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ออกอากาศครั้งแรกในปี 2019 ซีรีส์นี้สร้างจากนิยายชื่อเดียวกันของ LazySheep และมีความโรแมนติก-ดราม่าเกี่ยวกับความรักที่ข้ามภพข้ามชาติ
ก่อนหน้าฟลุ๊คมีผลงานมามากมาย ทั้งในเรื่องพี่ชาย My Bromance (2014) ภาพยนตร์อิสระแนวโรแมนติกดราม่า เป็นหนังรักเพศเดียวกันจากวายุฟิล์มโปรดักชั่น ผลงานของผู้กำกับณิชภูมิ ชัยอนันต์ ต่อมาเพื่อสานต่อความนิยมของภาพยนตร์ พี่ชาย My Bromance มีเวอร์ชั่นซีรีส์ ซึ่งกำหนดให้เป็นภาต 2 นำแสดงโดย ธีรภัทร โลหนันทน์ และพงศธร ศรีปินตา ดังเดิม และในปี 2015 ฟลุ๊คยังมีภาพยนตร์แนวชายรักชายอีกครั้งในเรื่องคืนนั้น Red Wine In The Dark Night กำกับโดย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ จนกระทั่งฟลุ้ค-พงศธร ศรีปินตา เริ่มได้รับความนิยมบท ภาม ในซีรีส์เรื่อง ด้ายแดง (Until We Meet Again) คู่กับ ฐิติวัฒน์ ฤทธิ์ประเสริฐ และเริ่มมีผลงานคู่กันมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้ง Close Friend โคตรแฟน ภาค 1 (2021) 608 Bedtime Story (2022) Close Friend 2 โคตรแฟน ภาค2 (2022) เลิฟ@นาย Oh! My Sunshine Night (2022) ทว่าเส้นทางการแสดงของฟลุ้คก็ไม่ได้หยุดแค่นั้น เนื่องจากในปี 2023 ฟลุ้คได้ทดลองเล่นกับคู่จิ้นอื่นๆ อีก เช่น ภารกิจนายเทวดา Make a Wish the series คู่กับ ยูโด ธรรม์ธัช หรือเรื่อง Shadow เงา / ล่า / ตาย ในปี 2023 คู่กับนักแสดงซีรีส์วายมากฝีมืออย่าง ปราชญา เรืองโรจน์
ขณะเดียวกัน โอห์ม-ฐิติวัฒน์ ฤทธิ์ประเสริฐ ก็ได้ทดลองจับคู่และบทที่หลากหลายด้วยเช่นกัน เช่น Bake Me Please พิชิตใจนายสายหวาน (2023) ซีรีส์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรักและการทำขนม คู่กับไกด์ กันตพล ชมภูพันธ์ จากข้างต้นจะเห็นว่าเส้นทางการแสดงของฟลุ้คไม่ได้หยุดนิ่ง มีการทดลองจับคู่จิ้นกับนักแสดงมากมายในบทบาทที่หลากหลาย และไม่ได้จำกัดว่าต้องจับคู่จิ้นแค่คนเดียวเท่านั้น
นอกจากคู่ที่ยกตัวอย่างมา จากการสำรวจนักแสดงในซีรีส์วายจำนวน 380 คน ใน 227 คู่ พบว่ายังมีอีกหลายคู่จิ้นที่ยังทดลองจับคู่ไปเรื่อยๆ เช่น พาเวล นเรศ พร้อมเผ่าพันธ์ เคยมีผลงานคู่กับวรนาถ รัตธนภาส ในเรื่อง 2Moons S2 The Series เดือนเกี้ยวเดือน 2 (2019), คู่กับ ภาณุพันธ์ วงศ์จร ในเรื่อง เพลงที่รัก (2022) และคู่กับกฤติน กิจจารุวรรณกุล ในเรื่อง Pit Babe พิษเบ๊บ เดอะ ซีรีส์ (2023) ซึ่งฉายทางช่อง One31 จนทำให้ทั้งพาเวล และพูห์ ซึ่งเป็นคู่จิ้นโด่งดังขึ้น
หรือ โอม ภวัต จิตต์สว่างดี ซึ่งโด่งดังจากเรื่อง Bad Buddy Series แค่เพื่อนครับเพื่อน (2021) ซึ่งเป็นคู่จิ้นกับ นนน กรภัทร์ เกิดพันธุ์ จนถือกำเนิดเป็นคู่จิ้น #โอมนนน นั้น โอม ภวัตเคยเล่นคู่กับนักแสดงอื่นๆมาก่อน เช่น คู่ #โอมเต้ย เรื่อง Make It Right รักออกเดิน ทั้งภาค 1 และ ภาค 2 ในบทบาทของบุ๊ค-เฟรม คู่กับ สิทธิวัฒน์ อิ่มเอิบปฐม หรือเคยเล่นกับนักแสดงวายสุดฮอตอย่าง สิงโต ปราชญา เรืองโรจน์ ในเรื่อง เขามาเชงเม้งที่ข้างๆหลุมผมครับ (2019) ด้วย และหลังจากที่ไม่ได้ร่วมงานกับนนน แล้ว โอห์มก็ยังมีการจับคู่ใหม่กับ ‘เล้ง’ ในซีรีส์เรื่อง KIDNAP ลับ-จ้าง-รัก (2024)
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า กว่าที่จะเกิดเป็น ‘คู่จิ้น’ ที่โด่งดังได้รับความนิยม และถือเป็น ‘คู่จิ้น’ ตัวจริงในวงการซีรีส์วาย การจะปั้น ‘คู่จิ้น’ ในแบบ Perfect Match ที่จับคู่ครั้งแรกปุ๊ป เคมีตรงกันกลายเป็นคู่จิ้นต่อกันไปยาวๆ เลยนั้นมีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก ใน 227 คู่ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีอย่างน้อย 25 คู่เท่านั้นที่ถือว่าเล่นเรื่องแรกด้วยกันแล้วกลายเป็นคู่จิ้นโดยที่ไม่ถูกจับแยกอีกเลย
ในขณะที่คู่จิ้นแบบคู่กันแล้วไม่แคล้วกันนั้น มีหลากหลายปัจจัยทั้งการที่กว่าจะได้โคจรมาแสดงคู่กัน ต่างฝ่ายต่างก็เคยไปคู่กับคนอื่นมาแล้วแต่อาจจะไม่เวิร์ค เมื่อมาคู่กันแล้วโด่งดัง ในถึงอย่างนั้น ในระหว่างทางก็มีการแยกกันไปทำงานที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งการรับบทชาย-หญิง หรือชาย-ชาย กับคู่อื่น แต่แล้วด้วยความนิยมจากการที่เคยเป็นคู่จิ้นกันแต่เดิมทำให้หวนกลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง โดยในรูปแบบนี้มีอย่างน้อย 5 คู่ด้วยกัน
และในรูปแบบสุดท้าย ซึ่งเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นมากที่สุด อย่างน้อย 177 คู่ ก็คือการทดลองหาคู่จิ้นที่เหมาะสมลงตัวและมีเคมีร่วมกันไปเรื่อยๆ ผ่านการทดลองการรับงานแสดงเปลี่ยนคู่ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอคู่จิ้นที่ลงตัว

สำรวจเนื้อหาเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ในซีรีส์วายไทย รสนิยมทางเพศตัวเอกเป็นยังไง ใช่ชายแท้รักกันหรือไม่?
ในบรรดาซีรีส์วายทั้งหมดในรอบ 10 ปีนั้น Rocket Media Lab เลือกชมเรื่องราวของตัวเอกในซีรีส์จำนวน 209 เรื่อง ในเนื้อหานั้นพบว่าสร้างมาจากนิยายถึง 103 เรื่อง คิดเป็น 49.05% และไม่ได้สร้างมาจากนิยายวาย ซึ่งหมายถึงบางครั้งอาจเขียนบทใหม่ขึ้น หรือดัดแปลงมาจากการ์ตูน มังงะ จำนวน 107 เรื่อง คิดเป็น 50.95%และเมื่อสำรวจรสนิยมทางเพศของตัวละครคู่หลักในซีรีส์วาย 418 ตัวละคร 209 คู่ ซึ่งนับเฉพาะคู่หลักของเรื่อง พบว่าตัวเอกสนใจในเพศเดียวกัน หรือชอบผู้ชายมาก่อนแล้ว จำนวน 193 ตัวละคร แบ่งเป็นพระเอก จำนวน 91 ตัวละคร และนายเอก จำนวน 102 ตัวละคร เช่น คินน์ จากเรื่องรักโคตรร้าย สุดท้ายโคตรรัก KinnPorsche The Series ที่พระเอกอย่างคินน์มีแฟนเก่าเป็นผู้ชายด้วยกัน ตามมาด้วยการฉายภาพให้เห็นว่าคินน์มีคู่นอนเป็นผู้ชายอีกด้วย ซึ่งก็พบว่าหลายเรื่องใช้วิธีเล่าว่าพระเอกเอกมีแฟนเก่าเป็นผู้ชายมาก่อน เช่น คืนนั้นกับนายดาวเหนือ (2022) คุณหมีปาฏิหาริย์ (2022) A Boss and a Babe ชอกะเชร์คู่กันต์ (2023) เป็นต้น
ขณะที่ฝั่งนายเอกก็พบการเล่าเรื่องด้วยวิธีนี้มากเช่น นะโม นายเอกจากเรื่อง Beyond the Star เส้นทางรักพิชิตดวงดาว มีแฟนเก่าเป็นผู้ชายมาก่อน โดยตอนที่นะโมกลับมาเจอกันกับแฟนเก่าอีกครั้งก็ยอมรับว่าไม่กล้าทักไป กลัวใจตัวเอง เพราะเป็นคนที่เพิ่งเลิกกัน หรือ พัท นายเอกจากเรื่อง Step By Step ค่อย ๆ รัก ก็มีแฟนเก่าเป็นผู้ชาย ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าการไม่ประกาศว่าเป็นเกย์โดยตรงในซีรีส์วาย อาจเป็นกระบวนการหรือชั้นเชิงในการเล่าเรื่อง หมายความว่าอาจไม่ได้ประกาศตรงๆออกมา แต่ย้อนให้เห็นว่าตัวละครมีรสนิยมอย่างไร ผ่านการบอกว่าเคยมีแฟนเก่าเพศชายมาก่อน เพื่อให้คนดูเข้าใจถึงรสนิยมแบบง่ายๆ
ตามมาด้วยสนใจมากกว่าหนึ่งเพศ หรือบางเรื่องก็ไม่ระบุเพศที่ชอบ จำนวน 159 ตัวละคร ตัวเอกในเรื่องไม่ได้ระบุเพศที่ชอบเฉพาะเจาะจง แต่ใช้วิธีเล่าว่ามีความรักให้กันอย่างไร ตกหลุมรักโดยมองข้ามเพศสภาพอีกฝ่ายไปเลย โดยแบ่งเป็นพระเอก 80 ตัวละคร นายเอก 79 ตัวละคร เช่น เดย์ พระเอกจากเรื่อง Colorful Melody ทำนองรัก จากปลายพู่กัน ไปสอนดนตรีที่สังขละบุรีและเจอกับเมม ซึ่งเป็นนายเอกของเรื่อง รับบทครูสอนวาดรูป ในซีรีส์ไม่ได้เกริ่นหรือบรรยายความชอบของตัวละคร เพราะจู่ๆ ทั้งคู่ก็ตกหลุมรักกัน หรือเรื่อง Golden Blood รักมันมหาศาล พระเอกเป็นบอดี้การ์ดตกหลุมรักกับนายเอกที่เป็นนายน้อย ในเรื่องไม่ได้ระบุเพศหรือรสนิยมทางเพศของตัวเอก มีเพียงการเล่าว่าว่ารักกัน อยากรักในฐานะคนธรรมดา ไม่ใช่ในฐานะนายน้อยกับบอดี้การ์ด หรือตัวละครเนย พระเอกจากเรื่องพี่จะตีนะเนย เนยตามจีบตัวละครแพม ซึ่งเป็นผู้หญิงด้วย เมื่อพระเอกอย่างเนยและนายเอกอย่างทิวามาพบกัน เนยเข้าใจผิดว่าทิวาแอบชอบตัวเอง ทั้งยังบอกกับทิวาว่า “เราไม่ได้ชอบผู้ชาย” แต่ก็ตกหลุมรักทิวาในที่สุด และเนยยังบอกกับเพื่อนในแก๊งอย่างเต็มปากด้วยว่าจะตามจีบยัยติวเตอร์ (ทิวา) อย่างไรก็ตามอาจอนุมานได้ว่าเนยยังเป็นเด็กวัยรุ่นมัธยมปลายที่ยังไม่ค้นพบรสนิยมทางเพศ จึงตามจีบทั้งชายและหญิง จนกระทั่งพบรักกันทิวาในที่สุด
ความน่าสนใจคือหากพระเอกหรือนายเอกไม่ระบุตัวว่ามีรสนิยมทางเพศแบบไหน ซีรีส์จะเล่าแทนว่าพระเอก-นายเอกมีชีวิตที่แวดล้อมไปด้วย LGBTQ+ เคยชินกับความหลากหลายทางเพศ เคยชินกับคนที่มีเพศวิถีตรงข้ามกับเพศสภาพ เป็นชั้นเชิงการเล่าอ้อมๆ อย่างเรื่อง อัยย์หลงไน๋ (AiLongNhai) ที่เล่าว่าอัยย์ถูกเลี้ยงดูมาโดยพ่อแม่คู่รัก LGBTQ+ เรื่อง Evening Cafe’ รักนี้ไม่มีขม ที่นายเอกชีวิตแวดล้อมไปด้วยเจ้านายที่เป็นกะเทย เพื่อนตุ๊ด นายเอกยังพูดจาล้อเล่นว่ามีเพื่อนชายคนสนิทมาเฝ้าจนคนเข้าใจผิดว่ามีผัวมาเฝ้าได้อย่างขำขัน ขณะเดียวกันนายเอกเป็นคนชอบโปรยสเน่ห์ใส่สาวๆ มีแต่สาวมาติดพัน ตอนจบบอกว่ารู้สึกแปลกๆ ที่ถูกจับได้ว่าคบผู้ชาย แต่ไม่ได้รู้สึกแย่อะไร
รสนิยมทางเพศต่อมาคือมีรสนิยมทางเพศที่สนใจในเพศตรงข้าม เคยเป็นผู้ชาย (สเตรท)/ชอบผู้หญิงมาก่อน 56 ตัวละคร แบ่งเป็นพระเอก 32 ตัวละคร นายเอก 24 ตัวละคร เช่น เรื่อง Bad Roommate ล้วงลับจับเมท (2021) ตัวเอกแกล้งเป็นแฟนจนชอบกันจริงๆ แม้ในอดีตพระเอกจะเคยมีแฟนเก่าเป็นผู้หญิงมาก่อนก็ตาม หรือเรื่องหน่าฮ่าน เดอะซีรีส์ (2023) เติ้ลไม้เป็นแฟนกับแคลเซียม เพื่อนหญิงในกลุ่มของยุพิน ก่อนที่เติ้ลจะพบว่าตัวเองต้องเรียนซ้ำชั้น เลยได้เจอกับเค น้องชายของแคลเซียมที่เคยเจอกันเมื่อก่อน ต่อมาต่างคนต่างเจอปัญหาเรื่องความรัก เติ้ลไม้ต้องเลิกกับแคลเซียม เพราะแม่ฝ่ายหญิงขอให้เลิกกลัวว่าหากคบกันต่อไปจะเรียนไม่จบ ส่วนเคเพิ่งอกหักจากเต้ย แฟนหญิงที่รับนิสัยของเคไม่ได้ และต่อมาทั้งเติ้ลไม้และเคก็ตกหลุมรักกัน
นอกจากนี้ยังพบการตั้งคำถามต่อรสนิยมทางเพศของตนใน 10 ตัวละคร แบ่งเป็นพระเอก 6 ตัวละคร นายเอก 4 ตัวละคร เช่น ตัวเอกในเรื่องรักนาย (2022) ตัวเอกตั้งคำถามกับตัวเองว่าก่อนหน้านี้เขาคบผู้หญิงมาโดยตลอด เป็นไปได้ไหมที่เขาจะหลงรักผู้ชาย หรือตัวเอกจากเรื่อง อาตี๋ของผม ที่แกล้งเป็นแฟนกันจนชอบกันจริงเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้หญิงที่ชอบ ส่วนเส้นเรื่องเป็นเหมือนการค้นหารสนิยมทางเพศในวัยรุ่น ยากที่จะระบุออกมาด้วยกันป่าวประกาศ จะได้เห็นว่าซีรีส์ฉายให้เห็นถึงการค้นพบตัวเอง โดยมีอาจารย์แนะแนวมาแนะนำว่า “พวกเราไม่ได้เป็นเกย์ เลสเบี้ยน หรือไบเซ็กชวล พวกเราแค่ตกหลุมรักใครคนหนึ่ง” หรือตัวละครเต๋ พระเอกจากเรื่องแปลรักฉันด้วยใจเธอ เต๋กดดันกับตัวเองเรื่องที่ตัวเองชอบผู้ชาย รู้สึกตั้งคำถามกับความชอบ รสนิยมทางเพศของตนเอง ขณะที่เพื่อนในวัยเดียวกันคบแฟนผู้หญิง และเต๋กลัวทำให้แม่อับอาย อย่างไรก็ตามพี่ชายของเต๋ยอมรับได้ที่น้องชายชอบผู้ชาย โดยพูดว่า “มึงจะชอบใครก็ได้”
ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ แม้ว่าจะพบตัวเอกประเภทตั้งคำถามกับเพศน้อยที่สุดแต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องอื่นๆ ไม่เคยคิดตั้งคำถามเลย เพียงแต่ว่าอาจจะมาในรูปแบบของการตั้งคำถามถึงความรักเสียมากกว่า เช่น ตัวละครในเรื่อง บังเอิญรัก 2 A Chance To Love ที่ตั้งคำถามความรักคืออะไร ไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในหัวใจเลย
หากสำรวจลึกลงไปอีกว่ารสนิยมทางเพศแบบไหนที่มักจะเจอกันในซีรีส์วาย พระเอกยังเป็นชายแท้ที่พบรักกับชายแท้ด้วยกันอยู่ไหม เมื่อสำรวจจาก 209 เรื่อง ซึ่งนับเฉพาะคู่หลักในซีรีส์นั้นๆ พบว่า
พระเอกประเภทที่พบมากที่สุดคือพระเอกที่สนใจในเพศเดียวกัน โดยพระเอกที่เป็นเกย์หรือชอบผู้ชาย มักจับคู่กับนายเอกที่มีรสนิยมทางเพศตรงกัน กล่าวคือเป็นเกย์/ชอบผู้ชาย พบมากถึง 65 คน รองลงมากคือเจอกับนายเอกที่สนใจหลายเพศ หรือไม่ได้ระบุเพศที่ชอบอย่างเฉพาะเจาะจงนัก จำนวน 19 คน พบน้อยที่สุดคือเจอกับนายเอกที่มีรสนิยมทางเพศที่สนใจในเพศตรงข้าม หรือเป็นผู้ชายชอบผู้หญิง จำนวน 7 คน
พระเอกที่สนใจมากกว่า 1 เพศ หรือไม่ได้ระบุเพศที่ชอบอย่างเฉพาะเจาะจง มักเจอกับนายเอกที่ไม่ได้ระบุรสนิยมทางเพศตนอย่างเฉพาะเจาะจงเช่นกัน พบมากถึง 44 คน รองมาคือพบกันนายเอกที่สนใจในเพศเดียวกัน 25 คน ตามมาด้วยจับคู่กับนายเอกที่มีรสนิยมทางเพศที่สนใจในเพศตรงข้าม จำนวน 9 คน และน้อยที่สุดคือนายเอกที่ตั้งคำถามต่อรสนิยมทางเพศของตน 2 คน
พระเอกประเภทที่สนใจในเพศตรงข้าม ชอบผู้หญิงมาก่อน มักจับคู่กับนายเอกที่ไม่ได้ระบุเพศที่ชอบอย่างเจาะจง พบจำนวน 14 คน รองลงมาคือเจอกับนายเอกที่ชอบผู้ชาย 9 คน และน้อยที่สุดคือเจอกับนายเอกที่ที่สนใจในเพศตรงข้ามหรือเพศหญิง จำนวน 8 คน
และประเภทพระเอกที่พบน้อยที่สุดในซีรีส์วายคือที่ตั้งคำถามต่อรสนิยมทางเพศของตน เมื่อสำรวจว่าพระเอกประเภทดังกล่าวจะจับคู่กับนายเอกประเภทใด พบว่าจะเจอกับนายเอกที่เป็นเกย์/ชอบผู้ชาย 3 คน รองลงมาคือนายเอกที่ไม่ได้ระบุเพศที่ชอบอย่างเฉพาะเจาะจง 2 คน ตามมาด้วยพบกับนายเอกที่ตั้งคำถามกับเพศที่ชอบ 1 คน จากข้อมูลจะเห็นว่าพระเอกที่กำลังตั้งคำถามกับรสนิยมทางเพศของตนนั้น ไม่เคยแอบชอบหรือพบกับนายเอกที่เคยชอบผู้หญิงมาก่อนเลย
อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงแรกเริ่มของซีรีส์วายไทย จุดเริ่มต้นของซีรีส์วายจะมักมีประโยคว่า “ฉันไม่ได้เป็นเกย์ ฉันชอบแค่นายคนเดียว” เห็นได้จากก้องภพ ตัวเอกจาก SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่งที่ก้องภพสับสนว่าตนเป็นชายแต่ทำไมไม่รู้ถึงรักอาทิตย์ที่เป็นผู้ชายด้วยกันราวกับห้ามใจตนไว้ไม่ได้ และก้องภพบอกเอ็มว่า “กูไม่ได้ชอบผู้ชาย กูชอบพี่อาทิตย์ ถ้าไม่ใช่พี่อาทิตย์ กูก็ไม่ชอบ” แต่จากพลวัตตลอด 10 ปีที่ผ่านมาก็พบว่ามิติด้านรสนิยมทางเพศของตัวเอกในซีรีส์วายนั้นมีการพัฒนาตลอด เช่น ซีรีส์เรื่อง Dark Blue Kiss จูบสุดท้ายเพื่อนายคนเดียว พีทและเก้าคบกันแล้ว มีนักเรียนหนุ่มเข้ามาเกี่ยวพัน ทำให้มีอาการหึงหวง และเล่าว่าครอบครัวของพีทและเก้ารู้สึกอย่างไรต่อการเป็น LGBTQ+ ของลูก เช่น พ่อของพีทพยายามเข้าใจลูก หาอ่านว่าต้องรับมือต้องดูแลลูกที่เป็นเกย์อย่างไร หรือแม้แต่พยายามหาซื้อถุงยางให้ลูก ขณะที่เก้าไม่กล้ายอมรับเพราะกลัวแม่อับอาย

ตัวเอกซีรีส์วายยังใช่วิศวกรและหมออยู่ไหม ใครทำงานอะไรบ้าง?
หากสำรวจอาชีพของตัวละครเฉพาะคู่หลักในซีรีส์วาย 209 เรื่อง 418 ตัวละคร พบว่าคู่หลักไม่ได้มีแค่รักของนักเรียนมัธยม หรือรักของนักศึกษาอีกต่อไปแล้ว ทว่ายังมีเรื่องราวความรักของอาชีพอื่นอยู่ด้วย เช่น ดารา เทรนนี ศิลปินฝึกหัด คอนเทนต์ครีเอเตอร์ วินมอเตอร์ไซค์ พนักงานส่งอาหาร/พนักงานร้านสะดวกซื้อ นักฆ่า มาเฟีย ตลอดจนตัวละครที่เป็นอมนุษย์ อาทิ ผี วิญญาณ เทวดา ตุ๊กตาหมีที่กลายมาเป็นมนุษย์ได้
อย่างไรก็ตามก็ยังพบว่าเนื้อหามากกว่าครึ่งก็ยังมีตัวเอกเป็นนักเรียน/นักศึกษามาถึง 233 ตัวละคร โดยแบ่งเป็นนักศึกษา 155 ตัวละคร นักเรียนมัธยม 78 ตัวละคร เช่นซีรีส์ยอดฮิตอย่าง Love Sick The Series SS1 รักวุ่นวัยรุ่นแสบ ที่เป็นเรื่องรักสุดชุลมุนของเด็กนักเรียนกางเกงน้ำเงิน หรือ SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง ที่ตัวเอกอย่างก้องภพและอาทิตย์เป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์
รองลงมาคือประธานบริษัท หรือเป็นเจ้าของธุรกิจ ไม่ว่าเป็นธุรกิจร้านขนม เจ้าของบริษัทตรวจสอบบัญชี เจ้าของร้านข้าวมันไก่ เจ้าของร้านมินิมาร์ท พบ 23 ตัวละคร อย่างเรื่อง Love In Translation รักไม่รู้ภาษา(2023) ที่มีตัวเอกเป็นเจ้าของร้านมินิมาร์ทที่ตกหลุมรักกับพาร์ทเนอร์ร้านมินิมาร์ท รองลงมาพบตัวละครมีอาชีพเป็นพนักงานบริษัท 22 ตัวละคร เช่น Cherry Magic 30 ยังซิง (2023) อชิเป็นพนักงานบริษัทเครื่องเขียน
ส่วนอาชีพอื่นๆ ที่น่าสนใจยังพบว่าตัวเอกบางเรื่องอาจไม่ได้มีอาชีพนั้นโดยตรง แต่เป็นสถานะที่ติดตัวมา เช่น ตัวละครที่เป็นอมุษย์ เป็นผี วิญญาณคนตาย ยมทูต คิวปิด ตลอดจนวิญญาณและสิ่งลี้ลับอื่นๆ อย่างเรื่อง คุณหมอครับ ผมมารับวิญญาณคนไข้ (2022) ที่มีตัวเอกเป็นยมทูต ส่วนอีกฝ่ายเป็นแพทย์ เรื่อง ผมกับผีในห้อง (2022) ที่พระเอกของเรื่องเป็นผี ส่วนอีกฝ่ายเป็นนักศึกษาเจ้าของห้อง

จักรวาลซีรีส์วายช่างกว้างใหญ่ ไปไกลกว่าที่เราคิด: GMMTV การต่อยอดคู่จิ้นที่ไปไกลถึงอิตาลี
จากการสำรวจจักรวาลซีรีส์วายไทยตั้งแต่ 2014 จนถึงปี 2023 พบว่าจักรวาลซีรีส์วายไทยพัฒนารูปแบบมาหลากหลายมาก จากเดิมที่เป็นแค่คู่จิ้นตัวรองในเรื่องราวอื่น ก็กลายมาเป็นตัวหลักในเรื่องราวของตัวเอง พัฒนามาเป็นซีรีส์เดี่ยวที่ได้รับความนิยม จากเดิมที่มีเนื้อหาเป็นเพียงคนสองคนตกหลุมรักกัน ก็กล้านิยามรสนิยมทางเพศตนเองมากขึ้นว่าเป็นเกย์ และมีความรักให้ผู้ชาย จากเดิมเป็นแค่การฉายผ่านช่องทีวีสาธารณะและต้องเลี่ยงฉากวาบหวิว ก็พัฒนามาฉายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ มีเนื้อหาฉบับ Uncut ที่ให้ผู้ชมได้ดูจุใจมากขึ้น ไม่ต้องหลีกเลี่ยงฉากวาบหวิวและสุ่มเสี่ยงอีกต่อไป ทั้งยังได้รับความนิยมอย่างล้นหลามด้วย
หรือแม้แต่การลงทุนในอุตสาหกรรมที่แต่เดิมผลิตมาไม่มากในแต่ละปี ก็ถูกผลิตเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี มีการลงทุนกับบริษัทข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นจีน ไต้หวัน ทั้งยังมีการซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายที่ต่างประเทศ ตลอดจนนักแสดงเองก็มีผลงานทั้งแฟนมีตติ้ง คอนเสิร์ตที่ช่วยสร้างรายได้ได้อีก จะเห็นได้ว่ากระแสซีรีส์วายในอุตสาหกรรมบันเทิงไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งไม่เพียงสร้างปรากฏการณ์ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังขยายฐานแฟนคลับไปยังต่างประเทศอย่างกว้างขวาง
เห็นได้จากปรากฏการณ์ Fan Meeting ของคู่จิ้นซีรีส์วายไทยในต่างประเทศ ที่สะท้อนให้เห็นถึงพลังของซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่กำลังแผ่ขยายไปทั่วเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นในประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และจีน รวมถึงประเทศอื่นๆ อีกทั่วโลก
Rocket Media Lab ลองรวบรวมแฟนมีตติ้งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศโดย GMMTV ว่าเคยจัดงานแฟนมีตที่ประเทศใดบ้าง เริ่มจัดตั้งแต่ปีไหน และมีใครไปที่ไหนบ้างในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
พบว่านักแสดงของ GMMTV ที่จัดแฟนมีตติ้งในต่างประเทศครั้งแรกปี 2017 คือคริสและสิงโต ในงาน “Krist – Singto Fan Meeting in China 2017” และในปีเดียวกัน ที่ประเทศจีนยังมีแฟนมีตติ้ง “2017 AT FIRST SIGHT with ROOKIE BOYS in Guangzhou” ที่เมืองกว่างโจว รวมถึงงาน “Krist – Singto Fan Meeting in Suzhou & Nanjing” ที่ซูโจวและหนานจิง “Krist & Singto Fan Meeting in Shenzhen” งาน “Krist & Singto Fan Meeting in Hangzhou” อีกด้วย และในปีถัดมายังไปจัดที่ฟิลิปปินส์ในงาน “Sotus S Hazing in Manila 2018” กล่าวได้ว่าซีรีส์โซตัสที่ทั้งคู่แสดงนำ ประสบความสำเร็จทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการริเริ่มจัดงานแฟนมีตในต่างประเทศนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการซีรีส์วายไทย เพราะแสดงให้เห็นว่าซีรีส์วายไทยสามารถสร้างฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่นในต่างประเทศได้ โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูง
ไม่เพียงแค่คู่ของคริสและสิงโตเท่านั้น ในปี 2017 คู่ของออฟกันก็เคยจัดงาน “OFF x GUN Korea First Fan Meeting” ซึ่งเป็นงานแฟนมีตติ้งต่างประเทศครั้งแรกของออฟกัน จัดขึ้นที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ และนิวเอิร์ท ในงาน “New – Earth Fan Meeting in Guangzhou China” ที่ประเทศจีน การจัดงานเหล่านี้ล้วนเป็นการปูเส้นทางให้งานอื่นๆ ในอนาคต ทำให้ผู้จัดและค่ายต่างๆ เห็นว่าซีรีส์วายไทยสามารถขยายในตลาดต่างประเทศได้
ความสำเร็จของงานเหล่านี้ทำให้ผู้จัดซีรีส์วายไทยมองเห็นโอกาสในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการจัด Fan Meeting ในต่างประเทศอีกมากมายในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตามในปี 2019 เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของไวรัส Covid-19 ทำให้นักแสดงไม่สามารถดำเนินกิจกรรมในต่างประเทศได้
แต่เมื่อนับดูแล้วก็พบว่ามีการจัดแฟนมีตของคู่จิ้นซีรีส์วายที่ต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2017 จนถึง 2023 พบว่ามีการจัดขึ้นถึง 114 ครั้ง โดยเก็บข้อมูลเฉพาะแฟนมีตติ้งที่จัดขึ้นในต่างประเทศหรือดินแดนของศิลปินในสังกัด GMMTV เท่านั้น นับเฉพาะแฟนมีตติ้งของคู่จิ้น ไม่นับคอนเสิร์ตรวมของค่ายอย่างงาน GMMTV Fan Day หรืองานรวมอื่นๆ
พบว่าจัดที่ไต้หวันมากที่สุด จำนวน 19 ครั้ง รองลงมาคือจีน 16 ครั้ง เวียดนาม 15 ครั้ง ตามมาด้วย ญี่ปุ่น 11 ครั้ง และหากสำรวจแค่ทวีปที่เคยจัดแฟนมีตนั้น พบว่าเกิดขึ้นที่ทวีปเอเชียทั้งหมด 112 ครั้ง ในยุโรปอย่างอิตาลี 1 ครั้ง งาน “Force&Book Dream Fanmeet in Italy” ของคู่จิ้นฟอสบุ๊ค และอเมริกาใต้ ประเทศบราซิล 1 ครั้ง ในงาน “FirstKhaotung 1st Fan Meeting in Brazil” ของคู่จิ้นอย่าง เฟิร์ส-ข้าวตัง
และหากสำรวจอีกว่าคู่จิ้นไหนที่ส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ไทยมากที่สุด พบว่าเป็น #คริสสิงโต ที่มีงานแฟนมีตติ้งในต่างประเทศ จำนวน 32 ครั้ง รองลงมาคือออฟกัน 19 ครั้ง เตนิว 17 ครั้ง ทั้งนี้น่าสนใจว่าประเทศที่มีคู่จิ้นจัดแฟนมีตติ้งที่เยอะที่สุดจำนวน 20 ครั้งนั้น ซึ่งเป็นงานแฟนมีตติ้งที่มีคู่ #คริสสิงโต มากถึง 14 ครั้งด้วยกัน
หากพบความคลาดเคลื่อนหรือมีข้อมูลเพิ่มเติม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล contact [at] rocketmedialab.co
